เปลี่ยนระดับภาษาหน่อยเดียวโทนของบทสนทนาก็เปลี่ยนไปแล้ว
จากสวัสดีครับ เป็นสวัสดีงับ จากสวัสดีค่ะ เป็นสวัสดีคร่า หรือการเติมอีโมจิตาแป๋วเข้าไปท้ายประโยคก็สามารถทำให้ประโยคที่ซีเรียสดูซอฟต์ลงได้ และด้วยข้อจำกัดของตัวหนังสือ นี่อาจเป็นวิธีการช่วยกำหนดโทนของสิ่งที่เรากำลังจะสื่อสารได้
แต่ลองนึกถึงเมื่อเราเดินเห็นป้ายโฆษณาใช้คำว่า ‘ต๊าซมาก’ ‘เกินปุยมุ้ย’ หรือคำฮิตประจำสัปดาห์นั้นหรือสัปดาห์ที่ผ่านมาใดๆ ที่เราเห็นอยู่ทั่วโซเชียลมีเดีย กี่ครั้งกันที่เราเบือนหน้าหนีมัน บางครั้งการใช้ ‘คำฮิตๆ’ ก็ผลักเราออกจากการรับสารอะไรก็ตามได้โดยทันที
นอกจากความสบายใจแล้วการใช้ภาษาไม่ทางการมีประโยชน์อย่างอื่นบ้างหรือเปล่า? แล้วทำไมบางครั้งมันถึงผลักเราออก?
ความพอดีมีส่วน
ในขณะที่หลายคนอยากใช้ ‘ภาษาวัยรุ่น’ ฮิตๆ บนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความใกล้ชิด บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม
แต่ถ้าคนใช้กันมากบนอินเทอร์เน็ต ทำไมกันเมื่อเราเจอมันในชีวิตมันถึงผลักเราออกได้? คำตอบที่ใกล้เคียงที่สุดอาจมาจากความเข้าใจในที่มาของคำเหล่านั้น และวิธีที่วัฒนธรรมในที่เหล่านั้นเกิดและดับไป นั่นคือการทำความเข้าใจธรรมชาติของมีมบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
ในขณะที่วิธีการเกิดของมีมนั้นไม่ตายตัว โดยมากมีมมีการตายหรือหยุดตลกคล้ายๆ กัน ‘สำหรับมีมนั้นมันมีกฎอยู่: มันจะตายโดยทันทีเมื่อมีบทความถึงมัน…พอมันเข้าสู่กระแสหลักมีมจะไม่ตลกอีกต่อไป เพราะลักษณะของมันคือมุกวงในระหว่างผู้คนบนอินเทอร์เน็ต และทุกคนรู้ว่ามุกจะตลกน้อยลงถ้าเราอธิบายถึงมัน’ เอเลน่า เครสชี่ (Elena Cresci) นักเขียนจาก The Guardian เขียนในบทความของเธอเกี่ยวกับเมื่อไรที่มีมหยุดตลก
และด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายดายขึ้นในปัจจุบันและโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงคนมากขึ้น ทำให้การแพร่กระจายของมีมไปจากคนสู่คน จากชุมชนสู่ชุมชนรวดเร็วขึ้นกว่าที่เคย นำไปสู่การเข้าถึงกระแสหลักได้ไวขึ้น และเมื่อคนรับรู้ถึงมันมากขึ้นการตีความและการใช้มีมของแต่ละคนก็แตกต่างออกไป จนมีมหรือในกรณีนี้คำศัพท์บางคำเปลี่ยนความหมาย และนั่นก็นำไปสู่การหยุดตลก และมุกที่ไม่ตลกนั้นไม่นานก็กลายเป็นมุกที่น่ารำคาญได้
ยิ่งใกล้ยิ่งเข้าใจง่าย…
เมื่อมองในมุมของการทำงาน หนึ่งในจุดมุ่งหมายของการสื่อสารคือการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คน และการในบางกรณีการใช้ภาษาไม่ทางการสามารถนำไปสู่ความเข้าใจได้มากกว่า
ในงานวิจัยเกี่ยวกับระดับภาษาและการสอนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยโดยนักวิจัยจากสถาบัน Institut Agama Islam Negeri Bone ประเทศอินโดนีเซีย ค้นพบว่าในการเล็คเชอร์ นักศึกษากลุ่มตัวอย่างโดยมากชอบให้อาจารย์ใช้ภาษาไม่เป็นทางการมากกว่า โดยมีเหตุผลว่าภาษาไม่ทางการสามารถสร้างความใกล้ชิดและความผ่อนคลายระหว่างทั้งสองฝั่งได้ รวมไปถึงลดความเบื่อหน่าย และเมื่อใช้ภาษาในระดับเดียวกันก็สามารถทำให้การเล็คเชอร์เนื้อหาเยอะๆ เข้าใจง่ายขึ้น
ฉะนั้นการใช้ภาษาไม่ทางการนั้นสามารถเป็นประโยชน์ได้ในสถานการณ์ที่อาศัยความสัมพันธ์มนุษย์ เช่น การศึกษาหรือแม้แต่การเขียนบทความ แม้จะเป็นงานเขียนเหมือนกัน หากลองนำเปเปอร์วิชาการและบทความที่นำข้อมูลของเปเปอร์เหล่านั้นมาปรับเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองรูปแบบการสื่อสารทำหน้าที่แตกต่างกัน ในขณะที่บทความวิชาการสามารถนำไปสู่ความเข้าใจด้วยภาษาที่เป็นสากลที่สามารถนำไปเชื่อมต่อกับงานวิชาการอื่นในฟีลด์นั้นๆ ได้ แต่บทความนั้นทำหน้าที่เผยแพร่งานวิชาการนั้นๆ ไปสู่สาธารณชนที่อาจไม่คุ้นเคยกับภาษาวิชาการเหล่านั้น
…แต่ไม่ใช่ทุกอย่างอาศัยความใกล้ชิด
แต่ไม่ใช่แค่ว่าใช้ภาษาไม่ทางการจะนำไปสู่การสื่อสารที่เป็นบวกโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ใช่ภาษาทุกแบบสามารถใช้กับข้อมูลทุกแบบหรือสถานการณ์ทุกสถานการณ์ได้ เพราะความใกล้ชิดไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา และในหลายๆ สถานการณ์การสร้างระยะห่างเป็นเรื่องสำคัญ
การสร้างระยะห่างนั้นหมายความถึงทั้งในเชิงของระยะห่างระหว่างผู้พูดและผู้ฟังเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ และระยะห่างระหว่างผู้พูดและข้อมูลอีกด้วย หนึ่งในสิ่งที่ภาษาทางการช่วยให้เกิดขึ้นได้คือการลดตัวตนของผู้สื่อสารออกจากข้อมูลที่พวกเขากำลังสื่อสารอยู่ นำไปสู่สารสื่อสารที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงมากขึ้น
นอกจากนั้นในการไตร่ตรองเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมากขึ้นก็ยังเป็นตัวช่วยให้เราไตร่ตรองเกี่ยวกับแง่มุมอื่นๆ ของข้อมูลมากขึ้นไปด้วย ตัวเอย่างเช่น ในระหว่างที่เราคิดว่าจะเขียนอธิบายข้อมูลยังไงให้เป็นทางการที่สุด เราก็มีเวลาในการคำนึงถึงความครบถ้วนของข้อมูลและความถูกต้องของข้อมูลไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่มีรายละเอียดสูงขึ้น การใช้ภาษาที่มีความสากลสามารถสร้างความเข้าใจได้มากกว่าภาษาไม่ทางการที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ในขณะที่มันมีประโยชน์ ภาษาไม่ทางการสามารถนำไปสู่ความใกล้ชิดที่ไม่ต้องการ หรือสร้างระยะห่างที่กระอักกระอ่วนได้ไปพร้อมๆ กัน กุญแจสำคัญในการเลือกใช้ภาษาและระดับภาษาจึงอาจมาจากการดูสถานการณ์ และการหาความพอดีนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก