ถ้าให้เวลา 10 วินาที นึกดูว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ผลงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่คุณถูกใจที่สุดคืออะไร…… นึกออกไหม?
แต่ในมุมของผู้เขียน ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและรัฐบาลไทยทั้งองคาพยพถือว่าท็อปฟอร์มด้านดิจิทัลอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ความหละหลวมทางความปลอดภัยไซเบอร์ ปล่อยแฮกเกอร์นาม 9near เจาะฐานข้อมูลขโมยข้อมูลประชากรกว่า 55 ล้านคน หรือวางท่าทำตัวเหมือนกระทรวงความจริงในนิยายเรื่อง ‘1984’ ปิดกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส ด้วยข้อหาเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ
ในวาระที่พรรคก้าวไกลกำลังจัดตั้งรัฐบาล (และขอให้สำเร็จ) The MATTER ได้นัดคุยกัน เท้ง—ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, ทีมงานก้าว Geek. และชายที่ถูก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ วางตัวให้เป็นว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เราคุยกับเขาตั้งแต่ทิศทางของกระทรวงดิจิทัลในมุมของเขา ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าแฮกเกอร์เรื่อยไปจนถึงปัญหาข่าวปลอม เขามีมุมมองต่อปัญหาต่างๆ อย่างไร อ่านได้ในบทสัมภาษณ์นี้
ถามก่อนว่าเปิดกลุ่มก้าว Geek มาได้ประมาณ 2 อาทิตย์เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ในกลุ่มค่อนข้างแอคทีฟ ช่วงแรกเส้นกราฟจำนวนผู้เข้ามาใหม่ชัดมาก แต่ตอนนี้เริ่มลดลงแล้ว ตอนนี้มีสมาชิกเกือบประมาณ 200,000 คน แต่คนที่แอคทีฟจริงๆ ออนไลน์พร้อมกันในช่วงกลางคืนประมาณ 40,000 – 50,000 คน เป็นอะไรที่ค่อนข้างหลากหลายครับ
แล้วทำไมถึงเป็น discord
แรกเริ่มอยากตั้งกลุ่มทำงานที่สามารถคุยได้ทั้งคนในคนนอก และสามารถแยกเป็นห้องๆ ได้ เพราะบางทีมันหลายกลุ่มแล้วอาจจะปนกันได้ ตอนแรกก็ว่าจะใช้ slack แต่พอเปิดห้องปุ๊ป ทุกคนเข้าไปถล่มจนบ้านแตกเลย (หัวเราะ) ถ้าจะอธิบายสำหรับคนที่ไม่รู้จัก discord มันเป็นเครื่องมือที่คล้าย slack แต่ผมมองว่าเปิดกว้าง รองรับคนได้มากกว่า slack ที่สำคัญที่สุด มันฟรีด้วย
(อ่านเรื่องแอป slack และ discord ได้ที่: แนะนำ 5 แอปพลิเคชั่นไว้ติดต่อคุยงาน แบบแชตไม่หาย ส่งไฟล์เก็บไว้ได้ตลอด)
เข้าใจว่าข้างในมีการพูดคุยกันเยอะมาก จะมีการนำความเห็นและข้อมูลที่ได้ไปทำอะไรบ้าง
ต้องบอกก่อนว่าที่ก้าว Geek มันเดินมาได้ ไม่ใช่เพราะผมหรือทีมดิจิทัลฮับของก้าวไกล แต่ถ้าเข้าไปดูในกลุ่มจะเห็นว่ามีอาสาสมัครที่มาคอยโมเดอร์เรเตอร์ข้อความ ภาพที่อาจคุกคามทางเพศ หรือดูถูกดูแคลนคนอื่น รวมถึงพัฒนาบอทที่คอยโมเดอร์เรตเนื้อหาโดยอัตโนมัติ ซึ่งตอนต้นเองๆ เราก็เคยโดนบอทจู่โจม แต่ตอนนี้จัดการเรียร้อยแล้ว
ตัวอย่างของข้อคิดเห็นที่ถูกนำมาใช้เป็นรูปธรรมที่สุดคือ ทฤษฎีปลอกกระสุน ซึ่งใช้ข้อมูลที่ได้จากการเลือกตั้งมาวิเคราะห์ดูว่า ในระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่ผ่านมา มีร่องรอยการซื้อเสียงที่ไหนบ้างโดยใช้ใช้ตัวเลขทางสถิติมาวิเคราะห์
แล้วนอกจากก้าว Geek ใน discord กลุ่มก้าว Geek ในพรรคก้าวไกลมีใครบ้าง
มี วรภพ (วิริยะโรจน์), เอิร์ธ – ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, อดีต ส.ก.ปาล์ม – นิธิกร บุญยกุลเจริญ แล้วก็ยังมีภาคส่วนจากโลกเอกชนที่เคยเป็นผู้สนับสนุนตั้งแต่อยู่พรรคอนาคตใหม่ ก็จะอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ด้วย
แล้วสำหรับก้าว Geek ในพรรคก้าวไกล ทำอะไรไปแล้วบ้าง
พวกเราได้โจทย์จากพี่ทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) มา สิ่งที่เขาอยากรู้คือถ้าประชุม ครม. นัดแรกกางออกมา สมมติมีงาน 10 อย่าง งาน 5 อย่างที่คิดว่าไม่จำเป็น ให้โละทิ้งเลยไม่ทำต่อคืออะไร แล้วอีก 5 อย่างที่ควรทำต่อคืออะไร ภาพแบบนี่ต้องชัด เพื่อที่วันที่เราเข้าเป็นรัฐบาลเราทำงานได้ทันที
นอกจากนี้ เรายังอยากจะได้แอคชั่นแพลนที่ชัดเจนว่า 100 วันแรกทำอะไร, 1 ปีแรกทำอะไร, 4 ปีแรกทำอะไร ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือเริ่มเข้าหาบรรดาข้าราชการ, ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต่างๆ เราก็เข้าไปคุยทีละกลุ่ม แล้วถามว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายของเรา
แปลว่าภาคประชาชนจะสามารถติดตามได้ว่า ครม. คุยอะไรกันบ้าง
ใช่ เพราะนโยบายอย่างที่แรกที่เราประกาศไว้คือเรื่องรัฐโปร่งใส ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องงบประมาณอย่างเดียว แต่ที่ทำได้ทันทีคือถ่ายทอดสดการประชุมในสภาหรือใน ครม. ก็ตาม
แบบนี้แสดงว่ามั่นใจว่าโควตารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ จะอยู่ในมือพรรคก้าวไกล และคุณจะนั่งตำแหน่งนี้
ผมตอบแบบนี้ดีกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน นี่คือเรื่องที่พรรคก้าวไกลจะผลักดัน ถึงไม่ได้ รมว.ดิจิทัลฯ แล้วพรรคไหนจะมานั่งก็ต้องทำตามนโยบายที่เราวางไว้
แล้วถ้าไม่ได้นี่จะทำได้หรอ
ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการแต่มันก็มีอีกหลายตำแหน่งในกระทรวงดิจิทัล เช่น รมช. ที่เข้าไปดูแลงานระดับรองๆ แต่ถ้าถามใจผม ก็ต้องอยากไปอยู่ในจุดสูงสุดที่เราสามารถดำเนินงานได้ทุกอย่าง
ต้องบอกว่าขาที่ขับเคลื่อนภาคดิจิทัลของรัฐจริงๆ แบ่งออกมาเป็น 2 ขาคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA โดยทาง DGA มีภารกิจในการผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นฝ่ายไอทีของรัฐบาล แต่หน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลคือโปรโมตเทคโนโลยีดิจิทัลให้ภาคเอกชนใช้
DGA มีบทบาทสำคัญ ถ้าเราอยากให้เกิดเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลบางอย่าง ถ้ารัฐไม่ใช่คนเริ่ม มันต่อยอดไม่ได้ เช่น บัตรประชาชนดิจิทัล (Digital ID) ข้อมูลทะเบียนราษฎรมันอยู่กับภาครัฐ ถ้าภาครัฐไม่ใช่คนเริ่มต้นใครจะมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดล่ะ
ถ้าเกิดก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลอะไรคือทิศทางของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
อย่างแรกที่สุดที่ต้องทำใน 100 วันแรกคือ การยกเลิกกฎอะไรก็ตามที่มันเป็นขีดจำกัดเพื่อให้ภาคเอกชนต่อยอดได้เร็วขึ้น อย่างที่สองคือ เริ่มผลักดันโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐาน เช่น บัตรประชาชนดิจิทัล อย่างที่สาม ต่อยอดให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล หรือเศรษฐกิจข้อมูลที่ฝั่งตะวันตกเขาเริ่มแล้ว
แล้วถามว่าเราเริ่มผลักดันอะไรแล้วบ้าง ผมยกตัวอย่างเรื่องบัตรประชาชนดิจิทัล ซึ่งทางเทคนิคมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น NDID ของทางธนาคาร DOPA ของกรมการปกครอง หรือ DGA ก็มีข้อมูลของตัวเอง คำถามคือทำไมต้องมีกันตั้ง 4-5 เจ้า คำตอบคือมันไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
อย่างแรกที่รัฐบาลก้าวไกลสามารถแก้ไขเรื่องบัตรประชาชนดิจิทัลได้เลยคือ นั่งหัวโต๊ะ แล้วทุบโต๊ะเลยว่าจะใช้เจ้าไหน คุยกันอย่างตรงไปตรงมา ดูกันที่ฟีเจอร์เลยว่าแพลตฟอร์มไหนดีที่สุด ถ้าทิศทางชัดเจนแล้วเคาะมันขึ้นได้ทันที เพราะทั้ง 4 แพลตฟอร์มมันเปิดให้บริการอยู่แล้ว
แล้วในระยะยาวตลอด 4 ปีจะทำอะไรบ้าง
ผมคิดว่าในแง่กฎหมายตอนนี้ ตอนนี้เรามี PDPA แล้วถ้าเราจะทำให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล ผมยกตัวอย่างข้อมูลสุขภาพ แน่นอนที่สุดว่าโรงพยาบาลไม่มีสิทธิ์นำข้อมูลคนไข้ออกจากโรงพยาบาล แต่ในโลกความเป็นจริง ข้อมูลมันเชื่อมต่อได้ลื่นไหลไหม บางโรงพยาบาลยังส่งต่อข้อมูลคนไข้กันเป็นแผ่นซีดี อีกเจ้ากลับบอกว่าซีดีไม่เหมาะ เป็นเพราะมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไม่ตรงกัน
อย่างฝั่ง EU ทันทีที่เข้าออกกฎหมาย GDPR เขาออก Data Governance Act ที่มีหน้าที่กำกับว่าภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน คุณต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยฟอร์แมตกลางเดียวกัน ดังนั้น ถ้าพูดเฉพาะในแง่กฎหมาย ภายใน 4 ปีผมคิดว่า Data Governance Act และ Data Act ของ EU ควรจะถูกถอดแบบ ยกร่าง และตราให้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย
นอกเหนือจากกฎหมาย ในเรื่องแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยง่ายควรต้องทำ ยกตัวอย่าง การรับสวัสดิการของประชาชน ทุกวันนี้คนพิการที่จะรับเบี้ยคนพิการ อย่างแรกต้องไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์ อย่างที่สองต้องไปขอบัตรคนพิการจาก พม. และยังต้องไป อปท. เพื่อขอรับเบี้ยอีก ทำไมภาครัฐถึงปล่อยให้ประชาชนเดินเอง แต่ต่อไปถ้าเราทำให้ข้อมูลมันรวมกันได้และมีดิจิทอลไอดี ประชาชนจะถือแค่ดิจิทัลไอดีใบเดียว อายุครบ 60 ปีขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล แล้วถ้าเข้าเงื่อนไขจะได้รับเบี้ยทันที ไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน นี่คือผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับทันที
ในเชิงปฏิบัติ ต้องยอมรับว่าข้าราชการหลายคนเองก็ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี ทางกระทรวงจะทำอะไรเพื่อที่จะปรับตัวกับนโยบายใหม่ได้
ผมคิดว่าต้องแยกเป็นเรื่องๆ อย่างแรกสิ่งที่ผมเริ่มทำไปแล้วคือ การทลาย silo ในการสื่อสาร ที่ผ่านมาจะมีปัญหาว่าไปคุยกับคนนี้พูดแบบนึง อีกคนพูดแบบนึง แล้วยิ่งถ้าเจ้ากระทรวงไม่รู้เรื่องเทคนิค ก็ไม่รู้ว่าใครพูดจริงไม่จริง วิธีทำลาย silo ของผมถอดแบบมาจาก รมต.ดิจิทัลฯ ของไต้หวัน ออเดรย์ ถัง (Audrey Trang) ทุกๆ การประชุมที่เขาสวมหมวกรัฐมนตรี เขาจะถอดเทปและเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมด ผมก็พยายามถอดแบบเขาโดยการเขียนบันทึกว่าแต่ละวันไปคุยกับใครมาบ้าง เขียนข้อเท็จจริงที่เจอ และปัญหาที่พบเห็น สิ่งที่ผมได้รับกลับมาเลยคือจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อ่านบันทึกของผมแล้วมาสะท้อนให้ฟัง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
นี่คือการทำลาย silo ในการสื่อสารเพราะตัวผมเองก็ค่อนข้างใหม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราทำทุกอย่างให้โปร่งใส ตรงไปตรงมา เราจะได้ข้อมูลที่หลากหลาย และจะวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่สุด
อยากชวนคุณคุยเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ช่วงที่ผ่านมามีทั้งเรื่องแฮกเกอร์ 9near หรือกรณีข้อมูลโรงพยาบาลหลายแห่งหลุด อยากเริ่มจากกว้างๆ ก่อนว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่าง privacy กับ cyber secrurity
ผมว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ในประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นเพราะเวลาภาครัฐจะขึ้นโครงสร้างดิจิทัลสักอย่าง จะถอดไปให้เอกชนที่มารับเหมาทำหมดเลย ผมเคยไปคุยกับผู้บริหารที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัล ผมถามว่าประเทศไทยมีผังที่บอกว่าแต่ละกระทรวงเชื่อมเน็ตเวิร์กกันอย่างไรไหม (topology) คำตอบคือไม่มี
มันควรจะมีการทำโซนนิ่งของเน็ตเวิร์ก เช่น เวลาจะไปเชื่อมกับภายนอกควรมีเกตเวย์ (gateway) ที่เวลามีปัญหา สิ่งที่เราทำคือไปปิดเกตเวย์ตัวนั้น เหมือนเวลาเราอยู่บ้านมีรั้ว เวลาโจรเข้ามาได้แล้วเรายังมีประตูชั้นในล็อกอีกตัวหนึ่ง แต่ในภาครัฐปัจจุบันไม่มีเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ เวลาส่วนนี้จะขึ้นระบบนึงก็ไปจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนมาทำ แล้วก็ตั้งเซิร์ฟเวอร์กันกระจัดกระจายหมดเลย
ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวในเรื่องความปลอดภัยที่เกิดจากเน็ตเวิร์กคือ ภาครัฐต้องมีโครงสร้างกลางเป็นคลาวด์ (cloud) เพื่ออนาคตเวลาเราจ้างเอกชนมาพัฒนาซอฟต์แวร์ เราสามารถตั้งไฟล์วอลท์ (firewall) ดูแลความปลอดภัย แบบนี้จะกันข้อมูลหลุดรั่วไหลในเรื่องการแฮกมาตามช่องทางเน็ตเวิร์ก
และถ้าสมมติภาคเอกชนที่จ้างมาแอบเขียนโค้ดเปิดช่องให้แฮกเข้ามาได้ทีหลัง หรือเขียนโค้ดที่ไม่ได้คุณภาพ แบบนี้ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือน EU ซึ่งตอนนี้เขาใช้นโยบายที่เรียกว่า Public Money, Public Code ความหมายคือ โครงการจัดซื้อจ้างที่ใช้เงินภาครัฐต้องเปิดเผยทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ต่อไปเวลาที่ภาคเอกชนรับงานพัฒนาซอฟต์แวร์จากภาครัฐไป คุณเขียนโค้ดส่งซั่วๆ ไม่ได้ คุณต้องส่งโค้ดที่มีคุณภาพ เพราะมันจะอยู่ในสายตาประชาชน
เสาสุดท้ายคือเรื่องของคน ที่ผ่านมาสาเหตุที่ข้อมูลหลุดมักเกิดจากคน โดยเฉพาะคนใน วิธีแก้เรื่องนี้หนีไม่พ้นการไปเพิ่มขีดความสามารถให้ภาครัฐ ยกตัวอย่าง DGA ที่เป็นฝ่าย IT ของภาครัฐ ต่อไปถ้าโครงสร้างดิจิทัลของภาครัฐมีปัญหา DGA หรือหน่วยงานอื่นต้องเข้ามาดูแลและจัดการเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อแยกคนในกับคนนอกออก เอกชนมีหน้าที่พัฒนาซอฟแวต์ก็ควรพัฒนาไป แต่ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของรัฐ มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่เข้าถึงได้
วิธีในการแก้เรื่องคนรับจ้างไม่ได้คุณภาพที่ดีที่สุดคือ ทำทุกอย่างให้อยู่ในสายตาสาธาณะ เปรียบเทียบการสร้างถนน เวลาต่างประเทศเขาแก้เรื่องคุณภาพการจัดซื้อจัดจ้าง เขาเอากล้อง CCTV ไปติด เอาสิ แต่ละขั้นตอนที่คุณสร้างมองอยู่ ถ้าเรามองซอฟต์แวร์เหมือนถนน วิธีการทำให้มีประสิทธิภาพคือทำให้โปร่งใสตั้งแต่แรก
พอเราก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีประชาชนก็ต้องยอมให้รัฐเก็บข้อมูลบางส่วนของเราไป อยากถามถึงเส้นแบ่งระหว่าง privacy กับ cyber secrurity อยู่ตรงไหน
จริงๆ ผมค่อนข้างอยู่ตรงข้ามสุดๆ กับรัฐสอดแนม (surveillance state) ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐจะไปติดตามตรวจสอบประชาชน และผมยืนยันในหลัก PDPA ว่า การที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลกับใครก็ตาม คุณต้องได้คำยินยอมก่อน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันมีข้อมูลบางอย่างที่มีประโยชน์ถ้านำไปใช้ใน Big Data อย่างเช่น ข้อมูลฟิล์มเอ็กซเรย์ ที่สามารถให้บริษัทวิจัยหรือมหาวิทยาลัยใช้เพื่อพัฒนาการรักษาโลก ซึ่งทางฝั่ง EU จะมีกฎหมายชื่อ Data Act กำหนดให้หน่วยงานหรืองค์กรต่างๆ ที่ถือข้อมูลแบบนี้ ต้องเอาข้อมูลส่วนบุคคลออกให้หมด แล้วนำมาเก็บที่ถังกลางซึ่งจะเป็น Big Data ที่เปิดให้เป็นสาธาณะ
ถ้าเป็นแบบนั้น ถังกลางจะเหลือข้อมูลอะไรบ้าง
ที่ชัดเจนและมีประโยชน์ที่สุด เช่น ข้อมูลตำแหน่งของประชาชน สมมติเอาไปเชื่อมต่อกับคอนเสิร์ตจะเห็นเลยว่าผู้มาร่วมงานเดินทางมาจาก จังหวัดอะไรบ้าง หรือข้อมูลทางการเงินอาจเอาไปปลดล็อกเรื่องไฟแนนซ์ในระดับที่เล็กมากๆ ต้องอย่าลืมว่าคนตัวเล็กตัวน้อย เขาไม่มีประวัติหรือหลักฐานทางการเงินที่ธนาคารจะเชื่อถือเขา แต่ถ้ามีข้อมูลอย่างเช่น การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ, รายได้ประจำ มันก็สามารถทำให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น
ดังนั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยข้อมูล 3 ตัวมีประโยชน์แน่ๆ คือ ข้อมูลตำแหน่งประชาชน, ข้อมูลสุขภาพ และข้อมูลการเงิน
4 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่กระทรวง DE ทำไม่ต่างจาก ‘กระทรวงความจริง’ ในหนังสือ 1984 เช่น ปิดกลุ่มรอยัลลิสต์มาเกตเพลส มองเรื่องนี้อย่างไร
พรรคก้าวไกลโปรโมทเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ และอย่างแรกที่เราจะทำใน 100 วันแรกคือ ยุบศูนย์ต้านข่าวปลอมแน่นอน เราคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่รัฐควรทำ เพราะวันนึงที่ภาครัฐยืนตรงข้ามประชาชน มันจะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เพื่อเซ็นเซอร์ประชาชน
เราคิดว่าโมเดลที่ดีคือเหมือน Co-Fact ของไต้หวัน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินการโดยองค์กรสื่อ สมาคมสื่อ และภาคประชาสังคม
เฟคนิวส์เป็นปัญหาใหญ่มาก อย่างที่ก้าวไกลเองก็โดนไม่ว่าเรื่องยกเลิกบำนาญ หรืออเมริกาหนุนหลัง ถ้ารัฐไม่เกี่ยวเลยจะเอาอยู่ไหมในเรื่องนี้
ผมว่ารัฐควรมีบทบาท 2 อย่าง อย่างแรกคือ รัฐควรเป็นเจ้าภาพในการเชิญสื่อ ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ มาทำให้ศูนย์ต้านข่าวปลอมเกิดขึ้น อย่างสอง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว รัฐควรเป็นแค่แหล่งข้อมูลนึง ส่วนหน้าที่ที่ใครจะบอกว่าข่าวจริงไม่จริง ควรปล่อยให้ประชาชนใช้วิจารณญาณเอาเอง
และสิ่งที่รัฐควรทำมากเลยคือ เรียกดิจิทัลแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์มาพูดคุย ลองจินตนาการว่าต่อไปถ้าเราอ่านข้อความในไลน์ และพบว่ามีข้อความที่น่าจะเป็นข่าวปลอม มันมี UI ที่แจ้งเตือนขึ้นมาให้ประชาชนเลยว่า ข้อความนี้น่าสงสัย คุณควรจะกลั่นกรองอีกรอบนึง แบบนี้ผมว่าแก้ปัญหาได้เยอะเลย แต่คนที่จะไปติดธงว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ปลอม ไม่ควรจะเป็นภาครัฐ แต่ควรให้ผู้ใข้งานแอปฯ นั้นรีพอร์ตไป แล้วให้สมาคมช่วยทำงานร่วมกันมากกว่า
แต่ในไลน์ ความยากของมันคือ ข้อความอยู่ตามไลน์กลุ่มไม่เหมือนในเฟซบุ๊กที่ให้คนไปตอบคอมเมนท์โต้ได้เลย ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือออกแบบ UI ให้ป้องกันเรื่องของการกระจายข่าวปลอม ซึ่ง UI ที่ผมเห็นเป็นรูปธรรมคือ ถ้าข้อความมันถูกหลายๆ คนติดธงเป็นข่าวปลอม มันควรแสดงผลเตือนคนที่อ่านข้อความ
มีอีกเรื่องที่อยากถามคือเรื่องคอลเซ็นเตอร์ อยากถามว่าทาง DE จะพอทำอะไรได้ไหม
ต้องเรียนตามตรงว่ามันยากมาก ผมเชื่อว่าวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ แก้ที่เส้นทางทางการเงิน ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลฯ อย่างเดียว ผมเชื่อว่ามิจฉาชีพเข้ามาเพื่อหวังเอาเงินจากเรา ดังนั้น ทำอย่างไรก็ได้ให้ต้นทุนในการหลอกลวงมันยากที่สุด หรือเสียต้นทุนที่สุดในการเปิดบัญชีม้าใหม่ ผมเชื่อว่านี่คือวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ในส่วนของช่องทางการหลอกลวง ไม่ว่าจะผ่านการโทรเข้ามาหรือฟอร์เวิร์ดข้อมูลต่อมาทางไลน์หรือเอสเอมเอส กลุ่มเหล่านี้แก้ยากมาก มันจะเป็นแนวแมวจับหนู เราปิดเขาก็หนี เราปิดเขาก็หนี แต่วิธีที่แก้ได้อย่างถาวรและหมดจดคือการไปล็อกที่เส้นทางการเงิน
อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจและกระทรวงดิจิทัลมีส่วนรับผิดชอบคือ นโยบายอวกาศแห่งชาติ คนไทยจะมีโอกาสไปดวงจันทร์ไหม
(หัวเราะ) ผมว่าอาจไม่ต้องถึงขั้นไปดวงจันทร์ กิจการอวกาศก็มีหลายอย่าง เช่น ดาวเทียม แต่ส่วนที่ว่าจะส่งคนไทยไปดวงจันทร์ ผมว่าอาจจะไกลไปหน่อย แต่มันโอเคในแง่วิสัยทัศน์
จริงๆ เราได้โจทย์มาว่า ให้ลงไปดูว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไรกันอยู่ และเราควรต่อยอดอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องลงไปศึกษาอีกเยอะ แต่ส่วนตัวมองว่าน่าพิจารณาดำเนินการต่อ แต่ต้องไปติดตามดูต่อว่าดำเนินการไปถึงไหน
ข้อดีของการส่งดาวเทียมออกไปอีกสักลำคืออะไร
เทคโนโลยีดาวเทียมมันเอามาต่อยอดอะไรได้อีกหลายอย่าง อย่างนึงคือ ข้อมูลทะเบียนราษฎรเรายังไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะคนเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เยอะ และสมมติเราดูต่างประเทศ พวกเขาดูการกระจุกตัวของประชากรจากแสงไฟ หรือภาพถ่ายเทียมก็สามารถทำได้ การจัดการน้ำ ที่ดินการเกษตร สามารถใช้ดาวเทียมแก้ปัญหาได้หมดเลย
ถ้าประเทศไทยไม่มีดาวเทียมเป็นของตัวเอง เราไม่สามารถที่จะไปขอเขาเช่าใช้หรือทำข้อมูลแบบนี้ได้ แต่ถ้าเรามีดาวเทียมเป็นของตัวเองเราสามารถมีทรัพยากรแห่งชาติที่ช่วยแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะได้ดีขึ้น
อยากถามถึงอนาคตผ่านสายตาคุณบ้าง คุณมองว่าตอนนี้เราเข้าสู่โลกยุค AI เต็มรูปแบบหรือยัง
สำหรับผมเองเราเข้ามาอยู่ในโลกยุค AI แล้วล่ะ แต่ถ้าโลกยุคที่คนกับ AI จะเหมือนกันเลย น่าจะยังอีกไกล
ผมคิดว่าเราควรจะ ‘ตระหนักแต่ไม่ตระหนก’ อย่าไปคิดว่ามันคือภัยคุกคามในประวัติศาสตร์ หลายอาชีพที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นก็หายไปแล้ว แต่ที่ผ่านมามันอาจใช้เวลานานกว่านี้กว่าอาชีพนึงจะหายไป แต่พอเกิด digital disruption กงล้อมันเลยหมุนไวขึ้นเฉยๆ ฉะนั้น สิ่งที่เราทุกคนควรเรียนรู้คือ เรียนรู้และหัดใช้ AI มาเป็นเครื่องมือและเพื่อนในการทำงานของเรามากขึ้น ผมว่าไม่น่ากลัว
คนไทยไม่ต้องกังวลว่าตกงานใช่ไหม
ผมว่ามันจะมีอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ซึ่งคนไทยควรจะไปขี่อาชีพนั้นให้ทัน
มีความกังวลในเรื่องของจริยธรรม AI อย่างไรบ้างไหม
ภาครัฐมีหน้าที่ในการตามให้ทันและออกกฎหมายให้ทัน ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (self driving car) เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบระหว่าง คนนั่งหรือผู้ผลิตรถยนต์ ตอนนี้ต่างประเทศเริ่มคุยกันให้มันชัดเจนแล้ว แต่บ้านเรายังไม่มีการคุยเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าหน้าที่ของรัฐอย่างแรกต่อโลกอนาคตคือ วางกรอบกฎหมายที่จะรองรับโลกในอนาคต
ถ้าให้คุณประเมิกษะของคนไทยตอนนี้กับความเป็นไปของโลก ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน
ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทักษะของคนไทยตอนนี้ สามารถปรับตัวเข้ากับโลก AI ได้ แต่อย่าลืมว่า AI เหล่านี้เกี่ยวอยู่กับโค้ดดิ้งและข้อมูล ดังนั้น ถ้าคนไทยอยากสร้าง AI ของตัวเอง เช่น AI ที่เข้าใจภาษาไทยก็หนีไม้พ้นต้องศึกษาเรื่องโค้ดดิ้ง รวมถึงเรื่องของข้อมูลต่างๆ เพราะถ้า AI ไม่มีข้อมูล มันก็ไม่ฉลาด ส่วนภาครัฐเองที่ข้อมูลยังกระจัดกระจาย ภาครัฐก็ต้องผลักดันให้มันเกิด
การเรียนโค้ดดิ้งถือเป็น a must ของโลกอนาคตเลยไหม
ถ้าใช้ในโลกยุคนี้ ผมคิดว่าปัจจุบันในภาคการศึกษาก็น่าจะบรรจุในหลักสูตรอยู่แล้ว แต่ปัญหาหลักตอนนี้คือเรื่อง นวัตรกรรม เพราะหลายงานวิจัยในประเทศไทยมันขึ้นหิ้ง แต่ไม่ถูกนำไปใช้ ผมคิดว่าภาครัฐสามารถทำให้มันเกิดวัฎจักรขาขึ้น โดยการเอาความต้องการภาครัฐที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นที่ตั้ง เช่น การจัดการน้ำในกรุงเทพฯ เอาความต้องการภาครัฐไปสร้างให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ อาชีพใหม่ๆ และเศรษฐกิจใหม่ๆ
ถ้าก้าวไกลได้คุมกระทรวง DE ขอคำอธิบายง่ายๆ ว่าภายใน 4 ปีจะเกิดอะไรบ้าง
อย่างแรกที่จะเกิดคือ รัฐโปร่งใส ทุกการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกการประชุมเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา นี่เกิดขึ้นแน่นอน 1,000% อย่างที่สอง เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาครัฐอย่างขนานใหญ่ ตอนนี้เราทำให้กับ อปท. ไปแล้ว ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายต่อ อย่างแรกคือเปลี่ยนผ่านท้องถิ่นสู่ดิจิทัล อย่างที่สองคือเกิดเศรษฐกิจดิจิทัลรายใหม่ๆ ที่แขนขาแข็งแรง ลองคิดว่า อปท. 7,800 กว่าแห่ง คิดค่าจ้างดำเนินแห่งละเฉียดล้าน นี่ 8,700 ล้านแล้วที่จะทำให้ภาคเอกชนมีกำไรชัดเจน
อย่างที่สาม ผลประโยชน์กับประชาชน พอท้องถิ่นปรับตัวเองสู่ดิจิทัล บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน เช่น จ่ายค่าขยะ หรือค่าน้ำประปา ทุกอย่างทำได้หมดผ่านออนไลน์