ในสมัยที่เรายังเป็นเด็ก สิ่งที่น่ากลัวเป็นพอๆ กับผีหรือไม้เรียว ก็น่าจะเป็นการเสียเพื่อนสนิทสักคนหนึ่งไป แต่เมื่อโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนๆ เราก็พบว่าการเสียเพื่อนสนิทไป ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับเราอยู่ดี
มิตรภาพมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของมนุษย์ เราจึงเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับใครสักคนที่รู้สึกถูกชะตาด้วย จนถึงขั้นที่สามารถเรียกเขาได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘เพื่อน’ หรือ ‘เพื่อนสนิท’
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เรากลับพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยความสัมพันธ์นั้นไป ไม่ว่าสาเหตุของจุดจบจะเกิดจากอะไรก็ตาม เพราะที่ผ่านมาเราเรียนรู้เพียงแค่วิธีที่จะเข้าหา แต่ไม่เคยเรียนรู้วิธีที่จะจากลา หรือวิธีรับมือกับความรู้สึกหลังสูญเสียมิตรภาพเลยสักครั้ง
ทำไมการเสียเพื่อนถึงปวดร้าวราวกับอกหัก?
ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต หลายคนคงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า เพื่อนสนิทที่คบกันมาหลายสิบปี ทำไมวันนี้ถึงไม่ค่อยได้เจอหน้า ไม่ค่อยได้พูดคุยกันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และเมื่อครุ่นคิดไปสักพัก จู่ๆ ความรู้สึกเศร้าเสียใจก็ตามมาอย่างหาสาเหตุไม่ได้
…เป็นแฟนกันก็ไม่ใช่ แต่ทำไมถึงได้รู้สึกเจ็บแปล๊บๆ ที่หน้าอกนะ? ความจริงที่ว่าการเลิกเป็นเพื่อนกับใครสักคน สร้างความเจ็บปวดได้พอๆ กับการเลิกรากับคนรัก มันเป็นไปได้ยังไงกัน?
อาจจะเป็นเพราะเพื่อนสำคัญกับชีวิตเรามากกว่าที่คิด อย่างที่ จิม รอห์น (Jim Rohn) นักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า เราคือค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่เราใช้เวลาด้วยมากที่สุด ทำให้พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ หรือวิธีคิดของเราถูกหล่อหลอมขึ้นจากการพูดคุยและการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เราสนิทสนม และเมื่อเรากับเขาเกิดความคล้ายคลึงกัน ชอบอะไรเหมือนๆ กัน พูดภาษาคล้ายๆ กัน เพื่อนคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นก็ย่อมกลายเป็นความสบายใจของเราไปด้วย
เวลามีเพื่อนสนิท
เราจึงรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิต
เพราะรู้ว่ายังไงก็มีพวกเขาคอยอยู่เคียงข้าง
แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ด้วยบริบทบางอย่าง ไม่ว่าจะทางจิตใจหรือทางกายภาพ แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลให้แยกย้ายไปใช้ชีวิตในเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน เช่น เลือกเรียนคนละคณะ ย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด แยกตัวออกไปสร้างครอบครัว ชอบวงดนตรีวงอื่น หรือหันไปทำกิจกรรมใหม่ๆ นานวันเข้าจึงเริ่มเกิดเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ ที่ทำให้เราและพวกเขาปะติดปะต่อกันได้ไม่เหมือนเดิม
“เห็นอยู่แต่กับเพื่อนใหม่ เขาคงลืมเราไปแล้วสินะ”
แต่แทนที่เราจะคิดว่ามิตรภาพมาถึงทางแยกหรือจุดเปลี่ยน มีสาเหตุมาจากการเติบโตที่แตกต่างกันไป เกิดจากระยะทางที่ห่างกันมากขึ้น หรือเกิดจากการที่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนไม่เหมือนเดิม เรากลับคิดว่ามันเกิดจากการ ‘ทรยศ’ หรือ ‘หักหลัง’ กันมากกว่า เพราะคิดว่าเขาลดทอนความสำคัญของเราลง และไปเพิ่มให้กับคนอื่นหรืออย่างอื่นแทน ซึ่งความคิดนี้ก็ค่อยๆ พัฒนาจากความน้อยใจไปสู่ความโกรธเคือง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เพื่อนต้องไม่ทิ้งกัน? ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเพื่อนไปสนิทกับคนอื่น)
ในขณะเดียวกัน การจะเปิดอกพูดคุยกันเกี่ยวกับ ‘ความไม่เหมือนเดิม’ ในความสัมพันธ์แบบเพื่อน ไม่เหมือนกับการเปิดอกพูดคุยกันในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก เพราะเรารู้ดีว่าเราจะพูดกับคนรักว่ายังไง เมื่อเขาหรือเธอมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม เช่น เธอเปลี่ยนไปนะ เธอไม่มีเวลาให้เราเลย เธอยังเหมือนเดิมหรือเปล่า?
แต่กับเพื่อน เราไม่รู้ว่าจะนิยามความรู้สึกที่ว่านี้ยังไงให้ไม่จั๊กจี้ เพราะที่ผ่านเรากับเขาไม่เคยพูดคุยกันเรื่องความคาดหวังที่แต่ละฝ่ายมี เราต่างสนิทกันด้วยเคมีบางอย่างที่ตรงกันโดยบังเอิญ สุดท้ายเรื่องก็ไปจบที่เราคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป และเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างเฟดหายจากกันไปตามธรรมชาติ
เช่นเดียวกับทุกๆ ความสัมพันธ์
การไม่สื่อสารกัน ย่อมทิ้งความเคลือบแคลงใจให้กับทุกฝ่าย
ว่าพวกเขาทำอะไรผิดไปหรือเปล่า
การสูญเสียเพื่อนจึงมีผลต่อความรู้สึกมากพอๆ กับสูญเสียคนรัก เพราะพวกเขาเปรียบเสมือนส่วนประกอบสำคัญที่สร้างตัวตนของเราขึ้นมา และเมื่อสูญเสียคนที่เคยเป็นความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ความรู้สึกเชิงลบต่างๆ เลยแทรกซึมเข้ามาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความหว่าเว้ ความโดดเดี่ยว
แต่การยึดติดกับความรู้สึกดังกล่าว หรือความคิดที่ว่าเพื่อนกันจะต้องอินในเรื่องเดียวกันสิ ต้องเดินไปในเส้นทางเดียวกันเรื่อยๆ ไปจนแก่สิ อาจเป็น ‘กลลวง’ ที่ทำให้เราไม่กล้าแยกย้ายไปมีชีวิตในแบบที่เราอยากมี ต่อให้อยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบใด~ก็ตาม
เรียนรู้ที่จะรับมือกับความสัมพันธ์ที่ย่อมมีวันจบลง
ใครๆ ก็คิดว่าเพื่อนจะต้องเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนที่สุด ต่อให้เลิกคบกับแฟนไปกี่คน อย่างน้อยๆ คนที่จะคอยอยู่เคียงข้างเราเสมอ ไม่ไปไหน ก็จะต้องมีพวกเขาแน่นอน ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถึงคราวที่มันต้องจบลงจริงๆ เราเลยมักจะทำใจได้ยากลำบาก แต่สิ่งที่เรามักจะหลงลืมไปนั่นก็คือ ทุกความสัมพันธ์ย่อมมี ‘วันหมดอายุ’ ไม่ช้าก็เร็ว โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ความสัมพันธ์แบบเพื่อนก็เช่นเดียวกัน เมื่อเดินทางมาถึงอายุขัยที่กำหนด มันอาจจะไม่ได้สูญสลายหายไปในพริบตาซะทีเดียว แต่มันอาจจะหมายถึง เรายังคงมีกันและกันอยู่ แต่ไม่ใช่บ่อยๆ หรือตลอดเวลาแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว
ในช่วงแรก เราอาจรู้สึกโกรธเคืองหรือกังวลใจอย่างมิอาจห้ามได้ ซึ่งนั่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่บ่งบอกว่าเราแคร์เพื่อนคนนั้นมากแค่ไหน แต่เมื่อปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นทำหน้าที่ของพวกมันเสร็จ ก็ลองให้ความเป็นเหตุและผลได้ทำงานบ้าง ด้วยการลองทำความเข้าใจในบริบทที่กำลังเผชิญว่า มันเป็นไปได้ยากแค่ไหนที่ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนของเรากับพวกเขาจะเป็นเหมือนเมื่อก่อน
เอาง่ายๆ เพียงแค่อยากจะไปหาพวกเขาทันที ณ ตอนนี้ ก็แทบจะใช้เวลามากกว่าเมื่อหลายสิบปีเป็นสิบๆ เท่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่พวกเราจะได้นั่งคุยเล่น กินขนมกันแบบเมื่อก่อน 100% มันจึงไม่ใช่ความผิดของใครสักคนที่ทำให้ความสัมพันธ์มันเปลี่ยน ไม่ใช่ทั้งเขา และไม่ใช่ทั้งเรา เพราะทุกคนต่างก็เป็นคนใหม่ในวันรุ่งขึ้น
มีความคิดแบบใหม่ มีหน้าที่ใหม่ และมีความฝันใหม่ ทุกเส้นทางที่เราแยกย้ายกันไป ไม่ว่าจะเป็นต่างคณะ ต่างมหาลัย ต่างจังหวัด ต่างกิจกรรม หรือต่างสังคม ทุกอย่างล้วนแล้วแต่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนใหม่ไปเรื่อยๆ และนั่นก็คือขั้นตอนของการเติบโต ซึ่งเราไม่สามารถห้ามให้ใครเติบโตได้ และการหวงกันและกันอาจทำร้ายเพื่อนคนนั้นมากไปกว่าเดิม
อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Wreck It Ralph 2 ที่ตัวละครชื่อ Shank กล่าวไว้ว่า “มิตรภาพระหว่างเพื่อนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ข้อดีก็คือ มันจะทำให้พวกเขาทั้งคู่เข้มแข็งขึ้น” โดยเธอมองว่าเพื่อนกันไม่จำเป็นจะต้องมีความฝันแบบเดียวกันเสมอไป และการแยกย้ายกันไปเติบโต ก็ไม่ได้หมายความว่ามิตรภาพจะจบลง เพียงแค่ทั้งคู่จะต้องทำความเข้าใจกันและกัน
แต่หากพยายามทำความเข้าใจแล้ว ทำความเข้าใจอีก สุดท้ายการประกอบความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่นั้นก็เกินความสามารถของเราจริงๆ ก็คงทำได้เพียงแค่ยอมรับและเข้าใจ เพราะโลกใบนี้มีเพียงไม่กี่อย่างที่เราจะสามารถควบคุมได้ หนึ่งในนั้นก็คือความคิดและความรู้สึกของผู้คน แม้จะเสียดายที่มันจบลง แต่ที่ผ่านมาเราก็เคยมีช่วงเวลาที่สนุกและมีความสุขมากๆ นี่เนอะ
ดังนั้น เมื่อยอมรับได้แล้วก็แค่ก้าวเดินต่อ เพราะชีวิตเรายังคงเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เพื่อพบเจอกับมิตรภาพใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่รอบตัว อาจจะเป็นในที่ทำงาน ในคอนเสิร์ต ในงานเลี้ยง หรือบนโซเชียลมีเดียก็ได้นะ
เพื่อนสนิทอาจไม่ใช่คนที่ก้าวเดินในจังหวะเท้าที่พร้อมเพรียงกับเรา แต่เป็นคนที่ไม่ว่าจะเดินช้ากว่า เร็วกว่า หรือเดินคนละเส้นทาง ยังไงก็หันหน้ามาเจอกันได้อยู่ดี และถึงแม้ความสัมพันธ์นั้นจะค่อยๆ จางลงไป ราวกับไม่เคยมีอยู่มาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต ถ้าเราเข้าใจได้ว่าทุกคนมีทางเลือกเป็นของตัวเอง ซึ่งทางเลือกนั้นอาจจะไม่ได้ตรงกับเราเสมอไป
อ้างอิงข้อมูลจาก