เวลาเห็นคนไทยออกไปสร้างชื่อเสียง หรือประสบความสำเร็จในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพไหนก็ตาม นักแสดง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬา ศิลปิน โปรแกรมเมอร์ เกมเมอร์ บาร์เทนเดอร์ หรือผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ หลายคนก็อดที่จะชื่นชมและภาคภูมิใจไม่ได้ว่า “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ สังคม หรือภาครัฐแค่ไหน หลายๆ คนถึงรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนชาติเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความตั้งใจ พยายาม เข้มแข็ง และทนทานต่อคำสบประมาทด้วยตัวพวกเขาเอง ถึงสามารถไขว่คว้าความสำเร็จนั้นมาได้ ต้องพยายามต่อสู้กับอคติ “เต้นกินรำกินไม่มีวันได้ดีหรอก” หรือ “วาดรูปแค่นี้ทำไมแพงจัง” ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักว่า สายอาชีพของพวกเขาก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าสายอาชีพอื่นที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ
นี่กลายเป็นความจริงที่น่าเศร้าเมื่อ ความฝันของหลายคนถูกทิ้งขว้างไปอย่างน่าเจ็บปวด เพียงเพราะผู้ใหญ่หรือสังคมอาจจะไม่เข้าใจ หรือภาครัฐไม่ให้การสนับสนุน เราจะเห็นได้ว่าหากพวกเขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหรือเต็มไปด้วยการสนับสนุน ความฝันของพวกเขาจะกลายเป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้มากแค่ไหน
ทำไมคนไทยถึงได้รางวัลผลิตคราฟต์เบียร์ในนามประเทศอื่น? ทำไมศิลปินชื่อดังที่คนเกือบทั้งโลกรู้จัก ถึงได้เฉิดฉายอยู่ในค่ายเพลงของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ประเทศไทย? ทำไมผู้ใหญ่ถึงได้เริ่มเปิดใจกับอาชีพศิลปินได้ ก็ตอนที่รู้ว่าเด็กอายุ 10 ขวบ หารายได้จากการขายผลงานบน NFT ได้ถึงหลักแสน? ทั้งๆ ที่ทุกอาชีพก็สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งสิ้น หากอาชีพนั้นได้รับการสนับสนุนและการผลักดันมากพอ
เมื่อบางครั้งการมองแบบชาตินิยม ก็เผลอทำให้เรามองข้ามความพยายามของปัจเจกบุคคลไป ความพยายามที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชาติกำเนิด ในอีกมุมหนึ่ง หากพวกเขาได้รับทุนหรือการสนับสนุนเต็มที่จากประเทศบ้านเกิดของตัวเองอย่างเพียงพอ หรือภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในการส่งออกประชากรที่มีคุณภาพ เพื่อไปสร้างชื่อเสียงในต่างแดนในแต่ละครั้ง วันนั้นเราคงสามารถภูมิใจกันได้จริงๆ มากขึ้นหรือเปล่านะ
The MATTER ไปคุยกับคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาต้องผ่านคำสบประมาท การดูถูกความฝัน และพบกับความเจ็บปวดเพราะขาดการซัพพอร์ตจากผู้ใหญ่ในสังคมตั้งแต่วัยเรียน
“หลายครั้งเราพลาดโอกาสเยอะมาก เช่น ประกวดวาดรูป เพราะครูมองว่า งานนี้แข่งไปก็ไม่มีเด็กทำได้ ไม่ต้องประกาศรับสมัครหรอก หรือไม่เขาก็จะส่งแต่เด็กปั้นที่เขารัก ที่เขาสามารถบอกให้ทำตามแพทเทิร์นไปเท่านั้น”
ลุงสายไหม, 26 ปี, กราฟิกดีไซเนอร์
“จำได้ว่าตอนประกวดดนตรี เราต้องพึ่งพาตัวเอง หาห้องซ้อมเอง เดินทางไปแข่งเอง ไม่ค่อยมีเวทีให้เล่นในโรงเรียน แต่พอผ่านเข้ารอบแรก จู่ๆ ผอ.โรงเรียนก็ปลื้ม ถึงขั้นเรียกไปยืนชมหน้าเสาธง หลังจากนั้นแหละโรงเรียนถึงได้มีเวทีให้แสดงจริงๆ จังๆ สักที”
ปาล์ม, 27 ปี, นักดนตรี
“สมัยมัธยมเราชอบเต้นคัฟเวอร์ แต่ครูจะมองว่าไร้สาระ โรงเรียนก็ไม่มีชมรม ไม่มีที่ซ้อมให้ เราต้องไปซ้อมเต้นหน้าบอร์ดกระจก แล้วดูจากเงาที่สะท้อนเอา รู้สึกว่าถ้าเอารางวัลมาให้โรงเรียนได้เยอะๆ โรงเรียนคงจะสนับสนุนมากกว่านี้”
มิ้นท์, 25 ปี, พนักงานบริษัทเอกชน
“ผู้ใหญ่เคยถามว่าไปเต้นอะไรนักหนา ทำไมไม่เรียน อยากเป็นโสเภณีที่เต้นแรงเต้นกาหรอ ทั้งโดนห้ามไม่ให้เต้น แต่เราก็ดื้อไปเต้นอยู่ดี ซึ่งเราก็พิสูจน์ตัวเองว่า เราทำสองอย่างนี้ไปพร้อมกันได้ หรือเวลาได้รางวัลก็เอามาบอก เพื่อช่วยยืนยันว่าเราไม่ได้เถลไถล”
ดาว, 23 ปี, ลูกจ้างทั่วไป
“เราทนกับประโยคที่ว่า ศิลปิน = ไส้แห้ง มาตั้งแต่เด็กๆ แต่เราไม่อยากทิ้งความชอบด้วยเรื่องแค่นั้น ก็เลยต้องพิสูจน์ตัวเองมาเรื่อยๆ ซึ่งเราก็อยู่ได้ ไม่ไส้แห้ง ถ้าวันหนึ่งเรามีชื่อเสียงระดับโลก เราก็คงจะให้เครดิตตัวเองหนักๆ เลย”
ออม, 29 ปี, รับจ้างอิสระ