ถ้าเป็นไปได้คุณอยากมีอายุยืนแค่ไหน ?
ในปี ค.ศ.2020 คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) อยู่ที่ 77.34 ปี เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.1971 ที่มีอายุคาดเฉลี่ย 59.89 ปี และยิ่งนานเท่าไร ยิ่งดูเหมือนว่าคนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้นเท่านั้น…
นอกจากเทคโนโลยีและการแพทย์จะมุ่งหาวิธีรักษาโรคภัยเพื่อยื้อลมหายใจของมนุษย์แล้ว นักธุรกิจอย่าง เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) แห่ง Amazon ก็สมัครเป็นคู่แข่งยมทูต ด้วยการลงทุนมหาศาลในบริษัทสตาร์ทอัพที่วิจัยด้านการชะลอวัย (anti-aging research) เช่นเดียวกับแลร์รี เพจ (Larry Page) แห่ง Alphabet และแลร์รี่ เอลลิสัน (Larry Ellison) แห่ง Oracle
การแสวงหาวิธีที่จะมีชีวิตอยู่อย่างอมตะ หรือมีชีวิตอยู่นานๆ เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์เสมอมา” พอล รูต โวลเป (Paul Root Wolpe) ผู้อำนวยการ Emory Center for Ethics กล่าวถึงเหตุผลที่มนุษย์อยากจะมีชีวิตยืนยาว “ความตายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดและไม่อาจล่วงรู้ได้ในฐานะมนุษย์” ดังนั้นเวลามนุษย์นึกถึงความตายจึงเป็นการกระตุ้นความรู้สึก FOMO (Fear of missing out) ชนิดที่เลวร้ายที่สุด ทำให้พวกเขารู้สึกกลัววันสุดท้ายของชีวิต
ถึงอย่างนั้นซีอีโอผู้ร่ำรวยอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) กลับไม่เห็นด้วยกับการลงทุนเพื่อชะลอวัย เพราะอายุที่มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าคนเราจะอยากเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ไอเดียของคนรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสเติบโตได้ในสังคมที่ผู้คนอายุยืนจนเกินไป ข้อโต้แย้งเหล่านี้จึงชวนให้เราสงสัยว่า การมีอายุยืนเป็นเรื่องที่ดีจริงหรือไม่? และคนเราควรอายุยืนยาวแค่ไหนถึงจะดีต่อสังคมมนุษย์?
สิ่งที่ตามมาเมื่อผู้คนอายุยืนมากขึ้น
ไม่ใช่แค่อีลอน มัสก์เท่านั้นที่ออกมาบอกว่ามนุษย์ไม่ควรมีอายุยืนยาวจนเกินไป เพราะในปี ค.ศ.2014 เอเซเคียล เอ็มมานูเอล (Ezekiel Emanuel) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยเขียนบทความ “ทำไมผมจึงอยากจะตายในวัย 75 ปี” (Why I Hope to Die at 75) ขึ้นมา จนมีผู้คนนับพันส่งจดหมายและอีเมลมาตำหนิว่าเขาเสียสติไปแล้วหรือเปล่า ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนออกมาขอบคุณที่เอ็มมานูเอล ช่วยพูดแทนสิ่งที่พวกเขาคิด แต่ไม่เคยกล้าพูดมันออกมา
“สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจคือเหตุผลที่ชาวซิลิคอนแวลลีย์ต้องการมีชีวิตอยู่ตลอดกาล เห็นได้ชัดว่าพวกเขาเชื่อว่าโลกไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากปราศจากการดำรงอยู่ของมนุษย์” เอเซเคียลกล่าว “เมื่ออายุครบ 75 ปี ผมจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ ผมจะได้รักและได้รับความรัก ลูกๆ ของผมจะเติบโตและมีชีวิตที่มั่นคง ผมจะได้เห็นหลานๆ ที่เพิ่งเกิดและเริ่มต้นชีวิตของพวกเขาพอดี”
นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่า มีน้อยคนนักที่ไม่ถูกวัยชราพรากเอาบางสิ่งบางอย่างไปจากพวกเขา ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการทำงาน การมีส่วนร่วมทางสังคม รวมทั้งสุขภาพกายใจที่ดี เพราะการช่วยชีวิตคนหรือรักษาโรคบางอย่างได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงเสมอไป
เห็นได้จากสถิติในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2000 – 2010 ที่พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองลดลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ข่าวร้ายคือชาวอเมริกันประมาณ 6.8 ล้านคนที่รอดชีวิตจากโรคนี้ กลับต้องทนทุกข์จากอาการอัมพาตหรือไม่สามารถพูดได้เหมือนเดิม อีกประมาณ 13 ล้านคนต้องพบกับความผิดปกติของสมอง เช่น การควบคุมอารมณ์ และการรับรู้ของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า (นับจากปี ค.ศ.2014) จะมีชาวอเมริกันที่ต้องทุกข์ทรมานจากความพิการเพราะโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และปรากฏการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับโรคอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้เอ็มมานูเอล ยังมองว่า การทำให้มนุษย์ทุกคนอายุยืนนับร้อยปี แต่ไม่สามารถทำให้ทุกคนสุขภาพดีอย่างเท่าเทียมกันนั้น ยิ่งทำให้จำนวนของแซนวิชเจเนอเรชั่น (กลุ่มคนที่ต้องดูแลคนสองเจเนเรชั่น) เพิ่มสูงขึ้น ลูกหลานของเขาจะได้ใช้ชีวิตของตัวเองน้อยลง หากต้องคอยดูแลพ่อแม่ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ และเขาอยากให้ลูกหลานมีภาพจำสุดท้ายว่าเขาร่างกายแข็งแรง ยังพูดคุยได้ตามปกติ มากกว่าภาพความพยายามยื้อชีวิตอันน่าเศร้าสลด ดังนั้นหากป่วยเป็นโรคร้ายแรง เขาคงเลือกการดูแลแบบประคับประคอง หรือ palliative care (การดูแลผู้ป่วยโรคที่รักษาไม่หาย ให้เจ็บปวดน้อยที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจากลา) แทนพยายามยื้อรักษาต่อไปอย่างทุกข์ทรมาน
ลงทุนเพื่อยืดอายุ vs ลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต
จากเรื่องราวของเอ็มมานูเอล ไม่ได้หมายความว่าการยืดอายุจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป เพียงแต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เสียทีเดียว นอกจากนี้เอ็มมานูเอลยังมองว่าเราควรลงทุนและให้ความสำคัญกับช่วงวัยอื่นๆ ไม่ต่างไปจากการยืดวัยชราให้ยาวนานออกไป เช่น การลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด การลดอัตราการตายหรือความพิการของเด็กทารก วัยรุ่น วัยทำงาน โดยเฉพาะอัตราการเกิดของเด็กทารกที่ในสหรัฐอเมริกามีตัวเลขลดฮวบลงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ.2020 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2007
อย่างไรก็ตามเอ็มมานูเอลมองว่า การปฏิเสธความเห็นของเขาเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะวิวัฒนาการได้ปลูกฝังให้มนุษย์มีแรงผลักดันให้พยายามต่อสู้ เพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และตัวเลข 75 ปี เป็นเพียงความคิดเห็นจากมุมมองของเขา ไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทุกคนควรจจะจากไปในช่วงเวลาเดียวกัน สุดท้ายแล้ว แม้จะตอบไม่ได้อย่างแน่ชัดว่ามนุษย์ควรมีอายุยืนยาวแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญกว่าตัวเลข คงเป็นคุณภาพชีวิตของมนุษย์ระหว่างมีลมหายใจ
ดังนั้น ความชราที่เพิ่มขึ้นจึงควรมาควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในแง่การแพทย์ เช่น การหาวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ ทุพพลภาพในวัยชรา ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงรัฐสวัสดิการเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การทำงาน การสร้างพื้นที่และกิจกรรมที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เกิดแซนวิชเจเนอเรชันจำนวนมากเกินไป หรือสร้างความกังวลใจเรื่องการวางแผนหลังวัยเกษียณ
อ้างอิงจาก