ถ้าถามว่าทำงานในโลกสตาร์ตอัพ อะไรคืออาวุธสำคัญที่สุด? เธอบอกว่า “การเอ็นจอยกับการเปลี่ยนแปลง” สำคัญที่สุด เพราะเธออยากให้ลูกค้าอยู่กับเธอไปนานๆ
ข้างต้นคือคำตอบของ ‘หนึ่ง—ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ (MONIX) จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเงินกู้ออนไลน์ถูกกฎหมาย ฟินนิกซ์ (FINNIX) ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่พฤษภาคมปีที่แล้ว ในช่วงเดียวกับที่ COVID-19 ระบาดหนักพอดี ทว่าธุรกิจก็ดำเนินไปได้ดี และสามารถดึงคนที่กู้เงินนอกระบบกลับเข้ามาในระบบได้ถึง 10–20%
นั่นคือความน่าสนใจที่เราเลือกเธอมาพูดคุยในฐานะผู้บริหารหญิงคนล่าสุดในซีรีส์ In Her Role
ราวห้าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการเงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนไทยอย่างมาก ธนาคารแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายเพื่อดึงลูกค้าเป็นฐานข้อมูลตัวเอง ทว่าแอพฯ การเงินที่จะให้บริการทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกค้าธนาคารไหน ยังไม่ค่อยเห็นนัก ซึ่ง FINNIX เลือกจะเป็นสิ่งนั้น โดยปีที่แล้วเริ่มต้นจากการทำเรื่องของการปล่อยเงินกู้ถูกกฎหมาย โดยใช้ AI และ data ช่วยตัดสินใจ
แม้จะดูเป็นธุรกิจที่น่าปวดหัว แถมยังอยู่ในรูปแบบสตาร์ทอัพที่วิ่งแข่งด้วยความเร็วสูง ทว่าถิรนันท์พูดคุยกับเราด้วยน้ำเสียงฉะฉานและแววตากระตือรือร้น ราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ถึงงานของเธอ งานที่เธอบอกว่าทำให้เธอตื่นมาคิดถึงหน้าลูกค้าทุกวัน งานที่เธอบอกว่าต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเองตลอดเวลา แต่น่าแปลกใจ ทำไมเธอยังคงเอนจอยกับชีวิตการทำงานแบบนี้อย่างที่สุด? เราคงต้องไปหาคำตอบผ่านบทสัมภาษณ์ของเธอไปพร้อมกัน
เส้นทางการทำงานก่อนที่จะมานั่งตำแหน่ง COO ของ MONIX ของคุณเป็นยังไงบ้าง
หลังจบวิศวะที่จุฬาฯ งานแรกที่ทำคือที่ ‘Accenture’ ทำ data migration ซึ่งหนึ่งจบไอทีมา ไม่ใช่ computer science ใดๆ แต่ว่าเราอยากทำงานให้คำปรึกษา [consult] เราก็ไม่เลือกเลยว่าตำแหน่งไหน ถ้าพี่ๆ เขาให้โอกาสเราก็ทำเลย เพราะงั้นเราก็เลยเริ่มเรียนรู้ใหม่เลยในเรื่องของ data migration ซึ่งมันก็ต้องมีทั้งด้านเทคนิกและธุรกิจด้วย
และโชคดีว่าได้จับงานโปรเจกต์ที่ค่อนข้างท้าทายคือโปรเจกต์เทเลคอม เลยได้มีผลงาน ได้โปรโมตค่อนข้างเร็ว หกปีครึ่งก็ได้เป็นเมเนเจอร์ปลายๆ แล้ว เสร็จปั๊บ เราก็ขยับออกมาลองทำเกี่ยวกับพาร์ตผู้บริโภค ย้ายมาทำ CP Food Trading เป็นที่ปรึกษาภายในบริษัท ฝ่ายการค้าภายในและต่างประเทศ แต่เราก็ยังดูแลพาร์ตการเซตอัพระบบและเทคโนโลยี พาร์ตการขายในต่างประเทศ ซึ่งตรงนั้นก็ได้เปิดโลกอีกมุม ได้ทำงานกับสายอาหารและการขายมากขึ้นและโชคดีได้ทำโปรเจกต์การเซตอัพสาขาที่ต่างประเทศทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศส เลยได้ประสบการณ์การทำงานข้ามวัฒนธรรมเข้าไปอีกเกือบๆ สองปี
จากนั้น มีโอกาสได้ย้ายมาทำที่ Microsoft Thailand ตอนนั้นเป็นรุ่นที่ cloud technology ในส่วนของธุรกิจเริ่มเข้ามาในไทยเยอะมาก ซึ่งด้วยธรรมชาติของเทคโนโลยี คลาวน์ก็คือคลาวน์ ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถแปลงเทคโนโลยีคลาวน์ให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าหรือเหมาะสมกับธุรกิจแต่ละลูกค้าได้ ในมุมของผู้ขาย ไม่ว่าจะ Microsoft, Amazon, หรือ Google มันจะไม่มีความต่างกันเลย ถ้าเราไม่สามารถบิดมาเป็นเชิงธุรกิจได้ เพราะฉะนั้น ตอนเราเข้ามา เป็นช่วงที่เขาอยากได้คนที่มีความรู้ด้านการให้คำปรึกษามาก่อน มาเป็นคนเชื่อมเทคโนโลยีที่เป็นพวกคลาวน์เข้ากับธรุกิจลูกค้า เลยได้เข้ามาดูแลลูกค้าที่ทำด้านธนาคารของไมโครซอฟต์ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เป็นลูกค้าใหญ่ตอนนั้น เราก็ได้มีโอกาสทำคลาวน์โปรเจกต์กับทางธนาคารไทยพาณิชย์
อยู่กับไมโครซอฟต์มาประมาณสองปีแล้วคุณอาทิตย์ (อาทิตย์ นันทวิทยา—กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB) ก็เลยชักชวนมาบอกว่า เออ ตอนนี้มีไอเดียอยากจะทำอินโนเวชั่นคอมพานี ซึ่งชื่อว่า ‘SCB 10X’ อยากชักชวนเรามาก่อตั้งด้วยกัน
จำได้ว่าคุณเคยเป็นทีมก่อตั้งของ SCB10X มาก่อน ก่อนที่จะขยับมาทำ MONIX ของตัวเอง
ตอนนั้นก็เข้ามาเป็นพนักงานคนแรกของ SCB 10X เลย ตอนนั้นเรายังไม่เป็นบริษัท เป็นแผนกแผนกหนึ่งที่รับผิดชอบโปรเจกต์ด้านเงินกู้ดิจิทัล ออกฟีเจอร์และสินค้าผ่าน SCB Easy ขณะเดียวกันก็เซตอัพด้านความสามารถ [talent] สร้างวัฒนธรรม [culture] สร้างวิธีการทำงานให้คล้ายกับสตาร์ทอัพมากที่สุด สร้างวิธีการทำงานเพราะอยากรู้ว่าสตาร์ทอัพเขาต้องทำกันยังไงนะ
ทีนี้พอเวลาผ่านมาสักปีครึ่ง ช่วงนั้นคุณอาทิตย์ได้เจอกับซีอีโอ Abakus Group ซึ่งเป็นยูนิคอร์นทางด้าน FinTech และ AI ของจีน เราก็เลยตกลงกัน มีภารกิจร่วมกันว่าเราอยากจะสร้าง FinTech ในประเทศไทย เราเลยมีไอเดียว่า เราลองแยกออกมาเลย ออกมาจากธนาคารเลย มาตั้งบริษัทใหม่กัน โดยร่วมกันกับ Abakus Group นั่นคือจุดเริ่มต้นที่หนึ่งได้แยกตัวออกมาจาก SCB 10X มาเป็น COO ให้ MONIX และเริ่มทำงานเกี่ยวกับตัวสตาร์ทอัพที่เป็นดิจิทัลไฟแนนซ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ซึ่งเรามองไทยพาณิชย์เหมือนผู้ถือหุ้นหนึ่ง แต่เขาให้อิสระเรากับซีอีโอในการบริหารและใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก
เข้าใจว่าตอนนี้พัฒนาโปรดักต์คือแอพฯ ชื่อ ‘FINNIX’ อยู่ ซึ่งเป็นแอพฯ กู้เงินออนไลน์ถูกกฎหมาย ทำไมถึงคิดทำด้านเงินกู้
หลังๆ มาเนี่ย ธุรกิจการเงินมีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องเยอะมากๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโมบายแบงก์กิ้ง เป็นแอพฯ ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หมายความว่าต้องเข้าไปเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นก่อน แล้วค่อยไปทำธุรกิจต่างๆ ได้ ซึ่งในความเป็นจริงคือเหมือนยกสาขาของธนาคารนั้นๆ เข้ามาในมือถือเท่านั้นเอง
สำหรับหนึ่ง มันดิจิทัลระดับหนึ่ง แต่มันไม่ได้แก้ pain point ของคนที่เขาอยากได้บริการที่ดีที่สุด ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นมาก่อนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคาร A มีการบริการด้านดอกเบี้ย ออมทรัพย์ และการลงทุนที่ดีมากเลย แต่เงินกู้เฉยๆ
อันดับแรกก็เลยคิดว่าเราควรจะมีทางเลือกให้ลูกค้าไปกู้ที่อื่น อันนี้คือสิ่งที่หนึ่งเห็น อย่างแรกไทยเรายังไม่ค่อยมีแอพฯ ที่ให้ลูกค้าได้เลือกอย่างอิสระ หรือก็คือแอพฯ ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางจริงๆ
อันดับที่สอง ถ้าเราซูมเข้ามาในประเทศไทยจริงๆ ธุรกรรมทางการเงินแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ก็คือ สินเชื่อ-เงินกู้ และการเอาไปลงทุน ทีนี้ถ้ามองในมุมประเทศกำลังพัฒนา แน่นอนว่าฝั่งสินเชื่อเป็นฝั่งที่มีโอกาสให้เราเข้าไปช่วยเหลือเยอะมาก เราเลยลองสำรวจดูว่าปัจจุบันมีอะไรบ้าง ซึ่งเราเห็นปัญหาใหญ่ๆ แบบที่มองจากมุมสูงก็เห็น คือ เรามีหนี้นอกระบบในประเทศไทยเยอะมาก และไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้อยากไปพึ่งหนี้นอกระบบ แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ถูกต้องทางกฎหมาย เพราะเขามีความเสี่ยงสูงเกินไป ซึ่งตรงนี้เราเลยมองว่า ทำไมเราจะเข้าไปตรงนี้ไม่ได้ มันยังเป็น red ocean อยู่เลย
แต่การปล่อยกู้มีความเสี่ยงสูง ยิ่งออนไลน์ด้วยแล้ว?
การออกแบบของเรา เราทำเป็นวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีวันหมดอายุ คือ เราให้วงเงินเป็นเครดิตเอาไว้ แล้วมาถอนเงินได้เมื่อต้องการ คราวนี้เราไม่ได้ถามด้วยซ้ำว่าลูกค้าต้องการกู้เงินกี่บาท เราพิจารณาจากข้อมูลของเขา แล้วคิดว่าเขาควรได้วงเงินกู้กี่บาท เทียบกับความเสี่ยงที่เรารับได้และความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะจ่ายเงินเราคืน เท่ากับว่ากลับกันแล้ว มันคือการที่เราป้องกันโดยเราเป็นคนบอกว่า จากโปรไฟล์คุณ รายรับรายจ่ายคุณ คุณควรได้วงเงินกู้สักเท่าไหร่ ที่เป็นความเสี่ยงที่เราจะรับได้และคุณจะจ่ายคืนได้
พอเราทำแบบนี้ มันก็เลยทำให้เราสามารถที่จะมีเปอร์เซ็นต์ในการอนุมัติเขาได้มากขึ้น ตอนนี้เราอนุมัติได้ 20–25% แสดงว่าทุกๆ ร้อยคนที่ไปกู้เงินนอกระบบ มาอยู่ที่ MONIX ได้ 25 คนแล้ว ถือว่าเยอะในกลุ่มที่ความเสี่ยงสูง
ตัดสินใจจากอะไรว่าลูกค้าควรได้วงเงินกู้เท่าไหร่
หลังบ้านเราไม่มีคนมานั่งเปิดหน้าจอ กรอกเครื่องคิดเลข คิดคำนวณวงเงิน แบบนั้นคือไม่มี เราเป็น data ล้วนๆ ใช้ AI ทั้งหมด เพราะฉะนั้นในเชิงระบบเรามีความแม่นยำรวดเร็ว และพอเรายิ่งมี data เยอะๆ ตัว AI ก็ยิ่งเรียนรู้ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้นข้อมูลที่เราขอลูกค้าจะเป็น 2 ประเภท ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเงิน อาจจะเป็น statement หรือให้เราเชื่อมกับ SCB Easy ก็ได้ กลุ่มที่สองคือข้อมูลที่เกี่ยวกับโทรศัพท์ของลูกค้า เท่านั้นเอง
จากที่ทำ FINNIX มาตลอดระยะเวลาปีกว่า อะไรคือ pain point หลักของลูกค้าที่คุณมองเห็น
กลุ่มผู้ต้องการสินเชื่อ หนึ่ง—คือเขาต้องการความเร็ว สอง—คือเขาต้องการให้เราอนุมัติ จะวงเงินมากหรือน้อย ดีกว่าไม่ได้เลย สามเขาต้องการดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ตรงนี้คือพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะต้องเข้าใจ pain point ลูกค้า ซึ่งพอเราเข้าใจสามตัวนี้อย่างน้อยมันทำให้เราออกแบบตัวแอพฯ ของเราให้ตอบโจทย์เขา
การออกแบบแอพฯ การสมัคร หรือว่าวิธีการประเมินความเสี่ยง วิธีการโอนเงินให้เขา ทุกอย่างต้องเร็วหมด เพราะฉะนั้นนี่คือสาเหตุที่เราตั้งเป้าว่า แอพฯ เราจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที แล้วลูกค้าต้องได้เงิน เราตั้งเป้าแบบนี้ก่อน ตอนนี้เราทำได้เร็วสุด 5 นาที ตั้งแต่ดาวน์โหลดแอพฯ ไปจนถึงลูกค้าได้เงินเข้ากระเป๋า เราไม่ต้องใช้เอกสารอะไรเลย บัตรประชาชนใบเดียวก็พอ
ความเร็วเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพจริงๆ และนอกจากความเร็วแล้ว คุณคิดว่าหัวใจการทำงานสตาร์ทอัพมันต้องมีอะไรอีก
สำหรับเรา ถ้าหยิบตัวสำคัญที่สุดนะ คือ ทัศนคติที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าสตาร์ทอัพทำในสิ่งที่น้อยคนทำ หรือแทบจะยังไม่มีใครทำ ถ้ามีคนที่ทำเยอะมากแล้ว สำเร็จมากแล้ว นั่นไม่เรียกสตาร์ทอัพแล้วเพราะมีสูตรสำเร็จให้เดินตาม
การเป็นสตาร์ทอัพคือการทำสิ่งไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ หรือทำในสิ่งที่คนส่วนน้อยเขาทำกันแต่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหม เพราะฉะนั้น DNA จะต้องเป็นชอบคนการเปลี่ยนแปลง อยู่กับความไม่รู้ ความไม่แน่ใจ แต่ก็ลองดู ไม่กลัว กล้าเสี่ยง กล้าจะลอง และถ้าเจออุปสรรคอะไรก็แก้ไขไป
ที่สำคัญ ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าเราจะบอกว่า ‘ไม่’ ฉันจะไม่เปลี่ยน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราถือกำเนิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพต้องเอนจอยการเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยน
และเอนจอยกับการเจออะไรที่ไม่เป็นตามหวังบ้าง มันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ตั้งแต่วันแคก นี่คือสิ่งที่เราต้องยอมรับจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดสินค้าหรือบริการได้แล้ว และไม่แน่ใจว่ามันดีหรือไม่ดี เราต้องไม่กลัว สิ่งที่เราต้องทำคือเอาออกไปลอง A/B Testing หมายความว่า A ก็ดี B ก็ดี อันไหนดีกว่ากัน? อย่าไปคิดเองเออเอง อย่าไปนั่งสมมติฐาน เถียงกันในห้องประชุม สิ่งที่เราทำคือเอาออกไปทดสอบทั้งสองแบบ ทดสอบกลุ่มลูกค้า แล้วให้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นคำตอบว่าอะไรดีกว่ากัน
จากที่เคยทำงานองค์กรใหญ่ๆ มาแล้ว พอมาทำสตาร์ทอัพ คุณคิดว่าตัวเองมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ตอนที่อยู่กับองค์กรใหญ่ เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรืออินกับมัน เราไม่ได้นึกถึงหน้าลูกค้าทุกวันขนาดนั้นแต่อันนี้เรานึกถึงหน้าลูกค้าตลอดเวลาว่า เอ๊ะ เขาจะชอบเราไหม
เราอินกับธุรกิจ กลายเป็นว่าเราคอยมองลูกค้าตลอดเลยว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปไหม เราจะทำยังไงให้ในบ้าน [บริษัท] เราเปลี่ยนทันลูกค้า เราต้องรู้สึกว่าลูกค้าเป็นศูนย์กลางจริงๆ เราต้องอยู่กับเขาทุกวัน เราต้องคอยคิดถึงเขาตลอด ความเข้าใจลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ทีนี้คนของเรา เทคโนโลยีของเรา วิธีการทำงานภายในบ้านเรา บริษัทเราต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
จากการทำงานจากองค์กรไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก ต่างชาติ หรือไทย พอขยับมาเป็นสตาร์ทอัพปุ๊บ สิ่งที่เปลี่ยนเลยคือ ความเป็นผู้ประกอบการ [entrepreneurship] ในตัวเรา หมายถึงการเป็นสตาร์ทอัพ คือเรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของกิจการนี้ ไม่ใช่เพียงพนักงานคนหนึ่ง มันทำให้วิธีคิดทั้งหมดมันเปลี่ยนไป ลูกค้าเราคือใคร ลูกค้าเรามีความต้องการอะไร ลูกค้าเรามีความต้องการเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง ตรงนี้เราต้องคิดทุกวันเลย เสร็จแล้วก็นำโจทย์กลับมาคิดว่าบริการเรายังตอบโจทย์เขาหรือเปล่า เราต้องเปลี่ยนบริการให้เขาหรือยัง เราเปลี่ยนได้ไหม ทันไหม ตรงนี้มันเป็นวิธีคิดที่ต้องเกิดขึ้นทุกวันเลย เพราะเรากลัวว่าเราจะไม่ได้อยู่ในใจลูกค้าอีกต่อไปแล้ว วันนี้เราอยู่ พรุ่งนี้เรากลายเป็นไม่อยู่ ซึ่งตรงนี้พอเรามีความรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ จะพลาดตรงนี้ไปไม่ได้ ลูกค้ายังต้องอยู่กับเรา อยากให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด
เล่าเรื่องวงการสตาร์ทอัพไทยในปัจจุบันให้ฟังหน่อย ว่าไปถึงไหนแล้ว
สองสามปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพไทยถือกำเนิดเยอะมาก และในทุกอุตสาหกรรมด้วย เราว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราเข้าใจโลกสตาร์ทอัพ มันจะเป็นโลกที่เต็มไปด้วยไอเดียและคนที่ชอบลองของ
100% ของสตาร์ตอัพจะสำเร็จอยู่รอดได้เกิน 3, 5, 10 ปี หรือมีอนาคตไกลๆ ก็มีประมาณสัก 5–10% ก็เยอะแล้ว เพราะงั้น เราต้องรู้สึกแฮปปี้ที่มีคนเข้ามาเริ่มอยากเป็นสตาร์ทอัพเยอะๆ มีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาเยอะๆ
คนไทยเริ่มกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ลุกออกมา ลาออกมาจากงานประจำเพื่อทำสตาร์ทอัพ มีความกล้าขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นโมเมนตัมที่ดี เป็นเทรนด์ที่ดีที่ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยจะมีผู้ก่อตั้งที่เป็นไทยแท้ๆ ข้อดีที่เสริมเข้ามาอีกคือ หลายๆ องค์กรเอกชน เริ่มอยากเข้ามาสนับสนุน มี hackaton หรือเวทีให้เขาเข้าไปพิชชิ่ง ตอนนี้คิดว่าเราอยู่ในขั้นที่เรามีของดีเยอะมาก เรามี ecosystem ที่ช่วยเหลือเราเยอะระดับหนึ่ง
เราจะเริ่มเห็นสตาร์ทอัพที่เขาเริ่ม 2–3 ปีที่แล้ว แลกำลังจะฉายแสง มีจุดวัดดวงใน 1–2 ปีนี้ ว่าเขาจะได้เป็นยูนิคอร์นไหม จะหาทุนเพิ่มต่อยอดได้ไหม จะหาทุนจากต่างประเทศได้ไหม มากขึ้น
เทรนด์ตอนนี้มันคือว่า ในทุกอุตสาหกรรม เรามีตัวแทนประเทศไทย เข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับปลายๆ มีลุ้น ว่าจะได้โตไปเป็น series C, series B ค่อนข้างเยอะ คราวนี้ขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนของภาคเอกชน ทุนที่ทำให้สายป่านตรงนี้ยาวขึ้น ช่วง COVID-19 อาจมีบางสตาร์ทอัพที่สะดุดไปบ้างหรือชะลอแผนการไปบ้าง เพราะนักลงทุนแต่ละคนก็มีเงินที่ค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าโรคระบาดคลายเมื่อไหร่ คิดว่าโมเมนตัมตรงนี้จะกลับมา เพราะว่าไอเดียอันล้ำค่าของสตาร์ทอัพทั่วโลก มันเป็นสิ่งที่หนึ่งว่ามันพิสูจน์แล้วว่ามันมี ‘เพชร’ อยู่ในสิ่งเหล่านี้จริงๆ เพราะฉะนั้น โมเดลธุรกิจใหม่ๆ แนวคิดไอเดียธุรกิจใหม่ๆ มันจะเกิดจากกลุ่มคนที่เป็นสตาร์ทอัพนี่แหละ
ในฐานะที่คุณเป็นผู้บริหารหญิงในวงการบริษัทเทคโนโลยี แชร์เรื่องความท้าทายให้ฟังหน่อย
มองในมุมความท้าทาย มันเกิดขึ้นในเรื่องของงานและประสบการณ์มากกว่า สำหรับหนึ่งคือมันไม่เกี่ยวว่าเป็นผู้หญิงหรือเปล่า เราไม่เคยรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันเพราะเราเป็นผู้หญิง สิ่งสำคัญสำหรับเราคือขึ้นอยู่กับว่าเราวางตัวยังไง เราปฏิบัติตัวให้เป็นมืออาชีพยังไง เราแสดงความสามารถยังไงมากกว่า มันขึ้นกับงานและความทนทานในตัวงาน เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า สตาร์ทอัพเนี่ยมีเรื่องของความอดทนที่ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เป็นเรื่องของการเอนจอยการเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้น ถ้าเราชอบแบบนี้ [เอ็นจอยการเปลี่ยนแปลง] ไม่ว่าเราจะเป็น ผู้หญิง ผู้ชาย เรามีเป้าหมายว่าเราอยากทำอะไร และตลอดเส้นทางเราโฟกัสที่เป้าหมายของเรา ระหว่างทางเนี่ย ไม่ว่าจะมีใครพยายามรบกวนเราด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อาจจะไม่ใช่เพศ แต่เป็นเรื่องอายุ หรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านั้นเราจะไม่สนใจเลย เพราะว่าเรามีเป้าหมาย เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เราอยากสำเร็จเรื่องอะไร
ขอคำแนะนำสำคัญที่สุดในโลกการทำงานสตาร์ทอัพที่คุณอยากส่งต่อ
อย่างแรกคือถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร ตื่นเช้ามานึกถึงหน้าลูกค้าเลยไหม รู้สึกว่า เอ้ย ธุรกิจยังดำเนินไปได้ไหม? ถ้าเราชอบความรู้สึกพวกนั้นแปลว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ที่เราจะสนุกกับการทำสตาร์ทอัพ และมีแพสชั่น สำหรับเราคือความสุขในการตื่นมาทำงานทุกวัน
อย่างสองคือเราต้องไม่กลัว และมีความมั่นใจในตัวเอง อันนี้คือสิ่งสำคัญ คือ บางคนคิดได้ นึกออก แต่ไม่แน่ใจว่าทำดีไหม ลังเล ซึ่งตรงนี้ทำให้มันดึงเรา ลดทอนศักยภาพเรา อย่าไปกลัวว่ามันจะผิดพลาด อย่าไปกลัวว่ามันไม่ดีหรอก เดี๋ยวโดนคนว่า ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องแคร์คนเหล่านั้น
อย่างที่สาม คือการเคารพผู้อื่น เราอยากได้สิ่งนั้น เราต้องทำสิ่งนั้นก่อน ดังนั้นการที่เราอยากจะมีตัวตน อยากจะได้รับการเคารพ อยากมีคุณค่าต่อผู้อื่น เราก็ต้องให้ความเคารพ และเห็นคุณค่าของผู้อื่นก่อนไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทพนักงานบริษัทหรือสตาร์ทอัพ ถ้าคุณมีเรื่องของการเคารพเป็นพื้นฐาน จากนั้นไม่ว่าคุณจะทำงานกับใคร ที่ไหน เหตุการณ์ไหน คุณทำงานได้หมด เพราะเราจะอยู่ด้วยกันโดยสันติ มองเห็นคุณค่าของกันและกัน
สี่คือเรื่องของทักษะ เราเป็นที่รักแต่ไม่มีทักษะไม่ได้ เราก็ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเสมอ ยิ่งถ้าในอยู่ในโลกเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เทคโนโลยีวันนี้อัพเดต พรุ่งนี้เชยแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นคนที่หมั่นเรียนรู้ศึกษาความรู้ด้วยตัวเอง และไม่รอใครมาป้อนความรู้ให้เรา และบางครั้งความรู้ได้มาจากประสบการณ์ เพราะงั้นเราต้องลงมือทำเยอะๆ ดีกว่าพูดเยอะ ทำให้เยอะ และให้ผลลัพธ์เป็นตัวสอนเรา