ช่วงสิ้นปีแบบนี้เชื่อว่าบนหน้าฟีดของใครต่อใครมักจะเต็มไปด้วยคอนเทนท์ ‘รีวิวปีนี้/ ตัวเอง/ ชีวิต’ ให้อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว
และเมื่อนึกถึงคำว่ารีวิวก็นึกถึงคำว่า ‘ทบทวน’ และ ‘ตรวจทาน’ ขึ้นมาพร้อมกันๆ ซึ่งกลุ่มคนที่มักจะทำสิ่งนี้อยู่เป็นประจำคือ นักปรัชญาทั้งหลาย เราจึงไปขอเคล็ดลับการรีวิว/ ทบทวน/ ตรวจทาน ตัวเองจากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านปรัชญา 4 คนถึงคำถาม 3 ข้อว่า พวกเขามีวิธีการรีวิวตัวเองอย่างไร? อะไรคือความสำคัญของการรีวิวหรือทบทวนตัวเอง? และปีที่ดี (หรือชีวิตที่ดี) ของพวกเขาเป็นอย่างไร
สำหรับ 4 คนที่เราชวนมาคุยประกอบด้วย สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ รางวัลชมเชย โอลิมปิกปรัชญา 2022 ลองมาดูกันว่าพวกเขามีวิธีคิดและมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง
รีวิวอารมณ์และตัวตนผ่านไดอารี – มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์
เริ่มต้นกันด้วย มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ หรือแพร นักปรัชญารุ่นใหม่ที่เพิ่งได้รับรางวัลชมเชยจาการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกสเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เธอเล่าให้ฟังว่าปกติเธอไม่ได้ทำรีวิวประจำปี แต่มักจะเลือกวิธีการจดไดอารีในทุกวันมากกว่า
“ปกติแพรจะเขียนไดอารี่ทุกวันอยู่แล้ว เราคิดว่าการที่เขียนลงไปในหนังสือทุกวัน มันทำให้เรารู้ว่าเราทำอะไรไปบ้าง รู้สึกยังไงในแต่ละวัน แล้ววันนึงที่กลับมาอ่านก็จะเข้าใจว่าเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง” แพรกล่าว
เธอยกนิทานเชิงปรัชญาซึ่งมีเรื่องเล่าว่า สิงโตตัวนึงได้ออกอาละวาดไปทั่วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจนต้องเตรียมอาวุธมาสู้กับมัน แต่มีเด็กผู้ชายคนนึงที่มองต่าง เขาเข้าไปดึงหนามที่มือของสิงโตออกทำให้สิงโตไม่อาละวาดอีกต่อไป เธอเปรียบว่าบางครั้งเราทุกคนก็เหมือนสิงโตที่ไม่รู้ว่ามีหนามตำอยู่ ไม่รู้ว่าความกลัวของตัวเองคืออะไร และเด็กผู้ชายในเรื่องก็อาจเป็นตัวเราเองหรือคนรอบตัว ที่มองเห็นหนามและมาช่วยดึงมันออกให้เรา
การจดไดอารีทุกวันเลยสำคัญมาก เพราะมันคล้ายเราค่อยๆ เอาหนามที่ตำออกผ่านไดอารี และเมื่อออกมาได้ มันจะเหมือนการปลดล็อกตัวเราเอง ซึ่งเมื่อมองกลับไปแล้วจะเห็นว่าเราเดินข้ามสิ่งที่เคยกลัว ไม่ยอมรับ หรือมองไม่เห็นมาได้แล้ว
เธอยกคำสอนของนักปรัชญาจีน ‘เล่าจื๊อ’ ขึ้นมาว่า การรู้จักตัวเองคือความรู้ที่สูงที่สุด เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าเราเก่งอะไร ขาดอะไร และอะไรคือสิ่งที่ควรพัฒนา “ถ้าไม่รู้ในจุดนี้มันยากที่จะโตขึ้น และยากที่จะยอมรับในสิ่งที่ด้อยกว่าในตัวเรา” แพรกล่าว
สำหรับแพรแล้วปีที่ดีหรือชีวิตที่ดีประกอบไปด้วย 2 ข้อคือ ได้ปฏิบัติต่อสิ่งที่ผ่านมาดีที่สุดหรือยัง และได้ทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือยัง
เธอขยายความว่าชีวิตของคนวัย 18 ปีเช่นเธอมีหมวกหลายใบต้องสวม ทั้งลูกสาว, หลานสาว, นักเรียน แล้วหมวกทุกใบนั้นเราได้ทำดีที่สุดหรือยัง “ถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด มันคือเราทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดหรือยัง ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว วันข้างหน้ามองกลับมาเราจะไม่เสียดาย ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นเราจะยอมรับมัน เพราะเราเป็นคนดีที่สุดเท่าที่เป็นได้แล้ว”
“อีกข้อคือสิ่งที่เรารู้หลังจากเขียนไดอารี่ทุกวัน แพรรู้สึกว่าการให้คนอื่นเป็นความรู้สึกที่แตกต่างมากจากการให้อะไรกับตัวเอง การซื้อของให้ตัวเองเป็นความสุขแบบนึง แต่การทำอะไรให้คนอื่น มันคือความรู้สึกของเขาที่ได้มอบให้แก่เรา สำหรับแพรมันเป็นความรู้สึกที่มีค่ามากกว่าเงินทอง มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มตัวหนู”
พึงพอใจไหม? – ธีรภัทร รื่นศิริ
สำหรับอาจารย์วิน หรือธีรภัทร เขาเริ่มด้วยการอธิบายว่าตัวเขาเองไม่ได้รีวิวชีวิตเป็นรายปี แต่รีวิวบ่อยกว่านั้น ที่สำคัญหลายครั้งก็ ‘พรีวิว’ ก่อนเริ่มต้นอะไรใหม่เหมือนกัน เช่น ในการแปลหนังสือ เขาจะลองแปลดูก่อนว่าชอบมันจริงไหม แล้วเมื่อแปลเสร็จแล้วมีคำถามมาถึงตัวเองว่า แปลไปทำไม? จะอยากตอบคำถามเช่นนั้นไหม
สำหรับวิธีการรีวิวตัวเองของธีรภัทรมีเพียงคำถามเดียวคือเมื่อกลับมาคิดถึงมันแล้ว “พึงพอใจไหม?” ซึ่งเขาขยายความว่ามันประกอบด้วย 2 ส่วนของคำถามดังกล่าวคือคำว่า พึง (สมควร) และพอใจ
ในแง่ความพอใจ ไม่แปลกที่เราจะพอใจกับเสื้อที่สวยหรืออาหารที่อร่อย แต่ความพอใจนั้นจะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเรื่องอื่นด้วยไหม เช่น เมื่อถึงวันเกิดของเราแล้วคนที่รักมาหา เราจำเป็นต้องไปกินอาหารอร่อยเพื่อให้ ‘พอใจ’ ไหม?
“คำถามคือสมมติว่า ผมได้กินอาหารอร่อยในวันเกิดจริงๆ ได้พอใจจริงๆ นั่นเป็นความพอใจที่พึงหรือไม่? ไม่เลยเพราะผมลดตัวไปเป็นทาสความฟุ่มเฟือย (ในฐานะความจำเป็น) แทนที่จะให้ความฟุ่มเฟือยรับใช้ผม แล้วถ้าผมไม่ได้ล่ะ ผมยังสมควรพอใจไหมที่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนที่ผมรักไหม ผมคิดว่าควร” ธีรภัทรขยายความต่อว่า ตรงนี้ต้องพิจารณา ‘ความเหมาะสม’ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน
ในมุมของธีรภัทรแล้ว การกลับมารีวิวหรือทบทวนชีวิตส่วนหนึ่งคือ “การกลับมาตั้งคำถามกับความปราถนาในชีวิต” เขากล่าวว่า “ถ้าเราถอยออกมาจากชีวิต มองตนเองเป็นพลังงานและเวลาที่มีจำกัด แล้วมองชีวิตตัวเองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของพลังงานและเวลาอันจำกัดนั้น เราก็จะเห็นว่าการรีวิวตนเองสำคัญเหมือนการรีวิวสิ่งอื่นๆ ที่เราทำ แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เป็นโปรเจ็กต์ที่โปรเจ็กต์อื่นๆ ของเราอยู่ใต้ ดังนั้น การรีวิวมันน่าจะสำคัญไม่น้อยกว่าการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนนะครับ” เขาทิ้งท้าย
แล้วชีวิตที่ดีของผู้ชายที่ชื่อ ‘ธีรภัทร’ คืออะไร เขาตอบคำถามนี้ใน 3 รูปแบบ
รูปแบบแรกคือรูปธรรม หรือหมายความว่า “กินอิ่ม นอนหลับ ไม่ป่วยไข้มากนัก พึ่งพาตนเองได้ ก่อประโยชน์ต่อสังคมได้บ้าง ได้ทำสิ่งที่เรารัก ได้กินข้าว ได้อยู่กับคนที่รัก เข้าใจโลก สังคม และตัวเรา” เขาเสริมว่าความเข้าใจต่อโลกสัมพันธ์กับชีวิตที่ดีอยู่มาก เช่น สมัยก่อนที่มนุษย์ไม่เข้าใจว่าสุริยุปราคาคืออะไร มนุษย์ก็เป็นทุกข์เพราะคาดว่ามันคือการลงโทษของพระเจ้า แต่ในปัจจุบันเมื่อวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างสมเหตุผล มันก็ทำให้เราสบายใจมากขึ้น
รูปแบบที่สองคือนามธรรม เขาตอบว่าคือ “ชีวิตที่สมหวังในเรื่องที่ควรจำเป็นต่อความพอใจของเรา ชีวิตที่มีจริยธรรมไม่ถูกบีบคั้นให้ทำเรื่องชั่วๆ และได้รับการส่งเสริมให้ทำเรื่องดีๆ สุดท้าย ชีวิตที่ได้รักได้หลงในสิ่งที่คู่ควรและสามารถใช้เวลากับมันได้”
และรูปแบบสุดท้ายตอบแบบสรุป เขายกคำว่า ‘happy’ ซึ่งมีรากมาจากคำว่า hap ที่แปลว่าโชค หรือแปลได้ว่ามากกว่าแค่ความสุขที่พอใจเฉยๆ แต่มันคือความรู้สึกโชคดีที่ได้เกิดมาในชีวิตแบบนี้
happy มันมากกว่าแค่พอใจเฉยๆ มันมีนัยยะของการมองย้อนไปทั้งชีวิตแล้วพูดได้ว่า แม้จะมีเรื่องทุกข์มากมาย แต่โชคดีจังที่เกิดในชีวิตนี้
ตรวจทานตัวเองและสังคม – เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์
ดิฉันใช้วิธีสอบทานความคิดตัวเองว่า ตัวเรามีความเชื่อพื้นฐานอะไร แล้วมันควรจะเป็นอย่างนั้นไหม มันน่าเชื่อถือจริงหรือเปล่า เช่น ถ้าเราบอกว่านักธุรกิจคนนั้นประสบความสำเร็จมันคือยังไง เพราะ ‘รวย’ เราเลยบอกว่า ‘สำเร็จ’ หรือเปล่า”
เหมือนมาดใช้วิธี ‘ตรวจทาน (examine)’ ตัวเองว่ามีความเชื่อพื้นฐาน (basic assumption) อย่างไร แล้วมันควรเป็นอย่างนั้นจริงไหม ที่สำคัญเธอมองว่าตัวตนของเราและสังคมไม่ได้แยกขาดออกจากกัน แต่ตัวตนของเราถูกสร้างจากสังคม และความเชื่อในสังคมเองก็เป็นสิ่งสร้างของความเชื่อเราทุกคนเช่นกัน ดังนั้น การตรวจทานตัวตนและสังคมจึงต้องทำไปพร้อมกัน เธอยกตัวอย่างของ โสเครตีส (Socrates) นักปรัชญาโบราณสมัยกรีกที่เดินไปตามท้องถนนและตลาดด้วยเท้าเปล่า แล้วถามทุกคนว่าความถูกต้องคืออะไร? ความดีคืออะไร? หรือแปลได้ว่าสิ่งที่โสเครตีสทำคือตัวอย่างของผู้ที่ตรวจทานตัวเองและสังคมไปพร้อมกัน
เมื่อเอ่ยถึงโสเครตีสไว้แล้ว เหมือนมาดจึงยกประโยคของโสเครตีสที่ว่า “ชีวิตที่ไม่ตรวจสอบคือชีวิตที่ไร้ค่า” ขึ้นมาตอบคำถามว่าทำไมเราถึงควรรีวิวชีวิตตัวเอง
สำหรับปีที่ดี (ชีวิตที่ดี) ในมุมของเหมือนมาด เธออธิบายไว้ 2 แง่มุมคือ หนึ่งชีวิตที่ดีต้องมีความปราณีต ในความหมายที่ว่าผ่านการตรวจสอบคุณค่าและสารัตถะทั้งหมดที่ตัวเราเชื่อถือแล้ว “นึกถึงหนังสือ ‘Walden (หนังสือของ Henry David Thoreau)’ ที่บอกว่า เขาอยากจะใช้ชีวิตอย่างจงใจ (deliberatly) คือ ตอบตัวเองได้ว่าคุณค่าคืออะไร ไม่ใช่ทำอะไรเพราะความคุ้นชิน ทำตามคนอื่น เพื่อที่เราตายจะไม่เสียใจว่าเรามีชีวิตอยู่แล้ว
และอีกแง่มุม เธอเชื่อตามหลักปรัชญากรีกโบราณว่า ชีวิตที่ดีต้องประกอบไปด้วย ‘คุณธรรม (virtue)’ และ ‘ปัญญา (intellectual)’ หรือตามบริบทของกรีกคือ ความดีและความฉลาดเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เช่น คนสุจริตจะไม่ใช่แค่ไม่โกหก แต่เขาจะรักในทางสุจริต ไม่คบเพื่อนที่ตุกติก ไม่สนับสนุนความไม่สุจริตทุกประเภท
อย่างไรก็ตาม เหมือนมาดตระหนักว่าในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน คำว่า ‘คนดี’ และ ‘ความดี’ กลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง ดังนั้น ในบริบทเช่นนี้เธอจึงสรุปทิ้งท้ายว่า “ชีวิตที่ดีต้องไม่เป็นแบบเด็กว่าง่าย ต้องเข้าใจว่าระเบียบที่เป็นอยู่คืออะไร และมีความคิดมาจากไหน”
ในวัยนี้ ฉันเป็น บก. ของชีวิตตัวเอง – สุวรรณา สถาอานันท์
“การที่มนุษย์เรารีวิวตัวเองได้เป็นศักยภาพที่สำคัญมาก มันหมายความว่าเราถอยห่างจากตัวเองได้ และตัวเรากลายเป็น Object แห่งการประเมินตัวเราเอง ตรงนั้นยังไม่ดี ตรงนี้ดีขึ้น ซึ่งมันเป็นศักยภาพที่โดดเด่นที่สุดของความเป็นมนุษย์” สุวรรณากล่าว
นักปรัชญาผู้นี้เริ่มต้นอธิบายว่าในชีวิตของตัวเธอ การรีวิวตัวเองแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือในช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งตอนนั้นการรีวิวของเธอจะเป็นการตั้งปณิธานชีวิตให้เดินต่อไปตามทิศทางที่ดีของตัวเอง แต่ในวัย 60 ปีเช่นนี้ สายตาและความคิดกลับเปลี่ยนไป และกลายเป็นทั้ง ‘นักมวยและโค้ช’ ให้กับชีวิตตัวเองมากขึ้น
“พออายุมากขึ้น เวลาเราทบทวนตัวเองเหมือนเราเป็นนักมวยที่ทุกวันต้องต่อสู้กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พร้อมกัน ก็เราเป็นโค้ชให้ตัวเองด้วยไปพร้อมกัน คล้ายๆ วิเคราะห์ภาพใหญ่ของทุกกิจกรรมที่เราทำ” สุวรรณากล่าว
เธอแบ่งปันข้อค้นพบ 2 ประการที่เธอพบเจอหลังจากรีวิวชีวิตในวัยนี้คือ ค้นพบอีโก้ (Ego) ของตัวเอง และมองเห็นอีโก้ของคนอื่น
ทำไมเรื่องนี้มันสำคัญ? เพราะเราเคยมีประเด็นขุ่นข้องหมองใจกับคนนึงมาเป็นสิบปี แต่วันนึงเราได้ดูซีรีย์จีน และเห็นอีโก้ของพระเอกในเรื่อง ซึ่งมันบังเอิญเป็นมุมเดียวกับคนนั้นๆ พอดี พอเราเริ่มเข้าใจการกระทำของคนนั้น ความโกรธก็ทะลุเพดานเลย แต่แล้วก็คลายออก และฉันรู้สึกถึงช่วงเวลาแห่งการปดลปล่อย (liberation)
“ฉันคิดว่า 2 ข้อค้นพบนี้ค่อนข้างสำคัญ (อีโก้ตัวเองและอีโก้คนอื่น) เพราะมันทำให้เราอยู่กับตัวเองได้ดีขึ้น และอยู่กับคนอื่นได้อย่างเข้าใจได้ดีขึ้น แม้มันไม่ทำให้เราหายเจ็บปวด แต่อย่างน้อยมันเป็นความพยายามที่มีค่านะถ้าเราตระหนักในเรื่องนี้” สุวรรณาเสริม
สำหรับปีที่ดี (ชีวิตที่ดี) ของสุวรรณาทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน เพราะทุกวันนี้การ ‘พึ่งพา’ เริ่มเป็นปัจจัยใหญ่มากขึ้น “พอเราอายุมากขึ้นทางกายภาพในหลายเรื่อง (หัวเราะ) เราเริ่มตระหนักในความเปราะบางของตัวเองมากขึ้น ในแง่นี้ ชีวิตที่ดีทำให้เราตระหนักว่าต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น”
ใครบางคนพูดไว้อย่างเท่ว่า ชีวิตยังมีปีหน้าเสมอ ฉะนั้นทบทวนทางที่ผ่านมาเพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างดีขึ้นกันนะครับ