แสงอาทิตย์สะท้อนบนผืนน้ำ เกลียวคลื่นหยอกล้อหาดทราย ทริปในฝันที่เร่งเร้าให้เรารีบจัดกระเป๋า เก็บข้าวของเครื่องใช้ หวังจะช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ ที่ใช้อย่างเต็มข้อในตลอดวันทำงาน เสื้อผ้า ครบ ของใช้ส่วนตัว ครบ และสิ่งสำคัญอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ก็ต้องพกไปด้วยเช่นกัน
ทริปนี้คงจะเป็นทริปในฝันอย่างแท้จริง หากเราได้เก็บกระเป๋าไปเที่ยว โดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไปด้วย เพราะนั่นหมายความว่า เราต้องทำงานในวันหยุดนั้นด้วย แต่จะทำยังไงได้ เมื่อมีความจำเป็นบางอย่าง ให้งานต้องกระโดดลงไปในกระเป๋าเดินทาง เพื่อร่วมทริปวันหยุดนี้ของเราด้วย
หากนั่นฟังดูเป็นเรื่องสยองขวัญวัยทำงานแล้ว ยังมีที่สยองกว่าการเที่ยวไปทำงานไป คือ การไม่ได้ออกไปไหนเลย เพราะงานนั้นต้องประจำการอยู่กับที่ เช่น งานบริการ การขนส่ง งานด้านสุขภาพ แพทย์ พยาบาล เป็นต้น ลองนึกง่ายๆ อย่างในช่วงเทศกาล เราจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมหาศาล นั่นหมายถึงวันที่พนักงานของห้างสรรพสินค้าต้องทำงานหนักด้วยเช่นกัน ไม่ได้จะบอกว่าใครน่าสงสารกว่าใคร แต่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของการทำงานในวันหยุดอย่างจำเป็นเท่านั้น
ผลสำรวจจาก American Time Use Survey (ATUS) บอกว่า 30% ของคนทำงานประจำเนี่ย เคยทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดเทศกาล หรือแม้แต่ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเราเองก็มักเห็นเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่ตัวเราเองทำงานในวันหยุด หรือลุกขึ้นมาตอบเรื่องงานตอนดึกดื่นกันมาแล้ว
แม้จะเห็นกันบ่อยจนเคยชิน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะชิลๆ ไม่เป็นอะไร ผลการวิจัยจาก Epidemiology and Public Health จาก University College London บอกว่าคนที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เนี่ย มีความเสี่ยงต่อโรคภัยร้ายแรงหลายอย่างนัก ตั้งแต่ โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และที่มีโอกาสมากกว่านั้น คือ โรคนอนไม่หลับและโรคซึมเศร้า
ป่วยกายไม่พอ ทำงานวันหยุดยังชวนให้ป่วยใจ คิดอะไรไม่ออกตามไปด้วย ผลการวิจัยของ มิฮาย ชิกเซนต์มิฮายยี (Mihaly Csikszentmihalyi) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก Claremont Graduate University บอกว่า เวลาเราพยายามทำตัวให้ยุ่งๆ เข้าไว้เนี่ย มันช่วยกระตุ้นให้เรากระตือรือร้น และโปรดักทีฟขึ้นได้จริงๆ วิธีนี้เลยมักนำมาใช้ในการทำงานแบบเวลายืดหยุ่น แต่ใช่ว่าการทำตัวยุ่ง หรือความโปรดักทีฟ มันจะเป็นคถาวิเศษณ์ที่ใช้ได้ผลเสมอไป เพราะมันให้ผลตรงข้ามกันหากเราทำงานในวันหยุดน่ะสิ
ต่อเนื่องจากงานวิจัยชิ้นนั้น คือว่า เราจะกระตือรือร้นจากข้างในได้เนี่ย เราเองต้องรู้สึกสนุกไปกับมัน มีความสนใจในงานนั้น และรู้สึกว่ามันมีความหมายกับเราด้วย พอเรารู้สึกแบบนั้นได้เนี่ย การทำตัวยุ่งๆ มันจะบูสต์พลังกระตือรือร้นขึ้นมาให้เราเอง ในทางกลับกัน การทำงานในวันหยุด เป็นตัวการทำลายความกระตือรือร้นนั้นเสียเอง เพราะมันทำให้เราเกิดข้อพิพาทในใจเรา ระหว่างการพักผ่อนกับการทำงาน มันเลยไม่ได้แฮปปี้กับการทำงานแบบเต็มสูบ
แต่เมื่องานเกาะหลังมาด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจะรับมือยังไงให้เราเองไม่เหี่ยวเฉาจนเกินไป แม้จะรู้ว่าการทำงานในวันหยุดไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมย์ก็ตาม ไม่ว่าจะพกงานไปทำระหว่างเที่ยว หรือต้องประจำการอยู่กับบ้าน อย่าเพิ่งท้อจนเกินไป เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็เข้าสู้กับมันให้เจ็บปวดแบบน้อยที่สุด
อย่าเพิ่งไถนิวส์ฟีดจนกว่าจะทำงานเสร็จ
สตอรี่อินสตาแกรมดั่งจุดไข่ปลา คอยรายงานว่าเพื่อนๆ ของเรากำลังเริงร่าอยู่กับอากาศเย็นๆ ที่เชียงใหม่ บิกินีบนทะเลใสหาดทรายขาวที่หัวหิน เช็กอินคาเฟ่ชิคๆ ที่เขาใหญ่ ส่วนเรานั้นกำลังนั่งเหม่ออยู่บนเก้าอี้ เพราะยังคิดอะไรไม่ออก และไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานในตอนนี้ด้วยเช่นกัน
อย่าเพิ่งปล่อยให้ตัวเองโดนซ้ำเติมด้วยความร่าเริงของเพื่อนๆ ที่ได้ไปใช้วันหยุดอย่างคุ้มค่าทุกนาที ลองห่างจากโซเชียลมีเดียที่เราจะต้องเห็นความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ สักพัก จนกว่างานของเราจะลุล่วงไปได้ด้วยดี เพื่อไม่ให้เราต้องโอ้เอ้ด้วยการเถียงกับตัวเองว่า ทำไมฉันต้องมาทำงานในวันหยุดด้วยนะ และปล่อยให้เราได้ลงมือทำงานจริงๆ เสียที
รีบทำรีบจบ ด้วย ‘time blocking’
อยากเที่ยวหรอ ทำงานให้เสร็จก่อนสิ แต่เรารู้ดีกว่างานน่ะ มันใช้เวลาไม่นาน แต่ที่นานคือการเริ่มลงมือทำต่างหาก มาชี้เส้นตายให้กับการทำงานด้วย ‘time blocking’ เทคนิคที่จะช่วยให้เราจัดการงานได้ภายในเวลาที่กำหนด (เสียที)
เริ่มจากจดลิสต์การทำงานของเรามาก่อน ว่าต้องทำอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ เมื่อได้ครบแล้ว เอางานที่ต้องเสร็จก่อน มามองหาที่ว่างในหนึ่งวัน ว่าเราจะสามารถใส่ไปตรงไหนได้บ้าง และเรียงลำดับความสำคัญของงานต่อๆ มา แล้วใส่ลงไปให้ครบ
ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองนึกตาม ดังนี้ วันนี้วันหยุด ไม่อยากจะลุกขึ้นมาทำงานตรงเวลา ขอโอ้เอ้เริ่มงานในเวลา 11.00 น. และออกจากงานเวลา 19.00 น. แล้วกัน ครบ 8 ชั่วโมงเวลาทำงาน ไม่กินเวลาบริษัทแม้จะนั่งทำงานในวันหยุดก็ตาม (ฮือ) ลำดับความสำคัญมาแล้วว่า งาน A ใช้เวลา 3 ชั่วโมง งาน B และ C ใช้เวลาอย่างละ 1 ชั่วโมง จับมาลงเวลาของวันนี้ไปเลย งาน A จะเริ่มตั้งแต่ 11.00-14.00 น. หลังจากนั้นให้เวลาพักกับตัวเองเสียหน่อย มาเริ่มงาน B ตอน 15.00-16.00 น. และงาน C ในเวลา 16.00-17.00 น.
ท้าดา มีเวลาพัก แถมยังเลิกงานไวกว่าเวลาที่กำหนดไว้ด้วย แต่มันจะทำได้สำเร็จมั้ยนั้นอยู่ที่วินัยของเราด้วยเช่นกัน ว่าจะผลักดักตัวเองให้ทำงานเสร็จตามเวลาได้ทันไหม
คิดซะว่ามาเปลี่ยนบรรยากาศ
สำหรับใครที่หอบหิ้วงานและสัมภาระมาเที่ยว ลองออกไปหาคาเฟ่ชิคๆ หรือมุมที่วิวดีที่สุดของห้อง แล้วนั่งปั่นงานให้ลุล่วงดูสิ อย่างน้อยมองออกไปนอกหน้าต่างก็เจอธรรมชาติโอบล้อม ไม่เหมือนที่กั้นที่ออฟฟิศ หรือมองไปก็เจอมุมชิคๆ อย่างกับโฮมคาเฟ่
ถ้าจะให้ดี ขอแนะนำมุมที่ติดกับหน้าต่าง เห็นบรรยากาศและแสงจากธรรมชาติ การได้มองนกมองไม้ ใช่ว่ามองเพื่ออู้งานเสมอไป การได้นั่งใกล้กับหน้าต่างที่มองเห็นวิวข้างนอก ได้มีแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามา Lighting Research Center บอกว่าช่วยให้เรามีสมาธิกับงานมากขึ้น 15% ถ้าเทียบกับคนที่ไม่ได้นั่งติดหน้าต่าง
เพิ่มบัฟความโปรดักทีฟให้มากกว่านั้นด้วย ผลการศึกษาจาก Harvard และ Syracuse Universities บอกว่า การนั่งทำงานในจุดอากาศถ่ายเทสะดวก อากาศตรงนั้นมีคุณภาพ จะช่วยเพิ่มความโปรดักทีฟได้ถึง 61% ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย ลองนึกว่าถ้าเราได้นั่งในที่อากาศปลอดโปร่ง หายใจคล่อง ไม่เย็นเกินไป ไม่ร้อนเกินไป คงช่วยให้บรรยากาศน่านั่งขึ้นอีกเลเวล
ใครๆ ต่างก็อยากได้สภาพแวดล้อมดีๆ เมื่อมานั่งทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ทำให้เราพึงพอใจ ความโปรดักทีฟมันจะหายไปไหนได้
ไหนๆ ก็ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ มาสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างลุล่วงแบบไม่เจ็บปวดกับการเฉือนแบ่งเวลาพักผ่อนให้กับการทำงาน เพราะการปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดและเหี่ยวเฉา อาจทำให้เรายิ่งทำงานได้ช้าลง จนงานมันเรื้อรังอยู่กับเราจนหมดวันหยุดเลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก