เคยสงสัยกันไหมนะ เวลาเห็นบรรดากองเชียร์ในสนามมวยทีไร ทำไมพวกเขาต้องยกไม้ยกมือกันตลอดเวลา?
คำว่าวงการสีเทาๆ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่เหมาะสม ที่พาให้ซีรีส์ ‘ Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย’ ติด 10 อันดับผู้ชมสูงสุดใน Netflix บ้านเรา ด้วยข้อพิสูจน์ว่าไม่มีขาวสุดดำสุด หรือดีสุดเลวสุด กับหลังฉากวงการมวยไทย
*คำเตือน : มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย
ที่ผ่านมาแม้หลายคนอาจไม่ได้ใกล้ชิดกับแวดวงกีฬามวยไทยมากนัก แต่หลายเหตุการณ์ที่ข่าวสะท้อนความอันตรายของวงการนี้ จนแทบจะเป็นภาพจำ ซีรีส์นี้ผสมผสานการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดีผ่านตัวละครจริงในวงการตั้งแต่นักมวย เซียนมวย กรรมการ ไปจนถึงนักพากย์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ตั้งแต่ล่างสังเวียน ที่ทุกประเด็นล้วนตั้งต้นมาจากการพนัน
นอกจากความสนุกตื่นเต้น ซึ่งเป็นที่มาของเสียงอวยไม่มีพัก The MATTER อยากชวนไปส่องเกร็ดความรู้จากซีรีส์เรื่องนี้ ทั้งคำศัพท์ สัญญาณเฉพาะ ไปจนถึงมิติทางสังคมในวงการมวยไทยที่คุณอาจพลาดไป
เซียนใหญ่-เซียนเล็ก
‘98% ของผู้ชมในสนามมวย คือ นักพนัน หรือคนที่เรียกตัวเองว่าเซียนมวย’ นี่เป็นข้อความเปิดฉากซีรีส์ Hurts Like Hell ก่อนที่เราจะได้รู้จักตัวละครในเรื่องเสียอีก บอกเป็นนัยว่า เรื่องเล่าของการเล่นพนันในสนามมวย จะถูกชูโรงตลอดทั้งเรื่อง
เล่าก่อนว่า การเรียกชื่อจริงแทนกัน นับเป็นเรื่องหาได้ยากในสนามมวย เพราะถ้าคุณเป็นขาประจำ ที่เพียงแวะไปดูเกมการชก หรือลงเงินเดิมพันก็แล้วแต่ มักถูกเรียกแทนด้วยคำว่า ‘เซียน’
“ส่วนมากก็จะเป็นคนมีชื่อเสียงและก็มีเงิน…ถึงจะไม่มีชื่อเสียง แต่เล่นไม้แรงๆ เขาก็เรียกเซียนใหญ่” เป็นคำอธิบายของ วิชัย ยะศาลา โปรโมเตอร์มวยภูธร ที่พูดถึง ‘เซียนใหญ่’ ซึ่งเป็นขาใหญ่ของสนาม ที่คนมวยไม่มีใครกล้าแหยมด้วย
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในการลงพนัน หากเซียนใหญ่เลือกที่จะลงเงินกับนักชกฝั่งใดแล้ว บรรดา ‘เซียนเล็ก’ ซึ่งมีทั้งขาประจำกระเป๋าแบน หรือนักพนันหน้าใหม่ ก็มักจะเทเลือกข้างตาม เป็นต้นเหตุให้นักชกอีกฝั่งเตะให้ตายยังไง ราคาต่อรองของการพนันครั้งนั้นก็ไม่ปรับขึ้นง่ายๆ ใครโผงผางลงพนันไม่ดูทิศทางน้ำก็อาจพลาดท่าเสียเงินก้อนใหญ่ไม่รู้ตัว
ภาษามือ
อยู่ห่างกันแค่ไหน ก็สามารถแทงพนันได้
หากใครคิดว่าจะลองเล่นพนันมวยขำๆ คงต้องเตือนว่าไม่ได้กล้วยขนาดนั้น มันไม่เหมือนพนันแข่งม้า หรือพนันฟุตบอล ที่คุณจะจับปากกาแล้วเลือกข้างได้ก่อนแข่ง เพราะการพนันมวยบ้านเราจะเริ่มก็หลังกรรมการลั่นระฆังยกแรงนั่นแหละ
‘ภาษามือ’ นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่บรรดาเซียนมวยใช้ เพื่อส่งสัญญาณแทงพนันเลือกข้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเริ่มก็เมื่อจบยก 2 ไปแล้ว ด้วยช่วงแรกบรรดานักมวยมักจะยังรอดูเชิงคู่ต่อสู้ ยังไม่มีการออกอาวุธชัดเจน
ในซีรีส์เรื่องนี้ จะเห็นการชูนิ้วโป้ง ซึ่งหมายถึงการแทงหลักพัน ชูกำปั้น เพื่อแทงหลักหมื่น รวมถึงการยกนิ้วโป้งเพื่อเลือกข้าง ซึ่งภาษามือยังมีซับซ้อนกว่านี้มาก ทั้งการลงราคาเสมอฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือชูเพื่อบอกอัตราได้เสีย
เหตุผลที่ต้องมีสัญญาณลักษณะนี้ จินตนาการง่ายๆ ในสนามทั้งมืด เสียงเชียร์ดัง คนก็เยอะ การจะต้องตะโกนบอกหรือเดินไปหาคนรับแทงพนันนั้น มวยชกครบยกก็คงยังไม่เข้าใจกัน การใช้ภาษามือก็ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ถ้าเจ้ามือพนันอยู่ตรงหน้าจะบอกด้วยปากก็ไม่แปลก
ถ้าใครยังติดใจว่า เล่นพนันกันโจ่งแจ้งขนาดนี้ไม่ผิดกฎหมายเหรอ ต้องบอกกว่ารัฐเปิดช่องทางกฎหมาย ระบุว่า ทุกสนามมวยที่เป็นสถานที่ปิดจะสามารถเล่นพนันได้ แต่ต้องขอใบอนุญาตผ่านกระทรวงมหาดไทยกก่อน
ซึ่งการพนันทั้งหมดล้วนเป็น ‘สัญญาใจ’ ที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร เมื่อเป็นเช่นนี้ค่าปรับของการผิดสัญญาจึงไม่มีกติกาใดควบคุม ผลลัพธ์จึงน่าสะพรึงกลัวไปถึงขึ้นแลกด้วยชีวิต อย่างที่เคยเห็นกันตามหน้าข่าว
กรรมการบนผืนผ้าใบ
ผู้ชี้ขาดความยุติธรรม (?)
ขึ้นชื่อว่ากีฬาที่มาพร้อมการพนัน จะไปถามหาความยุติธรรมคงน่าหัวเราะเสียไม่มี ซีรีส์จึงเลือกยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด โดยเล่าผ่านบุคคลที่เป็นหัวใจสำคัญบนผืนผ้าใบ อย่าง ‘ผู้ชี้ขาด’ และยังมีกรรมการล่างเวทีอีก 3 คน
ถึงแม้มวยไทยจะอยู่ภายใต้การดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่กรรมการที่ใช้ก็จะเป็นคนที่ผู้จัดการแข่งของสนามนั้นๆ จัดหามาเอง จึงเป็นช่องว่างที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามกับคำตัดสิน
“ทุกอย่างตัดสินด้วยความรู้สึก ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ฉะนั้นแล้วยุติธรรมคือยุติธรรมของใคร” เป็นคำถามที่วันชัย ผ่องศรี กรรมการมวย กล่าวไว้ในตอนหนึ่ง
ด้วยหน้าที่ของผู้ชี้ขาด ที่ต้องคอยกำกับให้นักมวยทำตามกติกา ไปจนถึงยุติการชก จึงมีโอกาสที่พวกเขาจะตัดสินค้านสายตาเซียนมวย หากเป็นการแข่งขันอื่นก็คงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับมวยไทยที่สมการตั้งต้นคำว่าเซียนมวยนั้นเท่ากับคอพนัน ผลลัพธ์ที่ว่าพวกเขาจะออกจากสนามไปอย่างเศรษฐีหรือยาจก จึงกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
เหตุชุลมุนที่เวทีมวยราชดำเนินเมื่อไม่กี่เดือนก่อน เป็นตัวอย่างที่อินเทรนด์สุดๆ ที่หลังจบการแข่งขันในศึกเพชรยินดี ผลของคู่รองเอก กรรมการให้ฝ่ายแดงชนะไป 2 ต่อ 1 เสียง ซึ่งไม่ตรงกับการเปิดราคาต่อรองระหว่างชก เซียนมวยบางส่วนจึงขึ้นไปบนเวทีประท้วง ท้ายสุดผู้จัดต้องยอมยกเลิกผลการตัดสิน จนกลายเป็นเรื่องงามหน้าของวงการมวยอีกครั้ง
‘นักมวยเด็ก’ ภาพสะท้อนความจน
‘สายตา น้ำเสียง ท่าทาง’ ของตัวละครนักมวยเด็กในซีรีส์ ถ่ายทอดจุดเด่นที่มัดใจชาวบ้านต่างจังหวัด ทำให้ทุกเวทีที่ถูกจัดเนืองแน่นไปด้วยผู้ชม นั่นคือ ความไม่เสแสร้ง ที่แสดงออกผ่านการออกอาวุธอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ต่อให้ชื่นชอบในกีฬาชนิดนี้แค่ไหน ก็คงไม่มีใครที่อยากจะเจ็บตัว ยิ่งเป็นเด็กเล็กการที่ต้องสละชีวิตหลังเลิกเรียน เพื่อมาฝึกซ้อมอย่างหนัก ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ บรรดานักมวยเด็กส่วนใหญ่จึงมักมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน คือ การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มวยไทยนับว่าเป็นกีฬาที่ใช้ต้นทุนทางร่างกาย มากกว่าทุนทรัพย์อื่นๆ จึงคุ้มค่าที่พวกเขาจะลงแรง แม้ผลตอบแทนอาจจะอยู่ที่หลักพันหรือหมื่นต้นๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละเวที
เมื่อชีวิตเติบโตและอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าค่ายตั้งแต่ยังเล็ก จึงกลายเป็นวิถีความภักดีในวงการมวย ที่เด็กจะเชื่อฟังและไม่โต้เถียง บ้างจึงนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ อย่างการหักค่าหัวคิวการชก
“ถ้าเราชนะเหมือนกับหมาที่ล่าเนื้อได้ เจ้าของก็จะดีใจได้เนื้อไว้กิน แค่พอวันไหนที่เราล่าเนื้อไม่ได้ เจ้าของก็โยนเศษเนื้อให้หมากิน” สมจิตร จงจอหอ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก
ขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาที่มาพร้อมความเสี่ยง ชีวิตจึงแขวนอยู่บนเส้นด้ายตลอดเวลา อย่างเหตุการณ์ในปี 2561 ที่เพชรมงคล ส.วิไลทอง นักมวยเด็กขึ้นชก จนเสียการทรงตัวล้มหัวฟาดพื้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา เป็นที่มาให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แข่งขันชกมวย
ถึงยังไม่มีข้อสรุปของการผลักดันร่างดังกล่าว แต่ระหว่างทางได้ฝากบาดแผลเอาไว้ในใจของเด็กคนหนึ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับพุฒ ฟ้าใหม่ คู่ชกของเพชรมงคล ที่กล่าวไว้ในซีรีส์ว่า ‘เขาก็พูดถูกว่าผมเป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดเรื่องนี้’
ผู้ชม = แฟน กรรมการ = พ่อของลูก นักมวย = ลูกชายของแม่
ทุกคนล้วนแต่เป็นมนุษย์
ระหว่างในขณะที่ทุกตัวละครกำลังดำเนินบทบาทของตัวเอง ซึ่งก็สอดคล้องกับด้านมืดของวงการมวยไทย ที่เป็นผลต่อเนื่องจากการพนัน ซีรีส์พยายามถ่ายทอดเหตุผลเบื้องหลังการกระทำควบคู่กันไปด้วย
ยกตัวอย่าง ช่วงที่ผู้ชี้ขาดบนเวทีได้รับการติดต่อจากเซียนใหญ่ เพื่อให้ตัดสินไปตามทิศทางที่พวกเขาพนันเอาไว้ แลกกับเงินก้อนใหญ่ไปจุนเจือครอบครัว แต่ตอนท้ายผู้ชี้ขาดก็เลือกที่จะทำหน้าที่ไปตามที่ควรจะเป็น เมื่อได้เห็นถึงความใจสู้ของนักมวยบนเวที ‘ผมยังไหวครับ’ ‘ผมขอโอกาส’
‘ตั้งใจต่อย ถ้าเจ็บแล้วต่อยไม่ไหว มึงอย่าฝืน’ เช่นเดียวกัน คำพูดที่แม่ของนักมวยคนหนึ่งบอกกับลูกชาย ก็ช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้คนที่ไม่พอใจ และตั้งคำถามว่าทำไมผู้ปกครองถึงปล่อยให้ลูกหลานไปเจ็บตัวบนสังเวียน เพราะบางคนต้องยอมกลืนน้ำตาด้วยเหตุผลของความจน
ทั้งหมดเป็นความตั้งใจของซีรีส์ ที่ต้องการสื่อสารมุมมอง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่มีอยู่ในตัวของทุกคน ถึงแม้อาจจะไม่ได้แก้ไขให้การกระทำที่ผิดเปลี่ยนแปลงเป็นถูกได้ แต่ก็ช่วยให้รู้ต้นเหตุเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขต่อไป
คงต้องยอมรับว่า การแยกการพนันออกจากวงการมวยไทย อาจไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปได้ เพราะการพนันถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ ที่ทำให้วงการมวยยังอยู่มาได้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การพนันกลายเป็นตัวกำหนดผลการแข่งขันเหนือไปกว่าความพยายามของนักมวยบนสังเวียน