เวลาที่เรานึกถึงการเผชิญหน้ากับ ‘คนอื่น’ หรือ ‘คนแปลกหน้า’ ลึกๆ แล้วเรากลัวมั้ย?
จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์กับสภาวะของ ‘คนแปลกหน้า’ ที่ว่าเนอะ ถ้าเป็นคนท่าทางแปลกๆ มาด้อมๆ มองๆ หรือเข้ามาทำอะไรไม่น่าไว้ใจกับเรา แบบนี้ก็จะเริ่มกลัวๆ แล้ว ความกลัวก็คือภาวะที่เราตอบสนองต่อภัยอันตราย
ความกลัวแบบที่ว่าดูเป็นความกลัวที่มีเหตุผล เป็นรูปธรรม คือเรามีการคิด ประเมิน และคาดการณ์ว่า เฮ้ย มันดูไม่โอเคแล้ว น่ากลัว เอาไงดี หนีดีมั้ยนะ หรือจะสู้ ความกลัวในฐานะ ‘อารมณ์’ ที่เรามักคิดว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ ‘เหตุผล’ ในตัวมันเองก็มีความซับซ้อนอยู่มาก เพราะเอาเข้าจริง ความรู้สึกกลัวซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การลงมือกระทำ (action) ก็ปนเปไปด้วยอารมณ์และเหตุผลอยู่ในตัวเอง
ความกลัวความเป็นอื่น (otherness) มีเหตุผลมั้ยนะ?
‘ความเป็นอื่น’ หรือ otherness มันมีความหมายเฉพาะเจาะจงที่เป็นแนวคิดนามธรรมขึ้นจากการเป็นแค่ ‘คนอื่น’ หรือ ‘คนแปลกหน้า’ เพราะมันไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง แต่มักหมายถึงกลุ่มคนที่เราไม่ได้มองว่าเป็น ‘พวกเดียวกับเรา’ ถ้าในกระแสปัจจุบันก็มักหมายถึงผู้อพยพหรือคนกลุ่มน้อยของสังคมทั้งหลาย
xenophobia เป็นอีกคำที่ใกล้เคียงกัน คือความกลัวคนอื่นหรือคนต่างชาติ โดยคำก็พอจะเดาได้ว่ามาจากภาษากรีก รากเหง้านั้นก็มาจากความกลัวพวกอนารยชนคนป่าของคนกรีก กลัวว่าคนพวกนี้จะบุกรุกเข้ามาทำลายหรือแย่งชิงเอาผลประโยชน์จากพวก ‘เรา’ ประเด็นสำคัญของความกลัวอันนี้คือมันเป็นความกลัวหรือความเกลียดชังที่ถูกนิยามว่า ‘ไม่มีเหตุผล’
ไอ้ความกลัวคนอื่น เป็นความกลัวพื้นฐานที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนาน แต่ไอ้ความกลัวอันนี้ถ้าเป็นเมื่อก่อน ในสมัยที่มนุษย์เรายังไม่มีเหตุผล ความกลัวคนอื่นก็อาจจะเป็นความกลัวที่มีเหตุผลก็ได้ เพราะการเอาตัวรอดในสมัยบรรพกาลมันก็ต้องรวมกลุ่มแล้วมองกลุ่มอื่นๆ เป็นศัตรูไว้ก่อน
ความกลัวคนอื่นและอคติที่ยังคงอยู่
ซึ่ง…เราก็วิวัฒนาการเนอะ ทุกวันนี้มันก็ไม่ใช่คนที่ ‘ไม่ใช่พวกเรา’ จะเป็น ‘ตัวร้าย’ หรือพร้อมจะเข้าแย่งชิงไปซะหมด อย่างมุสลิม พม่า โรฮิงยา ที่เรามักมีจินตนาการว่าคนพวกนี้จะต้องร้าย พอเข้ามาแล้วก็มาแย่งทรัพยากร มาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนใน ความมีเหตุผลเลยกลายเป็นความไม่มีเหตุผล เพราะก็ไม่ใช่ว่าคนต่างด้าวทุกคนที่จะเป็นผู้ก่อการร้าย ขี้ขโมย หรือชอบความรุนแรง
จากการทดลองก็พบว่า ไอ้ความกลัวคนอื่นที่ว่า มันอาจจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่กับมนุษย์เรามาจนปัจจุบัน แถมมนุษย์เราก็มีการแบ่งฝักฝ่ายและสร้างอคติกับคนที่เรามองว่าเป็นพวกอื่นอย่างรวดเร็ว
Jay Van Bavel นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) บอกว่าเวลาที่ทำการทดลองด้วยการแบ่งกลุ่มเป็นทีมสีฟ้า และทีมสีแดง ผลคือพอเริ่มมีการแบ่งฝ่ายกันปุ๊บ สมาชิกทีมก็จะแสดงออกถึงอคติที่มีต่อทีมฝ่ายตรงข้าม เริ่มมีการบอกว่าชื่นชอบสมาชิกในทีมตัวเองมากกว่าคนอื่น เรียกว่าพอแบ่งฝ่ายปุ๊บ อคติก็มากันทันที
การลดทอนความเป็นมนุษย์จากอคติที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ความน่ากลัวจากอคติและความหวาดกลัวคนนอกอยู่ที่เมื่อเรายิ่งกลัวหรือเกลียดชังคนอื่น-คนที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า คือยิ่งเรารู้สึกว่าเขาแปลกหน้า น่ากลัว และเป็นภัยกับเราเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้สึกว่าเขาเป็น ‘มนุษย์’ น้อยลง
การลดทอนความเป็นมนุษย์ เลยเป็นลักษณะที่สำคัญของการสร้างความกลัวและความเกลียดชังต่อ ‘คนนอก’ เพราะเมื่อเราเริ่มมองเห็นว่าใครก็ตามเป็นมนุษย์น้อยกว่าเรา เราก็จะเริ่มเห็นอกเห็นใจหรือเข้าอกเข้าใจน้อยลง
ซึ่งแน่ล่ะว่าถ้าเราไม่เห็นอกเห็นใจ เราก็จะรู้สึก
เฉยเมยกับความยากลำบาก หรือความตายของคนๆ นั้น
ความกลัวคนอื่นเป็นสิ่งที่มากำกับมุมมองของเราต่อคนๆ นั้น มีการทดลองว่า กลุ่มตัวอย่างมักจะให้ค่ากลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘คนนอก’ ว่ามีคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์น้อยกว่า Mina Cikara นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ดบอกว่ามันคืออคติของการแบ่งแยก (over-exclusion bias) คือเวลาที่กลุ่มเพื่อนของเราหดตัวแคบลง เราก็จะมองคนที่อยู่นอกวงด้วยระดับความเห็นใจที่ต่ำลง และแบ่งทรัพยากรต่างๆ ให้น้อยลงกว่าเดิม แถมเรายังมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อคนที่อยู่นอกกลุ่มเราด้วย
เหตุผลอาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่การใช้เหตุผล-รวมถึงการหยุด ครุ่นคิด และไตร่ตรองก่อนว่าไอ้ความกลัวและความเกลียดชังที่เรามีมันเกิดจากความไร้เหตุผลรึเปล่า เรากำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของใครไหม
ซึ่งบางที มุมมองที่เราลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นนั้น มันก็อาจจะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดลงไปตามด้วย
เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคหินอีกต่อไปแล้ว