“โลกร้อนคืออะไรเหรอพี่?” คำถามจากน้องสาววัย 9 ขวบหลังจากได้ยินคำนี้จากยูทูป ทำเอาไม่แน่ใจเหมือนกันว่าควรตอบออกไปแบบไหน
“ก็คือพอหนูโตขึ้น.. หนูอาจจะออกไปจากบ้านไปเที่ยวกับเพื่อนไม่ได้ เพราะอากาศมันร้อนมาก ร้อนจนมีคนตายได้ ฝนตกทีไร หนูอาจจะนั่งเล่นอยู่ชั้นล่างไม่ได้ เพราะกรุงเทพฯ ครึ่งนึงอาจจะจมอยู่ใต้น้ำแล้ว หนูอาจจะต้องเห็นข่าวคนตายจากภัยธรรมชาติและความอดอยากทุกวัน แล้วหนูก็อาจจะกินไข่เจียวที่หนูชอบบ่อยๆ ไม่ได้ละนะ เพราะไก่มันจะออกไข่ยากขึ้นและแพงขึ้น ถ้าการเกิดในยุค COVID-19 มันยากสำหรับหนูแล้ว อีก 10-20 ปีต่อไปมันจะยากกว่านี้อีก”
หายนะของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจาก IPCC Report นั้นรุนแรงมากพอที่จะทำให้เด็ก 9 ขวบคนนี้ร้องไห้ออกมาได้ แต่คนรุ่นก่อนหน้าอย่างเราๆ ก็ไม่ควรหยุดแค่การบอกว่าสิ่งที่พวกเราทำกับโลกมาตลอดหลายสิบปีนั้น จะทำให้ชีวิตของคนรุ่นต่อๆ ไปเดือดร้อนแค่ไหน บทสนทนาควรจะเดินทางต่อไปที่ “แล้วพวกเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร” ด้วย
หลายคนที่ตามข่าวเรื่องนี้ อาจรู้อยู่แก่ใจว่าคงกด undo ให้โลกกลับไปสบายดีไม่ได้ในเร็ววัน แต่หากจะมีหนังสือที่พอจะสร้างความหวังและหาทางออกให้คุยกับน้องสาวได้ ก็น่าจะเป็น How to Avoid a Climate Disaster ของ Bill Gates ที่อยากแนะนำให้หลายๆ คนอ่าน เพื่อให้พอจะสู้หน้าคนรุ่นต่อไปได้ เวลาพูดคุยกันเรื่องโลกร้อน
หนังสือเริ่มต้นด้วยการวาดภาพของ Zero-Carbon Future ให้เห็น ว่ามันเป็นโลกที่พลังงานสะอาดมีราคาถูก เข้าถึง และพึ่งพาได้ (แทนที่เชื้อเพลิงฟอซซิลที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้) และมันไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย แต่เราต้องหาทางเอาก๊าซเหล่านั้นออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้ ซึ่งคำว่า Future นี้ไม่ใช่อนาคตอันไกลที่ไหน แต่เราจะต้องทำให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 โดยมีจุด Checkpoint ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นจนเกิดหายนะตามมาอีกมากมาย
อย่างหนึ่งที่ Bill Gates พยายามย้ำหลายครั้งว่า การแก้ปัญหาไม่ใช่การไปบอกให้หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้หมด เพราะกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งเดียวกับกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนา การจะไปบอกให้พวกเขาหยุดพัฒนาก็ไม่ยุติธรรมนัก และจริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างหาก ที่เป็นคนปล่อยก๊าซเหล่านั้นให้ไปสะสมบนชั้นบรรยากาศโลก
ในช่วงแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ Bill Gates พยายามที่จะอธิบายและย้ำให้เห็นความเร่งด่วนอีกครั้งว่าทำไมเราถึงต้องเร่งสร้าง Zero-Carbon Future ด้วยการให้ลิสต์ของความหายนะเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่สิ่งที่เราเห็นกันแล้วอย่างการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ที่พืชและสัตว์หลายชนิดจะหายไป พืชต่างๆ จะออกดอกผลยากมากขึ้น รวมถึงสัตว์ที่ให้นมและไข่ด้วย อันอาจจะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนทางอาหารได้ ก่อนจะบอกว่า เรามีสองอย่างที่ต้องทำกันเดี๋ยวนี้ นั่นคือ 1) Adaptation ลดระดับความรุนแรงของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ และ 2) Mitigation หาทางหยุดการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้ได้
ช่วงต่อมา หนังสือก็ชี้เป้าอุปสรรคหลักๆ ของเรื่องนี้
อย่างแรกก็คือ การมีอยู่ของ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’
ที่ทั้งราคาถูกและขนส่งง่าย
