[บทกวี]
ร้อนเหมือนกับขนมปังอบใหม่
ทุกครั้งที่กิน เธอกินมันแทบจะหมด
คือเมื่อเธอได้ยินสียงหัวใจของเหล่าก้อนหิน
คือเมื่อถ้อยคำกระหยับปีก
บทกวีหมุนถ้อยคำไปมา กลับด้านขึ้นลง พลันโลกก็กลายเป็นใบใหม่ไปเลย
it is hot like fresh bread.
When you eat it, a little is always left over.
is when you hear the heartbeat of a stone.
is when words beat their wings.
A poem turns words around, upside down, and — suddenly! — the world is new.
มีหนังสือภาพเล่มหนึ่งชื่อ This is a Poem that Heals Fish เป็นหนังสือสวยๆ ที่มีเนื้อเรื่องเซอร์เรียลๆ แต่ก็ล้ำลึกน่าคิด ในเรื่องอยู่ๆ ปลาทองที่เด็กชายเลี้ยงไว้ก็มีท่าทางแปลกๆ แม่ของเขาจึงบอกว่า “รีบมอบบทกวีให้มันสิ!” ราวกับว่าบทกวีจะช่วยเยียวยาเจ้าปลาท้องนั้นได้ – อะไรเนี่ย? แต่เด็กชายก็ไม่เข้าใจว่าบทกวีนั้นคืออะไรกันแน่ (ควรไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ไปหาสัตวแพทย์สิ) บรรยากาศมหัศจรรย์และการตามหาความหมายของบทกวีจึงเริ่มต้นขึ้น
บทกวีอุ่นเหมือนขนมปังอบใหม่ พาเราไปได้ยินเสียงของเหล่าก้อนหิน คือถ้อยคำที่โบยบิน คือสิ่งที่ทำให้เราเห็นโลกใบนี้ซะใหม่ ดูเหมือนว่าคำอธิบายสั้นๆ ข้างต้นอาจจะไม่เข้าใจซะทีเดียว แต่ก็ทำให้เรารู้สึก สัมผัสพลังและความหมายของกวีนิพนธ์ได้ บทกวีคือศิลปะเก่าแก่ เป็นศิลปะแห่งถ้อยคำและถ้อยความที่มีพลังต่อความคิด จินตนาการ และการมองโลก
Adrienne Rich นักปรัชญาสมัยใหม่พูดถึงบทกวีว่า “สามารถพังประตูไปสู่ห้องแห่งความเป็นไปได้ เปลี่ยนความด้านชาให้รู้สึก ปลุกเร้าความปรารถนากลับขึ้นใหม่” จากภาษาและคำธรรมดาๆ ที่เราใช้ในชีวิต แต่ด้วยศิลปะของบทกวี คำและความเหล่านั้นเมื่อถูกบิดผันและแปรเปลี่ยน ถ้อยคำในท่วงทำนองก็กลับกลายเป็นพลังอันพิเศษขึ้นมาได้
บทกวีกับพลังของท่วงทำนอง
มีบางทฤษฎีบอกว่าบทกวีเก่าแก่เท่าๆ กับภาษา ภาษาของเรามีความเป็นท่วงทำนองและเป็นศิลปะในตัวเอง สำหรับศิลปะการประพันธ์ทั้งหลาย กวีนิพนธ์เป็นรูปแบบการใช้ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นก่อนจะเกิดศิลปะของการเขียนร้อยแก้ว ถ้าเราดูงานเขียนในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่มักจะประพันธ์เป็นบทกวี ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์ ปกรณัมปรัมปรา ไปจนถึงบทกวีที่ใช้ในพิธีกรรม
บทกวีจึงถือเป็นรูปแบบภาษาที่ทรงพลังและเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ การร่ายมนตราและคาถาทั้งหลายย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยภาษาปกติ แต่ด้วยภาษาที่ถูกคัดกรองและร้อยเรียงอย่างประณีตบรรจง เป็นโศลกอันศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าภาษาและบทกวีในยุคแรกถูกใช้ในพิธีของการกสิกรรม เป็นการพร่ำบ่นเพื่ออ้อนวอนให้ผลิตอุดมสมบูรณ์
สำหรับบ้านเรา ถ้ามองย้อนกลับไปในวงวานของวรรณคดีไทย ศิลปะการประพันธ์หลักของเราคืองานประเภทร้อยกรอง ด้วยความที่เรารับอิทธิพลการปกครองจากทางอินเดีย ในพิธีสำคัญทั้งหลายที่มนุษย์จะสื่อสารกับเบื้องบนล้วนมีกวีนิพนธ์ชั้นสูงเป็นสื่อทั้งสิ้น
งานสำคัญที่ใช้เพื่อแสดงอำนาจและยืนยันความจงรักภักดีของคนใต้ปกครอง ไปจนถึงการตัดสินความต่างๆ ที่จะต้องอ้างหรืออัญเชิญอำนาจของเทพยดาทั้งหลาย ในการสื่อสารกับพลังอำนาจนั้น พิธีกรรมจะต้องมีการร่ายบทกวีเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าและเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน ซึ่งบทร้อยกรองที่ใช้ในงานพิธีสำคัญก็ต้องใช้ทั้งภาษาและรูปแบบคำประพันธ์เฉพาะ เช่นใช้ภาษาบาลีและสันสกฤต มีรูปแบบคำประพันธ์เป็นฉันท์และร่ายอันถือกันว่าเป็นรูปแบบคำประพันธ์ชั้นสูง
หลังจากอำนาจเหนือธรรมชาติเริ่มลดพลังลง เมื่อเราเข้าสู่โลกสมัยใหม่ พลังของกวีนิพนธ์ก็ยังไม่หายไปไหน บทกวีมีบทบาทมากมายทั้งในแง่ของการเป็นเครื่องชุบชูชีวิตของผู้คน ไปจนถึงอำนาจของถ้อยคำที่ใช้เพื่อต่อสู้เคลื่อนไหวต่างๆ เรามีบทกวีเพื่อชีวิต มีวรรคทองสำคัญๆ ที่ให้ความหวังและสามารถรวมผู้คนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ – เราต่างจดจำว่า ‘ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ’ และผู้คนต่างยังคงฝันเห็น ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ ร่วมกัน
วิทยาศาสตร์ของกวีนิพนธ์
บทกวีก็เหมือนกับบทเพลง เรามักจำบทกวีบางบทได้อย่างแม่นยำ นักวิทยาศาสตร์ก็สงสัยว่า เจ้าบทกวีที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามาอย่างยาวนาน มีผลอย่างไรกับสมอง จากการทดลองพบว่า การอ่านบทกวีมีผลกระตุ้นสมองที่พิเศษกว่าการอ่านนวนิยายทั่วไป เป็นสมองที่เกี่ยวกับการขบคิดใคร่ครวญ
Wallace Stevens พูดถึงพลังของบทกวีที่กระตุ้นให้เราครุ่นคิดคำนึง อย่างการเปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนถึงประเด็นซับซ้อน เช่น ชีวิตและความตาย พลังสำคัญของบทกวีคือการให้เราสวมบทบาทและมุมมองเดียวกันกับที่กวีต้องการให้เราเห็น ความเข้นข้นจากคำและความทำให้เรารับรู้อารมณ์อันเข้มข้นทั้งหลายได้ การได้ทบทวนความรู้สึกต่างๆ จึงเป็นเทคนิคพิเศษที่กวีมอบให้เราได้
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับกวีนิพนธ์ในฐานะศิลปะของมนุษย์ที่ส่งผลกับเรามาอย่างยาวนาน และยังคงส่งผลกับเราสืบไป ทุกวันนี้เราอาจห่างไกลจากการอ่านบทกวี แต่เชื่อว่า เราคงมีกวีหลายบทที่ติดอยู่ในหัวใจ
วันที่ 21 มีนาคม วันที่สหประชาชาติประกาศให้เป็น วันกวีนิพนธ์โลก
อ้างอิงข้อมูลจาก