ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ หลายบริษัทต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต หนึ่งในสิ่งที่มักจะตามมาคือการ ‘เลย์ออฟ’ (lay off) หรือปลดพนักงานเพื่อปรับโครงสร้างและลดต้นทุนของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่าคงมีไม่ใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เพราะหากถูกเลิกจ้าง แผนอนาคตทุกอย่างคงต้องหยุดชะงักลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรายเดือนยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเครียดและความสับสนคืบคลานเข้ามาทีละน้อย
ในวันที่ถูกเลย์ออฟและเรากำลังช็อคจนไม่รู้จะทำตัวยังไง ชวนมาสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วหาวิธีตั้งตัวใหม่ไปพร้อมกัน
1. กลับมาตั้งหลักใหม่ ก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญ
แม้บริษัทจะมีเงินชดเชยและบอกล่วงหน้าตามกฎหมาย แต่การปลดพนักงานก็นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรา ‘ไม่คาดคิด’ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าหลายคนจะรู้สึกโกรธ เศร้า สับสน หรือมีอารมณ์ขุ่นมัว จอห์น ลีส์ (John Lees) ผู้เขียนหนังสือ ‘How to Get a Job You Love’ แนะนำว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือการหยุดพักให้สมองโล่งๆ ก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญหรือแม้แต่การหางานใหม่ เพราะเราควรให้เวลาตัวเองได้ค่อยๆ คิดว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้ โดยอาจเริ่มจากการทำกิจกรรมที่ชอบ ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน หรือเล่าให้คนที่ไว้วางใจฟังจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
เช่นเดียวกับผู้เขียนบทความ ‘I’ve Been Laid Off 5 Times. Here’s How To Cope When It Happens To You.’ ในเว็บไซต์ Girlboss ที่บอกว่า อารมณ์คุกรุ่นในช่วงแรกๆ อาจทำให้เราเผลอพูดหรือทำสิ่งที่เราจะเสียใจในภายหลัง อย่างการรีบสมัครงานหลายๆ ที่พร้อมกันจนเริ่มเบิร์นเอาต์ หรือการเผลอพูดถึงบริษัทเดิมด้วยความโกรธขณะสัมภาษณ์งานใหม่ จนทำให้พลาดโอกาสการทำงานนั้นไป
ดังนั้นการให้เวลาตัวเองกลับมาตั้งหลักและจัดการกับอารมณ์จึงไม่ใช่การหนีปัญหา แต่เป็นเรื่องสำคัญก่อนจะเริ่มวางแผนชีวิตใหม่อีกครั้ง
2. วางแผนค่าใช้จ่าย
ขั้นต่อมาคือการกลับมาตรวจสอบสิทธิตามกฎหมาย ตั้งแต่ระยะเวลาที่บริษัทบอกล่วงหน้าซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 60 วัน เงินชดเชยที่จะได้ตามอายุงาน (อ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างได้ที่ lb.mol.go.th ) รวมทั้งการเช็กสถานะการเงินของตัวเอง โดยคำนวณรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เงินชดเชย รายได้จากแหล่งอื่นๆ เช่น เงินสมทบการว่างงานจากประกันสังคม (เช็กสิทธิ์ได้ที่ lb.mol.go.th) ก่อนจะหักลบด้วยหนี้สินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน เพื่อให้เราสามารถวางแผนได้ว่ามีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในระยะเวลากี่เดือน และมีเวลาหางานใหม่อีกนานแค่ไหน รวมทั้งสื่อสารกับคนใกล้ตัวที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เราต้องดูแล เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกันได้
3. มองหาโอกาสใหม่ๆ
พอเราเริ่มตั้งหลักทั้งด้านจิตใจและรายได้เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลามองหางานใหม่ๆ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นยื่นเรซูเม่สมัครงาน รีเบกกา ไนท์ (Rebecca Knight) ผู้เขียนบทความใน Harvard Business Review แนะนำให้เราออกไปเจอหรือคุยกับคนที่เคยร่วมงานกัน รวมทั้งคนที่อยู่ในแวดวงการทำงานที่เราสนใจ เพื่อให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับงานนั้นมากขึ้นว่าตรงกับสิ่งที่เราถนัดและสนใจจริงๆ หรือเปล่า บรรยากาศการทำงานที่นั่นเป็นอย่างไร และเราควรกลับมาปรับเรซูเม่ของตัวเองยังไงบ้าง ซึ่งไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ฟีดแบ็กที่ทำให้เรารู้จุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเองได้ชัดขึ้นอีกด้วย
นอกจากเรซูเม่แล้ว สิ่งที่หลายคนกังวลคงเป็นช่วงสัมภาษณ์งานที่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกเลย์ออฟ ซึ่ง จอห์น ลีส์ แนะนำว่าเราอาจใช้คำพูดที่บ่งบอกว่า เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต รู้ความต้องการของตัวเองในปัจจุบัน และความพร้อมก้าวไปข้างหน้าในอนาคต เช่น “บริษัทก่อนหน้านี้ของจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างของบริษัทครั้งใหญ่ ทำให้ฉันมีโอกาสได้ทบทวนถึงเส้นทางอาชีพของตัวเอง และพบว่าสิ่งที่ฉันกำลังมองหาตอนนี้คือ…”
4. โฟกัสไปที่ ‘เส้นทาง’ มากกว่า ‘ปลายทาง’
ความยากของการถูกเลิกจ้าง นอกจากการวางแผนชีวิตแล้ว สำหรับบางคนคงเป็นการก้าวข้ามบาดแผลในใจ McKinsey & Company เคยมีงานวิจัย ที่บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเลิกจ้าง และการว่างงานส่งผลอย่างมากต่อการมองเห็นคุณค่าและการนับถือตัวเอง (self-esteem) รวมทั้งสุขภาพจิตของผู้คน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือตั้งใจทำงานหนักมาโดยตลอด
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ระหว่างการเติบโตที่หล่อหลอมให้เราเคยชินหรือเผลอสร้างเงื่อนไขขึ้นมาในหัวแบบอัตโนมัติว่า เราจะถูกยอมรับ/เป็นที่รัก/มีความสำคัญก็ต่อเมื่อ… (ทำสิ่งต่างๆ สำเร็จ, มีหน้าที่การงานดีๆ , ได้เงินเดือนสูงๆ ดูแลคนอื่นได้ และอีกมากมาย) ทำให้บางคนรู้สึกว่าการโดนเลย์ออฟนั้นเหมือนกับจุดสิ้นสุดหรือปลายทางของอาชีพจนสั่นคลอนคุณค่าในตนเอง บางคนกล่าวโทษและโบยตีตัวเองซ้ำๆ หากความจริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนควรค่ากับความรักและควรได้รับการยอมรับโดยไม่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จหรือหน้าที่การงานเลย
แต่การบอกว่า “เลิกคิดอย่างนั้น แล้วปล่อยวางสิ” คงเป็นประโยคที่พูดง่าย แต่ทำยากมากๆ ในความเป็นจริง หนึ่งในวิธีที่พอจะทำได้คือเริ่มต้นจากการกระทำเล็กๆ ที่ใจดีกับตัวเองก่อน เช่น
- ชมตัวเองจากความคืบหน้า (progress) มากกว่าผลลัพธ์สุดท้าย หรือไม่รอจนกว่าจะทำอะไรสำเร็จ แล้วค่อยชื่นชมตัวเอง
- ย้ำถึงคุณค่าและให้กำลังใจตัวเอง อาจจะเป็นการพูดในใจ พูดกับตัวเองในกระจก หรือเขียนแปะโพสต์อิตไว้ในห้อง แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในทางประสาทวิทยา สิ่งที่เราบอกกับตัวเองซ้ำๆ นั้นมีความสำคัญต่อวิธีการมองโลกและการเห็นคุณค่าในตัวเราเอง
- การเล่าสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้ใครสักคนฟัง หรือเขียนสิ่งที่กำลังคิด/รู้สึก เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจความคิดของตัวเองได้ดีขึ้นและโฟกัสได้ถูกจุดมากขึ้น
‘เลย์ออฟ’ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากได้ยินคำนี้หรืออยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่คงต้องยอมรับว่าการเลย์ออฟเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในตลาดงาน คงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเส้นทางอาชีพ และไม่แน่ว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร การกินให้อิ่ม นอนให้เพียงพอ และใจดีกับตัวเองบ้างก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะ ‘งาน’ อาจอยู่กับเราในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ ‘ร่างกายและจิตใจ’ คือสิ่งที่จะอยู่กับเราต่อไปจนวันสุดท้ายของชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon