16 มิ.ย.2565 เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในวงการมวยไทย
เมื่อเซียนมวยกรูขึ้นไปบนเวทีมวยราชดำเนิน ขอให้กรรมการเปลี่ยนคำตัดสิน จนเกิดการชุลมุนขึ้น
“เอาจริงๆ ถ้าในมุมมองผม ผมก็คิดว่าน้ำเงินชนะนะครับ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะเราอยู่ในวงการมวยมานาน เรารู้อยู่แล้วว่านี่เป็นกีฬาที่ตัดสินด้วยสายตา เราต้องยอมรับให้ได้ การไปชกกรรมการ การกันขึ้นไปประท้วงบนเวที มันสร้างความเสียหายกับวงการมวยไทยมาก แล้วยิ่งไปยกเลิกคำตัดสินได้อีก ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก”
ด้วยเหตุผลว่า “..วงการมวยมันแคบ..” เจ้าของประโยคนี้ซึ่งเป็น ‘เจ้าของค่ายมวย’ จึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงได้
“ถ้าบอกชื่อไป ผมก็พูดอะไรมากไม่ได้ ถ้าไม่ต้องรู้ชื่อผม ผมก็พูดได้เยอะ เมื่อคุณรับข้อมูลไปแล้ว เห็นว่ามันน่าเชื่อถือ มันก็อาจจะช่วยเหลือวงการมวยได้มากกว่า”
เหตุชุลมุนวันดังกล่าวเกิดขึ้นที่เวทีมวยราชดำเนิน หลังจบการแข่งขันในศึกเพชรยินดี รอบ ‘รองคู่เอก’ ระหว่าง แป๊ะยิ้ม ป.จิรกิตติ์ (ฝ่ายแดง) กับ กระดูกเหล็ก อ.อัจฉริยะ (ฝ่ายน้ำเงิน) ที่กรรมการรวมคะแนนให้ฝ่ายแดงชนะไป 2 ต่อ 1 เสียง ซึ่งไม่ตรงกับการเปิดราคาต่อรองระหว่างชกตามความเห็นของกลุ่มเซียนมวย ซึ่งเห็นว่าฝ่ายน้ำเงินน่าจะเป็นผู้ชนะมากกว่า เซียนมวยบางส่วนจึงขึ้นไปบนเวที ประท้วงให้ยกเลิกผลการตัดสิน
ผลของการกดดันทำให้ประธานเทคนิคในสนามตัดสินใจประกาศ ‘ยกเลิกผลการตัดสิน’ ตามข้อเรียกร้อง เพื่อให้มวย ‘คู่เอก’ ที่รออยู่ สามารถออกมาชกกันต่อไปได้
“มวยผมก็แพ้แบบค้านสายตาหลายครั้งนะ แต่การเปลี่ยนผลการตัดสินมันเสียหายมาก แบบนี้อีกหน่อย เซียนมวยแพ้พนัน แล้วไม่อยากจ่าย ก็ขึ้นเวทีมากดดันเปลี่ยนผลการตัดสินได้อีกน่ะสิ”
เจ้าของค่ายมวยรายนี้ยืนยันว่า แม้ตามสายตาของเขาจะเห็นด้วยว่าฝ่ายน้ำเงินควรได้รับการชูมือมากกว่าก็ตาม
แต่นี่เป็นสิ่งที่คนในวงการมวยต้องยอมรับให้ได้อยู่แล้ว เพราะ ‘มวยไทย’ ยังคงเป็นกีฬาที่ใช้ ‘สายตา’ เป็นผู้ตัดสิน
และที่สำคัญต้องยอมรับด้วยว่า เกณฑ์การตัดสินหรือการให้คะแนนของแต่ละเวทีก็ไม่เหมือนกัน จึงยากที่จะบอกว่า ‘มาตรฐาน’ อยู่ตรงไหน แต่การไปทำร้ายกรรมการ หรือขึ้นเวทีไปกดดันจนเปลี่ยนคำตัดสิน จึงเป็นการกระทำที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงมาก เพราะมันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของมวยไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีน้อยมากอยู่แล้ว
“ผมเข้าใจนะว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุสุดวิสัย เกิดจากการบันดาลโทสะ แต่การที่มีคนไปทำร้ายกรรมการได้ บุกขึ้นไปบนเวทีได้ เปลี่ยนคำตัดสินได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรยอมรับได้ในการจัดแข่งขันกีฬา และถ้าเราจะมาถอดบทเรียนกัน เราก็จะเห็นว่า ความเสียใหญ่ใหญ่โตเช่นนี้ เกิดจากความหละหลวมเล็กน้อยๆหลายจุด”
ปัญหาใหญ่ในวงการมวยไทย: ปัญหาเล็กหลายๆ จุดที่คนมองข้าม
เจ้าของค่ายมวยรายนี้บอกว่า ถ้าเปรียบเป็นรถยนต์คันหนึ่ง วงการมวยไทยก็เหมือนรถยนต์เก่าที่เช็คตรงไหนก็พบความเสียหาย น็อตหลวม สายน้ำมันรั่ว มีเสียงดังเตือน มีไฟเตือนจากตรงนั้นตรงนี้วันละจุดสองจุด แต่เจ้าของรถก็อาจจะเห็นว่า แต่ละจุดเพิ่งจะชำรุดเล็กน้อยเท่านั้น ใช้ๆ ไปก่อน เดี๋ยวค่อยซ่อมวันหลังก็ได้ จนวันหนึ่งมันก็พังพร้อมกันหมดจนยากจะซ่อมได้
“อย่างราชดำเนิน ที่นี่เล่นพนันกันได้อย่างถูกกฎหมาย ถ้าไม่นับลูกค้าต่างชาติที่เป็นขาจร กลุ่มคนไทยที่มาดูมวยที่นี่เหลืออยู่กลุ่มเดียวคือ ‘เซียนมวย’ คนพวกนี้มีอีกสถานะหนึ่ง คือเป็น ‘โต๊ะพนัน’ ด้วย เข้าเวทีมาเพื่อทำราคาต่อรอง ดังนั้น กลุ่มเซียนมวยเป็นกลุ่มที่เข้าทุกเวทีทุกวัน มาที่สนามจนสนิทสนมกันหมด สนิทกับโปรโมเตอร์ สนิทกับเจ้าของค่ายใหญ่ๆ สนิทกับเจ้าหน้าที่สนาม รวมถึงทีมรักษาความปลอดภัย
“ในเมื่อสนิท ก็กลายเป็นว่า คนกลุ่มนี้ถูกตีความว่าเป็นกลุ่มที่จะไม่สร้างภัยคุกคามใดๆ แน่ๆ ไม่จำเป็นต้องควบคุม สามารถเดินไปได้ทุกที เพราะไม่มีใครคิดว่าพวกเขาจะก่อเรื่องอะไร แต่ในทางกลับกัน ความสนิทสนมกลับทำให้เซียนมวยบางคนไม่เกรงใจผู้จัด ไม่เกรงใจเจ้าของค่ายมวย และสามารถเดินไปมาอย่างอิสระ จนเกิดเหตุไปทำร้ายกรรมการและบุกขึ้นไปบนเวทีได้
“นี่เป็นอะไหล่ที่เสียหายในรถยนต์เก่าๆ คันหนึ่ง”
อีกประเด็นหนึ่ง คือ ‘หัวหน้าค่าย’ ซึ่งเป็นผู้เริ่มจุดประกายไฟจนเหตุการณ์นี้บานปลาย เมื่อเขาไม่พอใจผลการตัดสิน จึงบุกเข้าไปถึงที่นั่งของกรรมการเพื่อขอดูใบคะแนน แต่กรรมการไม่ให้ดู จึงบันดาลโทสะและไปชกใส่ ทำให้กลุ่มเซียนมวยซึ่งสนิทสนมกันเข้ามาผสมโรงและบุกขึ้นไปประท้วงบนเวทีได้
ซึ่งก็เกิดคำถามว่า หากฝ่ายที่ไม่พอใจอยู่ค่ายที่เล็กกว่า จะเกิดเหตุการณ์ชุลมุนแบบที่เกิดขึ้นหรือไม่
ส่วนการตัดสินใจ ‘ยกเลิกคำตัดสิน’ ของประธานเทคนิคที่เวทีมวยราชดำเนิน เจ้าของค่ายมวยรายนี้มองว่า มีสาเหตุมาจากน็อตที่หลวมอีกตัวหนึ่ง เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ระบบรักษาความปลอดภัยในสนามไม่สามารถทำงานได้ไปแล้ว พอประธานเทคนิคถูกกดดันเข้า ก็จำเป็นต้องตัดสินใจยอมตามคำประท้วง เพราะนอกจากจะถูกกดดันจากเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง
ยังมี ‘แรงกดดันทางธุรกิจ’ เป็นเงาที่ไล่หลังตามมาอีกด้วย
เนื่องจากเมื่อมีการถ่ายทอดสด ก็มีสปอนเซอร์ที่สนับสนุนการถ่ายทอดอยู่ด้วย ในขณะที่มวยคู่เอกอีก 1 คู่ ยังไม่สามารถชกกันต่อได้ หากการประท้วงไม่สิ้นสุดลง
“ถ้าไม่นับกลุ่มเซียนมวย ไม่นับเรื่องเงินจากการพนัน หากนับเฉพาะโปรโมเตอร์ ค่ายมวย นักมวย ทุกวันนี้เราอยู่ได้ด้วยการถ่ายทอดสดทั้งนั้น การจัดมวยแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งสวนทางกับค่าตั๋ว เพราะคนไทยที่เข้าสนามมวยมีแต่กลุ่มเซียนมวยเท่านั้น เป็นกลุ่มเดิม เท่าเดิม ไม่มีแฟนมวยหน้าใหม่ๆ เลย
“ดังนั้นวงการมวยไทยจึงไม่มีรายได้มากนักจากค่าตั๋วเข้าสนาม รายได้หลักจริงๆ มาจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากการถ่ายทอดทางทีวี เป็นรายได้ที่ทำให้พอจะเลี้ยงนักมวยได้ และทำให้พอมีเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในค่าย และทำให้โปรโมเตอร์ผู้จัดมวยไม่ขาดทุนในการจัดแต่ละครั้ง”
“อย่างเหตุการณ์นี้ มวยคู่เอกยังไม่ได้ขึ้นชก เวลาในการถ่ายทอดสดก็เหลือน้อยลง มีผลต่อสัญญาที่ตกลงไว้กับสปอนเซอร์แน่นอน เมื่อการประท้วงยังไม่ยุติ มวยก็ชกต่อไม่ได้ ก็คงทำให้เขาต้องตัดสินใจยอมยกเลิกคำตัดสินตามผู้ประท้วง เพื่อให้การถ่ายทอดมันดำเนินต่อไปได้ นี่ก็เป็นจุดเปราะบางของวงการมวยไทยในวันนี้อีกจุดหนึ่ง เป็นน็อตที่พร้อมจะหลุดทุกเมื่ออีกตัวหนึ่งครับ”
เมื่อ ‘มวยตู้’ เป็นทางรอดเดียวของอุตสาหกรรมมวยไทย ‘การถ่ายทอดสด’ จึงป็นภารกิจหลัก
ถ้าพิจารณาจากข้อมูลนี้ ดูเหมือนว่ามวยไทยจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา และมีจุดเปราะบางมากมายหลายจุด ที่พร้อมจะทำให้ ‘รถเก่า’ คันนี้ กลายเป็น ‘เศษเหล็ก’ ได้ไม่ยาก
ถ้าสำรวจจากอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลจะพบว่า การถ่ายทอดมวย ถือว่าเป็นคอนเทนต์ที่ช่วยเพิ่มค่าเฉลี่ยผู้ชมให้กับสถานีโทรทัศน์ได้มากพอสมควร จึงพบว่า มีรายการมวยถูกถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ช่องต่างๆ เกือบทุกวัน จึงเรียกว่า ‘มวยตู้’ (สมัยก่อน โทรทัศน์จะมีขนาดใหญ่คล้ายๆ ตู้)
วันพุธ – ศึกมวยไทยกลุ่มพลังใหม่ – เวทีราชดำเนิน – ช่อง JKN18
วันพฤหัสบดี – ศึกเพชรยินดี – เวทีราชดำเนิน – ช่อง TRUE4YOU / เพจมวยเด็ด789
วันศุกร์ – ศึกมวยมันส์วันศุกร์ – สนามมวยรังสิต – ช่อง TRUE4YOU / เพจมวยเด็ด789
วันศุกร์ – ศึกมวยไทยFighter x – เวทีธูปะเตมีย์ – ช่องJNK18
วันเสาร์ – ศึกจ้าวมวยไทย – เวทีอ้อมน้อย – ช่อง 33
วันเสาร์ – ศึกจิตรเมืองนนท์ – เวที อตก.นนทบุรี – ช่อง 5
วันเสาร์ – ศึกท่อน้ำไทย – เวที ส.สละชีพ – ช่อง PPTVHD36
วันเสาร์ – ศึกเกียรติเพชร + โกสปอร์ต – เวที ส.สละชีพ – ทางเว็บไซต์
วันอาทิตย์ – มวยดีวิถีไทย – เวที อตก3 – ช่อง PPTVHD36
วันอาทิตย์ – มวยไทย 7 สี – เวทีมวย 7 สี – ช่อง 7HD
วันอาทิตย์ – ซ้างมวยไทยเกียรติเพชร – เวทีราชดำเนิน – ช่อง AmarinTV 34
และวันจันทร์ กำลังจะมีเพิ่มอีก 1 รายการ ที่เวทีราชดำเนิน
เมื่อตรวจสอบไปยังผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ได้ข้อมูลยืนยันว่า ‘รายการมวย’ ถือเป็นรายการที่วงการทีวีพร้อมจะนำมาถ่ายทอด เพราะมีเรตติ้งสูง แต่ใช้ต้นทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับถ่ายทอดสดในรูปแบบอื่นหรือเมื่อเทียบกับคอนเทนต์อื่นๆ ยิ่งมวยไทยมีฐานคนดูอยู่ในส่วนภูมิภาคเป็นฐานใหญ่ รายการมวยส่วนใหญ่จะเสนอขอเช่าเวลาเพื่อถ่ายทอดมายังสถานีโทรทัศน์เอง มีทีมถ่ายทอดสดพร้อมอยู่แล้ว ทางสถานีจึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับสัญญาณมาถ่ายทอดเท่านั้น
จากนั้นสถานีโทรทัศน์ ก็จะดำเนินการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าในต่างจังหวัด เช่น รถกระบะ อุปกรณ์การเกษตร เครื่องดื่มชูกำลัง ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ โดยทางสถานีก็จะแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาแบบ time sharing กับทางโปรโมเตอร์ผู้จัดมวย
ดังนั้น หากไม่นับเม็ดเงินในวงการพนัน จะพบว่า เม็ดเงินที่เกิดขึ้นในวงการมวยไทย จึงมีที่มาเช่นนี้
- นักมวย … ค่าตัวในแต่ละไฟต์ที่ขึ้นชก / เงินอัดฉีดจากเซียนมวยที่ลงเดิมพัน / เงินรางวัลจากสปอนเซอร์ในมวยรอบ
- ค่ายมวย … ส่วนแบ่งจากค่าตัวของนักมวย / ส่วนแบ่งจากเงินรางวัล (ค่ายเป็นส่วนที่มีรายได้น้อย เจ้าของค่ายส่วนใหญ่มีธุรกิจอื่นรองรับ)
- โปรโมเตอร์ … ค่าตั๋วเข้าชมในสนาม / ส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาทางทีวี
จะเห็นได้ว่า รายได้ค่าโฆษณาทางทีวีถือเป็น ‘ปัจจัยหลัก’ ที่ทำให้ธุรกิจมวยไทยยังสามารถดำรงอยู่ได้
โดยขีดเส้นใต้ว่า การชกทุกครั้ง ต้องถูกถ่ายทอดทางทีวีเป็น ‘มวยตู้’ เพราะกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เซียนมวย ดูมวยไทยผ่านทางทีวี
และนั่นทำให้เห็นว่าแม้มวยไทยจะมีปัญหากับการชกในสนาม แต่ยังมี ‘ราคา’ มากพอสำหรับการถ่ายทอดสด ทำให้ยังมีสินค้าต่างๆ พร้อมจ่ายเงินสนับสนุน
มาตรฐานการตัดสิน สิ่งที่ทำให้มวยไทยยังยากจะไปสู่ระดับสากล
แม้จะไม่เห็นด้วยกับการกดดันจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน แต่ ‘มาตรฐาน’ การตัดสิน ก็ถือประเด็นที่สำคัญที่สุดซึ่งเจ้าของค่ายมวยรายนี้มองว่า เป็นปัญหาเรื้อรังของกีฬามวยไทยที่ทำให้ยากจะพัฒนาไปเป็นกีฬาที่ได้การยอมรับในระดับสากล
เพราะนอกจากจะเป็นกีฬาที่ยังคงใช้ ‘สายตาของกรรมการ’ เป็นเครื่องมือในการตัดสิน
ยังมีความจริงที่ต้องยอมรับด้วยว่า วิธีการมองผู้ชนะ ‘ของแต่ละเวที’ ก็ให้บรรทัดฐานที่ต่างกัน
“ต้องยอมรับว่า การตัดสินมันมีปัญหามาก เพราะกรรมการแต่ละเวที ก็ใช้ไม้บรรทัดคนละอย่างกันเลย เช่น เวที A จะให้นักมวยที่เดินมากกว่า ออกอาวุธมากกว่าชนะ แต่เวที B อาจจะให้นักมวยที่ทรงดีกว่า มีสภาพแข็งแรงกว่าในตอนที่การชกเสร็จสิ้นลงชนะ แม้จะเข้าทำได้น้อยกว่า แม้แต่การล้มแต่ละครั้ง ก็ยังมีผลต่อการตัดสินที่ต่างกันเมื่อไปชกคนละเวที นั่นทำให้นักมวยส่วนใหญ่ ไม่สามารถเปลี่ยนเวทีชกได้ เพราะเท่ากับต้องเปลี่ยนวิธีการชก เปลี่ยนวิธีฝึกซ้อมไปทั้งหมดเลย”
“นักมวยรุ่นใหม่ มีเข้ามาที่ค่ายอยู่เรื่อยๆ นะ ส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด ฐานะที่บ้านไม่ค่อยดี เขาก็มาขออยู่ในค่ายเพื่อเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว มาอยู่ที่ค่ายก็มีข้าวปลาอาหารดูแลให้ด้วย ผมก็อยากให้น้องๆ มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ เราก็ต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันพัฒนาวงการครับ แต่คนในวงการมวยไทยทั้งหมดอาจจะต้องมาสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ว่าเราจะพัฒนาไปด้วยกันยังไง”
เหตุชุลมุนบนเวทีมวยราชดำเนินวันนั้น จึงเป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ช่วยสะท้อนปัญหาของวงการมวยไทยที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน