‘ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา’ อาจเป็นคำนิยามในเหตุการณ์อาชญากรรมพอๆ กับระบบเส้นสายภายในวงการตำรวจไทยปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่กรณีของ ‘ตั๋วช้าง’ เท่านั้น การทุจริตซื้อขายยศและตำแหน่งในวงการตำรวจเป็นเรื่องที่แว่วมากับสายลมนับครั้งไม่ถ้วนตลอดทุกฤดูโยกย้ายตำรวจ แต่ทุกๆ ครั้งมันก็ถูกเมินเฉยตีมึนจนสุดท้ายกระแสข่าวอื่นก็กลบจนหมด
แม้ความพยายามปฏิรูปวงการตำรวจให้ออกจากระบบที่เป็นอยู่มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับเพียงตั้งแต่สมัย คสช. เข้ามาคุมอำนาจ ได้มีการกำหนดให้การปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูป โดยนับตั้งแต่ปี 2557 มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมาแล้วถึง 5 ชุด และมีการออกประกาศเพื่อแก้ไขและปรับโครงสร้าง ก.ตร. พร้อมทั้งดึงอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายกลับมาสู่ส่วนกลางในมือของ ผบ.ตร. ไม่พ้นทำให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของวงการตำรวจมากขึ้น
และล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็เป็นอีกครั้งที่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าสู่สภา แต่ยังไม่ทันไร ก็ล่มไม่เป็นท่าและต้องมีการเลื่อนพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปก่อน
คงไม่มีใครจะสัมผัสและพูดถึงปัญหาการวิ่งเต้นเล่นเส้นในวงการตำรวจได้ดีกว่าตำรวจเอง และหนึ่งในคนแรกๆ ที่เรานึกถึงไม่ใช่นอกจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวศ อดีต ผบ.ตร. และเจ้าของฉายา ‘มือปราบตงฉิน’ ที่สะท้อนทั้งวิธีการพูดอันตรงไปตรงมา และการทำงานที่เรียกได้ว่าไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมหากเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเบื้องล่างนี่คือบทสนทนาระหว่าง The MATTER กับเขา
ช่วงที่ผ่านมานี้ สังคมตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ คุณมองว่าอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่ยุคที่ทหารหรือ คสช. เข้ามายึดอำนาจและคุมตำรวจก็ไม่มีอะไรดีขึ้นนะ เป็นทหารสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ซ้ายขวาหันโดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เฉพาะกิจการตำรวจ การบริหารประเทศก็สั่งตามใจตัวเอง ผิดพลาดบกพร่องเยอะแยะไปหมดและก็ไม่รู้ว่าตัวเองผิด
ในเรื่องกิจการตำรวจ ด้วยความที่ตัวเองไม่รู้ ทำตามใจตัวเองแล้วยังแสวงหาผลประโยชน์ มันก็เลยพังไปหมด เพราะทหารคือเสือหิว ก่อนยึดอำนาจอยู่ในค่ายทุจริตได้ก็เฉพาะแต่เรื่องงบประมาณของกองทัพ ที่เคยพูดว่า “ตำรวจฉ้อราษฎร ทหารบังหลวง (ในบทสัมภาษณ์ของ The Momentum – ผู้เขียน)” คือทหารจะทุจริตแต่งบประมาณของตัวเอง แต่พอปล่อยออกมาก็ฉ้อราษฎรไปด้วย ยิ่งเป็นเสือหิวไปอีก
ไม่ต้องฟังผมหรอก ไปฟังประชาชนดู ถามตำรวจอาจกล้าพูดบ้างไม่กล้าบ้าง ต้องลองไปดูบริษัทรถยนตร์ต่างๆ ‘อู้หู’ ตั้งแต่ยึดอำนาจมาเนี่ย นายทหารซื้อรถ จองรถกันแน่นไปหมด แม้กระทั่งส่งลูกไปต่างประเทศ แต่ก่อนไม่มีปัญญาหรอก ตรวจสอบดูได้
ฉะนั้น ดีหรือแย่ลง ไม่มีเลยคำว่าดีขึ้น มีแต่แย่ลงๆ ผบ.ตร ไม่มีอำนาจกลัวถูกปลด ยิ่งเป็นการบริหารประเทศโดยยึดอำนาจมา อย่าว่าแต่ตำรวจเลย ส่วนราชการอื่นก็มีแต่เสื่อมลงๆ
ช่วงหลังมานี้สังคมตั้งคำถามถึงหลายกรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องบ่อน ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
การเปิดบ่อนก็เพราะทหารมาคุม ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2551-2554 – ผู้เขียน) ไม่อยากใช้คำนี้นะ แต่ซื้อกันฉิบหายวายป่วงหมด ตำแหน่งละ 30-50 ล้าน แล้วแต่ตำแหน่ง สถานที่ ผลประโยชน์
ฉะนั้น บ่อนเกิดขึ้นเพราะการรับประโยชน์ในการแต่งตั้งทั้งนั้น เอาคนที่หาผลประโยชน์ไปคุมพื้นที่ บ่อนมันก็เกิด มันมีบ่อนทั่วไปหมด เพราะตรงนู้นก็คนของกู ตรงนี้ของกู ไปหาไปรับไปส่งนายอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นเต็มไปหมด
แสดงว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือมีการซื้อยศ ซื้อตำแหน่งในวงการตำรวจใช่ไหม
เดิมอำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เป็นหน้าที่นายกฯ ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณา แค่เสนอ ไม่ใช่ไปบีบ แต่จริงๆ แล้วก็บีบ และตำแหน่งตั้งแต่ รอง ผบ.ตร. จนถึงนายพล เป็นอำนาจที่ไม่เกี่ยวกับนายกฯ เลย แต่จริงๆ เป็นอย่างไรล่ะ บัญชีมากันเพียบ หรือตำแหน่ง รองผู้การลงมาถึงชั้นประทวนจากเดิมเป็นอำนาจของผู้บัญชาการภาค แต่นี่ดึงอำนาจไปอยู่ที่ ผบ.ตร. พอทำคนเดียว การเมืองก็เข้ามาสั่ง ผบ.ตร. ก็ต้องฟัง กลายเป็นวิ่งการเมืองทุกตำแหน่ง ไม่ใช่เฉพาะนายพล แต่ นายร้อย นายพัน ต้องไปวิ่งหมดเลย เสียเงินเสียทองหมดเลย
และมีการแก้ไขกฎ ก.ตร. เพื่อให้บุคคลที่เป็นลูกน้องตัวเองก้าวหน้าและเหยียบคนอื่นไว้ เช่น แต่ก่อนเขากำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งไว้ อย่างสมัยผมเป็น ผบ.ตร. รองผู้การที่จะขึ้นเป็นผู้การต้องอย่างน้อย 4 ปี รองผู้บัญชาการจะเป็นผู้บัญขาการอย่างน้อยต้อง 2 ปี ระดับ ผช.ผบ.ตร. ขึ้นไป ให้เรียงตามเหล่าอาวุโส ตอนหลังแก้ไขหมดเพื่อให้คนของตัวเองได้เลื่อนเร็วขึ้น อย่างเป็นผู้การปกติต้องใช้เวลา 3 ปี ถึงจะเป็นรองผู้บังคับบัญชาการ ก็ไปเปลี่ยนให้เหลือ 2 ปี
แต่ในยุคผมบอกเลยไม่มี ผมโตมาด้วยลำแข้งตัวเอง ผมอาจจะโตเร็วในช่วงเด็กเพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด แต่พอขึ้นเป็นใหญ่เป็นนายพลถูกสกัดหมด เพราะไม่เข้าหาผู้ใหญ่ ไม่วิ่งเต้น ผมเป็น ร.ต.ต.-พล.ต.ต.ใช้เวลา 19 ปี แต่พอจะขึ้น พล.ต.ท. ใช้เวลา 14 ปี และยังถูกแช่ให้เป็น ผช.ผบ.ตร. อยู่ 6 ปี แต่ระเบียบใหม่คือปีเดียว เขาไม่ยอมให้ผมขึ้น แต่ผมก็ไม่ยอมเหมือนกัน ก็ฟ้องกัน อัดกันเยอะแยะไปหมด
ตอนผมเป็น ผบ.ตร. ขนาดหลักเกณฑ์ระบุไว้ ผมยังไม่ให้ขึ้นเลย สมมุติเป็นรองผู้บัญชาการ 2 ปีแล้ว สามารถขึ้นเป็นผู้บัญชาการได้ ผมยังไม่ให้เลย เพราะมีคนที่อาวุโสกว่าอยู่ในตำแหน่งนานกว่า ผมให้คนอาวุโสที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ขึ้นก่อน แต่นี่ลดกฎเกณฑ์เพื่อให้คนของตัวเองได้ขึ้น ส่วนตำแหน่งที่จะไล่ตามหลังก็ปรับให้มันยาวขึ้นจะได้ไล่ไม่ทัน
คุณเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบบ และความใกล้ชิดกับการเมือง มองว่าควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
มันต้องแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ว่าประธาน ก.ตร. ต้องเลือกกันเองคือให้อดีต ผบ.ตร. ที่อยากเข้ามาบริหารงานตำรวจต้องสมัครเข้ามา และให้ข้าราชการตำรวจระดับนายพลและนายพัน เลือกกันเอง รองประธานก็คือ ผบ.ตร. ส่วนกรรมการก็ข้าราชการตำรวจนั่นแหละ เขามีความรู้ มีประสบการณ์คนละ 30-40 ปี มากกว่าคุณอีก เพียงแต่เขาทำไม่ได้เพราะคุณมากดกระบาลเขาอยู่
ทำไมศาลหรืออัยการบริหารกันเองแล้วเจริญได้ ประธานกรรมการอัยการไม่ได้มาจากนายกฯ ต้องเลือกจากอดีตอัยการสูงสุด ท่านไหนน่าเคารพนับถือก็เลือกมาก็ได้อดีตผู้บังคับบัญชามาเป็น มีอาวุโสกว่า เขาก็ก็บริหารองค์กรเขาได้ แต่ของตำรวจมันไม่ได้สักที การเมืองเข้ามาหมด เราได้คนที่เป็นนายกฯ ดี วงกรตำรวจก็ไปรอด ถ้านายกฯ เลววงการตำรวจก็แย่
ตอนนี้พอตำรวจไม่ทำตามนายกฯ มันก็ย้าย แต่งตั้งคนอื่นแทน มันก็ต้องทำตาม มิงั้นก็ถูกย้ายกันหมด ไม่เห็นหรอว่า ทำไม ผบ.ตร. คนเก่าอยู่ได้ตั้ง 5 ปี เพราะยอมเขาหมด เป็นแบบนั้น
ความใกล้ชิดระหว่างการเมืองกับวงการตำรวจ ทำให้ประชาชนมีคำถามถึงประโยค ‘นายสั่งมา’ และตั้งข้อสังเกตว่ามีการปฏิบัติต่อม็อบสองกลุ่มไม่เหมือนกัน
ม็อบเด็กเขามาต่อต้านใคร หนึ่ง ประยุทธ์ต้องออก สอง ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สาม ต้องปฏิรูปสถาบัน พอแบบนี้รัฐบาลก็เลยจัดคนมาต่อต้าน แถมให้ใส่เสื้อเหลือง ผมยืนยันเลยคนใส่เสื้อเหลืองทหารเต็มไปหมด อย่างวันที่ม็อบไปปิดหน้าสภา ผมเข้าสภาไม่ได้ก็ต้องเลี้ยวขวาไปอีกด้าน เข้าไปในค่ายทหาร เห็นทหารใส่เสื้อยืดเหลืองหมด เตรียมออกมาต่อต้าน ม็อบ กปปส. ก็ทหารทั้งนั้น อีกส่วนก็มาจากใต้ เพราะหัวหน้าม็อบเป็นคนใต้
เอาทหารใส่เสื้อเหลืองมาต่อต้านม็อบไล่ประยุทธ์ และจะให้ตำรวจทำอย่างไร กลุ่มนี้ต่อต้านประยุทธ์ก็ต้องปราบ กลุ่มนี้เป็นทหารจะมาปราบได้หรอ ถ้ามันเหมือนๆ กันก็จัดการได้ อันนี้ไม่เหมือน มีไหมม็อบเสื้อเหลืองถูกดำเนิคดี ส.ส.บางคนยังไม่ร่วมประชุมเลย โดดไปใส่เสื้อเหลืองชุมนุมกับเขา ส.ส.พลังประชารัฐก็สนับสนุนเสื้อเหลืองหมด แล้วมันจะไม่สองสามมาจตรฐานได้ไง ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้
แล้วทางม็อบเด็กโดนมาตรา 112 กับ 116 หมด ฝั่งนู้นโดนอะไรไหม เขาถึงบอกอยากให้ยกเลิกมาตรา 112 แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกนะ แต่การแก้ไขเห็นด้วย
ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ถูกนำเข้าสภาคุณมองอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ (สัมภาษณ์เมื่อ 30 มกราคม 2564 – ผู้เขียน) ผมยังไม่ได้ร่าง แต่นี่ก็ได้อ่านจากสื่อนะ อย่างประเด็นแรกต้องมีบทเฉพาะกาลที่โอนภารกิจหลักที่ไม่ใช่ของตำรวจ ไม่ว่า ตำรวจรถไฟ, ตำรวจป่าไม้ หรือจราจร ไปส่วนราชการอื่นในเวลาที่เหมาะสม ตรงนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ ไม่พร้อมรับสักที เพราะไม่มีปัญญาและกำลังคนไม่พอ
อย่างภารกิจดูแลความเป็นระเบียบของถนนหนทาง พอโอนไปให้ กทม. ก็ตั้งตำรวจเทศกิจ และมีอะไรดีขึ้นไหม เทศกิจไถละเอียดเลย ตอนผมเป็นเจรตำรวจแห่งชาติต้องจับกุมตั้งแต่ผู้อำนวยการเขตลงมา เพราะให้มาเฟียแถวโบ๊เบ๊ไปฮั้วกับผู้มีอำนาจ ไปแบ่งล็อคที่ประมูลขาย ไอเทศกิจเนี่ยเอาที่หลวงไปขายทำมาหากินกัน ตอนอยู่กับตำรวจไม่มีนะ เห็นไหม โอนไปแล้วเป็นไง
อย่างตำรวจรถไฟ, ตำรวจป่าไม้ หรือจราจรก็จะโอนให้ตั้งนานแล้ว แต่เขาไม่มีกำลังพล และพูดจริงๆ คนเราเห็นตำรวจะกลัวกว่าเห็นเห็นข้าราชการอื่น ดังนั้น จะเห็นว่าหลายหน่วยงานต้องแต่งตัวคล้ายตำรวจ กรมสรรพสามิต หรือตำรวจสภา เป็นต้น
ประการต่อมา แบ่งตำรวจเป็นสามระดับ มันเป็นสามระดับอยู่แล้ว กองบัญชาการ, กองบังคับการ และสถานีตำรวจ ไม่มีอะไรตื่นเต้นเปลี่ยนแปลง
จริงๆ สิ่งที่อยู่ในกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่คุณคิดว่าครั้งนี้จะผ่านหรือเปล่า
ผ่านไม่ผ่าน มือเขาเยอะ แต่ผมก็จะเสนอให้ฟังและคุณจะเอาแบบผมไหม ผมเคยแบ่งไว้แล้วตอนที่เป็น ผบ.ตร. แต่พอมา ผบ.ที่แย่งตำแหน่งผม มันกลับไม่เอาไปใช้ ผมแบ่งไว้เป็น 5 สายงาน
หนึ่ง ‘อำนวยการ’ ควบคุมดูแลการบริหารงานโรงพักทั้งหมด
สอง ‘งานป้องกันอาชญากรรม’ ในร่างล่าสุดยังเอางานป้องกันและปราบปรามไปรวมกัน คุณใช้ความคิดที่ไม่เคยเป็นตำรวจคิดดูนะ สมมุติโรงพักนี้สายป้องกันวางกำลังและค่าใช้จ่ายเต็มที่ ไม่มีอาชญากรรมเกิดขึ้นเลยแม้แต่คดีเดียว ต้องมีสายงานอื่นไหม แต่ในนี้เสือกเอาป้องกันไปรวมกับปราบปราม คนมันก็ไปรอปราบปรามหมด เพราะจับบ่อนได้เงิน จับยาเสพติดได้เงิน ทำอะไรก็ได้เงิน ดังนั้น สายงานสำคัญที่สุดคือป้องกันอาชญากรรม แต่คุณกลับเอาไปรวมกันกับปราบปราม
สาม ‘สืบสวนปราบปราม’ เพราะในความเป็นจริงป้องกันอย่างไรก็ต้องมีคนกล้าทำความผิด สายนี้ไว้สืบเลยใครค้ายาเสพยาเสพติด ใครเล่นการพนันจริงจัง ใครมีแรงงานผิดกฎหมายในพื้นที่ สิ่งที่ผิดกฎหมายสายสืบปราบเป็นคนรับผิดชอบ
สี่ ‘สืบสวนสอบสวน’ คุณไม่ต้องยุ่งเรื่องป้องกันและปราบปรามเลย คุณมีหน้าที่สืบสวนเพื่อช่วยเหลือพนักงานสอบสวน เขาฆ่ากันตายจะไปเอางานป้องกันมาช่วยสืบหรอ จะเอาสืบปราบมาช่วยหรอ ตอนนั้นผมตั้งไว้เฉพาะคดีอาญาเท่านั้น ใครฆ่ากันตาย ใครข่มขืน เวลาจะค้นหาพยานหลักฐานก็ใช้สายสืบสวนสอบสวน
ห้า ‘ความมั่นคงและกิจการพิเศษ’ สายนี้ก็ทั้งกลุ่มงานจราจร ดูแลปิดถนน งานเสด็จ ด้านความมั่นคงต้องหาข่าว มีใครประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ไหม มีใครคิดลอบปลงพระชนม์ไหม มีม็อบก็งานฝ่ายความมั่นคง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช้สายนี้ หรือแนวชายแดนก็สายนี้
แต่ตอนนี้อย่างเวลาผมเชิญ รอง ผบ.ตร. มาที่ กมธ. เขาบอกขออนุญาตเลื่อนครับ ต้องไปสืบจับคดีนั่นนี่ เราก็คิดไอบ้าเอ้ย ระดับ รองผบ.ตร. มาทำหน้าที่พวกนี้ไม่ได้แล้ว มันเป็นงานของเด็ก งานคุณคือบริหาร
และที่บอกว่าตำรวจฉ้อราษฎรแต่ไม่บังหลวง เพราะงบประมาณตำรวจมันน้อย ตำรวจแต่ก่อนโบราณทำงานบริหารไม่เป็น ตั้งงบประมาณไม่เป็น อย่าง เวลารถชนกันหรือรถเสีย ก็บอก ‘เฮ้ย! เฮียช่วยซ่อมหน่อย’ แล้วให้เจ้าของบ่อนหรือคนที่เปิดอะไรผิดกฎหมายเอาเงินไปจ่ายให้ สิบปีสามสิบปีไม่มีงบประมาณใช้ ทหารมันก็เอาไปเรื่อย ขนาด COVID-19 มันยังไม่ยอมลดงบประมาณเลย เพราะเป็นทางทำมาหากินของตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ แต่จะปล่อยให้ลูกน้องอดตายหรอ อาวุธต้องซื้อจำเป็น เพื่อให้มีเงินทอน
สำหรับคนได้ชื่อว่า ‘มือปราบตงฉิน’ จิตวิญญาณของตำรวจคืออะไร
มันต้องมีอุดมคติ ไปถามตำรวจมันท่องและจำได้ทุกคน เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่, กรุณาปรานีต่อประชาชน, อดทนต่อความเจ็บใจ, ไม่ไหวหวั่นกับความยากลำบาก, ไม่มักมากในลาภผล, มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อปวงชน, ดำรงตนในยุติธรรม, กระทำการด้วยวิญญา, รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
คุณท่องได้ คุณจำได้ ผมเกษียณแล้วยังจำได้ แต่คุณทำกันหรือเปล่า
Fact Box:
- ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจปกครอง ได้มีการกำหนดให้การปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูป โดยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมาแล้ว 4 ชุด และมีการออกประกาศเพื่อแก้ไขและปรับโครงสร้าง ก.ตร. และ ก.ตช. รวมถึงเพิ่มอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของ ผบ.ตร. หรือกล่าวได้ว่ามีความพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มากกว่าแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่พยายามกระจายอำนาจออก
- ประกาศ คสช. ฉบับที่ 88/2557 แก้ไของค์ประกอบของ ก.ต.ช. ด้วยการเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็นกรรมการ และลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสี่คนเป็นสองคน และแก้ไของค์ประกอบ ก.ตร. โดยลดสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 11 คน เหลือ 2 คน
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2559 ให้อำนาจ ผบ.ตร. แต่งตั้งข้าราชการตํารวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการถึงผู้กำกับ โดย ผบ.ตร.สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งเองได้
- การเลือก ผบ.ตร. ในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
- ให้ ผบ.ตร. คนเดินเลือกตัวแทนจาก รองผบ.ตร. หรือเจรตำรวจแห่งชาติที่ยังไม่เกษียณ
- ผบ.ตร. นำชื่อเสนอให้ให้คณะ ก.ต.ช. 7 คน ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน ลงคะแนนเสียงเลือกด้วยกัน
- เมื่อ ก.ต.ช. เห็นชอบให้นำชื่อเสนอนายกฯ และขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป