การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับชาวตะวันตก เป็นเหตุการณ์ที่มนุษย์เราจะได้เรียนรู้และทบทวนว่าการเหยียด อคติ และความเกลียดชังในที่สุดแล้วผลักดันให้มนุษย์เรากระทำต่อกันได้อย่างน่าสยดสยองมากมายขนาดไหน
สำหรับสหราชอาณาจักรเองแม้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยตรง แต่ทางสหราชอาณาจักรก็บอกว่า เรื่องนี้มันสำคัญกับเราเหมือนกันนะ ดังนั้นทางรัฐบาลเลยบอกว่าจะสร้างอนุสรณ์สถานและศูนย์การเรียนรู้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น ระดับความสำคัญก็ดูเอาจากทำเลที่จะสร้าง คือ ในสวน Victoria Tower Gardens ข้างตึกรัฐสภาเลียบแม่น้ำเทมส์ ใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่อย่างแน่นอน
พอพื้นที่มันสำคัญระดับชาติขนาดนี้ พี่แกก็เลยจัดเป็นการประกวดขึ้นมาซะเลย โดยมีแนวคิดในการสร้างอนุสรณ์สถาน คือ เป็นพื้นที่สำหรับให้คนมาเพื่อจดจำและระลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานสำคัญระดับชาติต่างๆ อนุสรณ์สถานนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรที่ยืนหยัดว่าจะต่อสู้กับอคติและความเกลียดชังต่างๆ เป็นพื้นที่สำหรับสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือเป็นที่ที่ให้ผู้คนทั้งในตอนนี้และลูกหลานได้มาได้เรียนรู้ที่จะเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี
สรุปว่าเป็นงานระดับมหึมาที่เหล่าสตูดิโอชั้นนำของโลกทั้งหลายย่อมต้องส่งแนวคิดเข้าร่วมอย่างแน่นอน ล่าสุดทางก็ได้ประกาศ 10 แนวคิดที่ได้รับการคัดเลือกมาเรียบร้อย ซึ่งทั้ง 10 แนวคิดนั้นก็สุดแสนจะเจ๋งเพราะแต่ละโครงการมาจากสตูดิโอทางสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลกทั้งนั้น อย่าง Anish Kapoor ร่วมกับ Zaha Hadid Architects, Studio Libeskind หรือ Adjaye Associates ซึ่งไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นการแข่งขันในการนำเสนอผสมผสานแนวคิดและเรื่องราวต่างๆ เข้ากับการสร้างพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมและตัวอาคารจากสตูดิโอชั้นนำของโลกได้
เอ้า ไปดูกันว่าแต่ละแนวคิดในแต่ละสตูดิโอ เสนอและสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อระลึกและเล่าเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ยังไงบ้าง สนุก!
Zaha Hadid Architects (UK) ร่วมกับ Anish Kapoor
อุกกาบาต ภูเขาและก้อนหินที่สงบเยียบเย็นเป็นสิ่งที่ถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางของการคิดทบทวน โดยเฉพาะในความเชื่อแบบยิว ทางสตูดิโอเชื่อว่าการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นควรตั้งอยู่บนการครุ่นคิดและความเงียบ ซึ่งในที่สุดแล้วนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจ เป็นพื้นที่ที่เป็นเหมือนคำสัญญาต่ออนุชนคนรุ่นหลังว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้นอีก
ศูนย์กลางของพื้นที่ถูกวางไว้ด้วยอุกกาบาตกึ่งประติมากรรมขนาดยักษ์ที่เป็นเหมือนศูนย์นำสายตา และเป็นรูปทรงที่เข้าใจได้ทันทีด้วยการมองเพียงปราดเดียว ทิวของสนไซปรัสที่ถูกวางเรียงรายทำหน้าที่เป็นสักขีพยานของเหตุการณ์ การระลึกถึงที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นตัวแทนของชีวิต การเติบโต และความหวังในยามที่มนุษย์เผชิญกับวิกฤติ
Adjaye Associates (UK) ร่วมกับ Ron Arad Architects
สตูดิโอนี้บอกว่าการออกแบบอนุสรณ์สถานถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะ ‘แสดงถึงความซับซ้อนของเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ดังนั้นแกนกลางของการออกแบบคือการแสดงให้เห็น ‘ชั้น’ หรือ layers โดยที่ชั้นเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบให้แน่นิ่งตายตัว แต่แสดงถึงการเป็นพื้นที่หรืออนุสรณ์สถานที่ยังคงเคลื่อนไหวและวิวัฒน์ไปตามกาล เป็นพื้นที่ที่ส่งผลกระทบและได้รับผลกระทบจากผู้คนที่เข้ามาในพื้นที่
Allied Works (US) ร่วมกับ ศิลปิน Robert Montgomery
ลักษณะการออกแบบหลักใช้รูปทรงการซ้อนกันของผ้าคลุมที่ชาวยิวสวมเข้าไปยังโบสถ์ (Prayer shawl) อันหมายถึงการปกป้อง คุ้มครอง เป็นการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อรองรับเสียง และเรื่องราวของเหล่าผู้รอดชีวิต ดังนั้นเส้นสายหลักที่ถูกออกแบบคือการกระหวัดกันของเส้นที่เป็นเหมือนชายผ้าที่เกี่ยวซ้อนกัน เป็นพื้นที่ที่ผู้คนมารวมตัว รับฟัง เรียนรู้ และจดจำ
Caruso St John (UK) ร่วมกับศิลปิน Rachel Whiteread
ด้วยความที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้เกิดบนดินแดนอังกฤษ เรื่องที่ถูกนำมาเล่าคือเรื่องราวของผู้รอดชีวิตที่เอาตัวรอดมาสู่เกาะอังกฤษนี้ พื้นที่สำหรับการระลึกถึงจึงถูกออกแบบเป็นส่วนที่อยู่ด้านบนพื้นดินและห้องโถงขนาดยักษ์ใต้ดินที่จัดให้เป็น ‘โถงแห่งเสียง (Hall of Voices)’ อันเป็นพื้นที่ที่ผู้เข้าชมจะได้รับฟังเสียงของผู้รอดชีวิต และค้นพบความเชื่อมโยงกันระหว่างชีวิต พื้นที่ และสายสัมพันธ์ต่างๆ ที่ถูกทำลายลงไป
Diamond Schmitt Architects (Canada) ร่วมกับสตูดิโอออกแบบภูมิทัศน์ Martha Schwartz Partners
แนวคิดงานออกแบบที่ Diamond Schmitt ค่อนข้างมีความเป็นนามธรรม เน้นการสร้างพื้นที่ที่แสดงถึงพลังที่ตรงข้ามกัน (opposing force) เช่น แสงสว่างและความมืด ผู้ออกแบบใช้แนวคิดเรื่อง ‘แรงโน้มถ่วง (gravity)’ ในการสร้างพื้นที่ที่ดูหนักแน่นมีความกดดันเพื่อสื่อถึงการจดจำและเป็นคำเตือนต่อการไม่ยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลาย การออกแบบที่ใช้ทั้งช่องแสงและเงาจึงแสดงออกถึงความหวังและคำเตือนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไปพร้อมๆ กัน
Foster + Partners (UK) ร่วมกับ ศิลปิน Michal Rovner
แนวคิดของ Foster + Partners และ Michal Rovner ดึงเอาภาพที่น่าหดหู่และเงียบงันของค่ายกักกัน กำแพง และรั้วลวดหนามที่ถูกนำมาย้ำเตือน และสร้างห้วงประสบการณ์ในการเดินไปยังห้องรมแก๊สอันเป็นปลายทางของการเดินทางและการจดจำ บริเวณทางเข้าจัดวางประติมากรรมรูปหนังสือที่บุบสลายแสดงถึงการเผาทำลายหนังสือของนาซีในปี 1933 ซึ่งภาพรวมความสยดสยองทั้งหมดก็เป็นเสมือนรอยแยกหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เป็นทั้งเครื่องระลึกถึงและคำเตือน
heneghan peng architects (IE) ร่วมกับทีมออกแบบ Bruce Mau Design
ว่าด้วยเรื่อง ‘เสียงของผู้รอดชีวิต’ ดังนั้นเลยออกแบบอนุสรณ์สถานเป็น ‘หู’ อย่างตรงไปตรงมาซะเลย เป็นหูที่ผู้มาเยือนได้เชื่อมต่อกับเสียงและคำให้การของเหล่าเหยื่อผู้ที่เผชิญการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หูที่ปรากฏขึ้นกลางสวนถูกสร้างขึ้นเพื่อย้ำเตือนถึงคำมั่นประชาธิปไตยของรัฐสภาอังกฤษ ที่มอบคำมั่นแก่เสรีภาพ สังคมที่มีความอดกลั้นและความปรารถนาที่จะปกป้องคุณค่าต่างๆ เอาไว้
John McAslan + Partners (UK) ร่วมกับ MASS Design Group (US)
‘ก้อนหิน’ และการวางก้อนหินลงบนหลุมศพเป็นธรรมเนียมของชาวยิว แสดงให้เห็นถึงการจดจำถึงผู้ที่จากไป การวางก้อนหินจึงมีนัยของการเชื่อมโยงคนในแต่ละรุ่นเข้าด้วยกัน รากศัพท์ของคำว่าหินในภาษาฮิบรูประกอบขึ้นจากคำว่าพระบิดาและบุตร ดังนั้นก้อนหินจึงมีความหมายถึงความต่อเนื่องกันจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นมรดกจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงเป็นเสมือนคนในหลายรุ่นหรือก้อนหินนับล้านที่หายไป ก้อนหินที่ไม่เคยถูกวางเพื่อสืบทอดสายเลือด ในพื้นที่อนุสรณ์นี้จึงสร้างก้อนหินทั้ง 6 ล้านก้อนที่ถูกวางลงไว้ใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อสื่อถึงผู้คนและความปรารถนาที่จะร่วมกันจดจำถึงเหตุการณ์และผู้คนที่สูญหายไป
Lahdelma & Mahlamäki Architects (Finland) ร่วมกับ David Morley Architects (UK)
หนึ่งในแนวคิดการออกแบบหลักคือการให้ผู้มาเยือนได้เดินผ่านซุ้มโค้ง ซุ้มที่ถูกออกแบบมาให้เกรอะสนิม สื่อถึงทางรถไฟที่ใช้ขนผู้คนไปสู่ค่ายกักกัน พื้นผิวและการออกแบบสำคัญคือการใช้วัสดุที่เป็นโลหะที่มีพื้นผิวที่ถูกกัดกร่อนหรือเป็นสนิม อันเป็นสัญลักษณ์ถึงเรือและรถไฟที่มาพร้อมกับการคิดคำนึงถึงบ้านของผู้คนที่ถูกพรากมา โลหะและการออกแบบที่แสดงถึงความผุกร่อนถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงอารมณ์ของผู้มาเยือนเข้ากับโศกนาฏกรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
Studio Libeskind (US) ร่วมกับ Haptic Architects (UK)
‘เงา’ เป็นสิ่งที่สถาปนิกเลือกที่จะใช้เพื่อแสดงถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฐานะ ‘เงามืดอันยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’ ในเมื่อเราไม่สามารถลบล้างรอยเปื้อนดังกล่าวของมวลมนุษย์ได้ นักออกแบบจึงออกแบบรูปทรงอาคารและทางเดินให้ผู้มาเยือนต้องเดินผ่านเงามืด
เนื้อความสำคัญของงานชิ้นนี้ใช้วิธีคิดและการนำเสนอที่เรียบง่ายเพื่อส่งข้อความสั้นๆ ว่า เมื่อเราลืมความสยดสยองที่เคยเกิดขึ้น ความน่าหวาดกลัวนั้นก็จะกลับมาเกิดซ้ำได้อีก
อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก