วันหยุดยาวมาถึงแล้ว! หันซ้ายก็เห็นเพื่อนไปเยี่ยมครอบครัว หันขวาก็กลุ่มเพื่อนไปร้านเหล้าสามวันติดกัน
แต่สำหรับหลายๆ คนรู้สึกถึงความหน่วงในใจรึเปล่า? ความกังวลพวกนี้มาจากไหน? เมื่อก่อนช่วงหยุดยาวมันสนุกกว่านี้รึเปล่า? ทำไมฉันไม่สนุก? และทำไมฉันรู้สึกผิดที่ไม่สนุก? ความรู้สึกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มันมีชื่อเรียกว่า Holiday Depression
วันหยุดต้องสนุกสิ จะกดดันได้ยังไง?
งานก็ไม่ต้องทำ เรียนก็ไม่ต้องเรียน ทำอะไรก็ได้หมด แล้วความกดดันมันจะมาจากไหน? เมื่อวันหยุดยาวมาถึง อีกสิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังที่มาจากวันไร้งานเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ความคาดหวังจากเพื่อนและครอบครัวที่เราต้องออกไปหากิจกรรมทำกับพวกเขา หรือบรรยากาศของการชักชวนให้เราออกไปเที่ยวและใช้จ่าย
ปัจจัยเหล่านี้สามารถก่อตัวหนักอึ้งแล้วทับถมลงมาบนความเหนื่อยล้าที่เราต้องรู้สึกอยู่แล้วกับการงานที่เราทำมาตลอดปี ในขณะที่เราอาจจะแค่อยากนอนอยู่เฉยๆ พักเหนื่อยจากกิจกรรมทุกๆ อย่างเพื่อรีเซ็ตให้ร่างกายหายเหนื่อย เรากลับต้องกังวลว่าถ้าไปรวมญาติเราจะเจอคำพูดอะไรบ้าง ถ้าไม่ไปหาเพื่อนเราจะโดนงอนรึเปล่า หรือถ้าในช่วงนี้เราไม่ใช้จ่ายของที่ลดราคาตามเทศกาลมันจะแพงขึ้นภายหลังหรือเปล่า
อาการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก ในการสำรวจโดย National Alliance on Mental Illness (NAMI) พบว่าประชากรอเมริกันที่มีปัญหาสุขภาพจิตจำนวน 64% หรือราวๆ 16.2 ล้านคนรายงานว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้าสูงขึ้นเป็นเวลาราวๆ 2 สัปดาห์ในช่วงเทศกาล Thanksgiving และปีใหม่ เนื่องจากความคาดหวัง ความรู้สึกโดดเดี่ยว และความเครียด ‘แรงกดดันจากการต้องมีความสุขและมีปฏิสัมพันธ์สูงขึ้นสิบเท่า’ ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งกล่าว
ถึงจะวันหยุด แต่การจัดการไม่หยุด
นอกจากนั้นแล้วในการมีกิจกรรมแต่ละที ก็มีเรื่องที่ต้องจัดการไม่เคยหยุด ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากิน ค่ารถเช่า ถ้าเป็นเจ้าบ้านให้เพื่อนและญาติๆ มาเที่ยวบ้านยังต้องมีการประดับและรับแขกที่บ้านให้สมบูรณ์แบบที่สุด หรือถ้าเราไปเที่ยวแล้วเราต้องมีของฝากไปให้ญาติ ให้เพื่อน ให้ออฟฟิศด้วยหรือเปล่านะ? การจัดการเหล่านี้สามารถหนักอึ้งได้มากพอๆ กันกับการจัดการการทำงานเลยก็เป็นได้
ในงานวิจัยโดย American Psychological Associations พบว่าปัญหาความเครียดหลักในช่วงวันหยุดมาจากการไม่มีเวลา 69% ในผู้หญิงและ 63% ในผู้ชาย การขาดเงิน 69% ในผู้หญิงและ 55% ในผู้ชาย และสุดท้ายความกดดันให้มีของขวัญ 51% ในผู้หญิง และ 42% ในผู้ชาย
ความกดดันเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ แต่มันมาจากการสร้างภาพจำโดยสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะรายการทีวี ภาพยนตร์ หรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ที่บอกว่าวันหยุด การเลี้ยงฉลอง และปาร์ตี้ในอุดมคติควรหน้าตาเป็นยังไง สร้างความคาดหวังที่สูงเกินไปให้แก่คนทั่วไปซึ่งมักจบลงที่ความผิดหวังและความเศร้าเมื่อความสุขไม่อาจไปถึงภาพเหล่านั้นได้
โอกาสในการมีความสุขไม่เท่ากัน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเศร้าช่วงวันหยุดคือการไม่สามารถร่วมสนุกกับสังคมโดยรอบได้ ไม่ว่าด้วยข้อจำกัดทางการเงิน ความสูญเสีย จากการจำต้องกักตัวจากโรค COVID-19 หรือจากปัจจัยอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้คนคนหนึ่งออกไปหาเพื่อนและครอบครัว ความผิดหวัง ความเสียดายเวลาวันหยุด และความโดดเดี่ยวจากการไม่อาจเจอผู้คนเหล่านี้สามารถทำให้เกิด holiday depression ได้
ในช่วงวันหยุดยาว ห้ามไม่ได้เลยที่เราต้องเห็นโพสต์หรือสตอรี่บนโซเชียลมีเดียจากคนรอบข้างทำให้เราเปรียบเทียบประสบการณ์ความซึมเศร้าของเราได้ โดยในการรายงานของเฟซบุ๊กพบว่า ในค.ศ. 2019 จำนวนโพสต์โซเชียลมีเดียมักพุ่งสูงกว่าช่วงอื่นราวๆ 26% แปลได้ว่าการหลบเลี่ยงโพสต์เหล่านี้นั้นยากกว่าเวลาอื่นๆ นอกจากนั้นบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ซบเซาขึ้นตั้งแต่มีโรคระบาดทำให้เราเปรียบเทียบกับความสุขที่เคยมีในอดีต
วันหยุดอาจไม่ใช่ความสุขสำหรับทุกคน และเราสามารถลดความทุกข์เหล่านี้ได้ด้วยวิธีหลากหลาย เช่น การพยายามโฟกัสกับตัวเองและความสุขที่เรามีได้โดยไม่ต้องคิดถึงการทำให้คนอื่นถูกใจ ไม่กดดันในส่วนที่ตัวเองทำไม่ได้ ไม่เปรียบเทียบความสุขที่เคยมีในอดีต หรือคิดถึงสถานทางการเงินในอนาคตมากเกินไป แล้วโฟกัสกับการสร้างความสุขในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด และหากวิธีเหล่านั้นไม่ได้ผล การพบผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก