จากนโยบายชั่วคราว เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้าน กลายมาเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ ที่มีทีท่าจะคงอยู่ยาวนานต่อไปตั้งแต่ตอนนี้จนถึงในอนาคต แม้การทำงานที่บ้านจะไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นในยุคที่อินเทอร์เน็ต อยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา ออฟฟิศหลายแห่ง เลือกที่จะลดกฎเกณฑ์ของการเข้าทำงานลง เพื่อให้การทำงานที่บ้านเป็นไปอย่างราบรื่น แต่บางที่กลับมีกฎที่เข้มงวดขึ้น ด้วยปัญหาของความเชื่อใจกัน หากตารางงานที่มีอยู่ในมือ ทำให้เราอึดอัดกับชีวิตที่ไม่สมดุลกับงานเอาเสียเลย หรืออาจมีบางอย่างที่ยังไม่ลงตัว อยากจะได้ความร่วมมือจากออฟฟิศ ช่วยเติมความยืดหยุ่นให้ชีวิตด้วยการพิจารณา Flexible Work Schedule เราจะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี?
เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นอีกวิธีที่หลายออฟฟิศนำมาใช้ ทั้งแบบไม่กำหนดเวลาเข้าออก แบบเลือกช่วงเวลาเอง แบบเพิ่มเวลาทำงานต่อวัน ลดวันทำงาน และอีกเยอะแยะตามแต่จะตกลงกับที่ทำงานได้ ฟังดูเหมือนสปอยล์คนทำงานจังเลย จะสบายเกินไปแล้ว แต่เวลาทำงานแบบยืดหยุ่นนี้ ฝั่งนายจ้างเองก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน ตัวเลขจาก FlexJobs บอกว่า กว่า 77% ของคนทำงาน เลือกที่จะอยู่ต่อ หากพวกเขาได้ทำงานในเวลาที่ยืดหยุ่น 86% บอกว่าพวกเขาเครียดน้อยลง และอีก 21% บอกว่า ยอมสละวันลางานเลยก็ได้
อย่างที่ประเทศฟินแลนด์ เริ่มต้นกันเป็นจริงเป็นจังเมื่อวันแรกของปี พ.ศ. 2563 นี้เลย ที่คนทำงานจะสามารถเลือกวันและเวลาทำงานของตัวเองได้ แต่จำนวนชั่วโมงทำงานยังคงเดิม คือ 40 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ห้ามเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และห้ามเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักร สำหรับใครที่ทำงานที่เดิมมาเกิน 26 สัปดาห์ สามารถขอเวลาทำงานแบบยืดหยุ่นกับนายจ้างได้ตามกฎหมาย
หากเราเองรู้สึกว่ารูปแบบการทำงานที่ทำอยู่ มันไม่ได้เอื้อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่สามารถทำงานออกมาได้ดี เรายังคงหัวหมุนกับงานเรื้อรัง นั่งอยู่ที่เดิมจนเลยเวลา นั่นเป็นสัญญาณว่าเราควรปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของเราด้วย มาดูกันว่าหากเราต้องการขอตารางงานแบบยืดหยุ่น ควรเริ่มต้นอย่างไร
ได้ไม่ได้ ให้ดูที่ Policy ของออฟฟิศ
สำหรับหลายองค์กร เลือกที่จะหยิบยื่นความยื่นหยุ่นให้กับชีวิตของพนักงานด้วยตัวเอง หวังใจว่าจะช่วยประคับประคองกันในช่วงเวลายากลำบากนี้ แต่หลายองค์กรก็มีไม้อ่อนไม้แข็งต่างกัน บางองค์กรก็เลือกจะงัดไม้แข็งออกมาในช่วงเวลานี้ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ในวันที่ไม่สามารถนั่งทำงานแบบเห็นหน้ากันได้ ไม่มีอะไรถูกผิด เป็นแค่เครื่องมือที่เลือกใช้ต่างกันเท่านั้น ก่อนจะขอปรับตารางงานให้มันยืดหยุ่นขึ้น เราก็ต้องประเมินก่อนว่าองค์กรของเรามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
หากองค์กรมีความยืดหยุ่นในระดับมาก ถึงปานกลาง เราสามารถข้ามบรรทัดนี้แล้วไปข้อต่อไปได้เลย แต่ถ้าองค์กรค่อนข้างเข้มงวดกับเรื่องนี้ อาจจะต้องเบรกกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าเราขอสิ่งนี้ไป มันไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างเรากับองค์กร แต่มันหมายถึงนโยบายที่ใช้กับทุกคนอย่างเท่าๆ กันด้วย บริษัทอาจจะยอมหรือไม่ยอมก็ได้
สำรวจหน้าที่ของเราเองและหน้าที่ต่อทีม
อยากจะขยับเวลานั้นให้เข้ามาอีกหน่อย เวลานี้ให้ขยายอีกนิด ลองดูว่าถ้าหากเราขยับแล้วจะส่งผลกับการทำงานของเราแค่ไหน และอย่าลืมผลกระทบต่อการทำงานร่วมกับทีมด้วย บางตำแหน่ง ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่ายหรือต้องอาศัยทีมในการทำงาน หากเรายืดแล้วคนอื่นไม่ได้ยืด นั่นอาจทำให้การทำงานติดขัดเพราะตารางของเรา อย่าลืมสำรวจคิวของเราดีๆ ยืดเท่าที่จะยืดได้ แบบไม่ให้ความสะดวกของเราไปสร้างผลกระทบกับงานของคนอื่น
ตอบตัวเองให้ได้ อธิบายกับเจ้านายให้รู้เรื่อง
อย่าลืมเตรียมตัวไปให้พร้อม อย่าถือความต้องการไปอย่างเดียว แบบไม่มีคำตอบอะไรในหัว มาตอบคำถามกับตัวเองก่อนว่า เราตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือยัง แล้วค่อยนำคำตอบนี้ไปโน้มน้าวบริษัท โดยคำถามหลักๆ ที่ควรตอบให้ได้และอธิบายให้เป็น มีดังนี้
- ทำไมเราถึงต้องการตารางงานแบบยืดหยุ่น และต้องการแบบไหน?
- บริษัทจะได้ประโยชน์อะไร?
- เราจะยังสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านายได้เหมือนเดิมหรือเปล่า?
- เราจะสามารถทำงานให้เสร็จและลุล่วงได้อย่างไร?
- หากเราลองแล้วไม่ได้ผล จะสามารถกลับมาทำงานแบบเดิมได้ไหม?
หรือถ้าเรามีความต้องการในเรื่องไหนเป็นพิเศษ ลองเสริมเข้าไป เพื่อไม่ให้ตกหล่นในรายละเอียดที่เราควรแจ้งให้หัวหน้าได้รู้ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ
เตรียมแผนสำรอง ถ้าต้องทำงานแบบเดิม
แม้ว่าเราจะมาพร้อมกับเหตุผลน่าฟังแค่ไหน ข้อดีเปี่ยมล้นยังไง เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความพอใจของเรากับบริษัท อย่างที่บอกไปว่ามันคือนโยบายขององค์กร หากเป็นบริษัทขนาดเล็ก อาจไม่มีปัญหาอะไรสำหรับเรื่องนี้ แต่เมื่อเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น การขยับจิ๊กซอว์สักชิ้นในนโยบายนั้น ย่อมถูกจับตามองจากพนักงานคนอื่นๆ จึงมีโอกาสทั้งได้และไม่ได้ ถ้าหากไม่ได้ขึ้นมา เราก็ควรมีแผนสำรองไว้ว่าเราจะทำงานต่อไปอย่างไร แบบที่เราจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
จะยืดมากยืดน้อยก็ยังคงต้องอยู่บนข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพนักงานและนายจ้างอยู่ดี หากสุดท้ายแล้ว เป้าหมายของการทำงาน คือ การได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการมานั่งเฝ้าว่าใครทำอะไรไปเท่าไหร่ วิธียืดหยุ่นเวลาทำงานแบบนี้ก็เข้าท่าอยู่เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก