“เราจะอ่านนิยายเรื่องนี้ให้พ้นไปจากเรื่องชนชั้นแรงงานที่ตกเป็นทาสของสุราได้อย่างไรบ้าง?”
นี่คือคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาหลังจากอ่าน เมรัยพิฆาต (1877) นิยายเรื่องคลาสสิกของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เอมิล โซลา (Émile Zola) เป็นครั้งที่สองในเวลาสิบปีให้หลัง โดยที่ก่อนหน้านั้นเรามองว่ามันเป็นวรรณกรรมสะท้อนชีวิตชนชั้นล่างมาตลอด นี่เป็นหนึ่งในนิยายที่มีชื่อเสียงและถูกพูดถึงมากที่สุดจาก 20 เรื่องในซีรีส์ เลส์ รูกง-มักการ์ (Les Rougon-Macquart) ที่เขาเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1871-1893 โดยฉบับแปลไทยเพิ่งถูกพิมพ์ใหม่ในเดือนมกราคมนี้ เมรัยพิฆาตเล่าเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของแจร์แวส หญิงชนชั้นแรงงานที่อาศัยและรับจ้างซักผ้าอยู่ในชุมชนระดับล่างในปารีสยุคนั้น ก่อนจะลงทุนเปิดร้านซักรีดเป็นของตัวเองเพื่อเลี้ยงครอบครัวและสามีที่เดินไม่ได้ และติดเหล้าจนชีวิตยากจนข้นแค้นถึงขีดสุดจนเกินเยียวยา
ขณะที่ยังไม่ได้คำตอบอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เรานึกไปเรื่อยเปื่อยว่า ถ้าไม่ใช่แนวคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เสนอว่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปตามวัตถุหรือสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เราจะใช้อะไรมาอธิบายการกระทำของตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละตัวละครได้บ้าง เพราะวัตถุต่างๆ อย่างเครื่องกลั่นเหล้าก็ถูกบรรยายไว้ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของระบบการผลิตที่ใหญ่โตและมีพลังรุนแรงเกินกว่าคนตัวเล็กๆ จะต้านทานว่า “เครื่องซึ่งเปรียบเสมือนครัวของปีศาจนี้มีลักษณะเป็นภาชนะคอยาว ต่อท่อฝังลงใต้ดิน กรรมกรขี้เมาชอบมายืนฝันหวานน้ำลายหกอยู่ตรงหน้าเจ้าเครื่องนี้แหละ”
หรือเครื่องจักรในโรงงานตีเหล็กที่ถูกบรรยายว่า “แจร์แวสมองไม่เห็นสิ่งใด ตาลายไปหมด รู้สึกเหมือนว่ามีอะไรคล้ายๆ ปีกใหญ่โบกเฉียดอยู่เหนือศีรษะ เธอเงยหน้าขึ้นดู จึงเห็นสายพานแถบยาวขึงพาดไปพาดมาบนเพดานราวกับใยแมงมุมมหึมา แต่ละเส้นกรอเข้ากรอออกอยู่ตลอดเวลา ดูราวกับสายพานเหล่านั้นหมุนไปได้เอง” [1
ส่วนตัวละครทุกตัวก็ดูเหมือนจะเป็นชนชั้นแรงงานที่ไม่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตตัวเองเท่าไหร่ นับตั้งแต่แจร์แวสที่มีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นก็เมื่อเธอเปิดร้านของตัวเอง ล็องติเยร์สามีเก่าและกูโปสามีใหม่ที่ก็ทำงานแรงงานด้วยกันทั้งคู่ และตัวละครที่อยู่ในแฟลตรูหนูแห่งเดียวกันก็ด้วย หากไม่นับฉากงานแต่งงานของแจร์แวสและกูโป พวกเขาก็ไม่ได้ก้าวเท้าออกจากชุมชนนั้นแม้แต่ก้าวเดียว
นี่ยังไม่นับว่าเรื่องอื่นในซีรีส์นี้ก็มีตัวละครชนชั้นแรงงานต่างอาชีพด้วยกันหมด ตั้งแต่เรื่องดังอย่าง พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ หรือ Germinal (คนงานเหมืองถ่านหิน), La Terre (ชาวนายากจนในชนบท), Nana (โสเภณีในปารีส) ที่กำลังจะมีแปลไทยออกมาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ไปจนถึงเรื่องที่ไม่โด่งดังมากอย่าง The Ladies’s Paradise (พนักงานห้างสรรพสินค้า)
ในเมื่อตัวละครและสภาพแวดล้อมของพวกเขา
ผูกติดอยู่กับพื้นที่ที่คนทำอาชีพเดียวกัน และชะตากรรมก็ถูกกำหนด
โดยรายได้ที่ใช้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว
แล้วเราจะอ่านมันเป็นอื่นได้อย่างไร
แนวทางหนึ่งคืออ่านตามหลักธรรมชาตินิยม (Naturalism) แบบที่โซลาเสนอไว้ว่า ตัวละครในนิยายของเขา โดยเฉพาะนิยายทั้ง 20 เรื่องในซีรีส์เลส์ รูกง-มักการ์ เป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง เพราะชะตาชีวิตของพวกเขาถูกกำหนดมาแต่ก่อนกาลโดยกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่
แต่เพราะคำว่าสภาพแวดล้อมสามารถแตกแยกย่อยออกมาเป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคม เราเลยเริ่มคิดว่าอย่างหลังนี่แหละคือสิ่งที่เราสนใจ และคิดว่าอาจเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามด้านบน
เราลองคิดว่า ถ้าตัวละครของโซลาเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอะไรและไม่ทำอะไรเท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวย อะไรบ้างที่เป็นเหตุของการตัดสินใจนั้น เราเริ่มที่เปลี่ยนสมมติฐานจาก ‘ตัวละครเป็นชนชั้นล่างเลยทำแบบนี้’ มาเป็น ‘ตัวละครรู้สึกต่อสิ่งรอบตัวแบบนี้เลยทำแบบนี้’ และลงไปค้นดูว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรในแต่ละฉาก แต่ละเหตุการณ์ แต่ละสภาพแวดล้อม ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์แบบที่ใช้กับคนจริงๆ แต่อาจจะแปลกอยู่สักนิดเมื่อเอามาใช้กับตัวละครในเรื่องแต่ง นั่นคือไล่เรียงคำกริยาที่แต่ละตัวละครทำออกมา [2] แล้วกางดูว่าตัวละครมี ‘ความประทับใจ’ และ ‘การกระทำ’ อะไรบ้าง และทั้งสองอย่างสัมพันธ์กันอย่างไร โดยอ้างอิงจากทฤษฎีของ เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน [3]
กอฟฟ์แมนเสนอว่า ‘ความประทับใจ’ หรือ ‘impression’ คือความประทับลงไปในใจแบบตรงตัวที่ใช้กับ ‘ความรู้สึก’ ที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่ง พบเจอเหตุการณ์เฉพาะ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความในเชิงบวกแบบที่เราใช้ในภาษาไทย ส่วน ‘การกระทำ’ หรือ ‘action’ คือการลงมือทำสิ่งต่างๆ ทั้งในฉากหน้าที่มีผู้ชมและฉากหลังที่มีเราคนเดียวที่เห็น โดยมากเวลาเราจะลงมือทำสิ่งใด มักจะที่มาจากความประทับใจ ส่วนจะทำอย่างตรงไปตรงมากับความรู้สึกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้คนอื่นมองเราอย่างไร
ก่อนที่จะอ่านมันใหม่ในครั้งนี้ เราเดาว่าตลอดเล่มจะต้องมีการกระทำที่เกี่ยวกับการทำงานเยอะมาก เพราะตัวแจร์แวสถูกสร้างให้เชื่อมโยงกับอาชีพไว้ชัดเจนมาก แต่เมื่ออ่านแบบไล่เรียงคำกริยาก็ผิดคาด เพราะคำกริยาจำนวนมาก (หรือกระทั่งมากกว่า หากจะนับกันในเชิงปริมาณ) กลับไม่ใช่การทำงานที่ได้เงิน แต่คือกิจกรรมและการกระทำในชีวิตประจำวันที่เรามักมองข้าม แต่กินเวลาและพลังงานไม่ต่างกัน
โซลาเล่าถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวันของแจร์แวสไว้ละเอียดยิบพอๆ กับการทำงานที่ได้เงิน ตั้งแต่การทำงานบ้าน (ด้วยคำกริยาอย่าง จัดบ้าน ปัดฝุ่นเฟอร์นิเจอร์ รีดผ้าม่าน จัดโต๊ะกินข้าว ซักผ้า ปะชุนเสื้อผ้า ซื้อของเข้าบ้าน) ทำอาหาร (เช่น ปอกมันฝรั่ง ตุ๋นเนื้อแกะ คนน้ำเกรวี่ คนซุป เสิร์ฟอาหาร) เลี้ยงลูก (เช่น แต่งตัวลูก อุ้มลูก ส่งลูกไปโรงเรียน ดุลูก รอลูกกลับบ้าน ตีลูก) ดูแลสามีและแม่สามี (เช่น ไปเยี่ยมแม่สามี ให้เงินสามี พาแม่สามีมาอยู่บ้าน แต่งตัวให้แม่สามี พาสามีไปโรงพยาบาล ไปเยี่ยมสามี) รักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน (เช่น จัดงานเลี้ยง เสิร์ฟกาแฟเพื่อนบ้าน เทเหล้าให้สามีเก่า หรือการแสดงออกอย่างมีมารยาทผ่านอวัจนภาษา) นอกจากการกระทำดังกล่าว เธอยังจมอยู่ในห้วงคำนึงของตัวเอง และต่อสู้ความอยุติธรรมและความไม่ถูกต้องที่เธอมองเห็นและสัมผัสเท่าที่จะทำได้
การกระทำของแจร์แวสมักถูกกำหนดโดยความรู้สึกที่เธอมีต่อสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ที่เธอพบเจอในแต่ละจุดหักเหของเรื่อง นั่นคือความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ความรู้สึกว่าตัวเองลำบากยากจน และความรู้สึกว่าตัวเองและคนรอบข้างไม่ได้รับความยุติธรรม ทำให้เธอตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนถึงค่านิยมทางสังคม การแบ่งงานระหว่างหญิงและชาย และบรรทัดฐานเรื่องเพศในสังคมยุคนั้น
หากนับในเชิงปริมาณ ยิ่งปรากฏคำกริยาที่เกี่ยวกับ
ความไม่มั่นคงปลอดภัยมากครั้งเท่าไหร่ ยิ่งเกิดการปรับตัว
ให้ตรงกับค่านิยมทางสังคมมากครั้งเท่านั้น
และมักจะเป็นค่านิยมที่ผูกติดกับบทบาททางเพศด้วย จะเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งแรกจนถึงกลางเล่มว่า หลังจากมีจุดหักเหทำให้เธอรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจ และไม่เข้าพวก (เล่าผ่านคำกริยาอย่าง เกรงกลัว หวาดกลัว ตระหนก โกรธขึ้ง ท้อใจ ใจอ่อน อับอาย ทรมาน หมดหวัง) เธอก็จะพยายามทำตัวให้น่ายกย่องและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (เช่น ประพฤติตัวเรียบร้อย วางแผนเปิดร้าน เช็คเงินในบัญชี ใช้จ่ายเงินจำนวนมาก คิดจะจัดงานเลี้ยง) จำนวนคำกริยาสองกลุ่มนี้แปรผันตามกันเกือบตลอดเล่ม ยกเว้นแค่ช่วงท้ายที่แจร์แวสทำตัวหลุดออกจากบทบาทผู้หญิง ภรรยา และแม่ ไม่แคร์ภาพลักษณ์ และเริ่มติดเหล้าเพราะสภาพแวดล้อมในชุมชนพาไป
เมื่อลองใช้วิธีนี้กับอีกสองประเด็นก็ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน นั่นคือยิ่งรู้สึกยากจนข้นแค้นบ่อยเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น แถมตัวละครเพศชายในเรื่องก็ว่างงานและไม่เอาไหน นอกจากนั้น ยิ่งเธอรู้สึกว่าตัวเองและคนรอบข้างถูกทำร้ายหรือคุกคามทางเพศมาก คำกริยาจำพวกต่อสู้หรือหลบหนีก็ยิ่งมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเพศชายในชุมชนนี้มีอำนาจเหนือเพศหญิงและถูกยอมรับมากกว่าเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัด
เราอาจถามต่อได้ว่า หากไม่ใช่ชนชั้นล่างก็คงไม่รู้สึกไม่มั่นคง ขัดสน และประสบความอยุติธรรมแบบนี้หรือเปล่า แต่พอเทียบกับตัวละครหญิงในเรื่องอื่นของโซลาก็จะเห็นว่า ตัวละครชนชั้นแรงงานค่อนไปทางชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ใจกลางเมืองก็มีปัญหาคล้ายคลึงกันแม้จะไม่ได้มีชะตากรรมแบบเดียวกัน เราเคยลองใช้วิธีนี้กับ The Ladies’ Paradise (1883) และเห็นว่า จำนวนคำกริยาสองกลุ่มก็แปรผันตามกัน ยกเว้นช่วงที่นางเอกทำหรือไม่ทำอะไรที่ขัดกับบทบาททางสังคมของตัวเองเหมือนแจร์แวสในเรื่องนี้
แต่หากจะมองผ่านแนวคิดสังคมวิทยาเชิงวัฒนธรรม (Cultural Sociology) ที่เชื่อในทางตรงกันข้ามกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เราอาจพูดได้ว่า ค่านิยมทางสังคม การแบ่งงานระหว่างหญิงและชาย และบรรทัดฐานของสังคมในเรื่องเพศไม่ใช่ผลผลิตของมาร์กซิสม์ แต่เป็นผลผลิตของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม หรือการกระทำที่เกิดซ้ำในชีวิตประจำวันของคนในสังคมจนกลายเป็นความเคยชินรวมหมู่
กล่าวอีกแบบคือ ‘วีถีชีวิตและวัฒนธรรมมีส่วนกำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่และอย่างไร’ ไม่ใช่ ‘การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมทำให้วัฒนธรรมของคนเปลี่ยนไป’ เพียงด้านเดียว ส่วนบทบาททางเพศก็ไม่ได้ถูกกำหนดโดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ในเพียงครั้งใดครั้งหนึ่ง แต่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในสังคมนั้น
เอาเข้าจริงก็มีบทวิเคราะห์วิจารณ์จำนวนมากที่ชี้ว่า ถึงโซลาจะอธิบายสภาพแวดล้อมในการทำงานของอาชีพต่างๆ ได้อย่างละเอียดและสมจริง อ่านเมรัยพิฆาตก็ได้กลิ่นน้ำครำบนพื้นถนนลอยมา หรืออ่านพืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ก็รู้สึกเหมือนคลุกฝุ่นอยู่ในเหมืองถ่านหิน แต่เมื่อเทียบกับงานวิจัยเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนในยุคนั้น กลับดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของแจร์แวสมีความเป็นเรื่องแต่งและนั่งเทียนเขียนอยู่บ้าง จนมีคนเสนอว่า นี่อาจไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เป็นทัศนคติที่ชนชั้นกลางอย่างโซลาเองมีต่อชนชั้นแรงงานผู้หญิงยุคนั้น เช่น มองว่าแจร์แวสควรจะต้องเป็นผู้หญิง เมีย และแม่ที่ดี ถ้าจนก็ต้องทำงาน ไม่ใช่มาติดเหล้าสำมะเลเทเมาแบบนี้
แต่ต่อให้โซลาเป็นคนในยุคนั้นหรือไม่ และนิยายทั้งหมดในซีรีส์นี้อาจไม่ใช่เรื่องย้อนยุคที่หลุดไปจากช่วงชีวิตของเขา และหากเขาจะเชื่อเช่นนั้น (แม้เราจะคิดว่าเขาเพียงนำเสนอมัน แต่ไม่ได้เชื่อจริงๆ) ก็หมายความว่าเขาเองก็ถูกวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมฝรั่งเศสยุคนั้นประกอบสร้างขึ้นมาอีกถ่ายหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนในยุคนั้นไม่ได้ถูกเล่าออกมา แต่ตัวมันเองก็คงมีอิทธิพลกับคนที่ได้อ่านมันในยุคนั้นด้วย เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่กลายเป็นเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งค่านิยมหนึ่ง หรือกระทั่งเป็นตัวก่อร่างสร้างค่านิยมนั้นขึ้นมาเสียเอง
เหมือนกับโฆษณา ‘จน เครียด กินเหล้า’ หรือวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นสิบๆ ปี ทั้งสองอย่างนี้อาจมีที่มาจากค่านิยมและทัศนคติในสังคมของผู้สร้างก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีอิทธิพลกับความคิดของชนชั้นกลางไทยส่วนหนึ่งอย่างมากจนสลัดไม่หลุด รวมถึงตอกย้ำความเชื่อที่ว่า คนเรายากจนเพราะขี้เกียจ คนเราโง่เพราะไม่มีการศึกษา และคนเราไม่มีโอกาสเพราะไม่ออกไปหาโอกาสเอง
พฤติกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อน มีที่มาหลายหลาก และแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และวัฒนธรรม ทำให้เราไม่สามารถอธิบายมันได้เพียงแค่อ้าปากพูดคำพล่อยๆ เหล่านี้
[1] สำนวนแปลจากภาษาฝรั่งเศสของศาสตราจารย์ทัศนีย์ นาควัชระ ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2564 โดยอ่าน๑๐๑สำนักพิมพ์
[2] Verb-oriented method เป็นวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ริเริ่มขึ้นโดยนักวิจัยของโครงการ Gender and Work ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา ประเทศสวีเดน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thematter.co/entertainment/making-a-living-making-a-difference-book/37485
[3] Erving Goffman เป็นนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ด้วยทฤษฎี Dramaturgy Analysis และเขียนหนังสือตีพิมพ์ในช่วง 1959-1981 โดยงานชิ้นสำคัญของเขาคือ The Presentation of Self in Everyday Life (1959) และ Stigma: Notes on the Management of Spoiled Identity (1963)
* บทความนี้เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งในงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนในชื่อ Reorienting Everydayness: Social Performances of Female Parisians in Émile Zola’s The Ladies’ Paradise and L’Assommoir