หลังจากที่ต้องอยู่ในสภาวะกักตัวกันมาเป็นเดือนๆ แล้ว นอกจากความลำบากทางเศรษฐกิจและการงานที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนอย่างหนักหนาสาหัส ผมคิดว่าอีกอาการหนึ่งที่น่าจะพบเจอกันแทบจะถ้วนหน้านั้นอาจจะหนีไม่พ้น ‘ความเบื่อ’ นะครับ ที่แม้ในตอนนี้เราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือมาบรรเทาความเบื่อมากกว่าสมัยก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกมต่างๆ ทั้งพีซีและคอนโซล หรือมีเน็ตฟลิกซ์ไว้ให้ดูซีรีส์ได้สารพัดเพิ่มขึ้น มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนและระบบอินเตอร์เน็ตที่ราคาถูกลงทุกวัน ทำอาหาร สั่งอาหารสารพัดและอัพรูปหรือสตอรี่ในโซเชียลแทบทุกวัน กระนั้นก็ตามไม่ว่าจะในกลุ่มคนที่มีกำลังจะจ่ายให้กับ ‘ตัวช่วยแก้เบื่อ’ เหล่านี้ได้หรือไม่ก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ดูจะหนีไม่พ้นความเบื่อกันไปได้
ความหนีอย่างไรก็ไม่พ้นต่อความเบื่อนี้เอง อาจจะทำให้เรารู้สึกว่า “เออ มันก็คงเป็นเรื่องปกติแหละ เพราะความเบื่อมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ทำอย่างไรก็คงจะหนีไม่พ้น” และสภาวะ ‘ความเบื่อร่วมหมู่’ นี้ก็มีให้เห็นเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้มาโดยตลอดด้วย อย่างช่วงทศวรรษ 1950 – 1960s เหล่าแม่บ้านในโลกตะวันตกเองก็ออกอาการเบื่อร่วมหมู่จากการที่ต้องอยู่บ้านทั้งวัน ซึ่งก็ดูจะไม่ต่างจากเราที่ถูกกักตัวกันในตอนนี้นักกระมัง หรือในช่วงทศวรรษ 1970s เหล่าวัยรุ่นเด็กพั๊งก์ในลอนดอนก็ออกกู่ร้องโวยวายว่า “London’s burning with boredom.” (ลอนดอนกำลังถูกแผดเผาด้วยความเบื่อหน่ายอยู่) กระทั่งไม่กี่ปีมานี้เอง แรงงานชาวจีนในโรงงานผลิตมือถือแอปเปิ้ลก็จบชีวิตตัวเองด้วยเหตุผลว่า “เขาเบื่อเสียเหลือเกิน” แม้ทางแอปเปิ้ลจะยืนยันว่าสภาพการทำงานและเงื่อนไขการทำงานของเขานั้นปกติดีก็ตามที (ไม่นับว่าของที่เขาผลิตอยู่ถูกนับเป็นหน่วยหนึ่งในการบรรเทาความเบื่อด้วย) เช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่เราจะคิดว่าความรู้สึกเบื่อนั้นมันช่างเป็นอาการตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ อลิซาเบธ กู๊ดสตีน (Elizabeth Goodstein) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Emory Collage สหรัฐอเมริกา ในหนังสือของเธอที่ชื่อ Experience without Quality: Boredom and Modernity นั้น ได้ชี้ให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วความเบื่อในแบบที่เราเข้าใจกันในตอนนี้ดูจะเป็นอะไรที่ใหม่มากทีเดียว ไม่ใช่อารมณ์ที่จู่ๆ ก็รู้สึกและมีติดตัวมาตามธรรมชาติอย่างที่เราเขาใจกัน
เราอาจจะพอสามารถแยกความเบื่อหลักๆ ได้เป็น 2 แบบคือ ความเบื่อทั่วๆ ไป (boredom) ซึ่งมักจะเกิดจากความจำเจในชีวิต การไม่มีอะไรใหม่ๆ ทำ หรือกระทั่งความรู้สึกว่างเว้นจากการได้ทำในสิ่งซึ่งเคยทำอยู่เป็นประจำ เป็นต้น กับอีกอย่างหนึ่งคือ ความเบื่อหน่ายต่อชีวิต (ennui) ซึ่งดูจะเป็นความเบื่อในระดับที่ลึกมากขึ้น อิงกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวตนเรามากขึ้น เช่น มีชีวิตไปทำไม อยู่แบบนี้ไปมันมีประโยชน์หรือเปล่า เราอยู่กับไม่อยู่ก็ไม่ต่างกันมั้ย ฯลฯ ซึ่งอลิซาเบธอธิบายว่า เอาเข้าจริงแล้วความเบื่อสองระดับนี้ไม่ได้แยกจากกันง่ายๆ และทั้งสองอย่างสามารถแปลงกายเป็นกันและกันได้ ความเบื่อระดับทั่วไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นระดับลึกขึ้น หรือระดับลึกก็อาจจะบรรเทาลงมาเป็นระดับทั่วไปได้ ไม่ต้องนับว่าแม้ความเบื่อระดับลึกอย่างความเบื่อหน่ายต่อชีวิตนั้นจะอิงอยู่กับการมีอยู่ของตัวตนเรา แต่มันก็ไม่ได้อยู่อย่างงั้นตลอดเวลาด้วย (จะเรียกได้ว่า มาๆ หายๆ ก็คงพอได้) ในแง่นี้ก็คือ แม้มันจะอิงกับตัวเรา แต่มันก็ไม่ได้ผูกติดกับตัวเราตลอดนั่นเอง
ความเบื่อแบบที่ว่ามาและแสนจะคุ้นชินกันในหมู่เราโดยเฉพาะช่วงกักตัวนี้เองเป็นลักษณะของความเบื่อที่อลิซาเบธอธิบายว่า เพิ่งจะมาแพร่หลายกระจายไปทั่วเยี่ยงโรคระบาดก็ช่วงศตวรรษที่ 19 นี้เองครับ (หากอิงตามคำอธิบายของ วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ก็คือ ราวๆ ช่วงทศวรรษ 1840s) และคำอย่าง Boredom หรือความเบื่อนั้น แม้จะยังหาต้นรากการเริ่มใช้ที่ชัดเจนไม่เจอ แต่ที่ดูจะใกล้เคียงที่สุดก็ดูจะเป็น ปี 1852 ในผลงานชื่อ Bleak House ของ ชารลส์ ดิกเคน (Charles Dickens) ซึ่งมีความหมายถึงความเบื่อหน่ายต่อชีวิตของปัจเจกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งดูจะมีศัพท์รุ่นพี่ร่วมสายเลือดทางความหมายอยู่ในภาษาฝรั่งเศส คือ ennui และ langeweile นั่นเอง แบบนี้แปลว่าก่อนหน้านี้มนุษย์เราไม่มีอารมณ์เบื่อเลยหรือ? ก็ไม่เชิงหรอกครับ แค่เป็นอาการเบื่อคนละแบบกับที่เราเข้าใจนี้
ในโลกตะวันตกนั้น มีคำที่สะท้อนความเบื่อมานานแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ยุคโรมันโบราณที่ใช้คำว่า taedium vitae หรือในหมู่พระที่มีคำว่า acedia หรือใหม่ขึ้นมาอีกนิดอย่างคำว่า melancholy น่ะครับ อย่างไรก็ดี คำที่แสดงอาการเบื่อแต่ดั้งเดิมมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความเบื่อที่สัมพันธ์กับโลกทางศาสนา ทวยเทพ หรือจิตวิญญาณทั้งสิ้น คือ ไม่ใช่ความเบื่อในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ‘ในทางส่วนตัว’ อย่างที่เราเข้าใจกัน ความเบื่อที่สัมพันธ์กับศาสนาหรือจิตวิญญาณก็เช่น acedia ที่วางอยู่บนกรอบของประสบการณ์ของ ‘ช่องว่าง’ (void) ซึ่งอ้างอิงกับลำดับอันศักดิ์สิทธิ์ของความปราถนา (ว่าง่ายๆ ก็คือ ช่องว่างระหว่างความปราถนาแบบต่างๆ ตามที่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ระบุไว้น่ะครับ) เป็นต้น
สภาวะของความเบื่อตามแบบของความเข้าใจที่เราเป็นกันอยู่นี้เอง
จึงเกิดจากการเกิดขึ้นของเงื่อนไขทางสังคมการเมืองแบบใหม่
ที่นำมาซึ่งความเป็นไปได้ในการรู้สึกถึงอารมณ์ชนิดใหม่นี้ด้วย
ซึ่งหลักๆ แล้วอลิซาเบธก็อภิปรายถึงการแยกขาดรัฐกับศาสนา (secularization) ที่นำมาซึ่งประสบการณ์ในทางโลกที่ทำให้ความเป็นส่วนตัว กับความเป็นจิตวิญญาณนั้นแยกขาดจากกัน ไม่เพียงเท่านั้น การแยกขาดที่เกิดขึ้นนี้ ยังนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนการรับรู้ทางเวลาด้วย ว่าอีกแบบก็คือ เมื่อโลกตะวันตกพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่นั้น กรอบประสบการณ์ที่มีต่อความเบื่อซึ่งเดิมอิงอยู่กับฐานคิดแบบศาสนาหรือคำอธิบายเชิงจิตวิญญาณ อย่างการหมุนวนเวียนว่ายตายเกิดหรือการพยายามไปถึงเป้าหมายบั้นปลายสูงสุดต่างๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยเรือนร่างซึ่งมีวัตรปฏิบัติตาม ‘นาฬิกาสมัยใหม่ซึ่งถูกสร้างมาตรฐานไว้ให้เป็นชุดเดียวกันหมด’ และมีวิถีการมองโลกบนฐานของความเป็นเหตุเป็นผล กรอบประสบการณ์ความเบื่อแบบเดิมๆ ก็ถูกกลืนหายไปภายใต้ระเบียบของโครงสร้างทางสังคมการเมืองชุดใหม่นี้ ว่าอีกแบบก็คือ เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลาเอื่อยเฉื่อยไร้ค่า’ เกิดขึ้นมา จากที่สมัยก่อน ‘เวลา’ นั้นเป็นตัวกลางเพื่อไปสู่เป้าหมายที่พระเจ้าได้วางไว้ (มันจึงไม่มีเวลาที่ไร้ค่าไร้ความหมาย หรือความเบื่อที่แยกขาดจากโลกทางจิตวิญญาณนั่นเอง)
งานของ จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel) ที่ชื่อ Philosophy of Money (1990) ได้อธิบายถึงลักษณะในการดำเนินชีวิตในโลกสมัยใหม่อย่างน่าสนใจว่า เราจะกลายเป็นโลกที่ทุกอย่างถูกตีค่าออกมาในเชิงปริมาณ (quantitative terms) มากขึ้นเรื่อยๆ หรือก็คือ โลกซึ่ง ‘เวลา’ คือเงินอย่างหนึ่ง ในมุมนี้เองอลิซาเบธอธิบายว่า การที่เป้าหมายทางจิตวิญญาณในฐานะตัวชี้นำในการดำเนินชีวิตหายไป ทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นเสมือนความต่อเนื่องของช่วงเวลาที่ไร้ค่าและว่างเปล่าที่สืบทอดสู่กัน (a series of inherently meaningless, empty moments) ซึ่งเราเรียกร้องหาทางที่จะเติมเต็มมันด้วยกิจกรรมที่มีความหมายบางอย่างให้ได้
พูดให้ชัดขึ้นไปก็คือ เมื่อโลกแบบศาสนาและจิตวิญญาณซึ่งเป็นผู้ให้ความหมายและคุณค่ากับทุกสิ่งทุกอย่างถูกแยกออกไปแล้ว เวลาที่เว้นๆ ว่างๆ ซึ่งเดิมเคยมีคนให้คุณค่าและความหมายนั้น ก็หมดสิ้นความหมายลง กลายเป็นเพียงส่วนของประสบการณ์ในชีวิตเราที่แลดูจะไร้คุณค่า ไร้ความหมายเสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้นมนุษย์สมัยใหม่อย่างเราๆ จึงต้องหาทางเป็นผู้สวมใส่คุณค่าและความหมายสักอย่างเข้าไปให้กับช่วงเวลาที่ว่างเปล่าเหล่านี้แทนให้ได้ เพื่อที่มันจะไม่ได้ดูไร้ค่า เราต้องการที่จะประกอบกิจกรรมบางอย่างที่มาพร้อมกับชุดเหตุผลที่เรายอมรับเพื่อบรรจุในช่วงเวลาว่างเปล่าเหล่านั้น และแน่นอนหากเราไม่สามารถจับยัดเหตุผลหรือชุดคุณค่าที่เรายอมรับลงไปในช่วงเวลาใดๆ ได้ ความเบื่อหน่ายก็จะเกิดขึ้นตามมา
ผมค่อนข้างจะชอบคำสรุปสภาวะของโลกแห่งความเบื่อที่อลิซเบธว่าไว้ประโยคหนึ่งมากๆ ครับ เธอบอกว่า “Boredom is an abstract crisis of desire – one at home in a secularized world where attention has become commodity.” หรือหากให้แปล คงพอแปลได้ว่า
“ความเบื่อนั้นเป็นวิกฤติเชิงนามธรรมของความปราถนา
อย่างการอยู่บ้านในโลกโลกียะที่ซึ่ง
การได้รับความสนใจกลายเป็นของซื้อของขาย”
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเบื่อในสายตาของอลิซเบธนั้นดูจะมีแก่นหลักอยู่ที่ความปราถนาในการหาความหมายและคุณค่าให้กับความว่างเปล่าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ และความเบื่อมันเกิดขึ้นก็เมื่อเราพบกับปัญหาในการจะสนองความปราถนาที่ว่านี้ และในโลกที่ทุกอย่างถูกตีค่าในเชิงปริมาณ เป็นราคาเป็นสินค้าไปหมด กระทั่งความสนอกสนใจหรือเวลา การจะสร้างคุณค่า หรือกิจกรรมอันมีคุณภาพ มาสนองความปราถนาดังกล่าวนี้ก็คงจะยากขึ้นเรื่อยๆ
ผมคิดว่าข้อเสนอของอลิซเบธที่ว่ามานั้นน่าสนใจทีเดียว แม้อาจจะไม่ถึงกับเห็นด้วยกับเธอล้วนๆ เพราะโดยส่วนตัวผมเองแล้วไม่ได้นิยมชมชอบการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว (dichotomy) อย่างชัดเจนนัก อย่างในกรณีนี้คือ โลกเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ เพราะในหลายๆ ครั้ง ‘เชิงปริมาณก็คือเชิงคุณภาพ’ สำหรับหลายๆ คนได้ การมีชีวิตอยู่โดยมีเงินและการสร้างมูลค่าทางตัวเลขเป็นคุณค่าและเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรในโลกสมัยใหม่เลย จะอธิบายว่าทุนนิยมทำหน้าที่แทนโลกเชิงจิตวิญญาณก็คงจะไม่ผิดนัก และในแง่นี้ความเบื่อที่เรารู้สึก ก็อาจจะเป็นความเบื่อแบบเดียวกับเมื่อหลายพันปีก่อนที่ผูกโยงอยู่กับโลกทางจิตวิญญาณทางศาสนาก็เป็นได้ เพราะความเบื่อที่เกิดขึ้นนั้นแลดูจะสามารถอ้างอิงถึงผู้นำทางจิตวิญญาณใหม่ของโลกในปัจจุบันอย่างระบบทุนนิยมได้แทบทั้งสิ้น แต่แน่นอนทุนนิยมเองก็ไม่ใช่ศาสนาในแง่ที่มันไม่มีรีตปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง การไม่มีบั้นปลายสูงสุดแต่เป็นเส้นทางปลายเปิด แต่พร้อมๆ กันไปก็ไม่ได้ทำลายความเป็นจริงว่าสังคมโลกนั้นยึดถือเงินเยี่ยงศาสนาด้วย
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้คิดว่าข้อเสนอของอลิซเบธผิดอะไรนะครับ ผมคิดว่าน่าสนใจมากทีเดียว และเอาเข้าจริงๆ หากเรามองจากเหตุผลในมุมอื่นๆ ด้วยแล้ว เราจะพบโครงสร้างของความเป็นสมัยใหม่ที่สร้างความเป็นไปได้ในการเกิดอารมณ์ความรู้สึกลักษณะนี้ขึ้นมาอีก อย่างการขยายตัวและความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ในช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 (โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา) ที่ทำให้ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ว่าง่ายๆ ก็คือเรามีเวลาเหลือในชีวิตเพิ่มขึ้น (โดยเฉลี่ย) 2 – 3 เท่าตัว และพร้อมๆ กันไป ความเร็วในการดำเนินชีวิต หรือประกอบกิจกรรมในชีวิตต่างๆ ของเราเองก็กลับต้องการเวลาที่ ‘สั้นลง’ ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้าง การคมนาคม การสื่อสาร การดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เราใช้เวลาในการทำกิจกรรมหนึ่งๆ น้อยลง ในแง่นี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลาว่างของมนุษย์สมัยใหม่จะมีมากกว่าคนยุคกลาง 3 – 4 เท่าตัว
และแน่นอนว่ามันก็เป็นจริงตามที่อลิซาเบธว่าไว้นั่นแหละครับ เมื่อเรามีช่วงเวลาอันว่างเปล่ามากขึ้น เราก็หาทาง ‘ถม’ ความว่างเปล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างคุณค่า มอบความหมายให้กับความว่างเปล่านั้นๆ วันหนึ่งๆ มนุษย์เราจึงทำกิจกรรมมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ยิ่งเทคโนโลยีต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดความเร็ว ความสะดวกในชีวิตเราเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ช่วงเวลาอันว่างเปล่าที่รอการถมนั้นก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าความล้มเหลวในการจะถมทุกความว่างเปล่าให้มีคุณค่าได้ย่อมเกิดขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เช่นนี้เองความเบื่อก็จึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นในสังคมโลกสมัยใหม่ จนจะเรียกว่าความเบื่อนี้เป็นอารมณ์อันเป็นตัวแทนของยุคสมัยก็คงไม่ผิดนัก
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ คงจะไม่ได้ช่วยให้ท่านหลุดพ้นจากความเบื่อหรืออะไรใดๆ ได้ เผลอๆ อาจจะยิ่งเบื่อหนักข้อขึ้นอีก แต่อย่างน้อยก็หวังว่าจะพอทำให้เข้าใจความเบื่อเพิ่มขึ้นบ้างนะครับในช่วงกักตัวนี้ และเอาเข้าจริงๆ หากจะมองในแง่ดีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้กำลังใจตัวเองก็คงมองได้แหละว่าการที่เรากักตัวอยู่บ้าน แล้วเราเบื่อเหลือเกินนั้น แท้ที่จริงแล้วมันสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเราเองที่ทำกิจกรรมอันมีคุณค่าตามที่ต้องทำในช่วงเวลาปกติได้ด้วยเวลาน้อยเพียงใด เราจึงเหลือเวลามา ‘ว่าง’ ให้ได้นั่งเบื่อกันมากขนาดนี้ ที่ขนาดพยายามถมด้วยกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปปานใด ก็ยังหนีมันไม่พ้นอีก ไม่เพียงเท่านั้น มันก็ดูจะยังฟ้องให้เราเห็นด้วยว่าเวลาอันสิ้นเปลืองต่างๆ ที่เกิดกับชีวิตในยามปกติของเรานั้น มันมากเพียงใด อย่างการต้องเจอรถติด รถไฟฟ้าเสีย ฯลฯ ที่บีบให้ช่วงเวลาการทำกิจกรรมอันมีคุณค่าของเราในช่วงปกตินั้นมีน้อยเหลือเกินจนแทบจะทำอะไรไม่ทัน แต่ตอนนี้พอตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป มันฟ้องให้เราเห็นว่าระบบที่ล้มเหลวของสังคมนี้มันกินเวลาเรามากขนาดที่ พอไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับมัน เรามีเวลาเหลือมากจนพอเอาไปเบื่อทิ้งไปวันๆ ได้มากเพียงใด
เช่นนี้เอง ความเบื่อ ก็มีคุณค่าและราคาของมันเช่นกันนะครับ