คน Gen Y ฟุ่มเฟือย เกินตัว ของมันต้องมี ออมเงินไม่เป็น จริงเหรอ?
เมื่อเร็วๆ นี้มีผลการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคน Generation Y หรือ คน Gen Y ออกมา ซึ่งระบุถึงการใช้จ่ายไปกับทัศนคติ ‘ของมันต้องมี’ พวกเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องสำอางค์ หรือเครื่องประดับมากที่สุด การใช้จ่ายในลักษณะแบบนี้ ทำให้คน Gen Y ไม่มีเงินออม แต่กลายเป็นมีหนี้จากการใช้บัตรเครดิตมากเกินตัว
หลังจากผลวิจัยถูกนำเสนอออกไปโซเชียลมีเดีย ก็มีการถกเถียงในประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทางฝั่งคน Gen Y ออกมาแสดงความเห็นว่า จริงๆ แล้ว Gen Y ต้องแบกรับภาระและความกดดันมากกว่าที่คนรุ่นอื่นๆ คิด รวมถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเอง ก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของ Gen Y ด้วยเหมือนกัน
The MATTER เกิดความสงสัยในเรื่องนี้ว่า สรุปแล้วคน Gen Y เป็นอย่างที่งานวิจัยหรือใครๆ พูดจริงไหม หรือว่า คน Gen Y เองก็มีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับสภาวะที่แตกต่างจากคนยุคก่อนๆ จนส่งผลกระทบไปในทุกระดับของชีวิตความเป็นอยู่
อายุน้อยร้อยล้าน ชีวิตที่ใกล้ตา และมรดกบาปจากบูมเมอร์ – สิ่งที่ Gen Y ต้องแบกรับ
ฟ้า อายุ 23 ปี ประกอบอาชีพผู้สื่อข่าว เล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันเธอเป็นเสาหลักของครอบครัว นอกจากงานประจำเธอยังรับงานฟรีแลนซ์เพิ่มเติมอีก 3 งาน เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ก็รวมถึงหนี้สินของทางบ้านด้วย
ฟ้าบอกว่า หลายครั้งเธอใช้เวลาใน 1 วันอย่างคุ้มค่ามากๆ ตอนเช้าตรู่ก่อนเข้างานประจำเธอรับฟรีแลนซ์แต่งหน้า-ทำผม หรือบางวันก็ใช้เวลาหลังเลิกงานเขียนคอนเทนต์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการหารายได้เสริมอีกทาง
ฟ้าจัดว่าเป็นคน Gen Y ในยุคปลายสุด เพิ่งจะเริ่มต้นการทำงานประจำได้เพียงปีกว่าๆ การเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่หลายคนอาจจะเป็นการเริ่มต้นที่มีทุนทางสังคม หรือทุนทางเศรษฐกิจจากครอบครัวอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดบางรายอาจจะเริ่มต้นจากศูนย์
แต่กับฟ้าเธอเริ่มต้นด้วยการ ‘ติดลบ’ แม้จะพยายามออมเงินบางส่วนไว้บ้าง แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้สม่ำเสมอเท่าที่ควร เพราะถึงจะทำงานเต็ม 7 วันต่อสัปดาห์ แต่เงินทั้งหมดก็ถูกใช้ไปกับการผ่อนชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่ดี
นอกจากปัญหาหนี้สินที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้ว ฟ้าให้ความเห็นต่อด้วยว่า สิ่งที่ทำให้คนในเจนนี้แตกต่างจากคนยุคก่อนๆ คือ ทัศนคติและความฝัน
สูตรสำเร็จในอาชีพการงานของ Baby Boomer หรือ Gen X อาจจะเป็นงานราชการ หรือการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ตรงกันข้ามกับคน Gen Y ที่ต้องการประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้สิ่งที่ต้องมีตามมา คือ การยกระดับตัวเองด้วยสิ่งประกอบสร้างบนร่างกาย และทัศนคติ
“การจะไปถึงตรงนั้นไม่สามารถใช้ชีวิต routine หรือใส่เสื้อผ้าเดิมๆ ซ้ำๆ ได้ คน Gen Y ไม่ได้รู้สึกว่า คุณอยู่ในสภาพมอซอแค่ไหนแล้วจะประสบความสำเร็จ คน Gen Y โตมากับการที่รู้สึกว่า ไม่ใช่แค่เก่งและขยันถึงจะเติบโตในหน้าที่การงานได้ แต่ต้องอาศัยสิ่งประกอบสร้างที่ต้องใช้เงินจ่ายมา ตรงนี้มันอาจจะไปเชื่อมโยงกับว่า ถ้าอยากเข้าสังคมก็ต้องคุยกับเขาให้รู้เรื่อง ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่สิ่งประกอบสร้างบนร่างกาย แต่รวมถึงทัศนคติด้วย ถ้าคุณไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศเลยจนอายุ 25 ก็จะเริ่มรู้สึกแล้วว่า เราไม่มีประสบการณ์แบบที่คนรอบข้างเรามี”
“เพราะชีวิตคนอื่นมันใกล้ตาเรามาก” ฟ้ายกตัวอย่างความสำเร็จของ YouTuber ที่อายุเพียง 11-12 ปี ก็สามารถซื้อรถซื้อบ้านด้วยเงินสดให้ครอบครัวได้แล้ว เทคโนโลยีที่รวดเร็ว และแทรกซึมไปทุกอณูของชีวิต ทำให้เราเห็นความสำเร็จของใครต่อใครได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้อิจฉา แต่มันส่งผลไปถึงเนื้อในคน ทำให้เกิดความรู้สึกต้องการเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างเพื่อโชว์ความสำเร็จของตัวเอง บางครั้งมันจึงกลายเป็นความพยายามที่เกินตัว
Gen Y คือ เจเนอเรชั่นแห่งการเปลี่ยนผ่าน
ได้ฟังความเห็นของคน Gen Y กันมาแล้ว คราวนี้เรามาลองฟังจากทางฝั่งนักวิชาการกันบ้าง เราได้สอบถามดีเบตเรื่องนี้กับ อ.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน
อาจารย์เล่าให้เราฟังว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นจากหลายประเทศที่พยายามศึกษาพฤติกรรมของคน Gen Y ซึ่งจากบทวิเคราะห์ของทางมาเลเซีย สหรัฐฯ และไทยก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า Gen Y มีลักษณะนิสัยแปลกไปจากคนเจนอื่นๆ คือ มี self-confident สูง แต่ก็มีความยืดหยุ่นกับบางเรื่องด้วย
คำถามคือ แล้วอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลิกของ Gen Y แตกต่างจากเจนอื่นๆ
อาจารย์บอกว่า เพราะคนในเจนนี้เติบโตมากับยุคเปลี่ยนผ่านของหลายๆ เหตุการณ์ สิ่งสำคัญ คือ Gen Y เป็น ‘digital native’ หรือเป็นกลุ่มคนรุ่นแรก ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงจากระบบอะนาล็อกไปสู่ดิจิทัล ได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาทำให้การใช้ชีวิตของ Gen Y สะดวกสบาย และรวดเร็วมากขึ้น ตั้งแต่การมีระบบเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น การนำทางด้วย Google Maps การใช้ mobile banking ในการฝาก-ถอน-โอน-จ่าย รวมทั้งการช้อปปิ้ง-ซื้อของผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย
นอกจากประเด็นเรื่องเทคโนโลยีแล้ว คน Gen Y ยังเติบโตและผ่านช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตมาหลายเหตุการณ์ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 อาจารย์เล่าว่า ครอบครัวของนักศึกษาที่คณะบางคนล้มละลายจากเหตุการณ์ที่ว่ามา การที่ต้องผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และแบกรับภาระไว้มากมาย ทำให้เมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยทำงาน มีรายได้เป็นของตัวเอง จึงต้องการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปด้วย ‘ของมันต้องมี’ แบบที่หลายคนมองว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น
บัตรเครดิตที่ไม่ฟังก์ชั่น ทำให้ไม่เห็นสภาพทางการเงินที่แท้จริง
การเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างคล่องและรวดเร็วของคนเจนนี้ แม้จะมีข้อดีมากมายเต็มไปหมด แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจทำให้เกิดผลลบตามมาได้เช่นเดียวกัน
อ.วศินอธิบายการทำงานของ ‘บัตรเครดิต’ ตัวการที่ทำให้ Gen Y หลายคนเป็นหนี้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวว่า บัตรเครดิตในไทยฟังก์ชั่นได้ไม่ดีพอ อาจารย์ได้ยกตัวอย่างการทำงานของบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ซึ่งจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เครดิตสกอริ่ง’
เครดิตสกอริ่งจะทำหน้าที่บ่งบอกขีดจำกัด/วงเงินที่เราสามารถจ่ายได้ เช่น ถ้ามีบัตรเครดิตในมือ 4 ใบ และไม่มีความสามารถชำระบัตรใบที่ 1 ได้เต็มวงเงินแต่เลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ สลิปจะแสดงคล้ายกับตัววัดน้ำมันโดยแบ่งเฉดสีออกเป็น 3 สี ถ้าขึ้นสีเหลือง แปลว่า ความสามารถในการ hold ค่าใช้จ่ายเราเริ่มไม่ดีแล้ว ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราเห็นสภาพทางการเงินของตัวเองชัดเจน แต่ของไทยแม้ว่าคุณจะจ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายเต็มจำนวน สลิปก็จะออกมาเป็นใบเสร็จรูปแบบเดียวกันหมด
อีกประเด็น คือ ธนาคารในไทยไม่ได้ประสานงานกัน หากเรามีบัตรเครดิตต่างธนาคารแล้วยังจ่ายขั้นต่ำของธนาคาร A เรื่อยๆ สถานะของบัตรธนาคาร B ก็ควรจะถูกลดระดับลงไปตามความสามารถในการจ่ายด้วย แต่ในไทยยังไม่มีตรงนั้น นี่จึงเป็นข้อเสียอีกอย่างที่ทำให้ตัวผู้ใช้งานไม่เห็นตัวเลข และขีดจำกัดของตัวเอง
“สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ทุกครั้งที่เราสมัครบัตรใบใหม่เพิ่ม เครดิตสกอริ่งต้องลดทันที ถ้าผ่อนชำระไม่ตรงเวลา หรือแม้แต่ผ่อนขั้นต่ำเครดิตต้องลดลงเสมอ แต่ของเราไม่ค่อยเป็นระบบแบบนั้น ต้องมานั่งคุยกันจริงๆ ว่า ทำยังไงจะ integrate เพื่อให้คนๆ หนึ่งเห็นสถานะทางการเงินที่แท้จริงของเขา ยิ่งยุคนี้ใช้จ่ายง่ายก็มีโอกาสที่จะเกิดภาพลวงตาทางรายได้ได้ง่าย”
เมื่อ ‘ภาพลวงตาทางรายได้’ นำไปสู่ ‘ของมันต้องมี’
ภาพลวงตาทางรายได้ หรือ illusion of income เป็นผลพวงมาจากบัตรเครดิตที่ฟังก์ชั่นได้ไม่ดีพอ อาจารย์อธิบายว่า การสมัครบัตรเครดิตแต่ละครั้งกับหนึ่งธนาคาร หรือหนึ่งค่าย ทางแบงก์จะให้บัตรเครดิตมาประมาณ 3-4 ใบ ซึ่ง 1 ใบจะมีวงเงินมากกว่าเงินเดือนเราไปแล้วสามเท่า หากนำจำนวนสามเท่านี้ไปคูณกับจำนวนบัตรเครดิตที่มากถึง 3-4 ใบ วงเงินที่มีในบัตรก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังไม่ได้มีบัตรเครดิตกับธนาคารเพียงแห่งเดียว บางคนมีมากถึง 10 ใบ นำวงเงินมารวมกันแล้วอาจสูงถึงหลักแสนหลักล้านเลยก็เป็นได้ ด้วยความที่วงเงินมากขนาดนี้ หากผู้ถือบัตรใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะทำให้เกิด ภาพลวงตาทางรายได้ นั่นคือเราคิดว่า เรามีวงเงินในบัตรเท่านี้ก็ใช้เต็มวงเงิน แต่เงินเดือนที่มีอยู่จริงๆ กลับยังไม่ถึงครึ่งของวงเงินนั้นด้วยซ้ำ แม้บางคนจะเลือกผ่อนจ่ายด้วยเงื่อนไข 0% แต่หากผ่อน 0% พร้อมกันหลายๆ ใบก็อาจจะนำไปสู่ illusion of income ได้เหมือนกัน
การผ่อนจ่ายอีกประเภทที่อาจารย์บอกว่า ทำให้เกิด ‘short term debt’ คือ การผ่อนชำระไปกับการท่องเที่ยว และการดูคอนเสิร์ต ซึ่งตรงนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติก็กำลังจับตาดูอยู่ เพราะค่านิยมการผ่อนชำระ 0% เริ่มจะขยายไปในทุกระดับของชีวิต จนทำให้เกิดหนี้ระยะสั้นสะสม ซึ่งพบมากที่สุดในกลุ่มคน Gen Y
ความรู้เรื่อง financial knowledge
อ.วศินบอกว่า Gen Y เป็นกลุ่มคนที่ well-educated และมีความรู้เบสิคที่ดีอยู่แล้ว แต่ปรากฎว่า ยังมีหลายคนที่ยังขาดความรู้เชิงลึกในเรื่องของ financial knowledge หรือความรู้ทางด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
“จริงๆ Gen Y สามารถใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่น mobile banking ในการออมเงินได้เลย พอเงินเดือนเข้าปุ๊บ ซื้อกองทุนผ่านแอพฯ ง่ายมาก กดประมาณสองนาทีเสร็จแล้ว ผมเคยไปบรรยายที่คณะวิทยาศาสตร์-สุขภาพ พอถามเขาว่า รู้มั้ยว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แทบไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ตราสารหนี้คืออะไร ถ้าจะเริ่มลงทุนต้องเริ่มตรงไหน อันนี้ไม่รู้กันเลย กลุ่ม Gen Y รู้ลึกๆ เกี่ยวกับการเงินน้อยมาก ทั้งเรื่องการตัดสินในการลงทุน และการออม”
อาจารย์ทิ้งท้ายว่า ต่อไปในปี 2025 กลุ่ม Gen Y จะเป็นประชากรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกมากที่สุด แม้จะมีปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามาทำให้คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับอะไรมากมายก็ตาม
แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ self-control คือ การควบคุมการใช้จ่ายของตัวเอง วางแผนการเงินทั้งระยะสั้น และระยะยาว และเริ่มศึกษาการออมด้วยการลงทุนที่มีมากกว่าการฝากประจำกับธนาคาร