มีมขายขำ ท่าเต้นใน TikTok คลิปบนยูทูบที่กลายเป็นไวรัล มักจะถูกส่งต่อบนโลกโซเชียลมีเดียผ่านการแชร์ รีทวีต หรือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ตามๆ กันมา จนเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ในช่วงเวลานั้น แต่อีกหลายคอนเทนต์ที่ถูกทำซ้ำ แล้วส่งต่อโดยไม่มีการอ้างอิงที่มาและไม่รู้ว่าใครเป็น ‘ต้นฉบับ’ จะนับรวมเป็นการทำตามเทรนด์ได้ด้วยหรือเปล่า?
Social media plagiarism
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะกดไลก์ กดแชร์ ส่งต่อคอนเทนต์ที่ชอบไปยังช่องทางของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย แต่บางครั้งก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างการแชร์และการหยิบฉวยเอาไอเดียของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ซึ่งอย่างหลังนี้เรียกว่า ‘plagiarism’
plagiarism มาจากคำว่า ‘plagium’ ในภาษาละติน หมายถึง ‘ขโมย’ (theft) ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะปรากฏอยู่ตามแวดวงวิชาการอย่างงานวิจัย ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ ไปจนถึงงานศิลปะ เพลง วรรณกรรม ก่อนจะขยับขยายมายังโลกโซเชียล ตั้งแต่การโต้แย้งกันว่าใครเป็นคนคิดมุขตลกในมีมนี้กันแน่? การก๊อปสเตตัสเฟซบุ๊กไปโดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา รวมทั้งคอนเทนต์วิดีโอบน TikTok ที่เราอาจจะเห็นเนื้อหาซ้ำๆ หรือแม้กระทั่งท่าเต้นที่ไม่รู้ว่าใครกันนะที่เป็นต้นฉบับของไอเดียนี้
แม้ฟังเผินๆ จะดูเหมือนไม่มีอะไรเสียหายร้ายแรง แต่หากมองลึกลงไป ยอดเข้าชมและยอดการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นกลับสร้างรายได้เข้ากระเป๋าคนก๊อปไอเดียไปแบบสบายๆ ราวกับเจ้าของไอเดียช่วยสร้างรายได้ให้กับคนเหล่านี้ฟรีๆ โดยไม่ต้องให้เครดิตหรืออ้างอิงถึง ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์แล้ว ยังเป็นการไม่ให้เกียรติ ตัดกำลังใจและลดทอนคุณค่าของผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนที่เป็น ‘ต้นฉบับ’ อีกด้วย
ข้อจำกัดของความไร้ขีดจำกัด
ขณะที่งานงานวิจัยหรือบทความที่ถูกตีพิมพ์นั้นยังพอจะใช้กฎหมายและตามตัวโจรขโมยไอเดียมารับโทษได้ แต่การก๊อปงานบนโซเชียลมีเดียกลับซับซ้อนมากไปกว่านั้น ด้วยธรรมชาติของสื่อโซเชียลที่สามารถเผยแพร่ทุกอย่างได้รวดเร็วและง่ายดาย
ความไร้พรมแดนทำให้คอนเทนต์ต่างๆ ถูกแชร์ไปได้อย่างกว้างขวาง จนยากเกินกว่าจะติดตามหาต้นฉบับหรือคอยตรวจสอบว่าใครก๊อปไอเดียเราไปบ้าง และยากที่จะตามลบหรือรีพอร์ตได้จนครบ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังให้ความรู้สึกลดทอนตัวตน (anonymous) เพราะบางคนไม่ได้มาเจอกันในชีวิตจริง แถมยังไม่มีคนมาคอยตรวจสอบทุกๆ โพสต์ ชวนให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า ต่อให้อ้างอิง หรือก๊อปมาดื้อๆ ก็คงไม่มีใครสนใจขนาดนั้นหรอก การแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน
อย่างไรก็ตามเหล่าบริษัทโซเชียลมีเดียเองก็พอจะมีนโยบายที่ออกมารองรับบ้างแล้ว เช่น เฟซบุ๊กที่มีปุ่ม report abuse เพื่อแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ว่าผลงานของเราถูกขโมยหรือถูกนำไปดัดแปลง ส่วนแอพฯ สุดฮิตอย่าง TikTok ก็เพิ่งจะออกมาประกาศในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2022 ว่าจะมีฟีเจอร์สำหรับการให้เครดิตวิดีโอที่ผู้ใช้งานนำมาโพสต์ได้
ส่วนคนทั่วไปในฐานะผู้ใช้งานเอง สิ่งที่ทำได้คงเป็นการส่งต่อหรือแชร์คอนเทนต์ต่างๆ โดยให้เครดิตเนื้อหาที่นำมาจากคนอื่นๆ หรือสอบถามเจ้าของโพสต์ก่อนจะนำไปเผยแพร่ต่อและสร้างวัฒนธรรมนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ขณะที่เหล่าครีเอเตอร์หรือคนที่เป็น ‘ต้นฉบับ’ นอกจากจะศึกษาข้อมูลเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว ยังสามารถระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการแชร์และการส่งต่อไว้ในโพสต์เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองได้เช่นกัน
แต่ใช่ว่าทั้งหมดนี้คือวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทุกอย่าง เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องอาศัยนโยบาย กฎหมาย บทลงโทษที่ชัดเจนและเหมาะสมกับโลกโซเชียลมีเดีย เพราะนอกจากเรื่องความถูกต้องแล้ว การแก้ปัญหาเหล่านี้ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon