ไล่สายตาผ่านหน้าปกสีส้ม ที่มีตัวหนังสือเขียนว่า ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเราคือ
“ในสังคมที่รากวัฒนธรรมอำนาจนิยมชอนไชฝังรากลึก และที่ทางของคนเห็นต่างมีเพียงเรือนจำ ความหวังคืออะไร?”
ก่อนที่เราจะรู้ต่อมาว่าเนื้อหาที่อัดแน่นข้างในคือ งานเขียนเชิงสารคดี คำถามที่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติคือ
“งานเขียนสารคดี.. ในโลกยุคอินเตอร์เน็ตที่ความเร็วคือพระเจ้าน่ะหรือ?”
ชื่อของ อีฟ-ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย อาจไม่ได้ป็อปปูล่านักในหมู่คนทั่วไป แต่ในแวดวงนักเขียน นักอ่าน สื่อสารมวลชนแล้ว ปาณิสนับว่าไม่ใช่คนอื่นไกล เธอคือดาวจรัสแสง นักเขียนสารคดีมือทอง นักสัมภาษณ์ติดทำเนียบท็อปเทน และผลงานวิจัยระดับปริญญาโทที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเรื่อง ‘อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่’ ตลอดจนบทบาทพิธีกรที่ยกประเด็นเข้มข้นมาคุยกันยาวๆ ผ่านทางเพจเนื้อหาเข้มข้นอย่าง the101world
แน่นอนว่าคนที่เคยอ่านงานหรือรู้จักมักคุ้นย่อมไม่มีใครสงสัยในฝีมือของปาณิส แต่อย่างที่เขียนไว้ในช่วงต้นว่าคำถามมันเริ่มต้นเมื่อหนังสือปกสีส้มชื่อ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ อยู่ในมือเรา
ความหวัง งานเขียนสารคดี ตัวตน ความคิด และการเติบโตของปาณิศ คือเนื้อและหนัง ปัญหาและประเด็นที่เราอยากรู้ และชวนปาณิศมาคุยกันยาวๆ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
ล่าสุดเพจ ‘รองขาโต๊ะ’ เพิ่งรีวิวหนังสือคุณและได้คะแนนดีด้วย รู้สึกอย่างไรบ้างที่หนังสือเล่มแรกได้รับการรีวิว
ตอนแรกก็คิดในใจจะรอดไหม เพราะเวลาทำงานเราอยู่กับตัวเอง ลงพื้นที่ เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ สังคมมองเรื่องนี้อย่างไร หรืองานสารคดีของเราจะไปสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไรได้บ้าง แต่พอเห็นเขารีวิวแล้วก็รู้สึกว่าพอมันไปสู่คนอ่านก็ไม่ใช่งานของเราแล้ว ดีใจที่พอลูกคลอดออกมา คนอื่นยังมองว่าลูกเราพอใช้ได้อยู่
ทุกวันนี้ก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนเต็มตัวหรือยัง
เรามองตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่เขียนหนังสือ และเล่าเรื่องด้วยวิธีการไหนก็ได้มากกว่า คำว่านักสัมภาษณ์หรือนักเขียน มันเป็นแค่วิธีการว่าเราจะเล่าเรื่อง เข้าถึงข้อมูลแบบไหน
ทำไมถึงเลือกงานเขียนสารคดี
สมัยเราเรียนนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเรียนทำข่าวมาเยอะมาก และก็พบว่าตัวเองไม่ชอบการทำข่าวเลย การทำข่าวประเภทไปหน้างานแล้วมาสรุปว่าใครทำอะไร ที่ไหนแล้วก็จบ เรารู้สึกว่าหน้าที่เรามันแค่นี้เองหรอ เราจะเขียนแค่นี้หรอ หนังสือก็อ่านมาตั้งเยอะ เรื่องที่อยากจะเล่าก็มี เพราะบางครั้งที่ไปทำข่าวหรือลงชุมชนสมัยนักศึกษา เรารู้สึกว่ามีบางประโยค บางแววตาของชาวบ้านกระทบใจเรามาก แต่เราไม่สามารถเล่าลงไปในข่าวได้
อีกอย่างเราเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรม และรู้สึกว่าเรื่องเล่ามันมีพลังของมัน เราเลยคิดว่าสารคดีมันเป็นเส้นตรงกลางระหว่างการใช้ภาษาของวรรณกรรมกับการเล่าข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง และมันเป็นข้อท้าทายที่เราทำอย่างไรที่จะเล่าข้อเท็จจริงนั้น ออกมาให้มันกระทบใจคนได้ อยากให้คนรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก
จากวันแรกที่เข้าเป็นเด็กฝึกงานที่นิตยสาร Writer จนมาออกหนังสือเล่มแรกของตัวเอง รู้สึกตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนมาก สมัยเรียนเราเป็นเด็กกะโปก ชอบคิดว่าตัวเองเก่งเป็นที่หนึ่งในตองอู (หัวเราะ) วิชาเขียนนี่มาเลย แต่พอไปทำงานที่ Writer ก็ได้เจอพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) พี่ต้อ (บินหลา สันการาคีรี) เขาจับเราโยนลงน้ำเลย
จำได้ว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกที่ได้ทำคือไปสัมภาษณ์ ประภัสสร เสวิกุล (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2558) นักเขียนรุ่นใหญ่และศิลปินแห่งชาติ เราเตรียมคำถามไปแค่ 10 ข้อ ปรากฎว่าสัมภาษณ์ได้ครึ่งชั่วโมงหมดคำถามแล้ว เราเลยรู้ว่าพอมาเจอโลกทำงานจริงๆ เราไม่เก่งอะไรแล้ว เราพบว่าตัวเองเป็นคนทื่อ ความคิดไม่แหลมคม
แต่ว่าพอทำงานไปเรื่อยๆ ได้สัมภาษณ์เยอะขึ้น ลงพื้นที่มากขึ้น มันก็เชฟความคิดเราไปได้ดี เลยคิดว่าการที่ได้ฟังคนมากขึ้น เห็นคนมากขึ้น มันก็ทำให้เด็กคนหนึ่งที่เคยคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลกแล้ว พบว่าตัวเองไม่ได้รู้อะไรเลย และยังอยากจะรู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ อยากเหลาความคิดตัวเองให้แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้วิธีการสัมภาษณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร
วิธีการสัมภาษณ์มันไม่เหมือนกัน ถ้าสัมภาษณ์แบบนั่งคุยก็จะเตรียมเยอะหน่อย บางทีก็ 20-30 คำถาม แต่ถ้าเป็นบทสัมภาษณ์เชิงชีวิต เราไม่รู้หรอกเขาจะตอบว่าอย่างไร เราก็จะวางโครงเอาไว้ และคำถามก็เป็นไปตามเรื่องเล่าของเขา แต่ถ้าสัมภาษณ์นักวิชาการหรือประเด็นเชิงสังคมหน่อยก็ต้องวางโครงที่แข็งแรงหน่อย แต่ถ้าเชิงสารคดี ชนิดเจอกันและคุยเดี๋ยวนั้น เราก็ไม่ได้วางอะไร คุยเลย
เห็นคุณเขียนถึงวรพจน์และบินหลา สองคนนี้มีอิทธิพลกับคุณมากไหม
เรามีอาจารย์ในงานเขียนอยู่ 3 คน คนแรกคือพี่ต้อ คนนี้เป็น บก.ใหญ่ ของ Writer และก็สอนเราทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และการเขียนหนังสือ มันมีประโยคนึงจำได้แม่นเลย เราส่งงานเขียน ‘40 ปี 14 ตุลาฯ’ ให้เขาและเขียนขึ้นต้นด้วยเรื่องที่ทุกคนบนโลกรู้อยู่แล้ว ประมาณว่าอายุ 40 ปีก็เทียบเหมือนชายหนุ่มที่ผ่านโลกมาเยอะ ตอนนั้นก็คิดว่าตัวเองเท่ที่สุดแล้วนะ
แต่พี่ต้อบอกว่าเวลาขึ้นต้นเรื่อง อย่าขึ้นด้วยเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว เช่น คนเราเกิดมาต้องตาย แมวมีสี่ขา พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก มันเหมือนคนที่ยังนึกไม่ออกว่าตัวเองจะเล่าอะไร เลยพูดในสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ซึ่งมันทำให้งานเขียนเราไม่แตกต่างและซ้ำซากจำเจ เขาบอกให้เราลองตัดย่อหน้าแรกที่เขียนทิ้งไป และจะพบว่าย่อหน้าที่สองมันขึ้นต้นได้ นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พี่ต้อสอน
พี่ต้อเขาจะตรวจต้นฉบับด้วยปากกา เป็น บก.ยุคเก่า แดงเต็มหน้ากระดาษเลย ซึ่งดีมาก บางคำบางประโยคที่เราคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปในทางนี้ได้ พี่ต้อก็สอน
ส่วนพี่หนึ่ง สอนเราเยอะเรื่องการสัมภาษณ์ แกทำให้รู้ว่าวิธีการจะฟังคนให้ได้นานๆ มันทำอย่างไร จริงๆ แล้วการฟังคนพูดอะไรยาวๆ มันยากนะ เราต้องมีสมาธิอยู่กับมัน และต้องอดทนพอที่จะฟังบางเรื่องที่ไม่เข้าประเด็นที่เตรียมมาได้ เพราะอาจนำประเด็นนั้นไปใช้ต่อได้
ทั้งคู่ก็สอนเรื่องรสนิยมการใช้ชีวิต ให้กินเหล้าเป็น กินอาหารที่ดี รู้จักการเดินทางที่เป็นการเดินทางจริงๆ เพราะเมื่อก่อน Writer มันเล็กมีไม่กี่คน ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย
คนที่สามคือ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ (บก.อำนวยการ the101world) เขาจะไม่เหมือนสองคนแรกที่ออกฟีลนักเขียน เพราะเขาเคยสอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเป็นนักวิชาการแบบเข้มงวดและมีวิธีคิดที่เป็นระบบมาก
ก่อนนี้ เราเหมือนคนที่ไหลเป็นน้ำมา ชีวิตล่องลอย คิดว่าตัวเองชิวๆ แต่ ปป. (หัวเราะ) เราเรียกแกแบบนี้ อาจารย์ปกป้องจะเชฟให้มันเข้ารูปเข้ารอยกว่าเดิม คือมึงจะเป็นศิลปินก็ได้ ไหลเป็นน้ำก็ได้ แต่ต้องไม่หลุดประเด็น ทำให้มันคมขึ้น ไม่ใช่ว่าเขียนหนังสือดีอย่างเดียว แต่ประเด็นไม่มีอะไรเลย
อาจารย์ปกป้องก็โยนเราลงน้ำเยอะมากเหมือนกัน อย่างตอนไปฮ่องกง เขามาถามว่าใครอยากไปฮ่องกงไหม และพอเราบอกว่าจะไป พอคุยประเด็นกันเสร็จ แกก็จองตั๋วให้ไปเลย
เรื่องประเด็นอาจารย์ปกป้องจะแม่นยำมาก และแกก็มีแว่นที่ใช้มองโลกหลายแบบ มองด้วยเลนส์เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา แกสอนให้เราหยิบแว่นใหม่ๆ มาจับเพื่อมองประเด็นมากขึ้น
ถึงมันจะดูน่าหมั่นไส้นะ แต่เรารู้สึกว่าหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ใครสักคนเก่งขึ้นมาได้คือการได้เจออาจารย์ที่ดี และเราสูบเลือดเนื้อจากเขามาเยอะๆ มันจะช่วยเราได้
เห็นว่าอีกคนที่เขียนถึงคือ อุทิศ เหมะมูล
พี่ม่อน (อุทิศ เหมะมูล) เป็นหนึ่งใน บก. Writer ยุคหลังพี่ต้อและพี่หนึ่ง พี่ม่อนเป็นนักเขียนที่วิเศษมากคนหนึ่งในประเทศไทย ประเทศไทยโชคดีที่มีนักเขียนแบบเขา เราได้อ่านหนังสือก่อนมารู้จักกัน เรื่อง ‘ลับแล-แก่งคอย’ มันงดงามมาก
พอเขามาเป็น บก. เขาก็สอนวิธีเขียนหนังสือ เช่น เวลาเราจะเล่าว่าใครโกรธ มันไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจบ แต่ต้องบอกให้ได้ว่าโกรธอย่างไร โกรธแบบกำหมัดแน่นแต่หน้าเฉย หรือโกรธแบบตะโกนโวยวาย หรือโกรธแบบน้ำตาไหลที่หางตาและหน้าแดง รายละเอียดแบบนี้มันจะทำให้งานเขียนเราแตกต่างจากคนอื่น
แกไม่ได้ตั้งใจสอน มันเป็นไปเองโดยการทำงานด้วยกัน ได้เรียนรู้เยอะมากว่าการสร้างเรื่องเล่าให้เป็นรูปร่างขึ้นมาจริงๆ มันมีพลังมาก เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก
พี่หนึ่งเขียนไว้ในคำนิยม บอกคุณเป็นนักฟังหูเหล็ก อยู่ในวงเหล้าได้ถึงเช้า สุรา วงเหล้า การสนทนาเหล่านี้เชื่อมโยงกับคุณอย่างไรบ้าง
ก็ไม่ถึงเช้าขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ) เราได้อะไรเยอะจากวงเหล้า แต่บางทีก็ไม่ได้ ตอนคุยกัน ‘โอ้โห!’ บทสนทนานี้ดีมาก ตื่นเช้ามาลืมหมดก็มี บางบทสนทนาที่ลงลึก มันจะไม่เกิดขึ้นถ้ามวลอารมณ์ไม่ถึงจุดนั้นจริงๆ ซึ่งวงเหล้ามีคุณสมบัติแบบนั้น แต่มันแค่จุดหนึ่งเท่านั้น ถ้าเกินกว่านั้นมันก็ไม่ได้ มันเป็นแค่ชั่วขณะบทสนทนาเท่านั้น ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ก่อนหน้ายังไม่เมาก็มีเขินๆ กันอยู่ แต่พอเมาได้ที่เหมือนน้ำเดือดมันจะดี
เราเลยคิดว่าถ้าหาชั่วขณะที่งดงามของวงเหล้าได้ มันก็จะได้ฟังชีวิตหรือเรื่องเล่าที่เวลาปกติไม่ได้ฟัง ชีวิตปกติมันไม่มีแบบ “เห้ยๆ มึง” และเขาก็พูดสิ่งที่คมสัสๆ ออกมา ซึ่งคนเรามันไม่ทำแบบนั้น วงเหล้ามันก็มีช่วงเวลาที่บ่มเพาะบรรยากาศสนทนาที่เวลาปกติไม่เกิดขึ้น
ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังแต่เพียงผู้เดียว อธิบายคำนี้ให้ฟังหน่อย
ชื่อนี้ต้องยกเครดิตให้ทาง บก.แซลมอนบุ๊คส์ คือดี (ธีรภัทร์ เจนใจ) กับพี่กาย (ปฏิกาล ภาคกาย) มันเริ่มต้นจากงานเขียนเราชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้รวมอยู่ในเล่มนี้ มันชื่อว่า ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของแม่น้ำโขงแต่เพียงผู้เดียว’ เลยมานั่งคิดชื่อเรื่องกัน และพบว่าจุดร่วมในเรื่องเล่าทั้งหมดคือ เรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยที่หวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่โดนสารพัดบนโลกใบนี้กดไม่ให้มีความสุข หรือไม่ให้มีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น
มันสำคัญมากนะที่ความหวังควรเป็นของทุกคน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งหมดหวัง ส่วนอีกคนได้ทุกอย่างที่ตัวเองต้องการไป มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เลยออกมาเป็นชื่อ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’
แต่เรื่องที่เล่าอยู่ในเล่มนี้ไม่ว่า สถานการณ์การเมืองในฮ่องกง ทวาย หรือไทยเอง คล้ายดูไม่มีความหวังเสียเท่าไร
ทุกเรื่องมันดูเหมือนจะไม่มีหวัง แต่สิ่งสำคัญคือเราเชื่อไหมว่ายังมีความหวังอยู่ ทุกอย่างมันเลวร้าย ทุกเรื่องที่เราเขียนถึงมันเศร้ามาก แต่เพราะแบบนั้นความหวังมันถึงสำคัญ
เคยมีคนเขียนถึงความ ‘สิ้นหวัง’ ไว้ว่ามันคืออาหารอันโอชะของเผด็จการ กลุ่มทุน หรือคนที่ได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
เราเคยตีต้นไมยราบไหม พอเราตีเสร็จมันจะหุบแล้วสักพักมันจะบานขึ้นมาใหม่ เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราถูกตีแล้วเราหุบ ถ้าเราไม่คลี่ออกมาใหม่ คนตีมันก็สบายใจ ดังนั้น เราควรจะเป็นต้นไมยราบที่คลี่ออกเสมอ เราควรจะเป็นดอกไม้ที่ผลิดอกใหม่เสมอ เพื่อบอกโลกนี้ว่ามันยังมีความงามเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ แค่คนยังมีหวัง คนที่มันอยู่ในอำนาจมันก็อยู่ไม่สุขแล้ว แต่ถ้าเราหมดหวัง คนพวกนั้นก็อิ่มเอม สบายใจ
แม้แต่ประเทศไทยเราเองมันดูอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ได้เลย แต่ว่าความหวังในใจคนทุกคน สักวันหนึ่งมันจะเปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งหมดหวังกัน
ภาพตอนนั้นที่ไปฮ่องกง และพอกลับมาดูสถานการณ์บ้านเราตอนนี้ คล้ายกันไหม
ทั้งคล้ายและไม่คล้าย ที่คล้ายคือผู้ชุมนุมฮ่องกงเกลียดตำรวจมาก เกลียดเสียจนกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับตำรวจเสียยิ่งกว่าคู่ขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเอง เพราะตำรวจเขาทำกับผู้ชุมนุมไว้เยอะ และประเทศไทยก็กำลังเดินไปถึงจุดที่ใกล้กับฮ่องกงทุกทีคือ คู่ขัดแย้งเริ่มกลายเป็นประชาชนกับตำรวจ ซึ่งที่จริง ตำรวจก็เป็นเหยื่อของอำนาจรัฐ แต่ตัวเขาเองก็ควรจะกล้าออกมายืนหยัดในฐานะประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องยากมากกับคนที่อยู่ในกลไกรัฐแบบนั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งไทยและฮ่องกงกำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่มาก ใหญ่เสียจนมองไม่เห็นสุดปลายมือของสิ่งที่กำลังบังเงาเราอยู่ สมมุติเราเป็นคนตัวเล็กๆ เราไม่รู้ว่าปลายนิ้วของยักษ์ไปสุดที่ตรงไหน แต่ว่าในหัวใจคนที่ต่อสู้กับยักษ์ มันเป็นหัวใจที่ใหญ่มากเหมือนกัน แต่ในเชิงรูปธรรมมันยากเหมือนกันทั้งคู่
มีเรื่องไหนที่อยากเล่าแต่ถูกตัดออกไปไหม หรือเรื่องเล่าที่อยากเล่าแต่ตอนนี้ขอเก็บไว้ก่อน
มีเรื่องที่อยากเล่าแต่ยังไม่ได้เขียนออกมา แต่ทำเป็นวีดีโอออกมา คือมันมีประมาณ 3 ตำบลในอำเภอปราณบุรีที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ทางทหารและมีกฎหมายที่ค้างคามาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นคลุมอยู่ เพราะเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนั้นเป็นของคอมมิวนิสต์ เขาเลยกลัวคนเคลื่อนย้ายไปมา แต่ตอนนี้มันไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว ชาวบ้านก็ยังไม่สามารถติดตั้งไฟฟ้าได้ เพราะต้องไปขออนุญาตจากทหารก่อน เรายังจำความรู้สึกที่ไปนั่งกินข้าวบ้านผู้ใหญ่บ้าน และคนในหมู่บ้านมานั่งรวมกันเพื่อดูทีวีบ้านผู้ใหญ่เพราะเป็นบ้านเดียวที่มีเครื่องปั่นไฟ
พอเสร็จเราก็ขับรถออกมาจะกลับที่พัก แต่ระหว่างทางเจอทางแยกซึ่งมองเข้าไปเหมือนอยู่ในอวกาศ มันมืดสนิท ไม่เห็นแม้มือตัวเอง เราก็คิดในใจว่านี่มันคือที่ไหน มัน พ.ศ. อะไรแล้ว ประเทศเรายังมีสิ่งนี้อยู่ได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่อยากเล่า
ในฐานะนักเขียนสารคดี มีครั้งไหนที่ลงไปแล้วใจสั่นไหม ทั้งด้วยความอันตรายและตื่นเต้น
ครึ่งหนึ่งที่ลงไปเขียนเรื่องโสเภณี มันมีห้องเช่าหลังหนึ่งราคา 40 บาท เป็นเพิงสังกะสี ตอนนั้นพี่ช่างภาพเขาก็อยากได้ภาพข้างใน แต่มันแน่นอนอยู่แล้วว่าเขาไม่ยอมให้เข้าไปถ่ายหรอก เพราะว่ามันผิดกฎหมายทั้งหมด โสเภณีก็ผิดกฎหมาย ที่พักก็เป็นเพิงเฉยๆ คนคุมเขาก็ดุมาก ระหว่างที่ลงพื้นที่มันก็มีเจ้าถิ่นที่คุมอยู่ เราก็ไม่รู้ว่าไปแตะโดนคนของเขาหรือปล่าว
วิธีการได้ภาพอันนี้มาเราตื่นเต้นอยุ่นะ แต่เราไม่ขอเล่าละกันว่าได้ภาพมาอย่างไร
มีครั้งไหนไหมที่โครงงานเขียนที่เตรียมมาต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย
น้อยนะ แต่มีครั้งหนึ่งที่ไปเขียนเรื่องสารคดีสนามมวย ตอนแรกก็คุยกับคนที่ดูแล เขาก็จะอารมณ์นักเลงหน่อยๆ เราขอเขาเข้าไปถ่ายรูป เก็บบรรยากาศ มาเขียนสารคดี พี่เขาบอกว่า “ได้ แต่น้องต้องนั่งอยู่เฉพาะโซนที่พี่จัดให้นะ” ปรากฎว่าโซนที่เขาจัดให้เนี่ย มันไกลแบบไม่เห็น***อะไรเลย มันคือเขาให้เราเข้าไป แต่ไม่ให้เราทำอะไรนั่นแหละ เราก็ต้องหาวิธีทาง หาเซียนมวยมานั่งคุยด้วย ภาพก็ต้องใช้ศิลปะในการถ่าย สุดท้ายมันก็ออกมาดี โดยไม่มีปัญหาอะไรกับพี่การ์ด
จริงๆ ถ้าจะขออนุญาตเข้าไปถ่ายข้างใน มันต้องส่งจดหมายขออนุญาตยิ่งใหญ่มาก แต่การทำสารคดีมันมีวิชามารเพื่อให้เราเข้าไปถึงที่ๆ อยากเข้าเยอะ แต่เราคิดว่าถ้าออกสื่อมันจะไม่ค่อยดี (หัวเราะ)
แบ่งปันนิดหนึ่งได้ไหม คงมีหลายคนที่อยากเรียนรู้แน่ๆ
เอาเป็นเทคนิคคุยกับคนละกัน เพราะวิชามารที่ทำ มันเดือดร้อนหลายคน ไม่ใช่แค่เรา มันมีคนที่ช่วยเราอยู่
วิธีเข้าถึงคนคือ อย่ารีบเข้าประเด็น ให้พูดเรื่องที่มันไร้สาระที่สุดเท่าที่จะไร้สาระได้ อย่างเช่น เราไปสนามมวยจะมีป้ายืนขายน้ำใบบัวบกอยู่ด้านหน้า ป้าคนนี้รู้เรื่องดีที่สุด เพราะขายเป็นสิบปีแล้วและพวกเซียนมวยก็จะมานั่งคุยกับป้าตลอด สูตรเบสิคมาก ลำดับแรกซื้อน้ำ (หัวเราะ) อันนี้เบสิคมากไม่ว่าจะทำอะไร ต้องซื้ออะไรสักอย่างจากเขา ทำเรื่องป้าขายลูกชิ้นถึงไม่อยากกินก็ต้องซื้อลูกชิ้น ซื้อน้ำแล้วก็ขอป้านั่งคุยด้วย ถามเขาว่าขายดีไหม ถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน เห็นอะไรซอกแซกไป ทำให้เขาเอ็นดูเรา ทำให้เขารู้สึกว่าเล่าเรื่องให้เราฟังไม่เป็นพิษเป็นภัยหรอก
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไปหลอกเอาทุกอย่างแล้วทิ้งเขาไร้เยื่อใยนะ ก็คุยแบบที่มนุษย์อยากคุยกับมนุษย์จริงๆ ใจเราต้องอยากคุยก่อน และค่อยเป็นค่อยไป ต้องไม่รีบ ไม่ใช่ว่าให้เวลาป้า 10 นาทีแล้วก็จะไปที่อื่นแล้ว ให้มันเป็นธรรมชาติ นั่งไปเรื่อยๆ นี่คือวิธีคุยกับคนแปลกหน้า
อีกวิธีหนึ่งคือ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เราจะทำตัวเองเป็นเสารับสัญญาณ สมมุติเรามีประสาทสัมผัส 5 อย่าง พอไปถึงพื้นที่ก็ปล่อยตัวเองเหมือนข้างในว่างเปล่า ทำเหมือนเราเจอสิ่งนี้เป็นสิ่งแรก มองเห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร หูได้ยินอะไร มือสัมผัสกับอะไร รับสัญญาณมาให้หมด และเอามาเรียงไว้ในหัว มันจะมาได้ใช้ประโยชน์ตอนเราเขียน อย่างตอนเดินเข้าไปในสนามมวยมันก็มีกลิ่นน้ำมันมวย ตรงนี้คือเสารับสัญญาณของเรา
อย่ามุ่งหน้าว่าเราอยากได้ประเด็นอะไร แต่ทำตัวเองให้เป็นเครื่องรับสัญญาณ ทำตัวเองให้สบาย อย่าไปเครียด เครียดเมื่อไร งานพัง
ในการเขียนงานแต่ละชิ้น เฉลี่ยแล้วลงพื้นที่กี่ครั้ง
แล้วแต่นะ ถ้าต่างประเทศก็ลงครั้งเดียว (หัวเราะ) แต่อาจจะหลายวันหน่อย ถ้าชิ้นในประเทศอย่างต่ำก็สองครั้ง
ที่อยากถามคือว่า ในยุคนี้ที่ทุกอย่างมันรวดเร็วขึ้นมากด้วยเทคโนโลยี ทั้งนักเขียนและนักข่าวเองถูกจำกัดด้วยความรวดเร็ว มันเป็นความท้าทายต่องานสารคดีไหม
ก็มีน้อยใจนะบางที อารมณ์ลงทุนลงแรงตั้งเยอะ ยอดไลค์นิดเดียวเอง เห็นบางงานไม่เห็นต้องลงไปตากแดดตากลมเหมือนเราเลย ทำไมยอดไลค์เยอะจัง
แต่ไม่เป็นไรก็เขียนงานไป เรารู้สึกว่าคุณค่าของมันไม่ได้อยู่ที่ยอดไลค์ ไม่ใช่ว่ายอดไลค์ไม่มีควาหมายนะ ถ้ามันเยอะเราก็มีความสุข แต่ถ้าเราหาแก่น หาความหมายของงานที่เราทำเจอจริงๆ เราจะไม่คิดมากเลย
เราได้ส่งเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ใช่นักบุญที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เรามีความสุขที่ได้ทำงานแบบนี้ เหมือนนักบอลก็มีความสุขกับการได้เตะฟุตบอล เรารู้สึกว่านักเขียนสารคดีก็มีความสุขกับการได้เล่าเรื่อง ก็เลยคิดว่ายอดไลค์น้อยก็ไม่เป็นไร แล้วการทำงานหนักจะเป็นไรไป ถ้าเราจะทำงานหนัก มันก็ควรจะมีงานที่ดีและเข้มแข็งออกมาในสังคม
ก่อนหน้านี้ 2-3 ปี เวลาที่เราอ่านงานในโลกออนไลน์ เราเคยรู้สึกว่าทำไมหลายๆ งานมันบางเบาจังเลย อยากอ่านอะไรที่มันถึงเนื้อถึงหนังกว่านี้ เราก็เคยบ่นลงในเฟสบุ๊ก อาจารย์ อริน เจียจันทร์พงษ์ ที่เคยสอนเราที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแกก็มาคอมเมนท์ว่า “ถ้่าคุณคิดว่างานคนอื่นมันบางเบา คุณก็เขียนมันขึ้นมาเองสิ”
เราก็เออวะ เราอยากอ่านงานแบบไหน เราก็ต้องทำงานแบบนั้นออกมา ดังนั้น มันก็ไม่เป็นไรหรอกที่มันจะเหนื่อย เพราะมันก็สนุกดี
ความรวดเร็วของโลกออนไลน์ส่งผลกับงานเขียนสารคดีมากไหม
ในโลกออนไลน์เราอาจต้องรีบทำงานและลงตามกระแส หรือเขียนเสร็จแล้วก็ไม่ต้องมารอนิตยสารปิดเล่ม แต่เราก็คิดว่าหยุดเดินช้าบ้างก็ได้มั้ง คนอื่นเขาจะเร็วก็เร็วไป เราคิดว่าบางเรื่อง ถ้าช้าแล้วมันดี ทำไมเราถึงจะไม่ช้าล่ะ
ทุกวันนี้ งานสารคดีถือว่าคนทำน้อย แต่ว่าก็ออกมาดีทั้งนั้นเท่าที่ผ่านตามา
มีคนฝากถามมาว่า หลังจากนี้มีโปรเจคท์อะไรต่อไป
ก็ทำงานประจำที่ the101world เนอะ (หัวเราะ)
จริงๆ ก็แอบคิดว่าอยากทำหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ เพราะก็สัมภาษณ์คนมาเยอะอยู่ แต่ไม่รู้ว่าใครเขาจะพิมพ์ และอยากมีรวมความเรียง แต่ตอนนี้มันก็ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างขนาดนั้น
แต่สิ่งที่อยากทำจริงๆ คือจะเป็นสื่อจนกว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยนั่นแหละ เราเคยคุยกับเพื่อนในกองว่า ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย เราอาจไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ไหม คือมันมีประเด็นให้เราต่อสู้เยอะมาก จนต้องมาทำประเด็นเรื่องความอยุติธรรม ความเผด็จการ อำนาจนิยมในประเทศนี้เยอะมาก เพื่อต่อสู้ให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย มันเลยทำให้งานมันมีเรื่องให้เล่า มีเรื่องให้เปิดเผย วิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก
นั่นแหละ คงจะทำสื่อ เขียนหนังสือ เล่าเรื่องจนกว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ และถึงวันนั้น มันก็คงมีเรื่องให้เราเล่าอีกนั่นแหละ ก็คงทำต่อไป
Photograph By Asadawut Boonlitsak
Illustrator By Sutanya Phattanasitubon