นึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์เที่ยวกับครอบครัวแล้วได้เจอกับเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่สระว่ายน้ำ แล้วกลายมาเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว (แม้จะเป็นแค่วันเดียวก็ตาม) การหาเพื่อนมันง่ายแค่นั้นเอง แต่ทำไมเมื่อเราโตขึ้นแล้วการหาเพื่อนถึงได้เป็นเรื่องยากจนท้อใจได้ขนาดนี้นะ
เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่ได้เข้าสังคมมานาน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่มีสถานการณ์โรคระบาดจนทำให้เราขาดการติดต่อกับสังคมไป ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ไปเจอ ไปเล่นกันเหมือนเคย หรือจะเป็นชาวออฟฟิศที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เม้ามอยกับเพื่อนร่วมงานในช่วงพักกลางวัน แถมวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไม่ได้ออกไปเที่ยว ไม่ได้เจอผู้คนใหม่ๆ เลย
ถึงแม้เราจะอยู่ในโลกที่สามารถติดต่อกันได้ด้วยปลายนิ้วแล้วก็จริง แต่ JR Ilagan นักจิตวิทยาคลินิกในฟิลิปปินส์ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า การพูดคุยผ่าน Zoom หรือการส่งข้อความกันผ่าน Messenger ไม่สามารถแทนที่การมีปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตจริงได้เลย ทั้งการสัมผัสร่างกาย การอ่านภาษากายและการอ่านสายตา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ทั้งสิ้น
ทักษะการเข้าสังคมในชีวิตจริง ก็นับว่าเป็นทักษะอย่างหนึ่ง และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นทักษะ ถ้าไม่ได้ใช้ก็อาจจะขึ้นสนิมหรือรู้สึกฝืดไปบ้าง เหมือนกับภาษานั่นแหละ ถ้าเราไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน เราก็อาจพูดภาษานั้นออกมาไม่ได้ดั่งใจคิด
เริ่มจากคนที่รู้จักกันก่อน
ถ้าการพุ่งไปหาเพื่อนใหม่ในทันทีที่รู้สึกเหงานั้นฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัวเกินไป วิธีเริ่มต้นที่คนอยู่อย่างเหงาๆ มานานสามารถทำได้แบบใจไม่สั่นมากนัก คือการดำดิ่งลงไปในรายชื่อเพื่อนของเรา ใครกันนะที่ไม่ได้คุยกันนานแล้ว หรือเพื่อนที่เราดองไลน์เอาไว้นานเกินไป (และหวังว่าเขาจะไม่โกรธ) ลองกลับไปติดต่อและอัพเดตชีวิตกับพวกเขาดูอีกครั้ง หรือชวนออกไปใช้เวลาร่วมกันก็ดี
อย่าลืมว่าความสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ารู้สึกว่าต่อกันติดแล้วก็อย่าเพิ่งรู้สึกสบายใจและหนีหายไปไหน (กลับมาอีกทีตอนที่รู้สึกเหงา แบบนี้ไม่เอานะ) หมั่นพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเจอมา ความสม่ำเสมอจะทำให้เราขยับจากเพื่อนเก่ากลายมาเป็นเพื่อน และนำไปสู่เพื่อนสนิทได้ไม่ยาก
ลองเปิดใจให้อะไรใหม่ๆ
ถ้าเริ่มคุ้นเคยกับการพูดคุยกับผู้คนแล้ว เราก็อยากให้ลองเปิดใจรับเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาบ้าง แต่เราก็เข้าใจว่าการจะหาคนที่มีความสนใจเหมือนกันนั้นยาก สำหรับบางคน เมื่อหันมองไปในกลุ่มเพื่อนร่วมงานก็พบว่าสิ่งเดียวที่เรามีเหมือนกันคือ เราทำงานอยู่ในตึกเดียวกัน นอกนั้นเราก็ไม่มีอะไรที่เหมือนกันอีกเลย
การจะหาคนที่มีความสนใจเหมือนกันนั้นอาจต้องลองมองหากลุ่มกิจกรรมที่เราชอบ ถ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็อาจจะลองหาชมรมหนังสือที่มีกิจกรรมแลกหนังสือกันอ่านดู อย่างน้อยเราก็มั่นใจได้แล้วว่าคนในชมรมหนังสือต้องชอบอ่านหนังสือเหมือนเราแน่นอน หรือถ้ามีกิจกรรมอื่นที่ชอบ การลองเอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกับเราก็ทำให้รู้จักคนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้นมานักต่อนักคือ การออกกำลังกาย ถ้าเราชอบออกกำลังกาย แต่ยังไม่เคยออกไปไหนหรือคุยกับใครเลย เริ่มจากการลองออกไปวิ่งที่สวน เราจะได้พบผู้คนมากหน้าหลายตา และเรามีโอกาสพบกับพวกเขาอีกหากมาอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะลองเข้าคลาสอะไรบางอย่างก็ช่วยให้ได้พอเจอกับผู้คนที่มีความสนใจเหมือนกันได้
มีการทดลองหนึ่ง ที่แอบส่งคนแปลกหน้าคนหนึ่งเข้าไปในห้องเรียน โดยคนแปลกหน้าคนนี้จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย เพียงแค่เข้ามานั่งเรียนด้วย และเลิกเรียนก็เดินออกจากห้องเท่านั้น เมื่อจบการทดลองก็พบว่า นักเรียนในชั้นเรียนบอกว่าพวกเขารู้สึกชอบคนแปลกหน้าที่เข้ามาในห้องเรียนของพวกเขา โดยคนแปลกหน้าที่พวกเขาชื่นชอบ คือคนที่มานั่งเรียนด้วยในห้องบ่อยที่สุด
นั่นหมายความว่าการปรากฏในที่ใดที่หนึ่งอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย ก็สามารถสร้างความชื่นชอบให้กับตัวเองได้ ดังนั้นการที่จะเข้าไปทักทายหรือเริ่มพูดคุยก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะทำใครตกใจ ถ้าเราเข้าไปทักทายอย่างสุภาพและถูกวิธี
ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า
อย่าเร่งรีบจนเกินไป การสร้างเพื่อนใหม่ได้นั้นต้องใช้เวลา ใช่ว่าเราจะสามารถเป็นเพื่อนสนิทกับใครได้ภายในไม่กี่วัน จากงานศึกษา พบว่าการที่เราจะขยับสถานะจากคนรู้จักไปเป็นเพื่อนกับใครสักคนนั้น เราจะต้องใช้เวลาร่วมกันประมาณ 40-60 ชั่วโมง และเมื่อใช้เวลาร่วมกันถึง 300 ชั่วโมงก็มีโอกาสที่จะขยับไปเป็นเพื่อนสนิทได้
เมื่อได้เริ่มใช้เวลากับใครสักคน สิ่งสำคัญที่ตามมาก็คือการรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ ลองถามตัวเองว่านี่ใช่เพื่อนในแบบที่เราต้องการหรือเปล่า เรารู้สึกปลอดภัย รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับเขาหรือเปล่า ถ้าได้เจอเพื่อนอย่างที่เราตามหาแล้ว ก็รักษาเขาไว้ให้ดี
แต่การจะเป็นเพื่อนกันนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องสนุกเท่านั้น บางครั้งเราก็ต้องรับฟังปัญหาของกันและกัน อยู่เคียงข้างกันในวันที่ทุกข์ด้วย บางคนสามารถเป็นเพื่อนที่ดีได้สำหรับบางกิจกรรมเท่านั้น เช่น บางคนดื่มด้วยแล้วรู้สึกสนุก ไม่เหงา แต่ไม่ใช่คนที่เรารู้สึกสบายใจที่จะคุยด้วย แต่ก็ต้องนึกไว้อยู่เสมอว่า ไม่มีเพื่อนที่เพอร์เฟ็กต์ไปเสียทุกอย่างหรอก บางครั้งเราก็ต้องยอมรับในข้อเสียของกันและกันบ้าง
ดังนั้นการมีเพื่อนที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีทั้งคนที่เราจะชวนไปกินหมูกระทะได้แบบไม่เคยปฏิเสธเลย คนที่ชวนไปปาร์ตี้ทีไรก็สนุกสุดเหวี่ยง หรือคนที่คอยปลอบกันและกันอยู่เสมอในวันที่ก้าวเดินต่อไม่ไหว
ถ้าเราให้ใจกับใครแล้วเขาสัมผัสมันได้ เขาจะให้ใจเรากลับมาเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan