ตอนที่จ่านิวร้องขอการคุ้มครองจากตำรวจ แล้วตำรวจยื่นข้อเสนอกลับมาว่า “จะคุ้มครองให้ หากยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง” นั้น มีใครสงสัยบ้างมั้ยครับ ว่าไอ้ข้อเสนอการแลกเปลี่ยนแบบนี้ มันวางฐานอยู่บนการใช้อำนาจแบบไหน? ผมคิดว่าประโยคสั้นๆ เนื้อหาง่ายๆ นี้ หากจะอธิบายถึงกลไกเชิงอำนาจของมันอย่างเป็นลำดับขั้นตอนจริงๆ แล้วค่อนข้างจะซับซ้อนวุ่นวาย (และอ่านยาก) ทีเดียวครับ และมันต้องย้อนกลับไปถึงการตีโจทย์ว่ารัฐคืออะไร? นิยามของรัฏฐาธิปัตย์อยู่ตรงไหน? กันเลยทีเดียวน่ะครับ
เมื่อมีการพูดถึงรัฐและอำนาจของรัฐในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์แล้ว คำนิยามอันดับแรกๆ ที่คนมักจะคิดถึงกัน นั่นก็คือ คำนิยามรัฐของมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่อธิบายไว้ในผลงานที่สุดแสนจะโด่งดังของเขาที่ชื่อ Politics as a Vocation หรือ “การเมืองในฐานะอาชีพ” โดยเวเบอร์ได้ให้นิยามกับรัฐหรือผู้ซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐว่าคือ
“ผู้ซึ่งชอบธรรมแต่เพียงหนึ่งเดียวในการใช้อำนาจทางกายภาพในขอบเขตพื้นที่หนึ่ง”
(…the monopoly of the legitimate use of physical force within the given territory.)
จุดหนึ่งที่สำคัญมากของนิยามของรัฐ หรืออำนาจของรัฏฐาธิปัตย์แบบเวเบอร์นั้นก็คือ ‘ความชอบธรรม’ ของการใช้อำนาจ เพราะเราทุกคนย่อมทราบดีว่า ในรัฐหนึ่งๆ หรือพื้นที่หนึ่งๆ นั้นย่อมมีคนที่ ‘ใช้ความรุนแรงหรือกำลังทางกายภาพ’ อื่นๆ นอกจากรัฐอยู่แล้ว แต่หากคนอื่นนอกเหนือจากรัฐ (หรือคนที่รัฐอนุญาตให้ใช้ได้ เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ใช้ความรุนแรงหรือกำลังทางกายภาพแล้วล่ะก็ คนผู้นั้นย่อมนับว่าเป็นผู้ซึ่งกระทำผิดเพราะการใช้อำนาจทางกายภาพนั้นมัน ‘ไม่ชอบธรรม’ อันนำมาซึ่งการลงโทษผู้ละเมิดข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจที่ว่านี้
ว่ากันอีกแบบก็คือ ภายใต้กรอบกติกาของรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว นิยามรัฐของเวเบอร์นั้นสัมพันธ์กับอำนาจในทางกฎหมายเสมอ เพราะกฎหมายหรือข้อตกลงร่วมของชุมชนมนุษย์ที่เรียกว่ารัฐนั้นคือเกณฑ์การกำหนดว่า ‘อย่างไร เงื่อนไขแบบไหนจึงจะเรียกว่าชอบธรรม และใครคือผู้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจนั้นๆ’ เช่นนั้นแล้ว การที่มอร์เตอร์ไซค์รับจ้างจะตีกันกลางเมือง ย่อมเป็นเรื่องไม่สามารถทำได้ เพราะมอร์เตอร์ไซค์รับจ้างไม่ได้มีความชอบธรรมทางอำนาจในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ หรือ การที่มีคนร้ายมากระทืบคุณเอกชัย หรือกระทืบจ่านิวก็ย่อมเป็นความผิด เพราะไม่ได้มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ตรากฎหมายจึงสำคัญอย่างมาก และผูกโยงอย่างแยกไม่ได้กับนิยามของรัฏฐาธิปัตย์ของเวเบอร์
คำอธิบายหรือการตีความกลไกหรือสถาบันที่ควบคุมอำนาจสูงสุดของชุมชนการเมืองมนุษย์ที่เรียกกันว่ารัฐชาตินั้นไม่ได้มีเพียงแต่ของเวเบอร์นี้เท่านั้น จริงๆ แล้วมีมากมายหลากหลายทีเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นนิยามของสายสกุลแนวคิดแบบไหน รัฐและรัฏฐาธิปัตย์ไม่เคยหนีห่างออกจากความสัมพันธ์กับ ‘อำนาจ’ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการปกครอง (governing power) ที่พูดมานี้ไม่ใช่อะไร เพียงแค่จะบอกว่าท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนิยามของรัฐตามแบบของเวเบอร์เท่านั้นก็ได้ หากแต่เพียงยอมรับเงื่อนไขร่วมคร่าวๆ ว่า อำนาจรัฐและรัฏฐาธิปัตย์สัมพันธ์อย่างแยกขาดไม่ได้กับอำนาจทางการปกครองก็พอแล้ว เพียงแค่ว่าที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ โดยส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างจะเอนเอียงเห็นด้วยไปกับนิยามแบบเวเบอร์ไม่น้อย
คำนิยามของเวเบอร์เองก็ถูกท้าทายมาโดยตลอดนะครับ ไม่ได้เป็นคำนิยามหลักแบบไร้การต่อสู้ต่อกร มีคำนิยามสายสำนักแอนเนลส์ (Annales School) ที่เน้นไปที่อำนาจในการเข้าถึงทรัพยากร หรือ มาร์กซที่อาจจะมองว่ารัฐชาติสมัยใหม่ได้กลายสภาพเป็นกลุ่มคณะบุคคลเพื่อจัดการกับกิจการส่วนร่วม (common affair) ของชนชั้นกระฎุมพีทั้งมวล เป็นต้น กระทั่งบางคนก็นิยมชมชอบที่จะใช้นิยามแบบแข็งทื่อหน่อยของอนุสัญญากรุงมอนเตบีเดโอ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the State) ที่นิยามตัวรัฐด้วยองค์ประกอบความเป็นรัฐ 4 อย่าง คือ ประชากร, เขตแดน, รัฐบาล, และอำนาจอธิปไตย ในความหมายของการเป็นที่ยอมรับโดยนานาชาติถึงการมีตัวตนและเอกราชของรัฐนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่านิยามรัฐของเวเบอร์นั้นดูจะถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงที่สุดก็ดูจะเป็นในช่วงสงครามโลก ไล่มาจนสงครามเย็น เรื่อยมาจนถึงตอนนี้นี่แหละครับ เพราะในสภาวะของสงครามแบบนี้ ‘ความเป็นหนึ่งเดียวของการใช้อำนาจในทางกายภาพอย่างชอบธรรม’ นั้นดูจะไม่ค่อยเป็นหนึ่งเดียวนัก กระทั่งในพื้นที่เฉพาะหนึ่งๆ อย่างสงครามเย็นที่มีการใช้ ‘สงครามตัวแทน’ เป็นจำนวนมาก เช่น ในสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ที่มหาอำนาจใช้พื้นที่ของรัฐอื่นในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพแทนที่พื้นที่ของตนเอง หรือการใช้อำนาจของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนกระทั่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหรือการแทรงแซงเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian intervention) ต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1990s-2000s ก็ตามที นิยามรัฐในความหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวในการถือครองอำนาจทางกายภาพนั้นดูจะสั่นคลอนลงไป และผมเองก็เห็นด้วยเช่นนั้น แม้โดยทั่วๆ ไปแล้วผมจะเห็นด้วยกับนิยามของเวเบอร์ก็ตาม
ช่องโหว่ของนิยามรัฐที่เวเบอร์ได้ให้ไว้นั้น สามารถทำความเข้าใจ—หรือพูดอีกแบบก็คือ ‘หาทางอุดช่องว่างนิยาม’ ได้ด้วยแนวคิดทางปรัชญากฎหมายที่วางรากฐานไว้โดยคาร์ล ชมิดต์ (Carl Schmidt)โดยชมิดต์ได้เสนอความหมายของรัฏฐาธิปัตย์ หรือ The Sovereign อย่างน่าสนใจว่า คือผู้ซึ่งมีอำนาจในการกำหนด ‘สภาวะยกเว้น’ หรือ state of exception ซึ่งแนวคิดเดียวกันนี้ต่อมาถูกนำไปพัฒนาต่อโดยจอร์จิโอ อะแกมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญากฎหมายชาวอิตาลี ซึ่งเดี๋ยวผมจะค่อยพูดถึงต่อไป
ในช่วงแรกๆ การใช้งานคำว่าสภาวะยกเว้นนั้น แทบจะถูกแทนที่ด้วย ‘สภาวะฉุกเฉิน’ ได้เลย
เพราะสภาวะยกเว้นในทางกฎหมายนั้นมักจะถูกยกมาใช้ในช่วงสภาวะคับขันทางด้านความมั่นคงโดยเฉพาะระดับการเกิดสงครามนั่นเอง อย่างรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ของสาธารณรัฐไวมาร์ที่แสนจะโด่งดังเองก็ได้ระบุไว้ว่าภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง (ส่วนใหญ่ก็คือพวกเรื่องความมั่นคงนั่นแหละครับ) ให้อำนาจกับประธานาธิบดีในการใช้มาตราการเฉพาะหน้าใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาล่าง (Reichstag) ก่อน ซึ่งอำนาจที่ว่านี้รวมไปถึงการประกาศสภาวะฉุกเฉินด้วย
อย่างไรก็ดีต่อมาการใช้คำว่า ‘สงคราม’ เองนั้นก็มีความ ‘เลื่อนไหล’ มากขึ้น สงครามในนิยามแบบ ‘สงครามเต็มรูปแบบ’ หรือ total war นั้นไม่ใช่เพียงรูปแบบเดียวของสงครามอีกแล้ว เราพบทั้งสงครามเพื่อการปลดปล่อย (emancipation war), สงครามต่อต้านยาเสพติด (war on drug), สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (war on terror), สงครามกับโรคเอดส์ (war on AIDs), สงครามทางเศรษฐกิจ (economic war), สงครามทางวัฒนธรรม (cultural warfare), สงครามเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian war) เป็นต้น ว่ากันอีกแบบก็คือ ขอบเขตของสิ่งที่ถูกนับว่าเป็นความรุนแรงหรือภัยในโลกมันถูกขยายมากขึ้น และขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่าสงคราม ในฐานะ ‘กระบวนการการต่อสู้หรือต่อต้านภัยเหล่านั้น’ ก็เพิ่มขึ้นด้วย
ด้วยลักษณะนี้เองอะแกมเบนที่นำเอาแนวคิดเรื่องสภาวะยกเว้นมาต่อยอดจึงแสดงให้เห็นว่าสภาวะยกเว้นนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่ ‘สภาวะฉุกเฉิน’ อีกต่อไปแล้ว แต่ด้วยความที่ขอบเขตของสิ่งที่นับว่าเป็นภัยและต้องการสงครามนั้นมันเพิ่มมากขึ้น สภาวะยกเว้น และอำนาจของกฎหมายที่ให้กับรัฏฐาธิปัตย์จึงมีความหมายถึงการงดเว้นจริงๆ ด้วย อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ในฐานะผู้ถือครองสภาวะยกเว้น จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียง ‘สภาวะชั่วครั้งชั่วคราว หรือยกเว้นไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว’ แบบกรณีสภาวะฉุกเฉินอีกต่อไป แต่มีลักษณะที่ถาวร และความหมายของคำว่า ‘ยกเว้น’ นั้นก็อยู่ในความหมายของการ ‘งดเว้น’ ได้โดยชอบธรรมแทน (แต่ผมอยากจะระบุไว้ด้วยว่า อะแกมเบนไม่ได้ต่อยอดเรื่องรัฐกับสภาวะยกเว้นนี้เพื่อจะเยินยอหรือขยายขอบเขตอำนาจให้รัฐนะครับ ตรงกันข้ามเขาใช้ในท่าทีเพื่อให้คนรู้เท่าทันและมีท่าทีตื่นตัว ท่าทีที่วิพากษ์ต่อการใช้อำนาจของรัฐต่างหาก)
กล่าวอีกแบบก็คือ รัฐในฐานะผู้ถือครองอำนาจในการยกเว้นนั้น คือผู้ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเลือกยกเว้น (งดเว้น) การปฏิบัติกับใครหรือเรื่องได้เป็นการเฉพาะก็ทำได้ แม้ว่าเรื่องนั้นควรจะเป็นมาตรฐานร่วมที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอทั่วถ้วนกันก็ตาม
เพราะฉะนั้นในกรณีที่รัฐใช้อำนาจในการยกเว้น (งดเว้น) นี้ จึงไม่ใช่ว่าคนอื่นที่มาใช้ความรุนแรงทางกายภาพในขอบเขตพื้นที่ของรัฐนั้นๆ ทั้งที่ก็ไม่ได้เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์—ตัวตนหนึ่งเดียวที่มีอำนาจในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพตามนิยามแบบเวเบอร์ (อย่างกรณีสงครามตัวแทน หรือทหารญี่ปุ่นในไทย) จะกลายเป็นความรุนแรงที่ถูกต้องหรือชอบธรรมขึ้นมา เพียงแค่ว่าการกระทำของพวกเขาได้รับการเลือกที่จะ ‘ยกเว้นไว้’ ให้ไม่ต้องโดนลงโทษหรือจัดการตามมาตรฐานเท่านั้น
ทีนี้กลับมาตอบโจทย์กรณีของจ่านิว ที่หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เขาทำการร้องขอกำลังคุ้มครองจากทางตำรวจ เพราะว่าโดนทำร้ายร่างกายมาหลายรอบและสาหัสอย่างที่ทราบกันดี แต่ทางตำรวจกลับยื่นข้อเสนอว่าคุ้มครองได้ แต่ต้องเลิกเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ลักษณะนี้เองก็แสดงถึงการใช้อำนาจตามสภาวะยกเว้นที่ว่ามา เพราะบทบาทสำคัญของรัฐสมัยใหม่คือ การคุ้มครองประชากรของรัฐ นักคิดบางคนอย่างเดวิด แคมป์เบลล์ (David Campbell) ถึงกับเรียกรัฐสมัยใหม่ว่าเป็น ‘พระเจ้าองค์ใหม่’ กันเลยทีเดียว เพราะแทนที่คนทั่วๆ ไปอย่างเราจะขอพรจากพระเจ้าให้คุ้มครองให้ปลอดภัย เราก็ไปคาดหวังการคุ้มครองจากรัฐ ระบบกฎหมายและตำรวจที่เชื่อถือได้ สวัสดิการในชีวิตที่ดีพอแทนนั่นเอง
ความเปลี่ยนแปลงของรัฐแบบนี้มาแทนรัฐสมัยก่อน ที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองและดูแลผู้ปกครองที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐนั้นๆ มีเพื่อบำรุงบำเรอกษัตริย์หรือลอร์ดของดินแดน ไม่ใช่เลี้ยงปากท้องหรือคุ้มครองประชาชน แต่แน่นอนว่าการคุ้มครองของรัฐสมัยใหม่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อแลกเปลี่ยนบางอย่าง เช่น การต้องเป็นประชากรหรือถือสัญชาติรัฐนั้นๆ ก่อน รัฐจึงจะยอมให้การคุ้มครองดูแลประชากรคนดังกล่าว (อย่างรัฐบาลนอร์เวย์ ก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาดูแลคุ้มครองคนชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกรุงฮานอย) ซึ่งการเป็นประชากรหรือถือสัญชาติรัฐหนึ่งๆ ย่อมหมายถึงการยอมยึดโยงเอาอัตลักษณ์ของตัวเราเองในฐานะปัจเจกเข้ากับอัตลักษณ์ร่วมของรัฐ และรวมถึงการยอมรับข้อตกลงร่วมของรัฐนั้นๆ ด้วย ว่าอีกแบบก็คือ ‘ข้อแลกเปลี่ยนระหว่างการคุ้มครองโดยรัฐ กับตัวปัจเจกที่เป็นประชาชนนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว’
แต่ทำไมการแลกเปลี่ยนในกรณีของจ่านิวหรือตำรวจจึงเป็นการใช้อำนาจในสภาวะยกเว้นเล่า หากการแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องปกติ?
นั่นเพราะการแลกเปลี่ยนที่เป็นกลไกทั่วไป ที่เกิดกับเราทุกคนนั้น เป็นข้อตกลงที่วางอยู่บนฐานว่า ‘ทุกคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชากรของรัฐนี้ต้องโดนหรือได้รับเหมือนๆ กันหมด’ ซึ่งข้อตกลงที่ว่านั้นก็คือตัวกฎหมายนั่นเอง ว่าอีกแบบก็คือ หากกฎหมายมันตราขึ้นมาว่า ‘ประชาชนของรัฐไทยมีสิทธิในการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองได้’ โดยไม่ได้มีเงื่อนไขกำกับว่า ‘หากใช้สิทธิดังกล่าวแล้วจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐอีกต่อไป’ ก็ย่อมแปลว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นทำได้ และอยู่ในเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนที่ทำไว้กับรัฐแต่ต้นแล้ว รัฐไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อรองเพิ่มเติมได้!
เว้นเสียแต่ เขาจะทำโดยใช้สภาวะยกเว้น คือ ยกเว้น (งดเว้น) การคุ้มครองจ่านิวเป็นกรณีเฉพาะ และจะเฉพาะต่อเมื่อรัฐเลือกที่จะงดเว้นการคุ้มครองอันเป็นหน้าที่โดยสามัญต่อประชากรทุกคนแก่จ่านิวเป็นการเฉพาะแล้ว และถูกใช้เป็นของแลกเปลี่ยนไปครั้งหนึ่งเท่านั้น ที่เขาจะสามารถนำข้อแลกเปลี่ยนชุดเดิมกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้ แต่เราต้องไม่ลืมด้วยว่า สภาวะยกเว้นนี้ตีคู่มากับ ‘ภัย’ ด้วย การที่ตัวตนระดับรัฐจะงดเว้นกลไกการทำงานที่ถือเป็นข้อตกลงร่วมสามัญนั้น มีราคาของมันอยู่ เราต้องมาคิดดูนะครับว่า รัฐที่เราอยู่ต้องเป็นรัฐที่กระจอกมากขนาดไหนกัน ถึงจะมายุติกลไกที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนร่วมของทุกคนในสังคม ‘เพื่อทำข้อตกลงกับปัจเจกเพียงหนึ่งเดียว’ หรือพูดแบบกลับด้านกันก็คือ ปัจเจกคนเพียงหนึ่งเดียวอย่างจ่านิวกลับมีราคาความเป็นภัย ราคาความน่ากลัวต่อตัวรัฐมากขนาดที่รัฐต้องยอมทิ้งข้อตกลงร่วมทั้งสังคมลง เพื่อจะได้มีข้อต่อรองเป็นการเฉพาะกับปัจเจกคนนี้เลยหรือ? นี่แหละครับคือราคาของจ่านิว และความกระจอกของรัฐในสมการข้อแลกเปลี่ยนสั้นๆ ง่ายๆ นั้น
และความกระจอกที่เกิดจากข้อแลกเปลี่ยนนี้น่ากลัวมากนะครับ เพราะการคุ้มครองชีวิตของประชากร คือ เงื่อนไขระดับรากฐานที่สุดของกลไกรัฐสมัยใหม่ ว่าอีกแบบก็คือ เป็นข้อแลกเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่รัฐนั้นๆ ถือครองอยู่ เพื่อให้คนนั้นยินยอมจะมา ‘แลกเปลี่ยนกับตัวรัฐเอง’ และยอมเป็นประชากรของรัฐนั้นในที่สุด แต่กับรัฐไทยแล้ว เรายอมเอาอำนาจหน้าที่ที่เป็นรากฐานที่สุด สำคัญที่สุดนี้มาใช้กับอำนาจการยกเว้นในเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดาสามัญที่สุดอย่างการให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่ง
คำว่า “หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง” ทำให้ประชากรของรัฐนี้ได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ‘รัฐไม่เคยให้ค่าหรือราคากับหน้าที่ของตนเองจริงๆ ในการคิดจะคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรหรอก’ เพราะหากให้ค่าก็คงไม่เอาอำนาจการยกเว้นมาใช้กับเรื่องอะไรแบบนี้ และหากรัฐไม่ให้ราคากับข้อเสนอของฝั่งตัวเอง แล้วประชาชนอย่างเราจะต้องไปให้ราคาอะไรกับรัฐแบบนี้เล่า?
ประชาชนไม่ได้อยากจะชังชาติหรอกครับ แต่ชาติเราเองนี่แหละที่ ‘บีบให้คนไม่มีทางอื่นนอกจากต้องชังชาติ’ เพราะชาตินี้ไม่เคยเห็นหัวคน ชาตินี้ที่ไม่เคยให้ราคากระทั่งคำสัญญาของตนเอง