เคยรู้สึกถึงความหวิวในใจเมื่อเราต้องใช้ความเป็นตัวเองในงานมากๆ หรือเปล่า?
ความรู้สึกเหมือนเราเป็นนักกายกรรมเดินไต่ลวด แต่แทนที่จะเป็นไม้ถ่วงสมดุล เราถือหลายอย่างมากกว่านั้น ความคาดหวัง ความกลัว ตัวตนของบริษัท และจิตวิญญาณของตัวเอง ระหว่างนั้นก็มีความวิตกที่เกิดขึ้นเหมือนโดนรายล้อมไปด้วยสายตาของคนนับไม่ถ้วน ผู้คนที่จะสนุกสนานเฮฮาไม่ว่าเราจะลุล่วงหรือร่วงหล่นออกจากเชือกเส้นบางนั้น
ในขณะที่เรารู้ดีว่าการมีชิ้นส่วนของตัวเองอยู่ในงานนั้นสามารถส่งผลบวกได้ แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ความไร้ขอบเขตนั้นก็ทำให้รู้สึกเบาหวิว
แล้วเราจะทำยังไงเมื่อเราเป็นตัวเองไม่เก่ง?
การที่ที่ทำงานส่งเสริมความเป็นตัวเองสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์แง่บวกได้ จากงานศึกษา Authenticity at Work: Its Relations With Worker Motivation and Well-being โดยนักวิจัยจากคณะจิตวิทยาสังคม สุขภาพ และองค์กร มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ ประเทศเนเธอแลนด์ทดสอบความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นตัวของตัวเอง กับความเป็นอยู่ที่ดีและแรงผลักดันในการทำงาน ผ่านทฤษฎีการกำหนดตนเอง (Self-determination theory หรือ SDT)
SDT คือแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์มีแรงจูงใจ 2 แบบ นั่นคือแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) และแรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) โดยผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่ายิ่งความเป็นตัวของตัวเองสูงในการทำงาน น่าจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจภายใน และหากกลับกันมันจะนำไปสู่แรงจูงใจภายนอก นอกจากนั้นความเป็นตัวของตัวเองสูงควรจะนำไปสู่สวัสดิภาพในการทำงานที่ดี เช่น มีส่วนร่วมในงานมาก และมีอัตราหมดไฟน้อย โดยในบทสรุปพบว่าสมมติฐานทั้งหมดเป็นจริง
แต่ในอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าความเป็นตัวเองนั้นมีรายละเอียดมากกว่านั้น Being Your True Self at Work: Integrating the Fragmented Research on Authenticity in Organizations โดยคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอรัสมุสรอตเทอร์ดาม ค้นพบว่าเราแยก ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ ออกจาก ‘การโดนมองว่าเป็นตัวของตัวเอง’ และเราจะได้รับแรงจูงใจภายในและสวัสดิภาพในการทำงานก็ต่อเมื่อเรารู้สึกเป็นตัวเอง และรู้สึกว่าโดนมองว่าเป็นตัวเองไปพร้อมๆ กัน
นั่นแปลว่าความรู้สึก ‘เป็นตัวของตัวเอง’ จะนำไปสู่ผลลัพธ์บวกอาจต้องอาศัยสังคมที่เปิดรับและอนุญาตให้เราเป็นตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่าในวิธีการคิดของมนุษย์ แม้แต่ความเป็นตัวของตัวเองยังต้องได้รับความยอมรับในตัวตนนั้นๆ จากคนรอบข้างไปพร้อมๆ กันด้วย นักกายกรรมไต่ลวดที่กลัวสายตาของผู้ชม
นอกจากนั้นการนำชิ้นส่วนของตัวเองเข้าไปในงานสามารถเพิ่มความมีส่วนร่วมของเราต่องานนั้นๆ ได้ ความรู้สึกว่าในแง่ใดแง่หนึ่งนี่ไม่ใช่เพียงงาน แต่คือการทำเพื่อตัวเองไปพร้อมๆ กัน แต่ความรู้สึกนั้นอาจน่ากลัวได้หากเราเจอกับสถานการณ์ที่งานของเราโดนวิจารณ์อย่างหนัก เพราะหากตัวตนของเราอยู่ในงานนั้นๆ เราอาจมองคำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ได้โจมตีงานแต่เป็นตัวของเรา เพราะว่าเมื่อทั้งสองอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เส้นแบ่งของเรากับงานจะอยู่ตรงไหน?
โดยเฉพาะงานที่ทำงานกับคนหมู่มากในโซเชียลมีเดีย พื้นที่ที่เปิดโอกาสการวิจารณ์งานออกไปจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า ไปยังใครก็ตามที่เห็นชิ้นงานเหล่านั้นผ่านการคอมเมนต์ แชร์ โควท ฯลฯ ซึ่งจำนวนเสียงที่มากมาย มุมมองที่หลากหลายยิ่งกว่า และความนำไปปรับใช้ได้ไม่ได้ในการงานต่อไปอาจสร้างความกดดันมหาศาล แล้วยิ่งในงานเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์มากๆ การแยกตัวของเราออกจากงานแทบจะเป็นไปไม่ได้ เป็นที่ส่งเสริมด้วยซ้ำ
และบางครั้งไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเป็นตัวเอง แต่การเป็นตัวเองไม่ได้ง่ายเพียงปรับการกระทำหรือแค่กล้าเป็น เพราะความกล้าหรือไม่กล้าเป็นขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย หลายครั้งนอกการควบคุมของเรา ถ้าเราไม่เคยถูกอนุญาตให้เป็นตัวเองเราจะรู้วิธีได้ยังไง? แล้วถ้า imposter syndrome ทำให้เราไม่มั่นใจว่าตัวของเราดีพอ เราจะนำมันใส่เข้าไปในงานหรือไม่? ที่สำคัญเราจะกล้าเป็นตัวของตัวเองขนาดไหน ถ้าชั่วโมงบินในงานนั้นๆ ของเรายังไม่มากพอที่เราจะสบายใจในการเป็นตัวเอง?
ชั่วโมงบินของการทำงานนั้นมีผลต่อความกล้าเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก การจะสามารถเป็นตัวเองเช่นมีชิ้นงานที่ผูกติดกับตัวตนของพวกเขามากกว่าบริษัท มีอำนาจในการตัดสินที่เด็ดขาด ได้รับความเคารพในตัวตนนั้นๆ ในค่านิยมการทำงานโดยมากคนคนนั้นอาจต้อง ‘พิสูจน์’ ตัวเองและตัวตนของตัวเองให้กับที่ทำงานมาเป็นเวลาพอสมควร บ่อยครั้งดำเนินไปจนตัวเองอยู่ถึงขั้นซีเนียร์ได้ก่อน
ตัวตนไม่ได้ผุดกำเนิดขึ้นวันเดียว บ่อยครั้งซีเนียร์อาจแนะนำอย่างจริงใจว่าการเป็นตัวของตัวเองคือหนทางที่ทำให้พวกเขาสำเร็จ และแม้จะหมายความอย่างนั้นจริงๆ ตัวของตัวเองที่เขาเป็นคือการดำเนินผ่านขั้นตอนการทำงานมาหลายปี ฉะนั้นไม่จำเป็นเลยที่เราต้องรู้สึกผิดหากยังไม่พร้อมที่จะเป็นตัวเองในวันนี้
จากทั้งหมดที่พูดถึงไป น่าแปลกใจที่สิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับความเป็นตัวของตัวเองกลับกลายเป็นสังคมและ support system หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการหาตัวตน การแสดงออกตัวตนนั้นๆ และการประเมินตัวตนนั้นๆ ตัวเลือกเช่น ครอบครัวที่เข้าใจ หรือเพื่อนสนิทก็พอใช้ได้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าหากในที่ทำงานมีวัฒนธรรมที่เปิดรับตัวตนอย่างกว้างขวาง?
ความเป็นมนุษย์ ตัวตน และความไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งละเอียดอ่อน เป็นตัวเองมากไปอาจนำไปสู่ความหัวรั้น แต่น้อยไปก็นำไปสู่ความตัดขาดจากชิ้นงาน การมีคนรอบข้างที่ตกอยู่ในวงจรไม่รู้จบของการตามหาและแสดงออกในเรื่องใกล้เคียงกันอาจเป็นหนทางที่ดีในการสร้างที่ทำงานที่ทุกคนสบายใจในตัวเองก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม