“เป็นนักข่าวต้องกล้าหาญ กล้าคัดค้านในสิ่งที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แม้จะเป็นคนเดียวในห้องประชุมก็ตาม” นี่คือคำพูดบางช่วงตอนระหว่างการพูดคุยกับ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตนักข่าว บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน และเนชั่น ยุค สุทธิชัย หยุ่น นั่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ซึ่งผู้บริหารสื่อหัวหลังนี้ ล่าสุดกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องเธอฐานหมิ่นประมาท หลังเธอโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กวิจารณ์การทำงานและจรรยาบรรณวิชาชีพ
ไม่ใช่เรื่องบ่อยนัก ที่สื่อมวลชนจะต้องมานั่งจับเข่า ตั้งคำถาม สัมภาษณ์ และให้พื้นที่สื่อกันเอง เพราะนอกจากที่ต่างฝ่ายจะมีพื้นที่ในการแสดงออกอยู่แล้ว หน้าที่หลักของสื่อคือการตรวจสอบอำนาจ สร้างความเป็นธรรม ยืนข้างประชาชน เพื่อสร้างสังคมที่ดีมากกว่า
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและวงการตอนนี้ ที่ความคิดแตกออกเป็นสองขั้วข้าง แบ่งขาว-ดำ ขาดตรงกลาง ซ้ำร้ายประชาชนกลุ่มหนึ่งยังกล่าวหาว่าสื่อบางสำนักไร้จรรยาบรรณ ขณะที่อีกกลุ่มเชิดชูบูชาว่าเป็นสื่อสำนักเดียวที่ปกป้อง ‘ชาติไทย’
‘สื่อต้องเป็นกลางหรือเปล่า’, ‘เลือกข้างแล้ว ทำอย่างไรได้บ้าง’ และ ‘ทุกวันนี้มาตรฐานเราเทียบกับต่างประเทศได้หรือยัง’
พูดกันให้ตรง คำถามข้างต้นเก่า ไม่ล้ำยุค และเป็นประเด็นที่เคยพูดกันแล้วเสียด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนเวลานี้ต้องกลับมานั่งไร่เรียง จับความ ถกเถียงกันเสียใหม่ และไม่ใช่เพื่อใครทั้งนั้น นอกจากเพื่อยกระดับวงการ และพัฒนาสังคม ให้สมคำสวยหรูที่เคยถูกนิยามว่าเป็น ‘ผู้เฝ้าประตู’ ระหว่างความจริงกับสังคม
ทำไมถึงเลือกออกมาวิจารณ์สื่อสำนักเก่าที่คุณเคยทำงาน อะไรเป็นจุดที่ทำให้คุณคิดว่าควรทำอะไรสักอย่าง
อันที่จริง ดิฉันไม่ได้ตามดูเนชั่นมาตั้งนานแล้ว แต่พอดีว่าแถลงการณ์จากใจผู้บริหารเนชั่น มันขึ้นหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนั้น ถ้าตามดูจะเห็นว่าดิฉันเขียนว่า ‘หวังว่าเนชั่นจะกลับมาเป็นสื่อที่มีอุดมคติของสื่อ’ ดิฉันไม่เคยเขียนด่าและยังคงให้เกียรติเสมอ
แต่หลังจากนั้นมีคลิปออกมาว่า ‘พวกที่ไม่เห็นด้วยกับเนชั่น กำลังทำลายเนชั่น และเป็นพวกชังชาติ’ ดิฉันก็เริ่มฉุน และไม่ทันขาดคำก็มีแถลงการณ์ที่บอกว่า ‘เครือเนชั่นกรุ๊ปกำลังถูกคุกคามอีกครั้ง จากกลุ่มคนที่เห็นต่างและไม่หวังดี…’ ทำให้ดิฉันโกรธมาก หน้าที่ของสื่อคือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เป็นศัตรูกับประชาชน มันบิดเบือนหลักการ เปลี่ยนขาวเป็นดำ และใช้อำนาจในฐานะสื่อบังคับประชาชนให้เชื่อ
แต่คำว่าบัดซบในข้อความดิฉันไม่ได้ด่าใคร มันเป็นความรู้สึกในใจตัวเองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ที่บอกว่าหน้าด้าน เพราะว่าคุณบิดขาวเป็นดำ บิดเบือนความจริง ทำได้อย่างไร หน้าด้าน
มองอย่างไรกับกระแสรณรงค์ให้แบนสปอนเซอร์ที่สนับสนุนสื่อ
โดยหลักการ อะไรก็ตามที่เป็นการต่อสู้ของประชาชน โดยที่ไม่มีการข่มขู่ คุกคาม ทำร้าย มันเป็นสิ่งที่ทำได้ และการรณรงค์ให้แบนสปอนเซอร์เป็นการแสดงท่าทีว่า ถ้าคุณสนับสนุนสื่อที่พร้อมจะฆ่าประชาชนร่วมชาติ พวกเราจะไม่สนับสนุนคุณ
ในสมัยก่อนนี้ ก็มีการรณรงค์ให้แบนค่ายโทรศัพท์เจ้าหนึ่ง ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ทำไมไม่เห็นมีใครพูดว่าคุณไปข่มขู่คุกคาม หรือเป็นเพราะว่าคุณรู้สึกว่าเป็น ทักษิณ เลยมีความชอบธรรมที่จะแบน
เรื่องของ ทักษิณ ยังค้องพูดกันอีกเยอะ แต่ในกรณีของสื่อ มันมีหลักการ มันเห็นกันอยู่ว่า บางรายกาารที่พวกคุณออกอากาศ มันใส่ร้ายกันหน้าซื่อๆ แล้วคุณยังกล้าพูดหรือ ว่าคุณทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน
ในฐานะสื่อเหมือนกัน ควรมีท่าที่ต่อการรณรงค์อย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นคนทำสื่อก็ไม่ควรสนับสนุนอะไรแบบนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของประชาชน อย่างเก่งเราก็ลงข่าวว่า ประชาชนกลุ่มหนึ่งรณรงค์ให้แบนสื่อหัวนี้ ก็เสนอข่าวไปตามปกติ
แต่บทบาทดิฉันในเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ในฐานะคนทำสื่อ และถ้าดิฉันเป็นสื่ออยู่ จะไม่เขียนอะไรอีกหลายๆ อย่าง พอเราไม่ใช่สื่อ เราเลยวิจารณ์ว่าสื่อทำแบบนี้ไม่ได้
และสำหรับคนทำงานสื่อเอง ควรระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบนพื้นที่โลกออนไลน์ของตัวเองด้วยหรือเปล่า
ตรงนี้น่าคิด และต่างประเทศเองก็ยังถกกันไม่จบ แต่ดิฉันคิดว่าถ้าคุณยังทำงานสื่ออยู่ ต้องระมัดระวังให้มาก สื่อมีสิทธิ์พูดและเสียดสี แต่ถ้ามันมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ต้องไม่ควรทำ คนทำสื่อควรตรองไว้ในใจเสมอว่า สิ่งที่เราทำ มันทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า
มาถึงทุกวันนี้ สื่อยังต้องเป็นกลางอยู่หรือเปล่า
มีตำราเล่มหนึ่งที่ดิฉันถือติดตัวตลอด มันชื่อว่า Elements of Journalism จะพูดถึงหลักการที่สื่อต้องทำ 10 ข้อ อาทิ สื่อมีภาระผูกพันธ์กับความจริง, สื่อต้องยืนข้างประชาชน, สื่อต้องมีหลักการชัดเจน ตรวจสอบได้ หรือ สื่อต้องมีอิสระ และตรวจสอบอำนาจอย่างสม่ำเสมอ
แต่หลักการทั้งหมดนี้ ก็ถูกตั้งคำถาม เพราะอย่างสื่อสหรัฐฯ เอง เวลาที่นำเสนอข่าวสงคราม คุณยุติธรรมจริงหรือเปล่า มีอคติเจือปนอยู่ไหม นำไปสู่คำถามถึงความเป็นกลางของสื่อ
ต่อมาก็มีคนลุกขึ้นมาพูดอีกว่า ความเป็นกลางเป็นเรื่องแฟนตาซี และคนที่โตมาในโลกยุคใหม่ เขาโตมากับโลกแห่งความหลากหลาย ไม่ใช่โลกที่ต้องฟาดฟันแบ่งแยกแบบยุคสงครามเย็น เขาเรียนรู้โดยธรรมชาติว่า ตราบใดที่ยังไปดาวอังคารไม่ได้ ก็ต้องอยู่ร่วมกันไป และจะอยู่อย่างไร ให้ไม่ต้องฆ่ากัน
เมื่อความเป็นกลางเป็นเรื่องแฟนตาซี ทำให้มีการเรียกร้องให้สื่อยอมรับว่ายืนข้างไหน ประชาธิปไตย, สังคมนิยม, ศาสนา คุณบอกไปเลย เพียงแต่ยังต้องยึดอยู่กับหลักการ ต้องไม่บิดเบือน ต้องตรงไปตรงมา แล้วอาจประกาศในบทนำเลยก่อยว่า กองบรรณาธิการยืนข้างอะไร ทำไมถึงลงบทความนี้
เวลาดิฉันสอนลูกศิษย์ก็จะบอกว่า คุณเลือกข้างทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่แปลงสาร ไม่บิดเบือน ไม่ใส่ร้าย เช่น ถ้าดิฉันเกลียดขวดพลาสติกมาก เพราะมันทำลายสิ่งแวดล้อม ดิฉันก็จะไม่บิดเบือน หรือกล่าวว่าร้ายขวดพลาสติก โดยไม่มีหลักฐานรองรับ
โลกยุคใหม่ เราต้องเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจใหม่ บางอย่างที่มันเก่าแก่ ต้องกลับมารื้อ เพื่อเข้าใจอะไรหลายอย่างมากขึ้น คนยุคนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความจริงว่าเป็นความจริงของใคร ภววิสัยล่ะ เป็นภววิสัยของใคร หรือคำว่าประชาชนที่ใช้พูด หมายถึงประชาชนกลุ่มไหน มีตั้งหลายกลุ่ม
ถ้าสื่อไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ถือว่าเป็นกลางหรือเปล่า
ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า อะไรคือความเป็นกลาง คนเราเป็นกลางได้หรือ ยืนอยู่ตรงกลางไม่เห็นด้วยกับทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ และคุณยังเป็นคนอยู่ไหม มีหัวใจของมนุษย์หรือเปล่า และถ้าไม่เลือกอะไรเลย คุณอยากจะอยู่ในสังคมแบบไหน
ความเป็นกลางเป็นเรื่องอุดมคติมาก ซึ่งถ้าทำได้ทำไปเลย ไม่มีใครห้าม แต่ให้ถามตัวเองในใจ และถ้ารู้แก่ใจว่าบิดเบือน บิดเบี้ยว ก็ยอมรับตรงๆ เถอะ
สื่อไทยชอบใช้คำใหญ่โตปกป้องตัวเอง ยิ่งช่วยการชุมนุมคนเสื้อแดง (นปช. – ผู้เขียน) ยิ่งแล้วใหญ่ อะไรๆ สื่อก็ถูกต้อง ดีงาม อาชีพสื่อดีเลิส ทั้งที่คุณทำร้ายคนตลอดเวลา แต่บอกว่าตัวเองดี
บางคนกังวลว่า การเลือกข้างจะทำให้ความเป็นมืออาชีพลดลงหรือเปล่า
ประเด็นนี้ ต่างประเทศเขาเคยถามกันมาแล้ว แต่ก็ดีถ้าประเทศไทยจะกลับมาถามอีก ต้องละลายความคิดเดิมให้หมด อย่าคิดภาพว่าการเลือกข้างคือ การเลือกเพื่อปกป้องสิ่งที่เราเชื่อ และไปทำลายอีกฝ่าย
ถ้าสื่อคุณถือข้างความคิดจารีต เชื่อประวัติศาสตร์แบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และไม่เชื่อนักประวัติศาสตร์อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ หรือ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มันก็โอเค การเลือกข้างคือเขียนและสนับสนุนสิ่งที่อยู่ในหัว ไม่เกี่ยวกับการทำข่าว
เพียงแต่คุณต้องไม่กล่าวหาว่านักประวัติศาสตร์กลุ่มที่คุณไม่เชื่อเป็นคนชั่ว หลอกหลวงประชาชน ทำลายชาติ บิดเบือนประวัติศาตร์ ถ้าคุณสร้างความเกลียดชังแบบนั้น คุณมีปัญหาแล้วล่ะ
สื่อมวลชนสามารถสนับสนุนเผด็จการได้หรือเปล่า
สื่อมวลชนที่ยืนข้างเผด็จการไม่ใช่สื่อ เพราะพื้นฐานของการทำสื่อคือเสรีภาพ เมื่อมีเสรีภาพจึงได้เสียงจากมวลชนทั้งหมด
แต่ในระบบเผด็จการ เสียงของเผด็จการเป็นเสียงเดียวที่สื่อสารได้ คุณเลยไม่ใช่สื่อสารมวลขน แต่เป็นกระบอกเสียงให้เผด็จการ
แล้วถ้าคุณอยากเป็นกระบอกเสียงให้เผด็จการได้ไหม เราไม่ใช้คำว่ามีสิทธิ์ เพราะเผด็จการไม่ให้สิทธิ์คุณตั้งแต่ต้น แต่ถ้าอยากเป็นก็เรื่องของคุณ แต่อย่าเอาความเป็นเผด็จการมาริดรอนสิทธิคนอื่น เราอยู่ในโลกยุคใหม่ เราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ใต้ร่มเผด็จการของคุณ
สื่อสามารถลงบทความที่สนับสนุนอำนาจนิยมได้ เพราะสื่อมวลชนมีหน้าที่เป็นเวทีสื่อสารของมวลชน และต่อให้เป็นสื่อที่ยืนข้างประชาธิปไตยก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องปิดกั้นเสียงคนอื่น ถ้าเขาอยากพูดต้องให้เขาพูด และค่อยมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน
มองวงการสื่อสารมวลชนไทยในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีตรงไหนที่ควรปรับ ลด เพิ่ม พัฒนาบ้างไหม
ในโลกยุคออนไลน์ที่มีสื่อพลเมืองมากมายแบบนี้ สื่อสถาบันหลัก ที่มีชื่อเสียง มีคนติดตามเยอะ อาจต้องหันมาคิดถึงตัวเองในฐานะคนทำแผนที่สังคมมากขึ้น เพราะตอนนี้หลายสื่อไม่ได้คิด และเอาแต่จะทำข่าวปิงปองโต้ไปมา ซึ่งมันไม่พอ มันต้องคิดเยอะกว่านี้
สมัยก่อนเคยมีคนเปรียบว่าสื่อเป็นตะเกียงส่องทาง ให้ปัญญากับสังคม ไม่ได้แปลว่าเราฉลาดกว่าคนอื่นในสังคมนะ แต่ประมาณว่าเราเป็นผู้นำตะเกียงไปแขวนไว้ เพื่อให้สังคมเห็นว่ามีทางตรงนี้ ตรงนั้น ให้เดินไป คนทำสื่อต้องตระหนักเสมอว่า มีคนฉลาดมากมายในโลก เราไม่ใช่คนฉลาดที่สุด แต่คนทำสื่อต้องมีปัญญา ต้องศึกษาหาความรู้ให้มาก
ถ้าในอนาคต สื่อไทยชัดเจนกับจุดยืนและอุดมการณ์มากขึ้นจะมีผลอย่างไรบ้าง
ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสื่อเป็นภาพสะท้อนของสังคม การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง หรือสื่อหัวใหม่ แปลได้ว่า คนรุ่นใหม่เติบโต และต้องการอะไรใหม่ๆ ที่เป็นเสียงของพวกเขาเอง สื่อมวลชนเติบโตไปพร้อมสังคม
ผ่านวิชาชีพสื่อมายาวนาน มองเห็นความขัดแย้งในสังคมตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนแรกเราคิดว่าคงรุนแรง เพราะว่าประเทศยังมีเครือข่ายรัฐพันลึกอยู่ และกลุ่มผู้มีอำนาจก็ไม่ยอมปรับตัวเลย
แต่พอมาเห็นความเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ เรามีความหวังขึ้น เพราะพวกเขาไม่มีท่าทีกระเหี้ยนกระหือ อยากลุกมาตีหัวคนคิดต่าง มันเป็นนิมิตหมายอันดีของคนรุ่นใหม่ที่โตมากับความหลากหลาย และในที่สุด คนรุ่นใหม่อาจรวมพลังกัน และสร้างสังคมที่คนคิดต่างเดินไปด้วยกันได้
ดิฉันไม่คิดว่ามันเป็นการผลักภาระนะ เพราะคนทุกรุ่นต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อสังคมแล้ว และเราเห็นพัฒนาการของสังคมที่หมุนไปเรื่อยๆ วงล้อของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่กับที่ ถึงแม้จะหมุนแบบเดิม แต่มันก็หมุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมันสูงขึ้น มันก็น่าจะดีขึ้น
ในฐานะที่เคยไปอบรมและทำงานในสื่อต่างประเทศ มองเห็นความแตกต่างระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างชาติ อย่างไรบ้าง
ถ้าในแง่เนื้อหา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ ทำให้นักข่าวเราทำจเรเยอะ ไม่ค่อยทำข่าวเจาะ นักข่าวต่างประเทศไม่ได้เติบโตเพื่อเป็นบรรณาธิการ แต่เพื่อไปเป็นนักเขียนที่เขียนในเรื่องที่เชี่ยวชาญ แต่ก็เข้าใจข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนและรายได้
นักข่าวต่างประเทศหลายคน เขียนหนังสือดีมาก เพราะว่าเขาค้นคว้าศึกษาอย่างจริงจัง จำเป็นมากที่นักข่าวต้องมีความรู้พอในสิ่งที่จะเขียน และอันที่จริง นักข่าวต้องทำงานสื่อสารกับนักวิชาการ ดังนั้น เราต้องมีความรู้ที่ไม่ต่ำกว่านักวิชาการ เพื่อที่จะคุยกับเขาให้รู้เรื่อง
และเขาจะพยายามปฏิบัติตามหลักการของคนทำสื่อ ไม่รับเงินจากบริษัทเอกชนเพื่อไปเที่ยว หรือไปนั่งเรือสำราญดูงาน เพราะฉะนั้น เวลาติดตามหรือขุดคุ้ยอะไร จะมีอิสระกว่า จริงจังกว่านักข่าวบ้านเราเยอะ นักข่าวไทยบางคน พร้อมจะหยุดเขียนข่าวทันทีที่แหล่งข่าวที่รู้จักกัน หรือบริษัทใหญ่ๆ โทรมาขอร้อง
นักข่าวไทยหลายคนก็ดี เก่ง และเป็นมืออาชีพ แต่อีกหลายคนก็ทำเราอึ้ง เพราะนักข่าวไทยจำนวนไม่น้อย ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ค่อยศึกษาหาความรู้ อย่างกรณีรัฐประหารปี 2549 นักข่าวบางคนเชื่อว่าตัวเองมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารเพื่อโค่นอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่นักข่าวคิดแบบนี้ไม่ได้ เราต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะเปิดโปง นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น อย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่มีอคติและบอกว่ารัฐประหารเป็นทางแก้ไขปัญหา
อย่างล่าสุด กรณีม็อบคนรุ่นใหม่ แม้ไม่ถึงขั้นเอ่ยว่าเป็นพวกชังชาติ แต่ก็มีแนวคิดคล้ายๆ กันว่า ม็อบกลุ่มนี้เป็นอันตรายของชาติ หรือบางครั้วพูดว่าเด็กมีหน้าที่เรียนให้จบมหาวิทยาลัยก่อน ดิฉันคิดว่าคำแบบนี้ ไม่น่าจะออกจากปากนักข่าวต่างประเทศ
ถ้าอยากดูมาตรฐานการทำข่าวที่ดีให้ลองดู บีบีซีไทย วิธีเขียนมันบอกแต่ fact ล้วนๆ ไม่ต้องเขียนข่าวยาวย้วย ขณะที่สื่อบางสำนักทำข่าวยาวมาก และบางทีแทบจะลอกสำนวนคดีจากตำรวจมาหมดเลย ทั้งที่ คุณแค่บอกได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น
ทำงานสื่อมายาวนานมาก สำหรับคุณอะไรคือความเซ็กซี่ที่สุดของการเป็นสื่อมวลชน
เรามองว่าการสร้างแผนที่สังคมเซ็กซี่มาก เราเป็นคนเชื่อมจุดและสร้างภาพรวมให้สังคมเห็น เหมือนกับเป็นนักผจญภัยที่เดินทางไปเห็นความจริงตรงโน้น ตรงนี้ แล้วมานำเสนอความจริงที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด
และดิฉันเองเป็นคนที่รักความรู้ยิ่งกว่าอะไรในโลก เพราะฉะนั้นหน้าที่ที่ทำให้ความรู้มีที่ยืน และลมหายใจในสังคม มันเป็นความสุขส่วนตัวมั้ง