ขณะที่คุณกำลังไล่สายตาอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยู่ ชายหนุ่มผมสีทองในปารีสกำลังเก็บกระเป๋าสำหรับวันลาพักร้อน แผนของเขาไม่มีอะไรมากนอกจากใช้วันลาทั้งหมดกับการทัวร์รอบอาเซียน และร่อนเวลาทิ้งด้วยหนังสือสักเล่มของ เอมิล โซลา หรือขณะที่สามีภรรยาอาชีพเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์กำลังโปรยหว่านเมล็ดข้าวสู่ผืนนา หวังว่ามันจะผลิรวงสวยเพื่อนำเงินมาเป็นค่าชุดนักเรียนลูก เด็กน้อยเมืองดอร์ทมุนด์ของเยอรมนีเพิ่งตัดสินใจกับตัวเองว่าเขาจะกลายเป็นดอกเตอร์ด้านชีววิทยาให้ได้ โดยไม่ต้องกังวลอะไรเลย เพราะรัฐบาลของพวกเขาจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เผื่ออนาคตการศึกษาของเขาแล้ว
ชีวิตแสนธรรมดาในกรุงเทพฯ และกาฬสินธุ์ ดูมีความแตกต่างอย่างมากกับความธรรมดาในปารีสและดอร์ทมุนด์ ความธรรมดาของคนหนึ่งอาจไม่ใช่ความธรรมดาของอีกคน เพราะความธรรมดาผันแปรตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงประสบการณ์แวดล้อมที่คนๆ นั้นเผชิญผ่านมา ดังนั้น แง่หนึ่งความธรรมดาขึ้นกับความพึงใจ แต่ควรถูกตั้งคำถามเช่นกันว่า ในความธรรมดาแบบนั้น เราควรพึงใจแล้วหรือยัง?
หลังจากที่ล่าสุดมีแคมเปญจากหลายบริษัทที่พูดถึง “การใช้ชีวิต” และ “คนธรรมดา” ในสังคมไทย The MATTER ได้นำคีร์เวิร์ดคำนี้ไปพูดคุยกับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อลองคิดให้ลึกลงไปในความธรรมดาที่แวดล้อมสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ มันปกติไหมที่เราใช้เวลาเดินทางไปทำงานวันละ 2 ชั่วโมง ปกติจริงหรือที่เรายังเห็นเด็กบางคนหลุดกระเด็นจากระบบการศึกษา มันปกติจริงไหมที่ความฝันของคนหนุ่มสาวส่วนมากแตกสลายเกลื่อนกลาดเต็มถนน
ในความธรรมดาที่แวดล้อมเราอยู่มันถูกรูปหรือบิดเบี้ยวมากน้อยแค่ไหน บมสัมภาษณ์เบื้องล่างนี้จะพาผู้อ่านลงคิดใคร่ครวญกันดูอีกครั้ง
เวลาที่เรานึกความธรรมดาสามัญในสังคมไทยมันเป็นอย่างไรบ้าง
ประการแรก คำว่าธรรมดาหรือว่าคุณภาพชีวิตแบบธรรมดา มันเป็นเรื่องที่สัมพัทธ์มากเลย เราอยู่ในสังคมที่มองว่าอะไรมันปกติ แล้วก็อะไรที่มันไม่ปกติ เอาง่ายๆ สังคมไทย มันเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำมากๆ ดังนั้น เวลาเราพูดถึงความเท่าเทียม เขาจะมองว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ หรือการที่จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งการมีบ้าน มีรถ มีเวลาไปดูคอนเสิร์ต มันก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติสำหรับประเทศไทยแล้ว เพราะว่าชีวิตของคนไทยส่วนมากคือ ทํางานหนัก ยากจน และมีรายได้ที่ไม่มั่นคง
ถ้าสมมติมีเพื่อนชาวต่างชาติมาถามคุณว่า เฮ้! ชีวิตประจำวันยูเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ไอฟังหน่อย
ถ้าเทียบกับประเทศที่มันมีความเท่าเทียม มีรัฐสวัสดิการที่ดี อย่างเพื่อนผมเป็นอาจารย์ชาวเดนมาร์ก เขาบอกว่าเขาก็คือคนธรรมดา เป็นคนธรรมดาในแง่ที่เขานิยามว่า เขาเป็นผู้ใช้แรงงานธรรมดา แต่คําว่าผู้ใช้แรงงานธรรมดาในเดนมาร์ก ไม่ว่าคุณจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ช่วยผู้จัดการในโรงแรม หรือเป็นแรงงานอพยพที่เข้ามาเปิดร้านพิซซ่า คุณก็จะมีคุณภาพชีวิตที่มันอาจจะไม่ธรรมดา เมื่อเทียบกับสังคมไทย
สมมติคุณเป็นคนเดนมาร์กที่ทำงานมาได้สักพัก ประมาณ 5-10 ปี มันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะมีบ้านพักตากอากาศส่วนตัว แต่สําหรับสังคมไทย ถ้าคนหนึ่งๆ จะมีเงินบำนาญสำหรับวัยชราที่เพียงพอ หรือว่ามีกำลังส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่ดี มีที่อยู่อาศัยใกล้ขนส่งสาธารณะ หรือคอนโดติดบีทีเอส มันถือว่าไม่ธรรมดา มันพิสดาร มันจะมีกี่คนที่พ่อแม่มี Passive Income หรือไม่ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์มาลงบีทีเอสเพื่อมาทำงาน ผมคิดว่านี่คือความไม่ธรรมดาในเมืองไทยแล้ว ทั้งที่จริงๆ บางอย่างมันควรจะเป็นเรื่องธรรมดา
ในแง่คุณภาพชีวิตของคนธรรมดาของเมืองไทย บาร์เราค่อนข้างต่ำมาก เรารู้สึกปกติกับการที่ต้องติดอยู่บนท้องถนนวันละสองชั่วโมง เรารู้สึกการทํางานหนักเป็นสิ่งที่ปกติ หรือการเสียสละ เช่น พี่ไม่เรียนต่อเพื่อให้น้องได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือพ่อแม่ที่ต้องไปกู้นอกระบบเพื่อเป็นค่านมลูก เรื่องเหล่านี้มันผิดปกติ แต่มันถูก นอร์มอลไรส์ (Normalize) ให้ปกติในสังคมไทย
และที่มันผิดปกติมากๆ คือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผมพูดแล้วอาจฟังเหมือนเวอร์ แต่เจ้าสัวในไทยมีรายได้จากการทำงานหนึ่งวินาทีเท่ากับคนธรรมดาทํางานทั้งปี เพราะรายได้เฉลี่ยของคนธรรมดาประมาณ 100,000 – 120,000 บาท/ ปี ขณะที่เจ้าสัวมีรายรับระดับ 10,000 ล้านบาท/ ปี หรือความผิดปกติอื่น เช่น คนไทยโดยเฉลี่ยต้องทํางาน 1,000 ปี ถึงจะมีทรัพย์สินเท่ากับคนที่รวย อันนี้มันก็ผิดปกติ แต่ว่ามันถูกทําให้ปกติ
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัย และมักถามกับนักศึกษาอยู่เสมอ สมมติผมแบ่งเป็นกลุ่มคนรายได้ 13,000 บาท/ เดือน, คนรายได้ 30,000 บาท/ เดือน และคนรายได้ 300,000 บาท/ เดือน เวลามันเกิดปัญหาอะไรต่างๆ ขึ้นมาในสังคม ทำไมคนกลุ่มที่สอง (รายได้ 30,000 บาท/ เดือน) ถึงมักเห็นอกเห็นใจคนกลุ่มสาม (รายได้ 300,000 บาท/ เดือน) มากกว่ากลุ่มหนึ่ง (รายได้ 13,000 บาท/ เดือน) แทนที่จะรวมตัวช่วยกันเพื่อทําให้คนกลุ่มสามรวยน้อยลง และคนอีกสองกลุ่มได้ประโยชน์เยอะขึ้น คนกลุ่มสองกลับมักรู้สึกเป็นมิตรกับคนกลุ่มสามมากกว่า แล้วบอกว่าไอ้คนจนที่มันมีอยู่ไม่ขยันพอ ไม่วางแผน ทั้งที่ชีวิตของคนราย 13,000 และ 30,000 มันโคตรจะใกล้กันเลย แต่กลับเห็นอกเห็นใจคนรายได้มากสุด บอกว่า เฮ้ย! เห็นใจเจ้าสัวหน่อย ท่านทํางานหนัก ขยัน ฉลาด ประหยัดกว่า พวกเอ็งนั่งรถทัวร์มาจะเอารายได้เท่าเขาได้ยังไง
เราเห็นใจคนรวยมากกว่าที่จะเข้าใจคนที่เปราะบาง แม้ว่าเขาจะมีสถานะใกล้เคียงกับเรามากก็ตาม
อะไรที่ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจกับความธรรดา ที่ไม่ธรรมดาแบบนี้ จนเรารู้สึกว่าโอ๊ย! มันก็ได้แค่นี้แหละ
ผมคิดว่าเราอยู่กับความเหลื่อมล้ำมานานมากๆ จนเราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ปกติ แน่นอนเลยว่าถ้าคุณเกิดในสังคมที่เท่าเทียมมากๆ พอเจอความเหลื่อมล้ำ เจอปัญหาอะไรนิดหน่อย เช่น ในต่างประเทศที่รัฐมนตรีเอาบัตรเครดิตของที่ทํางานไปซื้อช็อกโกแลตราคา 80 บาท มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ของเขา ขนาดถูกถอดถอนได้เลย
และอีกด้านหนึ่งคือ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ รัฐบาลหรือว่าผู้มีอํานาจในประเทศนี้ ปฏิบัติการเรื่องนี้มาต่อเนื่องและยาวนาน ย้อนไปก็ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น รัฐบาลไทยใช้งบประมาณระดับ 10,000 ล้านบาทเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อรณรงค์ให้เห็นว่าระบบทุนนิยมนี้มันดียังไง ทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ขณะที่ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และบางครั้งก็เป็นภัยอันอันตรายด้วยซ้ำ เช่นบางประโยคที่ผมพูดตอนนี้ ถ้าอยู่ในยุคสงครามเย็นมันเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยซ้ำ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คน 99% ถูกทําให้แยกขาด ไม่สามารถที่จะรวมตัวหรือส่งเสียงได้เลย กลายเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่คอยคิดแทนเรา พูดแทนเราว่า “แค่เท่านี้ ก็ดีเท่าไหร่แล้ว ถ้าเอามากกว่านี้จะเป็นปัญหานะ”
ย้อนกลับไป 30 กว่าปีก่อนนี้ มันเคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ แล้วคนงานจำนวนมากไม่สามารถหนีได้ เพราะเจ้าของไม่สร้างทางหนีไฟ โดยอ้างว่ากลัวคนงานจะขโมยตุ๊กตา นี่แหละคือเวลาที่เราไม่สามารถส่งเสียงได้ จนสุดท้ายมันกลายเป็นโศกนาฏกรรม
มันเหมือนกับชนชั้นนําปัจจุบันนี้เอง ที่เขามีข้ออ้างมากมายว่าถ้าให้ตัวนี้มากเกินไป มันจะไม่ดี หรือถ้าให้เด็กเรียนฟรีหมด มันจะไม่แข่งขัน เด็กจะไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ พวกเขาคิดแทนเราเหมือนกับเจ้าของโรงงานเคเดอร์ที่คิดแทนคนงาน จนสุดท้ายมันกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่คนโดนย่างสดเสียชีวิตในโรงงานนั้น
แล้วการที่เราจะเป็นคนไม่ธรรมดาในประเทศนี้บ้าง มันยากง่ายแค่ไหน
ผมเพิ่งอ่านงานวิจัยของอาจารย์ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมันไม่ใช่ตัวเลขทางการนะ แต่เขาพบว่าคนอายุ 25-35 ปี มีรายได้เฉลี่ย 18,000 บาท/ เดือน แต่ถ้าวัดแบบทั้งประเทศ มันน่าจะน้อยกว่านี้ อันนี้คือเท่าที่คนมาตอบแบบสอบถามออนไลน์ แล้วพอคุณอายุ 50 ปี คุณจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 33,000 บาท/ เดือน นั่นหมายความว่าคุณทํางานประมาณ 20 กว่าปี คุณจะมีรายได้เพิ่มขึ้นสัก 40% เท่านั้น ซึ่งมันถือว่าเล็กน้อยมากเลย
ขณะที่อัตราส่วนของที่ธนาคารโลกเขาทําการเซอร์เวย์ในไทยพบว่า ถ้าคุณเกิดใน 50% ล่างของประเทศ หรือเกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 26,000 บาท/ เดือน คุณมีโอกาสประมาณ 15% ที่จะเขยิบขึ้นมาเป็น 25% ข้างบน หรือมี 1 ใน 7 คนที่จะทำแบบนั้นได้ ถ้ามองด้วยตัวเลขมันอาจไม่ยากขนาดนั้นใช่ไหม แต่คุณควรมองว่านี่คือการเดิมพันด้วยชีวิตนะ
และในทางกลับกัน ถ้าคุณเกิดใน 25% บนอยู่แล้ว คุณจะมีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะอยู่ตรงนั้นต่อไป หรือคือ 1 ใน 2 คนจะอยู่ตรงนั้นแน่นอนโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นมาตรฐานที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ สําหรับต่างประเทศ แต่ในสังคมไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้
บางอย่างที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา หรือเป็นมาตรฐานที่เราควรจะไปถึง เอาเข้าจริงแล้วในสังคมไทยมันไม่ได้ง่ายนัก แล้วยิ่งบางคนเดิมพันด้วยชีวิต ด้วยการทํางานหนัก ยอมกู้ยืม ยอมลงทุน ยอมเสียสละชีวิต สละความฝันเพื่อวันสงกรานต์จะได้กลับบ้านแล้วมีทองคำสักเส้นไปฝากแม่ หรือถ้าเศรษฐกิจดีๆ จะได้มีโอกาสพาพ่อแม่ไปเที่ยวเที่ยวทะเล มันฟังดูเหมือนกับเป็นแค่การซื้อสินค้า
สําหรับคนไทยบางคนมันคือเดิมพันที่เขาวางไว้ด้วยชีวิต แล้วก็มีหลายคนเลยที่ แม้แต่เรื่องปกติพื้นฐานเหล่านี้ ก็ยังไม่สามารถไปถึงได้เพราะว่าความเหลื่อมล้ำที่เขาต้องแบกรับ
ล่าสุดมีแคมเปญที่แบรนด์ต่างๆ ทำออกมาเกี่ยวกับ ‘คนธรรมดา’ อาจารย์มองอย่างไรบ้างกับการทุนใหญ่นำคำนี้มาใช้โปรโมต
ผมคิดว่าอันนี้คือข้อเท็จจริงในระบบทุนนิยม ทุนใหญ่ต้องหากินกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ พูดง่ายๆ ว่าการที่ทุนจะประสบความสําเร็จขึ้นมา มันไม่ได้ขายเฉพาะคนรวย ซึ่งมันก็มีบางกลุ่มธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนรวย แต่ว่ากลุ่มนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ และไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมขนาดนั้น แต่กลุ่มทุนที่จะมีอิทธิพลกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ มันคือกลุ่มที่หากินกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งแน่นอนที่สุดเลยมันหมายถึงว่าการขายของถูก ปริมาณเยอะ และคนต้องใช้ทุกวัน
ในแง่ของมาร์เก็ตติ้ง มันมี 2 สองอย่าง ประการแรกคือคุณอยากจะทําให้คนธรรมดารู้สึกพิเศษที่ได้ใช้ของๆ คุณ ประการที่สอง การใช้ของคุณเป็นการตอกย้ำสถานะของความเป็นคนธรรมดาของคุณ เรียกว่าคุณจะซื้อเสื้อตัว 60-70 บาท หรือรองเท้าคู่หนึ่งไม่กี่ 100 บาท มันสร้างความน่าภูมิใจให้คุณ โดยที่คุณไม่จําเป็นที่จะต้องมีรายได้สูงเพื่อที่จะบริโภคอะไรต่างๆ มากกว่านี้
ถ้าจะว่ากันตรงๆ มันคือตรรกะแบบเศรษฐกิจพอเพียงคือ ทำให้เราพอใจกับสภาวะแบบนี้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาในตัวเอง แต่ผมว่าสินค้าพวกนี้ ถ้านำมาเทียบตามมาตรฐานของค่าครองชีพของไทย มันก็ไม่ได้เป็นของธรรมดาซะทีเดียว คือถ้าเราเติบโตมาในต่างจังหวัด เราจะเห็นว่ารองเท้านันยาง มันไม่ใช่อะไรที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้เหมือนกัน
ดังนั้น ผมคิดว่ามันมีปัญหาสองด้านในเรื่องนี้ ด้านแรกมันทําให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันโอเคกับเราแล้ว อีกด้านคือมันทําให้รู้สึกว่าการบริโภคในระบบทุนนิยม มันคือตัวตนของเรา ซึ่งมันก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของสินค้าทั่วไป ที่ทําให้รู้สึกว่าผู้บริโภคได้ตอกย้ำตัวตนไปพร้อมกับสินค้าเหล่านี้
แต่เราสามารถพอใจกับอะไรที่มันมากกว่านี้ได้ไหม ไม่ใช่หมายถึงว่าสินค้าที่ออกโฆษณานี้มามันไม่มีคุณภาพนะ แต่ผมว่ามันควรเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะไม่ถูกจํากัดเพียงแค่คำว่า ‘ของธรรมดา’
แล้วสำหรับบางแบรนด์ที่เป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด และเป็นทุนผูกขาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งพอปล่อยแคมเปญเรื่องนี้มาแล้วถูกสังคมต่อต้าน อาจารย์มองว่ามันมีปัญหาอย่างไร
ผมคิดว่ามันเป็นการตลาดของเขา และเป็นสิ่งที่แบรนด์นี้ใช้มานานแล้วด้วย เช่น การพูดถึงเรื่องในชีวิตประจำวันอย่างการกิน แต่ผมคิดว่าปัญหาใหญ่คือ ทุนขนาดใหญ่ในไทยให้คืนกลับสู่สังคมน้อยเกินไป มันก็เลยทําให้เกิดกระแสต่อต้านกลับมา มันไม่ใช่ว่าเขาไม่ทําอะไรเลย แต่ผมคิดว่าการที่คนตั้งคำถามกับสิ่งที่แบรนด์นี้ทำ เพราะว่าคนเห็นว่าเขามั่งคั่ง แต่เขาคืนกลับสู่สังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนน้อยเกินไป และยึดโยงอยู่กับโครงสร้างที่บิดเบี้ยวในสังคมไทยมากเกินไป
ผมคิดว่ามันปกตินะ ยิ่งคุณตอกย้ำกับข้อความที่สื่อสารกับชีวิตประจำวันของคนธรรมดา และคนธรรมดาคนก็ขนเงินมาให้คุณ ทุกคนยิ่งตระหนักถึงความมั่งคั่งที่คุณมี มันทำให้แบรนด์ต้องขบคิดต่อแล้วว่ามันคงมีปัญหาจริงๆ แหละ เพราะมันคือการเปิดแผลให้เห็นว่า ในสภาวะที่ประเทศมันเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตของคนย่ำแย่ กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่หากินกับคนธรรมดามัวทําอะไรอยู่
เวลาเรามองทุน มันจำเป็นต้องมองด้วยสายตาที่พวกเขาเป็นผู้ร้ายเสมอไปไหม หรือว่าจริงๆ แล้ว เขามีส่วนเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคมเรามาโดยตลอด
ถ้าเราพูดถึงเรื่องพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยมมันก็แปรสภาพสังคมไทยไปมาก มันก็อาจจะทําลายบางอย่างที่มีความล้าหลังแล้วแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ เช่น ระบบทาสที่ถูกแทนที่ด้วยระบบการจ้างงาน แต่ปัญหาคือมันกลับสร้างการจ้างแรงงานที่ไม่ธรรมขึ้นมาอีก แต่ไม่ว่ายังไง มันมีพัฒนาการ ทำให้เศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยนแปลงดีขึ้นบ้าง แย่ลงบ้าง
ดังนั้น ผมคิดว่าเราเองน่าจะสามารถที่จะขบคิดและวิจารณ์ได้ว่า ทิศทางที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เดินไป มันส่งคืนสู่สังคมมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างนะครับ เวลามีร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้นในชุมชน ถ้าเรามองในด้านบวกเราจะเห็นว่า มีความเจริญ มีไฟสว่าง แล้วก็มีแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งมาตั้งอยู่ข้างหน้า แต่ในมุมกลับ มันก็ทําให้ SME มีส่วนแบ่งในตลาดน้อยลง หรือร้านโชว์ห่วยต้องปิดตัวลง หรือเราจะเห็นว่า กลุ่มทุนใหญ่ทำให้เกิดการจ้างานเพิ่มขึ้นในชุมชนต่างๆ แต่ว่าเราก็ควรวิจารณ์ได้นะว่าการจ้างงานผ่านเงื่อนไขค่าแรง 40-50 กว่าบาท/ ชั่วโมง หรือเด็กๆ ต้องไปทำงานเหล่านี้ มันเป็นธรรมอยู่ไหม
ผมคิดว่าที่สำคัญคือ เราควรวิจารณ์และตั้งคำถามได้ว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ส่งคืนกลับเข้าสู่สังคมในชุมชนนั้นๆ ในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล หลังคุณได้กำไรและใช้ทรัพยากรจากชุมชนนั้นๆ แล้วหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมพยายามย้ำอยู่ตลอดเกี่ยวกับกลุ่มทุน
แนวคิดเรื่องการทำธุรกิจสามารถสนับสนุนความเท่าเทียมไปพร้อมกันได้ไหม
ผมคิดว่าจริงๆ เราต้องแยกกันระหว่างความมั่งคั่งของทุนกับการทําธุรกิจ ถ้าเราพูดเรื่องการบริหารธุรกิจกระแสหลัก มันก็อาจจะบอกได้ว่ากําไรกับการทําธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วในหลายประเทศ ปัจจัยที่ทําให้คนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ไม่ได้มาจากผลกำไรสูงสุดเสมอไป เราจะเห็นว่ามันมีความตั้งใจของคนรุ่นใหม่จํานวนมาก หรือแม้กระทั่งคนที่มีประสบการณ์ว่า พวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อที่จะรวยที่สุดในโลก
แต่แน่นอนว่าในระบบปัจจุบัน มันพยายามที่จะออกแบบให้เราคิดแบบนั้น ให้เราต้องทําไอ้นี่ไอนั่นเพื่อที่จะรวย ซึ่งความเป็นจริงแล้ว มันไม่จําเป็นที่ว่ากําไรกับการทําธุรกิจ มันต้องผูกติดกันเป็นอันดับแรก ผมยกตัวอย่างกรณีหนึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน มีวิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวฟินแลนด์ชื่อ รีเนียส (Linus Torvalds ผู้คิดค้นปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ Linux – ผู้เขียน) คิดค้นระบบปฏิบัติการที่ฟรีสำหรับทุกคนจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่แกตั้งคำถามคือ ในเมื่อทุกคนบอกว่าคอมพิวเตอร์สําคัญ แล้วทำไมกลุ่มทุนขนาดใหญ่กลับขายของเหล่านี้ล่ะ ถ้ามันสําคัญ ทุกคนควรจะได้ใช้มันส เขาเริ่มให้คนใช้โปรแกรมฟรี ก่อนค่อยๆ ให้คนเข้ามาแชร์ความรู้กันเพื่อพัฒนาระบบ จนสุดท้าย คนที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมตัวนี้ก็ได้กําไรเพิ่มเติมจากการที่ระบบตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
หรือในต่างประเทศอย่างฟินแลนด์หรือสวีเดน ในเทศบาลจะมีการกำหนดว่าพื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านอยากให้ทําธุรกิจอะไร เช่น ประชาชนบอกว่าตรงนี้ เขาต้องการร้านหนังสือนะ ไม่ได้ต้องการร้านสะดวกซื้อ เพราะว่าเดินไปอีกแค่สามร้อยเมตรมันก็มีตั้งอยู่แล้ว แล้วถ้ามีคนมาเปิดธุรกิจดังกล่าวตามที่พื้นที่ต้องการ เทศบาลจะมีมาตรการช่วยธุรกิจนั้นๆ เช่น ลดภาษี เปิดทางให้ผู้ประกอบการเข้ามาเปิดธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ถามว่าเขาต้องการกําไรไหม มันก็ส่วนหนึ่ง แต่อาจแค่พอเลี้ยงตัวเองให้ไปได้ ไม่ถึงกับตั้งเป็นธงว่าต้องได้กําไรสูงสุด ผมเลยชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว กําไรกับการทําธุรกิจไปด้วยกัน แต่ไม่ได้เสมอไปว่าต้องเป็นกําไรสูงสุดทุกครั้ง
แล้วสำหรับความมั่งคั่ง มันมีแนวคิดที่ไปได้กับความเท่าเทียมไหม หรือมันผิดตั้งแต่คอนเซ็ปท์แล้ว
ผมยกคําพูดของอดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายอุรักวัยในช่วงปี 2015 ตอนนั้นนักข่าวไปสัมภาษณ์แกตอนที่กำลังจะพ้นตำแหน่งเรื่องความเสมอภาค แกถามนักข่าวกลับไปว่า “ถ้าคุณมีเงินหนึ่ง 10,000 ล้าน คุณจะทําอะไร?” นักข่าวก็ตอบกลับประมาณว่า “คงเอาไปช่วยคนจนหรือไปทําอะไรใกล้ๆ กันนี้” แกอธิบายว่า การที่คนๆ หนึ่งมีเงิน 10,000 ล้าน มันเหมือนกับแม่น้ําที่สูบน้ำจากลําคลองทั้งหมด ดังนั้น คุณจะมาถามแม่น้ำได้ยังไงว่าจะกระจายน้ำที่สูบมายังไง
เพราะฉะนั้น วิธีการง่ายๆ ถ้าคุณอยากจะลดความเหลื่อมล้ำ จุดเริ่มต้นคือคุณก็ต้องทําให้ความมั่งคั่งที่มันห่างชั้นกัน มันน้อยลง ซึ่งวิธีการที่มันถูกพูดถึงและคลาสิกที่สุดคือ การเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่ง เวลาเราพูดบอกว่าเก็บภาษี 40-50% เราไม่ได้เก็บตั้งแต่บาทแรกนะครับ สมมุติว่าคนหนึ่งคุณมีรายได้ต่อปีเกิน 100 ล้านบาท มันจะเริ่มเก็บตอนบาทที่หนึ่งร้อยล้านหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริง มันไม่ได้ทําให้คุณยากจนลงเท่าไหร่ แต่คำถามสำคัญคือคุณเสียได้ไหม เพื่อไม่ให้ความมั่งคั่งของคุณ ซึ่งไม่ได้มาจากที่ไหน แต่คนธรรมดาเหล่านี้มันไม่มากเกินไป
ดูเหมือนตัวทุนเองคงไม่มีธรรมชาติที่จะหยุดตัวเองไม่ให้สะสมความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้ ทีนี้ในประเทศไทย รัฐเรามีปัญหาในการจัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ใช่ มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะรัฐคือผู้ที่ผูกขาดทรัพยากร ผู้บังคับใช้กฎหมาย แล้วรัฐก็เป็นองค์กรที่เชื่อมกับประชาชน แต่ถ้าเรามองในกรณีของรัฐไทย เราจะเห็นว่าประชาชนกับรัฐตัดขาดออกจากกันมากขึ้น ประชาชนมีอํานาจในการตรวจสอบอํานาจรัฐน้อยลงมากจากกลไกหลายอย่างไม่ว่า ส.ว. หรือรัฐธรรมนูญ
ถ้ารัฐไม่เชื่อมกับประชาชน รัฐจะไปเชื่อมกับใคร รัฐก็จะไปเชื่อมกับกลุ่มคนที่มันเสียงดัง มันก็คือกลุ่มคนท็อป 1% ของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งคือเหล่ากลุ่มทุนผูกขาดนั่นแหละ ทีนี้รัฐและกลุ่มทุนผูกขาดจึงทํางานด้วยกัน เพราะว่าประชาชนไม่สามารถที่จะส่งตรงความต้องการของตัวเองมาสู่ที่รัฐได้ มันก็จะต่างจากช่วงที่มีการเลือกตั้งแบบที่มันเสรีมากกว่านี้ ในช่วงที่เสรี ข้อเสนอต่างๆ ของประชาชน มันก็จะถูกผลักถูกส่ง
เวลาที่เราพูดถึงว่ารัฐไทยได้ทําอะไรบ้าง ผมคิดว่ามันมีสองอย่าง ด้านแรกคือการเก็บภาษีเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งเวลาพูดถึงการเก็บภาษีเนี่ย ชนชั้นกลางก็จะสะดุ้งว่า เงินเดือน 30,000 บาท จะเอาอะไรกันฉันอีก แต่เวลาที่เราเรียกร้องเรื่องภาษีกับรัฐไทยเนี่ย เรากําลังพูดถึงคนที่มีรายได้ปีละ 5-10 ล้านขึ้นไป คนกลุ่มนี้คือคนที่รัฐไทยควรจะเข้าไปเก็บภาษีเพิ่ม เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก อะไรต่างๆ ที่มันจะลดความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ได้
พอเก็บมาแล้วปัญหาใหญ่ของไทยคือ ระบบสวัสดิการของเราผูกอยู่กับแนวคิดการสงเคราะห์ ทำให้คิดว่าสวัสดิการต้องเป็นเรื่องของคนจนโดยเฉพาะ และพอเป็นของคนจนต้องไม่ดี อย่างเช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นระบบที่ดีมาก ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนจากระบบสงเคราะห์ เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ความมั่งคั่งที่มันเกิดขึ้นในสังคม มันต้องมีการเฉลี่ยกลับคืนมา และการเฉลี่ยที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างสวัสดิการตามช่วงอายุแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว แล้วก็เป็นระบบที่ทํางานได้ดี ไม่มีปัญหา
ถ้าเป็นชนชั้นกลางหรือว่ารากหญ้า ก็คงรู้สึกว่าแนวคิดนี้ดี แต่พอเป็นชนชั้นสูง เขาน่าจะมีคำถามว่าสิ่งนี้จะช่วยเขาอย่างไร
เป็นคำอธิบายทางปรัชญามากๆ สมมติคุณอยู่บนก้อนเมฆ แล้วคุณกำลังกระโดดลงมาเกิดในท้องแม่ 2 คน แม่คนแรกอยู่ในประเทศที่คนหนึ่งรวยล้นฟ้า ขณะที่คนอื่นยากจน ขณะที่แม่อีกคนอยู่ในประเทศที่ไม่ได้รวยเท่ากับอีกประเทศ แต่ผู้คนเท่าเทียมกัน ทีนี้ถ้าคุณต้องเดาสุ่ม คุณจะกล้าวัดดวงกระโดดลงมาไหม เพราะถ้าเกิดมาในสังคมแบบแรก คุณต้องมาลุ้นอีกว่าจะเกิดในมดลูกของแม่ที่รวยไหม หรือต้องลุ้นอีกว่าถ้าคุณเกิดมาจน แล้วจะโชคดีหรือขยันพอที่จะก้าวหน้ายกระดับตัวเองไหม แล้วคุณจะกระโดดอยู่ไหม เพราะถ้ากระโดดผิดเราจะเป็นแบบนั้นทั้งชีวิตเลยนะ
ประเด็นที่สอง ผมเคยคุยกับเศรษฐีระดับหมื่นล้านคนหนึ่ง เขาถามผมเช่นเดียวกับที่คุณถามนั่นแหละ ว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากรัฐสวัสดิการ เพราะเขารวยมากๆ อยู่แล้ว ประมาณว่าต่อให้มีเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูเด็กเดือนละ 3,000 บาท มันก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อลูกเขา หรือมีเบี้ยคนชราที่เพิ่มขึ้น มันก็ไม่ช่วยอะไรแม่เขาได้เท่าไหร่ หรือตัวเขาเองเจ็บป่วย เขาก็ไม่ได้มีความจําเป็นต้องไปใช้โรงพยาบาลของรัฐ เขาจ้างหมอมาตรวจที่บ้านเองได้เลย แล้วตัวเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากรัฐสวัสดิการ
ผมคุยกับเขาประมาณ 20 นาทีแบบที่คุยกับคุณเนี่ยแหละ แล้วเขาก็ยอมรับว่ามันมีบางอย่างที่เงิน 10,000 ล้านของเขาไม่สามารถซื้อได้ เช่น เขาไม่สามารถทำให้กําแพงบ้านเตี้ยลงได้ ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้ลูกเขาได้
ในสังคมที่มันเหลื่อมล้ำมากๆ คุณทําได้คือก่อกําแพงมากขึ้นๆ ทั้งกำแพงจริงและกำแพงทางสังคม ผมถามว่าคลองเตยกับสุขุมวิทห่างกัน 800 เมตร แต่กําแพงทางสังคมกลับห่างกันเหมือนอยู่คนละจักรวาล ถ้าลูกเขาต้องเติบโตในสังคมที่มันเหลื่อมล้ำแบบนั้น สังคมที่มีแต่ความเกลียดชังระหว่างชนชั้น สังคมที่คน 99% ไม่สามารถที่จะแม้แต่มีชีวิตที่ดีได้ เขาเห็นด้วยว่านั่นไม่ใช่สังคมที่อยากให้ลูกเขาอยู่
แต่ถ้าเขายอมเสียภาษีทรัพย์สินสัก 2-3% จากเงินนับหมื่นล้านที่เขามี มันอาจเป็นมูลค่าปีละ 200-300 ล้านสำหรับเศรษฐีหมื่นล้าน แต่ถ้ามันทําให้เด็กทุกคนได้เรียนมหาวิทยาลัย คนแก่ทุกคนมีเงินบํานาญที่พอใช้ เด็กที่เกิดมาทุกคนมีนมกินโดยที่แม่ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ มันดีกว่าไหม
ผมเปรียบว่ามันเหมือนทองคํากลางของรัฐบาลสเปน มันเป็นส่วนที่ไม่เคยใช้ เหมือนเจ้าสัวที่อาจต้องเสียเงินร้อยล้านให้ระบบภาษีแบบใหม่ แต่มันคือเงินส่วนที่เขาไม่เคยใช้นะ และในความเป็นจริง มันเป็นไปได้แค่ไหนที่เจ้าสัวหมื่นล้านจะมีเงินเหลือแค่ร้อยล้านสุดท้าย
ผมคิดว่าแนวทางนี้จะทำให้กําแพงทางสังคมเตี้ยลง คนทั่วไปวิ่งตามความฝันได้ นักธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นได้ ทําให้คนลองผิดลองถูกได้ และผมคิดว่านั่นคือสังคมที่มันน่าอยู่แม้แต่สําหรับคน 1% และเราทั้งหมดก็สามารถที่จะเป็นคนธรรมดาที่ดีขึ้นได้
Photgraph By Fah Sirichanthanan
Illustrator By Manita Boonyong