คนรุ่นใหม่ 20 คน มาพร้อม 21 นโยบาย ทยอยเดินขึ้นเวที อธิบายจุดยืน ความฝัน ความหวังที่ตัวเองมีต่ออนาคตของประเทศไทย ขณะที่ผู้ใหญ่อายุรุ่นพ่อ รุ่นลุง ผู้กุมอำนาจการตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นั่งรับฟัง
นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในวันที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัวกลุ่มคนรุ่นใหม่ชื่อ ‘New Dem’ ภายใต้สโลแกน ‘ก้าวนอกกรอบ’
กิมมิกเล็กๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน คือสมาชิกทั้ง 20 คน จะถูกปิดบังนามสกุลของตัวเอง เพื่อแสดงออกว่า ไม่ว่าใครก็จะต้องมีเสียงพูดที่เท่าเทียมกัน และพวกเขาไม่ได้มาเพื่อสืบทอดอำนาจในพรรคต่อจากใคร
ถึงอย่างนั้น คำถามที่เกิดขึ้นตลอดการแถลงข่าว คือคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ ของพรรคคู่แข่งอย่างไร และอะไรเป็น ‘กรอบ’ ที่พวกเขาต้องการจะก้าวออกมา?
ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, เปิดการค้ากัญชา, สนับสนุน eSports
‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะเป็นไฮไลต์สำคัญที่สื่อมวลชนจับจ้อง อาจด้วยเหตุผลที่ไอติมเคยออกมาเสนอจุดยืนทางการเมืองและสังคมในช่วงก่อนหน้านี้หลายครั้ง และปฏิเสธไม่ได้ว่า เขามักถูกมองในฐานะ ‘หลาน’ ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ไอติมเสนอนโยบาย ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหารทำได้จริง ทหารสมัครใจ ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่นใจ’ เขายกตัวอย่างถึงเพื่อนพลทหารคนหนึ่งที่ต้องประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว จึงเห็นว่ากองทัพควรยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนไปสู่ระบบที่รับสมัครตามความสมัครใจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัลย์ หรือ ‘หมอเอ้ก’ มาพร้อมกับนโยบาย เปิดการค้ากัญชาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ให้โอกาสประชาชนได้สกัดกัญชาออกมาได้ด้วยตัวเองโดยมีภาครัฐเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัย
“ผมไม่อยากให้มองว่ากัญชาเป็นสารเสพติด แต่อยากให้มองว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากการวิจัยล่าสุด คาดการณ์ว่าในอีก 7 ปี ตลาดการค้ากัญชาระดับโลกจะมีมูลค่าถึง เกือบ 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ตรงนี้ คือ โอกาส” หมอ เอ้ก อธิบาย
ไฮไลต์อีกคนที่มาแรงตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดตัวทำงานกับพรรคในรอบนี้ คือ ‘ปลื้ม’ สุรบถ หลีกภัย เขามากับไอเดียผลักดัน eSport และอาชีพแคสเตอร์ให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้และโอกาสใหม่ๆ ของเศรษฐกิจไทย ตามกระแสที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจต่ออาชีพด้านนี้กันอย่างต่อเนื่อง
นอกจาก 3 คนนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นมาเสนอนโยบายอีกมากมาย เช่น
- E-learning เพื่อทำให้ทุกคนได้เข้าถึงระบบการศึกษาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน
- เพิ่มหลักสูตรว่าด้วยกฎหมายเข้าไปในการเรียนระดับมัธยมศึกษา
- สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และยกเลิกคำนำหน้าชื่อ
- กำจัดขยะพลาสติก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
- ปรับระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการ
- ส่งเสริมคราฟต์เบียร์ รวมถึงเหล้าพื้นบ้านเพื่อสร้างรายได้และอาชีพ
- Application เรียกรถถูกกฎหมายเพื่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
- พัฒนาและส่งเสริมสวัสดิการของคนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์
คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ เปลี่ยนพรรคได้จริงไหม?
ท่ามกลางนโยบายที่คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์นำเสนอบนเวที แม้จะเป็นไอเดียที่เข้ากับกระแสนิยมในปัจจุบัน ทั้งกัญชาเสรี การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน รวมถึงยกเลิกเกณฑ์ทหาร หากแต่คำถามสำคัญคือ แล้วพวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน
“แม้หลายคนจะคิดว่าพรรคที่เก่าแก่ที่สุดจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ขอให้ทุกคนรอดูการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ของพรรคอื่น คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานของนักการเมือง หรือสืบทอดอำนาจ และคนรุ่นใหม่ของพรรคพร้อมจะรับฟังและทำงานกับคนทุกรุ่น ซึ่งกลุ่มของพวกผมต้องการทำการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ความขัดแย้ง” ไอติม ระบุ
New Dem ประชาธิปัตย์อีกคนที่พูดถึงเรื่องทำนองนี้เอาไว้ คือ พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ผู้สนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม ลูกชายของ พนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร
“ถ้าผมเข้ามาในการเมือง ผมเปลี่ยนหรือปรับพรรคไม่ได้ ผมจะไปเปลี่ยนชีวิตคนไทยทั่วประเทศได้ยังไง จุดเริ่มต้นของกลุ่มผมก็คือต้องปรับพรรคให้ได้ก่อน ให้มันทันสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่ให้ได้มากขึ้น ผมมั่นใจ และผมพยายามเต็มที่จริงๆ” พรพรหม ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS
ประชาธิปัตย์กับโจทย์สลายภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยม
ประเด็นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพรรค มักถูกยิงถามเข้าไปกับคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์แทบทุกคน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเราต้องลืมกันว่านี่คือพรรคซึ่งมีโครงสร้างที่ค่อนข้างใหญ่ มีนักการเมืองเบอร์ใหญ่ที่มากประสบการณ์เป็นคนกุมทิศทางของพรรค
ที่สำคัญคือภาพลักษณ์ที่ค่อนไปทางฝั่งอนุรักษ์นิยม มากกว่าเสรีประชาธิปไตย จากจุดยืนทางการเมืองของพรรคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
พรพรหม บอกว่า “แน่นอนถ้าคุณถามนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็จะบอกว่าจุดยืนของเราเรื่องประชาธิปไตยชัดเจนอยู่แล้ว แต่ผมจะทำให้มันชัดเจนมากขึ้นอีก ในอนาคตจะได้ไม่มีคนมาถามเราอีกแล้ว ว่าจุดยืนของประชาธิปัตย์เรื่องประชาธิปไตยมันแน่จริงๆ อันนี้คือเป้าหมายแรกของกลุ่มผม”
โมเดลที่ประชาธิปัตย์จะเริ่มนำมาใช้ คือระบบ ‘จับคู่’ คนรุ่นใหม่-เก่า ให้ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อ “สอนงาน” (ตามคำพูดของพี่มาร์ค หัวหน้าพรรค) และแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกันและกัน
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เรายังไม่ได้ยินจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ แล้วเสียงของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะถูกนำไปใช้จริงอย่างไร มันจะถูกนำคิดพิจารณาในโครงสร้างพรรคอันใหญ่โตแค่ไหน และในความเป็นจริงยังมีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แถมพี่มาร์คหัวหน้าพรรคก็ยังไม่ได้ให้ความชัดเจนว่า พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคทางฝั่งเพื่อไทย หรือจะจับมือกับ ขั้ว คสช.
New Dem แตกต่างอย่างไร ในวันที่ทุกพรรคชูจุดเด่นคนรุ่นใหม่?
ในวันที่แทบทุกพรรคการเมืองชูคนรุ่นใหม่เป็นจุดขาย กลายเป็นเทรนด์ที่ถ้าพรรคไหนไม่มีคนรุ่นใหม่แล้ว มันก็จะกลายเป็นเรื่องตกเทรนด์ไปอย่างชัดเจน คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ได้ประกาศว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างออกไป คือการเปลี่ยนพรรคที่ทำเพียงแค่ ‘คิดดี พูดดี’ ไปสู่ยุคนที่ ‘คิดดี พูดดี และทำสิ่งดีๆ ให้เห็น’
“เรามีแพชชั่น มีอินเนอร์ ตั้งใจทำนโยบายให้สำเร็จ ทำการเมืองให้เป็นเรื่องสร้างสรรค์ เราเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ ที่ทะเลาะกัน เรายินดีเป็นมิตรกับทุกคน จับมือกับทุกคน” ปลื้ม สุรบถ กล่าว
ส่วนไอติมพูดถึงสิ่งที่ทำให้พวกเขาต่างไปจากคนรุ่นใหม่ในกลุ่มอื่นๆ คือการไม่ปฏิเสธประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน และอยู่ด้วยการอย่างประนีประนอม รับฟังซึ่งเหตุผลของทุกคน New Dem จะเป็นพื้นที่ให้คนที่หลากหลายได้เข้ามาพูดคุยอยู่ในสังคมเดียวกันได้
“พวกเราแตกต่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มอื่น เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ปฏิเสธการรับฟังคำแนะนำและประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน และพร้อมจะทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงกับคนรุ่นอื่นภายใต้พรรคเดียวกัน ซึ่งจะเป็นบททดสอบที่ดีที่สุดว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมไปกับคนรุ่นอื่นๆในประเทศได้จริงหรือไม่ หากวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ” ไอติม กล่าว
แม้คนรุ่นใหม่ในประชาธิปัตย์ จะมีไอเดียที่ตอกย้ำความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ตั้งแต่ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปิดเสรีกัญชา สนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศ แต่กระบวนการภายในของพรรคยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และถ้าคนรุ่นก่อนในพรรคยังสนใจที่จะเล่นการเมืองแบบเดิมๆ (ตามความหมายของปลื้มคือ “การเมืองยุคเก่าและน้ำเน่ามาก ไม่มีประโยชน์กับใครเลย”) มันก็แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงคงยากที่จะเกิดขึ้น
ถ้าการ ‘ก้าวนอกรอบ’ ของ New Dem คือความกล้าที่ตั้งคำถามกับแนวคิดที่สังคมปฏิบัติด้วยความเคยชิน คำถามต่อไปคือ แล้วภายในประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน เสียงจากคนรุ่นใหม่ในพรรควันนี้ จะถูกนำไปกำหนดลงนโยบายหาเสียงอย่างไรบ้าง
นี่คือโจทย์ใหญ่ๆ ที่ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก