พอบอกว่าชวนมาจดโน้ตกัน อย่าเพิ่งคิดว่าจะเป็นแค่การจดเตือนความจำ จดเรื่องที่เราหลงลืม เหมือนจดเลคเชอร์แบบจำไม่หมดจดดีกว่าจำ เพราะการจดโน้ตไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่การจดเพื่อความจำเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเราในด้านอื่นๆ ในชีวิตได้ด้วย
อย่างการพัฒนาตัวเองที่เริ่มต้นจากการจดโน้ตนี่แหละ เราเลยอยากมาแนะนำไอเดียการจดเพื่อพัฒนาตัวเองหลากหลายเทคนิค แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแต่ละแบบนั้น อยากแนะนำให้จดด้วยมือจะดีกว่า
ในเมื่อมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมายอย่างแล็ปท็อป สมาร์ตโฟน ทำไมเราต้องจดด้วยมือด้วยนะ? นั่นเพราะหากเราจดด้วยมือ แน่นอนว่ามันช้ากว่า ทำให้เราตกขบวนจนจดตามความคิดทุกคำไม่ได้ แต่นี่แหละ การที่เราจดตามทั้งหมดไม่ได้ มันทำให้เราประมวลผลว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ
เมื่อเราส่งสัญญาณไปที่สมองด้วยการบอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้สำคัญนะ สมองอันชาญฉลาดจะตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกจากความทรงจำของเราไป ตามที่หนังสือ How We Learn: The Surprising Truth About When, Where, and Why It Happens บอกไว้นั่นเอง
แต่สุดท้ายแล้วก็อยากให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของทุกคนเป็นหลัก ใครสะดวกจะจดใส่อะไร ชอบแบบไหน ลองทำแบบนั้น อย่าให้การพัฒนาตัวเองกลายเป็นการกดดันตัวเองให้ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำตั้งแต่แรกจะดีกว่า
มาดูกันเถอะว่าเราจะพัฒนาตัวเองจากการจดโน้ตได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?
Productivity Planning
ตั้งใจทำอะไรจดไว้แบบนั้น
หากเป็นคนพลังล้นเหลือ ไอเดียล้นหลามขอแนะนำเทคนิคนี้เลย เริ่มต้นวันมาด้วยการมองสิ่งที่เราจะโฟกัสในวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความบันเทิง ความผ่อนคลาย ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องพุ่งเป้าไปที่การทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น อยู่ที่ว่าเราได้ทำสิ่งที่เราอยากทำหรือเปล่าต่างหาก
.
อยากจะตั้งเป้าว่าวันนี้อยากโฟกัสที่การฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย อยากเลิกงานแล้วได้ไปกินขนมร้านโปรด กลับบ้านไวเพื่อมีเวลาให้กับเพื่อนรักสี่ขาที่รอที่บ้านมากขึ้น อะไรก็ได้ทั้งนั้น จดไว้สัก 3-5 สิ่งที่จะโฟกัสในวันนั้นในช่วงเริ่มต้นของวัน แล้วอย่าลืมลงมือทำแต่ละอันด้วยล่ะ
พอหมดวันแล้วมาติ๊กดูว่า วันนี้เราได้ทำสิ่งที่ลิสต์ไว้ได้กี่อันกันนะ ได้ครบหมดเลยหรือเปล่า เพื่อเป็นพลังให้ตัวเองตอนจบวัน โดยเฉพาะวันเหนื่อยๆ หรือเจอเรื่องแย่ๆ การได้ทำแค่ 1-2 อย่างที่อยากทำก็ช่วยให้วันนั้นไม่แย่ไปเสียหมดแล้ว
หรือจะในวันที่รู้สึกว่าเรามีพลังจังเลย จนเราทำได้ครบทุกข้อ ยิ่งเป็นการให้กำลังใจตัวเองยิ่งขึ้นว่าเราทำทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ด้วยนะ หรือสุดท้ายแล้วหากไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเลย อย่างน้อยเราก็ยังดีที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร การเลือกสิ่งที่จะโฟกัสในแต่ละวันจึงเป็นการเริ่มต้นวันได้ดีอีกวิธีเลยล่ะ
Capture of The Day
วันนี้ของเราเป็นไงมั่งนะ
มาสะท้อนเรื่องราวของเราในแต่ละวัน ให้เราได้เห็นภาพรวมของวันและเห็นตัวเองว่าต้องเจอกับอะไร ด้วยการพูดคุยกับตัวเองแล้วสะท้อนออกมาเป็นถ้อยคำว่าวันนี้เราได้เจอกับอะไรมาบ้าง ทำไมiถึงเป็นแบบนั้น เรารู้สึกอย่างไร เราอยากทำอะไรกับมัน
อาจไม่ต้องยาวเป็นดั่งไดอารี่หนึ่งหน้ากระดาษ เพียงแค่เลือกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่ชัดเจน ส่งผลกับตัวเรามาสัก 3-5 อย่าง แล้วจดลงไปเป็นประโยคสั้นๆ ก็พอ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องรอถึงตอนหมดวันจึงจะเขียนได้ ในช่วงระหว่างวัน ตอนที่เกิดความรู้สึกนั้นใหม่ๆ ก็สามารถโน้ตไว้สั้นๆ ได้เลย
เพื่อเก็บความรู้สึกตอนนั้นไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะหลายครั้งที่การจดบันทึกในตอนหมดวัน อาจทำให้เราตกหล่นบางเรื่อง บางความรู้สึกไป เราอาจลืมไปแล้วว่าตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นหรือเรารู้สึกอย่างไรกันแน่
และสุดท้าย เมื่อทุกอย่างถูกบันทึกไว้แล้ว เรามาทบทวนตัวเองในแต่ละวัน เพื่อให้รู้ว่าวันนี้เราทำอะไรได้ดีแล้วบ้าง เราทำอะไรพลาดไป เราจะแก้ไขมันอย่างไรในวันต่อไป เพื่อเป็นการยอมรับตัวเองว่าเราจะมีทั้งวันที่ดีและไม่ดีอยู่บ้าง อย่างน้อยจากโน้ตในวันนี้เราก็รู้แล้วว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในวันอื่นๆ
ปัดกวาด Mental Garden
เพื่อปัดเป่าปัญหาในใจ
ไม่ว่าสวนจะสวยแค่ไหน เราก็จะเจอวัชพืชอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในแต่ละวันเราเจอทั้งเรื่องดีๆ ชวนให้สดใสและเรื่องหนักใจที่ทำให้หม่นหมอง หากวันไหนเจอเรื่องหนักๆ มามากเกินไป จนรู้สึกว่ามันเป็นปัญหากับจิตใจของเราแล้ว (สังเกตได้จากความเครียด กังวล นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร) อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสะสมอยู่ในนั้นแล้วบั่นทอนเราเรื่อยไป มาสะสางปัญหาเหล่านั้นด้วยปลายปากกาของเราใน 4 ขั้นตอนกันดีกว่า
- สิ่งไหนที่เป็นปัญหา? อาจเป็นได้ทั้ง คน งาน สิ่งของ ความเจ็บป่วย
- เป็นปัญหาอย่างไร? กล้าเผชิญความจริงในเรื่องนี้ แม้ว่าเราอาจจะไม่อยากพูดถึงมัน ว่ามันเป็นปัญหากับเรายังไง
- เล่าถึงปัญหา ในข้อนี้ให้เราบรรยายออกมาให้หมดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เรารู้สึกอย่างไร ต้องการทำแบบไหน กังวลกับมันแค่ไหน หรืออะไรตามที่อยู่ในหัวของเรา ความรู้สึกของเรา
- แก้ได้อย่างไรบ้าง? อาจเป็นหลายๆ วิธีที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะแก้จากเราหรืออีกฝ่ายก็ตาม เขียนมันไว้ให้ครอบคลุมทุกทางออกที่เราพอจะมองเห็น ไม่ว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เราได้กลับมาสำรวจความรู้สึกตัวเองว่าอะไรที่กำลังทำให้เรากังวลใจอยู่ มันทำอะไรกับเราบ้าง ช่วยนำทางท่ามกลางอารมณ์ขุ่นมัวว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาอยู่ที่อะไร สุดท้าย เมื่อเราได้เห็นว่ามีทางออกอีกเยอะแยะมากสำหรับเรื่องนี้อาจช่วยให้เราใจชื้นมากขึ้น อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ไว้แล้ว
5 –Minute Elevation
ให้เรื่องราวดีๆ คอยปลอบประโลม
หากใครไม่สะดวกที่จะเริ่มต้นจดกันตั้งแต่เริ่มวัน อาจด้วยเวลา ความเร่งรีบ ใดใดก็ตาม การจดหลังเลิกงานหรือในช่วงท้ายของวันก็ใช้ได้เช่นกัน ใช้เวลาเพียง 5 นาทีในช่วงท้ายของวัน หยิบปากกาและกระดาษมาบันทึกว่า วันนี้เราได้เจอเรื่องอะไรดีๆ มาบ้าง โดยเป็นการตอบคำถาม 3 ข้อนี้
- สิ่งที่เรายินดีกับมัน ดีใจที่มันเกิดขึ้นมากที่สุด
- สิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้
- สิ่งดีๆ ที่เราได้ทำลงไปในวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
เพื่อให้เห็นว่าแต่ละวันของเรานั้นช่างมีความสุขขนาดไหน แม้เราอาจไม่ได้รู้สึกมากมายในตอนนั้น แต่สุดท้ายหากมันยังคงอยู่ในใจของเรา และทำให้เราประทับใจมากพอที่จะจำได้มาจนถึงตอนที่กำลังจดอยู่นี้ มันก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เราควรเก็บมันเอาไว้เพื่อเป็นพลังบวกให้กับเราทั้งในวันนี้และวันต่อๆ ไป
หากยังไม่เห็นภาพว่ามันดียังไง ลองมาดูตัวอย่างจาก Tim Ferriss ได้ที่นี่