หลายคนเกิดความรู้สึกโหวงอยู่ในใจ เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเลิกงานแล้ว แต่ไม่ได้ไปนั่งอยู่โต๊ะประจำที่บาร์เดิม โหยหากาแฟแก้วแรกในตอนเช้า กับคาเฟ่ร้านโปรด เติมพลังชีวิตด้วยคอนเสิร์ตของศิลปินที่ตั้งตาคอย หรือแค่บรรยากาศของการเดินสวนกัน พบปะผู้คนตามห้างร้านต่างๆ ตามรถไฟใต้ดิน สิ่งเหล่านี้ที่เคยเป็นเรื่องแสนจะธรรมดาในชีวิต แต่ก็ต้องใจหายเมื่อพบว่า เราไม่ได้พบเจอบรรยากาศนั้นมานานแค่ไหนแล้วนะ? สิ่งเหล่านี้ที่ขาดหายไป มันทำให้เราแค่เหงาเท่านั้นหรือเปล่า หรือมันสามารถสร้างผลกระทบกับเราได้มากกว่านั้นกันแน่
เมื่อบ้านที่เป็น ‘First Place’ และที่ทำงานที่เป็น ‘Second Place’ มาอยู่รวมกันในที่เดียวด้วยความจำเป็น เหมือนจะสะดวกสบายที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ได้มีเวลาให้ชีวิตส่วนตัวเพิ่มขึ้นอีกหน่อย แต่มันแลกมากับ ‘Third Place’ ที่หายไปจากชีวิตเรา โดย ‘Third Place’ คือพื้นที่ที่ไม่ใช่ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน มันคือพื้นที่ที่เหลือหลังจากนั้น ที่เราจะได้พบปะผู้คน ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น งานเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า คลับ บาร์ คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่อื่นๆ ที่เราเคยได้ใช้มันเพื่อผ่อนคลาย พบปะ พูดคุย เดินทาง และใช้ชีวิต แต่ละคนอาจมี Third Place ของตัวเองที่ต่างกันไป
คำนี้ถูกนิยามความหมายขึ้นมาครั้งแรกโดย เรมอน โอลเดนเบิร์ก (Ramon Oldenburg) และเดนนิส บริสเซ็ต (Dennis Brissett) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ที่ให้ความหมายไว้ว่า เป็นพื้นที่สำคัญ ที่ช่วยให้ผู้คนได้รวมตัวกันและพบปะพูดคุยกัน เพื่อช่วยให้ชุมชนหรือผู้คนนั้น มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอและหนักแน่น เหมือนกับได้พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอในร้านกาแฟ ได้เจอเพื่อนหน้าเดิมที่บาร์ประจำ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีบรรยากาศของการปฏิสัมพันธ์กัน
และพื้นที่นี้ได้ขาดหายจากผู้คนทั้งโลกเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 บ้านและที่ทำงานโคจรมาอยู่ในที่เดียวกัน แต่พื้นที่ที่สามนั้นกลับหายไปด้วยความจำเป็น เราอาจจะแค่รู้สึกว่ามันคงเหงาแหละมั้ง ไม่ได้ค่อยได้เจอใคร แต่สุขภาพใจของเราที่ห่อเหี่ยวลงทุกวันนั้น เป็นสิ่งที่ฟ้องเราได้ดีว่า มันส่งผลกระทบกับเรามากกว่าความเหงาที่ไม่ได้พบเจอผู้คนแน่นอน
คลื่นปัญหาลูกแรกคือการเอาบ้านที่เป็น ‘First Place’ และที่ทำงานที่เป็น ‘Second Place’ มาอยู่รวมกัน จนเกิดความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเกิดขึ้น หลายคนรู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา หลายคนรู้สึกเมื่อเข้าเวลาส่วนตัวแล้ว กลับไม่ได้เหมือนนั่งอยู่ที่บ้านอย่างเคย คลื่นปัญหาต่อมา คือ การขาดหายไปของ ‘Third Place’ ที่เดิม มีไว้เพื่อชุบชูจิตใจในวันเหนื่อยล้าจากงาน ปัญหาชีวิต ยังมีพื้นที่ให้ได้พูดคุย แลกเปลี่บนความคิดเห็น สังสรรค์กับเพื่อนๆ แต่เมื่อส่วนนี้มันขาดหายไป เท่ากับว่า หากเราเหนื่อยล้า มีปัญหา จากบ้านและที่ทำงานแล้ว เรากลับไม่มีพื้นที่อื่นให้เราหลีกหนี เพื่อผ่อนคลาย แก้ปัญหา ปรึกษาพูดคุยกับใครเลย
แครี่ คูเปอร์ (Cary Cooper) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กร ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า พื้นที่เหล่านั้น คอยเชื่อมความสัมพันธ์บางอย่างที่เรามองไม่เห็น ซึ่งสิ่งนั้น สำคัญกับความโปรดักทีฟและจินตนาการของเราเช่นกัน และสถานที่เหล่านั้นทำให้เราใช้ชีวิตได้สมจริงยิ่งกว่าการทำงานที่บ้านมากนัก สอดคล้องกับที่ คิม เดลาท (Kim DeLaat) นักวิจัยด้านสังคมวิทยาจาก Brock University ที่เชื่อว่าการขาดหายไปของพื้นที่นี้ ส่งผลกับการทำงานโดยตรง (แม้มันจะไม่ใช่พื้นที่สำหรับทำงานอย่าง Second Place) ก็ตาม มันทำให้เราขาดความโปรดักทีฟและสมาธิที่จะจดจ่ออยู่กับงาน เหมือนเราขาดพื้นที่แชร์ไอเดีย พื้นที่พูดคุยระดมความคิดกัน ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือไม่ก็ตาม
และคลื่นปัญหาลูกใหญ่ที่ตามมาตบท้าย คือ การกลับมาเข้าสังคมอีกครั้ง มันจะเหมือนเดิมหรือเปล่า? การสื่อสารผ่านทางข้อความ แม้จะถูกใช้ในทุกวัน วันละหลายร้อยอักษร แต่ก็ไม่เท่ากับการสื่อสารด้วยเสียง แต่การสื่อสารด้วยเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยกับจังหวะที่ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้างของบทสนทนา จากการไม่เห็นอากัปกิริยาของอีกฝ่าย จนปล่อยจังหวะการพูดไม่ถูกเวลานัก แน่นอนว่า อะไรจะสู้การพูดคุยแบบเห็นหน้ากัน พบเจอกันจริงๆ แต่เมื่อเราไม่ได้คุยกันด้วยวิธีนี้มานาน กลับมาอีกครั้งมันจะเป็นยังไงนะ?
ปัญหาเรื่องการสื่อสาร คาดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในการกลับมาเข้าสังคมอีกครั้งของผู้คน ด้วยการสื่อสารวิธีอื่นที่ถูกใช้แทนมานาน การใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป จนทำให้ไม่มีจุดร่วมเดียวกัน บางคนใช้ชีวิตเหมือนไปทำงานปกติ ยังคงแต่งตัวในยูนิฟอร์มทำงาน ตื่นตามเวลาเหมือนกับในช่วงเวลาที่ต้องเผื่อไว้เดินทาง บางคนมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป มีความชอบ มีเวลาชีวิต และรายละเอียดอื่นๆ ที่อาจต่างออกไปจากครั้งสุดท้ายที่พบเจอกัน และนั่นอาจทำให้ใครหลายคน รู้สึกว่าตัวเอง กำลังไม่เข้าพวกกับคนอื่นอยู่ จากพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วงทำงานที่บ้าน อาจทำให้เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่ไม่แพ้ตอนที่ต้องห่างกันในตอนแรก
หลังจากต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับ First Place และ Second Place แบบไม่รู้จบ เมื่อ Third Place กลับมา คาดว่าหลายคนจะรู้สึกชื่นชอบและใฝ่หามันมากขึ้น ดื่มด่ำการออกไปใช้ชีวิต พบเจอผู้คนให้มากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ความแฟนซีในเมืองใหญ่ แต่ยังหมายถึงพื้นที่ละแวกบ้าน อย่างการเดินเล่นแถวบ้าน อุดหนุนร้านค้าในชุมชน มองหาพื้นที่ใหม่ๆ ใกล้ตัวและมีความสุขกับมันมากขึ้น
เราเข้าใจดีว่า Third Place จำต้องหายไปด้วยเหตุผลของการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดโอกาสในการแพร่เชื้อและติดเชื้อ แต่ถ้าหาก Third Place นั้นสามารถกลับมาอีกครั้ง อย่าลืมออกไปใช้ชีวิตและดื่มด่ำกับการพยักหน้าให้กันเล็กน้อย เมื่อมีใครเปิดประตูให้กัน โบกมือทักทายเพื่อนที่เจอกันในบาร์ และไม่ลืมความรู้สึกตอนที่เราขาดมันไป
อ้างอิงข้อมูลจาก