ในยุคที่คอนเทนต์มีอยู่มหาศาลในมหาสมุทรที่เรียกว่าโลกออนไลน์ บทบาทของตำแหน่ง ‘บรรณาธิการ’ มันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างตำแหน่งนี้ยังจำเป็นอยู่แค่ไหนเมื่อเครื่องมือต่างๆหรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มจะมาทดแทนทักษะการงานได้หลายชนิดมากขึ้นเรื่อยๆ
ท่ามกลางคำถามมากมาย วันนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่อ้อย—มนทิรา จูฑะพุทธิ นักเขียน นักสัมภาษณ์ และบรรณาธิการนิตยสาร รวมถึงหนังสือหลากหลายเล่ม พวกเราได้พูดคุยกันในโอกาสที่พี่อ้อยเพิ่งได้รับคัดเลือกจากองค์การยูนิเซฟให้เป็น Consultancy Professional Editor and Copy Editor ประจำปีนี้
นี่คือบทสัมภาษณ์ที่คุยกับบรรณาธิการผู้ผ่านประสบการณ์มาโชกโชนกว่า 40 ปี ถึงเส้นทางชีวิตของเธอ รวมถึงความสำคัญของตำแหน่งบรรณาธิการในยุคออนไลน์
อะไรคือแรงผลักแรกที่ทำให้พี่อ้อยอยากทํางานเป็นบรรณาธิการ
ในยุคพี่เขาให้ค่ากับความเป็นนักหนังสือพิมพ์นะ ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ มันทรงพลัง ถึงกับมีคํากล่าวว่า ‘ปากกาคมกว่าดาบ’ เพราะฉะนั้น พอพี่เริ่มเลือกเรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชน พี่ก็เรียนหนังสือพิมพ์ พี่เป็นพวกชัดเจนน่ะ คือชัดเจนหมายความว่าเรารู้ว่าเราอยากทําอะไร เส้นทางที่เราเดินมันก็จะตรง มันไม่เลี้ยวรถ คดเคี้ยว หรือมันไม่ต้องอ้อม แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่
สมัยที่พี่เรียนพี่เคยอ่านหนังสือเล่มนึงนะ เป็นหนังสือต่างประเทศ เขาได้รางวัลทําข่าวเจาะลึกตรงประเด็น ตอนนั้นเราก็มีความฝันว่า สิ่งนี้มันเท่และได้รางวัลด้วย ถ้าเราทําข่าวที่มันมีอิทธิพลต่อผู้อ่าน และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราก็คงจะตายตาหลับเลย เพราะพี่คิดแบบนั้นเลยเลือกเรียนด้านหนังสือพิมพ์
แต่พอจบมาแล้ว ต้องบอกว่าในวงการหนังสือพิมพ์ตอนนั้นน่ะ มันเป็นสังคมที่แบบทํางานกันดึกๆ บนแท่นพิมพ์ แล้วโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย พอเป็นผู้ชายก็กินเหล้า เป็นความบึกบึน มีความแบบชายๆ คือในมวลของการทํางานมันจะไม่เจอในสมัยเด็กรุ่นนี้แล้ว เพราะสังคมมันเปลี่ยนมาก ตอนนั้นน่ะมันรู้สึกว่าแบบ สังคมแบบเนี้ยมันไม่เหมาะกับผู้หญิง เพราะฉะนั้นพอพี่จบแล้ว พี่จึงไม่ทํางานหนังสือพิมพ์ พี่จึงเลือกนิตยสาร ตัดสินใจนานอยู่นานนะ
ทำไมถึงเป็นการตัดสินใจที่นาน
ตอนนั้นวิชาไมเนอร์ที่พี่เรียนคือเอกภาษาอังกฤษ ตัวพี่เลยได้ทั้งภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ ก็มีทั้งหนังสือพิมพ์และก็แมกกาซีนให้เลือก ในที่สุดก็เลือกแมกกาซีน แล้วก็พี่ก็ทํางานมาโดยเป็นปกติเหมือนทุกคน ก็คือทํางานแพรวก่อน แล้วในที่สุดพอต้องเลือกระหว่างแพรวกับแพรวสุดสัปดาห์ พี่ก็เลือกแพรวสุดสัปดาห์ แล้วก็มาเป็น บก.แพรวสุดสัปดาห์ในที่สุด
ในตอนที่เป็น บก. พี่อ้อยก็ยังทำงานสัมภาษณ์ด้วย
พี่เป็นนักสัมภาษณ์มาก่อน คือถ้าถามว่าคนรู้จักชื่อ ‘มนทิรา’ จากอะไร ก็ต้องบอกว่าจากการเป็นนักสัมภาษณ์และก็เป็นบก. แต่ตอนเป็น บก. ก็ยังสัมภาษณ์อยู่เพราะว่ารักการได้พูดคุยกับคน พี่ว่ามันเป็นอาชีพที่พิเศษ เพราะได้สัมผัสคนตั้งแต่แบบอัปเปอร์คลาสจนมาถึงแบบติดดิน มันทําให้เรามีสิทธิ์บางอย่างที่เข้าถึงคนบางคน ได้รับรู้ความคิดเขา ได้เรียนรู้โดยไม่ต้องทดสอบทดลองเอง เพราะมันมีประสบการณ์จากเขา ซึ่งพี่ว่าอันนี้เป็นความพิเศษของอาชีพนี้ นอกจากได้เรียนรู้เขาแล้วคําตอบบางอย่างที่เขาให้มามันเข้ามาสะเทือนใจเรา มันเกี่ยวข้องกับใจเราบางอย่าง เรารู้สึกว่า ตัวตนเราเปลี่ยนไปจากคนนี้ เราคุยกับเขาด้วยตัวเองแล้วมันทําให้เราฉลาดขึ้น
ถึงแม้ว่าการสัมภาษณ์ยุคนั้น เราจะมีเวลาที่ไปอยู่กับเขาวันสองวันสามวันเลย แต่พี่ก็คิดอยู่เสมอว่าเวลาเขามีค่า เราก็จะไม่เยิ่นเย้อ แล้วก็พอมันมีสื่อเยอะมากมายเนี่ย ความเป็นนักสัมภาษณ์ของแต่ละคนมันเป็นปัจเจกนะ เขาจะเลือกว่าในเวลาที่เขามีจํากัด เขาจะให้ใครเป็นคนสัมภาษณ์ ซึ่งพี่คิดว่าคุณสมบัติของนักสัมภาษณ์หรือความสามารถของนักสัมภาษณ์เป็นสิ่งที่ต้องมี ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปแค่ไหน โดยเฉพาะยุคนี้ที่คิดว่าเรื่องที่สําคัญที่สุดคือจรรยาบรรณ เพราะสิ่งที่เราทำออกไปมันมีพลังมากนะ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทํามันจะถูกเผยแพร่ต่อไปแค่ไหนบ้าง
ในทุกครั้งที่พี่อ้อยไปสัมภาษณ์ พี่อ้อยมีเป้าหมายในไหมว่า เราอยากไปได้อะไรกลับมาให้คนอ่าน
เราไม่มีเลย เพราะว่าพี่รู้สึกว่าด้วยความที่เป็นคนให้เราสัมภาษณ์ เขาต่างกันในเนื้อในตัวเขาอยู่แล้ว เขาจะมีแง่มุมที่น่าสนใจ แต่ว่า สิ่งหนึ่งที่พี่จะทําเสมอก็คือ พี่จะให้เขาคุยในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาให้มากที่สุด ซึ่งอันนี้จะเกิดขึ้นได้คือความไว้วางใจ คําถามที่เราเอื้อแล้วก็เปิดให้เขา แล้วบางทีพี่ก็มีคําถามที่เป็นเหมือนจะใช้คําว่าไม้ตายของพี่มั้ง แต่จริงๆ มันไม่ใช่ไม้ตายหรอก มันมาจากความที่พี่ชอบคุยกับคน เช่นสมมติว่าพี่คุยกับคนนี้ แล้วเขาไม่พูด ไม่พูดของพี่คือเจาะยังไงเขาก็ไม่เปิดออกมา บางทีพี่ก็ถามด้วยคําถามสั้นๆ ว่าแบบ ขอถามอะไรโพล่งๆ หน่อย เขาก็จะยิ้มๆ ว่าแบบเหมือนเอ็นดูเรา
จากการเป็นนักสัมภาษณ์สู่การเป็น บก. อยากรู้ว่างานในตำแหน่งนี้มันเรียกร้องทักษะอะไรเราเยอะมากกว่าการเป็นนักข่าวหรือนักเขียนบ้าง
ต้องบอกว่าพี่ไม่เคยคิดอยากเป็น บก. นะ ตําแหน่งนี้มันมาเองตามที่หนังสือเห็นคุณสมบัติความสามารถเรา ก็ต้องบอกว่าตอนที่เป็นนักสัมภาษณ์สนุกกว่า เพราะว่ามันเป็นความรับผิดชอบในชิ้นงานของเรา ในการทํางานของเรา ซึ่งมันเกี่ยวกับตัวตนของเรา แต่พอเป็น บก. มันต้องรับผิดชอบในแง่ของคุณไม่ได้ต้องทําให้หนังสืออยู่รอดได้ในแง่ของยอดขายและยอดโฆษณาอย่างเดียว แต่คุณต้องมีทักษะของการบริหารคนเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็ตอนนั้นมันเป็นหนังสือ มันยังไม่ได้เป็นออนไลน์ มันมีรส มีชาติ มันกลมกล่อม แล้วพอมันเป็นหนังสือแฟชั่นด้วยเนี่ย คุณก็ต้องมีเรื่องของเทรนด์ เรื่องของกระแส มันหลายส่วน ทําหนังสือไม่ง่าย มันเป็นเรื่องของรสนิยม มันเป็นเรื่องของรสนิยม มันเป็นเรื่องของการตีอีกหลายๆ เรื่อง
แล้วอะไรคือความสนุกของการทํานิตยสารในฐานะ บก.
เขาเรียกว่าเป็น city magazine คือมันเป็นปกิณกะมันเล่นกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์เล่นกับอะไรต่างๆซึ่งในยุคนั้นกว่าจะได้แต่ละเรื่องมามันต้องผสมผสานหลายสิ่งเข้าด้วยกันเหมือนคุณปรุงอาหารคุณจะรู้ได้ไงว่าคนอ่านของคุณที่หลากหลายเขาจะชอบสิ่งที่คุณกําลังปรุงเพราะฉะนั้นมันเลยสนุกที่เราต้องอาศัยทักษะในการทําให้สิ่งที่คุณกําลังทําเป็นที่ชื่นชอบสิ่งนี้มันไม่ง่ายเลยมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
ที่บอกว่า ‘ไม่ง่าย’ พี่อ้อยรับรู้ได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็น บก. ไหมครับ
รู้ รู้สิ ทำไมจะไม่รู้ (หัวเราะ)
ความ ‘ไม่ง่าย’ ที่พี่อ้อยเผชิญ มีอะไรบ้างครับ
พี่ว่าการบริหารคนไม่ง่าย แล้วพี่ว่าการบริหารคนเก่งยิ่งยากเข้าไปอีก อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ปรับตัวพอสมควรเลย
เมื่อพี่อ้อยต้องเป็น บก. เนื้องานมันย่อมมากขึ้น และเวลาทำงานสัมภาษณ์น้อยลง พี่อ้อยเสียดายกับงานสัมภาษณ์ที่มันหายไปบ้างไหม
ไม่เลย พี่จะบอกว่าคนเรามันต้องเติบโตนะ แล้วพี่เขียนหนังสือหลายเล่ม ประโยคหนึ่งที่พี่พูดก็คือว่า ‘ไม่มีการงานใดที่สูญเปล่า สิ่งที่เราทําน่ะ มันจะเป็นจิ๊กซอว์ที่คอยต่อให้เราเชื่อมไปจนถึง’ มันเหมือนที่คนชอบพูดถึงคุณป้าลายจุด (คุณยาโยย คุซามะ – เจ้าแม่แห่ง Polka Dot) ในจุดแต่ละจุดเชื่อมถึงกัน ในที่สุดมันจะพาเราไปสู่จุดที่ยิ่งใหญ่ พี่ไม่ได้เลิกทําสัมภาษณ์เพราะพี่มีงานของความเป็น บก. เยอะนะ แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้วมันทําให้เราต้องไปเรียนรู้เรื่องใหม่เองต่างหาก หรือพอพี่เป็น บก. สิ่งพิมพ์มาแล้วเนี่ย พี่ก็ยังทําหนังสือแต่พี่เป็น บก. ในแง่ของการทํางานออนไลน์ ทักษะของการมาเป็นแพลตฟอร์มใหม่เนี่ยไม่ได้ทําให้สิ่งที่เรามีอยู่หายไป ไม่มีการงานใดที่สูญเปล่าเชื่อพี่เถอะ
และพี่ไม่เลือกทําในสิ่งที่พี่ไม่ชอบ ต้องบอกก่อน พี่จะทําเฉพาะสิ่งที่พี่ชอบ ไม่มีเหตุผลที่เราจะทําในสิ่งที่เราไม่ชอบ เพราะว่าเวลาที่เราทํา เรารักอะไรอ่ะ เราควรจะทําในสิ่งที่เรารักนะ เพราะว่าเวลาที่ทํางาน งานมันมีปัญหาทุกอย่าง แต่ถ้าเรารักในงานที่ทํา เราจะมีก๊อกสอง เราจะมีความอดทน เราจะมีความเพียร เราจะมีความมุ่งมั่น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทําในสิ่งที่เราไม่รัก
แล้วเวลาเจอปัญหา พี่อ้อยรับมือกับปัญหาอย่างไร
ปัญหามันมีอยู่สองสามประเด็นนะ ปัญหาบางเรื่องเราแก้ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้มาจากเรา บางทีมันต้องปล่อยให้กาลเวลาเป็นตัวคลี่คลายหรือบางทีมันต้องปล่อยให้ สิ่งที่เป็นปัญหานั่นน่ะมันแสดงปัญหาออกมา ตอนที่พี่เป็น บก. มีหลายปัญหาที่พี่ไม่แก้นะ พี่ใช้ให้ปัญหามันแสดงตัวออกมา แล้วให้คนที่มี authority (อำนาจ) มากกว่าพี่เป็นคนแก้ เราจะไม่แสดงความเก่งว่าเราไปแก้ทุกปัญหาเพราะบางทีมัน beyond เรานะ บางทีเราต้องฉลาดพอที่จะปล่อยให้ปัญหามันแสดงตัวออกมา ไม่งั้นมันจะแบกมันเกินไป โดยที่เราไม่สามารถหรือเราไม่ได้มีอํานาจในการแก้มันเอง แล้วจะไปแบกมันทําไมให้เราทุกข์
ในการเป็น บก. พี่อ้อยต้องแบกอะไรบ้าง
พี่ว่าความแบกของ บก. ทุกคนนะ ไม่ว่าจะเป็น บก. สิ่งพิมพ์ออนไลน์หรือแพลตฟอร์มใหม่ คือการทําให้สิ่งที่เราทําอยู่นั้นประสบความสําเร็จในแง่ของผลงานและธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก แล้วในความสําเร็จคุณต้องบาลานซ์ความเชื่อของคุณว่า คุณยังทําสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่ากับคนที่เสพมันอยู่ แล้วมันต้องรอดได้ด้วย พี่ว่าโจทย์แค่นี้คุณก็ตายแล้วล่ะ ตายของเราคือหมายความว่าอันนี้เป็นงานที่เป็น บก. รุ่นใหม่ต้องรับผิดชอบ ยุคสมัยทําอะไรไม่ได้เพราะอันนี้คือ fact ที่ บก. ทุกคนต้องเผชิญ
ต้องเชื่ออยู่เรื่องนึงนะ สมัยก่อนเนี่ย พี่ชอบทํางานกับคนเก่งมากนะ ยิ่งเรามีคนเก่งเท่าไหร่ เราจะเบา แต่การบริหารคนเก่งซึ่งมีอัตตาเป็นเรื่องยากมากนะ ถ้าคุณไม่เจ๋งจริงเนี่ย คุณจะทําให้เขาอยู่กับเราไม่ได้ ตอนที่พี่ทํางานแพรวสุดสัปดาห์ ที่พี่ทํางานแกรมมี่ หรือพี่ทํางาน Woman&Home แมกกาซีนหัวนอกจากอังกฤษองค์กรแต่ละองค์กรไม่เล็กนะเป็นมหาชนหมดพี่ทํางานกับคนเก่งมากแล้วหลังๆพี่เลือกทํางานกับคนน่ารักไม่ใช่คนเก่งนะนั่นคือเรื่องที่หนึ่ง
เรื่องที่สองก็คือพอเรายิ่งทํางานกับคนเก่งมาก บางทีเราไม่ต้องไปเก่งอีกนะ แต่มันต้องมีอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ เราถึงจะทํางานด้วยกันได้ สมัยหนึ่งเวลาคนออกคนนึง พี่สะเทือนนะ ไม่ใช่สะเทือนในแง่งานนะ สะเทือนที่ทําให้ต้องมาย้อนว่า เอ๊ะ เราบริหารงานอะไรที่มันไม่ถูกต้อง แล้วทําให้เรารักษาคนไว้ไม่ได้หรือเปล่า ผู้บริหารจะเจอคําถามเหล่านี้ที่แบบต้องมาทบทวนตรวจสอบตัวเอง แต่พอวันหนึ่งที่เรามีมากกว่าความสามารถ ประสบการณ์ความรู้ หรือแม้กระทั่งความเก่งแล้ว เราจะได้เรียนรู้ว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่งมันจะเป็นระบบที่คัดกรองคนที่ไม่ใช่ออกไปจากวิถีเราเอง แล้วจะมีคนใหม่ที่ใช่เข้ามาแทนที่เสมอ หลังจากนั้นพี่ไม่สะเทือนเลย แล้วที่สําคัญที่สุด นอกจากไม่สะเทือนแล้วเราจะได้เพื่อนรุ่นน้องหรือเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ไปเติบโตที่อื่นๆ แล้วมาช่วยงานกันมากขึ้น
พี่อ้อยมีวิธีการบริหารคนเก่งยังไง
ก็ทําตัวไม่เก่ง เพราะถ้าเราเก่งเกิน คนเก่งกับคนเก่งเจอกัน มันก็เหมือนอัตตาชนกับอัตตา
แล้วพี่อ้อยมีบริหารคนน่ารักยังไง
พี่เป็นคนกลัวลูกน้องนะ หลายหลายคนบอกนะ นี่ไม่ใช่มาจากพี่เองนะ เขาบอกว่าพี่อ้อยนี่เป็นคนกลัวลูกน้อง เกรงใจลูกน้อง ซึ่งพี่ว่าจริง แต่พอมาถึงเรื่องการทํางาน ลูกน้องจะรู้เลยว่าถ้าพูดถึงเรื่องงาน เขาจะกลัวพี่เพราะพี่จะเอางานมาเป็นที่ตั้ง สมมติว่าเวลาพี่ประชุมกันเพื่อตกลงว่าเราจะทําเรื่องไหนดี พี่จะฟังเขามากเลยนะ แล้วพี่จะปล่อยให้เขาลอง แต่พอถึงช่วงกลั่นกรองการเป็น บก. เราแล้วเนี่ย ถ้าแง่มุมอันไหนไม่ใช่ ไม่คม ไม่ถูก พี่รีเซ็ตใหม่นะ พี่จะไม่อ่อนข้อให้ในเรื่องของการทํางานนะ คือคุณต้อง professional มากพอ หรือแม้กระทั่งตอนนี้พี่ทําออนไลน์ อะไรที่พี่ไม่รู้ไม่เก่ง พี่ไม่ทําเองนะ เช่น พี่จ้างคนตัดต่อเก่งๆ มาเลย พี่จ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เขามีเป็นเด็กแล้วคมคายนะ พี่จ้างหมดนะ พี่จะไม่ทําอะไรที่พี่ไม่รู้เพราะพี่เชื่อว่าคนที่รู้มากกว่าพี่
เหมือนพี่อ้อยวางลำดับตัวเอง เป็นคนวางกรอบให้น้อง แล้วปล่อยให้น้องได้ไปวิ่งในกรอบ
เพราะเราค่อนข้างรู้ว่าเราจะทำอะไร ไม่มีใครรู้เท่าเรา เรารู้ดีที่สุดในงานที่เรากําลังจะทํา แต่งานที่เราไม่รู้และเราเชื่อว่ามีคนเก่งกว่าเรา เขารู้มากกว่าเรา เราก็ให้เขาทํา มันเหมือนคุณเป็น player คุณก็ต้องรู้บทบาทของคุณในสนามว่าคุณจะเล่นเป็นตัวไหน คุณจะวิ่งคนเดียวทั้งสนามเหรอ เป็นไปไม่ได้ คุณก็เหนื่อยตาย แล้วในวัยแบบพี่เนี่ยมันต้องการการทํางานที่เป็นทั้ง professional และยังมีความสุขและสนุกกับงาน คุณก็ยิ่งต้องรู้บทบาทของคุณ คุณต้องยิ่งจ่ายงานให้เยอะที่สุดในผู้เล่นที่เหมาะสมที่สุดด้วยนะ
มาถึงตอนนี้ ความสนุกในงานออนไลน์ แตกต่างจากตอนทำแมกกาซีนยังไงบ้าง
ทุกคนจะแปลกใจพี่จะบอกว่าพี่สนุกกว่าทำแมกกาซีนแมกกาซีนมันมีข้อดีอย่างนี้คือมันไม่ตื่นเต้นเวลาที่หนังสือจะออกเพราะเราเห็นทุกอย่างแม้กระทั่งพรูฟออกมาแล้วเพราะฉะนั้นคุณจะไม่มีอะไรที่พลาดไปจากสิ่งที่คุณเห็นดิจิทัลพรูฟคุณยังแก้ได้เลย
แต่ออนไลน์ไม่ใช่นะ มันเป็น two ways communication คุณจะรู้ได้ไงว่าสิ่งที่คุณนําเสนอ คนอ่านเขาจะมี feedback ยังไง แล้วพอมี feedback แล้วคุณห้ามเขาไม่ได้นะ มันลุ้นระทึกมากกับออนไลน์ ยิ่งในเฟซบุ๊กเนี่ยพออัลกอริทึมเปลี่ยน คุณยิ่งระทึกมากกว่านั้นอีก แล้วคุณก็ต้องมีเงินด้วยเพราะคุณไม่ได้เป็นคนทําแพลตฟอร์ม คุณก็ต้องเคารพกติกาของคุณมาร์คเขา เขาเล่นเกมมายังไง คุณก็ต้องตามเขา ตื่นเต้นทุกวัน
และพี่ว่าเราไม่สามารถเอาชนะมันได้นะ แต่คุณเรียนรู้กับมันได้แล้วคุณปรับกับมันมากกว่า แต่สิ่งที่คุณต้องสร้างในความเชื่อมั่นก็คือ ถ้าคุณยังเป็นคนคุณภาพ แล้วคุณยังเชื่อว่าคุณสร้างคอนเทนต์คุณภาพ คุณก็ต้องสู้ ถ้าคุณไม่ฉาบฉวย คุณไม่ได้เอาแค่ engagement ,like, share, view, follower มันต้องพิสูจน์เพราะไม่มีอะไรง่าย
ในงานรับรางวัล พี่อ้อยได้พูดถึงความจำเป็นที่ต้องมี บก. ในยุคออนไลน์ อยากให้พี่อ้อยอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมถึงคิดว่า การมี บก. ในยุคนี้มันสำคัญมากๆ
ตอนที่พี่แสดงสุนทรพจน์ พี่ไม่ได้ฟันธงนะว่า บก. จําเป็นหรือไม่จําเป็นในโลกของสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อใหม่ ในหลายๆ แพลตฟอร์มพี่คิดว่าพี่อยากวางประเด็นนี้ให้สังคมเป็นคนตัดสินดีกว่า แต่พี่ยกตัวอย่างว่าอาชีพบรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน และยังมีความสําคัญ ที่ยกตัวอย่างสองเรื่องก็คือหนึ่ง กุมภาพันธ์พี่ได้รับเลือกจากองค์การ UNICEF ให้เป็น Consultancy Professional Editor and Copy Editor ประจําปี 2023 ซึ่งพี่จะอยู่ในตําแหน่งนี้สองปีจนถึง 2025 เท่าที่พี่ทราบ องค์การ UNICEF ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ เขามี บก.เยอะมากนะ โดยเฉพาะที่เรียกว่าบรรณาธิการเฉพาะกิจที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ในขณะที่เขามีเนี่ย ดูตําแหน่งพี่สิ ยังมีตําแหน่ง Professional Editor เพราะฉะนั้นในความความถูกต้องหรือในความเป็นมืออาชีพองค์กรแบบนี้จะให้ความสําคัญมาก
พี่ยกตัวอย่างให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นก็คือตอนนี้ในโลกออนไลน์มีคนอยากทํางานเขียน อยากทํางานบรรณาธิการเยอะมากนะ เราจะไม่เชื่อเลย ลองไปดูเถอะ สอนคอร์สออนไลน์ เขียนหนังสือยังไงให้ได้ล้าน เป็นบรรณาธิการไม่ต้องมีพื้นฐานก็มาเรียนได้ เราจะไม่เชื่อเลยว่ามี คนอยากทําเยอะมาก แล้วก็มีนักเขียนท่านหนึ่งเขียนหนังสือออกมาเล่มแรกโดยไม่มีบก. พี่สั่งซื้อมานะ เพราะพี่อยากรู้ว่าหนังสือที่ไม่มี บก. เป็นยังไง แล้วนักเขียนท่านนี้พอออกเล่มสองก็ไปหา บก. สิ่งนี้เป็นตัวอย่างทําให้เห็นมั้ยว่าเขาเป็นนักเขียน ที่เพิ่งเขียนหนังสือ แล้วพอเขาอยากจะอยู่ในวงการหนังสือต่อไป เล่มที่สองไม่ต้องมีใครมาบอกเขาแต่เขาก็ไปหา บก. มาช่วยดูแล มันพอจะบอกได้ไหมว่าเป็นตัวอย่างหรือเป็นกรณีศึกษาว่า แม้แต่เขาเองซึ่งเป็นนักเขียนหน้าใหม่ มือใหม่เนี่ย เขายังรู้เลยว่าหนังสือต้องมี บก.
ทีนี้มาเป็นคนทํางานแบบเราๆ จริงเหรอที่ทุกแพลตฟอร์มต้องทําอะไรโดยไม่ต้องมี บก. ไม่จริงมั้ง โทรทัศน์ บก.อาวุโส บก.เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องอาชญากรรม เห็นมั้ย คําว่าอาชีพที่มีเป็นวิชาชีพนะ ไม่ว่าอะไรก็ตามไม่จําเป็นต้องบรรณาธิการนะ มันต้องมีมาตรฐานทางอาชีพ ทางวิชาชีพอยู่เสมอ ไม่งั้นบนโลกออนไลน์ยิ่งแย่นะ ถ้าไม่มีเกรดที่จะคอยกลั่นกรองว่าแค่ไหนเหมาะควร จรรยาบรรณอยู่ที่ไหน พี่ว่าสังคมมันจะยิ่งวุ่นวายมากกว่านี้นะ
พี่เป็นบรรณาธิการมากว่าสี่สิบปี ก็ต้องถือว่าประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถไม่ได้ผ่านมาน้อยๆ เพราะฉะนั้นคนที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้มา ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ไม่ต้องมาเป็นบรรณาธิการ เขาสั่งสมองค์ความรู้มาพอสมควรเลยนะ หน้าที่ที่พี่พูดในสุนทรกถาก็คือว่าคนเหล่านี้ต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ออกมา เพื่อให้มาตรฐานทางวิชาชีพของวิชาชีพไหนๆ ก็แล้วแต่ มันยังคงดํารงอยู่อย่างถูกต้องด้วยนะ พี่ไม่ได้คิดเอาเองนะ ไม่ได้ตั้งตน ไม่ได้อุปโลกน์ด้วย
พี่ไม่อยากพูดจากตัวเองแล้วบอกว่าอันนี้สําคัญเพราะมันจะมีคนแย้งได้ว่าก็แน่สิเป็นบรรณาธิการก็ต้องบอกสําคัญพี่คิดว่าให้ผลงานเราเป็นตัวพูดดีกว่าเหมือนพี่ไม่ต้องมาพูดว่าฉันเป็นบรรณาธิการดีนะแต่สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้รางวัลโดยกรรมการเขาคัดกรองอย่างแบบมีมติเป็นเอกฉันท์พี่ว่าอันนี้มีคนพูดแทนเราหน้าที่คือคุณทําไป
ทีนี้สิ่งที่สงสัยว่าต้องมีพื้นฐานไหม คือเวลาเราจะเชื่อใครสักคน เหมือนเด็กบอกว่าพี่อ้อย พี่ทํานี้สิ เขาบอกว่าให้ทำอย่างเขาสิ พี่จะถามเสมอว่าเขาคือใคร? แล้วถ้าเราตั้งสติซะหน่อยนะ จริงเหรอ? เขียนหนังสือแล้วได้ล้านนึง? แต่มันมีจริงนะพี่เองก็ทําได้นะแต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราเขียนหนังสือเพื่อจะได้ล้านนึงคือคุณต้องเข้าใจก่อนว่าคุณเขียนหนังสือทําไมเพราะเวลาคุณเขียนแล้วงานคุณจะเป็นสาธารณะคนอ่านเขาจะเป็นคนตัดสินคุณเองถ้างานคุณดีต้องต่อไปคือล้านแต่ถ้าคุณเขียนหนังสือเพื่อล้านหนึ่งเนี่ยพี่ว่าอาจจะผิดตั้งแต่ต้นนะเพราะว่าวัตถุประสงค์ไม่ใช่ทีนี้ถ้าคุณไม่ได้ทําอย่างงั้นแล้วคุณไปมองว่าคุณเชื่อโฆษณาว่าเขียนหนังสือแล้วได้ล้านนึงอ่ะคุณก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้วนะพี่จะไม่ให้ค่ากับโฆษณาแบบนี้นะเพราะพี่จะไม่ไปเรียนพี่ไม่ได้ว่าเขานะเขาโฆษณาแบบนี้แปลว่ามันอาจจะมีคนที่อยากเรียนเพื่อได้ล้านก็ไม่ผิดแต่พี่ไม่ใช่เชื่อ
กว่า 40 ปีที่พี่อ้อยเป็นบรรณาธิการมา การงานมันเข้าไปซึมอยู่ในตัวหรือชีวิตส่วนตัวพี่อ้อยแค่ไหน
พี่เพิ่งเกษียณมาปีที่แล้ว พี่ก็ยังทํางานอยู่เลยถึงพี่จะเกษียณมาแล้วนะ พี่ชอบการทํางาน พี่ชอบเรียนรู้ พี่ว่าการเรียนรู้มันทําให้เราเติบโต และคนเราไม่ควรหยุดการเรียนรู้ สำหรับพี่ว่าเป็นเรื่องจริง มันจะทําให้ชีวิตเรากลับมาสนุกอ่ะ มันจะมีสีสัน มันจะตื่นเต้น คุณจะตื่นขึ้นมาแล้วคุณจะรู้สึกแบบทําอะไรใหม่ดี คือพี่ว่าชีวิตมันต้องเป็นแบบนี้ คือพี่ก็ไม่รู้จะพูดยังไง แล้วพี่ก็รู้สึกขอบคุณนะ สําหรับพี่พี่ว่าออนไลน์เป็นเรื่องสนุกนะ มันตื่นเต้นแต่ว่าคุณต้องมีสติมาก แล้วคุณต้องไม่ไปซึมเศร้ากับมัน เพราะมันไม่แน่นอน คือถ้าพูดกันจริงๆ ออนไลน์มันสอนให้ไม่ประมาท มันสอนให้คุณต้องมีสติ มันสอนให้คุณมีอารมณที่แบบ stable มากเลยอ่ะ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
อาจจะเป็นความโชคดีนะพี่เป็นคนชัดเจน พอพี่เลือกสิ่งที่พี่รักมันทําให้เราอยู่กับสิ่งที่เรารักได้นาน เหมือนเรารักแฟนเรา สมมติมันงี่เง่าสักวันหนึ่งเรายังรักไหมแล้วเราทนมันไหม พี่ว่าความรักไม่ว่าจะในคน ในงาน ในสัตว์ ในสิ่งของมันจะให้เราก๊อกสองได้เสมอ เราจะมีความอดทนเราจะมีความขยันเราจะมีความพากเพียร และที่สําคัญที่สุดเราจะมีความเมตตาต่อตัวเราเองด้วย มันจะไม่ทําให้ตัวเองทุกข์ ถ้าเราเมตตากับตัวเราเองเราก็ต้องรักตัวเราเองเหมือนที่เรารักงานเรา ถ้าเราทํางานแล้วเราทุกข์มากนะ เราต้องถามตัวเราเองจริงๆเลยว่านี่เรายังรักงานเราอยู่หรือเปล่า มันเป็นไปไม่ได้ว่าเรารักสิ่งไหนแล้วเราทุกข์ มันต้องมีอะไรผิดไปแน่ๆ
ในโลกออนไลน์มันมักมีเรื่องมากระทบจิตใจเราเยอะแยะมาก เราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ยังไงดี
ทําไมเราต้องไปรับมือกับมันน่ะ เราเป็นเจ้าของชีวิต เราเลือกได้นะ เพราะฉะนั้นต้องมีประมาณการณ์ในการเสพสื่อ มากไปเราก็ไม่ยุ่ง อันนี้ไม่ใช่เราแล้วก็ไม่ทํา เช่น สมมติว่าตอนนี้ทุกคนบอกว่า TikTok มาแรงมาก ใครไม่ได้เข้าไปสู่โลกขอ TikTok ก็ตกกระแสแล้วแต่พอพี่ลองทำแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่พี่ก็พอ
ในยุคที่แพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ วัน และไม่สามารถคาดเดาทิศทางการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ พี่อ้อยเตรียมรับมือไว้อย่างไร
คุณต้องรับมือโดยการทํา Business model ไว้แต่ละธุรกิจของคุณ สมมติแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่เขาคาดการณ์โดยนักวิชาการว่าอีกห้าปีจะหายไป คุณจะทํายังไง? Business plan มันมีอยู่แล้วว่าหากในสาม–ปีห้าปี Business คุณจะเป็นยังไง? คุณต้องทำนาย ทุกปี หน่วยงานรัฐยังมีเลย เขาเรียกหน่วยงานความเสี่ยงประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง คุณต้องมีของคุณอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้คุณต้องหมือนมองไปข้างหน้าอยู่แล้ว แต่พี่ว่าการมองไปข้างหน้ายังยากน้อยกว่ารอดในแต่ละปีเลยนะสำหรับตอนนี้ แต่ละไตรมาสตัวเลขคุณเป็นยังไง สบายดีหรือเปล่า ตัวดําหรือตัวแดง แข่งกันเยอะมากนะออนไลน์
ถ้ามีใครสักคนมีความฝันว่าอยากเป็น บก. เขาควรจะต้องเริ่มต้นจากอะไรดีครับ
เริ่มต้นจะถามว่าตัวเองว่าจะเป็น บก. ไปทำไม? คําถามง่ายที่สุด ตั้งคําถามกับตัวเองเยอะๆ จะเป็น บก. ไปทําไม? เป็น บก. ไปแล้วจะสร้างสรรค์อะไร แล้วตัวเองจะเป็น บก. แบบไหน คําถามเหล่านี้เราต้องถามตัวเองเยอะๆ เพราะมันจะทําให้ตัวเองชัดเจน เพราะว่าการงานไม่ง่าย เวลาที่คุณมีปัญหา คุณไปเจอ คุณจะได้ตอบได้ว่า ฉันมุ่งมั่นกับอาชีพนี้จริงๆ นะ ไม่ปล่อยมัน ไม่ว่ายากแค่ไหนก็จะผ่านพ้นไปให้ได้ คนที่จะประสบความสําเร็จในสายงานนั้นต้องแข็งแรงมากมาก ต้องกัดไม่ปล่อย ต้องพิสูจน์ ต้องหนักเอาเบาสู้ ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่ายดาย เราอาจจะมองเห็นว่า โลกในสมัยใหม่ในโลกออนไลน์ได้เงินมาง่าย แต่ไม่ง่ายหรอก ในทุกความสําเร็จเขาอาจจะไม่ได้บอกคุณ เขาอาจจะโชว์แค่แบบวันที่เขาสําเร็จ แต่เขาไม่ได้โชว์ว่า กว่าที่เขาจะไปเป็นแบบนั้นน่ะ เขาผ่านอะไรมาบ้าง
ระหว่างการรักงานมากๆ แต่งานมันมาทําร้ายตัวเราเอง เราควรเลือกเดินต่อไปอย่างไรดี
ฟังเสียงตัวเองเยอะๆ เราจะมีเสียงอยู่ในใจเราหรือในหัวเราอยู่เสมอ โดยเฉพาะในความรู้สึก คือความคิดมันหลอกเราได้นะ แต่ความรู้สึกมันเป็นของจริง ฟังเสียงตัวเองสิ่งนั้นจะเป็นตัวบอกเรา เช่น เราก็ต้องเป็นคนทํางาน ตื่นมาแบบไม่อยากไปทํางาน แต่เราต้องถามตัวเองจริงๆ นะว่า ไม่อยากไปทํางานเพราะเราขี้เกียจ หรือเรารู้สึกเบื่องาน หรือเรารู้สึกเบื่อองค์กร หรือเราไม่แฮปปี้กับเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องเรา ถ้าเราตื่นมาแล้วเรามีความรู้สึกไม่อยากไปทํางานบ่อยๆ ต้องถามตัวเองและฟังเสียงตัวเองให้ชัดๆ มันจะไม่มีอะไรหลอกเราหรอก คุยกับตัวเองเยอะๆ ก็ดี ตอนนี้คนใช้ชีวิตอยู่ในโลกข้างนอกมากขึ้น เลยทำให้เรามีเวลาหาตัวเองได้น้อยลง ยิ่งเรามองข้างนอกเราก็ไม่ได้มองข้างใน ต้องหาเวลามามองข้างในตัวเอง
โลกพี่เล็กเพราะพี่ไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งวุ่นวายอะไรที่ไม่ใช่โลกของเรา เราดูโลกของเราให้ดีๆ นะ โลกของพี่ตอนนี้แคบมาคือมีพี่กับลูกสาวเป็นครอบครัวดูแลเขา โลกของการทำงานในออนไลน์ ซึ่งแค่ทํางานในออนไลน์ก็เยอะอยู่แล้ว โลกของตัวเองที่ต้องให้เวลาตัวเอง พัฒนาเรียนรู้และเติบโต พี่ไม่ค่อยไถอะไรดูมากมายนะ ถ้าไม่เกี่ยวกับการที่พี่ต้องไปเรียนรู้นะ แต่พอเวลาพี่เรียนรู้ พี่ก็จะหาความรู้ พี่ต้องฟังนะ เช่น ในโลกออนไลน์เวลามีอะไรมาจะไปนั้น มันก็จะไปในเวย์เดียวกันด้วย เช่น มาร์คเขาออกตัวบลูมาแล้วนะ จะต้องจ่ายเงินเดือนละสี่ร้อย แล้วเราก็จะเห็นฟีดแบบนี้เต็มเลย แล้วเดี๋ยวก็จะมีคนตามๆ กัน ไม่ได้เราจะต้องให้ได้ certificate
ถามตัวเองว่านี่คือโลกที่เราอยากเข้าไปอยู่ใช่มั้ย ต้องถามเองว่า เราจะจ่ายมั้ย มันมีความจําเป็นกับเรามั้ย เราต้องหาความรู้ว่าจ่ายแล้วได้อะไร ไม่ใช่ตามๆ กันไป
ยิ่งโลกข้างนอกใหญ่แค่ไหน โลกข้างในของตัวเองต้องแข็งแรงมากเท่านั้น
photo by Asadawut Boonlitsak