ที่สำคัญคือมนุษย์เรามีสาธารณูปโภคพื้นฐานทุกอย่างที่ทำให้เราใช้งานเชื้อเพลิงชนิดนี้ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่านี่แหละ คือตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อโลก ผ่านราคาของผลผลิตใดๆ จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเลย อุปสรรคสำคัญอีกอย่างก็คือกฎหมายและข้อบังคับของหลายประเทศนั้นล้าหลังเกินไป ยังไม่มีเรื่องการแก้ปัญหาสภาพอากาศอยู่ในเจตนารมณ์ หรือหลายครั้งก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ปัญหานี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของ การขยับตัวที่ช้าของอุตสาหกรรมพลังงาน เพราะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงการยังหาฉันทามติของแนวทางในการแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะแม้หลายคนอาจจะเห็นความสำคัญของปัญหานี้เหมือนกัน แต่อาจจะเห็นต่างในการลงทุนด้านทรัพยากรที่จะมาใช้แก้ปัญหาต่างกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอดูออกว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไหนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นชินกันมาแสนนาน ไหนจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง กฏหมาย และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นระดับโลกด้วย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า เราไม่อาจปล่อยให้โลกเดินทางไปสู่หายนะได้ ในวันที่อีกหลายชีวิตต้องดำเนินต่อไปและอีกหลายชีวิตกำลังลืมตาเกิดมา
แต่ Bill Gates บอกไว้ชัดในบทแรกๆ ว่า เขาไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้มาเพื่อย้ำปัญหาเท่านั้น แต่เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ามันมีความหวังและทางออกที่จะแก้ไขได้ ในช่วงกลางซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของหนังสือ เขาจึงเล่าถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจาก 5 กิจกรรมหลักของมนุษย์ พร้อมนวัตกรรมที่พยายามคิดค้นมาเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านั้น
หนังสือหยิบเรื่องการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 27% ของทั้งหมดขึ้นมาพูดก่อน เพราะไฟฟ้าและพลังงาน ก็เป็นส่วนสำคัญในกิจกรรมอื่นๆ สิ่งที่ Bill Gates ชวนตั้งเป้าก็คือการผลิต Zero-carbon Electricity ให้ได้ แต่ปัจจุบันก็ยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง อย่างเช่นราคาและความสะดวกของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่บอกไป การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานใหม่ก็มีทั้งต้นทุนและข้อจำกัด เช่นจะใช้พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ ก็อาจไม่ได้ผลิตได้ในทุกที่ ทุกเวลา (กลางวัน-กลางคืน) หรือทุกฤดู ทำให้มีต้นทุนในการจัดเก็บพลังงานด้วย
หนังสือจึงลองชวนมองหาทางเลือกอื่นๆ
ที่เราอาจยังไม่ได้ลงทุนศึกษาหรือพัฒนามันมากพอ
อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สำหรับการเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน (ซึ่งในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาติ (UN) หรือ COP26 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ของ บริษัท เทอราพาวเวอร์ (TerraPower) ที่ Bill Gates สนับสนุนนั้น ก็นับเป็นโครงการตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดโครงการหนึ่ง) การพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบอื่นๆ เช่น Grid-Scale Battery เพื่อให้กักเก็บพลังงานสำหรับเมืองทั้งเมืองได้ หรือการสนับสนุนให้มีการติด Carbon Capture หรือตัวดักจับคาร์บอนตามโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าต่างๆ
กิจกรรมต่อมาที่สร้างก๊าซเรือนกระจกคือ อุตสาหกรรมที่ใช้ซีเมนต์ เหล็กกล้า และพลาสติกในการผลิตของต่างๆ คิดเป็น 31% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนั้นเกิดจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานและเพื่อสร้างความร้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งส่วนนี้ถ้าเราผลิต Zero-carbon Electricity ปัญหาก็จะหมดไป อีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากกระบวนการในการผลิตเอง อย่างเช่น ถ้าจะผลิตซีเมนต์ ก็ต้องใช้แคลเซียมที่ได้มาจากการเผาไหม้ของหินปูน ซึ่งจะมีคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วย เช่นเดียวกับการผลิตเหล็กกล้าและพลาสติก ที่จะได้คาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นของแถมเสมอ หนังสือได้เสนอไอเดีย Recycled CO2 หรือการพยายามจับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตของเหล่านั้น หรืออาจจะมาจากการผลิตไฟฟ้า มาใช้ในการผลิตครั้งต่อไป แต่ก็ยังคงต้องคิดเรื่องการลดต้นทุนของ Carbon Capture ให้ได้
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกคือการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ คิดเป็น 19% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยในการเรอและผายลมของวัวและมูลของหมู จะทำให้เกิดก๊าซมีเธนและไนตรัสออกไซด์ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แถมมียังเป็นก๊าซที่เพิ่มระดับความร้อนในชั้นบรรยากาศได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 และ 265 เท่าตามลำดับด้วย จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ รวมถึงมีทางเลือกอย่าง Plant-based Meat หรือ Grown-in-Lab Meat เกิดขึ้น
สำหรับการปลูกพืชนั้น ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากการใส่ปุ๋ย ทั้งที่มาจากกระบวนการผลิต การใช้เชื้อเพลิงในการขนส่ง ไปจนถึงการที่พืชส่วนใหญ่ไม่สามารถดูดซับไนโตรเจนในปุ๋ยได้หมด ส่งผลให้มีไนตรัสออกไซด์ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงมีคนพยายามคิดค้นอาหารเสริมที่ทำให้พืชดูดซับไนโตรเจนได้มากขึ้น หรือการตัดต่อทางพันธุกรรมที่ทำให้พืชและดินสร้างแบคทีเรียที่ผลิตไนโตรเจนเองได้
การเน่าเสียของอาหารเหลือ (Food Waste)
ก็เพิ่มก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศได้เหมือนกัน
จึงมีคนพยายามคิดค้น สารเคลือบผักผลไม้ที่ทำจากพืช ซึ่งสามารถยืดอายุการบริโภคได้ ขณะที่ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) ก็ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บอยู่ในต้นไม้เหล่านั้น ไหลคืนสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน
การเดินทางและขนส่งต่างๆ ก็นับว่าสร้างก๊าซเรือนกระจกไม่น้อย นั่นคือ 16% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งส่วนสำคัญคือเรื่องของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงาน สำหรับทางออกเรื่องนี้ก็มีให้เห็นในหลายประเทศแล้ว นั่นก็คือการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งกับยานพาหนะส่วนตัวและขนส่งสาธารณะที่เดินทางในเมือง แต่ถ้าคิดเผื่อรถบัสหรือรถบรรทุกที่ต้องเดินทางระยะไกล ขนสัมภาระจำนวนมาก แถมเรือและเครื่องบินด้วย พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่จะไม่เพียงพออีกต่อไป จึงมีนวัตกรรมทางเลือกของแหล่งพลังงานใหม่ๆ อย่าง เชื้อเพลิงชีวมวลรุ่นใหม่ ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการเลย (ปัจจุบันยังปล่อยอยู่) แต่ก็ยังขาดการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และ electrofuels ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในอากาศ แต่ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตก็ยังสูงมาก แต่ทั้งสองอย่างนี้ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตของการเดินทางและขนส่งแบบ zero carbon
สุดท้ายคือการใช้เครื่องทำความร้อนและความเย็น อย่างเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำร้อน หรือฮีตเตอร์ คิดเป็น 7% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานสำคัญนั้นแก้ได้ด้วย Zero-carbon Electricity เหมือนปัญหาอื่นๆ แต่อุปสรรคสำคัญของปัญหานี้ ดูจะเป็นเรื่องของข้อมูลที่ผู้บริโภคได้รับ นั่นคือเราไปซื้อแอร์หรือตู้เย็น หลายครั้งไม่มีป้ายบอกเราหรอกว่าของชิ้นนี้ทำร้ายโลกแค่ไหน อุปสรรคอีกอย่างคือเราไม่ได้เปลี่ยนสิ่งนี้กันง่ายๆ หลายคนอาจจะรู้แต่ยังรอให้หมดอายุขัยของเครื่องที่ใช้อยู่ก็เป็นได้ สำหรับการก้าวข้ามอุปสรรคของปัญหานี้ Bill Gates มองว่ามันคือการแก้ปัญหาด้วยนโยบาย เพราะมีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพร้อมแล้ว
ในบทหลังๆ เป็นส่วนที่หนังสือพยายามลิสต์สิ่งที่รัฐ ภาคธุรกิจ-เอกชน และประชาชนอย่างเราๆ ทำได้เพื่อลดผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่และแก้ปัญหาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีตั้งแต่ระดับ Adaptation หรือลดผลกระทบกับสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้แน่ๆ ก่อน โดย Bill Gates โฟกัสไปที่การให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนในแอฟริกาและเอเชีย ที่จะต้องเผชิญกับความอดอยากจากภัยธรรมชาติที่กลืนกินพื้นที่อยู่อาศัยและเพาะปลูก ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกก็อาจจะต้องคิดทบทวนถึงวิธีการขยายเมืองหรือย้ายถิ่นฐานประชากร เพื่อให้อยู่รอดกับผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
ในส่วนของ Mitigation หรือแนวทางการไปสู่ Zero-Carbon Future นั้น
หนังสือให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐไม่น้อยไปกว่าความก้าวหน้าทางนวัตกรรม
โดยมองว่ารัฐสามารถใช้นโยบายช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ ผ่านการลงทุนในการศึกษาวิจัย หรือโปรเจกต์ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ แม้จะมีความเสี่ยงสูง รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ เพื่อให้การศึกษาวิจัยเหล่านั้นตอบโจทย์อุตสาหกรรมและผู้บริโภคได้จริง
ในขณะเดียวกัน นโยบายรัฐก็สามารถออกแบบให้นวัตกรรมเหล่านี้เติบโตและมีที่ยืนในตลาดได้ ผ่านการเพิ่มความต้องการจากผู้บริโภค อาจจะเป็นการช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการเข้าสู่ตลาดของนวัตกรรมใหม่ๆ การที่รัฐเองเลือกใช้ Green Product ในหน่วยงานรัฐเพื่อเป็นต้นแบบ การเพิ่มอัตราภาษีของสินค้า/บริการที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดภาษีให้กับ Green Product/Service เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อขาย ไปจนถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับปรุงและเพิ่มเติมกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้รองรับนวัตกรรมใหม่ๆ
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ Bill Gates ย้ำกับผู้นำรัฐทั่วโลกเสมอมา นั่นคือเทคโนโลยีและการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จะไร้ความหมาย หากปราศจากนโยบายและตลาดที่ทำให้นวัตกรรมเหล่านั้นถูกนำไปใช้และเติบโตในตลาดได้จริงๆ รวมถึงการลด Green Premium หรือต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้นวัตกรรม Zero Carbon ให้ต่ำที่สุด เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจน สามารถเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านั้นได้เช่นกัน เพราะนี่เป็นเรื่องของคนทั้งโลก
หันมามองที่ประชาชนคนอย่างเราๆ หนังสือบอกว่าสิ่งที่เราทำได้นั้นอาจแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือระดับองค์กร หากเราเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาได้ในทางใดทางหนึ่ง อย่าลังเลที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม หรืออีกทางหนึ่งก็คือการเริ่มทำในสิ่งที่ทำได้ในออฟฟิศ อย่างการเลือกใช้นวัตกรรมที่สนับสนุน Zero-Carbon Future ส่วนในระดับบุคคล Bill Gates บอกว่าเสียงโหวตของเราตามระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความหมายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือมาตรการแก้ปัญหาต่างๆ เราใช้เสียงของเราช่วยผลักดันได้ นอกจากนี้ เรายังส่งเสียงไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ ด้วยการเลิกและเลือกใช้ Green Product/Service เพื่อขับเคลื่อนแนวทางตลาดให้เป็นไปทางที่ควรจะเป็น
ส่วนตัวเชื่อว่าบทสนทนาเรื่องโลกร้อนหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะและต้องดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย เพราะทุกๆ วินาทีที่เดินไปข้างหน้า มันหมายถึงการวิ่งเข้าหาหายนะของโลกที่วกกลับได้ยากแล้ว แต่ถ้ายังรู้สึกว่าไม่เร่งด่วนเท่าไหร่ ช่วยหันหน้าไปสบตากับคนรุ่นใหม่ แล้วคิดสักนิดว่าอีก 20 ปี พวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไรกับสิ่งที่พวกเราและคนรุ่นก่อนเราทำมา ..นั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ดีเกินพอที่เราทุกคนจะสนใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง