รักชาติ หรือชังชาติ กลายเป็นคำยอดฮิตขึ้นมาในบริบทการเมืองไทย ที่หลายครั้งถูกนำมาใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไปถึงการสร้างนิยามใหม่ๆ ที่แต่ละกลุ่มก็มองคำนี้ในบริบทที่แตกต่างกัน
แต่อยู่ๆ ในวงการศึกษาไทยก็เกิดประเด็นขึ้นมา เมื่อมีการออกมาเปิดเผยร่างวิชา ‘รักชาติยิ่งชีพ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเลือกของมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะวิทยากรประกอบวิชาอีก 18 ราย ที่ล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการการเมืองไทย โดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิชานี้อย่างกว้างขวาง
The MATTER ได้พูดคุยกับ ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ร่างและเสนอเปิดวิชานี้กับทางมหาวิทยาลัย ถึงกระแสที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิชา ‘รักชาติยิ่งชีพ’ ความสำคัญของนักเรียนที่จะได้ถกเถียง และเรียนรู้ในเรื่องของชาติ และสิ่งที่คาดหวังว่านักเรียนจะได้จากวิชานี้กัน
หลังจากอาจารย์โพสต์รูปเนื้อหาในวิชานี้ไป ก็เกิดเป็นกระแสพูดถึงกว้างขวางมาก เช่น วิทยากรยังไม่ได้ถูกรับเชิญ หรือวิชานี้เปิดสอนแล้วจริงๆ แล้วรายละเอียดของวิชานี้คืออะไร
ขอออกตัวก่อนว่า ตัวนี้มันไม่ใช่หลักสูตร มันคือรายวิชา เรียนแค่เทอมเดียวก็จบแล้ว และเป็นวิชาที่อยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หรือ general education หมวดนี้จะเป็นวิชาเลือก ไม่ได้ขึ้นตรงต่อคณะอะไร มันจะออกมาเป็นแนวความรู้รอบตัว ทักษะชีวิต อารยธรรม สุขภาพ เป็นต้น อย่างผมเองก็เคยเปิดหมวดรายวิชาแบบนี้มาแล้ว ชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรม คือให้เด็กได้ทำงานเป็นทีม แก้โจทย์ร่วมกัน เป็นต้น ฉะนั้น มันไม่ใช่วิชาในคณะและไม่ใช่วิชาบังคับ
ส่วนอีกประเด็นนึงคือว่า กระบวนการของการเปิดวิชานี้อยู่ในการดำเนินการ ซึ่งวิธีการในมหาวิทยาลัยคือต้องเริ่มร่างรายวิชามาก่อนว่า จะมีอะไรบ้าง อยากให้ใครมาสอนบ้าง ตรงนี้ยังไม่เป็นทางการ สามารถจะปรับเปลี่ยนได้ เพิ่มลดได้ แล้วร่างนี้เราก็จะส่งให้สภาวิชาการของมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา และสภาก็จะแนะนำว่าต้องปรับตรงส่วนไหน ปรับวิทยากรไหม ซึ่งพอผ่านภาควิชาการถึงจะส่งจดหมายเชิญวิทยากร
แต่เนื่องจากว่าผมไปโพสต์ตัวร่างวิชาทางเฟซบุ๊ก ซึ่งผมก็บอกไว้ว่าเป็นร่างวิชา ได้มีคนแชร์ไปในวงกว้างมาก พอมีสำนักข่าวมาทำข่าวก็ยิ่งขยายไปเรื่อยๆ หลายคนก็เลยเข้าใจผิดว่ามันเป็นหลักสูตร ซึ่งมันไม่ใช่ และคนเข้าใจว่ามันเปิดแล้ว มหาวิทยาลัยให้ผ่านแล้ว ซึ่งยังไม่ใช่ เช่นกัน และส่วนสุดท้าย หลายคนเข้าใจว่าผมไปแอบอ้างชื่อวิทยากร แต่จริงๆ อันนี้เป็นชื่อที่ผมเสนอไปกับสภาของมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะเข้าใจภาพรวมและชี้แนะได้ว่า ควรเพิ่มหรือลดอะไร เพื่อจะเชิญคนได้
ทำไมอาจารย์ถึงอยากเปิดวิชานี้ มีความตั้งใจอะไร
ผมเป็นอาจารย์สาขาชีวเคมี ไม่ใช่รัฐศาสตร์ หรือสายสังคม แต่วิชานี้เป็นหมวดศึกษาทั่วไป ดังนั้นอาจารย์ก็มีสิทธิในการสอนอะไรก็ได้ที่คิดว่าน่าสนใจ ประเด็นของผมคือ ผมและเพื่อนอาจารย์เราคุยกันว่า ตอนนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจในสังคมเรา และเราก็เห็นว่าประเด็นเรื่อง ‘รักชาติ’ หรือ ‘ชังชาติ’ มันชัดเจนมากในสังคมเรา ช่วงปีที่ผ่านมา
และผมก็คลุกคลีกับนิสิตพอสมควร ส่วนหนึ่งที่คุยด้วย เขาก็สับสนว่าคำว่ารักชาตินี่คืออะไรกันแน่ เพราะสมมติย้อนกลับไป 10-20 ปีก่อน คำว่า รักชาติเป็นคำที่บวกมาก แต่พอในช่วงหลังๆ คำว่า รักชาติก็มักจะตามมาด้วยคำว่าชังชาติ คนที่เป็นนิสิตรุ่นหลังๆ เขาก็เล่าให้เราฟังว่า พอเขาเสนอไอเดียอะไรแปลกๆ บางทีก็จะโดนหาว่าชังชาติบ้าง โดยเฉพาะจากฝั่งอนุรักษ์นิยมหน่อยๆ
ปัจจุบันมีเวทีที่ให้ทั้งฝั่งเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยมได้แสดงความเห็น ต่างฝ่ายก็ต่างมีสื่อ สำนักข่าว ผู้พูดในฝั่งตัวเอง แต่ว่าส่วนใหญ่เราจะเห็นกลุ่มผู้ฟังก็จะเป็นคนในกลุ่มเดียวกัน เวทีเสรีนิยม คนฟังก็จะเป็นเสรีนิยม เวทีของอนุรักษ์นิยม คนฟังก็เป็นแบบเดียวกัน
ดังนั้นคนกลุ่มนี้ นานวันก็จะแตกต่างกันออกไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะในประเด็นเดียวกัน แค่คำว่ารักชาติ หรือชังชาติ ก็ตีความกันไปคนละเรื่องแล้ว
ผมก็มองว่า สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยน่าจะมีบทบาทสำคัญในการหาทางออกในข้อขัดแย้งนี้ และมองว่าเราควรจะเอาประเด็นตรงนี้มาตีแผ่ให้เด็ก ในบริบทของความเป็นวิชาการ ให้นิสิตได้เรียนรู้และคิดวิเคราะห์
ประเด็นที่ตามมา หลายคนก็มองว่าทำไมอาจารย์ร่างวิชาเอียงไปฝั่งอนุรักษ์นิยมจ๋าเลย รวมถึงรายชื่อวิทยากรด้วย เหตุผลก็คือ นิสิตส่วนมาก คนรุ่น Gen Y หรือมิลเลนเนียมมักจะเอียงมาฝั่งเสรีนิยม จากผลสำรวจโพล และจากประสบการณ์ตรง เราจึงมองว่า ถ้าเชิญเสรีนิยมมาเป็นหลักอาจจะไม่ได้อะไรมาก
ข้อสองคือ ฝั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยม ประเด็นเรื่อง ‘รักชาติ’ มันเป็นแกนของเขาอยู่แล้ว ทั้งกับ 18 วิทยากร เรารู้ว่าเขารักชาติแน่นอน เป็นจุดแข็งของเขาอยู่แล้ว แต่ว่าฝั่งเสรีนิยม ก็จะมีความเห็นที่ต่างกันออกไป ว่ารักชาติใช่ไหม หรือไม่เหมาะสมไหมในบริบทปัจจุบัน เราเลยคิดว่ามันน่าสนใจในบริบทสังคมนี้ ถ้าเราพาวิทยากรมาเจอกับนิสิตที่ออกไปทางเสรีนิยม ดังนั้นมันก็จะมีคู่ตรงข้าม ซึ่งคืออนุรักษ์นิยมที่เป็นผู้สอน และผู้เรียนที่เป็นเสรีนิยม
สิ่งที่เราอยากจะเน้นเลยคือ วิทยากรไม่ได้มาในฐานะผู้นำการเมือง แต่มาในฐานะอาจารย์ ไม่ได้ออกมาปลุกระดมว่าเราต้องขับใครออกไป ต้องไล่ใคร ดังนั้นประเด็นอะไรที่เขามีอยู่ทั้งประเด็นศาสนา การทหาร รัฐธรรมนูญ ก็อยากให้เข้ามาสอนในมุมของเขา และให้ความรู้
ในอีกมุมนึงนิสิตก็ไม่ได้มาในฐานะผู้ประท้วง แต่มาในฐานะผู้เรียน แล้วสิ่งที่เราอยากจะวางไว้เป็นโปรเจ็กต์ หรือการบ้านก็คือว่า จะให้นักเรียนฟังหลักการพวกนี้ แล้วเขาก็จะสกัดโครงสร้างของตรรกะของแนวความคิดพวกนี้ออกมา แล้วลองดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เขาเห็นตรงกัน เพราะว่าเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันทุกเรื่อง บางประเด็นก็อาจจะเห็นตรงกัน ประเด็นที่ขัดแย้งเราก็มาดูว่า ทำไมถึงขัดแย้ง ตรรกะคืออะไร
ผมมองว่าพื้นที่แบบนี้ มันจะเป็นการทดลองเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางการเมือง เราเอามาคุยในบริบทที่เป็นวิชาการขึ้น ไม่ใช่การดีเบต ดีเบตเรามีคนทำมาอยู่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่ เราเอาเนื้อหาเนื้อๆ เลยมาเล่าให้ฟัง แล้วคนฟังก็คิดต่อไป
แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิทยากรฝั่งเสรีนิยมเลย ช่วงหลังจากที่ผมโพสต์ไปแล้ว ก็มีคนที่เสนอตัวเองเข้ามา ทั้งนักการเมือง และอาจารย์ ซึ่งเป็นสายเสรีนิยม ที่อยากมาช่วยสอนในมุมของเขา ตัวนิสิตหลายคน ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ มีมาถามว่าทำไมดูขวาจัดขนาดนี้ แต่พอเราอธิบายให้เข้าใจ เขาก็บอกว่าน่าสนใจ และเสนอชื่อวิทยากรเพิ่มมาด้วย หรือพอเราคุยกับอาจารย์คนอื่นๆ เราก็เห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
มีเกณฑ์ หรือการตัดสินอะไรในการเลือกวิทยากรทั้ง 18 คนนี้มา
จริงๆ ไม่ใช่ผมเลือกคนเดียว มีเพื่อนๆ และนิสิตหลายคนที่ช่วยเสนอมา ตอนแรกผมโพสต์ชื่อวิชา และกรอบของวิชา ก็มีคนเสนอว่าหัวข้อแบบนี้ น่าจะเป็นคนนี้มาพูด เพราะว่าเป็นคนที่ใช้คำพวกนี้จริงๆ เป็นคนที่อยู่ในบทบาทนี้ ก็เลยมีรายชื่อนี้ขึ้นมา และตัวรายชื่อนี้เองก็ยังไม่ใช่ไฟนอล อันนี้ฝากไปถึงคนที่อ่าน รวมไปถึงวิทยากรที่อาจจะมาอ่านว่า ผมไม่ได้ต้องการจะแอบอ้างชื่อหรืออะไร เพราะชื่อที่เสนอไป ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือแม้แต่หัวข้อสอน ถ้าคิดว่าไม่ได้เหมาะกับเรื่องนี้ หรือว่าไม่ได้ชำนาญเรื่องนี้ ก็สามารถเสนอมาได้
อาจารย์คิดว่าทำไมนักเรียน หรือนิสิต ต้องมาเรียนเรื่องชาติ หรือสนใจประเด็นนี้ด้วย
ผมว่าเราทุกคนก็รักชาติกันหมด แต่อาจจะรักในคนละมุม ชาติในนิยามของผม คือยูนิต หรือหน่วยนึงของสังคมที่ใหญ่ขึ้นมา ซึ่งมีระบบบริหารงาน กฎหมาย การจัดการทางเศรษฐกิจ บริหารอำนาจชัดเจน ซึ่งสุดท้ายเรื่องชาติ การเมือง หรือประเด็นความขัดแย้ง เราหนีมันไม่พ้นหรอก ไม่ว่าจะใครก็ตาม แม้เราจะไม่ชอบพูดเรื่องนี้ แต่พอเราออกไป เราก็ต้องเจอกับมัน
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในรั้วมหาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ สำรวจ และลองผิดลองถูก ควรจะเป็นที่ที่ดี ที่ สามารถเอาประเด็นเหล่านั้นขึ้นมา และอีกประเด็นที่อยากจะเน้นย้ำคือ อันนี้ไม่ใช่วิชาบังคับ เป็นหนึ่งในวิชาเลือก ดังนั้นคนที่มาเรียนไม่ได้ถูกบังคับมา แต่เป็นคนที่สนใจอยากรู้ อยากตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว
หลายคนมองว่า วิชาแบบนี้จะล้างสมองเด็ก หรือในบริบทการเมืองปัจจุบันเอง ก็มักมีการมองว่า ครู หรืออาจารย์มีบทบาทในการล้างสมองเด็กด้วย อาจารย์คิดว่าอย่างไร
ในฐานะอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเราสอนคนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กมาเป็นวัยผู้ใหญ่ เป็นคนที่กำลังจะเรียนรู้ที่ยืนของตัวเองในสังคม หน้าที่ของเราไม่ใช่หน้าที่ชี้นำ หน้าที่ของเราคือ เป็นคนอำนวยความสะดวกในด้านการเรียนรู้ ท้าทายเขาให้ได้รู้จักแนวความคิดที่ต่างออกไป สุดท้ายเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไรก็เป็นสิทธิของเขา จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาตั้งแต่มีข่าววิชานี้ ผมลองถามนิสิตว่า เขาคิดว่าถ้าเข้าไปเรียนวิชานี้แล้ว จะโดนล้างสมองไหม เขาก็บอกว่าไม่ แต่ถ้ามันจะได้ความรู้รอบด้าน ก็ควรจะเชิญทุกฝ่าย เขาก็อยากจะเชิญฝ่ายอื่นๆ ด้วย และผมเองก็ยินดี
ถ้าสรุปก็คือ ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย เราเป็นกลางในแง่ที่ว่า เราจะไม่ไปสั่งให้นิสิตเชื่อ หรือไม่เชื่อ เราแค่เอาข้อมูลความรู้ตรงนี้มากองให้เขา เราอาจจะสอนเขาแค่กระบวนการคิด ว่านี่คือตรรกะที่ใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ และอันไหนคือหลักฐานที่น่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเชื่อถือ ให้นักเรียนตั้งคำถามเอง หน้าที่ของอาจารย์มีเท่านี้
‘รักชาติยิ่งชีพ’ หมายความว่าต้องรักชาติ หรือตั้งคำถามกับมันได้
สุดท้ายคำว่ารักชาติของผมก็มีความหมายไม่ต่างกับที่คุณให้ความสำคัญกับสังคมที่อยู่รอบๆ อย่างที่ผมบอกว่าชาติเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม คำว่ารักชาติในแต่ละยุค แต่ละสมัยความหมายก็ต่างกันออกไป หรือแม้แต่อยู่ในยุคเดียวกัน แต่ละคนก็ตีความต่างกันออกไป ถ้าผมเปลี่ยนจากคำว่าชาติ เป็นคำว่าครอบครัว เผ่า หรือศาสนา เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แต่ละคนก็จะมีกรอบไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่า คำว่ารักของเขาคือการทำตามกฎ ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร บางคนบอกว่า ต้องเสียสละมากกว่านั้น ต้องไปออกรบ ไปบริจาค ก็เป็นอีกนิยามนึง
เราอยากจะให้พื้นที่ตรงนี้ คนได้เอาความหมาย เอาคำนี้มานวด มาตีความหมายกัน และศึกษากันว่าเราหมายถึงอะไร เราไม่อยากจะบอกว่า รักชาติ คุณจะต้องทำตามข้อ 1 2 3 4 ตามนี้ เพราะว่าอย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่เด็กแล้ว ที่จะสั่งให้หันซ้าย หันขวาตามคำสั่งเรา และเขาเป็นคนที่จะดูแลประเทศต่อไปจากพวกเราในอนาคตข้างหน้า
ดังนั้นพวกเขาจะเป็นคนกำหนด ในวันที่คนรุ่นผม หรือคนรุ่นก่อนหน้าผมดูแลประเทศนี้ไม่ได้แล้ว เขาจะกำหนดเองว่า ชาติคือแบบไหน รักชาติคืออะไร เสียสละเพื่อชาติ ชังชาติ คลั่งชาติ คืออย่างไร นี่คือสิ่งที่เราจะต้องตั้งคำถาม และให้ความสำคัญ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครรักชาติมากกว่า ใครรักน้อยกว่า แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า คุณตีกรอบมันว่าอย่างไร และคุณจะประนีประนอม เอาความต่างที่ไม่เหมือนกันมาอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร
ความคาดหวัง และเป้าหมายของอาจารย์ ที่คิดว่านักเรียนจะได้ หลังจบวิชานี้ คืออะไร
สิ่งแรกคือ ผมอยากให้เขากล้าที่จะฟังสิ่งที่เขาไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่แรก อย่างหลายคนพอเห็นหัวข้อข่าวเรื่องวิชานี้ปุ๊ป หลายคนเข้ามาด่าผมแล้ว ยังไม่ได้อ่านข้างในเลย ผมอยากให้ฟัง หรือลองอ่านซักนิดนึง อาจจะไม่เห็นตรงกัน แต่อยากให้ลองฟังให้จบก่อนว่าความคิดของคนที่เห็นต่าง คืออะไร
อย่างที่สอง อยากให้เขาเราเรียนรู้ที่จะถอดสิ่งที่เป็นแก่น ที่เป็นสาระออกมาจากส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก เพราะหลายครั้งที่เราทะเลาะกัน เพราะเราเอาอารมณ์ เกลียดกัน ไม่เอาคนนั้น เกลียดคนนั้น อยากให้ลองดูว่าหัวใจคืออะไร
อย่างในรายวิชา มีการพูดเรื่องปฏิวัติรัฐประหาร ศาสนา สถาบันทหาร ประเด็นพวกนี้ แทนที่เราจะมาพูดว่า เอาการเกณฑ์ทหาร หรือไม่เอา เกลียดหรือไม่เกลียดทหาร เรามาคุยกันดีกว่าไหม ว่ากำลังพลเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เราควรจะได้กำลังพลนี้มาอย่างไร เราควรจะบริหารจัดการอย่างไร เอาส่วนที่เป็นเหตุเป็นผลออกมาจากประเด็นพวกนี้
สุดท้ายผมอยากให้เขาเรียนรู้ที่จะรักชาติในแบบของเขาเอง ผมขอลองตั้งคำถามว่า ถ้าคุณจะรักสังคมที่คุณอยู่ ไม่ว่าครอบครัว หรือเพื่อน เราจะรักสังคมนั้นได้ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ผมมองว่าสำคัญคือ เราต้องมีส่วนร่วมกับสังคมนั้น อย่างเช่นครอบครัว ถ้าไม่เคยสร้างอะไรด้วยกันเลย แค่กินข้าวแล้วก็แยกย้าย ก็จะแตกต่างกับครอบครัวที่มีส่วนร่วมสร้างบ้าน สร้างความเป็นบ้านไปด้วยกัน หรือกลุ่มเพื่อนที่เคยไปเที่ยว ไปผจญภัยด้วยกัน ไปหลงทางด้วยกัน เขาก็เป็นกลุ่มคนที่จะรักกัน อยู่ด้วยกันได้อย่างเคารพกัน สนิทกัน เพราะเขารู้ว่าเขามีส่วนในการสร้างมิตรภาพนี้ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นคำว่ารักชาติ ที่ผมใช้ในจุดประสงค์ในรายวิชาว่า ‘รักชาติอย่างถูกวิธี’ ถูกวิธีนี้คือ ไม่ใช่วิธีของผม ไม่ใช่วิธีของวิทยากร แต่เป็นวิธีที่เขาจะค้นพบหลังจากเรียนตัวรายวิชานี้ ซึ่งอันนี้เป็นความรักชาติที่ผมเห็นด้วย