รู้สึกเหมือนกันหรือเปล่า? ช่วงนี้ไม่ใช่แค่กายและใจเท่านั้นที่ล้า แต่ยังล้าไปถึง ‘สมอง’ ที่ต้องทำงานทุกวัน ภายใต้สภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่ไม่สะดวกสบาย น่าเบื่อ และไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์งานมากนัก ยิ่งนานวันก็ยิ่งรู้สึกฟุ้งๆ เบลอๆ เหมือนมี ‘เมฆหมอก’ มาปกคลุมเต็มไปหมด จนคิดอะไรไม่ออกเลย
ภาวะนี้คืออะไรกันแน่? แล้วโรคระบาดกับการกักตัวเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่านะ?
ความคิด ความจำ และความสร้างสรรค์ที่ถูกบดบัง
‘ภาวะสมองล้า’ หรือ Brain Fog เป็นอาการที่เราจะรู้สึกเหมือนมีเมฆหมอกหนาๆ กำลังปกคลุมอยู่ทั่วสมอง ทำให้สมองเบลอๆ หลงลืมบ่อยๆ คิดอะไรได้ช้าลง จดจ่อกับอะไรได้น้อยลง หรือคิดอะไรไม่ออกเลย แม้จะพยายามเค้นแค่ไหนก็ตาม จนเผลอคิดไปว่า นี่เราแก่แล้วหรอเนี่ย? ทั้งๆ ที่เพิ่งจะ 20-30 ต้นๆ เอง
แคเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาของ University of Westminster เรียกภาวะนี้ว่าเป็นภาวะที่สมองทำงานได้ไม่ดี เพราะเมื่อเกิดภาวะนี้แล้ว ผลกระทบนั้นครอบคลุมถึงความคิด ความทรงจำ การจดจ่อ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ไปจนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้าก็มีเยอะมาก อาจเป็นการทำงานหนักเป็นระยะเวลานาน เร่งรีบเคลียร์งานให้เสร็จมากจนใช้สมองหนักไป การพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย การจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนถูกรบกวนให้สารสื่อประสาทเสียสมดุล หรืออาจเกิดจากคนที่เดิมมีอาการทางจิตเวชอยู่แล้ว เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้า ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อความคิด ความทรงจำ การจดจ่อ หรือการสร้างสรรค์ ยังกระทบต่ออารมณ์และจิตใจของผู้ที่เผชิญได้ เพราะเมื่อสมองล้า ก็ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดได้ง่าย นอนไม่หลับ และไม่สดชื่นเหมือนแต่ก่อน
แต่นอกจากนี้ ก็มีอีกสาเหตุหนึ่งที่น่าสงสัยเหมือนกัน นั่นก็คืออาจจะเป็นเพราะโรคระบาด
เมื่อโรคระบาดอาจเป็นเหตุ
ท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ที่ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ก็อดคิดไม่ได้เลยว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีผลมากน้อยแค่ไหนต่อการทำให้เกิดภาวะสมองล้า เพราะดูเหมือนผลกระทบจาก COVID-19 จะเกิดขึ้นกับชีวิตในทุกๆ มิติอยู่แล้ว
มีผลการศึกษาสองชิ้นที่สนใจว่าการล็อกดาวน์นั้น เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้าหรือเปล่า หนึ่งในนั้นเป็นรายงานจากประเทศอิตาลี ซึ่งผู้เข้าร่วมรายงานว่าพวกเขามีปัญหากับการจดจ่อ การรับรู้เรื่องเวลา และการจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ในชีวิต และรายงานจากประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งมีการวัดการทำงานของสมองผู้เข้าร่วม ในช่วงเวลาระหว่างล็อกดาวน์ครั้งแรกจนถึงฤดูร้อน และพบว่า สมองของพวกเขาทำงานได้แย่ลงเมื่อเริ่มล็อกดาวน์ แต่กลับมาดีขึ้นเมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนปรน โดยสมองของผู้ที่เข้มงวด ไม่ออกไปไหนเลย จะค่อยๆ ฟื้นตัวช้ากว่าคนที่ออกไปไหนมาไหนบ่อยๆ
ซึ่งปัจจัยที่แคเธอรีนคาดว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทรงพลังมากที่สุด ก็คือการที่ทุกอย่างในแต่ละวัน ‘เหมือนกัน’ หมด ชีวิตที่ไปไหนไม่ได้ ต้องทำอะไรคล้ายๆ เดิมทุกวันตั้งแต่ลืมตาตื่นยันข่มตานอน ทำให้สมองไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่แปลกใหม่ หรือไม่ค่อยตอบสนองแบบมีการปรับทิศทางตามสภาพแวดล้อมบ่อยนัก ที่เรียกกันว่า Orienting Response
“นับตั้งแต่นาทีแรกที่เราเกิดมา อันที่จริงแล้ว ตั้งแต่ก่อนเราเกิดเลย เมื่อมีการกระตุ้นใหม่เกิดขึ้น ทารกในครรภ์ก็จะหันศีรษะไปทางสิ่งเร้านั้น หรือถ้าเป็นในวัยผู้ใหญ่ ขณะที่เรากำลังฟังบรรยายที่น่าเบื่อจนเกือบหลับ เมื่อมีคนเดินเข้ามาในห้อง สมองเราจะถูกกระตุ้นให้กลับมาประมวลผลอีกครั้ง” แคเธอรีนอธิบาย
มนุษย์เรามักจะหยุดสนใจเมื่อทุกอย่างนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
และจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อมีอะไรบางอย่างกำลังเปลี่ยนไป
แต่การกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลาหลายวัน เปรียบเสมือนการนั่งฟังบรรยายที่น่าเบื่อ ไร้จุดสิ้นสุด แถมไม่มีผู้คนใหม่ๆ เดินเข้ามาในห้อง ให้สมองถูกกระตุ้นจนตื่นตัว อีกทั้งมนุษย์เรามักจะหยุดสนใจเมื่อทุกอย่างนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อมีอะไรบางอย่างกำลังเปลี่ยนไป จึงอธิบายได้ว่าโรคระบาดใหญ่ COVID-19 นี้ เป็นอีกตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชาหรือภาวะสมองล้า เพราะการเปลี่ยนผ่านจากวันหนึ่งไปสู่อีกวันหนึ่ง โดยไม่มีการเดินทาง การเปลี่ยนบรรยากาศ หรือการพบปะผู้คนใหม่ๆ อาจส่งผลกระทบต่อวิธีที่สมองเราจะประมวลผลความทรงจำ
โจน ไซมอนส์ (Jon Simons) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาของ University of Cambridge กล่าาวว่า ช่วงเวลาภายใต้การล็อกดาวน์ ทำให้เราขาด ‘ความโดดเด่น’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรา ‘แยกรูปแบบ’ สิ่งต่างๆ ได้ กระบวนการนี้เกิดขึ้นในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ทำให้มนุษย์แต่ละคนสามารถเข้ารหัสความทรงจำของตัวเองได้สำเร็จ และแยกความจำหนึ่งออกจากอีกความจำหนึ่งได้ อีกทั้งยังสามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาวะสมองล้ากลับทำให้ภาพในหัวของเราฟุ้งๆ เบลอๆ สับสนว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่ และความทรงจำก็ดูจะทับซ้อนกันไปหมด จนจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหรือเดือนที่แล้ว
บางคนอาจถึงขั้นใช้เวลาเป็นชั่วโมง
เพื่อนึกให้ออกว่าเมื่อวานกินข้าวกับอะไร
หรือลืมแม้กระทั่งว่าเมื่อสักครู่นี้วางแว่นตาไว้ที่ไหน
นอกจากนี้ การกักตัวยังหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่น้อยลง และแตกต่างไปจากรูปแบบเดิม ที่เราเคยสัมผัสกันโดยตรงหรือพูดคุยกันต่อหน้า พอปรับมาเป็นการทำงานแบบ work from home ที่ต้องสื่อสารกันผ่าน virtual meeting มากขึ้น เราจึงต้องอาศัยสมาธิมากขึ้นในการจดจ่อกับคนในหน้าจอสี่เหลี่ยม และนั่นก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สมองล้าได้ง่าย
ปัดหมอกที่บดบังแล้วดึงความจำกลับมา
แม้ภาวะสมองล้าจะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่หากไม่รีบรับมือให้ทัน ก็อาจเป็นนำไปสู่โรคอื่นๆ อย่างโรคพาร์กินสัน หรือโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายบ้าง เหล่านี้เป็นวิธีที่ไม่เพียงแต่จะช่วยรับมือกับภาวะสมองล้า แต่ยังรวมถึงสร้างสมดุลที่ดีให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันอาการหรือโรคอีกมากมายด้วย
แต่เนื่องจากเราพบแล้วว่า COVID-19 ก็มีส่วนที่ทำให้เราเป็นภาวะนี้ด้วย จึงอยากเพิ่มคำแนะนำขึ้นมาอีกหน่อย นั่นก็คือ
ไม่ไหวบอกไม่ไหว เมื่อรู้สึกว่าหมอกกำลังลงมาปกคลุมจนรู้สึกตัน คิดอะไรไม่ออก ให้วางมือจากงานตรงหน้าสักพัก เพราะยิ่งฝืนก็จะยิ่งทำให้หมอกนั้นหนาขึ้น สุดท้ายก็คิดอะไรไม่ได้อยู่ดี อาจจะลุกเดินไปเล่นกับสัตว์เลี้ยงสักพัก ดูคลิปวิดีโอคลายเครียด หรือพูดคุยกับคนในบ้าน 5-10 นาที เพื่อเป็นการรีเฟรชสมองอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาทำงานตรงหน้าอีกครั้งแบบที่สมองปลอดโปร่งมากขึ้น
ค่อยๆ ทำไปทีละอย่าง ยุคนี้คนที่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน หรือที่เรียกว่า multitask ดูเป็นคนที่เจ๋งไม่น้อย แต่การทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน อาจเป็นชนวนให้ล้าได้ง่าย เพื่อต้องใช้งานสมองอย่างหนักจากการจดจ่อหรือคิดอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ลองปรับเปลี่ยนมาเป็นการโฟกัสกับงานหรือหน้าที่ทีละอย่างให้ค่อยๆ เสร็จไป น่าจะช่วยให้สมองวุ่นวายน้อยลงได้นะ
เข้าสังคมบ้าง อย่าลืมว่าพวกเราเป็นสัตว์สังคม ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้สวนทางกับธรรมชาติของพวกเราเอามากๆ เพื่อให้สมองได้ถูกกระตุ้นหรือได้รับอะไรใหม่ๆ พยายามติดต่อสื่อสารกับเพื่อนหรือคนที่สนิทใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งดีและร้ายแก่กัน ก็จะช่วยให้เราได้มีชุดความทรงจำที่แปลกใหม่เข้ามาบ้าง
เปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่จำเจ ดูจะเป็นวิธีที่ยากที่สุดสำหรับช่วงเวลาแบบนี้ แต่อย่างที่บอกไปว่าบรรยากาศเดิมๆ หรือการไม่มีผู้คนใหม่ๆ ทำให้เราอยู่กับภาวะเฉื่อยชา จนกระทบกับวิธีที่สมองคิด จำ หรือสร้างสรรค์ จึงอยากให้ทุกคนลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างละนิดละหน่อย เท่าที่พอจะทำได้ อาจไม่ต้องถึงขั้นรีโนเวทห้องใหม่ แค่เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของในห้องให้ดูแปลกตาไปจากเดิมก็ได้
จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ ร่างกายและจิตใจของพวกเราได้รับผลกระทบมากมายจริงๆ ยังไงก็ลองสังเกตอาการของตัวเองกันเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้หาทางรับมือได้ทัน และผ่านมันไปให้ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก