สถานการณ์ Uber และแอพลิเคชั่นเรียกรถที่ชาวเมืองกำลังนิยมกัน ที่ไม่ใช่แค่เพราะมันถูกกว่า แต่เพราะหลายคนบอกว่ายอมจ่ายแพงขึ้นแลกกับบริการที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า สบายใจกว่า ติดอยู่ที่ว่ารัฐบาลและกรมขนส่งทางบกบอกว่า “มันผิดกฎหมาย” ขอให้ประชาชนหันไปใช้บริการรถแท็กซี่ รถแดง วินมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายจะดีกว่า ทั้งถูกกฎหมาย ทั้งเป็นเสน่ห์คู่บ้านคู่เมือง พวกที่มีปัญหาน่ะมันแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เอ๊ง ขอให้วางใจได้
เอาเป็นว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต่างมีเหตุผลของตัวเอง และก็ไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นที่ Uber ต้องเจอกับแรงเสียดทานจากผู้ให้บริการขนส่งเดิม มาดูกันว่าประเทศไหนเขามีวิธีจัดการกับ Uber ยังไงกันบ้าง
สหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่ ‘นายทราวิส คาลานิก’ ผู้ก่อตั้ง Uber ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์ (แต่ทนเสียงต่อต้านไม่ไหวจนต้องลาออกมา) และการที่แอพ Uber เสนอโปรโมชันในช่วงที่เขาหยุดงานประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์กัน จนหลายคนมองว่า ‘ฉวยโอกาส’ และล่าสุดนายทราวิสยังถูกผู้ขับ Uber คนหนึ่งอัดคลิป ที่บอกว่าคนขับ Uber ที่มีปัญหากับเรื่องค่าแรงและนโยบายที่เปลี่ยนไปมาของ Uber นั้น “เป็นพวกที่ไม่รู้จักดูแลตัวเอง” ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน Uber อย่างหนักหน่วง และมีการตั้งแฮชแท็ก #deleteUber เพื่อประท้วงด้วย
ต่อมาใน 34 รัฐทั่วอเมริกา ก็ผ่านกฎหมายเพื่อควบคุมแอพเรียกรถ และจะมีการพัฒนากฎหมายเพื่อให้แอพเหล่านี้มีมาตรฐานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น (ซึ่งก็ยังน่าสงสัยว่าจะทำได้ไหม) เช่น การเก็บข้อมูลคนขับ (ที่น่าจะทำอยู่แล้ว) การกำหนดจุดรับผู้โดยสารและค่าโดยสาร ซึ่ง Uber เองก็พยายามต่อสู้กับการจำกัดเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยอ้างสิทธิของคนขับเป็นพื้นฐาน เช่น ในเท็กซัส Uber บอกว่า “ขั้นตอนที่มากขึ้น เช่น คนขับจะต้องไปลงทะเบียนกับรัฐก่อนจะขับ Uber ได้นั้น กินเวลานานเกินไป” แต่ในนิวยอร์ก Uber และ Lyft (บริษัท Ridehailing อีกแห่ง) ก็ยอมรับนโยบาย Driver Fingerprinting (การระบุตัวผู้ขับกับรัฐ) เพราะตลาดมีขนาดใหญ่เกินที่จะมองข้าม
สหราชอาณาจักร
มีการตัดสินให้ Uber จ่ายเงินให้กับ ‘คนขับ’ ในฐานะที่เป็น ‘ลูกจ้าง’ ซึ่งจะมาพร้อมกับสิทธิต่างๆ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และการหยุดงานโดยได้ค่าแรง (holiday pay) แต่ Uber ก็บอกว่าจะขออุทธรณ์คำตัดสินนี้เช่นกัน
คำตัดสินดังกล่าวจะส่งผลเป็นคดีตั้งต้นสำหรับแอพอื่นๆ ที่อยู่ใน gig economy หรือ ‘เศรษฐกิจงานจ๊อบ’ เช่น Deliveroo ด้วย (ลองนึกถึงแอพพวก Line Man ในประเทศไทย)
ฝรั่งเศส
ศาลฝรั่งเศสสั่งปรับ Uber เป็นจำนวนเงิน $900,000 หรือประมาณ 31.5 ล้านบาท จากดำเนินกิจการแท็กซี่อย่างไม่ถูกกฎหมาย มีการใช้คนขับรถที่ไม่ถูกฝึกมาตามระบบระเบียบ
เยอรมนี
มีนโยบาย ‘แบน’ UberPOP ซึ่งเป็นบริการย่อยของ Uber ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่ามันเป็น ‘บริการย่อย’ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองและความพยายามในการเลี่ยงกฎหมาย โดยมันเสนอบริการ Rideshare คือ ‘ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน’ โดยผู้ขับจะแชร์ค่าน้ำมันกับผู้โดยสาร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้โดยสารก็จ่ายเงินให้กับคนขับคล้ายกับบริการ Uber ทั่วไปอยู่ดี แต่มีราคาถูกกว่า – ในขณะที่ UberX นิยามตัวเองว่าเป็น ‘professional limousine service’ ซึ่งจะมีราคาแพงกว่า
ไต้หวัน
Uber ระงับการให้บริการ หลังจากต่อสู้ทางกฎหมายกับรัฐบาลมาหลายปี ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลบอกว่า Uber จดทะเบียนบริษัทผิดประเภทและขอความร่วมมือไปยัง Apple และ Google ในการสั่งปิด และยังปรับคนขับด้วย
สิงคโปร์
‘ลี เซียน ลุง’ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พูดในงาน National Day Rally ว่าบริการเรียกรถอย่าง Uber และ Grab ไม่เป็นธรรมกับผู้ขับรถแท็กซี่เดิม เพราะมีข้อบังคับหรือข้อจำกัดน้อยกว่า แต่รัฐบาลก็จะปรับกฎให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นโดยมุ่งปกป้องสิทธิของผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น จะเพิ่มกฎหมายตรวจสอบประกันของรถที่ใช้ขับบริการ และตรวจประวัติคนขับ
เขายังกล่าวด้วยว่าสิงคโปร์ต้องสนับสนุนให้มีการ disrupt (การทำลายกรอบจำกัดเดิม, เปลี่ยนมิติ) อุตสาหกรรมเดิมๆ ให้ปรับตัวตามตลาดได้ โดยยอมรับว่าแอพเรียกรถให้บริการดีกว่า ตอบสนองได้รวดเร็วกว่า
มาเลเซีย
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ‘นาจิบ ราซะก์’ บอกว่า “คนรายได้ต่ำที่มีรถควรไปขับ Uber ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” และระบุว่าคนขับ Uber อาจมีรายได้เพิ่มมากถึงเดือนละ 11,850 บาท (1,500 ริงกิต) โดยเมืองปูตราจายาจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้ส่วนลดในการซื้อรถยนต์ไปขับด้วย
เวียดนาม
กระทรวงคมนาคมเรียกร้องให้ Uber เลิกดำเนินการในประเทศหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น โดยบอกว่าบริษัทอื่นๆ อย่างเช่น Grab, V.Car, Vic Car นั้นร่วมมือกับรัฐเรียบร้อยแล้ว
ญี่ปุ่น
Uber เพิ่งเข้าตลาดญี่ปุ่นไม่นาน แต่ในเขตคิวชูที่เข้าไปทดลองให้บริการ ก็ต้องปิดตัวไป เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย เพราะคนขับไม่มีใบอนุญาต
ส่วนคนขับรถแท็กซี่ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแท็กซี่ที่สุภาพที่สุดในโลก กลัวว่าการมาถึงของ Uber ในโตเกียวจะทำให้วัฒนธรรมการบริการของแท็กซี่ตกต่ำลง