การเลือกตั้งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ระหว่างนี้เราก็ได้เห็นเวทีดีเบตตามสื่อสำนักต่างๆ ที่เชิญแกนนำพรรคการเมือง รวมถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่อาสามาเป็นผู้นำเข้าไปบริหารประเทศแทนพวกเรา
ท่ามกลางศึกดีเบตที่เป็นไปอย่างเข้มข้น หนึ่งในพิธีกรที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด (ยังไม่นับรวม ‘มีม’ มากมายในทวิตเตอร์) คือ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรผู้ตั้งคำถามชวนไฟลุกแห่งไทยรัฐทีวี
The MATTER บุกไปคุยกับ จอมขวัญ ถึงความสำคัญของการมีเวทีดีเบต พร้อมชวนเมนชั่นถึง ‘คุณลุงแคนดิเดต’ ที่เรารักผู้นั้น ที่ยังมีท่าทีไม่ค่อยอยากมาร่วมวงดีเบตสักเท่าไหร่
ดีเบตครั้งแรกที่ผ่านมา ถูกพูดถึงเยอะมากๆ พอรู้ฟีดแบคแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
ดีใจค่ะ เพราะตอนแรกที่เตรียมงานกันกังวลหลายเรื่อง ทีมงานเบื้องหลังเหนื่อยมาก เพราะเลือกตั้งมันเลื่อนออกไปเมื่อก่อนหน้านี้ การจัดเวทีมันก็ต้องเลื่อนตามทั้งหมด ก็มีสูญเสียเงินทองบ้าง รวมถึงผลกระทบต่อการขอคิวของตัวแทนพรรคการเมืองด้วย ที่แต่ละท่านที่เราเชิญเขาก็มีคิวไปหาเสียงอยู่แล้ว
ก่อนจะถึงวันดีเบตครั้งแรก วันศุกร์ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ทั้งช่วงเช้าและกลางคืน เราก็กังวลอีก เรายังได้ยินกระแสอีกว่า อาจจะมีข่าวอีก ใจเราก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ เพราะเดาบรรยากาศไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นเวทีแรกของไทยรัฐในวันจันทร์ เราลุ้นเกิน 48 ชั่วโมงว่าจะมีใครยกเลิกไหม ซึ่งก็มีและเข้าใจได้ หรือแม้กระทั่งคนที่จะมา เขาจะพูดได้เต็มที่รึเปล่า
เรากังวลเรื่องรูปแบบที่จะจัดด้วยเหมือนกัน เพราะเราก็ห่างหายกันมานาน เขาจะอยากเผชิญหน้าที่อาจจะต้องมีการพาดพิงกัน หรือกระทบกระทั่งกันในบางประเด็น ที่สำคัญคือเราไม่ได้ แต่พองานออกมา เราได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองมาก ซึ่งอยากจะขอบคุณอีกครั้ง
อะไรคือความยากของการจัดเวทีใหญ่ลักษณะนี้
ความยากอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้เขาพูดได้เต็มที่ เพราะบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของไทยรัฐมากๆ แต่สุดท้ายแล้ว สถานการณ์ในวันที่เราจัดก็ค่อนข้างนิ่ง รายการสดวันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี เพราะได้รับความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็แล้วแต่ เราถือว่าทุกคนให้เกียรติเรามาก
การมีแคนดิเดตนายกฯ หรือแกนนำจากพรรคต่างๆ มาดีเบตวนเวทีเดียวกัน มันสำคัญยังไง
การดีเบตมันสำคัญกับผู้ชม มันสำคัญกับการเลือกตั้งในแง่ที่ผู้ชมจะได้รับรู้สิ่งที่เขาควรจะได้รู้ ก่อนที่เขาจะกากบาทเลือกใคร มันเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับจากพรรคการเมือง
เวลาที่เราเลือกแขกแต่ละท่าน เราก็เลือกจากความสำคัญ เป็นคนในระดับบริหาร ระดับแกนนำของแต่ละพรรคอยู่แล้ว มันจึงได้ประโยชน์กับคนดู เพราะฉะนั้น การได้รับการตอบรับมา มันจึงได้ประโยชน์ไปที่คนดู ส่วนแต่ละพรรคจะได้ประโยชน์ไหม มันก็ขึ้นอยู่กับคำตอบของเขา ซึ่งสำคัญมากแน่ๆ
แต่ดูเหมือนจะมีแคนดิเดตนายกฯ บางคนที่คุณอยากสัมภาษณ์ แต่ยังไม่ได้สัมภาษณ์สักที
ไม่ใช่แค่จอมขวัญคนเดียวที่อยากจะสัมภาษณ์ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วใครๆ ก็อยากคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ อยากคุยทั้งก่อนหน้านี้ เพราะสื่อทุกคนก็อยากสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ
แต่ว่าตอนนี้ใครๆ ก็อยากคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ไทยรัฐคนเดียวหรอก เชื่อว่าสื่อก็อยากจะตาม อยากจะได้ อยากจะให้ลุงตู่เมตตา มาคุยกับเราที เราก็อยากได้อยู่แล้ว
การที่ลุงตู่มาออกทีวี ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ มาพูดเรื่องจุดยืนและอนาคตทางการเมืองของตัวเอง มันสำคัญยังไงบ้าง
การมาร่วมรายการของลุงตู่นั้นสำคัญมาก สำคัญกับคนที่จะไปลงคะแนน ไม่แพ้สำคัญกับพรรคพลังประชาชรัฐ และอาจจะสำคัญที่สุดสำหรับตัวลุงตู่เอง
เท่าที่เห็นท่านพูดถึงการดีเบต ดูแล้วท่านก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมาร่วมเวทีดีเบต ก็ไม่เป็นไร แล้วแต่ความสบายใจของแต่ละท่าน ซึ่งการให้มุมมองว่าชอบไม่ชอบ จะมาไม่มา มันจะบอกวิธีคิดของแต่ละคนเลย ไม่ใช่แค่ลุงตู่ ใครก็แล้วแต่ที่จริงๆ แล้วโดยท่วงทำนองแล้วต้องมา แต่ปฏิเสธที่จะไม่มา การให้เหตุผลก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนเขาจะดูได้
ลุงตู่อาจจะรู้สึกว่าการพูดไม่เหมือนการกระทำ แต่คำพูดมันสะท้อนให้เห็นตัวตน วิธีคิด ทัศนคติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญกับประชาชน ที่ควรจะได้รู้ก่อนจะไปเลือกตั้ง
ถ้าถามว่าประชาชนมีสิทธิรับรู้ไหม คำตอบคือมีสิทธิเต็มที่ แล้วจริงๆ แล้วแคนดิเดตของทุกพรรค ควรจะให้เกียรติและเคารพในสิทธินี้ของประชาชน
ทำข่าวเลือกตั้งมาหลายปี เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนบ้าง
เลือกตั้งครั้งนี้มันบันเทิงมาก (หัวเราะ) ด้วยกฎระเบียบต่างๆ มันมีความไม่ชอบธรรมอยู่หลายอย่าง สิ่งที่เราพูดคืออิงบนหลักการนะ เพราะถ้าเราเถียงกันที่เนื้อหาจะพบว่า มันมีความไม่ชอบธรรมอยู่หลายจุด ความน่าห่วงใยก็คือว่า ถ้าเรามุ่งหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะนำมาซึ่งประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง แล้วก็อาจจะผลิดอก และออกผลเป็นความปรองดอง มันก็ยากที่จะเป็นอย่างนั้น
เพราะไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจในการเขียนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในเกมนี้ แล้วเขียนออกมาแบบไม่ชอบธรรม รวมถึงเอาตัวเองเข้ามาร่วมเล่นในเกมนี้ด้วย ย่อมจะมองเห็นแน่นอนว่ามันจะเกิดผลแบบไหน
การเลือกตั้งครั้งนี้มันเลยมีความน่ากังวลหลายเรื่อง แต่เอาล่ะ ก็ไปค่อยว่ากัน เพราะมันอาจจะไกลเกินกว่าไปแก้กันตอนนี้ หรือไกลเกินกว่าจะแก้ได้ในอนาคต เพียงแต่ว่า สิ่งที่ประชาชนต้องรู้คือมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แล้วประชาชนมีสิทธิที่จะได้รู้อะไรบ้าง ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น
ประชาชนต้องรู้ว่าเสียงของเขา จะถูกนำไปสะท้อนแบบไหน เพราะมันไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบที่เราเข้าใจในการเลือกตั้งรอบนี้ เช่น การมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วเอาไปคิด ส.ส.เขต บัญชีรายชื่อ แม้กระทั่งเลือกนายกฯ ซึ่งมันมีผลนะ มันมีผลทุกอย่างที่เราไม่ได้คำตอบว่าต้องเลือกยังไงนะ
หรือแม้กระทั่ง ผลที่มันจะออกมา มันอาจจะชี้ชะตาประเทศได้เลยว่า สังคมและประเทศกำลังต้องการการปกครองแบบไหน ต้องการประชาธิปไตยจริงไหม ต้องการคนแบบไหนเข้ามาเป็นผู้นำ คือมันสะท้อนได้หมด เพียงแต่ว่าคะแนนโหวตมันอาจจะไม่ได้สะท้อนแบบตรงไปตรงมา
คิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นจากความไม่ตรงไปตรงมาแบบนั้น
ไม่แน่ใจว่ามันจะแก้ไขความขัดแย้งได้ หรือจะผูกปมให้มันแน่นกว่าเดิมรึเปล่านั้นก็ไม่กล้าจะฟันธง แต่ห่วงใยมาก! (หัวเราะ) ห่วงใยสังคมมาก สิ่งที่ไม่ชอบธรรม มันผลิดอกออกผลมาแล้ว ปัญหามันก็จะไม่จบสิ้น มันจะถูกนำไปอ้างได้ตลอด
ด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองแบบนี้รึเปล่า จึงทำให้พื้นที่ของการพูดคุยและการแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองมันจึงสำคัญมากๆ
มันสำคัญมาอยู่ตลอดนะ แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ มันยิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถพูดได้เต็มที่
การที่จะอ้างว่าก็ยังมีคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือบุคคลในรัฐบาลได้อยู่เลย แต่เราเลือกที่จะมองกันแค่นั้นเหรอ ยังมีคนจำนวนมากที่วิพากษ์แล้วถูกดำเนินคดี เราก็ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้เราไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เวทีการดีเบตที่มันจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ มันจึงสำคัญทุกเวที
วันก่อนเห็นคุณทวิตว่า “นับวันประเด็นการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้งยิ่งชัด…ไม่ใช่แค่เลือกใครพรรคไหน แต่เลือกเพื่อใช้สิทธิของเรากำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า” ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยได้ไหม
คือในทางรูปธรรมแล้ว เอาจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่เลือกไปเพราะเราชอบพรรคนี้ อยากได้นายกฯ คนนี้ หรืออยากได้ ส.ส.บ้านเราเขตนี้นะ คือเราก็ตอบตัวเองไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้จะสื่อสารกับประชาชนว่า การกากบาทบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผลมันถูกเอาไปใช้สามแบบ ก็เลยไม่รู้จะสื่อสารแบบไหน และสิ่งที่เราเห็นคือ มันมีกลไกหลายอย่างที่ทำให้คะแนนไม่ได้ถูกสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา ว่าเราต้องการอะไร
เพราะฉะนั้นมันต้องคิดซับซ้อนมาก มันไม่ใช่แค่ว่าเราต้องการ ส.ส. ที่ไม่หายหน้าหายตาไปไหน หรือไม่ได้สะท้อนแค่ว่าเราอยากได้พรรคนี้นะ แล้วไปจัดตั้งรัฐบาลเพราะเราชอบนโยบายเขา มันไม่ได้สะท้อนแค่ว่า เราเลือกคนนี้เพราะอยากให้เขาเป็นนายกฯ เพราะเสียงจากการเลือกตั้ง มันจะถูกนำไปปะปนกับอะไรหลายอย่าง
การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องคิดให้ดีๆ ว่าเสียงที่จะสะท้อนออกไปจากตัวเองและปลายปากกาของเรา มันไม่ได้กำหนดแค่ว่า ส.ส. หรือนายกฯ จะเป็นใคร แต่เป็นเสียงที่พยายามจะบอกคนเหล่านั้นว่าเราต้องการอะไร
ถึงอย่างนั้น เราก็พูดแบบนี้ได้ไม่เต็มที่นะ เพราะเสียงจะถูกนำไปบวกกับ ส.ว. และการจับขั้วทางการเมืองอีก คือเราเองก็ ‘งง’ นะไม่เคยเจอ
แต่มันจะมีอยู่มิตินึงที่ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างหาเสียงว่า ตกลงแล้วเราจะเลือกจากนโยบาย หรือจะเป็นการสู้ระหว่างเผด็จการ กับประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นสิทธินะที่จะมีคนคิดแบบนี้ แล้วไปกากบาทด้วยมิตินี้ ขึ้นอยู่กับว่า พอประเด็นขับเคลื่อนไปมากๆ การตกผลึกทางความคิดในสนามหาเสียงจะพาเราไปถึงจุดไหน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนว่าจะเลือกด้วยวิธีไหน
คิดว่าสังคมไทยในเวลานี้ ควรถามอะไรต่อนักการเมืองที่อาสาเป็นตัวแทนบ้าง
ก็แล้วแต่เลยนะ บางคนอาจจะสนใจเรื่องสวัสดิการหรือนโยบาย ซึ่งเป็นสิทธิและเป็นรูปธรรมที่สุด ประชาชนจะเลือกคนที่รับใช้เขาได้ นักการเมืองถูกเลือกมาเพื่อรับใช้ประชาชนนะ ไม่ได้มาเป็นเจ้านาย
เพราะฉะนั้น ประชาชนจะเลือกคนที่มารับใช้เพื่อให้ไปพูดแทนเขา เพื่อให้เกิดอะไรบางอย่างกับชีวิตเขาให้ดีขึ้น อันนี้คือเรื่องพื้นฐาน
แต่สำหรับเรา เราอยากจะถามนักการเมืองว่า คุณเชื่อจริงๆ ไหมว่าการเลือกตั้งที่ใช้กฎเกณฑ์แบบนี้ จะนำเรากลับไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง คุณเชื่อจริงรึเปล่าว่า กฎเกณฑ์ที่ถูกเขียนขึ้นมาจะนำเราไปสู่ความปรองดอง อยากถามจริงๆ ว่าเขาเชื่อจริงไหม
เพราะถ้าเชื่อจริง เราก็อยากรู้ว่า ไม่กลัวเหรอว่ากฎเกณฑ์แต่ละอย่างที่เขียนไว้ มันจะกลายเป็นการผูกปมในอนาคต เพราะมันน่ากลัว
สมมติว่าหลังจากนี้มีสายจากโฆษกรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมให้สัมภาษณ์แล้ว…
มาเลยค่ะ! (ตะโกนเสียงดัง) ด้วยความยินดี จริงๆ เมื่อวันก่อนได้ฝากเรื่องกับรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐไปว่าอยากสัมภาษณ์ท่านนายกฯ ซึ่งถ้าไม่สบายใจที่จะดีเบตก็ไม่เป็นไร ให้มาสัมภาษณ์เดี่ยวก็ได้ ขอซักถามท่านเองก็ได้
อยากถามอะไรครับ
ไม่บอก
สปอยล์มาหน่อยก็ได้ครับ
ถ้าคิดแบบเร็วๆ ตอนนี้คืออยากรู้ว่าทำไมลุงตู่ไม่ชอบดีเบต เพราะมันเป็นเรื่องปกติเลยของการเมือง โดยเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง การที่ประชาชนจะเลือกใครก็แล้วแต่ คนที่มาขอให้เขาเลือกต้องมาคุยกับเขาว่าทำไมฉันถึงต้องเลือกคุณ มันเป็นเรื่องพื้นฐานปกติเลย
เรื่องอื่นล่ะ เช่นไลฟ์สไตล์ของลุงตู่ อยากรู้ไหม
มีเหมือนกันนะ อยากรู้ว่าการดุ ตะคอก ตวาด เนี่ยคือโกรธจริงๆ รึเปล่า ยังแอบคิดว่าไม่น่าใจ เพราะดูแล้วท่านน่าจะเป็นคนขี้เล่น แต่ถ้าดุจริงก็เดี๋ยวคงจะได้รู้ในรายการ
คุยเรื่องการทำรายการทอล์คบ้าง รายการ ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’ ก็มีหลายเรื่องที่ผู้คนสนใจค่อนข้างมาก
หวยสามสิบล้านเหรอ (หัวเราะ)
คืออยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อกับการทำรายการแนวนี้
ต้องบอกว่าเราไม่เบื่องานข่าวมากกว่า คุณสุทธิชัย หยุ่น เคยบอกไว้ว่าคุณไม่มีวันเบื่องานข่าวหรอก เพราะมันเกิดเรื่องใหม่ตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะมีบางเรื่องที่วนกลับมาซ้ำเดิม ถึงอย่างนั้นรายละเอียดมันก็เปลี่ยนไป ดังนั้น งานข่าวเป็นงานไม่น่าเบื่อ
ทำงานทอล์คมานานมาก มันเปลี่ยนตัวเราไปยังไงบ้าง
มันทำให้เราโตขึ้น รู้ตัวอย่างชัดเจนเลยว่า วิธีคิดโตขึ้นจากการสัมภาษณ์คน วิธีคิดบางอย่างเปลี่ยนไปเลย บางอย่างอาจแค่ปรับ บางอย่างตัวเราโตขึ้น เช่น การเปิดใจรับฟัง อันนี้เป็นพื้นฐานของคนทำงานสัมภาษณ์หรือรายการทอล์ค ถ้าคุณไม่เปิดใจที่จะรับฟัง คุณจะไปไม่ได้เลย คุณจะค้านตลอดเวลา แต่ไม่ได้แปลว่า การที่คุณจะเปิดใจรับฟัง คุณจะต้องเชื่อ หรือคิดตามแบบนั้นทุกครั้ง อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราไม่เบื่อ
มันทำให้ความคิดเราเติบโตเร็ว เราเจอคนหลายแบบ เจอความคิดคนหลายอย่าง เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วมันมีมากกว่าที่คิดเยอะ การสัมภาษณ์คนมันทำให้เราได้เห็นเจอคนแบบตรงๆ มันได้มองแววตา ได้เห็นกิริยาท่าทาง ได้ฟังคำพูดเขา ได้เห็นอารมณ์เขา มันทำให้เรารู้ว่ามนุษย์มันหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับได้มากแค่ไหน
แล้วเวลาเจอคนที่คิดว่าน่าจะพูดโกหกอยู่ล่ะ
จะเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด มันก็เป็นสิทธิของเรา การโกหกหรือไม่โกหกก็เป็นสิทธิของเขา และสิทธิที่จะเชื่อไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด ก็เป็นสิทธิของผู้ชม เราทำหน้าที่ถามให้ได้มากที่สุด ส่วนเชื่อไม่เชื่อว่าคำๆ นั้นจะไปด้วยกันกับคำตอบได้ไหม ผู้ชมจะเห็นเอง
การทำงานตรงนี้มีควบคุมอารมณ์ด้วยไหม ช่วงหลังเห็นคนแชร์มีมคุณเยอะมากเลยในอินเทอร์เน็ต
เออ ช่วยเลิกทำมีมกันด้วยค่ะ (หัวเราะ) ถามว่าคุมอารมณ์เยอะไหม มันไม่ได้เรียกว่าคุมอารมณ์ แต่เป็นการเข้าใจสถานการณ์ คือถ้าเรามีชุดความคิดที่เข้าใจได้ว่า บางทีเขาอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดจริงๆ ที่จะตอบ คือเราก็ให้เวลาเขา เว้นแต่ว่ามันไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ
เราจะยืนบนพื้นฐานว่า เราอยากฟังคุณนะ มันอยู่บนจุดประสงค์ว่าอยากสื่อสารซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น อารมณ์โมโหมันจะน้อยมาก หรือกระทั่งไม่มีเลยด้วยซ้ำ นึกไม่ออกว่าเคยโมโหรึเปล่า แต่เรื่องที่ตกใจเวลาบางคนโมโห ก็มีนะ
บางทีเราก็กลัวว่าเขาจะอึดอัด เราไม่ได้กลัวว่าแขกจะอะไรนะ แค่อยากให้เขารู้สึกว่า การที่เราคุยและถามในสิ่งที่เราต้องถามมันเป็นหน้าที่ มันได้มีเรื่องส่วนตัวว่า เอามัน หรือบี้เขา เราไม่มีอย่างนั้นหรอก เพราะเราจะได้เขามาแค่ครั้งเดียว ได้คุยกันแค่ครั้งเดียว ถ้าเราเป็นแขก แล้วใครทำแบบนี้กับเรา เราก็ไม่อยากมาอีก
ในภาวะที่สังคมค่อนข้างแตกแยก หลายคนเลือกจะเชื่อในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อ แล้วแบบนี้รายการที่พาคู่กรณีมาคุยกัน จะสร้างอิมแพ็คต่อคนฟังได้แค่ไหนบ้าง
เราไม่ได้มีหน้าที่ไปถึงการบังคับคนฟังให้ฟัง เรามีหน้าที่แค่ว่าคนควรจะพูดให้ฟัง น่าจะได้มาพูด นอกจากนั้นก็เป็นสิทธิของเขาแล้วว่าจะอยากฟังรึเปล่า เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะฟัง จะเลือก หรือจะเสพอะไรได้ทุกอย่าง จากไหนก็ได้ แต่เรามีหน้าที่แค่ว่า ถ้าเขาจะใช้เรา เราก็จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่อยู่ตรงนี้ มันเป็นสิทธิของเขาว่าจะใช้เรารึเปล่า
เราแค่ทำหน้าที่ว่า เรามีข้อมูลชุดนี้อยู่นะ ถ้าคุณอยากจะรับรู้รับทราบ เราก็เตรียมมาให้คุณได้เลือกใช้
ทุกวันนี้อะไรคือความยากที่สุดในการทำรายการทอล์ค
ที่ยากคือคนที่เราอยากเชิญมาจะมาไหม มันมีหลายกรณีเหมือนกันนะ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการเมืองที่คนถามเข้ามาว่า ทำไมเราไม่เอาคนนั้น คนนี้มา คือเราก็คิดเหมือนท่านค่ะ (หัวเราะ) แต่เขาจะมารึเปล่า ก็เป็นอย่างที่เห็นกัน
อีกเรื่องก็คือ ถ้าพูดในฐานะคนที่อาวุโสมากในการทำรายการทอล์ค มันมีความยากอยู่ลักษณะนึง เช่น เวลาเรามีความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป แล้วแขกรับเชิญที่จะมารายการ รู้สึกว่าความเห็นแบบนี้จะอันตรายกับเขาไหมถ้าเขาจะมา อันนี้ก็เป็นความยากอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
เราคิดว่าโตพอที่จะให้ความเห็นในแต่ละเรื่องได้ ซึ่งก็เลือกว่าจะให้หรือไม่ให้ในเรื่องไหน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความเห็นในทุกเรื่องหรอกนะ แต่จะบอกว่า ถ้าสมมติเราอยู่ในสังคมที่คุ้นเคยกับการถกเถียงและโต้แย้งกัน ความคิดเห็นของเราที่ออกไปก็ไม่น่าจะทำให้รู้สึกว่าจะเป็นอุปสรรคในการตอบคำถาม เพราะเราก็พูดบนหลักการ
เราไม่เคยมีปัญหากับตัวบุคคล แต่ตัวบุคคลจะมีปัญหากับเราไหม ก็ไม่ทราบ อันนี้ควบคุมไม่ได้
มาถึงวันนี้ ยังได้รับฟีดแบคเรื่องการเมืองอยู่ไหม โดยเฉพาะการบอกว่าจอมขวัญเป็นคนกลุ่มสีนู้นสีนี้อยู่บ่อยๆ
ฟีดแบคมากมาย อยากจะบอกว่า ถ้าจอมขวัญโดนซื้อ ป่านนี้ก็เปลี่ยนรถไปแล้ว ตอนนี้ยังใช้รถญี่ปุ่นอายุ 11 ปีอยู่เลย แล้วก็ยังใส่เสื้อซ้ำไปซ้ำมา เราคิดว่าก็แล้วแต่คนจะวิพากษ์วิจารณ์นะ ถ้ามองในกรอบการเมืองก็คือว่า ใครจะมองยังไงก็ได้ เขาก็มีสิทธิจะเชื่อยังไงก็ได้ตราบใดที่ไม่ล้ำเส้นนะ
เราคิดว่ามันต้องมีพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการด่าทอนั่นแหละ แต่ถ้าเข้าลักษณะที่ล้ำเส้นทางกฎหมาย ก็ว่าไปตามสิทธิของเราเช่นเดียวกัน
สังคมประชาธิปไตยมันมีพื้นที่ของมันอยู่ แต่มันจะไม่ล้ำพื้นที่ของกันและกัน ส่วนเรื่องที่ถามว่าเสื้อสีไหน ก็แล้วแต่คนจะมองเลย อยากให้คิดแค่ว่า อยากจะใช้เราให้ทำงานต่อไปไหม ถ้าอยากจะใช้ก็เปลี่ยนมาดูรายการเรานะ แต่ถ้าคิดว่ารายการเราไม่มีประโยชน์ก็ไม่เป็นไร เพราะเขามีสิทธิในการเลือกใช้สื่ออยู่แล้ว
ในยุคทีวีดิจิทัล แวดวงทีวีไทยมีรายการทอล์คเยอะมาก คิดว่าตอนนี้กำลังสู้กันดุเดือดแค่ไหน
พูดตรงนี้เลยนะ เรื่องที่ยากในรายการทอลค์คือการเชิญแขก ซึ่งเมื่อจะเชิญแขกคนเดียวกันก็จะแย่งกัน เรื่องที่ยากก็คือ เอาเท่าที่พูดได้นะ มันคือการแย่งแขกที่ย่อมเกิดขึ้น แต่การแย่งแขกรับเชิญกันแบบที่ไม่เคารพกติกาใดๆ เลย และไม่เคารพแม้กระทั่งสิทธิของแขกรับเชิญ อันนี้มันต้องขีดเส้น เพราะรู้สึกว่าการแข่งขันใดก็แล้วแต่ มันจะมีทั้งกติกาและมารยาท คุณผิดกติกาก็แย่พออยู่แล้ว แต่ถ้าเสียมารยาทอันนี้ต้องได้คุยกัน
ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าต้องแข่งกันทำเรื่องฉาวๆ รึเปล่า
ขึ้นอยู่กับการทำรายการของแต่ละแห่งนะ เพราะทุกคนก็มีสไตล์ของตัวเอง ถ้าเรามีเวลาสังเกตเปรียบเทียบก็จะเห็นได้ว่า รายการทอล์คแต่ละแห่งก็จะตีโจทย์ต่างกันไป
ถ้าถามว่า ความดราม่าและสีสันมีส่วนไหม ก็ตอบว่ามี เพราะมันถูกตอบรับโดยเรตติ้ง ซึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าแต่ละสถานีต้องอยู่รอดให้ได้ เพียงแค่ว่า เมื่อเราเลือกข่าวลักษณะนั้นมาแล้ว เราจะเข้าไปถึงแก่นที่มีประโยชน์ที่สุดของข่าวนั้นได้รึเปล่า หรือว่าเราจะแค่นัวเนียอยู่กับความดราม่าและสีสัน
ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยาก เราเองก็ไม่ได้ชินนะ เราก็ลองผิดลองถูกตั้งแต่เริ่มต้นทำรายการถามตรงๆ เพราะเราไม่ได้มาสายข่าวลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว
มันจะมีอีกแบบนึงที่คนทำรายการทอล์คต้องระวังมาก คืออย่าหาประโยชน์จากแค่ตัวแขกรับเชิญแล้วก็เรื่องของเขา ถ้าเอาเขามาเพื่อต้องการให้คนมาดูเยอะๆ เพื่อเรตติ้ง แล้วคุณก็ทิ้งเขาเลย ไม่ได้มีใจอยากช่วยในสิ่งที่เขายากลำบาก อันนี้ไม่ไหว ซึ่งมันมี แต่เราจะไม่ทำแบบนี้
ถ้าคุณคิดว่ากรณีของเขามันน่าสนใจ หรือโอเค มันอาจจะมีดราม่าสีสัน หน้าที่สื่อก็คือเข้าไปให้ถึงแก่น เข้าไปให้ถึงจุดที่คุณจะช่วยเขาจริงๆ ด้วย ไม่ใช่เอาแต่เรตติ้ง ถ้าอย่างนั้นจะมีเราไว้ทำไม งานเราที่มีความเป็นสาธารณะมันอยู่ตรงไหน
เพราะหลังจากนั้นชีวิตของแขกก็ต้องดำเนินต่อไป
ใช่ บางอย่างเราช่วยได้แค่ไหน ก็พยายามไปให้ได้มากที่สุด เราไม่สามารถช่วยได้ในทุกกรณีจนจบทั้งหมด แต่เราก็ต้องช่วยให้ได้มากที่สุด เพราะนี่ก็คืองานของเราด้วย ไม่ใช่แค่ทำแต่เรตติ้ง อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะสร้างสมดุลไปด้วยกันนะ เราไม่ได้ปฏิเสธโลกทุนนิยมที่เราต้องแข่งขันกัน แต่สำนึกต่างหากที่เราจะควบคุมตัวเองได้
นี่ฉันดูสวยมากเลยอะ ปวดหัวมาก ทำไมอยู่ดีๆ เครียดวะ (หัวเราะ)
คิดว่าในยุคของทีวีดิจิทัลมันทำให้ข่าวเชิงนโยบายมันหายไปไหม หลายคนตั้งคำถามว่าที่ทางของข่าวเหล่านี้มันน้อยลง เมื่อเทียบกับข่าวเชิงดราม่า
ถามถูกคนแล้ว เราอยู่ในช่วงรอยต่อหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ทำรายการทอล์คช่วงที่การเมืองแรงๆ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร แล้วก็กินระยะเวลายาวก่อนถึงเลือกตั้ง และก็อยู่ในช่วงที่เราเปลี่ยนค่ายด้วย ก่อนนั้นก็ยังอยู่ในช่วงที่มีทีวีดิจิทัลขึ้นมาหลายสถานี
เพราะฉะนั้น แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันทำให้วิธีคิดของการทำข่าวมันเปลี่ยนไปนะ พอมันมีคู่แข่งเยอะ มันต้องตอบโจทย์ตลาดให้ได้ เรตติ้งมันต้องมี งานขายต้องมา ในขณะเดียวกัน พอคู่แข่งเยอะแล้ว ต่างคนต่างรู้แล้วว่าตลาดต้องการอะไร แล้วทุกคนก็จะพุ่งไปที่ตรงนั้น
สิ่งที่เราเห็นในช่วงรอยต่อคือ สถานการณ์การเมืองมันไม่สามารถพูดถึงได้อย่างที่ควรจะเป็น เสรีภาพในการพูดมันถูกลดเพดานลงมา ดังนั้น มันทำให้การเลือกเล่นข่าวเชิงการเมือง สังคม หรือเชิงโครงสร้างลำบาก ในช่วงรอยต่อแบบนี้แหละ ทำให้เราเห็นว่าข่าวอาชญากรรมถูกหยิบขึ้นมาเยอะ คนทำข่าวทุกคนรู้ ภูมิทัศน์มันเปลี่ยนไป
แต่เมื่อมันมีความชัดเจนเรื่องเลือกตั้ง เราก็จะเห็นว่าสื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องที่เหมือนถูกอั้นมานาน ทุกคนก็จะกลับมาในสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทิ้งข่าวอื่นๆ ไปนะ มันคือการเลือกข่าวในจังหวะนั้นๆ แหละ
มองเรื่องเสรีภาพสื่อในทุกวันนี้ยังไง
มันยังมีไม่เต็มที่หรอก แม้ในช่วงเลือกตั้งนี้ เพดานของเสรีภาพมันถูกขยับให้สูงขึ้น แต่มันก็ยังไม่ได้กลับไปอยู่ในจุดที่มันควรจะอยู่ เพราะเราก็รู้ว่ายังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ มันก็ยาก เหมือนกันกับที่มันมีคำวิพากษ์วิจารณ์สื่อว่า ทำไมต้องไปซูฮกกับผู้มีอำนาจ คือมันเป็นเรื่องยากที่จะบอกใครว่าเราอยู่ในภาวะที่ถูกกดขนาดไหน
ถ้าจะบอกว่าไม่ถูกกดเลย ก็คงไม่ใช่ ถ้าบอกว่าก็ยังเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่เลย มันก็ใช่ค่ะ แต่มันสามารถทำได้มากกว่านี้และดีกว่านี้ เราปล่อยตั้งหลายข่าว ไม่ใช่ไม่ทำนะ แต่มันทำได้ไม่สุด แล้วมันก็มีอีกหลายข่าวที่ไม่ได้เข้มข้นอย่างที่ควรจะเป็น
มันทำให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เราขาดอะไรไป มันไม่เพียงแค่รู้สึกได้ที่ตัวคนทำงานสื่อเอง แต่มันยังทำให้ประชาชนขาดโอกาสที่จะรู้ ขาดโอกาสที่จะเห็น ในช่วงที่ผ่านมามันไม่เหมือนเดิม และก็ไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งมันจะเหมือนเดิมรึเปล่านะ
คนที่มีอำนาจมักคิดว่า ยิ่งสื่อมีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณก็ควรจะมีองค์กรมาควบคุม เห็นได้จากตอนที่มีเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ ออกมา คิดอย่างไรว่าแนวทางเช่นนี้
วิธีการส่วนหนึ่งที่จะมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ คือให้องค์กรสื่อดูแลกันเอง แต่เข้าใจข้อโต้แย้งว่า แล้วจะจัดการกันเองได้ยังไงเพราะก็ปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ซึ่งเข้าใจนะ แต่ว่าเสียงสะท้อนของประชาชนใหญ่กว่า ใหญ่กว่ากลไกที่ออกมาจากรัฐบาลด้วยซ้ำ ดังนั้น ในสังคมที่มันควรจะเป็น คือเสียงของประชาชนจะบอกเองว่าที่เราทำมันถูกไม่ถูก ควรไม่ควร เสียงของประชาชนมันใหญ่อยู่แล้ว จะใหญ่แค่ไหนไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือใหญ่กว่าคนที่จะตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการแล้วควบคุม
เพราะคนจำนวนหยิบมือเดียว ด้วยวิธีคิด ทัศนคติ หรืออคติที่มีอยู่ คงไม่สามารถควบคุมสิ่งที่ควรจะปล่อยให้คนทั้งสังคมจะเป็นคนตัดสินได้
คนดูต่างหากที่ด่าเข้ามา ติเข้ามา วิจารณ์เข้ามา คือคนที่สื่อจะฟังไม่ใช่คนกลุ่มเดียว