เวทีประกวดนางงามดกดื่นมีทั้งนานาชาติไปจนถึงระดับภูมิภาค แม้บางเวทีจะมีชื่อระดับจักรวาล ประกวด Miss Universe แต่กองประกวดก็มีแค่ดาวเคราะห์โลกเท่านั้น บางเวทีถ่อมตัวลงมาหน่อยเป็น Miss World บางเวทีก็เล่นใหญ่เล่นโตจนล้นสมชื่อ Miss Grand แต่เฉพาะประกวดในดาวดวงเดียวกันก็เป็นที่ถกเถียงกันจะแย่ ไหนจะมาตรฐานความสวยอยู่ที่ใดในการประเมินมนุษย์ที่หลากหลายชาติพันธุ์ชีววิทยา ว่างามเลิศในปฐพี (ตลอดหนึ่งปี)? ปีนี้นางงามล็อกแน่ๆ? หรือแค่จะส่งชุดแฟนซีประจำชาติไปประกวดก็เถียงว่ามันประจำชาติยังไงเอาเป็นเอาตาย
ไหนจะประเด็นคลาสสิกสากลกว่าว่าการประกวดประเภทเอาผู้หญิงมาเป็นวัตถุให้จับจ้องพิจารณาเป็น sexist เป็นผลผลิตของสังคมปิตาธิปไตยมั้ย? หรือเป็นการสร้างโอกาสสร้างพื้นที่ในระดับสากล? การประกวดนางงามจัดอยู่ในเฟมินิสต์สำนักใดสำนักนึงหรือเปล่า? หรือพอสักที! ทั้งประกวดนางงามและสตรีนิยมควรตายตกไปตามกัน?
เพราะไม่ต้องสงสัย การประกวดนางงามเป็นผลผลิตของสังคมชายเป็นใหญ่อยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องไปแก้ตัวแทน หรือเอา quote สวยๆ สตรีนิยมยัดใส่ปากนางงามบนเวทีแก้เก้อเขิน
เหมือนที่ Nira Yaval-Davis นักวิชาการด้านรัฐชาติ ชาติพันธุ์และเพศสภาพชาวอิสราเอล มองว่าในโลกชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงไม่เพียงถูกให้ความหมายต่อรัฐว่าเป็นผู้แพร่พันธุ์และเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชาติระหว่างช่วงวัย แต่ผู้หญิงมักถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มหรือเขตแดน เป็นผู้แบกรับและส่งมอบสิ่งที่เป็นเกียรติเป็นศรีและความสง่างามของชาติ[1] ความงามจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงพึงสมาทาน แสวงหาความพึงพอใจบนพื้นฐานการทำให้ผู้ชายเพลิดเพลิน ที่พวกเธอจึงต้องใช้เวลาและพลังงานมหาศาลในการอุทิศตัวเพื่อให้ดูดี เป็นสีสันและความสง่างามของชาติบ้านเมือง
นางงามจึงกลายเป็นความงดงามตามแต่ละท้องถิ่น นางสาวไทยจึง “ต้องงามทั้งกายใจผู้ใดสร้างมา” “มีรอยยิ้มและแววตาอ่อนหวานละมุนใจ ดั่งแสงจันทร์สาดส่องเต็มฟ้า” ยังต้อง “คือกุลสตรี กริยาน่าชม เหมาะสมในท่วงที”
อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวสตรีนิยมสำนักชาตินิยม (nationalist feminism) เสนอว่า เอาเข้าจริงผู้หญิงไม่ได้ถูกผลักออกไปจากพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐหรอก หากแต่บทบาทพวกเธออยู่บนพื้นที่ทางการเมืองระดับภาครัฐเสมอมา แถมประดิษฐานในฐานะศูนย์กลางของโครงสร้างทั้งทางชีวภาพและอุดมคติด้วยซ้ำ เพราะมดลูกและบทบาทหน้าที่การเป็นแม่ เธอจึงผลิตซ้ำวัฒนธรรมอุดมการณ์ของชาติและมอบประชากรให้กับชาติ เป็นตัวส่งคุณค่าของชาติ ทั้งชาติพันธุ์และประเทศชาติ [2]
เท่ากับว่าเลือกให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่มีลูกเท่านั้น หรือต้องรับบทบาทแม่ถึงจะทำให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองภาครัฐได้จากพื้นที่ส่วนบุคคล แต่ก่อนที่พวกเธอจะอุ้มลูก ในขณะที่ยังเป็น Miss เป็นนางสาวอยู่ โอกาสที่เธอจะช่วยชาติได้นั้นก็คือ หอบเอาสง่าราศีของประเทศ แบกเอาวัฒนธรรมที่สถาปนาให้เป็นประจำชาติไว้บนเนื้อตัวร่างกายแล้วตระเวนทั่วโลก ในนามตัวแทนของชาติ หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นตัวแทนจังหวัดหรือชุมชน อวดของดีประจำจังหวัดให้คนทั้งประเทศได้เชยชม
ขณะเดียวกันกิจกรรมนางงามก็ไม่ต่างกับแม่คนนัก เพราะพวกเธอต้องรับงานสังคมสงเคราะห์ เยี่ยมบ้านเด็กอ่อน คนพิการ สัตว์จรจัด ป้อนข้าวป้อนน้ำ เห่กล่อม เลี้ยงหมูดูหมา
เวทีประกวดผู้หญิงสวยๆงามๆ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาครัฐ ไม่เพียงเพราะจริตและสรีระของนางงามเหล่านั้นแบกรับ ‘ความเป็นชาติ’ เป็นส่วนหนึ่งของชาตินิยมหรืออย่างน้อยที่สุดท้องถิ่นนิยม แต่รัฐเองก็เห็นว่ามันจำเป็นต่อการสร้างชาติเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาติ ไม่สร้างรายได้ อย่างน้อยก็ชื่อเสียง
เมื่อแรกประกวดนางสาวไทยปี 2477 เป็นงานราชการที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ นักตั้งแต่จัดหาผู้หญิงเข้าประกวด เพื่อคัดสาวงามมาเป็นศรีสง่าแก่รัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่การปกครองระบอบใหม่ ประชาธิปไตย และตำแหน่งนางสาวไทยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล กองประกวดเองก็นำรายได้จากการเก็บค่าบัตรเข้าชมประกวดซึ่งมีราคาแพงมาก สมทบทุนการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ ช่วยเหลือคนยากจน และจัดซื้ออาวุธเข้ากองทัพ[3] สำหรับสาวงามที่เข้าประกวดก็ได้รับคำชมจากราชการว่า
“ท่านได้ชื่อว่าได้แสดงให้ประเทศชาติทราบแล้วว่า ท่านเคารพและเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพียงไร จึงได้เสียสละความสุขส่วนตัวทุกประการ ขึ้นมาแสดงร่างให้ประชาชนชมเพื่อเพิ่มความแจ่มใส ให้แก่บรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร”[4]
นี่ประกวด Miss Thailand หรือเรา misunderstand เองวะ!?
การประกวดนางสาวไทยยุติลงด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภาครัฐ กระทั่งมีการฟื้นฟูประกวดอีกครั้งในปี 2507 โดยเอกชน แม้ว่าจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐบาลเผด็จการขณะนั้นจะไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า ‘นางสาวไทย’ “…คำนี้มีศักดิ์ศรีเป็นตัวแทนของหญิงไทยทั้งชาติ ซึ่งทางราชการต้องจัดทำขึ้นเอง เมื่อทางราชการไม่สนับสนุนแล้ว คำว่า “นางสาวไทย เอกชนจะนำไปใช้ไม่ควร”[5] แต่สุดท้ายเวทีประกวดนางสาวไทยก็ได้จัด เพราะในยุคสงครามเย็นที่ไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นทั้งเศรษฐกิจการเมืองสังคม บริษัท Miss Universe ของสหรัฐ ก็ได้ติดต่อผ่านองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ อ.ส.ท. (ที่สหรัฐเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลไทยจัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันเป็นนโยบายหนึ่งของสหรัฐในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายในประเทศไทย) ทาบทามไทยที่เป็นประเทศในค่ายเสรีนิยมด้วยกัน ส่งหญิงงามเข้าประกวด การประกวด ‘นางสาวไทย’ และตามคาดหมาย นางสาวไทยปี 2507 อาภัสรา หงสกุล รับมง Miss Universe 1965 และในปีถัดมา จิรนันท์ เศวตนันท์ นางสาวไทย 2508 ได้ตำแหน่งรอง Miss Universe 1966
การที่ไทยได้ตำแหน่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการช่วยชาติ ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นประเทศในค่ายโลกเสรีที่น่าท่องเที่ยว มีวัฒนธรรมแปลกตาเหมือนชุดแต่งกายประจำชาติที่เข้าใส่ไปประกวด มีทรัพยากรมนุษย์ผู้หญิงน่ายล
แม้จะเป็นผลิตผลปิตาธิปไตย อุตสาหกรรมประกวดนางงามก็ถูกปฏิบัติการด้วยผู้หญิงและเก้งกวางที่ต่างถูกผลักให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมชายเป็นใหญ่
เก้งกวางหลายนางนั่งบดปากจิกเล็บนั่งลุ้นนางงามนานาชาติตัวโก่งหน้าจอทีวี ไม่ต่างไปจากหนุ่มๆ เชียร์บอลเกาะขอบสนามหรือตามลานเบียร์อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะอุดมการณ์ชาตินิยมมันพลุ่งพล่านเช่นกัน ประกวดนางงามในระดับสากลจึงไม่ต่างกับการแข่งโอลิมปิค ซีเกมส์ ฟุตบอลโลก ในขณะที่การแข่งกีฬาคือสงครามรูปแบบใหม่ นักกีฬากลายเป็นนักรบที่รัฐอัดฉีดจัดทัพส่งไปชิงชัย เวทีประกวดนางงามคือการคัดเลือกผู้หญิงที่เป็นหน้าเป็นตา เป็นความงามประจำชาติ แล้วต้องโกย ‘ชุดประจำชาติ’ ที่ถมความหมายของชาติประดังประเดเต็มไปหมดราวกับแทบจะห่มธงชาติไปเดิน เพื่อไปแผ่รังสีความเป็นประเทศนั้นๆ บนเวที ชิงมงและสายสะพายมาครอง
และเมื่อเธอคว้าตำแหน่งกลับมาได้ ก็จะได้รับการแห่แหนไม่ต่างไปจากนักกีฬาชิงเหรียญทองหรือถ้วยรางวัล
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Yaval-Davis, Nira. Gender & nation. London : Sage, 1997. P. 67.
[2] Yaval-Davis, Nira. Gender & nation. London : Sage, 1997.p. 3.
[3] สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477-2530). กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, น. 35-36,54.
[4] กจช. มท. 0201.2.128.1/13, เรื่อง “ประกวดนางงามฉลองรัฐธรรมนูญ และสมุดภาพนางสาวไทย พ.ศ. 2496.” อ้างถึงใน สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477-2530). กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, น. 54.
[5] กจช.ก/ป 7/2507/บ 19.4 งานวชิราวุธานุสรณ์ อ้างถึงใน สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477-2530). กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, น. 147.