‘ชังชาติ’ ‘เด็กรุ่นใหม่ไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน’ ‘ลืมบุญคุณประเทศ’
ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง ที่เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ออกมาพูดถึงปัญหา และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในสังคม วาทกรรมทางการเมืองหลายอย่างก็เกิดขึ้นเพื่อออกมาโจมตีคนรุ่นใหม่ และมีการมองว่าการที่พวกเขาออกมาเรียกร้องเป็นเพราะไม่รักชาติ
แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาเอง พวกเขาก็มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นเพราะพวกเขารักชาติ จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในงานเสวนา #ถ้าการเมืองดี นักเรียน-นักศึกษาจะ ‘รักชาติ’ กันอย่างไร? ซึ่งจัดโดยคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เชิญชวนนักเรียน-นักศึกษา 5 คน ที่เรียกร้องและขับเคลื่อนสังคมในมุมต่างๆ มาพูดคุยกันถึงคำว่า ชาติ ในมุมมองของพวกเขา และพวกเขามองถึงเรื่องความรักชาติกันอย่างไร
ในงานเสวนานี้ ซึ่งมี อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ อาจารย์และน้องๆ ทั้ง 5 คน ก็ได้ชวนเราคิดในมุมต่างๆ ทั้งในแง่ของรัฐสวัสดิการ การศึกษา และศาสนา ซึ่งชวนให้เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้วหากการเมือง และสังคมดี พวกเขาเองก็พร้อมจะรักชาติ โดยที่ไม่ต้องปลูกฝัง หรือสอนให้พวกเขาท่องจำด้วย
ชาติและการเมืองไม่เคยแยกออกจากกัน
หายคนอาจจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ ‘ขิม – ธนาภรณ์ พรหมภัทร์’ นักเรียนจากสาธิตมหาสารคามได้มองว่า เธอมองว่า เรื่องของชาติกับการเมือง ไม่เคยแยกจากกันเลย และแรกเริ่มนั้น ‘ชาติ’ ก็เป็นสิ่งที่ถูกสถาบันทางการเมืองสร้างขึ้นมา มีชนชั้นนำมีสิทธิกำหนดความหมาย บริบทแรกเริ่มเหมาะสม เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องของพลเมือง แต่ความหมายในอดีตนั้น ไม่สามารถปรับใช้ในบริบทปัจจุบัน เพราะว่า ‘ชาติ’ มาจากที่ประชาชนทุกคนสามารถร่วมกันสร้าง และกำหนดความหมายได้
ขิมเปรียบเทียบกับชาติ เป็น Project ว่า ประชาชนควรร่วมสามารถสร้างความหมายของชาติได้ ไม่ใช่แค่ใหห้คำนี้มีความหมายโดยผ่านการมองจากคน หรือกลุ่มๆ เดียว เพราะความหมายที่ได้มานี้ ไม่ได้เหมาะกับทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม รวมถึงชาติในโลกประชาธิปไตยนั้นต้องมีการร่วมกันสร้าง ประดิษฐ์ร่วมกัน ซึ่งแม้ว่าจะใช้เวลานาน แต่เธอมองว่า มันจะยั่งยืน
เธอยังมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการประดิษฐ์ ไม่มีอะไรจริงแท้ และนิยามของชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนอยู่รวมกัน เมื่อเวลาเปลี่ยนไปชาติก็ถูกเปลี่ยนแปลง จากการนิยามโดยกษัตริย์ในอดีต มาเป็นนิยามโดยประชาชน ซึ่งสถาบัน และองค์กรทางการเมืองต่างๆ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเหมายของชาติที่เปลี่ยนแปลงไป
การสร้างความหมายของชาติ ในมุมของขิมยังหมายถึงมายาคติ ที่โดยทั่วไปเมื่อที่ใดมีมายาคติกระแสหลัก ก็จะมีมายาคติต่อต้านตามมาด้วย ซึ่งผู้ที่สร้างความหมายของชาติต้องใจกว้างมากพอ ที่จะมีพื้นที่ให้คนคิดเหมือน หรือคิดต่าง
“หนึ่งในผู้ถ่ายทอดมายาคติ คือระบบการศึกษา ในวิชาสังคมศึกษา รัฐเข้ามาแทรกแซงในวิชานี้ เพื่อจะทำให้ประชาชนค่อนข้างเชื่อง ว่าต้องเชื่ออะไร ต้องรักอะไร” ขิมระบุ โดยเธอมองว่า รัฐใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะหล่อหลอมนักเรียนให้เป็นไปตามผู้มีอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยม 12 ประการ หรือวิธีการสอนแบบท่องจำในกล่องความรู้ที่แคบมากๆ ให้เด็กเรียนรู้ในมิติเดียว ไม่สอนเรื่องสิทธิ และทำให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวเด็ก ดูเป็นสิ่งน่ากลัว ทั้งๆ ที่มันคือความเป็นอยู่ของเรา
ดังนั้นขิมจึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนการสอนสังคม ให้เด็กสามารถตั้งคำถาม และมีวิจารณญาณด้วย
นอกจากนี้เธอยังคิดว่าการเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่ดี โดยการเปรีบเทียบว่า หากการเมืองเป็นคน คงเป็นภาพของคนที่นิสัยไม่ดี ไม่น่ารัก ไม่ฟังเสียงคนอื่น ซึ่งหากการเมืองดี เหมือนคนที่น่ารัก เธอก็สามารถรักชาติได้เองด้วย โดยเธอเองก็ฝันถึงสังคมที่ประชาชนร่วมสร้างและพัฒนาชาติได้ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ มีความเป็นคนเท่ากัน มนุษย์มีโครงสร้างพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเธอบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมดาพื้นฐานมากๆ แต่ว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเธอเลย
การเมืองของคนรุ่นใหม่จะขาวสะอาดมากขึ้น
‘การเมืองเป็นเรื่องสกปรก’ ประโยคที่เราหลายคนคงเคยได้ยินมา ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากยุ่ง หรือสนใจเรื่องการเมือง อั่งอั๊ง-อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนชั้น ม.5 ได้เล่าว่า จากประสบการณ์การเรียนในโรงเรียนนานาชาติ เธอพบว่าเพื่อนๆ หลายคน ถูกสอนมาในกรอบความคิดนี้ ทำให้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก
อั่งอั๊งมองว่า การนิยามการเมืองแบบนี้ และการให้ภาพการเมืองว่าเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นการเมืองของคนรุ่นก่อน และในฐานะคนรุ่นใหม่เธอหวังว่าการเมืองขาวสะอาดมากขึ้น ทำให้เราจะหลุดพ้นจากสังคมแห่งความสิ้นหวัง และความกลัว และทำให้ทุกคนได้มองว่าการเมืองเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส ฟุธบาท หรือเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของเรา ทุกอย่างล้วนเกี่ยวกับการเมือง
แม้ว่าเธอจะอยู่ชั้น ม.5 แต่อั่งอั๊งเองก็เล่าว่า เธอเห็นภาพการเมืองในตอนนี้ที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำ มีเด็กนักเรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อมาทำงาน มีนายทุนกดขี่ มีทุนผูกขาด เป็นรัฐที่เงินประกันสังคมไม่ได้ถูกเอามาเยียวยา มีระบบตุลาการไม่มีความเที่ยงธรรม และคนไทยเองก็ไม่พ้นจากระบบอำนาจนิยม ดังนั้นเธอจึงอยากเห็นสังคมที่เท่าเทียม การศึกษาที่เท่ากัน ที่ทุกคนเท่ากัน อยู่ใต้กฎหมาย และรัฐธรรมนูญเดียวกัน ซึ่งเธอมองว่าหากสังคมไทยมองว่าคนเท่ากัน ประเทศจะพัฒนาได้
“เมื่อคนรุ่นใหม่ออกมาพูดถึงปัญหา ก็ถูกตีตราว่าชังชาติ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ใช้สร้างความแบ่งแยก คำนี้ปราศจากความเป็นจริง ถ้าชังชาติจริง คงไม่ออกมาพูด และคำว่ารักชาติ ไม่ได้แปลว่ารักด้านเดียว ต้องมีวุฒิภาวะมากพอรู้ว่าอะไรถูก หรือผิด ไม่เชิดชูประวัติศาสตร์ ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะ การเมืองที่ดี คือการเมืองที่เราออกมาวิจารณ์การเมืองได้อย่างเปิดเผย” อั่งอั๊งเสนอ
ทั้งอั่งอั๊งยังกล่าวอีกว่า เราไม่อาจะเอาเรื่องศาสนา หรือบุญบาป มาคาดหวังกับระบบการเมืองได้ “ถึงแม้ว่าเราจะทำบุญกี่ชาติ ถ้าระบบการเมืองไม่เปลี่ยน รัฐธรรมนูญไม่เปลี่ยน ถ้าเราเกิดใหม่ เราจะเกิดในลูปเดิม ไม่สามารถพึ่งบุญ หรือบาปได้” ดังนั้นการแก้ปัญหา ต้องแก้ที่ระบบ ไม่ใช่ปัจเจก เพราะถ้าระบบดี ปัจเจกถึงจะเชื่อระบบ และก็จะพัฒนาควบคู่กันไป
ถ้าคนดี ไม่ว่าระบบอะไรก็จะดีตาม
ชังชาติ หรือรักชาติ เป็นคำที่ไม่มีนิยามความหมายตายตัว ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าจะให้ความหมายมันอย่างไร นี่คือส่ิงที่ ‘ลี เกียรติวงศ์ สงบ’ จากกลุ่มไทยภักดี ประเทศไทยเสนอ โดยเขามองว่าคนที่มองคนละฝั่งกับเขา ก็อาจจะมองว่าเขาชังชาติก็ได้
ลีเล่าประสบการณ์ชีวิตของเขาว่า เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด และเขารักวิถีชีวิตแบบชนบท ซึ่งในมุมมองประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ เขาคิดภาพว่า คนส่วนใหญ่จะได้อะไร และประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เขาสัมผัสคือ การให้ และได้มา เสียสละ เพื่อจะได้รับ
เขายังเสนอว่า ควรมีการนำเรื่องของศาสนา มาเพื่อให้คนได้พัฒนาตัวเอง และยังมองว่าการเมือง กับนักการเมืองแยกจากการกัน ระบบ ละคนก็แยกจากกัน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับคำที่บอกว่า ถ้าระบบดี คนก็จะดี เพราะหากระบบดี แค่คุณภาพของคนยังต่ำ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วย
ลียังคิดว่า ปัญหาทางการเมืองและสังคมต่างๆ ไม่ได้เกิดในยุคของ คสช.เท่านั้น แต่เกิดมาก่อนหน้านั้นยาวนานแล้ว และเขาคิดว่าไม่มีรัฐไหนที่ดูแลคนได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการเมืองที่เขาคาดหวังจึงอยู่ที่คน ซึ่งเป็นผู้ใช้ระบบมากกว่า เขาจึงเสนอว่า เราควรพัฒนาคนให้ดีก่อน โดยการหันไปหาระบบศาสนา ซึ่งทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ดังนั้นถ้าคนมีศาสนาก็จะไม่ทำบาป รู้จักกรอบคำว่าพอดี หน้าที่ ขอบเขต สิทธิ หน้าที่ ถ้าไร้ซึ่งหน้าที่ สิทธิก็จะมากเกิน และเกินขอบเขต
“ถ้าคนดี ระบบแบบไหนก็นำพา ทำให้ประชาชนมีความสุขได้ อยากให้พัฒนาคน เพื่อคนจะพัฒนาระบบต่อไป” ลีเสนอ
การจะก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องมีการขัดแย้งทางความคิด
ภาพเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคิดแตกต่างจากผู้ใหญ่ในรุ่นก่อน การขัดแย้งทางความคิด และอุดมการณ์ที่แตกต่างของคนต่างวัย เป็นสิ่งที่เราพบเห็นในช่วงนี้ ซึ่ง ‘มะฮ์ดี – จักรธร ดาวแย้ม’ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากกลุ่ม Thammasat University Marxism Studies ก็มองว่า ความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และการก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องขัดแย้งทางความคิด
มะฮ์ดีมองว่า คำว่าชังชาติ เป็นวาทกรรมที่ถูกยกขึ้นมา เพื่อกีดกันคนบางกลุ่มที่แตกต่างให้ออกไป ซึ่งหากคนที่คิดต่างจะถูกหาว่าชังชาติ เขาก็จะขอเรียกคนที่โจมตีด้วยคำนี้ โดยการใช้คำว่า ‘ฉุดชาติ’ ทั้งเขายังเห็นต่างจากลี เพราะเขามองว่าไม่อยากภาระให้กับปัจเจก ว่าถ้าระบบดี แล้วถ้าคนจะดี แล้วระบบดี เพราะมันต่างมีความสัมพันธ์กัน ตัดไม่ขาด แต่การที่มองว่าคนดี และระบบดี เป็นการผลักภาระ ทำให้เรามองข้ามสิ่งที่เรียกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ
รัฐสวัสดิการ ที่ดูแลคนในสังคม เป็นสิ่งที่มะฮ์ดีเรียกร้องผ่านโครงสร้างทางสังคม ทั้งในประเด็นการต่อสู้ทางความคิด มะฮ์ดียังชี้ว่า เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาและ แม้ความคิดใหม่ๆ จะถูกผลักออกไป แต่มันก็กลับมา และยิ่งหลายครั้งเข้า ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้ชาติไม่ก้าวหน้า ทำให้คนไม่สามารถร่วมกันสร้างชาติได้
“ฝันถึงชาติแบบไหน และจะร่วมกันสร้างชาติอย่างไร สังคมเราควรเปิดให้มีการตีความความหมายคำว่าชาติที่กว้าง และหลากหลาย ทันกับความคิดที่ก้าวหน้า” มะฮ์ดีเสนอ ทั้งเขายังมองว่า หากความคิดต่างๆ ก้าวหน้า และชาติอยู่ที่เดิม ชาติก็ต้องเปลี่ยนแปลง โดยย้ำว่า ความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นปกติ การบอกไม่ให้คนไม่เห็นต่าง และไม่เปลี่ยนแปลงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สังคมควรทำ คือการประสานความขัดแย้งทางความคิด
ในประเด็นการต่อสู้ของประชาชน เขายังมองว่า หากเป็นไปได้ ก็ไม่มีใครอยากลงถนน ถ้าสร้างชาติผ่านระบบรัฐสภาได้ แต่ที่การต่อสู้ทางความคิดลงมาสู่ถนน เพราะผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และถึงความคิดเห็นต่างนี้ถูกผลัก สุดท้ายแล้วก็จะมีความคิดใหม่ๆที่ผลักกลับมา ของคนที่อยากสร้างชาติในยุคสมัยของตนเอง
ถ้าการเมืองดี เด็กจะมีความรู้สึกรักชาติเอง
ในประเด็นการเรียกร้องทางการเมืองในช่วงนี้ นอกจากประเด็นทางสังคมแล้ว เรื่องหนึ่งที่ถูกผลักดันและพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือประเด็นการศึกษา ‘พลอย – เบญจาภรณ์ นิวาศ’ จากกลุ่มนักเรียนเลว ในฐานะนักเรียน เธอมีความฝันว่า หากฝันถึงสังคมแบบไหน ก็ต้องสนับสนุนให้การศึกษาผลักดันคนในระบบให้เป็นแบบนั้น
พลอยยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ประชาชนมีระเบียบวินัย ก็มาจากการศึกษา การปลูกฝัง และความเชื่อมันในรัฐบาล ที่มีการบริหารที่ดี มีระบบที่ดี แตกต่างจากไทย ที่สอน และปลูกฝังแต่ความรักชาติเป็นเป็นชุดความคิด ท่องจำ ต้องภูมิใจในสิ่งที่ประเทศไทยเป็น มีอาหาร เป็นเมืองพุทธ มีค่านิยม 12 ประการ ทั้งๆ ที่สังคมก็ยังมีปัญหาต่างๆ เช่นอาชญากรรม ซึ่งการศึกษาแบบนี้เป็นการให้คิดแบบเดียว ไม่ให้ต่อยอดความคิด และไม่ได้ให้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ด้วย
เวลาที่นักเรียนออกมาเรียกร้อง หรือชุมนุม มักถูกตั้งคำถามว่าพวกเขาทำหน้าที่ของตนเองอย่างการเรียนได้ดีพอหรือยัง ซึ่งพลอยก็ชี้ว่า หากระบบการศึกษามีปัญหา กำลังละเมิดสิทธิบางอย่าง เช่นเรื่องทรงผม นักเรียนก็สามารถออกมาเรียกร้องเพื่อให้มีการพัฒนา ทั้งๆ ที่ทำหน้าที่อย่างการเรียนต่อไปได้ ด้วย ทั้งพลอยยังชี้ว่าหากการเมืองดี การศึกษาต่างๆ ก็จะดีไปด้วย
ซึ่งพอเราเกิดการตั้งคำถามต่อระบบ เราก็จะเกิดความอยากที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเรื่องปกติ ซึ่งพลอยยังมองว่า การปลูกผังให้รักชาติแบบท่องจำจะไม่มีความจำเป็นด้วย หากประชาชนอยู่ในคุณภาพชีวิตที่ดี พวกเขาจะภูมิใจเอง รู้สึกรัก รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเจ้าของชาติด้วยตัวเองเลยด้วย
สรุปแล้ว ทุกคนต่างมองว่าคนรุ่นใหม่ที่ออกมามาพูดถึงปัญหาบ้านเมืองนั้น ไม่ได้ชังชาติ และคำว่า ‘ชาติ’ เป็นนิยามที่ต้องเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ทั้งการศึกษาไทยเองยังต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการปลูกผังเรื่องความรักชาติ และหากการเมืองดีอย่างชื่องานเสวนา พวกเขาเองก็พร้อมที่จะรักชาติด้วย