ยุบสภาแล้ว กำหนดวันเลือกตั้งปีนี้ก็มาแล้วเหมือนกัน … นับว่าเป็นการเปิดฉากสู่การเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการแล้วน้า
แม้ว่าจริงๆ แล้วอีกไม่กี่วันก็จะครบวาระ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกลับชิงประกาศยุบสภาไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน เท่ากับว่ารัฐบาลใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาน๊านนานเกือบจะครบวาระ มีระยะเวลาในการบริหารบ้านเมืองราว 4 ปี
พร้อมกันนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็กำหนดวันเลือกตั้งออกมา เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม ยิ่งสะท้อนว่า วันเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาจริงๆ
แต่ก่อนจะมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ หลายคนคงสงสัยเหมือนกันว่า นโยบายที่คุณพี่พรรคร่วมรัฐบาล (ในรอบล่าสุด) ทั้งหลายเคยหาเสียงไว้ มีอะไรที่ทำได้บ้าง พูดแล้วทำได้จริงไหมน้า The MATTER ชวนทุกคนมาตรวจการบ้านจากปากตัวแทนพรรคไปด้วยกัน โดยโฟกัสที่สามพรรคใหญ่ ได้แก่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย
1. พรรคพลังประชารัฐ
เริ่มกันที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราพูดคุยกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกของพรรคและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสอบถามว่านโยบายที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ก่อนได้เป็นรัฐบาล ตอนนี้มีสถานะเป็นอย่างไรแล้วบ้าง
“ขออนุญาตไม่ไปนั่งไล่ตอบทีละนโยบายอย่างที่ต้องการ ให้คุยกันในภาพรวมดีกว่า” คือคำตอบแรกจากปากของนฤมล แม้เราพยายามถามข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “งั้นไม่เป็นไร ถ้างั้นทำเองเลยดีกว่า”
ฉะนั้น การตรวจการบ้านนโยบายของพรรคพลังประชารัฐจะมีที่มาจากการรวบรวมข้อมูลจาก The MATTER เองเสียส่วนใหญ่ ผสมกับบางคำตอบที่แหล่งข่าวกรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมบ้างนิดๆ มีอะไรบ้าง มาดูกัน
ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
4 ปีก่อน พลังประชารัฐเคยเรียกเสียงฮือฮาจากประชาชนด้วยการหาเสียงว่าจะ ‘ดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท’ จนมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายนีอย่างไรก็ดี เราตรวจสอบไม่พบการเคลื่อนไหวถึงการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำหลัก 400 บาท และปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำยังคงอยู่ที่ 328-254 บาทเท่านั้น และนฤลมลให้คำตอบกับเราเพียงว่า “[นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ] อยู่ในขอบเขตกระทรวงแรงงาน เป็นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ณ ขณะนั้น”
ดันเงินเดือน ป.ตรี 20,000 บาท – อาชีวะ 18,000 บาท
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
เป็นอีกหนึ่งนโยบายเซอร์ไพรส์ของพลังประชารัฐที่เคยแถลงและเน้นย้ำไว้ว่าจะผลักดันให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและอาชีวะต้องได้เงินเดือน 20,000 บาทและ 18,000 บาทตามลำดับ
แต่เมื่อปี 2563 สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ณ ขณะนั้น ออกมาเปิดเผยว่า พอเป็นรัฐบาลหลายพรรคก็ต้องฟังพรรคร่วมรัฐบาล และต้องเสียสละนโยบายของพรรคเพื่อหานโยบายที่เป็นกลาง จึงยังผลักดันค่าแรงตามที่พูดไว้ไม่ได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เรายังไม่พบการเคลื่อนไหวเรื่องการดันเงินเดือนตามที่ได้หาเสียงไว้
มารดาประชารัฐ
สถานะ: ทำบางส่วน
พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ว่า จะทำนโยบายมารดาประชารัฐที่ดูแลแม่ตั้งแต่ฝากครรภ์ รายละเอียดดังนี้
- ระหว่างตั้งครรภ์จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 9 เดือน
- ได้ค่าคลอด 10,000 บาท
- ได้ค่าดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาทจนครบ 6 ขวบ
มารดาประชารัฐเคยเป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนของพรรค และเมื่อกลางปี 2562 สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า โครงการมารดาประชารัฐจะเริ่มต้นได้ในเดือนมกราคมปี 2563
ปัจจุบัน 2566 แล้ว โครงการมารดาประชารัฐยังไม่ได้รับการอนุมัติ และจากการค้นหาข้อมูลออนไลน์ก็ยังไม่พบว่ามีผู้ตั้งครรภ์ได้ใช้สิทธินี้เลย สำหรับนโยบายนี้ นฤมลให้ความเห็นไว้ว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเก้าอี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก็เห็นตรงกันว่าต้องดูแลเด็กแรกเกิด 0-6 ขวบ แต่ทำได้แค่ไหนอย่างไร ก็เป็นกรอบของเขา กรอบของเราท้ายสุดก็ค่อยๆ ขยับและผลักดันไป มันก็ไม่ใช่ไม่ทำ”
ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน
สถานะ: ทำบางส่วน
พลังประชารัฐเคยบอกไว้ว่าจะปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคน ที่ผ่านมา ประเทศเราให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแตกต่างกันตามช่วงอายุ นั่นคือ
- ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้ 600 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 70-79 ปี จะได้ 700 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 80-89 ปี จะได้ 800 บาท/เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปจะได้ 1,000 บาท/เดือน
จนกลางปี 2565 รัฐบาลประกาศว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเสริมกับเบี้ยผู้สูงอายุรายละ 100-250 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2565) และเริ่มจ่ายเงินพิเศษให้ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2565 พร้อมอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
แต่ดูเหมือนว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ยังไม่ได้ 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคนสักทีนะ
สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ
สถานะ: ทำบางส่วน
อีกนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คือ พลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ว่าจะสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ โดยจะพัฒนาทักษะฝีมือให้ผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ จ้างงานผู้สูงวัยผ่านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ด้วยมองว่าไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จึงมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนผู้สูงอายุให้เป็นพลัง
แม้เป้าจะอยู่ที่ 1 ล้านตำแหน่ง แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ระบุไว้ว่า หลังกระทรวงแรงงานดำเนินโรงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุแล้ว จึงมีการจ้างงานผู้สูงอายุแล้ว 649 คน และสร้างรายได้ 201,600 บาท
ต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สถานะ: ทำได้
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นนโยบายที่มีตั้งแต่ปี 2560 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และก่อนเลือกตั้งรอบที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ว่าจะต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะมอบเงิน 300 บาทต่อเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียน
และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ดำเนินการต่อได้จริง นฤมลบอกว่า หากพรรคได้เป็นแกนนำรัฐบาลต่อ จะสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแน่นอน และไม่ใช่แค่เพิ่มเงินให้ 700 เฉยๆ แต่จะดำเนินการมิติอื่นเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยด้วย
“ในระยะยาวว่าถ้าได้สานต่อ ได้ทำต่อ และได้ขับเคลื่อนต่อ ทุกคนไม่ต้องใช้บัตรนี้หรอก ในอนาคตอาจจะเป็นบัตรประชาชนก็ได้ คีย์ชื่อขึ้นมาต้องบอกได้ทันทีว่าสถานะ ณ ตอนนั้นเป็นอาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ มีสวัสดิการอะไรแล้วบ้าง” นฤมลกล่าว และอธิบายด้วยว่า ไม่ได้จะแจกเงิน แต่มันคือสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ตั้งใจให้คนไทยทุกคนเข้าถึงตั้งแต่แรก แต่ด้วยข้อจำกัดและคณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่าให้ช่วยกลุ่มเปราะบางก่อน จึงเริ่มที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ปี 2565 รถเมล์ร้อนต้องสูญพันธุ์
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
พรรคพลังประชารัฐเคยประกาศว่า ‘ในปี 2565 รถเมล์ร้อน ต้องสูญพันธุ์’ โดยระบุว่าพรรคเล็งกำจัดรถเมล์ร้อนและปรับไปใช้รถเมล์รุ่นใหม่ และรถขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า อันเป็นนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อสุขภาพปอดของคนเมืองหลวง
นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ตั้งแต่เรื่องของความเป็นไปได้ ไปจนถึงความเหมาะสมในการกำจัดรถเมล์ร้อน เพราะหลายคนก็มองว่า รถเมล์ร้อนยังมีความจำเป็นสำหรับคนจำนวนมากที่มีรายได้ไม่สูงนัก และด้วยราคาค่าโดยสารของรถเมล์ร้อนที่ถูกกว่ารถเมล์แอร์เป็นเท่าตัว สิ่งที่ควรทำจึงไม่ได้การทำให้รถเมล์ร้อน ‘สูญพันธ์ุ’ แต่เป็นการปลดระวางรถเมล์ร้อนคันเก่าๆ ออกไปแทนหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม บังเอิญว่าพรรคพลังประชารัฐโฆษณานโยบายนั้นผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้โพสต์นโยบายข้างต้นมักถูกประชาชนขุดมารีโพสต์ซ้ำๆ เพื่อตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่น้าที่นโยบายนี้จะสำเร็จ …และนี่ก็ปี 2566 แล้ว เรายังเห็นรถเมล์ร้อนวิ่งทั่วเมืองกรุง และดูเหมือนว่านโยบายที่ไม่ถูกหยิบมาพูดถึงเลยนี้ คงจะเป็นฝ่ายสูญพันธุ์เสียเอง
เด็กจบใหม่ยกเว้นภาษี 5 ปี
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
ครั้งหนึ่งพรรคเคยหาเสียงว่าจะเสนอให้เด็กจบใหม่ได้ยกเว้นภาษี 5 ปี เชื่อว่าเด็กจบใหม่หรือ first jobber หลายคนอ่านแล้วคงสับสนมึนงงไม่ต่างกัน เพราะที่ผ่านมาก็เสียภาษีปกติเลยนี่นา ไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีตามที่พรรคเคยหาเสียงไว้แต่อย่างใด
เมื่อเราลองถามนฤมล ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้คำตอบว่า “อันนั้น ณ ขณะนั้น ก็ต้องกลับไปถาม รมต.กระทรวงการคลัง ว่าติดข้อจำกัดอะไร”
ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
อีกหนึ่งนโยบายหาเสียงว่าจะลดภาษี คือ นโยบายยกเว้นภาษีกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งผ่านมาจนครบสมัยแล้ว ก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวเรื่องโครงการลดภาษีให้ผู้ค้าขายออนไลน์แต่อย่างใด
นี่เป็นเพียงนโยบายส่วนหนึ่งที่พลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้เท่านั้น และทาง wevis ภาคประชาสังคมที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม เคยรวบรวมข้อมูลไว้ว่า นโยบายหาเสียงจากพรรคพลังประชารัฐที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ มีเพียง 2 นโยบาย ได้แก่ 1.โครงการบ้านล้านหลังประชารัฐ และ 2. ต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือคิดเป็น 8.3% จากนโยบายที่พรรคสัญญาไว้นั่นเอง
เมื่อเราทวงถามเรื่องการทำตามสัญญา นฤมลให้คำตอบกับเราว่า “มันไม่ใช่บอกว่าพลังประชารัฐไม่ทำตามที่สัญญา” โดยอธิบายว่า หากกลับไปดู ‘เสาหลัก’ ก็จะพบว่าพรรคทำตามนโยบายแล้วทุกด้าน ทั้งด้านสวัสดิการ เศรษฐกิจ และสังคม และเล่าเสริมว่า การตั้งคำถามกับแต่ละนโยบายที่หาเสียง มันเป็นแค่ “ชิ้นเล็กๆ ที่เขาเอามาหาเสียงกับประชาชนเฉยๆ”
“มันไม่มีอันไหนไม่ได้ทำเลยนะ ก็ทำทุกอัน แต่อยู่ในกรอบที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้ วิธีการอาจต่างกันในแต่ละพรรค แต่ก็เรื่องเดียวกัน เมื่อเวลาผลงานออกมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าผลงานนั้นเป็นของพรรคใดพรรคนึง เพราะนโยบายเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลเจรจาและสร้างร่วมกัน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเรื่องนี้ทำแล้วแต่ของพรรคนั้นพรรคนี้ไม่ได้” นฤลมลกล่าว
2. พรรคประชาธิปัตย์
พรรคการเมืองสุดเก่าแก่ของประเทศไทย ที่เมื่อครั้งหาเสียงรอบการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหอกคนสำคัญของพรรคเคยลั่นสัญญาว่าจะไม่จับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์เด็ดขาด แต่หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาและต้องจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกที่จะไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (ก็ไม่ผิดน้า จับมือกับพลังประชารัฐ ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ซะหน่อย) เข้านั่งในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล
โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ครองทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ได้ครองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึง จุติ ไกรฤกษ์ ที่แม้ว่าตอนนี้จะลาออกจากพรรคแล้ว ก็ยังเคยนั่งในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกเช่นกัน
แล้วนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงไว้ตั้งแต่ปี 2562 สถานะตอนนี้ของแต่ละนโยบายเป็นอย่างไรกันบ้าง? The MATTER ขอหยิบยกบางนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงเอาไว้ มาส่องดูความคืบหน้าก่อนที่จะเลือกตั้งครั้งใหม่ว่าจนถึงตอนนี้ แต่ละนโยบายมีสถานะเป็นอย่างไรกันบ้าง
โดยในโอกาสนี้ เราได้พูดคุยกับ พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหาคำตอบ ซึ่ง พิสิฐ ก็ขอเล่าย้อนกลับไปตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อปี 2562 ระบุว่าทางพรรคมีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ คือ
- ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้พรรคก็บอกว่าทำสำเร็จโดยออกมาให้เห็นในรูปแบบของการแยกบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
- รัฐบาลจะต้องดำเนินการโดยใช้หลักของความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีการคอร์รัปชัน ซึ่งพิสิฐก็ระบุว่า รัฐมนตรีของพรรคก็อยู่มาโดยไม่มีข้อด่างพร้อย
- ให้มีการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลก็รับเรื่องนี้แล้วดำเนินการมาตลอด
ดังนั้น พิสิฐจึงมองว่าเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็สำเร็จลุล่วงแล้ว ส่วนนโยบายที่พรรคทำได้ก็คือนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐมนตรีของกระทรวงนั้น ซึ่งแต่ละนโยบายเป็นอย่างไรก็ขอพาทุกคนไปดูกันเลย
ประกันรายได้เกษตรกร
สถานะ: ทำได้
นโยบายด้านเกษตรนับว่าเป็นนโยบายชูโรงของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา ทางพรรคก็ยังคงเดินหน้าประกันรายได้ให้ชาวเกษตรกร โดยจะประกันรายได้ของเกษตรกร 5 ชนิดเป็นหลัก ทั้งปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดว่าจะได้ราคาเท่าไร เช่นจะประกันราคายางพารา 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ทางพรรคก็จะชดเชยเงินที่ขาดไป 20 บาทให้แก่เกษตรกร
พิสิฐกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่เลือกนโยบายนี้ขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ก็เพราะเป็นบทบาทที่ทางพรรคคิดว่าทำได้ดีและชัดเจนในการช่วยชาวนา ถ้าเราช่วยกลุ่มที่ยากไร้ที่สุดในสังคมได้ ประเทศก็จะอยู่ในฐานะที่ดีขึ้น
ระบบ e-filing
สถานะ: ทำได้
เพื่อให้การจดทะเบียนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารของกระทรวง ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประชาธิปัตย์เสนอว่าจะเดินหน้าระบบ e-filling ซึ่งเป็นระบบให้บริการยื่นเอกสารต่างๆ ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบจัดเก็บไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันว่าทำได้จริงตามที่หาเสียงเอาไว้ ทั้งยังทำแล้วในทุกๆ กระทรวงที่พรรคกำกับดูแล รวมถึงที่สภาผู้แทนราษฎรด้วย ตามตัวอย่างในนี้นะ
จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
สถานะ: ทำได้
นโยบายนี้ เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าจะเร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI หรือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ) เพื่อใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ทั้งภายในนอกประเทศ
โดยอ้างอิงจากเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาการจดทะเบียนไปแล้ว 161 สินค้า ส่งเสริมสินค้า GI ในต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดประเทศอินโดนีเซียรับจดทะเบียน GI ข้าวไทยเพิ่มอีก 2 รายการ ได้แก่ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
ขับเคลื่อนโครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจโชห่วย
สถานะ: ทำได้
จะฟื้นธุรกิจโชห่วยให้กลับมาผงาด คือคำสัญญาจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยหาเสียงเอาไว้ โดยทางพรรคมองว่าการฟื้นช่วยโชห่วยเป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจ เป็นฐานรากของประเทศ และจะดำเนินการให้ปรับรูปแบบเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU ขับเคลื่อนโครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและพันธมิตร 27 หน่วยงาน
การส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น
สถานะ: ทำได้
อีกหนึ่งนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงเอาไว้ โดยระบุว่า จะเร่งรัดการส่งออกสินค้าและบริการโดยเน้นส่งออกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งพิสิฐก็ระบุว่าเป็นนโยบายที่พรรคทำได้ โดยการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เดือนตุลาคมที่ผ่านมา สามารถสร้างเงินให้ประเทศ มูลค่าราว 763,293 ล้านบาท หดตัว 4.4% แต่การส่งออกโดยรวม 10 เดือนแรกของปีนี้ตั้งแต่ มกราคม-ตุลาคม +9.1% สามารถสร้างเงินได้ ราว 8.5 ล้านล้านบาท
พิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วง 4 ปีมานี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหา COVID-19 ที่เศรษฐกิจโลกเสียหาย แต่ประเทศไทยก็มีรายได้จากการส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ประชาธิปัตย์ทำได้บางส่วน และไม่พบความเคลื่อนไหว โดยพิสิฐอธิบายถึงสาเหตุที่ทำไม่สำเร็จอยู่ 2 สาเหตุด้วยกัน คือ นโยบายที่เหลือไม่ได้อยู่ในการดูแลของกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบ แต่อยู่ในการดูแลของพรรคอื่นๆ ดังนั้น พรรคจึงไม่อาจขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปในทิศทางที่ประชาธิปัตย์ต้องการได้ และอีกเหตุผลคือ แต่ละนโยบายต้องใช้เงิน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลด้านการคลัง
ส่วนนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำได้บางส่วน และไม่พบความเคลื่อนไหว ได้แก่
จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี
สถานะ: ทำบางส่วน
การจัดตั้งกองทุนน้ำชุมชนให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี เป็นหนึ่งในนโยบายที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยกล่าวว่า จะทำได้ทันทีเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล โดยนโยบายนี้จะทำให้ประชาชนมีเงินทำแหล่งน้ำทุกหมู่บ้าน โดยรับการจัดสรรงบจากผู้เชี่ยวชาญ แนะนำชาวบ้านจัดการแหล่งน้ำด้วยตนเอง ซึ่งกรมชลประทาน กำลังดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย กรอบวงเงินงบประมาณ 1,325 ล้านบาท มีแผนระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่
โครงการโฉนดสีฟ้า
สถานะ: ทำได้บางส่วน
อดีตหัวหน้าพรรคเคยกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะทำนโยบายนี้ทันทีทันที โดยแบ่งเป็น 2 โฉนด นั่นคือการออกโฉนดชุมชนและโฉนดทันใจ เริ่มจากการออก ‘โฉนดชุมชน’ โฉนดนี้เป็นไปเพื่อให้สิทธิในการจัดการชุมชน และยกระดับที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐโดยการกู้ผ่านธนาคารและตกทอดไปถึงลูกหลานได้ พร้อมเดินหน้าธนาคารที่ดิน เพิ่มที่ดินทำกินให้คนไทย ซึ่งในปัจจุบัน มี 4 ชุมชนที่ได้โฉนดชุมชนแล้ว แต่ยังเหลืออีก 482 แห่งที่ยังไม่ได้ โดยวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าจะไม่มีการออกโฉนดชุมชนเพิ่มแล้ว
ที่นโยบายนี้ทำได้บางส่วน พิสิฐระบุสาเหตุไว้ว่า อาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นผลงานของพรรค 100% เพราะพรรคไม่ได้ดูแลกระทรวงนี้ แต่อยากให้เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกันกับพรรคอื่นมากกว่า
ส่วน ‘โฉนดทันใจ’ เป็นโฉนดที่ออกเพื่อจะสะสางโฉนดที่ดินที่มีเอกสิทธิ์ ส.ค.1 และ น.ส.3 เพื่อออกสิทธิตามกฎหมาย นอกจากการแถลงนโยบายในรัฐสภาแล้วก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวอีกเลย
เงินเด็กแรกเกิด “เกิดปั๊บ รับสิทธิเงินแสน”
สถานะ: ทำได้บางส่วน
จะดีแค่ไหนถ้าหากมีลูกแล้วได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูด้วย? ถือเป็นเพนพอทย์สำคัญของคนไทยหลายคน นั่นทำให้พรรคประชาธิปัตย์นำเรื่องนี้มาเป็นนโยบายหาเสียง โดยกล่าวเอาไว้ว่า จะให้เบี้ยเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี คนละ 1,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วจะได้เงินประมาณ 1 แสนบาทต่อคน
อย่างไรก็ดี นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงเพียงแค่ในส่วนการให้เงินเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี เดือนละ 600 บาท เท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเพิ่มเติมจ้า
แก้ พ.ร.บ.บัตรเครดิตให้คิดดอกเบี้ยเป็นธรรม
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะแก้ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ให้คิดดอกเบี้ยให้เป็นธรรม แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของนโยบายนี้
เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 ต่อเดือน
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
เมื่อช่วงการเลือกตั้งปี 2562 นโยบายที่จะให้เบี้ยผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งในนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าจะให้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน เท่ากันทุกช่วงอายุ สุดท้ายนี้ นโยบายนี้ก็ไม่พบความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงเอาไว้ว่าจะให้เบี้ยผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน โอนตรงสู่บัญชีเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี แต่นโยบายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ไม่ตรวจพบความเคลื่อนไหวเช่นกันจ้า
ประกันรายได้แรงงานไม่ต่ำกว่า 120,000 ต่อปี
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
ประกันรายได้แรงงานไม่ต่ำกว่า 120,000 ต่อปี ซึ่งถ้าคำนวณรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนแล้วไม่ถึงที่กำหนด รัฐบาลก็จะจ่ายเงินส่วนต่างให้ ซึ่งนโยบายนี้ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอต่อรัฐสภาแล้ว แต่ก็ไม่พบความเคลื่อนไหวอะไรกับนโยบายนี้
3. พรรคภูมิใจไทย
มาต่อกันที่พรรคสุดท้ายแล้วนั่นก็คือ ภูมิใจไทย พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญ และเป็นที่พูดถึงอยู่ในสังคมอยู่บ่อยๆ ด้วยนโยบายที่เรียกได้ว่าจัดจ้าน และการมีบทบาทอย่างมากในช่วง COVID-19 ของหัวหน้าพรรคอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งครองตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย
แม้หลายคนอาจนึกถึงนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยทำสำเร็จตามที่หาเสียงไว้ได้ (อย่างกัญชา) แต่เชื่อว่าก็คงมีคำถามกันว่า แล้วพรรคนี้ทำนโยบายตามที่หาเสียงไว้สำเร็จแค่ไหนกันนะ?
เราจึงคุยกับ ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง และโฆษกพรรรคภูมิใจไทย เพื่อดูว่าสิ่งที่เคยเสนอไว้ระหว่างหาเสียงก่อนเป็นรัฐบาลเป็นอย่างไรแล้วบ้าง ทั้งนี้ การตรวจการบ้านคำสัญญาของแต่ละนโยบายของพรรคภูมิใจไทย จะมาจากการรวบรวม ค้นคว้าหาข้อมูลจาก The MATTER เองส่วนหนึ่ง พร้อมกับคำตอบของโฆษกพรรคภูมิใจไทยร่วมกัน
Grab ถูกกฎหมาย
สถานะ: ทำได้
ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน คณะรัฐมนตรีไทยไฟเขียวให้เรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นไม่ผิดกฎหมาย โดยอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายนี้ทำให้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้บริการเรียกรถยนต์รับส่งในประเทศไทยอย่าง GrabCar, Bolt, Bonku และอื่นๆ สามารถขับรถส่วนตัวออกมารับงานกันได้
ต่อมาในปีเดียวกัน ทางกรมการขนส่งทางบกรับรองแอปพลิเคชั่นสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 3 ราย ได้แก่ ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส (Hello Phuket Service), บอนกุ (Bonku), เอเชีย แค็บ (Asia Cab) และในวันที่ 16 กันยายน 2565 ก็ให้การรับรองแอปพลิเคชั่นโรบินฮู้ด (Robinhood) และแกร็บ (Grab) เช่นกัน
ทั้งนี้ เราตรวจสอบแล้วก็พบว่านโยบายนี้สำเร็จ นอกจากนี้ ภราดร โฆษกพรรคภูมิใจไทย ก็กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า “เป็นนโยบายที่ช่วยส่งเสริมช่องทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ก่อนที่จะถูกกฎหมาย ก็จะเห็นข่าวที่มีคนถูกทำร้าย ดังนั้น นโยบายนี้มีประโยชน์ต่อผู้คนที่ต้องการหารายได้จากการใช้รถยนต์ส่วนตัว”
กัญชาเสรี เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
สถานะ: ทำได้
ถือเป็นนโยบายสุดเด่นของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งโดยปกติแล้วตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข กัญชาถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 และเมื่อต้นปี 2562 สาธารณสุขอนุญาตให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชา (มีใบรับรอง) ไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุขได้ เพื่อครอบครองกัญชาโดยไม่ผิดกฎหมาย และในปีเดียวกันนั้น พรรคภูมิใจไทยก็เสนอนโยบาย ‘กัญชาไทย ปลูกเสรี’ และแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยถือให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย
อย่างไรก็ตาม กัญชายังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อยู่ แต่ถึงอย่างนั้น บางส่วนของกัญชาไม่ผิดกฎหมาย เช่น สารกัญชาที่สกัดให้มี THC น้อย ถือไม่เป็นยาเสพติด
ต่อมาเมื่อกลางปี 2564 มีการออกอนุญาตให้อาหารมีกัญชาเป็นส่วนผสมได้ แต่มีข้อห้าม เช่น ห้ามเด็กรับประทาน ต้องมีสาร THC น้อย เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ในปีเดียวกันประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาได้แล้วแต่ในทางการแพทย์เท่านั้น
และเมื่อธันวาคม 2564 กระทรวงฯ ประกาศใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ โดยการเอากัญชาออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แต่มีข่าวว่าชาวบ้านถูกจับ เพราะปลูกกัญชา 2 ต้น ทำให้ทางพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจโดยกล่าวว่า ตำรวจไม่รู้กฎหมาย แต่ตามจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ยังยึดตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณาสุขเมื่อปี 2564 ที่ระบุว่า ประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาได้แล้ว แต่ในทางการแพทย์เท่านั้น
แล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กฎหมายปลดล็อก ‘กัญชง กัญชา’ ก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ประชาชนสามารถปลูกพืชชนิดนี้ได้ในครัวเรือน และเชิงพาณิชย์ เพราะกัญชาไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้ว นอกจากนี้ยังยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง ฯลฯ แต่กัญชายังเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่ายที่ต้องขอยังคงต้องขออนุญาต ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร
หลังจากการตรวจสอบนโยบายนี้ทำได้จริง โดยภราดรระบุว่า “กัญชาใช้ทั้งเชิงการแพทย์ เศรษฐกิจก็ได้ เป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน แล้วยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงการแพทย์อีกด้วย”
เขาเสริมว่า “อุปสรรคในการดำเนินนโยบายนี้ คือเมื่อก่อนคนที่จะใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค เช่น น้ำมันกัญชา มักจะถูกดำเนินคดี แต่เมื่อออกกฎหมายว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ก็ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาเพื่อการแพทย์ได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าปล่อยออกมาโดยไม่มีการควบคุม ทำให้มีคนจำนวนมากที่เดือดร้อนกับการเปิดเสรีแบบไม่มีกฎหมายอื่นมารับรอง เช่น กรณีที่ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ขณะนี้พบศพชายไทยอายุ 40 ปีเสียชีวิตโดยสัมพันธ์กับการใช้กัญชาอย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันโดยการผ่าศพและผลการตรวจเลือด
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายเคสที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยมีประวัติการใช้กัญชาร่วมด้วย ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนมองว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพียงพอ จนทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อน
อย่างไรก็ดี โฆษกพูดทิ้งท้ายถึงนโยบายนี้ว่า “ในขณะนี้ พยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมกัญชาอย่างเสรี แต่ยังทำไม่ได้ แต่กระทรวงฯ มีการประกาศว่าจะต้องดำเนินการ ป้องกัน หรือไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่พึงประสงค์อย่างไรกับกัญชา อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้นโยบายสมบูรณ์ก็ต้องมีกฎหมายควบคุม”
ปลดผู้ค้ำประกันหนี้ กยศ.
สถานะ: ทำได้
เมื่อปลายปีก่อน ราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยสาระสำคัญเป็นการปล่อยให้กู้ยืมเงิน กยศ. โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำอีกต่อไป ซึ่งประกาศมีผลบังคับใช้ทันที และให้ผู้กู้รับผิดชอบตัวเอง ซึ่งมีเวลา 10 ปีในการชำระเงินต้น
แต่โฆษกระบุว่า “ในตอนนี้สามารถปลดผู้ค้ำประกันได้แล้ว และทางพรรคยังพยายามทำให้ดอกเบี้ย กยศ.เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าเสียงมากของสภายังไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ก็ลดดอกเบี้ยลงมาจาก 8 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ครั้งหน้าก็จะพยายามผลักดันใหม่ โดยไม่ต้อให้มีดอกเบี้ยเลย”
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
สถานะ: ทำได้
ชื่อนโยบายอาจคล้ายๆ กับนโยบายของอีกพรรคการเมือง แต่นี่ก็เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยนะ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มกราคมปีที่แล้ว ศุภชัย ใจสมุทร แจงว่านโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เป็นการต่อยอด ‘บัตรทอง’ พร้อมระบุว่า เดินหน้าพัฒนางานด้านบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ท่านขับเคลื่อนอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา นี่คือนโยบายที่พัฒนาขึ้นมาจากนโยบาย 30 บาท
ทั้งนี้ โฆษกระบุว่า “นโยบายนี้เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะตามจริงแล้วคนที่มีสิทธิ์ 30 บาทสามารถใช้สิทธิ์โรงพยาบาลที่ตนสังกัดเท่านั้น ทำให้เกิดความยุ่งยากในการส่งตัว ในการโอนสิทธิ์”
พักหนี้ กยศ. 5 ปี
สถานะ ทำบางส่วน (กำลังเจราจากับ กยศ.)
ประเด็นเรื่องหนี้ กยศ. เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทางพรรคภูมิใจไทยออกนโยบายมาหาเสียงตั้งแต่เมื่อปี 2562 โดยเสนอให้ยกเลิกค่าปรับหนี้ กยศ. ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ดำเนินการแล้ว เหลือเพียงแค่เรื่องเดียวคือการปลอดหนี้ มีประเด็นในมาตรา 17 แก้ไขมาตรา 44 ในเรื่องการเก็บดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมากยังไม่เห็นด้วย หากจะมีการแก้ไข แต่ทั้งนี้ ทางพรรคภูมิใจไทยสามารถแก้จำนวนดอกเบี้ยหนี้กยศ. ให้เหลือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากร้อยละ 2 เป็น 0.25
“พักหนี้กยศ. 5 ปี ก็สำเร็จแล้ว ทุกวันนี้ก็มาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เรื่องอัตราดอกเบี้ยถูกลดลง เรื่องเบี้ยปรับก็ยกเลิกไปแล้ว เรื่องพักหนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจราจากับกยศ. นอกจากนี้ แนวโน้มสำหรับคนที่ยังไม่สามารถชำระได้ ก็สามารถผ่อนผันออกไปก่อนได้ ..ซึ่งเรื่องกยศ. คิดว่าทางพรรคสามารถทำได้ 98 เปอร์เซ็นต์จาก 100 นะ ตอนนี้ก็เหลือแค่เพียงทำให้ดอกเบี้ยเป็น 0 เปอเซนต์”
เรียนออนไลน์ฟรีตลอดชีวิต
สถานะ: ทำบางส่วน
นโยบายนี้มุ่งที่จะสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ด้วยการสร้างระบบการศึกษารูปแบบออนไลน์ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนฟรี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา สายวิชาชีพ และอุดมศึกษา โดยเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 ภราดร เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … ของพรรคได้รับการบรรจุในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ซึ่งมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ ภราดร กลับขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากระเบียบวาระพิจารณา จึงทำให้ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หลังจากการสอบถามถึงนโยบายนี้ โฆษกพรรคกล่าวว่า “เราตั้งใจที่จะทำให้ แพลตฟอร์มนึงที่ให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ เพียงแค่ใส่เลขบัตรประชาชน ก็สามารถช็อปปิ้งวิชาที่ทุกคนต้องการเรียน ซึ่งนโยบายนี้รวมอยู่ใน พ.ร.บ.การเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่แล้ว แต่แพลตฟอร์มนี้เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเราไม่ได้ดูแลในส่วนนี้ ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงนั้นว่าคิดเห็นอย่างไร ในส่วนของพรรคภูมิใจมีหน้าที่เพียงเสนอกฎหมาย”
พัฒนาระบบรางให้ครบระบบ ต้องเชื่อมโยงกันกับระบบถนน
สถานะ: ทำบางส่วน
อยากให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น เป้าหมายที่ทำให้หลายพรรคออกนโยบายเกี่ยวกับระบบรางและระบบถนนมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแผนการพัฒนาของรัฐบาลทั้งสิ้น 554 กิโลเมตร ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง รวม 212 กม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีทอง สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 4 สาย คือสายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม และแอร์พอร์ตเรลลิงค์
ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการมี 4 โครงการ รวมระยะทาง 93 กม. ได้แก่ สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน และสายสีม่วง รวมทั้งยังมีที่เหลืออีก 134 กม. เป็นโครงการรถไฟฟ้า 8 สาย อยู่ในแผนการพัฒนาระยะต่อไป
นอกจากนี้ ไตรศุลี ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ระหว่างปี 2560-69 รัฐบาลได้มีแผนการพัฒนาทั่วประเทศรวมระยะทาง 3,157 กม. ซึ่งทำสำเร็จไปแล้วบางเส้นทาง โดยโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า “ระบบรางคู่ทางคมนาคมก็กำลังดำเนินการอยู่ ก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่รถไฟรางคู่ให่ทั่วประเทศ ก็ดำเนินไปในช่วง 4 ปีนี้ ค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ซึ่งมันเป็นนโยบายที่ทำให้เสร็จในเวลารวดเร็วไม่ได้”
ระบบ Telemedicine
สถานะ: ทำบางส่วน
ระบบโทรเวชกรรม Telemedicine หรือ ‘เทเลเมด’ คือการดำเนินงาน โดยการรักษาผ่านเทเลเมด และส่งยาผ่านระบบการส่งยาเคลื่อนที่จากโรงพยาบาลสู่ผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาลลง และยังช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลได้อีก
แต่เมื่อ 21 สิงหาคม 2562 มีรายงานว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เริ่มดำเนินการโครงการนี้ตามกรอบความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในระยะเริ่มต้น 8 จังหวัดไปแล้ว และนับตั้งแต่ COVID-19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 สถานพยาบาลต่างๆ ก็ได้นำบริการเทเลเมดิซีนมาใช้เพิ่มมากขึ้น
รวมถึงเมื่อ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำร่องจ่ายค่าบริการเทเลเมดิซีนระยะแรก เพื่อลดระยะห่างทางกายภาพและลดความแออัดในโรงพยาบาล และเมื่อ กันยายน 2564 สธ.กับหัวเว่ย ยังได้ลงนามร่วมกันพัฒนาระบบ 5G Healthcare หนุนการแพทย์ทางไกล ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพให้แก่บริการต่างๆ
ทั้งนี้ โฆษกระบุว่า “ได้ดำเนินการไปบ้าง เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น และเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล”
ให้เงินเดือน อสม. 2,500-10,000 บาท
สถานะ: ทำบางส่วน
สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 คือวันที่ 1 ตุลาคม 2566
ทางโฆษกพรรคภูมิใจไทยระบุว่า “เงินเดือน อสม. ตอนนี้อยู่ที่ 1,000 บาท แต่ในช่วงโควิดก็มีการเพิ่มเบี้ยค่าตอบแทนให้อสม, 500 บาท (แบบชั่วคราว) และเมื่อไม่นานมานี้ทางพรรคเพิ่งจะลงนามเสนอขึ้นไป (สำเร็จแล้ว) รวมทั้ง ยังกล่าวว่า นโยบายนี้ยังจะเป็นนโยบายเพื่อไว้หาเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไปด้วย”
ส่งเสริมให้ทำงาน และเรียนที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
ทางพรรคฯ ระบุว่า สนับสนุนให้มี 1 วัน ทำงานและเรียนที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศหรือโรงเรียน เพราะด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย หลายตำแหน่งงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ และจะลดปริมาณรถบนท้องถนนได้ถึง 25%
“นโยบายเรียน 4 วันเสนอเป็นกฎหมายไปแล้ว และบังคับใช้ไปแล้วว่าสามารถเรียนออนไลน์ได้ ส่วนเรื่องเรียน 4 วัน พัก 1 วัน เห็นว่าทำได้จริงนะในช่วง COVID-19 และยังจะเสนอเป็นนโยบายในการหาเสียงครั้งหน้าอีก เช่นเดียวกับการทำงานที่บ้าน 1 วัน ซึ่งทางภูมิใจก็เสนอทางสภาไปแล้ว และก็ผ่านไปแล้วด้วย” โฆษกพรรคกล่าว
ถึงอย่างนั้น หลายคนก็วิจารณ์ว่า ปรากฎการณ์เรียนหรือทำงานที่ไหนก็ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการผลักดันหรือดำเนินนโยบายจากพรรคแต่อย่างใด หากแต่เป็นการถูกบังคับด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้หลายคนต้องเรียนหรือทำงานที่บ้าน แม้จะไม่มีการซัพพอร์ทใดๆ เลยก็ตามมากกว่า
ทวงคืนกำไรให้กับเกษตร พืชเกษตรอย่างข้าว ยาง มันสำปะหลัง
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
ภูมิใจไทยเสนอนโยบายที่นำระบบ Profit Sharing มาใช้กับพืชเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาทางภาคเกษตร และเริ่มจับมือระหว่างทรงศักดิ์ ทองศรี กับศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในการวางจำหน่ายสินค้า OTOP ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรีการเกษตร โดยสามารถดำเนินนโยบาย ประกันรายได้ข้าวหอมมะลิ ปาล์ม ยาง ได้สำเร็จ
“กระทรวงการเกษตรพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนดูแล แล้วพวกเขาก็ออกเป็นนโยบายประกันรายได้ ดังนั้น นโยบาย Profit Sharing เราไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเราไม่ได้ดูแลกระทรวงการเกษตรและพาณิชย์” โฆษกระบุ
พัฒนาจังหวัดต่างๆ ตามบุรีรัมย์โมเดล
สถานะ: ไม่พบความเคลื่อนไหว
หลายปีที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์มีการพัฒนาขึ้นในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้าถิ่น และยังเป็นแกนหลักในการพัฒนาที่ผ่านมาดังนั้น ทางพรรคฯ จึงได้นำต้นแบบจากการพัฒนาบุรีรัมย์ มาหาเสียงเป็นโมเดลในการพัฒนาจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีการพูดถึงการใช้โมเดลนี้พัฒนาจังหวัดอื่นๆ อยู่เป็นระยะในการเดินทางลงพื้นที่เพื่อจัดประชุมพรรค
ทั้งนี้ ภราดรระบุว่า “แต่ละจังหวัดก็เริ่มมีเกิดขึ้นแล้วนะ อย่างภูเก็ต ทางรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวก็เริ่มไปพัฒนาจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้มีจุดท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ให้มีจุดขายของตัวเองแต่ละจังหวัด ก็เป็นนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยว”
นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวทิ้งท้ายจากภราดรอีกว่า “ในภาพรวม ไม่ได้เป็นนายกฯ เราไม่สามารถเก้าก่ายแต่ละกระทรวง ลองไปถามพรรคอนาคตใหม่ว่าใครทำได้กี่อย่าง เช่นเดียวกับพรรคภมิใจไทยเราก็ดูแลในส่วนที่เราดูแลได้ ถ้าจะให้ทุกนโยบายสำเร็จต้องให้พรรคภูมิใจไทย เป็นตัวแทนในการจัดตั้งรัฐบาล
ย้ำกันอีกครั้งว่า นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายหาเสียงไว้ ยังมีอีกมาก และที่เรายกมานี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนเรื่องของการให้คะแนนแต่ละพรรคการเมืองนั้น ขอมอบให้ประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ เป็นผู้ประเมินกันเองเลยจ้า
อ้างอิงจาก