เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าบางวันเราอยากจะนอนเปื่อยอยู่บนโซฟา หรือทิ้งตัวลงบนเตียงนุ่มๆ เพื่อคลายความเหนื่อยล้า ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตในวันถัดไป
แต่ถ้าเกิดว่าไม่ใช่แค่บางวันที่ความเหนื่อยล้าเหล่านี้อยู่กับเราล่ะ?
รายงาน Global Consumer Trends 2023 โดย Mintel ระบุว่า หนึ่งในเทรนด์สำคัญของปี 2023 คือ ‘Hyper Fatigue’ หรือแนวโน้มที่ผู้คนจะรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนแรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์
ถ้ามองในเชิงสถิติ เคยมีการสำรวจในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 18 ขึ้นไปเกือบครึ่ง (49%) เผชิญกับความเครียดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 38% รู้สึกวิตกกังวล 22% รู้สึกเหนื่อยใจ และ 20% รู้สึกหมดไฟ ส่วน 2 ใน 5 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจหนึ่งบอกว่า พวกเขาอยากจะใช้เวลาว่างกับการทิ้งตัวลงนอนนิ่งๆ มากกว่าจะเอาเวลาไปเจอเพื่อนและครอบครัว
ถ้าเราลองมองย้อนไปในแต่ละปี จริงๆ แล้วเราต่างมีเรื่องท้าทายผ่านเข้ามาแทบไม่ซ้ำ แต่ทำไมปี 2023 นี้ถึงเป็นปีที่เราเหนื่อยล้าจนต้องใช้คำว่า ‘Hyper Fatigue’ เลยล่ะ?
คำตอบของเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องราวที่เราได้เจอ (และกำลังจะได้เจอ) ตลอดทั้งปี
เริ่มมาตั้งแต่ร่างกายที่อ่อนแอลงจาก COVID-19 บางคนมีอาการ Long COVID-19 บ้างก็รู้สึกว่าร่างกายไม่เหมือนเดิม หายใจลำบาก หอบง่าย เหนื่อยง่าย คิดช้าลงไปเยอะ และอีกสารพัดอาการ หรือต่อให้ยังไม่ติด COVID-19 ก็อาจจะเจอปัญหาสุขภาพใจในบรรยากาศตึงเครียดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสังคมและสภาพแวดล้อมก็ไม่เอื้ออำนวยให้เราได้ฟื้นฟูกายใจของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะแค่นั่งเฉยๆ ก็ได้สูดฝุ่น PM 2.5 ออกจากมาบ้านในช่วงหน้าร้อนก็เสี่ยงเป็นโรคลมแดด (heat stroke) แต่จะตากแอร์เย็นฉ่ำที่บ้าน ค่าไฟก็พุ่งจนเหงื่อตกกันอีกรอบ แม้ตอนนี้จะเข้าสู่หน้าฝน แต่ความชุ่มฉ่ำกลับแวะมาทักทายแค่ชั่วคราวเท่านั้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและเกิดฝนทิ้งช่วงได้ เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่อาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า แต่ถ้าวันไหนฝนตกสิ่งที่ตามมาก็คือน้ำท่วม การจราจรติดขัดซ้ำอีก
ความเหนื่อยทางกายยังไม่จบลงเท่านั้น พอฝ่าฝันพาตัวเองออกมาจนถึงโต๊ะทำงานได้แล้ว บางทีทำงานไปก็กังวลไปว่าจะตามโลกไม่ทัน เพราะเป็นปีที่ AI และเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเกินกว่าเราจะกล้าคาดเดาว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น (อย่างวันนี้ Meta ก็เพิ่งเปิดตัว Threads ในช่วงที่ทวิตเตอร์กำลังจำกัดจำนวนโพสต์ที่มองเห็นได้) ต่อให้เราไม่ได้กังวลว่า AI จะมาแทนที่เราไหม แต่เชื่อว่าหลายคนอาจกลัว ‘ตกขบวน’ หรือเกิดอาการ Fear of Missing Out ขึ้นมาได้ง่าย เพราะเรื่องนั้นยังไม่ได้เรียนรู้ เรื่องนี้ยังไม่ได้อัปเดต ยังไม่นับรวมข่าวสารใหม่ๆ ดราม่ารายวัน แถมยังเป็นปีที่เราได้เลือกตั้ง (สักที) การเมืองเลยกำลังเข้มข้นจนไม่รู้ว่าควรตามเรื่องไหนและจัดลำดับความสำคัญยังไงดี
พอละจากหน้าจอออกมากินข้าว ซื้อของ เดินช้อปปิ้งบ้าง กลับกลายเป็นเครียดหนักไปกว่าเดิม ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าสังเกตราคาอาหารและของในร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนม นม เนย ทิชชู่ สบู่ ยาสระผม เราจะพบว่าราคาสูงขึ้นกันถ้วนหน้า แม้จะเพิ่มมา 1-2 บาทต่อชิ้น แต่พอนับรวมกันรายเดือนแล้วตัวเลขนี้นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
ดังนั้นพอร่างกายเหนื่อยล้า สมองทำงานหนัก กระเป๋าตังค์แห้งเหือด จิตใจและอารมณ์ก็ค่อยๆ ห่อเหี่ยวตามไปด้วย เลยไม่น่าแปลกใจที่ความเหนื่อยล้าอ่อนแรงจนเกินไป หรือ ‘Hyper Fatigue’ จะกลายเป็นหนึ่งเทรนด์ใหญ่ๆ ที่ผู้คนกำลังเผชิญในปีนี้
สัญญาณของการพักผ่อน
แต่เราอยากจะบอกว่าบางทีความเหนื่อยอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป เพราะนั่นคือสัญญาณและกลไกของร่างกายที่ตอบสนองให้เราเอาชีวิตรอดไปจากช่วงเวลานี้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) พบว่า คนที่สามารถรับรู้ความเหนื่อยได้สอดคล้องกับเรี่ยวแรงที่ใช้ไปจริงๆ นั้น ช่วยให้สามารถทำงานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มคนที่รับรู้ความรู้สึกเหนื่อยได้น้อยกว่าความเหนื่อยจริงๆ ของร่างกาย เพราะการรับรู้ได้น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่าอยากพัก และใช้เรี่ยวแรงเยอะเกินข้อจำกัดของร่างกายโดยไม่รู้ตัว จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ดังนั้นการที่เรา ‘รู้ตัว’ ว่าเหนื่อย หรือรู้ลิมิตร่างกายตัวเองเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนจะรับมือกับความเหนื่อยล้า เพราะเหมือนเราได้สัญญาณเตือนจากร่างกายว่า ‘ถึงเวลาพักได้แล้วนะ’ ถึงแม้ช่วงที่พักเราอาจไม่ได้โปรดักทีฟ หรือตามโลกไม่ทันบ้าง แต่การฝืนทั้งที่เหนื่อยอาจจะได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงมากกว่า และจริงๆ เราชาร์จแบตกายและใจเต็มเมื่อไร ค่อยลุกมาวิ่งกันใหม่ก็นับว่ายังไม่สาย
พักยังไงให้หายเหนื่อยจริงๆ
แม้จะรู้ว่าเราควรพักผ่อนด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และขยับร่างกายบ่อยๆ แต่แค่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันก็ไม่ง่ายแล้ว แถมยังเหนื่อยเกินกว่าจะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าผู้คนกว่า 35% เหนื่อยเกินกว่าจะหันมาดูแลการกินและใช้ชีวิตแบบเฮลตี้
ส่วนผลสำรวจโดย YouGov poll ที่สอบถามผู้ใหญ่ในอังกฤษราวๆ 2,000 คนว่า อะไรทำให้ไม่ออกกำลังกายหรือกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่านี้ 29% ของผู้ชายและ 40% ของผู้หญิงตอบว่าป็นเพราะพวกเขา “รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป” รองลองมาคือขาดแรงจูงใจ (38%) ไม่มีเวลา (26%) work ไร้ balance (25%) และมีบางส่วนบอกว่าเป็นเพราะเรื่องค่าใช้จ่ายของการออกกำลังกาย (25%) เช่น การสมัครสมาชิกยิม ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี จนกลายเป็นวัฏจักรความเหนื่อยวกวนไปเรื่อยๆ
ถ้าใครกำลังรู้สึกแบบนี้แล้วไม่รู้จะรับมือยังไงดี เรามีทริกสำหรับการผ่อนคลายเบื้องต้น (นอกเหนือไปจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนให้พอและออกกำลังกาย) เผื่อจะช่วยให้เราได้ฟื้นฟูร่างกายได้ง่ายขึ้น
- ฝึกสมาธิโดยไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตาสูดลมหายใจเข้า-ออก เพราะหัวใจสำคัญคือการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน เพราะหลายครั้งความคิดเรากำลังฟุ้งซ่าน จมดิ่งจนเหนื่อยทั้งสมองและหัวใจ เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ อาจจะเริ่มด้วยการสูดลมหายใจลึกๆ แล้วลองถามตัวเองว่า ตอนนี้รู้สึกยังไง ร้อนหรือหนาว เสื้อผ้าที่สวมใส่มีสัมผัสแบบไหน เหมือนเราแยกร่างออกมานั่งสังเกตตัวเองโดยไม่ตัดสิน หรือจะลองฝึกหายใจเข้าลึกๆ 7 วินาที แล้วหายใจออก 11 วินาทีวนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายและระบบประสาทรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
- เขียนเพื่อจัดระเบียบความคิด โดยเฉพาะช่วงที่คิดมาก คิดฟุ้ง เราอาจจะลองเขียนลงในกระดาษโดยไม่สนไวยากรณ์ ไม่สนถูกผิด แค่เขียนสิ่งที่คิดลงไปเรื่อยๆ อย่างอิสระ บางทีเรื่องฟุ้งๆ อาจจะค่อยๆ ชัดขึ้นจนได้พบว่าปัญหาจริงๆ คือเรื่องไหน และช่วยให้ใจเย็นลงไปได้
- หลีกเลี่ยงการรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ หรือฝืนทำงานตอนรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งการศึกษาในปี 2019 พบว่า การฝืนเรียนรู้สิ่งใหม่ขณะที่ร่างกายยังเหนื่อย นอกจากจะส่งผลต่อทักษะการเรียนรู้ในตอนนั้นแล้ว ผลเสียยังลากยาวมาจนถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในวันถัดไปได้อีกด้วย
- สังเกตร่างกายตัวเองว่าเหนื่อยแบบไหน เพราะบางอย่างอาจเป็นเรื่องที่เรารับมือได้ แต่บางอย่างอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยฮาวเวิร์ด เลอไวน์ (Howard LeWine) แพทย์และบรรณาธิการบริหารของ Harvard Men’s Health Watch กล่าวว่า ความเหนื่อยล้าที่อาจเป็นสัญญาณว่าควรไปพบแพทย์ เช่น ความเหนื่อยนั้นยาวนานกว่า 1-2 สัปดาห์ มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำๆ หายใจลำบาก ไม่อยากอาหาร หรือตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยทั้งที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ หรือรู้สึกไม่มีแรงจูงใจให้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตในแต่ละวัน
แต่สุดท้ายแล้วการดูแลตัวเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้า โดย สการ์เล็ตต์ สเมาต์ (Scarlett Smout) นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้สัมภาษณ์กับ mamamia.com ว่าเรามักจะได้ยินคำแนะนำให้กินอิ่ม นอนหลับ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าเรื่องนี้ดีกับสุขภาพเราจริงๆ แต่เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่หลายคนต้องเผชิญปัญหานี้จนถึงขั้นวิกฤตแล้ว อีกเรื่องสำคัญที่เราไม่อาจละเลย คือการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือหาวิธีรับมือในภาพที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้น
เพราะความเหนื่อยล้าที่ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งคงจะดีกว่านี้ถ้าเรามีสภาพสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้สร้างพื้นฐานสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับเรา
อ้างอิงจาก