‘จน เครียด กินแป้ง แล้วยังไม่ออกกำลังกาย ก็ไม่แปลกใจที่สุขภาพไม่ดี’ แต่ในเมื่อของแพงขึ้นขนาดนี้ จะดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีได้อย่างไร?
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า เนื้อไก่สด ขึ้นราคาจากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็น 80 บาท หรือขึ้นพรวดมาจากเดิมถึง 37.5% ซึ่งก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา เนื้อหมู และไข่ไก่ ก็ทยอยขึ้นราคาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ราคาขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังคงที่สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่แสนแพง
เหล่านี้จึงนำมาสู่ข้อกังวลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการตั้งคำถามถึงการได้รับ ‘สารอาหาร’ อย่างเพียงพอของคนไทย ว่าในเมื่ออาหารแพงขนาดนี้ คนจะยังสามารถมีกำลังซื้อจนได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรต่อไป
The MATTER ชวนไปสำรวจผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ตั้งคำถามในเชิงโครงสร้าง และหาคำตอบไปด้วยกันว่าอะไรจะมาเป็นคำตอบของวิกฤตสุขภาพคนไทยในครั้งนี้ได้
“ต้องกินสารอาหารให้เพียงพอ” แล้วถ้ากินไม่พอ จะเกิดอะไรขึ้น?
เราคงจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับบทเรียนตั้งแต่สมัยเด็ก ที่สอนว่ามนุษย์จะต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ
หนึ่งในสารอาหารที่ถูกพูดถึงในประเด็นนี้คือสารอาหารที่ได้จากเนื้อสัตว์ อย่าง ‘โปรตีน’ โดยโปรตีนมีบทบาทสำคัญหลายประการ ทั้งการสร้าง ซ่อมแซม และรักษากล้ามเนื้อ กระดูก และผิวหนัง รวมไปถึงผลิตแอนติบอดี้ เอนไซม์ ช่วยขนส่งและเก็บรักษาโมเลกุลต่างๆ และยังมีส่วนควบคุมฮอร์โมนบางอย่างที่มีความสำคัญกับร่างกายอีกด้วย
ดังนั้น การไม่ได้กินโปรตีนไม่ได้จบแค่การ ‘ไม่อิ่ม’ แต่หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยอาจจะเกิดความผิดปกติของร่างกาย ทั้งอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ บวมน้ำ เกิดความผิดปกติในเส้นผม เล็บ ผิว และที่เห็นได้ชัดคืออ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เพราะไม่มีโปรตีนไปเลี้ยงเม็ดเลือดแดงที่ช่วยเลี้ยงออกซิเจนไปทั่วร่างกาย และอาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
ซ้ำร้าย สิ่งที่คนมักนำมาทดแทนจากการขาดโปรตีน คือการกินแป้ง หรือบริโภค ‘คาร์โบไฮเดรต’ ในปริมาณมาก เพราะจะทำให้อิ่มนานขึ้นและได้รับพลังงาน แต่การรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาจกส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย
แค่รู้จักวางแผนและดูแลตัวเองให้ดี ก็จะได้รับสารอาหารเพียงพอได้จริงหรือ?
ข้าวของมันแพงถึงขั้นที่คนรายได้น้อยจะเข้าไม่ถึงสารอาหารอย่างเพียงพอได้จริงหรือเปล่า? เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น The MATTER ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้
สมมติ ‘สมชาย’ เป็นชายวัย 31-50 ปี น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 363 บาท (ประมาณเดือนละ 10,164 บาท)
จากอายุและน้ำหนักตัวของสมชาย สำนักโภชนาการแนะนำว่า ใน 1 วัน สมชายควรได้รับพลังงาน 2,190 กิโลแคลอรี โดยร่างกายควรได้รับโปรตีน 60 กรัม คาร์โบไฮเดรต 45-65% และ ไขมัน 20-35% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน
แล้วอาหารต่างๆ จะได้รับสารอาหารเท่าไร? เราขอยกตัวอย่างส่วนหนึ่ง โดยอ้างอิงข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้
- เนื้ออกไก่สุก 30 กรัม (เท่ากับประมาณ 2 ช้อนกินข้าว) จะได้รับโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม และให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี
- ไข่ไก่ทั้งฟอง มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม และให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี
- ข้าวสวย 1 ทัพพี มีคาร์โบไฮเดรต 18 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี
เพื่อให้เข้าใจง่าย เราขอมุ่งเน้นให้สมชายกินโปรตีนให้เพียงพอก่อน ดังนั้น เราจะวางโปรแกรมกินอาหารให้สมชายจะต้องกินอกไก่ 210 กรัม (ได้โปรตีน 49 กรัม) ไข่ไก่ 2 ฟอง (ได้โปรตีน 14 กรัม) และข้าวสวย 3 ทัพพี (ได้โปรตีน 6 กรัม)
ถึงเวลาหันมาดูราคาอาหารกันบ้าง จากราคาไก่ในตลาดใจกลางเมือง ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2567 อกไก่มีราคากิโลกรัมละ 80 บาท และไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาแผงละ 140 บาท (ฟองละ 4.6 บาท) ซึ่งอกไก่เมื่อนำมาต้มสุก น้ำหนักจะลดลงประมาณ 30% ดังนั้นอกไก่ที่สมชายกินจริงจะเหลือ 700 กรัมเท่านั้น
แต่เดี๋ยวก่อน! ภาพชีวิตของสมชายตอนนี้ช่างสวยงาม และดูไม่น่าจะมีปัญหาในการได้รับโปรตีนสักเท่าไร แถมยังใช้เงินไปไม่ถึง 363 บาทเลย! แต่ในชีวิตจริง สมชายจะทำสิ่งเหล่านี้ได้จริงหรือ เมื่อค่าแรงที่ได้รับไม่ได้ถูกใช้แค่กับค่าอาหารเท่านั้น และยังมีมิติของชีวิตอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย
ยังไม่ต้องคิดว่าสมชายมีครอบครัวที่ต้องดูแล ด้วยรายได้เท่านี้แต่ทำงานในกรุงเทพมหานคร และสมชายอาจไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง สมชายจึงต้องพักอาศัยอยู่ในห้องพักชานเมืองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และเสียค่าเดินทางมาทำงานทุกวัน ตีเป็นเลขกลมๆ สักเดือนละ 4,000 บาท ทำให้สมชายจะเหลือเงินสำหรับค่ากินอยู่วันละ 205 บาทเท่านั้น
เราอาจจะคิดว่า ก็ยังเพียงพอสำหรับโปรแกรมที่ตั้งไว้นี่? แต่ถ้าสมชายจะซื้ออกไก่ ไข่ และข้าวในราคาตลาดสดได้จริง (และความเป็นจริงก็ต้องใช้เงินกับการซื้อผัก และเครื่องปรุงอื่นๆ อีก) สมชายจะต้องมี ‘เวลา’ ในการตื่นไปตลาด และมีเวลาทำอาหารเช้า กลางวัน เย็นทุกวัน แต่ในเมื่อสมชายทำงานใช้แรงงานและบ้านก็อยู่ไกล แต่ละวันเวลาก็แทบจะหมดไปกับการเดินทางและการทำงานแล้ว และนี่ยังไม่ต้องพูดถึงค่าไฟฟ้าสำหรับปรุงอาหาร และค่าอุปกรณ์เครื่องครัวที่สมชายจะต้องซื้อมาใช้เป็นของตัวเอง
จุดจบของสมชายจึงไม่ใช่การทำได้ตามโปรแกรมที่เราตั้งไว้ให้ ลืมไปได้เลยกับการกินโปรตีนให้พอหรือกินอาหารสุขภาพ สมชายเพียงต้องการได้รับพลังงานแต่ละวันให้เพียงพอต่อการต้องลุกไปทำงานต่อไป ซึ่งทางเลือกที่ง่าย ราคาถูก และให้พลังงานสูง ก็คือเหล่าคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้ง ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และแน่นอนว่า การออกกำลังกายก็แทบจะกลายเป็นฝันเช่นกัน
และปัญหาก็ยังซับซ้อนมากขึ้น เมื่อยังมีมิติที่มาทับซ้อนกันอีกอย่างปัจจัยด้านสุขภาพจิตจากการทำงานหนัก ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือถ้าหากสมชายต้องดูแลคนในครอบครัวด้วยก็อาจยิ่งยุ่งเหยิง สถานการณ์ของสมชายจึงอาจสะสมกลายเป็นปัญหาสุขภาพทั้งโรคอ้วน เบาหวาน และโรคทางจิตเวชได้
แล้วสมชาย (และคนไทยจำนวนมาก) จะสุขภาพดีกี่โมง?
‘ความเหลื่อมล้ำ’ สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยสุขภาพแย่ลง
เพราะคนที่เผชิญปัญหานี้ ไม่ได้มีแค่สมชายเท่านั้น ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีคนยากจนถึง 655,365 คน และคนจนเป้าหมาย (คนจนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน) จำนวน 211,739 คน จากที่สำรวจทั้งหมดประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งเส้นความยากจน (ตัวชี้วัดว่ารายได้เท่าไรเรียกว่าเป็นคนจน) นั้นยิ่งต่ำกว่าขั้นแรงขั้นต่ำเสียอีก โดยอยู่ที่ 2,802 บาท/คน/เดือน
จำนวนคนจนเป้าหมายนี้มาจากตัวชี้วัดหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือด้านสุขภาพ คือการที่ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ เข้าถึงยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันคนจนมีปัญหาด้านสุขภาพถึง 26,891 คน และด้านความเป็นอยู่ 44,976 คน นั่นคือการมีน้ำสะอาดใช้เพียงพอ มีครัวเรือนที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
แต่เมื่อประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาถกเถียงบนโซเชียลมีเดีย คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าอย่างไรคนเราก็ควรดูแลตัวเองเพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นมาช่วยเหลือไม่ได้ แต่คนอีกส่วนหนึ่งมองว่า ภาพนี้เป็นการสะท้อนถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่คนชนชั้นกลางขึ้นไปมีเงิน เวลา และโอกาสในการเข้าถึงอาหารดีๆ ในขณะที่คนชนชั้นกลางค่อนล่าง ถึงคนชนชั้นล่างที่รายได้น้อย ไม่อาจฝันถึงโอกาสนั้นได้เลย
The MATTER ติดต่อพูดคุยกับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ ว่าสถานการณ์ของแพงตอนนี้กระทบต่อปัญหาสุขภาพอย่างไร? และพอจะมีวิธีไหนไหมที่คนรายได้น้อย (ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ) จะสุขภาพดีบ้าง เมื่อค่าครองชีพสวนทางกับรายรับขนาดนี้!
‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งทำค่าครองชีพสูงขึ้น เป็นสถานการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ษัษฐรัมย์ระบุว่า สิ่งที่ไม่ปกติคือโครงสร้างค่าจ้างค่าตอบแทนของไทย และสวัสดิการ ที่ไม่มีการปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพเลย ดังนั้นคนที่จะแบกรับภาระมากที่สุด คือกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ และกลุ่มชนชั้นกลางค่อนล่างลงไป ที่ต้องปากกัดตีนถีบในแต่ละเดือน ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำให้ยิ่งแย่ลง
“ระบบสวัสดิการก็คือการดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นการมีค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ มีสวัสดิการที่ดี จะทำให้สุขภาพกายและใจของคนดีขึ้น” ษัษฐรัมย์อธิบาย โดยย้ำว่าเรื่องสุขภาพกับสวัสดิการเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้
อย่างในประเทศไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ษัษฐรัมย์สังเกตได้ถึงเทรนด์ของวัยทำงานที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีแนวโน้มที่จะทำงานมากกว่า 3 งาน “เขาไม่ได้ทำเพื่อให้เขารวย แต่ต้องทำเพื่อให้สามารถประคองชีวิตให้ผ่านไปได้ในแต่ละเดือน” ษัษฐรัมย์กล่าว เพราะค่าตอบแทนแค่งานหลักนั้นไม่เพียงพอจะทำให้ใช้ชีวิตได้ แต่ถ้าคนต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการทำงานหนักแบบนี้ต่อไป ก็จะกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และคุณภาพชีวิต
แม้ว่าภาครัฐมีความพยายามที่จะรณรงค์ให้คนดูแลสุขภาพ แต่หากจะให้เกิดขึ้นจริงได้ ก็ต้องทำให้คนมีเงินมากขึ้นโดยปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยระบุว่ายังมีคนงานนับล้านคนที่ยังรับค่าจ้างขั้นต่ำ และยังมีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนั้น สิทธิลาคลอด สิทธิดูแลคนในครอบครัว ก็เป็นประเด็นที่ต้องผลักดันอย่างจริงจังมากขึ้น “ถ้าอยากให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่การให้ข้อมูล แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ เวลาว่าง และอำนาจต่อรองของคนส่วนใหญ่” ษัษฐรัมย์กล่าว
เขาทิ้งท้ายว่า รัฐสวัสดิการอาจไม่ได้เป็นคำตอบของทุกคำถาม แต่จะเป็นกุญแจดอกแรกถึงการไปพูดเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์ แต่มีสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เลย เช่น เงินเลี้ยงดูเด็ก ที่ควรเปลี่ยนเป็นระบบถ้วนหน้าเพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น หรือเบี้ยผู้สูงอายุก็ควรปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยรองรับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นได้
“ปัญหาสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งกาย ใจ มันเกี่ยวกับสังคม และสังคมของเราก็ไม่ได้เป็นสังคมที่ใจดีนักกับชีวิตของคนธรรมดา”
ษัษฐรัมย์ระบุต่อว่า “ถ้าเราออกแบบสังคมให้ใจดีกับคนธรรมดา สุขภาพของคนธรรมดาก็จะดีขึ้น” โดยอธิบายว่าปัจจุบันสังคมนั้นถูกออกแบบมาเพื่ออภิสิทธิ์ชน คนรวยไม่กี่กลุ่มสามารถมีทุกอย่างที่ดีได้ จึงย้ำจุดยืนสำคัญว่า ‘การกระจายทรัพยากรที่เหมาะสม’ กับ ‘สุขภาพของคน’ เป็นเรื่องเดียวกันที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ
อ้างอิงจาก