อาการโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) สำหรับคนทั่วไปมักมีเพียงภาพจำติดตาของคนรักสะอาดจัดหรือเจ้าระเบียบมากๆ จนถูกเหมารวมที่กลายเป็น stereotype ไปโดยปริยาย แต่แท้จริงแล้วผู้ป่วย OCD ต้องเผชิญกับความวิตกกังวลที่เหมือนมีพายุสลาตันพัดโบกความคิดให้กระเจิดกระเจิงจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ยิ่งจิตวิทยาทำความเข้าใจกับ OCD มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบมิติที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น และพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ
คุณอาจนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะคิดว่าไฟไหม้ได้ทุกวินาที เดินไปในซอยที่ไม่คุ้นเคยก็หวั่นใจว่าจะถูกฆ่าชิงทรัพย์ บางวันก็ปวดหัวรวดร้าวเหมือนมีนกเป็นพันๆ ตัวรุมจิกทึ้งสมอง ความคิดสับสนกลับกลอกไปมา เดินผ่านสะพานก็คิดวูบขึ้นมาว่าอยากจะลองกระโดด อุ้มเด็กทารกแบเบาะอยู่ดีๆ ดันอยากโยนลงพื้นว่าจะเป็นอย่างไร เข้าวัดเข้าวาก็อยากจะตะโกนด่าคำผรุสวาทกลางอุโบสถขึ้นมาดังๆ
อย่าตกใจไป ใครๆ ก็เผลอคิดเช่นนี้ได้ทุกคน
แม้ทุกอย่างจะเป็นเพียง ‘ความคิด’ ที่คุณไม่เคยลงมือทำจริงๆ แต่การที่คุณรู้สึกถึงแรงกระตุ้นจากเรื่องเลวร้าย สร้างความหวั่นวิตกต่อการใช้ชีวิต ก็เหมือนคุณพยายามต่อต้านพายุลมหมุนในมโนสำนึกที่โบกอัดเป็นระยะๆ โดยยึดยอดหญ้าในมือไว้เพียงต้นเดียว
นักจิตวิทยาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘ความคิดแทรกซอน’ (Intrusive thought) ที่คุณไม่ได้ตั้งใจและไม่พอใจที่ตัวเองต้องคิดไปเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างธรรมชาติ เพราะมีคนถึง 93% ยอมรับว่าตัวเองมีความคิดอันว้าวุ่นนี้ในห้วงความคิด จิตแพทย์ Paul Salkovskis จากมหาวิทยาลัย Bath เคยกล่าวว่า ความคิดแทรกซ้อนเกิดจากสมองพยายามจัดการกับความไม่แน่นอนของชีวิต อันเป็นกลไกหนึ่งที่จำเป็นต่อการวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต
ความคิดอันระแวดระวังเหล่านี้บ้างก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่จำนวนมากก็เป็นแนวคิดแย่ๆ ซึ่งความคิดแทรกซ้อนทำให้เราพยายามหาทางออกให้กับชีวิต (และมีชีวิต) หากบรรพบุรุษของมนุษย์เผชิญหน้ากับเสือ พวกเขาอาจคิดวิ่งหนีหรือพยายามตีซี้เข้าไปลูบหัว (และอาจไม่รอด) สมองของเราจะทำการชั่งความคิดที่จำเป็นที่สุดต่อการมีชีวิตรอด ณ จังหวะนั้น ซึ่งมันล้วนมีประโยชน์ แปลก พิลึกกึกกือ หรือน่าหวาดกลัวได้ในเวลาเดียวกัน แต่คนทั่วไปสามารถปัดกวาดความคิดว้าวุ่นใจเหล่านี้ได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่กับคนที่มีอาการโรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive Compulsive Disorder (OCD) พวกเขาติดกับดักความคิดที่ยากจะสลัดออก จนถึงขั้นหวาดกลัวตัวเอง และตั้งคำถามว่า เราหรือเปล่าที่เป็นมนุษย์ผู้ชั่วช้า?
5 ความเชื่อผิดๆ ของอาการ OCD
ความเข้าใจของคนทั่วไปต่ออาการ OCD อันเป็นภาพจำที่สุด คือ คนที่เจ้าระเบียบมากๆ จัดวางทุกอย่างบนโต๊ะทำงานอย่างเรียบร้อย ดินสอต้องเรียงสี สมุดหนังสือหันหน้าไปทางเดียวกัน หรือเป็นพวกรักสะอาด ล้างมือบ่อยๆ พกน้ำยาฆ่าเชื้อติดตัว แต่พฤติกรรมที่คนทั่วไปมักยากจะสัมผัส คือภาวะว้าวุ่นใจที่ซับซ้อนและลึกซึ้งกว่านั้นมาก เมื่อผู้ป่วย OCD ต้องเผชิญกับความคิดแทรกซ้อน พวกเขาล้วนสงสัยเคลือบแคลงกับความคิดตัวเองและการตัดสินใจของตัวเอง หวาดกลัวพฤติกรรมว่า สักวันอาจลงมือทำอะไรลงไปในสิ่งที่ไม่ปรารถนาซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยต่อตัวเองและคนรอบตัว
- คนที่ล้างมือบ่อยๆ เป็น OCD หรือเปล่า?
แม้จะเป็นภาพจำของ OCD ที่ผู้คนคุ้นเคยมากที่สุด แต่การล้างมือบ่อยๆ เป็นเพียงหนึ่งในลักษณะอาการที่แสดงออกเพียง 1 ใน 4 ของการดำเนินโรคเท่านั้น ใกล้เคียงกับพฤติกรรมตรวจเช็กสิ่งของ ลูกบิด แม่กุญแจ กลอนประตู ซึ่งพบในสัดส่วนร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่เป็นโรค OCD
- เจ้าระเบียบมากเป็น OCD หรือเปล่า?
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ได้อยู่ในกรอบของอาการโรค OCD เนื่องจาก OCD เป็นกลุ่มอาการโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) การที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมนี้ก็เพื่อหักล้างความคิดย้ำในทางลบ หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ตามที่ตนหวั่นเกรง การแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยมีเมตาโบลิซึมของสมองเพิ่มขึ้นในบริเวณ orbitofrontal cortex, cingulate cortex และ head of caudate nucleus หรือในด้านระบบประสาทสื่อนำประสาทเชื่อว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบ Serotonin หรือหากมองในด้านทฤษฎีการเรียนรู้ เชื่อว่าการเกิดภาวะ ‘เงื่อนไข’ ที่มีบทบาทสำคัญในการเกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ
- ทำอะไรซ้ำๆ เป็น OCD หรือเปล่า?
โรค OCD ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่การทำอะไรซ้ำๆ เพราะอาการ OCD อาจไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นประจักษ์ (หรือตัวผู้ป่วยก็พยายามกดไว้ไม่ให้ผู้อื่นเห็น) เช่นการสวดมนต์ นับเลข หรือหลีกเลี่ยงที่จะไปอยู่ในที่กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล ผู้ป่วยพยายามฝืนสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มักผืนไม่ได้ จนเสียเวลาไปกับความคิดหรือพฤติกรรมมากเกินกว่าวันละ 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน
- มีประโยชน์บ้างไหมของการเป็น OCD?
ไม่มีเรื่องน่ายินดีของอาการเจ็บป่วยทางจิตจากความวิตกกังวล องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้โรค OCD เป็น 1 ใน 10 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะทำให้คุณภาพชีวิตประชากรถดถอย พบว่าสัดส่วนผู้ใหญ่ 40 คนมีความเสี่ยง 1 คน และเด็ก100 คนมีความเสี่ยง 1 คน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วย OCD มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) ร่วมด้วย
- OCD มักเริ่มเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปี?
จากหลักฐานพบว่า เด็กอายุเพียง 4 ปีก็มีความเสี่ยงต่อโรค OCD แล้ว ในช่วงวัยเด็กอาจทำให้การวินิจฉัยออกจะยุ่งยากอยู่สักหน่อย เนื่องจากเด็กๆ มีพฤติกรรมทำซ้ำในธรรมชาติการเรียนรู้อยู่แล้ว อาการโรค OCD จึงอาจถูกอำพรางจากผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามยังไม่มีแบบทดสอบที่สมบูรณ์แบบในการวินิจฉัย OCD แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงมักใช้การสัมภาษณ์โดยใช้ Yale-Brown Obsessive Compulsive Scale (Y-BOCS) ในการวัดความเสี่ยงของโรค โรค OCD จึงมักถูกเข้าใจผิด และถูกเหมารวมว่าความหมกมุ่น obsessed เชื่อมโยงกับอาการของโรคโดยซะหมด
โรคแห่งความสงสัยนี้ค่อยๆ ลดทอนการรับผู้ตัวบุคคล ทำให้ทุกกิจกรรมอาจใช้เวลามากเกินความจำเป็น การเดินในที่ไม่คุ้นเคยเพียง 1 ชั่วโมงอาจกลืนกินเวลามากกว่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยมักติดพันกับความคิดที่แก้ไม่ตก บางรายมีอาการปวดหัวเฉียบพลันและรู้สึกซึมเศร้า ซึ่งการสำแดงของโรคมีความหลากหลาย แต่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ขั้นแรกมักมีภาพหรือความคิดแล่นเข้ามาชั่ววูบ ซึ่งผู้มีอาการ OCD มักยึดจับกับความคิดที่ไม่สบายใจอย่างรวดเร็ว เช่น ความตาย เชื้อโรค การปนเปื้อน การดูหมิ่น ความเกลียดชัง หรือความต้องการทางเพศที่ต้องห้าม หรือความสัมพันธ์ที่ยึดติดผูกมัด ความคิดเหล่านี้ทำให้รู้สึกวิตกกังวล และต้องทำอะไรสักอย่างที่ต้องกดทับอย่างเร่งด่วน (compulsive) ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือทันที นับเลข สวดมนต์ซึ่งแสดงออกทั้งเชิงกายภาพที่ชัดเจน หรือกดทับภายในไม่ให้ปรากฏโดยไม่มีใครเห็น ซึ่งยุติได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น ความต้องการกดทับอาจหวนกลับมาอีกเป็นลูป วนไปเรื่อยๆ และมีแต่จะทำให้ผู้ป่วยยิ่งทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น จึงมีสถิติพบว่า ผู้ป่วย OCD มีความคิดพยายามฆ่าตัวตายที่อาจมากถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
มีหวังเสมอ แม้ในวันที่แย่ที่สุด
แม้จะไม่มีเครื่องมือในการรักษาที่แม่นยำที่สุดต่อโรค OCD แต่เป็นไปได้ที่จะทุเลาเพื่อลดความวิตกกังวลที่ครอบงำด้านงดงามของชีวิต การรักษา OCD มักล้มเหลวหากเอาแต่พร่ำบอกให้ผู้ป่วยหยุดทำหรือหยุดคิดซ้ำๆ “เดี๋ยวนี้” หรือไล่ไปทำสมาธิ เข้าวัดเข้าวาที่อาจทำให้ทุกอย่างเลวร้ายกว่าเดิม การรักษาจึงไม่ควรใจร้อน อาการของผู้ป่วย OCD มักค่อยๆ ดีขึ้น อาจไม่เร็วอย่างที่คิด แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะสังเกตว่าความกลัดกลุ้มและกังวลใจลดน้อยลง แพทย์อาจช่วยเหลือด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด (cognitive-behavioral therapy) ที่รู้จักกันในชื่อ CBT บวกกับการให้ยาลดความวิตกกังวล
ตราบใดที่มีม่านหมอก ก็ยังมีโอกาสเห็นแสงทะลุผ่าน อาจใช้เวลาผ่านการเรียนรู้สักหน่อยเพื่อค่อยๆควบคุมความคิดให้กลับมาเป็นของตัวเอง แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกเก็บเงียบ และเผชิญหน้ากับพายุโดยลำพังหรือหนีหายไปจากสังคม โดยไม่มีใครรู้ว่าจะไปเจอทางตันเอาตอนไหน แต่โปรดรู้ไว้ว่าไม่มีหรอกความคิดชั่วช้าที่จะมาหักล้างความงดงามของคุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Podcast with Professor Paul Salkovskis
คู่มือการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวล นพ.มาโนช หล่อตระกูล, นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์
Institute of Psychiatry, Psychology & Neuroscience