ช่วงกักตัวจากโรคระบาด COVID-19 สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกใกล้เคียงกับการได้ออกไปโลดแล่นข้างนอกมากที่สุด ก็คงเป็นการเปิดดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่องที่เหมือนพาเราหลุดออกจากโลกแห่งความจริงสักพัก แล้วเดินทางไปพร้อมกับตัวละครในหน้าจอสี่เหลี่ยม
แต่การดูหนังสักเรื่องมีอิทธิพลต่อจิตใจเรามากกว่านั้น บางครั้งมันช่วยสะท้อนสิ่งที่เรากำลังมองหาหรือว่าขาดหายไปในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความฝัน ความรู้สึก หรือแรงบันดาลใจ ซึ่งเราต้องการที่จะเติมสิ่งนั้นให้เต็ม จึงเลือกหนังบางเรื่องมาชโลมจิตใจที่ว่างเปล่านั้น
พอพูดถึงผลกระทบในแง่ดีแบบนี้แล้ว หลายคนคงจะนึกถึงหนังรักโรแมนติก หนังชีวิต หรือหนังสร้างแรงบันดาลใจกันล่ะสิ เพราะหนังสยองขวัญอย่างหนังผีหรือหนังฆาตกรรม ดูแต่จะสร้างความรู้สึกกลัว ตื่นเต้น หรือตกใจ ให้ฮอร์โมนอะดรีนาลีนในร่างกายพลุ่งพล่านเฉยๆ แม้เป็นความรู้สึกที่ก็ดีนะ แต่ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยได้เหมือนกัน เลยคิดว่าหนังเหล่านี้ไม่น่าจะมีประโยชน์กับทางจิตใจมากเท่าไหร่
แน่นอนว่าพูดมาขนาดนี้ แปลว่าต้องมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาค้านให้แปลกใจอยู่แล้วล่ะ ซึ่งก็ตามนั้นเลย เพราะความจริงหนังสยองขวัญมีประโยชน์ทั้งกับทางสุขภาพจิตและการปรับตัวของมนุษย์ ในแง่ที่เราคาดไม่ถึงเลย โดยเฉพาะในช่วงที่เต็มไปด้วยความน่ากลัว น่าวิตกกังวล อย่างเช่นโรคระบาดตอนนี้เป็นต้น
มีผลการวิจัยหนึ่ง ศึกษาชาวอเมริกันที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่จำนวน 310 คน โดยวัดนิสัย พฤติกรรม บุคลิกภาพ และผลลัพธ์ทางจิตวิทยาอื่นๆ ขณะที่พวกเขาดูหนังสยองขวัญ ซึ่งก็พบว่า ขณะที่ดูพวกเขาอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายใจก็จริง แต่ก็มีประโยชน์ที่คาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน
อย่างแรกเลย พวกเขาพบว่าแฟนหนังสยองขวัญ มีการรายงานถึงความกลัวหรือความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดที่น้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ และผู้ที่ชื่นชอบในภาพยนตร์เกี่ยวกับโรคระบาดโดยเฉพาะ ก็มีการรายงานถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจ (resilience) หรือสามารถพาตัวเองกลับสู่สมดุลของชีวิตได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย เนื่องจากพวกเขาสามารถค้นหาความหมายหรือความเพลิดเพลินในชีวิตให้กับตัวเองได้ แม้ว่ารอบตัวจะเกิดอะไรขึ้น หรือมีแต่ข่าวร้ายเข้ามาไม้เว้นวันเลยก็ตาม
ฮาร์เวย์ มิลค์แมน (Harvey Milkman) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์จิตวิทยาที่ Metropolitan State University อธิบายว่า การศึกษานี้มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งระบุว่าบางคนสามารถมองสถานการณ์ตึงเครียดในเชิงบวกได้ มองว่าเป็นความท้าทายที่อยากจะเอาชนะ หรือเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ เพราะในขณะที่แฟนหนังสยองขวัญเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขาจะค่อยๆ สร้างความรู้สึกควบคุมหรือความยืดหยุ่นต่อความกลัว หรือเรียกว่าเป็น ‘กลยุทธ์การเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีประสิทธิภาพ’ และนั่นอาจทำให้พวกเขาได้เปรียบในสถานการณ์ที่น่ากลัวของจริง
ในขณะที่แฟนหนังสยองขวัญเผชิญกับเหตุการณ์สะเทิอนขวัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า
พวกเขาจะค่อยๆ สร้างความรู้สึกควบคุมหรือความยืดหยุ่นต่อความกลัว
และนั่นอาจทำให้พวกเขาได้เปรียบในสถานการณ์ที่น่ากลัวของจริง
แม้ความกลัวจะเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าพึงประสงค์นัก แต่นักวิจัยก็มองว่า การเผชิญหน้ากับความกลัวหรือความรู้สึกเชิงลบอื่นๆ ระหว่างดูหนังหรือดูซีรีส์ ทำให้ผู้คนสามารถรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ดีมากขึ้น ผ่านสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและควบคุมได้ เมื่อเทียบกับการเลือกที่จะหลีกเลี่ยงหรือระงับความรู้สึกดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าเดิมในภายหลัง โดยการมีพื้นที่ให้จัดการกับความรู้สึกเชิงลบต่างๆ จะช่วยให้ผู้คนได้ผ่อนคลายจากการยึดติดที่ยาวนาน แม้ว่าตอนจบของหนังสยองขวัญอาจไม่ได้จบลงอย่างสุขสมเสมอไปก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ระหว่างที่หนังดำเนินไป พวกเขาก็ได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่ติดอยู่ข้างในออกมาบ้าง
อีกสิ่งที่นักวิจัยค้นพบก็คือ คนที่ดูหนังเกี่ยวกับโรคระบาดหรือวันสิ้นโลกบ่อยๆ รายงานว่าพวกเขารู้สึกพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาด ทั้งในทางจิตใจและร่างกาย เพราะพวกเขาค่อยๆ เรียนรู้และสังเกตการตอบสนองต่อความกลัวของตัวเองไปพร้อมๆ กับการดูหนัง แม้ว่าหนังที่พวกเขาดูจะเป็นเพียงแค่สถานการณ์สมมติ หรือไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงเลยก็ตาม เช่น ซอมบี้บุกโลกหรือเอเลี่ยนถล่มเมือง แต่พวกเขาก็สามารถดึงบทเรียนที่ได้จากพฤติกรรมของผู้คนในยามวิกฤตจากหนังเรื่องนั้นๆ ออกมาใช้ได้ หรือแม้แต่เชื่อมโยงเหตุดารณ์นั้นกับตัวเองดูว่า ถ้าเป็นพวกเขาจะรับมือยังไง? และพวกเขาก็เรียนรู้ที่จะไม่มองข้ามสิ่งต่างๆ แม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม (มีการสันนิษฐานด้วยว่า พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่ออกไปตุนกระดาษชำระในตอนเกิดโรคระบาดแรกๆ ซึ่งเป็นสัญญาณของการซื้อสินค้าที่เกิดจากความตื่นตระหนก หรือ panic buying)
ในส่วนของบุคลิกภาพ นักวิจัยได้ทำการพิจารณากลุ่มคนเหล่านี้แล้วก็พบว่า กลุ่มคนที่ชอบหนังสยองขวัญมีความอยากรู้อยากเห็นที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไป (morbid curiosity) หรือเป็นความปรารถนาที่จะเรียนรู้เรื่องที่อันตรายหรือเป็นภัยคุกคามกับชีวิต ซึ่งก็สัมพันธ์กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ดีกว่ากลุ่มคนอื่นๆ อาจเพราะสำหรับพวกเขาแล้ว สถานการณ์โรคระบาดมีความสนใจในบางแง่ เหมือนพวกเขากำลังใช้ชีวิตอยู่ในหนังสยองขวัญที่พวกเขาดู แม้จะไม่ใช่ความคิดหรือความรู้สึกที่ดีสักเท่าไหร่นัก แต่ก็นับว่าเป็นมุมมองที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อจมอยู่กับชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความเครียด (อารมณ์แบบว่า พวกเอ็งเอาอะไรมาน่าสนใจวะ เครียดจะตายอยู่แล้ว)
โคลแทน สคริฟเนอร์ (Coltan Scrivner) นักศึกษาปริญญาปริญญาเอก สาขาพัฒนาการมนุษย์เชิงเปรียบเทียบ มองว่า การที่ผู้คนรู้สึกเพลิดเพลินกับการดูอะไรน่ากลัวๆ นับเป็นความย้อนแย้งทางความคิดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในขณะที่ช่วงโรคระบาดยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ
“ถ้าคุณเคยคุยกับแฟนหนังสยองขวัญ หรืออ่านเว็บบอร์ดที่เกี่ยวกับข่าวสยองขวัญ คุณจะพบว่ามีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่พูดถึงวิธีที่พวกเขาใช้ความสนองขวัญเหล่านี้ จัดการกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงความกลัว ความกังวล ความหดหู่ใจ หรือความชอกช้ำที่พวกเขาเคยประสบมา” โคลแทนกล่าว “ความสงสัยใคร่รู้ที่ผิดปกติของพวกเขา นับว่าเป็นแรงจูงใจภายในที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า สถานการณ์ไหนเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นในอนาคตได้ ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ COVID-19 นั่นเอง”
ความสงสัยใคร่รู้ของที่ผิดปกติของพวกเขา
นับว่าเป็นแรงจูงใจภายใจที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า
สถานการณ์ไหนเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต
เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นในอนาคตได้
ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ COVID-19 นั่นเอง
ในขณะที่โรคระบาดกลายเป็นความสนใจและผู้คนทั่วโลก และทำให้หลายคนสัมผัสได้ถึงความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หนังเรื่อง Contagion กลับเป็นหนังที่มีคนดูเยอะสุดในสหรัฐอเมริกา โคลแทนจึงพยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ โดยใช้โอกาสจากโรคระบาดเพื่อศึกษาความขี้สงสัยที่ผิดปกติของผู้คน ในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยใช้แบบสำรวจในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบการดูหนัง
โคลแทนพบว่า กลุ่มคนที่สนใจหนังอย่าง Contagion และ Outbreak ซึ่งเป็นหนังสยองขวัญ มีการรายงานว่าพวกเขามีระดับความวิตกกังวลที่น้อยกว่ากลุ่มคนอื่นๆ หลังจากที่เกิดโรคระบาดขึ้นในช่วงแรก เขากล่าวว่า “เราทดสอบสิ่งที่เรียกว่าสมติฐานการจำลองกับแฟนหนังสยองขวัญ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าพวกเขาเคยจำลองสถานการณ์นี้มาก่อน จึงมีการเตรียมพร้อมเล็กน้อยหรือสามารถรับมือกับสถานการณ์จริงได้ดียิ่งขึ้น”
“แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบหนังสยองขวัญ ผมว่าปี ค.ศ.2020 ก็สยองมากพอสำหรับพวกเขาแล้วล่ะ” โคลแทนกล่าวทิ้งท้าย (ซึ่งไม่จริง ผายมือมาที่ประเทศไทยปี ค.ศ.2021)
นอกเหนือจากจะช่วยให้ผู้คนจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและความอันตรายมากขึ้น การดูหนังสยองขวัญมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยให้ผู้คนรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวน้อยลง เพราะการต้องกักตัวหรืออยู่ห่างจากคนอื่นๆ ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนจะต้องต่อสู้กับสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวนี้เพียงลำพัง โดยเฉพาะเมื่อเปิดดูโซเชียลมีเดีย ทุกคนในนั้นดูเหมือนจะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นดี (แม้ว่าความจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ตาม) แต่การเปิดหนังสยองขวัญสักเรื่อง ทำให้เราเห็นว่าตัวละครหลักก็มีด้านมืด มุมที่น่าอาย หรือมุมที่อ่อนแอไม่ต่างไปจากเรา แม้ว่าความน่าสะพรึงกลัวที่เผชิญอยู่ในขณะนี้จะแตกต่างกันไปก็ตาม แต่เมื่อเราพบว่ายังมีใครสักคนที่วิตกกังวล หวาดกลัว หรือสิ้นหวังไปด้วยกัน อย่างน้อยเราก็จะสามารถอดทนสู้กับสถานการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้นกว่าเดิม
แต่ถ้าใครขวัญอ่อนมากๆ หรือมีโรคส่วนตัวที่สามารถถูกกระตุ้นได้จากอาการตกใจ การดูหนังสยองขวัญโดยเฉพาะนั่งดูคนเดียว อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่นัก สามารถหาหนังแนวอื่นที่ชื่นชอบมาปลอบประโลมจิตใจ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้เหมือนกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก