มนุษย์เรา เท้าเหยียบอยู่บนพื้นโลก หน้าก็แหงนขึ้นไปบนท้องฟ้า นานนับพันปี เราต่างฝันถึงดินแดนแสนไกลบนท้องฟ้า บนทางช้างเผือก เราสงสัยว่าบนดวงดาวแสนไกลจะเป็นอย่างไร เมื่อแรกเราก็คิดภาพดวงดาวบนฟ้าเป็นสรวงสวรรค์ หลังจากนั้นเราก็เริ่มสงสัยว่า ในที่นั้นมีใครอาศัยอยู่ จะเป็นมิตร เป็นศัตรู หรือดาวใหญ่สีแดงนั้น จะเป็นบ้านหลังใหม่ของเราได้ไหม
‘ดาวอังคาร’ กลายมาเป็นเป้าหมายที่มนุษย์โลกเริ่มฝันใฝ่ถึง วันนี้ จินตนาการนับพันปีของเราค่อยๆ กลายเป็นรูปธรรมได้ด้วยวิทยาการของนาซา สัปดาห์นี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นตั้งแต่ข่าวยาน InSight Lander ลงจอดลงบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นภาพถ่ายความคมชัดสูงของดาวอังคาร ได้เห็นหน้าตาของดินแดนลึกลับ ดินแดนที่เราเคยคิดว่าที่นั่นมีใครสักคนอาศัยอยู่ และดินแดนที่เราหวังว่าจะเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเรา
ก่อนหน้านี้ทางนาซาจัดภาพถ่ายดาวอังคารชุดใหญ่จากยาน Mars Reconnaissance Orbiter เป็นคลังภาพขนาดมหึมากว่า 2000 ภาพ บอกเลยว่า ดูแล้วขนลุกซู่ ภาพจากดาวอังคารทั้งสวยงาม สงบ และในที่สุด เราก็ได้เห็นพื้นผิวที่แท้จริงของดินแดนลึกลับกันเสียที
จินตนาการของเราถึงดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้มีมาอย่างเนิ่นนาน ยุคแรกเรามองท้องฟ้าเหมือนสรวงสวรรค์ ในสมัยก่อนวิทยาการทางดาราศาสตร์ เราเองมองกันว่าบนดาวนั้นมีสภาพเหมือนสวรรค์ มีอารยธรรมและวิทยาการระดับสูง เป็นดวงดาวในอุดมคติ หลังจากนั้นเมื่อเราเริ่มศึกษาเรื่องจักรวาลและอวกาศมากขึ้น ความสนใจดาวสีแดงของเรา ดั๊น มาจากการแปลและความเข้าใจที่ผิดพลาดจากภาษาอิตาลีซะอย่างนั้น ทำให้เราเข้าใจไปว่า บนดาวนั้นต้องมีอารยธรรมบางอย่างอย่างแน่นอน… เอ้า!?
สรวงสวรรค์บนฟากฟ้า
ในยุคศตวรรษที่ 16-17 นับตั้งแต่กาลิเลโอเล็งกล้องโทรทรรศน์ไปยังดาวอังคารในปี 1610 และพบดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง โคจรอยู่รอบๆ ดาวอังคาร มนุษย์เริ่มสนใจดาวอังคารก็จากดวงจันทร์ที่โคจรอยู่รอบๆ ดวงดาวของเทพแห่งสงครามดวงนี้ ในช่วงนั้น การศึกษาดาราศาสตร์ปนเปไปกับเทววิทยา ปกรณัม และตำนาน ดวงดาวต่างๆ จึงถูกเรียกชื่อตามทวยเทพ
ในปี 1686 นาย Bernard Le Bovier de Fontenelle นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขียนงานชื่อ Entretiens sur la pluralité des mondes (Conversations on the Plurality of Worlds) ในงานขิ้นนี้เริ่มพูดถึงดินแดนบนฟากฟ้า และความเป็นไปได้ที่ดินแดนสุดลูกตาเรานั้นจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ และสำหรับดาวอังคาร นาย Fontenelle พูดถึงดาวอังคารในฐานะดวงดาวแปลกประหลาด ดาวอังคารน่าจะเต็มด้วยดินฟอสฟอรัสที่จุดติดตัวเองได้ในตอนกลางคืน และที่ดาวนั้นจะมีห้วงทะเลมหึมาที่ท้นขึ้นท่วมพื้นผิวทั้งหมดเป็นครั้งคราว
จากนั้นนักคิดในภูมิภาคเดียวกันก็เริ่มนึกถึงดาวอังคารในทำนองเดียวกัน ใน De Telluribus in Mundo Nostro Solari (Concerning the Earths in Our Solar System) ผลงานของนักคิดชาวสวีเดน ตีพิมพ์ในปี 1758 มองว่าดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะมีลักษณะเหมือนกับโลกในแง่มุมต่างๆ สำหรับชาวดาวอังคาร Emanuel Swedenborg เชื่อว่าชาวดาวอังคารเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีงามและซื่อสัตย์ที่สุด ในนวนิยาย Voyage to the World in the Center of the Earth ตีพิมพ์ในปี 1755 พูดถึงดาวอังคารที่มีลักษณะเหมือนกับสมัยกรีกโบราณ ดินแดนที่เต็มไปด้วยวีรบุรุษ นักปกครอง นักดนตรี และกวี
‘คลอง’ ของอีตา Giovanni Schiaparelli นักดาราศาสตร์อิตาเลียนตัวดี
ในช่วงปี 1800 เรื่อยมา หอดูดาวสำคัญๆ เริ่มมีกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่และกำลังขยายสูงขึ้นเรื่อยๆ ความตื่นเต้นที่เรามีต่อดาวอังคารเริ่มฮือฮาขึ้นในปี 1877 ด้วยฝีมือของอีตา Giovanni Schiaparelli นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี—และการแปลภาษาอิตาลีที่คลาดเคลื่อนเข้าใจผิด
Giovanni Schiaparelli รายงานจากหอดูดาวในมิลาน เฮียแกทำแผนที่และให้ชื่อพื้นที่ต่างๆ บนดาวอังคาร เช่น นิยามว่าตรงนั้นตรงนี้คือแผ่นดิน ตรงนั้นคือทะเล โดยดูจากพื้นที่มืดและสว่างที่เห็นจากในกล้อง Giovanni ตั้งชื่อพื้นที่ต่างๆ ตามปกรณัมปรัมปราและเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากบนโลกของเรา
ทีนี้ ในแผนที่เจ้ากรรมที่ ดั๊น เขียนเป็นภาษาอิตาลี เฮียแกเห็นช่องทางช่องหนึ่ง เลยเขียนบรรยายในข้อเขียนไว้ว่าเป็น Canali ในความหมายของเฮียแกหมายถึง channel แต่การแปลออกเป็นภาษาอังกฤษ ดันแปลว่าเป็นคลอง (canals) ซึ่งคำว่าคลองในที่นี้มีนัยให้คนเข้าใจว่า นี่ไง คลองนี่ต้องมีสิ่งมีชีวิต มีน้ำ มีปลา มีซากุระ มีอารยธรรมบางอย่าง มีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญามารื้อมาสร้างเอาไว้ บนดาวแดงนั้นมันต้องมีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่อย่างแน่นอน
งานศึกษาในวงการดาราศาสตร์ในยุคต่อมาจึงตื่นเต้นกับเจ้าคลองนี้มาก เช่น งานของ Percival Lowell นักดาราศาสตร์อเมริกันผู้หลงใหลดาวอังคารตีพิมพ์หนังสือถึงสามเล่ม คือ Mars ตีพิมพ์ในปี 1895, Mars and Its Canals ตีพิมพ์ในปี 1906 และ Mars as the abode of life ตีพิมพ์ในปี 1908 แค่ชื่อก็บอกแล้วว่า เจ้าคลองนี้แสนสำคัญ และนักดาราศาสตร์เองเริ่มเดาว่าบนดวงดาวนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิต
เพื่อนต่างดาวในจินตนาการ—จากมิตรสู่ศัตรู
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายที่สังเกตและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตและวิทยาการบนดาวอังคาร ในยุคที่เรากำลังอินกับวิทยาศาสตร์และการค้นพบต่างๆ นวนิยายแนววิทยาศาสตร์เองก็กำลังเฟื่องฟู โลกแห่งจินตนาการกำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกแห่งเหตุผล แน่นอนว่าดาวอังคารก็กลายมาเป็นฉากและเป้าหมายสำคัญที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จะร่วมฝันถึงไปพร้อมๆ กับเหล่านักดาราศาสตร์
คงด้วยคำว่า ‘คลอง’ และจินตนาการเก่าแก่ของเราที่มีต่อดาวอังคาร นวนิยายและเรื่องสั้นที่พูดถึงดาวอังคารในยุคแรกๆ มักจะมองดาวอังคารในฐานะดินแดนในอุดมคติ เป็นพื้นที่แห่งอารยธรรมล้ำสมัยที่เต็มไปด้วยความสุขสงบ ใน The Man from Mars ของ Thomas Blot ตีพิมพ์ในปี 1891 พูดถึงอารยธรรมบนดาวอังคารที่สร้างโดมยักษ์เพื่อปกป้องตนเอง ใน Unveiling a Parallel ตีพิมพ์ในปี 1893 ในเรื่องมีชาวดาวอังคารที่หล่อเหลาและเฉลียวฉลาด และดาวอังคารได้รับการบรรยายว่าเป็นดินแดนที่ผู้หญิงมีเสรีภาพและได้รับการปลดปล่อย
และแล้ว ภาพสวยงามที่เราจินตนาการถึงเพื่อนบ้านอันไกลโพ้นในฐานะเพื่อนแสนฉลาดและแสนดีก็สิ้นสุดลง เมื่อ H. G. Wells ปรมาจารย์และนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนดังตีพิมพ์ The War of the Worlds ในปี 1897 และอย่างที่ทอม ครูซต้องเผชิญ ชาวดาวอังคารที่มาในคราวนี้ไม่ได้มาในรูปแบบเพื่อนมนุษย์ แต่มาในฐานะเอเลี่ยนที่ต้องการยึดครองโลก—ในบทนำของหนังสือมีที่ Isaac Asimov พูดถึงความสนใจต่อดาวอังคารที่มาจากการแปลคำว่าคลองผิดด้วย
หลังจากนั้น แน่นอนว่าเหล่านักเขียนไซไฟชื่อดังต่างก็ต้องเขียนงานว่าด้วยดาวอังคาร จากมิตร สู่ศัตรู ไปจนถึงการนึกถึงดาวอังคารในฐานะพื้นที่แปลกๆ มีโรงเรียนอยู่บนนั้น หรือมีแวมไพร์สาวสวย ในช่วงที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มพูดถึงดาวอังคารในฐานะดินแดนที่ใกล้เคียงกับโลกและอาจเป็นดินแดนใหม่ของเรา งานเขียนของนักเขียนดังๆ เช่น The Sands of Mars ตีพิมพ์ในปี 1951 ของ Arthur C. Clarke และ The Martian Way ตีพิมพ์ในปี 1952 ของ Isaac Asimov จึงหันไปพูดเรื่องการสำรวจและตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นรูปธรรมในดาวอังคาร
เราคิดถึงภาพของดาวอังคารมาอย่างยาวนาน วันนี้เราได้เห็นภาพถ่ายคุณภาพสูงบางส่วนแล้ว พอมองย้อนไป ด้วยจินตนาการที่เราวาดๆ กันมาตั้งแต่งานเขียนมาจนถึงหนังต่างๆ ดาวอังคารดวงใหญ่ที่เราเห็นนี้ก็เลยปนเปไปด้วยความรู้สึกที่ทั้งสวยงาม น่าหลงใหล และน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก