วันศุกร์ต้นเดือน เลิกงานแล้วก็เตรียมไปหาอะไรกินกับแฟน แต่แล้วปัญหาก็เกิด—จะกินอะไรดี ไอ้นู่นก็ไม่ถูกปาก ไอ้นี่ก็เบื่อ ร้านนี้ก็ไม่มีที่จอด จากการเลือกร้าน คุยไปคุยมา อารมณ์เริ่มขึ้น ก็แค่เลือกร้านเอง
เราก็รู้แหละว่า การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับใครซักคน ยิ่งใกล้กันเท่าไหร่ โอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันก็มีมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งบ้านเรามักเชื่อกันว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ ‘ควรหลีกเลี่ยง’ เราไม่ควรทะเลาะกัน รักกันๆ ไว้เถิด แต่ความเชื่อจากบางดินแดนกลับบอกเราว่าการตีกันนำไปสู่ ‘ปลายทาง’ ของการแก้ปัญหา
จริงๆ ก็เข้าใจว่าการทะเลาะกันมันมีปัญหาขัดแย้งกันในหลายระดับ ตั้งแต่การทะเลาะกันในชีวิตประจำวัน หรือแก้ปัญหาระดับชาติว่ามื้อนี้จะกินอะไรดี ดูหนังเรื่องไหน ใครจะล้างจาน ไปจนถึงการถกเถียงปัญหาชีวิตใหญ่ๆ อย่างความสัมพันธ์ต่อไปนี้จะเอายังไง จะลงหลักปักฐานได้หรือยัง อยากมีลูกไหม
แง่หนึ่งถ้าเรามองว่า ชีวิตคือการผ่านความขัดแย้ง และความสัมพันธ์ที่ดีคือ ความสัมพันธ์ที่ผ่านความขัดแย้งมาจนตลอดรอดฝั่ง เป็นความสัมพันธ์ที่คนสองคนเรียนรู้ที่จะตีกัน ประนีประนอม และหาทางออกโดยที่ยังรักษาหัวใจของกันและกันเอาไว้ได้ ดังนั้นก็ไม่แปลกที่นักวิจัยด้านความสัมพันธ์จะออกมาบอกว่า คู่รักที่ทะเลาะกันบ่อยๆ เป็นคู่รักที่มีแนวโน้มจะมีสุขภาพความสัมพันธ์ที่ดี แถมการทะเลาะที่มีความโกรธปะปนอยู่ในนั้นด้วยกลับดูจะทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาวขึ้น
อย่าเงียบสิใจคอไม่ดี โกรธกันอย่างมีขอบเขต
จริงๆ ก็มีเส้นบางๆ ของการทะเลาะกัน ระหว่างการทะเลาะแบบสายสงครามเย็น นิ่ง เงียบ ไม่พูด อากาศรอบตัวหนักยิ่งกว่าอะไร กับการทะเลาะแบบสงครามโลก เต็มไปด้วยการถกเถียง ระเบิดตู้มใส่กัน ในงานศึกษาของ John Gottman นักจิตวิทยาเจ้าพ่อเรื่องความสัมพันธ์จาก University of Washington in Seattle และ Lowell Krokoff นักจิตวิทยาจาก University of Wisconsin พบว่า คู่รักที่ทะเลาะกันบ่อยๆ มีแนวโน้มจะมีความสัมพันธ์ที่ดีและยืนยาว และการทะเลาะที่มีคุณภาพนั้น เป็นการทะเลาะที่สามารถมี ‘อารมณ์ฉุนเฉียว’ หรือมีความโกรธปะปนอยู่ในนั้นได้
พูดง่ายๆ ว่า การทะเลาะแบบมาคุ ต่างคนต่างไม่พูด ถือเป็นการะทะเลาะที่ทำร้ายความสัมพันธ์ ในขณะที่นักวิจัยพบว่าการทะเลาะที่ปล่อยให้อารมณ์ความโกรธออกมาในปริมาณที่ยังอยู่ในขอบเขตและทั้งคู่รับได้ เป็นการทะเลาะที่กลับขุดพรวนให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนขึ้น
นักวิจัยเองตอนแรกก็บอกว่า เราเก็บข้อมูลผิดพลาดรึเปล่านะ แต่ผลของการศึกษาบอกว่า นี่ไง อารมณ์โกรธมันเป็นเรื่องธรรมดา เราโกรธกันได้อยู่แล้ว และคู่รักที่ทะเลาะกันแล้วปล่อยความโกรธออกมา อย่างน้อยก็ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจและเรียนรู้ความรู้สึกของคนรัก แน่นอนว่าถ้าเราโกรธกันได้แต่ก็สามารถต่อรอง หาข้อตกลง และก้าวผ่านความโกรธนั้นได้ ความสัมพันธ์นั้นก็น่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘แข็งแรง’
ถ้าเราเคยทะเลาะกันแรงๆ แต่วันหนึ่งเรายุติได้ เวลาที่เรามองย้อนกลับไป เราอาจจะขำกับเรื่องราวในตอนนั้นก็ได้ มิตรภาพหรือความรักที่มองย้อนกลับไปที่ปัญหาแล้วหัวเราะกับมันได้ ก็ฟังดูเป็นมิตรภาพที่ยอดเยี่ยมแบบหนึ่งในชีวิต
ทาง John Gottman ก็สรุปและให้แนวทางว่าการทะเลาะแบบสงครามเย็น ต่างฝ่ายต่างเงียบ เอาแต่แก้ตัว หรือดื้อหัวชนฝา โทษกันไปโทษกันมา เป็นการทะเลาะที่ทำร้ายความสัมพันธ์ ในขณะที่การโยนอารมณ์โกรธใส่กันตามผลวิจัยที่ว่าไว้ เขาก็บอกว่ามันต้องมีขอบเขตอยู่ดี ถ้าเราใส่อารมณ์โกรธแล้วเริ่มเกินเลย มีการด่าทอหรือกระทั่งใช้กำลังกัน อันนี้ก็ไม่เวิร์คแน่ๆ
ทะเลาะอย่างไรให้ positive
การทะเลาะ ‘ที่ดี’ ไม่ใช่ว่าไม่ให้มีการทะเลาะเลย แต่เป็นกระบวนการปรองดอง พูดคุยสนทนาหาทางออก เมื่อทะเลาะเสร็จก็รับโนเบลสาขาสันติภาพกันไป
ด้วยคำว่า ‘ทะเลาะ’ เป็นเรื่องของการไม่ลงรอยกันของคนสองฝ่าย ดังนั้นการทะเลาะที่มีประสิทธิภาพคือต้องมองว่าเรากำลังหาสันติภาพ หาตรงกลางในความขัดแย้งอยู่ ดังนั้นกลยุทธ์ก็คือการ ‘เข้าใจอีกฝ่าย’ เอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามสื่อสารว่าเราหาตรงกลางอยู่นะ เราเข้าใจนะ สิ่งสำคัญคือการพยายามชี้ประเด็น และจำกัดขอบเขตของปัญหา และประเด็นที่กำลังคุยกันอยู่ เรากำลังคุยเรื่องนี้ ไม่ได้เลยเถิดไปเรื่องอื่นหรือกระทั่งเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว
ในการต่อสู้ (แน่ล่ะมันคือความขัดแย้ง) ต้องมีการกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็ต้องพยายามบรรเทาหรือลดการทำร้ายจิตใจกันให้มากที่สุด ระวังเรื่องการใช้คำ ไปจนถึงภาษากายต่างๆ ไม่พูดประชดประชัน และที่สำคัญคือ ถ้ามีการหลุดปากอะไรออกไปอย่างลืมตัว ในเมื่อพูดออกไปมันเรียกคืนไม่ได้ เมื่อหลุดปุ๊บ ก็ควรขอโทษปั๊บอย่างจริงใจจะดีที่สุด
อ่านมาจนถึงตอนนี้ หากไม่แน่ใจว่าการทะเลาะดำเนินไปจนถึงจุดไหน มีการโยนอารมณ์ รับอารมณ์ใส่กันไปขนาดไหน สงครามที่เคยเดือดเริ่มหาทางยุติได้รึยัง จะว่าไปก็ลองมองอีกด้านดูว่า ในความสัมพันธ์มันก็ต้องมีด้านที่ขรุขระ มีรอยช้ำรอยแผลที่คนสองกันข่วนใส่กันบ้างนานๆ ที
การทะเลาะที่มีคุณภาพคือการทะเลาะที่ทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เราเข้าใจแล้วเดินหน้าต่อด้วยกัน หรือจะจบแยกกันเดินไปคนละทางก็ตาม
แต่ถ้าทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางที ยอมๆ หรือขำๆ บ้างก็เป็นทางออกที่ดีแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก