“ไปสภาเจอ ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ อยู่นอกสภาเจอเบนจา อะปัญ”
ประโยคข้างต้นกลายเป็นการพูดถึง ส.ส.เบญจา แสงจันทร์ จากพรรคก้าวไกล และเบนจา อะปัญ แกนนำจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งในการเคลื่อนไหวในสภา และนอกสภา สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเรื่องถูกนำมาพูดถึง และถกเถียงมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณ หรือในทางการเมือง ซึ่งทั้งสองคน ที่มีชื่อพ้องเสียงกันนี้ ต่างก็เป็นคนที่ลุกขึ้นมา และพยายามทำให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม
The MATTER ได้ชวนทั้งคู่ ในฐานะที่ทั้งคู่ได้พูดถึงประเด็นนี้จากในสภา และนอกสภามาพูดถึงความจำเป็นในการพูดถึงประเด็นนี้ในสังคมไทย ไปถึงเสรีภาพในการแสดงออก และการขับเคลื่อนร่วมกันของ 2 ฝั่งในสภา และนอกสภาว่าจะสามารถสนับสนุนกันและกันได้อย่างไร
(ดูคลิปสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://youtu.be/dkkI4lPGKqA )
ส.ส.เบญจา มองปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของเบนจานอกสภาอย่างไร และเบนจาเอง มองการเมืองในสภาตอนนี้อย่างไรบ้าง
ส.ส.เบญจา : ส่วนของดิฉันก็มองว่าการเคลื่อนไหว และปรากฎการณ์การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ เป็นปรากฎการณ์เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเป็นปรากฎการณ์ทาง generation แห่งความคิดของยุคสมัย เพราะฉะนั้นปรากฎการณ์แบบนี้ มันเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังเกิดทั่วโลก และเรามองว่าการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของน้องๆ อย่างน้องเบนจา อะปัญ และเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ ทุกคน ทุกฝ่ายต้องหันมามอง และต้องตระหนักร่วมกันในเรื่องนี้ เพราะว่าสายธารแห่งประชาธิปไตย 89 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่สายน้ำประชาธิปไตยไหลเชี่ยวกราดที่สุดแล้ว
เวลาเรามองการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ทุกคนต้องมีสติ มีวุฒิภาวะร่วมกัน และมองการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า ให้มันสอดคล้องกับบริบทสังคมโลก และสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ในตอนนี้ เป็นเรื่องของการต้องการต่อสู้กับระบอบการเมืองแบบเก่า ที่มองว่ามันไม่ควรจะมีที่ทาง หรือมีได้น้อยในสังคมไทย และมันเป็นการต่อสู้ เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง และอนาคตต่อจากนี้ สิ่งที่พวกเขาพูดเสมอว่า มันต้องจบในรุ่นของเขา นี่คือสิ่งที่เราต้องยอมรับ และมันจะต้องพูดถึงว่า เราจะต้องส่งมอบสังคมที่ดี ให้กับคนรุ่นเขา และคนรุ่นเขาต้องส่งมอบสังคมที่สวยงามให้กับคนในรุ่นต่อไป นี่คือภาพรวมการเคลื่อนไหวที่เราเห็นของเบนจา และเพื่อนๆ
เบนจา : เราสนใจการเมือง เราก็จะรู้กันดีว่า ส.ส.เป็นเสียงจากประชาชนที่ประชาชนเลือกเข้าไป เป็นการเลือกให้ ส.ส.เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ เราย่อมคาดหวังอยู่แล้วว่า ส.ส.ที่เราเลือกจะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนเป็นสูงสุด เพราะฉะนั้น ส.ส.ในอุดมคติของเรา ก็จะเป็น ส.ส.ที่รับฟังเสียงของประชาชน รู้ว่าตอนนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นในประเทศชาติ ประชาชนเรียกร้องอะไร เป็น ส.ส.ที่ นำปัญหาของประชาชนเข้าไปแก้ไขจริงๆ ในสภา กล้าที่ยืนยันในจุดยืน อุดมการณ์ของตัวเอง ว่าเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้กันดีว่าการเมืองในสภา มันจะมีอยู่เรื่องบางเรื่องที่เราไม่เคยเห็นเขาพูดถึงกัน คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ใน การเคลื่อนไหวในปัจจุบัน มี 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต่อให้ข้างนอกผลักดันแค่ไหน แต่ถ้าภายในไม่มีการพูดถึง ไม่มีการขยับ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นประเด็นนี้ที่ประชาชนเรียกร้อง มันก็ควรจะถูกพูดถึงในสภาเช่นกัน
สำหรับตัวของ ส.ส.เบญจา ที่หนูได้ดูประชุมสภามา หนูก็ประทับใจที่อย่างน้อยมี ส.ส.ที่พูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์แล้ว เพราะเราเองอยู่ข้างนอก เราก็เป็นประชาชน เราทำได้แค่เรียกร้องบนท้องถนน เราก็อยากให้ ส.ส.ที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการพัฒนาประเทศชาติ รับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้ ส.ส.ทุกคน ตระหนักถึงสิ่งนี้
ส.ส.เบญจา : พอฟังน้องแสดงความเห็น สิ่งที่น้องพูดมา มันไม่ใช่เรื่องนอกเหนือ หรือเกินขอบเขตที่จะพูดเลย เราต้องยอมรับก่อนว่า การพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มันเป็นเรื่องที่จะต้องพูดถึงได้ และเราต้องเข้าใจก่อนว่า การพูดถึงการปฏิรูป มันคือการทบทวน แก้ไข และปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่า น้องๆ หรือคนที่ขับเคลื่อนอยู่นอกสภา ที่โดนคดีเยอะมาก ทั้ง ม.112 และ ม.116 ประเด็นแบบนี้ สังคม และทุกฝ่าย ควรที่จะตระหนักเรื่องนี้ ว่าเรื่องที่เขาพูดมันไม่ได้เกินขอบเขต
จริงๆ หลังจากวันที่ดิฉันอภิปรายในสภา (เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์) มีกลุ่มคนที่เป็นรอยัลลิสต์ อนุรักษ์นิยม โทรมาให้กำลังใจ บอกว่าสิ่งที่เราพูดเป็นคุณูปการอย่างมากต่อการปฏิรูป คนที่ให้กำลังใจไม่มีใครพูดว่าสิ่งที่น้องๆ ทำนอกๆ สภา และสิ่งที่เราพูดในสภา เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ก็อาจจะมีบ้าง คนที่อาจจะรู้สึกว่ามันไปรบกวนจิตใจเขาในการพูดถึงเรื่องนี้ แต่อย่างที่บอกไปว่าสังคม ควรที่จะเปิดกว้าง และรับฟังความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกของน้องๆ รับฟังเขาอย่างมีวุฒิภาวะ
และสิ่งหนึ่งในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่เรามองภาพรวม และได้คุยกับน้องเบนจา เราเห็นว่าเขาอยากทำให้มันดีขึ้น อยากทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สง่างาม คงอยู่กับคนไทย และประชาธิปไตยไทย โดยไม่ถูกนำไปแอบอ้าง หรือถูกการวิพากษ์วิจารณ์ถึงในทางลบ การที่เขาเอามาพูดถึงแบบนี้ เป็นการพูดถึงที่มีวุฒิภาวะมากที่สุดแล้ว
ในฐานะที่ทั้งคู่เป็นคนที่พูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ในจุดของตัวเอง ทั้งการอภิปรายในสภา และการปราศรัยนอกสภา มองเห็นความสำคัญ จำเป็นในการพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ส.ส.เบญจา : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ การที่เราหยิบยกประเด็นนี้มาในช่วงเวลานี้ก็คือ เราต้องหันมามองบริบทโลก บริบทสังคมที่มันเปลี่ยนไปแล้ว เราอยู่ในยุคที่ทุกสิ่งที่อย่างกำลังเปลี่ยนแปลง เรากำลังมองว่าภาพรวมในสังคมไทย ที่เกิดความขัดแย้งในแต่ละ Generation เราในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร ก็ควรหยิบยกประเด็นปัญหา ที่เป็นความขัดแย้งในสังคมไทย เข้ามาพูดในสภาได้อย่างมีวุฒิภาวะ พูดด้วยความปรารถนาดี และพูดด้วยความจริงใจ และหาทางออกร่วมกัน
เราไม่ได้พูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในสภา เราพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรมีการเว้นหมวด 1 และ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถปล่อยให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจได้ เป็นคนกำหนด และสถาปนารัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือแม้แต้ปีงบประมาณที่แล้ว ดิฉันก็ได้อภิปรายในงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความซ้ำซ้อน แต่อันนั้นคือเจาะเข้าไปในรายกระทรวง และหน่วยรับงบต่างๆ เพราะฉะนั้น สุดท้ายเรื่องนี้ก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงได้ ให้เป็นเรื่องปกติ และไม่ควรที่จะเอาเรื่องนี้ ไปทำให้เป็นประเด็นในลักษณะว่าเราไม่จงรักภักดี หรือล้มล้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองที่มีความเห็นที่แตกต่างจะค่อนข้างผลักเราให้เป็นไปในลักษณะนี้ เอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างที่จะกำจัดกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมืองด้วย
เบนจา : เรารับรู้การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เรามองว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เราอยู่กันด้วยการเคารพเห็นซึ่งกันและกัน ดังนั้นอะไรที่เราเห็นว่าต้องปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง เราก็จะต้องทำให้เกิดขึ้น อย่างเช่น สถาบันกษัตริย์ก็ต้องมีการปรับตัวเข้ากับประชาชน เราอยู่ร่วมกันในสังคม สถาบันกษัตริย์อยู่กับสังคมไทย คนไทยก็อยู่กับสถาบันกษัตริย์
เราก็มีความรู้สึก การที่จะมาให้รักอย่างเดียวมันคงเป็นไปไม่ได้ เราอยู่ด้วยการเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าจะให้รักอย่างเดียว และบอกว่าคนที่ไม่รักคือคนชังชาติ หนักแผ่นดิน มันเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากเกินไป เพียงแค่เพราะว่าฉันรัก หรือไม่รักสถาบัน
อย่างที่เราบอกว่าการที่เราเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป เพื่อที่จะให้สถาบันได้ปรับตัวกับสังคมไทยให้ไม่เป็นที่ครหา เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันกษัตริย์ และสังคมไทยยึดโยงกันมานานมาก และภาษีของประชาชนชาวไทยทุกคนเป็นหนึ่งในเม็ดเงินที่แบ่งไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นแล้ว มันเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบได้หรือเปล่า กษัตริย์เองก็ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หนูยังคงยืนยันว่าสิ่งที่หนูขับเคลื่อน คือเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม หนูก็ย้ำว่าสถาบันกษัตริย์ก็ต้องธำรงตนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนพวกเราทุกคน
สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หนูรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องพูดนะ แต่เราเข้าใจดีว่าแต่ละคนแบกรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน เพราะเราก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ นั่นก็จะนำมาสู่กฎหมาย ม.112 ที่เราพูดกันในสังคมกันว่า ถ้าจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ ต้องยกเลิก ม.112 ก่อน เพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อไหร่ที่เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ หนูคิดว่าสถาบันกษัตริย์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับประชาชน เราไม่ได้อยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราอยู่ในยุคประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้าไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วจะฟังเสียงใคร
ส.ส.เบญจาบอกว่าเป็นคนแรกๆ ในพรรคที่พูดถึงประเด็นนี้ รวมถึงเบนจา ก็เป็นแกนนำที่ออกมาพูด แม้ว่ามีกฎหมาย มีความกลัวต่างๆ ในสังคมถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มองว่า ต้องพูด และต้องทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคม
ส.ส.เบญจา : ต้องพูดอย่างนี้ก่อนนะคะ ถ้าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นเรื่องปกติอย่างมากที่สุด และต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีความเสี่ยง หรือเป็นความกล้าหาญอะไร นี่คือเรื่องปกติในสังคมที่ธรรมดาแบบนี้ แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็สามารถทำได้ การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แบบมีวุฒิภาวะ มีความปกติที่จะพูดถึง เพื่อที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทย คงอยู่อย่างสง่างาม นี่คือเรื่องปกติจริงๆ
อยากฝากไปถึงคนที่คิดว่านี่เป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ เอาจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย มันเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราอยู่ในโลกที่เป็นโลกโลกาภิวัฒน์ สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องถูกปรับให้เข้ากับบริบท และสังคมโลก นี่เป็นกุศโลบายที่พรรคก้าวไกล หรือตัวเรารู้สึกว่า ไม่ควรเป็นเรื่องที่ไม่พูดถึง ห้ามแตะต้อง เราพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติที่สุด
อะไรที่ห้ามพูดถึง เตะต้องไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องที่คนเอาไปพูดลับหลัง ติฉินนินทา มันจะเป็นเรื่องที่ทำให้สถาบันไม่สง่างาม ถ้าเราต้องการที่จะเทิดทูน เทิดพระเกียรติให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เราต้องให้มีการแสดงความคิดเห็น และพูดอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นเรื่องปกติที่สุด จริงๆ การพูดถึงเรื่องนี้ เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่อย่างมั่นคงสถาพรในรัฐสมัยใหม่ด้วย
อีกเรื่องที่เราคาดหวัง คือมันต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง พระมหากษัตริย์เองต้องพ้นไปจากเขตแดนของการเมือง เพื่อไม่ถูกนำมาแอบอ้าง หรือเป็นเกราะกำบัง ในการที่จะใช้เรียกหาผลประโยชน์ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มัวหมอง และการเอาสถาบันเข้ามาอยู่ในเขตแดนของการเมือง มันจะทำให้มีแต่รังจะสร้างความขัดแย้ง และสถาบันดูแล้วไม่สง่างาม
เบนจา: เราพูดตลอดว่าสังคมเราอยู่ได้ด้วยการ compromise ต่างฝ่ายก็ต้องปรับตัว การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องว่าสถาบันกษัตริย์ต้องปรับเพื่อให้สถาบันอยู่ได้อย่างสง่างาม เราไม่ได้ดูหมิ่น ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย เรามา compromise มายื่นข้อเสนอว่าเรามาหาทางอยู่กันไหม ไม่ใช่ที่ใครคนใดคนหนึ่งตายไปข้าง ก็เลยมาอยู่ในจุดที่เราคิดว่า เราทุกคนจะต้องพูดได้
เราเคยขับรถไปตามซอย เราก็สงสัยว่าซุ้มเฉลิมพระเกียรติมีไว้ทำไม มันมาจากไหน มาจากภาษีหรือเปล่า และสภาพแวดล้อมนั้นไม่เจริญ ทำไมเราไม่เอาเงินที่เอามาตั้งซุ้มไปพัฒนา มันเกิดจากการตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม มันเป็นสิ่งที่เราเห็นและเราอยากให้ประเทศปรับไปในจุดที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ ประเทศนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ถามว่าเรากลัวไหม เรียกว่าเคยกลัวดีกว่า แต่เมื่อเราปลดบล็อก และคิดว่าเราต้องไม่กลัว แต่เป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไข เรียกร้องว่า สถาบันกษัตริย์ต้องวิจารณ์ได้ เราก็พูดกันบนหลักการและเหตุผล ไม่ได้ใช้อำนาจในการลิดรอนใคร เราว่ามันดีเบตกันได้ในสังคม และประชาชนต้องสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย มันคงเป็นเรื่องตลกร้าย ถ้ายังมีมาตราอย่างเช่น 112 มาปิดปากประชาชน คนก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์
อย่างที่เราทราบกันว่าเราต้องการสังคมที่กษัตริย์ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง หน้าที่ในสภาให้เป็นหน้าที่ของคนในสภาดีกว่า กษัตริย์ควรอยู่เหนือการเมือง ไม่ไปแทรกแซงการเมือง เราแค่อยากให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
ที่ผ่านมา ทั้ง ส.ส.เบญจา และเบนจาต่างก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไปถึงการพูดถึงประเด็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็โดนข้อกฎหมายจากการแสดงออก มองเสรีภาพการแสดงออกของสังคมในตอนนี้อย่างไร
ส.ส.เบญจา : แยกเป็นสองประเด็น ในประเด็นที่ 1 ที่โดนคดี คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารแผ่นดิน ที่ปล่อยให้มีกลุ่มนายทุนพลังงาน เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากระบอบประยุทธ์ ถ้าจะบอกว่าบริษัทที่ฟ้องเป็นบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง ก็อาจจะไม่ผิดนัก แต่ว่าอาจจะพูดไม่ครบทั้งหมด
ประเด็นนี้มันคือเป็นประเด็นในการฟ้องเพื่อปิดปาก เพื่อไม่ให้เราตรวจสอบการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนั้นในการอภิปราย มีอดีตคณะกรรมการบริหารของบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง พยายามที่จะประท้วง แล้วไม่ให้ดิฉันพูดถึงการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
ประเด็นที่ 2 เรื่องการอภิปรายงบประมาณทีเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้ทราบว่าตอนนี้ มีคนไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว และมีการส่งหนังสือสำเนามาที่ประธานสภา รองประธานสภา ส่งไปถึงนายกฯ ถึงความรู้สึกทุกข์ร้อน เจ็บปวดใจ จากการได้ฟังการอภิปรายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ว่าตอนนี้สภายังไม่เปิด ก็เลยยังไม่รับทราบ และเห็นหนังสือ
ประเด็นสองเรื่องนี้มันเหมือนกันตรงที่รัฐบาลนี้มีการฟ้องเพื่อปิดปาก และไม่ต้องการให้คนที่เห็นต่างทางการเมืองได้แสดงความคิดเห็น เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ต้องยืนยันว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มันแทรกอยู่ในหน่วยรับงบต่างๆ ไม่ว่าจะสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขานายกรัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม เพราะฉะนั้นหน่วยงานรับงบเหล่านี้ ที่ของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ก็ควรได้รับการตรวจสอบเช่นกัน เรายังคงยืนยันว่าเม็ดเงินทุกบาท ทุกสตางค์มาจากเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อพี่น้องประชาชน การที่หน่วยงานรับงบ ขอจัดสรรการใช้งบประมาณไปใช้ จะใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบัง หลีกเลี่ยงการตรวจสอบไม่ได้
เรื่องนี้เราก็ไม่ได้กังวลอะไร ในการที่มีคดีความ มีการฟ้องร้อง เพราทุกสิ่งที่เราทำ หรือการอภิปรายมีเจตนาเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ทั้งสิ้น เจตนาทำเพื่อพี่น้อง ตรวจสอบให้พี่น้อง
เบนจา : สำหรับเรารู้สึกว่ามันเป็นกฎหมายที่เอามาใช้เพื่อปิดปากอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเรารู้ดีว่าเมื่อเกิดกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านรัฐที่มาจากการรัฐประหาร มักจะโดนผู้ที่มีอำนาจชี้นิ้วใช้กฎหมายปิดปากเราเป็นปกติ ยุค คสช.ก็เป็น ม.44 ยุคเราตอนแรกก็เป็น พรก.ฉุกเฉิน ม.116 และหลังจากนั้นใครขยับมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็โดน ม.112 เราเห็นสิ่งเรานี้จนมันทำให้เรากลัว แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องปกติที่เกิดในสังคม
ด้วยความที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก เราไม่ควรจะไป normalize มัน เราต้องยืนหยัดต่อต้านมัน ถามว่าชอบไหมกับการวิ่งวุ่นเรื่องคดี มันไม่มีใครชอบ มันทำให้ชีวิตเราลำบากขึ้น หนูเข้าใจว่าแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน แต่เรายังยืนยันในจุดนี้ว่า เราต้องช่วยกันต่อต้าน ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์พูดถึงได้ และสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า เรายืนยันในหลักการ จุดยืน อุดมการณ์ของเรา ต่อให้รัฐจะใช้ กฎหมายซักกี่กฎหมายมาปิดปากเรา หรือจะเอาเพื่อนเราไปเข้าคุก ขัง ติด EM ให้เงื่อนไขการประกันที่ไม่ให้พูดถึง หรือชุมนุม รัฐหาทุกวิธีทางเพื่อปิดปากเราอยู่เรา เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องต่อต้าน
ส.ส.เบญจาเองก็มักเข้าไปช่วยเหลือในกระบวนการกฎหมายที่ประชาชนถูกดำเนินคดี เกี่ยวกับการแสดงออกทางเมือง มองสถานการณ์อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกัน เบนจามองอย่างไร ที่เห็น ส.ส.ในสภา ตรวจสอบรัฐบาล แต่กลับถูกหมายคดี
ส.ส.เบญจา : การดำเนินคดีหลายๆ ครั้งมันไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าคนที่ดำเนินการคดี แจ้งความร้องทุกข์ ไม่ได้ศึกษา หรือดูข้อกฎหมายถ่องแท้ เราต้องเข้าใจว่าการวิจารณ์ หรือพูดในเชิงปรารถนาดี ไม่เท่ากับ ดูหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่ ม. 112 ระบุไว้แบบนั้น เราก็ยังคงยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องทำได้ และในการที่เราต้องออกมายืนหยัดปกป้อง ก็เป็นการปกป้องสิ่งที่เบนจา หรือหลายๆ คนออกมาเคลื่อนไหว เรายืนหยัดปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่พวกเขาทำ ไม่ได้มีอะไรเกินเลยไปกว่าขอบเขต หรือเสรีภาพ อันนี้คือเรื่องที่เรายืนยันเสมอ ไม่ว่าการประกันตัว หรือการช่วยเหลือ เราไม่ใช่แค่ปกป้องแค่พวกเขา แต่เราปกป้องเสรีภาพของพี่น้องประชาชนทุกคนเท่าๆ กัน
เบนจา : พอเราเอามาเปรียบในส่วนที่คล้ายคลึงกัน การที่เราพูดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ว่าฉันมาเพื่อแก้ไขมัน มาเพื่อพัฒนา แต่กลับถูกกลุ่มคนที่ฉุดรั้งความเจริญใช้กฎหมายเล่นงานเรา ก็คงจะรู้สึกว่า ทำไมถึงคุกคามกันขั้นนี้เลยหรอ เพียงแค่เพราะว่าเห็นต่าง เรื่องเห็นต่างมันเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย เราเป็นสังคมแห่งการถกเถียง แต่การเห็นต่างตรงนี้ เราต้องมาดูว่าคนส่วนมาก เขายอมรับกันแบบไหน สังคมต้องการในทิศทางไหน ไม่ใช่แค่ชั้นไม่ต้องการสิ่งนี้ ไม่พอใจสิ่งนี้ก็จะใช้กฎหมาย มันทำให้คนเสื่อมศรัทธาในระบบ
สังเกตไหมว่า ส.ส.หลายคนที่ตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของคนในสังคม น่าจะรู้สึกเศร้าบ้างแหละ หรือคำพูดที่ประชาชนบอกว่า ‘สภาไร้สาระ ไร้ประโยชน์’ บางครั้งก็มีจริงๆ ที่หนูก็แอบมาแว่บคิดว่า ‘ในสภาช่วยอะไรได้บ้าง ?’ แต่มันเป็นความคิดที่ผิดนะ
เราลืมไปหรือเปล่าว่าหน้าที่ในสภามันควรจะฟังก์ชั่นมากๆ เพราะว่ามันเป็นหลักในการพัฒนาในส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นเราจะหมดหวังกับการต่อสู้ในสภาไม่ได้
ถึงแม้ว่ามันจะมีพวก ส.ส.ที่มันจะพยายามถ่วงความเจริญประเทศชาติอยู่ แต่ทุกวันนี้หนูว่าประชาชนเขาเห็นเองว่า ส.ส.คนไหนทำเพื่อประชาชน ส.ส.คนไหนทำเพื่อพวกพ้อง คนตาสว่างกันหมดแล้ว ประชาชนเขาตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของตนเอง เขาตระหนักรู้ได้แล้วว่า ประเทศเรามีปัญหายังไง
ส.ส.เบญจา : สิ่งที่น้องพูดมันอันตรายมากเลยนะ ถ้าทำให้สภามันรู้สึกไม่ฟังก์ชั่น และทำให้สภาไม่มีความหวังอีกต่อไป การต่อสู้บนท้องถนนจะเป็นตัวเลือกทันที เพราะฉะนั้นสิ่งที่สภาจะต้องฟังก์ชั่นมากกว่านี้ คือการฟังเสียงพี่น้องประชาชน และนำเรื่องของพวกเขาเหล่านี้ไปพูดในสภา
เบนจา : ถามว่าประชาชนอยากออกมาตากแดด ลงถนนเดินกันไหม เราก็คงไม่อยากออกมา ถ้าสภาฟังก์ชั่น ถ้า ส.ส.ทุกคนทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ จุดมุ่งหมายว่าเพื่อประชาชน ประชาชนก็จะรู้สึกว่าหน้าที่ของฉันคือเลือกตั้ง เลือก ส.ส. ส.ส.ทำงาน ถ้าทำงานไม่ได้ สมัยหน้าก็ไม่เลือก ถ้าระบบมันดี
ส.ส.เบญจา : ถ้าการเมืองดี
คิดว่าในสภา และนอกสภา จะช่วยกันผลักดันประเด็นไปยังไงบ้าง
ส.ส.เบญจา : ด้วยความที่เราเป็นผู้แทนปวงชน เราไม่เคยคิดว่าเราแตกต่างจากคนอื่น จริงๆ เราได้รับเกียรติจากพี่น้องประชาชนที่เลือกเราเข้ามา ณ วันที่เราเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร เราคิดแต่ว่าสิ่งที่เราทำได้เพื่อพี่น้องประชาชน คือการออกกฎหมายที่ก้าวหน้า และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้คนได้ และการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ หรือการรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงเพื่อจะเป็นกระบอกเสียง เพื่อส่งเสียงให้พี่น้องในสภา เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง
คนรุ่นเราที่ผ่านมา เติบโตมากับสภาวะแวดล้อม ท่ามกลางการถูกเหยียดหยาม เยาะเย้ย และท่ามกลางความกดทับของสังคม ความระคนสงสัย สิ่งที่ไม่เหมือนกันแล้วคือคนรุ่นนี้ที่เติบโตท่ามกลางอำนาจเผด็จการที่กดทับเขามา 7 ปี เขาตั้งคำถาม และพูดถึงนอกสภา โดยโดนคดีบ้าง ฟ้องปิดปากบ้าง ใส่ร้ายป้ายสี นี่เป็นเรื่องที่เราต้องปกป้อง เรามองว่าทุกคนเป็นประชาชนเท่าๆ กัน เราควรต้องปกป้องเสรีภาพพวกเขาเหมือนๆ กัน
เรายังมองว่ารัฐสภายังเป็นความหวัง เรายังเห็นการเมืองแห่งความหวัง เรามองไปที่คนรุ่นเขา เห็นการขับเคลื่อนสังคม เราเลยยังคิดว่าสภา การเมืองมีความหวัง มันเข้าสู่ยุคที่แสดงสว่างแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเข้ามา สุดท้ายเราว่ามันไม่สามารถฉุดประชาก หรือรั้งไม่ให้คนรุ่นนี้ หรือประเทศก้าวหน้าไปได้อีกแล้ว เราก็ยังอยากให้ทุกคนมองว่าสภายังเป็นความหวัง และเราจะทำเต็มที่ในการเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน
เบนจา : จริงๆ แล้ว อย่างที่เราทราบกันดีว่า ส.ส.ก็จะนำเรื่องของประชาชนไปพูดถึงต่อในสภา แล้วก็ผลักดันให้มันสำเร็จ ให้มันปรับเข้ากับประชาชนให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นมันก็มีเรื่องที่พรรคก้าวไกลผลักดันเรื่องการแก้ ม.112 แต่ของประชาชน เราพูดถึงการยกเลิก 112 มันก็ต้องพูดกันต่อไปว่า ประชาชนมีแนวทางที่จะให้เป็นการยกเลิกนะ ไม่ใช่แค่แก้ อยากให้กระบวนการเป็นแบบนี้ มันก็ยังเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะผลักดันเรื่องที่คนหมู่มากเห็น และให้มันเป็นไปตามผล
ถ้าจะช่วยกันได้ ส.ส.ต้องรับฟังเสียงประชาชน ในฐานะประชาชน หนูก็จะเรียกร้องสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป เราอยู่กันด้วยการถกเถียง อยู่ด้วยเหตุ และผล หนูเชื่อว่าทุกๆ ปัญหา มันแก้ไขได้ ถ้าเราหยิบมันขึ้นมาพูด หน้าที่ ส.ส.ก็ต้องหยิบปัญหาเหล่านั้นเข้ามาแก้ไข เพราะถ้าไม่กล้าหยิบปัญหาเหล่านั้นเข้ามาในสภา มันก็เป็นเรื่องยากที่ประเทศจะได้รับการแก้ไข ถ้าอยากให้ประเทศได้รับการก้าวหน้า แก้ไข ส.ส.จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเรื่องที่ประชาชนพูดถึง เข้าไปพูดในสภา
ส.ส.ต้องตรวจสอบได้ หนูอยากให้ตลาดการเมืองไทย เป็นตลาดนโยบาย ที่ผ่านมาประเทศไทยมักจะเป็นตลาดบุคคลมากกว่าที่จะเป็นตลาดนโยบาย แต่จริงๆ แล้วการที่จะเลือก ส.ส. เลือกพรรค เราอยากให้ผลักดันที่นโยบายมากกว่า เพราะฉะนั้น ในฐานะประชาชนควรมีสิทธิที่จะวิจารณ์ ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.ว่าคุณทำงานแบบนี้ ประชาชนไม่พอใจ ดังนั้นการที่สภาจะผลักดันภาคประชาชนก็คือรับฟังเสียงประชาชน ไม่หมกเม็ดปัญหาที่ประชาชนเรียกร้อง กล้าที่จะเป็นผู้แทนประชาชนจริงๆ อย่างที่ชื่อเขาเขียนไว้ว่า ส.ส.มาจาก สภาผู้แทนราษฎร ก็อย่าให้ราษฎรผิดหวัง
เบนจาพูดถึง ส.ส.ที่เป็นผู้แทนของประชาชน แต่ในสภาตอนนี้ ไม่ได้มีแค่ผู้แทนที่มากจากเสียงของเรา ยังมีกลไกของ ส.ว.ด้วย
ส.ส.เบญจา : นี่คือสิ่งนึงที่พรรคก้าวไกล และพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องมาตลอด คือการปิดสวิชต์ ส.ว. เรารู้เลยว่า ส.ว.เป็นอำนาจที่ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว อำนาจของเขามันเยอะมาก และมีผลกระทบเกี่ยวกับพี่น้องประชาชนด้วย แม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เราพูดเสมอว่าต้องได้รับการแก้ไข หรือสถาปนาใหม่โดยพี่น้องประชาชน ดังนั้นการใช้กลไลสภาในการปิดสวิชต์ ส.ว.ค่อนข้างทำได้ลำบากมาก เพราะว่า ส.ว. 84 คนที่เราต้องการเสียงก็อาจจะไม่เห็นด้วย
เราต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับนอกสภาด้วย คือการทำงานเชิงความคิด ในการที่จะพูดคุยกับประชาชนมากขึ้นว่า ส.ว.เป็นอำนาจที่มีปัญหายังไง และควรจะลดทอนอำนาจของเขา และอำนาจที่เขาใช้เลือก นายกฯ เราก็เห็นอยู่แล้วว่า ในช่วงที่ประเทศมีวิกฤต เราก็ไม่สามารถเห็น นายกฯ ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราเรียกสถาการณ์ที่คลุมเครือแบบนี้ว่าการรัฐประหารเงียบ พล.อ.ประยุทธ์ในตอนนี้ ถืออำนาจใน พรก.ฉุกเฉิน และรวบอำนาจทุกกระทรวง ใช้กฎหมาย 31 ฉบับในการบริหารราชการแผ่นดินตอนนี้ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่สิ่งที่เราเห็นคือการบริหารมันไร้ประสิทธิภาพ และไม่มีเอกภาพเลย กลับไปกลับมา ใช้วาทกรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ก็มาจาก ส.ว.ที่มาจากการลากตั้ง สิ่งนี้คืออย่างที่บอก เมื่อสภาทำไม่ได้ ข้างนอกเราก็ต้องทำงานร่วมกันไป ในการปิดสวิชต์ ส.ว. ถ้าปิดไม่ได้ต้องสับคัทเอาท์แล้วค่ะ
เบนจา : การเลือกคนไปทำงานในสภา ก็ควรมาจากมือของประชาชนเลือกมาเอง แต่ที่เราเห็นในสภาคือ ส.ว.แต่ละคนที่เราไม่ได้เลือก มันถึงต้องมีการปิดสวิชต์ ส.ว. แล้วคนที่กล่าวอ้างว่าเขามีสิทธิเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องมาดูว่าการได้มาของรัฐธรรมนูญ ที่ใครไม่เอาก็โดนปิดปาก มันเกิดจากรัฐบาลเผด็จการ มันก็เป็นหน้าที่ที่เราจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า สิ่งที่ทำให้ระบบมันมีปัญหา ที่มีพวกถ่วงความเจริญประเทศอยู่มีที่มายังไง และเราจำกำจัดออกได้ยังไง ซึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส.ส.เบญจา : เสริมน้องเบนจา อย่างที่บอกว่าที่มา มันก็มาอย่างไม่ถูกต้อง กรณีที่พูดถึง ส.ว.มันก็เป็นอะไรที่กระอักกระอ่วนมาก เพราะ ส.ว.ก็ไม่ให้ความร่วมมือที่จะแก้ไข ในรัฐธรรมนูญก็บอกว่าต้องมีอย่างน้อย 84 เสียง ซึ่งเป็นอะไรที่ยากลำบากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
จริงๆ นอกจากการทำงานทางความคิดนอกสภา เราก็พูดคุยกับ ส.ว. บางคนก็รู้จักกัน เป็นคนที่นับหน้าถือตาในสังคม ตอนที่คุยกันก็เป็นลักษณะว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเสนอ หรือต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เวลาลงคะแนนจริง เขาก็ลงคะแนนตามคนที่เลือกเขามา อย่างที่น้องเบนจาบอกเลยว่า เพราะเขาไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชน การตัดสินใจ หรือจะทำอะไร มันอยู่ที่นายของเขา ก็เป็นไปได้ยากมาก แม้จะทำงานทางความคิด พูดคุย ประณีประนอม แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาทำ คือทำตามนาย ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และกดดันนอกสภาควบคู่กันไปด้วย
ที่ผ่านมา ก็จะมีการมอง หรือพูดว่าการเมืองในสภาขับเคลื่อนไปช้า เมื่อเทียบกับนอกสภา มองเรื่องสปีด และประเด็นต่างๆ อย่างไรบ้าง
ส.ส.เบญจา : อย่างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา นักการเมืองหรือคนที่มีบทบาทสถานะการเมือง ก็จะค่อนข้างกีดกันกลุ่มที่เป็นกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง กดทับ ปิดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีบทบาท และจะเห็นเลยว่าสภาในช่วงที่ผ่านมา จะมีการปิดกั้นในการพูดถึง 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่นอกสภา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้สำคัญตรงที่ ทุกเรื่องสามารถนำเข้ามาพูดในสภาผู้แทนราษฎรได้ และอาจจะมาหาข้อคิดเห็นร่วมกัน ใช้ความปรารถนาดี ของทุกคนทุกฝ่าย เอาประเด็นเหล่านั้นมาพูดคุยกันในสภา
แต่พอเรื่องนี้มันถูกปิดกั้น มันก็ทำให้สภาไม่เป็นความหวัง เพราะไม่รับฟังเสียงของพวกเขา ไม่ว่าจะใครก็ตาม หรือคนกลุ่มใด ท้องถนนจะกลายเป็นพื้นที่ที่เค้าออกไปเรียกร้องกดดันทันที จริงๆ การเมืองบนท้องถนน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ในการใช้ประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะเป็นเรื่องทำได้ แต่ถ้าเรามีพื้นที่ที่ให้พวกเขา และเป็นอนาคต พึ่งพิงได้ การเมืองบนท้องถนนจะไม่เกิดขึ้น
เบนจา : เราเข้าใจว่าในสภา ปัญหามันเยอะมาก ปัญหาของประเทศไม่ได้มีแค่เราที่ออกมาพูด จริงๆ เราเข้าใจ แต่เราก็ยังหวังว่าทุกปัญหาที่ประชาชนพูดถึงจะถูกแก้ไข และหนูเชื่อว่า ถ้า ส.ส.ทุกคนตั้งใจที่จะมาเพื่อดูแลประชาชน เขาก็จะเร่งดำเนินการให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดอยู่แล้ว มันก็จะสื่อกลับมาว่า เราเป็นคนที่เลือกคนเข้าไปพัฒนาประเทศชาติ และเสียงของเราสำคัญในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าไปบริหารงานประเทศ
บางทีเราก็อาจจะคิดว่าทำไมปัญหาชั้นมันแก้ไม่ได้ มันเร่งไม่ได้เลย แต่เราต้องมองในเลนส์ของภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราในฐานะประชาชน เรามีหน้าที่เรียกร้อง เราก็จะเรียกร้องต่อไปจนกว่าปัญหาของเราจะได้รับการแก้ไข ในสภาก็ต้องช่วยประชาชนอยู่แล้ว ประชาชนเราก็จะทำหน้าที่เรียกร้องต่อจนกว่าข้อเรียกร้องจะสำเร็จผล มันก็คงเป็นการดีถ้าเราจะเดินควบคู่กันไปได้
จากที่พูดคุยกันมา มองเห็นความฝัน หรือจุดร่วมภาพของประเทศที่อยากให้พัฒนาไปร่วมกันยังไงบ้าง
ส.ส.เบญจา : แน่นอนว่า เราอยากเห็นสังคมที่ดี อยากเป็นประเทศเป็นประชาธิปไตย เห็นสถาบันที่ธำรงอยู่ และอยู่อย่างสมพระเกียรติ สิ่งที่ในสภา และนอกสภาทำ เรายังมองว่าเป็นการเสริมพระเกียรติ เป็นการปกป้องสถาบัน เราก็ต้องบอกว่าการที่น้องๆ และคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวออกมาขับเคลื่อนกัน คนทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกัน อย่าเอาความคิดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อยากให้สังคมเปิดกว้าง คิดซะว่า ต้องปล่อยให้คนที่เป็นอนาคตของชาติ ได้ออกไปวัดพื้นที่แสดงความคิดเห็น ให้ออกไปวัดสิทธิเสรีภาพของเขา ว่ามันกว้างคูณยาวเท่าไหร่ และเสรีภาพของเขามันมาพร้อมความรับผิดชอบ เข้าใจว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวพร้อมที่จะรับผิดชอบในตัวเอง แต่ต้องไม่เกิดจากการกลั่นแกล้ง การปิดปาก การฟ้องเพื่อปิดกั้น ต้องเว้นเรื่องนั้นไว้
อย่างที่บอกเราอยากเห็นฝันคล้ายๆ กัน สังคมที่มีความหวัง ความฝัน และก็เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก
เบนจา : หนูคิดว่าเราทั้งคู่อยากให้ประเทศนี้เจริญก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดี ให้ประเทศนี้เป็นสังคมแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่สามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุและผล วิจารณ์กันได้ ไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน นี่เป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม
หนูเป็นนักศึกษา เป็นนักกิจกรรม หนูไม่ได้เลือกสิ่งนี้หรอก หนูแค่อยากทำทุกอย่างให้ดี หนูคิดว่าหนูก็จะทำทุกอย่างให้ดำเนินต่อไปอย่างนี้ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้เสมอ มองอะไรกว้างๆ สำหรับหนู การเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นนักศึกษา มันเป็นอะไรที่หนูพอใจมาก แต่ในอนาคตหนูก็ไม่รู้ หนูอาจจะอยากเป็น ส.ส.ก็ได้ เอาเป็นว่าหนูยืนยันว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ในทุกบทบาทไม่ว่าหนูจะทำบทบาทไหน
เพราอยากเห็นสังคมไทยก้าวไปข้างหน้า มีรัฐสวัสดิการที่ดี มีชีวิตที่ดี ได้ทำตามความฝันกันทุกคน ไม่กดขี่ใคร อยากเห็นประเทศที่ประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ นี่คือสิ่งที่หนูต้องการมากที่สุด