มนุษย์เราเติบโตขึ้นและก้าวต่อไปได้ก็ด้วยครอบครัว
ครอบครัวเป็นพื้นที่และเป็นความสัมพันธ์เพื่อการเติบโตและยืนหยัดต่อสู้ ครอบครัวเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เราแข็งแกร่งและแข็งแรงเพื่อก้าวเดินต่อไปในภายภาคหน้า
ครอบครัวในความรู้สึกของเราๆ คงเป็นประมาณนี้ แต่ว่า คำว่า ‘ครอบครัว’ หรือการสร้างครอบครัวในจินตนาการที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย คือ ‘ครอบครัว’ ที่เรา ‘ควรจะสร้าง’ ที่เราควรจะก้าวไปสู่ มันก็มีความเฉพาะเจาะจงลงไป เช่นเวลาเราดูซิทคอมหรือโฆษณาประกันชีวิตซักชุด ครอบครัวที่อบอุ่นหรือสุขสมบูรณ์ก็ค่อนข้างมีรูปแบบที่จำกัดอยู่สมควร ครอบครัวในอุดมคติมักเป็นครอบครัวที่แต่งงานกันตามประเพณี ในครอบครัวก็จะมีพ่อ-แม่-ลูก และบางทีก็หมาโกลเด้นรีทรีเวอร์อีกซักตัว
เหลียวมอง ‘ครอบครัว’ ในโลกแห่งความเป็นจริง ครอบครัวใครจะมีหน้าตาเหมือนในทีวีบ้าง และยิ่งในโลกปัจจุบันที่คนเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายแล้ว รูปแบบความสัมพันธ์ของคนเราก็มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าเดิมมาก ‘ครอบครัว’ จึงมีความหมายในแง่มุมของการที่คนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน สนับสนุน ดูแลมอบความอบอุ่นซึ่งกันและกัน ไม่ได้ถูกจำกัดด้วย ‘เพศ’ ด้วย ‘สายเลือด’ ไปจนถึงด้วย ‘สถานะทางทะเบียน’
สุดท้ายครอบครัวก็คือเรื่องราวของคนที่อยู่ด้วยกันจริงๆ ถ้ารักและเข้าใจกัน จะถูกต้องตามอุดมคติหรือไม่ก็ไม่สำคัญ คำว่าครอบครัวจึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวหย่าร้างแต่ก็รักษารูปแบบความสัมพันธ์บางอย่างไว้ได้ ครอบครัวของคนที่รักเพศเดียวกัน ไปจนถึงครอบครัวที่สลับบทบาทของความเป็นพ่อและความเป็นแม่ หรือครอบครัวที่มีเพียงคนสองคนใช้ชีวิตด้วยกัน นั่นเพราะความสัมพันธ์ของเราต่างก็มีความเฉพาะตัวอยู่เสมอ
Single Parent
พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คือการที่ในครอบครัวนั้นๆ มีเพียงใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงดูลูก เวลาเรานึกถึงพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเรามักนึกถึง ‘ความจำยอม’ ที่เกิดการแยกทางหรือการเสียชีวิต จริงอยู่ที่หลายครอบครัวเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจากความจำยอมใดๆ และสุดท้ายก็ได้พิสูจน์ว่าครอบครัวที่มีเพียงพ่อหรือแม่ก็สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและผลิตทายาทที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นการเลี้ยงเดี่ยวจึงเป็นคนละเรื่องกับการ ‘ขาด’ ในระยะหลังเริ่มมีคนที่ต้องการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว คืออยากมีแต่ลูก ไม่ได้อยากมีคู่ชีวิต (เพราะคนเดียวก็สามารถสนับสนุนเลี้ยงดูได้ จะหาอีกคนมาปวดหัวทำไม) ระยะหลังผู้หญิงที่มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็เริ่มใช้เทคโนโลยีเช่นการแช่แข็งไข่ตัวเองไว้เพื่อใช้ในการให้กำเนิดลูกของตัวเองในอนาคต
Homosexuality Parents
เมื่อชอบเพศเดียวกัน หนึ่งในข้อกังขาสำคัญคือการ ‘สร้างครอบครัว’ สังคมมักมองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันต่างกับรักต่างเพศ คือการนำไปสู่ความเป็นครอบครัวที่รวมถึงการผลิตทายาทด้วย เรื่องการมีลูกมีหลานจากกรณีศึกษาจำนวนมากก็คงเห็นว่าไม่ได้ยืนยันความยั่งยืนอะไรขนาดนั้น มีลูกก็ใช่ว่าจะเลี้ยงหรือรักกันไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย ความสัมพันธ์ของคนสองคนที่มั่นคงหนักแน่นต่อกันต่างหากที่สำคัญ ความรักของคู่รักเพศเดียวกันไม่ว่าจะหญิงหญิงหรือชายชายก็มีตัวอย่างที่กลายเป็นครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข ส่วนเรื่องลูกหลานเดี๋ยวนี้ก็มีทั้งระบบอุปการะ คือไปรับเด็กน้อยจากสภาวะที่ไม่พร้อมมาสู่ครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่า หรือถ้ามั่งคั่งกว่านั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ก็มีทางเลือกให้มากมาย ในต่างประเทศจึงมีครอบครัวที่มีพ่อสองคน แม่สองคน หอบลูกจูงหลานไปงานฮัลโลวีนได้ ไม่แปลกอะไร น่ารักดีด้วย แถมยังมีงานสำรวจงานศึกษาจำนวนกว่า 79 ชิ้นที่บอกว่าครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนเพศเดียวกันไม่ได้มีปัญหาหรือความแตกต่างอะไรในการเลี้ยงดูจากครอบครัวแบบดั้งเดิมเลย
Adopting
“เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” บ้านเรามีแนวคิด ‘ความเป็นครอบครัว’ โดยเชื่อมโยงเข้ากับ ‘ความผูกพันทางสายเลือด’ อย่างเข้มข้น แต่บางครอบครัวที่ไม่สามารถผลิตทายาทของตัวเองได้ การรับลูกบุญธรรมจึงเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีความพร้อมรับเอาเด็กๆ จากสภาวะที่ไม่พร้อมมาดูแลเพื่อเป็นสมาชิกของสังคมที่แข็งแรงต่อไปได้ เมื่อเราโตขึ้นเราก็เริ่มเห็นว่า ‘การเป็นสายเลือดเดียวกัน’ อาจจะไม่ได้สลักสำคัญขนาดที่มาชี้วัดสิ่งต่างๆ ได้ คนในสายเลือดเดียวกันอาจไม่ได้รักและเป็นอย่างที่เราคาดหวัง และในทางกลับกันคนที่ไม่ได้มีสายเลือดร่วมกันอาจมีความผูกพันและให้ความรักแก่กันได้ไม่ต่างกันจากการเป็นครอบครัว คุณภาพของคนและการเลี้ยงดูตลอดจนการให้ความรักความอบอุ่นอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่มาช่วยกำหนดมากกว่าการมี DNA บางอย่างร่วมกัน
Life Partner
ถ้าพูดถึงการ ‘ใช้ชีวิตร่วมกัน’ แบบที่ว่าคนสองคนมาใช้ชีวิตด้วยกันโดยไม่ได้มีการผูกมัดกันด้วยการแต่งงาน ถ้าพูดซักสิบหรือยี่สิบปีก่อนคนเป็นเรื่องน่าตกใจสุดๆ ในปี 1929 นักปรัชญาสำคัญสองคนคือ Jean-Paul Sartre และ Simone de Beauvoir รักกันและใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่ผูกมัดทั้งคู่เข้ากับการแต่งงานตามประเพณี ในโลกสมัยใหม่เองคู่รักจำนวนหนึ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีสถานะและฐานะที่แข็งแรงและเลือกที่จะอยู่ร่วมโดยไม่ต้องการผูกมัดหรือไม่คำนึงเรื่องสร้างพันธะให้แก่กัน ซึ่งสุดท้ายความรักและการตัดสินใจชีวิตของคนสองคนมันก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจบนเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ของคนสองคน ในความสัมพันธ์มีเรื่องให้คำนึงมากกว่าสถานะทางทะเบียนหรือคำนำหน้านาม
Divorced
การหย่าร้างเป็นตัวอย่างสำคัญของครอบครัวทางเลือก เราอาจคิดว่าเมื่อคนสองคนรักและแต่งงานกันแล้ว ความรักจะสถิตสถาวรและสร้างครอบครัวที่มีความสุขไปได้ตราบกัลปาวสาน การเลิกร้างโดยเฉพาะเมื่อครอบครัวนั้นมีลูกอยู่ด้วยแล้วจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคู่แต่งงานอย่างยิ่งยวด ในสมัยก่อนเราจึงมีภาวะ ‘ทนๆ ไปก่อนเพื่อลูก’ อันเป็นแนวคิดที่เกิดจากการมองว่าครอบครัวจะเต็มตื้นได้ก็ด้วยพ่อหรือแม่ แต่ในที่สุดความรักและความสัมพันธ์สองคนก็อาจจะยุติลงได้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจก็ตาม คู่แต่งงานหลายคู่จึงยุติความสัมพันธ์ของการเป็นคนรักเข้าสู่สถานะหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ สถานะในครอบครัวก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและรักษาไว้เพื่อความสุขของกันและกัน บางคู่หย่าร้างแล้ว แยกกันอยู่แต่ก็ยังมีสถานะเพื่อนกัน มีการไปมาหาสู่และเติมเต็มความรักให้กันในมิติต่างๆ ความเป็นสามีภรรยาหรือการเป็นครอบครัวใต้ชายคาเดียวกันอาจจะหมดไป แต่ความเป็นพ่อหรือความเป็นแม่ในการดูแลสนับสนุนกันก็อาจจะยังรักษาไว้ด้วยความรักและความอบอุ่นต่อไปได้
Transgender
โดยทั่วไปในแนวคิดเรื่องครอบครัวมีประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ เป็นแกนกลางอยู่พอสมควร ทำนองผู้ชายต้องเป็นพ่อ เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หญิงเป็นแม่ทำหน้าที่ให้กำเนิด ดูแลบ้าน เรามาถึงจุดที่พอจะเข้าใจว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและไม่ได้ยึดติดกับร่างกายแต่อย่างเดียว บางคนเกิดมามีร่างกายเป็นผู้หญิงแต่อยากจะมีตัวตนเป็นผู้ชาย คนที่ ‘ข้ามเพศ’ จึงเป็นผู้ท้าทายกับขนบและความเชื่อของการแบ่งที่มีแค่ชายหรือหญิง เช่นกรณีผู้หญิงที่ข้ามเพศและใช้ชีวิตอย่างผู้ชายบางคนพอแต่งงานแล้วก็มีสถานะเป็นพ่อ แต่ด้วยการเลือกและเงื่อนไขบางอย่าง ครอบครัวนั้นพ่อที่ยังมีมดลูกอยู่ก็เลือกที่จะเป็นผู้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูก
ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาพูดกันในฐานะของแปลก แต่เป็นตัวอย่าง ‘ครอบครัว’ ที่มีความซับซ้อนและทางเลือกมากมายในการนำพาครอบครัวไปตามแนวทางและเงื่อนไขของตัวเอง และในที่สุด นี่ก็คือครอบครัวรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวของเราที่ต่างมีลักษณะและรูปแบบเฉพาะของตัวเอง