“ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร”
“ศิลปะอับอายมามากพอแล้ว เพราะคนที่ไม่รักเสรีภาพแบบนี้”
วาทะเด็ดที่กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ หลังงานศิลปะของเหล่านักศึกษาวิจิตรศิลป์ ถูกกลุ่มคนมาเก็บใส่ถุงขึ้นรถ ก่อนที่อาจารย์ท่านหนึ่งจะปรากฏตัวขึ้นมา พร้อมคำพูดต่างๆ มากมาย ก่อนจะสามารถทวงคืนผลงานศิลปะของเหล่านักศึกษากลับมาได้สำเร็จ
อาจารย์คนดังกล่าว คือ ผศ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองมากมาย ทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วม ‘ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง (112 Hunger Strike)’ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2554 และได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ คสช.หยุดจำกัดเสรีภาพนักวิชาการ และนักศึกษา ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ.2557
The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.ทัศนัย ถึงประเด็นเรื่องศิลปะและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อทำความเข้าใจถึงความหมายของคำพูดที่ว่า “ศิลปะและเสรีภาพแม้จะเขียนต่างกัน แต่ก็เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน”
ศิลปะยึดโยงอยู่กับสังคมอย่างไร
เพราะศิลปะกับเสรีภาพ เป็นคำสองคำที่สะกดและออกเสียงต่างกัน แต่ว่ามีความหมายอย่างเดียวกันอย่างแยกกันไม่ออก ศิลปะมันคือเสรีภาพในตัวเอง แต่เสรีภาพนี้ มันไม่ใช่อิสรภาพในการทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ อย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจว่าศิลปินเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่อิสรภาพในความหมายที่ว่า การทำอะไรก็ได้ ตามอำเภอใจ
แต่ว่าอิสรภาพและเสรีภาพในความหมายที่ผมบอกว่า มันคือคำคำเดียวกับคำว่าศิลปะ เพียงแต่ว่ามันสะกดและอ่านออกเสียงต่างกัน มันจะมีความหมายต่อเมื่อมันอยู่ในพื้นที่ทางสังคม หมายถึง ศิลปะมีหน้าที่และบทบาทของมัน ศิลปะไม่ได้มีบทบาทสำหรับคนในวงการศิลปะ หรือมีไว้เพื่อจรรโลง หรือบำเรอ แรงปรารถนาของศิลปินเพียงเท่านั้น ดังนั้น ศิลปะ เสรีภาพ และสังคม จึงเป็นสมการที่ไม่สามารถดึงส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันได้
ศิลปะที่เป็นอยู่ตอนนี้กับสภาพของสังคมไทย มันมีผลเกี่ยวโยงกันและกันอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่า ประเด็นมันต้องแยกแบบนี้ ศิลปะ เสรีภาพ และอิสรภาพก็ยังดำรงอยู่ ดำรงอยู่ในหัวใจของศิลปิน หรือคนที่ไม่ได้เป็นศิลปิน ก็คือ ทุกคนมีเสรีภาพ ดังนั้น ทุกคนก็สามารถที่จะถ่ายทอดความคิดของตัวเอง จะเรียกว่า ผลงานศิลปะหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้น สปิริตตรงนี้มันยังอยู่ แล้วก็ยังอยู่ในพื้นที่ทางสังคม
แต่จากคำถามก็คือ ในแวดวงศิลปะ มันก็เป็นพื้นที่ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ในสังคมหนึ่ง ก็จะมีพื้นที่หลายประเภท อย่างพื้นที่ของศาสนา พื้นที่ของสุขภาพ พื้นที่ทางศิลปะก็เป็นพื้นที่แบบหนึ่ง แล้วพื้นที่ทางสังคมดังกล่าวที่เรียกว่าเป็นแวดวงศิลปะ มันอยู่ภายใต้กรอบของพื้นที่ใหญ่อีกอันหนึ่ง ก็คือ ระบอบการปกครอง เพราะฉะนั้น สำหรับแวดวงการศิลปะไทย เมื่ออยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่คับแคบและไม่ยอมรับอิสรภาพ เสรีภาพของเสรีชน ไม่ว่าเสรีชนนั้นจะเป็นศิลปินหรือว่าเป็นบุคคลธรรมดา วงการศิลปะไทยก็คับแคบตามไปด้วย
แต่ศิลปินที่อยู่ในวงการศิลปะก็มีหลายฝักหลายฝ่าย ถามว่า ศิลปินที่โหยหาพื้นที่ที่มันกว้างกว่านี้ เขายังมีอิสรภาพในตัวเองอยู่หรือไม่ ? มีแน่นอน เพราะอิสรภาพมีติดตัวอยู่กับทุกคน อย่าลืมนะ อิสรภาพ เสรีภาพ แล้วก็ไม่ใช่การทำอะไรตามอำเภอใจ เช่น อยู่ดีๆ ขับรถ แล้วก็อยากจะหยุด อันนี้เรียกว่าเป็นอิสรภาพของศิลปินหรือเป็นพันธะที่ศิลปะมีต่อสังคมไม่ได้ อันนี้เขาเรียกว่า การทำอะไรตามอำเภอใจ
คนในสังคมมักจะเข้าใจหรือมองภาพวงการศิลปะเป็นแบบนั้น แล้วศิลปินบางคนก็ผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ว่า ฉันทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ ดังนั้น ฉันจะเบียดบังเสรีภาพของคนอื่นก็ได้ ฉันจะบงการระบอบการปกครองที่ฉันเห็นว่า มันเป็นประโยชน์ต่อฉัน แล้วคนอื่นไม่สนใจ เช่น ไปปิดคูหาเลือกตั้ง หรือเป็นนั่งร้านให้เผด็จการ แบบนี้ถือว่าไม่ใช่อิสรภาพและเสรีภาพของเสรีชน มันเป็นการทำอะไรตามอำเภอใจ
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีภาพจำว่า ศิลปินต้องติสท์ ต้องทำอะไรตามอำเภอใจ
ผมคิดว่า หลังจากที่ศิลปะในโลกตะวันตกหลุดออกมาจากกรอบการครอบงำของศาสนจักร หลักการทางมนุษยนิยม และปัจเจกชนนิยม ทำให้เสรีภาพในศิลปะมีความสำคัญ แล้วในโลกตะวันตก พอหลังจากยุคนั้น คนก็มีความหวังต่อศิลปะที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับความคิดแบบมนุษย์นิยม และความคิดแบบปัจเจกชนนิยม เพราะฉะนั้น อิสรภาพดังกล่าว จึงไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในแวดวงศิลปะเท่านั้น แวดวงของการค้นคิดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ในแขนงต่างๆ ก็มีความสำคัญด้วย
เพราะฉะนั้น สังคมก็เลยมีความหวังว่า ความคิดสร้างสรรค์กับเสรีภาพมันก็เป็นบทบาทของวิชาชีพเหล่านี้ อย่างของนักวิทยาศาสตร์ ก็เป็นเสรีภาพที่จะท้าทายกรอบเชื่อเดิมนำไปสู่ความเชื่อใหม่ นำไปสู่นวัตกรรมที่ทำให้วิถีชีวิตมันเปลี่ยนไป แล้วฝากความหวังไว้กับศิลปิน ศิลปินก็อยู่ในโลกของความคิดสร้างสรรค์ก็ควรจะต้องมีเสรีภาพ และอิสรภาพด้วย
เพราะงั้น ภาพจำตรงนี้ก็เป็นประเพณีศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร แต่เผอิญว่า พอความคิดนี้เดินทางมาในสังคมไทย เราเอาแต่ท่าทีเขามา แต่เราไม่ได้เอาความเชื่อเขามา เราเอาแต่รูปแบบศิลปะมา แต่เราตัดอิสรภาพและเสรีภาพออกไป แล้วก็เข้าใจผิดว่ามันเป็นคำเดียวกับคำว่า ทำอะไรตามอำเภอใจ
นึกถึงประโยคที่มีคนเคยพูดว่า “ในสังคมเผด็จการ ศิลปะจะไม่งอกเงย” คิดเห็นอย่างไรบ้าง
วงการศิลปะไม่งอกเงย (ในสังคมเผด็จการ) แต่ศิลปะยังงอกเงยในหัวใจของเสรีชน ศิลปินก็ทำงานของตัวเอง แล้วผมก็คิดว่า ถ้าผมจะหนุนใจศิลปินคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปว่า โอเค เสรีภาพ อิสรภาพ ยังอยู่กับตัวเรา เพียงแต่ว่า มันอาจจะไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกทางสาธารณะ เพราะว่ามันยึดโยงเข้ากับระบบการปกครอง แต่ถามว่า มันห้ามหรือฉุดรั้ง แรงปรารถนาต่ออิสรภาพของเราได้หรือไม่ ไม่ครับ มันไม่สามารถฉุดรั้งจิตใจของศิลปินที่จะทะลุปล้องข้อจำกัดของวงการศิลปะไว้ได้
ถ้าพูดโดยสรุปก็คือ วงการศิลปะกับระบอบการปกครองของไทยค่อนข้างจะคับแคบ มีลักษณะของความเป็นอำนาจนิยม พวกพ้องอยู่สูงมาก อย่างที่เห็นในคลิปวิดีโอนั่นแหละ
อาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า หนทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้ คือการเป็นประชาธิปไตย อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มอีกหน่อย
ใช่ ก็เพราะว่าศิลปะเป็นทั้งจิตสำนึก แล้วก็เป็นทั้งเครื่องมือ หมายถึง เป็นวิธีการพูดและการแสดงออกของเสรีชน ดังนั้น ถ้าทุกคนเข้าใจถึงพันธะของจุดมุ่งหมายดังกล่าว ศิลปะก็สามารถที่จะแผ่วถางทางไปสู่ประชาธิปไตยได้ ในทางกลับกัน ระบบประชาธิปไตยก็จะทำให้ดอกผลของโลกศิลปะ วงการศิลปะ รวมทั้งผลงานศิลปะ และศิลปิน เจริญงอกงามได้ด้วย
ในขณะที่ ประเทศที่มีข้อจำกัดของเสรีภาพ ก็คือระบอบเผด็จการ มันทำให้แปลงดอกไม้ของศิลปะ ค่อยๆ เหี่ยวเฉาลงไป วงการมันก็ค่อยๆ เหี่ยวเฉาและตายลงไป รวมทั้งผลงานศิลปะและศิลปินด้วย ก็จะมีเพียงแค่ศิลปินบางกลุ่ม ที่จะได้การสนับสนุน ได้น้ำรด ได้ปุ๋ยที่ทำให้เร่งดอก เร่งใบ เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น แต่เราก็ไม่เรียกว่า มันเป็นแปลงดอกไม้ของเสรีภาพได้
แปลว่า ระบอบการปกครองของประเทศเราในตอนนี้ มันเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการสร้างงานศิลปะ
ใช่ คำว่าศิลปะในความหมายนี้ ถ้าจะขยายความไปให้กว้างที่สุด ความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น อำนาจนิยมกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นปฏิปักษ์กัน โดยเฉพาะโรงเรียนศิลปะ มันไม่ควรจะมีความคิดหรือระบบคิดที่เป็นอำนาจนิยม เพราะโรงเรียนศิลปะก็คือสถานที่บ่มเพาะอิสรชน บ่มเพาะจินตนาการ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นจะออกมาเป็นรูปแบบไหน ผลงานศิลปะจะออกมาเป็นรูปแบบของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ หรือว่าวรรณกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า มรดกสำคัญของความเป็นมนุษย์
ถ้าอย่างนั้น ทำไมสถานศึกษาด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงในไทย ถึงดูจะมีความอนุรักษ์นิยมสูงล่ะ?
ผมคิดว่า -ism ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยม หรือว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นสกุลทางความคิด มันมีสิ่งที่เขาเรียกว่าสารประโยชน์ที่คนนั้นจะเอามาใช้ได้ ทีนี้ ในสังคมไทย อนุรักษ์นิยมมันใช้ได้ เพราะอนุรักษ์นิยมมันยึดโยงเข้ากับระบอบการปกครอง แต่เผอิญ มันใช้ไม่ได้กับที่อื่นๆ เพราะเขาเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการออกดอก ออกผลได้ เพราะฉะนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจึงต้องทำให้มันเกิดแพลตฟอร์มของอิสรชน ไม่ใช่อนุรักษ์นิยม
อนุรักษ์นิยมก็ยังดำรงอยู่ได้ คนที่ทำงานก็ทำไป แต่ว่าในประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาก็จะให้แพลตฟอร์มของคนที่มีกำปั้นพอๆ กัน เข้าถึงสารประโยชน์แล้วก็การสนับสนุน หรือว่าโอกาสอะไรต่างๆ นานาที่เท่าเทียมกัน
แต่ว่าสังคมไทย อนุรักษ์นิยมกดทับทุกอย่างเอาไว้ แล้วก็ดูดซับทุกอย่างเอาไว้ ทำให้ตัวเองเติบโตมากกว่าส่วนอื่น เพราะฉะนั้น มันก็ทำให้แพลตฟอร์มส่วนอื่นของสังคมไม่งอกงาม
ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะ จะทำยังไงไม่ให้ลูกศิษย์ หรือคนรุ่นหลังๆ ถูกระบบหรือค่านิยมต่างๆ กลืนกิน
ก็จะต้องทำให้เขาเห็นและเข้าใจว่าเราอยู่ในโลกแบบไหน อยู่ในวงการศิลปะแบบไหน ต้องทำให้เขาเห็นและเข้าใจ
ผมว่า มันเป็นบทบาทของผู้สอนหนังสือนะ ผมสอนวิชาแนวคิดเป็นหลัก รวมทั้งวิชาปฏิบัติด้วย แล้วก็วิชาแนวคิดมากมายที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาศิลปะ สังคมวิทยาทางศิลปะ การเมืองของศิลปะ มันเป็นประวัติศาสตร์ความคิด ซึ่งก็ใช้เวลาและถูกพัฒนามาเป็นร้อยๆ พันๆ ปี บางแนวคิดที่ผมจะต้องบรรยาย ถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่ผมไม่ชอบเลยโดยส่วนตัว ผมก็ต้องบรรยายให้ลูกศิษย์ฟังว่า มันมีแนวคิดแบบนี้อยู่
แต่ในการทำงานส่วนตัว ผมก็จะทำงานตามแนวคิดที่ผมนิยม แต่ว่าเวลาสอนหนังสือ เราก็ต้องแยกเรื่องนี้ออกไปว่า มันเป็นโลกของความคิด ผมก็ต้องทำให้นักศึกษาเขาเข้าใจทุกความคิด
ศิลปะส่วนใหญ่ที่ได้รับการยอมรับ มักพูดถึงเรื่องความดีงาม ความสวยงาม แต่ไม่ได้แตะต้องประเทศทางสังคมขนาดนั้น ตรงจุดนี้คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
เพราะว่า มันเป็นบันไดไปสู่ยศถาบรรดาศักดิ์ เหมือนที่บอกว่า ศิลปะไม่เป็นเจ้านายของใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร ในศิลปะ เรามีศีลเสมอกัน แต่ว่าคนเหล่านี้ ถ้าปฏิเสธการเคารพซึ่งคนด้วยกัน เคารพศิลปินด้วยกัน เคารพผลงานศิลปะใน -ism ต่างๆ แล้วก็เอาตัวเองซึ่งเป็นศูนย์กลาง ไปตัดสินทุกสิ่งอย่าง คนเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะนิยมเสรีภาพ เพราะว่าเขาเสียประโยชน์ เขาก็เลยต้องกอดรัดทุกอย่างเอาไว้ อย่างที่ว่า ความเป็นอนุรักษ์นิยมมันใช้ได้ มันเป็นบันไดที่นำไปสู่การมียศถาบรรดาศักดิ์ อำนาจ วาสนา บารมี
เพราะฉะนั้น ศิลปินที่ไม่เคารพมนุษย์ จึงเท่ากับว่า ไม่เคารพตัวเองด้วย พอไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง ก็จะมุ่งเข้าสู่ความสำเร็จในแบบอนุรักษ์นิยม
แล้วจากผลงานของนักศึกษาที่โดนทิ้ง มันมีกระแสที่บอกว่า ไม่ใช่งานศิลปะ แต่เป็นขยะ อาจารย์มองว่ายังไง
ผมคิดว่า ถ้าคนที่ศึกษาศิลปะและพัฒนาการของศิลปะมาพอสมควร เขาเลิกถามเรื่องศิลปะกับขยะไปร้อยปีที่แล้ว อาจจะเป็นคำถามจากคนที่ไม่ได้คุ้นเคยนักกับประวัติศาสตร์ และพัฒนาการศิลปะ หรืออาจจะเป็นคำถามจากคนในแวดวงศิลปะเอง แต่ไม่ได้ศึกษาต่อเพิ่มเติม หรือเป็นคนที่มาจากวงการศิลปะเอง ที่เต็มไปด้วยอคติและรสนิยมความชื่นชอบตัวเองว่าศิลปะคืออะไร
การมองคนว่าเท่ากัน มันสำคัญขนาดไหน แล้วถ้ามองคนไม่เท่ากันจะเป็นอย่างไร?
มันก็จะทำให้รสนิยมทางสุนทรียศาสตร์ แล้วก็สายตาของเราในการมองศิลปะคับแคบ กลายเป็นมองเห็นความงามที่คับแคบ เห็นรูปแบบศิลปะที่คับแคบ แล้วก็จะเอาตัวเองเป็นหลัก มองว่าตัวเองเหนือว่าคนอื่น หรือรสนิยมของตัวเองมีคุณค่ามากกว่าคนอื่นเขา ตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วผมเห็นว่า อันนี้คือสาเหตุหลักเลยที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้น ก็คือ พอไม่มองคนเท่ากัน ก็ทำให้คิดว่ารสนิยมศิลปะของตัวเองถูก แล้วก็มองว่าของคนอื่นเป็นขยะไปเสียหมด
จากเหตุการณ์นี้มันก็มีคำถามที่คนเถียงขึ้นมาอีกว่า ศิลปะมันต้องสวยงามด้วยสิ ต้องตีความยากด้วยสิ ซึ่งจริงๆ มันก็เถียงกันมานานแล้ว แต่อยากให้อาจารย์ช่วยพูดถึงประเด็นนี้หน่อย
ศิลปะก็เหมือนกับดอกไม้ เหมือนต้นไม้ ต้นไม้บางต้นก็สวยที่กิ่ง บางต้นก็สวยที่ใบ บางต้นก็สวยที่ลีลา บางต้นก็สวยเพราะความหอมของดอก บางต้นก็สวยเพราะราก บางต้นให้คุณประโยชน์ให้ร่มเงา บางต้นก็กินได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ ก็จะไม่มองว่า ศิลปะต้องมีความงามอย่างเดียว หรือมีความคิดอย่างเดียว มันมีหลายอย่าง เหมือนกับต้นไม้ครับ ไม่มีใครที่จะปลูกมะม่วงทั้งโลกใช่ไหมล่ะ?
แล้วช่วงที่ผ่านมา มีศิลปินหลายคนที่แสดงออกทางการเมือง แล้วถูกคุกคาม ถูกจับไป ตรงนี้มองว่า มันสะท้อนอะไร
มันก็สะท้อนระบบการปกครองที่คับแคบ ไม่เคารพในความเป็นคน ไม่เคารพในอิสรชน สังคมแบบนี้เติบโตไม่ได้ จะแก้ได้ที่ไหนล่ะ จะแก้ตรงไหนล่ะ ก็ต้องแก้ที่ระบอบการปกครอง ด้านหนึ่ง ในภาพที่กว้างคือ ถ้าระบอบการปกครองดี ศิลปะก็คงจะดี ผู้คนก็มีพื้นที่ที่จะพูดได้ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่า หรืออยากจะพูดออกมาได้
แต่อีกด้านหนึ่ง ในด้านที่เล็กย่อยลงมาก็คือ ตัวผลงานศิลปะ หรือ practice ต่างๆ ตัวผลงานที่ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราช่วยกันผลักดัน มันก็อาจจะขึ้นไปเปลี่ยนโครงสร้างที่คับแคบนี้เช่นกัน มันก็มีทั้งสองด้าน
เคยเห็นอาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมการประท้วงอดอาหาร 112 ชั่วโมง อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่า เป็นมายังไง ทำไมถึงไปเข้าร่วม
ในช่วงเวลานั้น การพูดถึงมาตรา 112 มีความสุ่มเสี่ยง พอๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ ถ้าก่อนหน้านี้สักเดือนสองเดือน เราอาจจะยังมีพื้นที่ที่จะพูด เพราะไม่มีการใช้มาตรา 112 ในการกลั่นแกล้งคนอย่างเปิดเผยขนาดนี้ แต่ในช่วงเวลานั้น ผมคิดว่า มันก็มีคนหลายๆ กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมา และทำให้เห็นถึงปัญหาของการใช้มาตรา 112 แล้วก็เสนอทางออก ไม่ว่าจะเป็นทั้งแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 112 หรือยกเลิกมาตรา 112
พวกผมเอง รวมทั้งศิลปินอีกหลายคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น เราก็เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญตรงนี้ ก็คือปัญหาสำคัญของสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ศิลปินก็เป็นประชาชนคนนึงที่มีวิธีการแสดงความคิดเห็น ถ้าปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้เสียแล้ว ผลงานศิลปะก็ไม่รู้จะเป็นกระบอกเสียง หรือส่งสารในเรื่องใดได้
แต่กิจกรรมการ hunger strike การอดข้าว 112 ชั่วโมง ผมก็ไม่ได้อดข้าวกับเขานะ ผมทำหน้าที่ในการร่างแถลงการณ์ว่า hunger strike ในครั้งนี้ มันมีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น
ถ้าเทียบกับพื้นที่ของศิลปะที่พูดถึงเรื่องมาตรา 112 ในยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เราจะเห็นว่า บนท้องถนนหรือว่าในโซเชียล ผู้คนใช้ทักษะทางศิลปะโดยที่ไม่ต้องผ่านคนเรียนศิลปะในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะฉะนั้น ศิลปะจึงหลุดมือไปจากยุคที่สังคมคิดว่า ศิลปะเป็นสมบัติของศิลปินเท่านั้น
เราเห็นว่า ทุกคนใช้วิธีการทางศิลปะ แล้วก็มีคำถามว่า คนเหล่านั้นเป็นศิลปินหรือไม่ จบจากโรงเรียนศิลปะหรือไม่ ? ประชาชนธรรมดา เขาก็มีท้วงทำนอง หรือท่าทีในแบบศิลปะที่จะถ่ายทอดความคิดเห็นในแบบของเขา ทั้งโลกออนไลน์ก็ดี หรือว่าโลกแห่งความเป็นจริงในการประท้วงอะไรต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่ามันงดงามกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ หรือพื้นที่จัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำไป
อาจารย์มองว่า คนที่สร้างศิลปะ ต้องเป็นศิลปินเท่านั้นไหม
ไม่ อย่างที่บอกว่า ศิลปะและเสรีภาพมันเป็นสองคำที่มีความหมายเดียวกัน แต่สะกดและอ่านออกเสียงคนละแบบกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนมีศิลปะในหัวใจ หมายถึงว่า มีเสรีภาพในหัวใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ถูกฝึกปรือมาให้เป็นศิลปิน
ศิลปะมันจึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคกัน
ศิลปะมันจำเป็นต้องขบถต่ออะไรสักอย่างนึงไหม?
เสรีภาพดำรงอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ในอาชีพการงานต่างๆ ศิลปินก็เป็นผู้คนเหล่านั้น แต่ว่า อีกคำนึงที่สำคัญนอกจากเสรีภาพก็คือ อิสรภาพ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ เช่น ถ้าผมเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวคนนึง แล้วก็มีอีกท่านหนึ่ง เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวข้างๆ ผม ผมมีเสรีภาพที่จะทำกับข้าว ก๋วยเตี๋ยวในสไตล์แบบไหนก็ได้ ในขณะที่ร้านข้างๆ เขาก็ทำของเขา ผมไปห้ามปรามเขา ไปบอกว่า “เฮ้ย ยู ก๋วยเตี๋ยวแบบนี้ห้ามทำ” เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ได้ มันผิดจรรยาบรรณคนขายก๋วยเตี๋ยว คุณก็ต้องแข่งขันกัน ถูกไหม แต่ว่าสิ่งที่เขาเสิร์ฟในร้านก๋วยเตี๋ยวก็คือ ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง แล้วคนที่มาบริโภคก็ลิ้มรสก๋วยเตี๋ยว ไม่ว่าจะร้านไหนก็ตาม แล้วทั้งสองร้านก็แข่งขันกันไป อย่างมีอิสรภาพแล้วก็ไม่เล่นสกปรกกัน มันเป็นธุรกิจ
แต่ว่าในวงการศิลปะ มันมากกว่าการขายก๋วยเตี๋ยวตรงที่ต้องการอิสรภาพ อิสรภาพที่จะละเมิดกฎระเบียบบางอย่าง ถ้าจะทำกับข้าวขายก็ต้องละเมิดกฎระเบียบของรสชาติ เป็นต้น อิสรภาพตรงนี้คนที่ทำอาชีพศิลปะจึงต้องการมากกว่าคนอื่น เพราะมันไม่ใช่แค่ธุรกิจในการขายศิลปะ แต่ทำหน้าที่ในการวิพากษ์ วิจารณ์ กระตุกเตือน หรือให้สังคมได้ลิ้มรสถึงห้วงความคิดใหม่ ที่บางครั้งก็กระตุกเตือนเขา ให้เขาเห็นในสิ่งที่เคยเห็นว่า มันเป็นเรื่องปกติ ในมุมมองใหม่ๆ
เพราะงั้น กลุ่มศิลปิน อาจจะต้องการอิสรภาพตรงนี้มากขึ้น เพราะว่าศิลปะไม่เหมือนก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง มันทำหน้าที่ในการกระตุกเตือนสังคม เพื่อให้เห็นโลกในมุมใหม่ๆ ด้วย
เหมือนกับต้องมีการสร้างความฉุกคิดบางอย่างให้กับสังคมด้วย?
ใช่เลย เพราะฉะนั้น ยิ่งถ้าคุณเป็นศิลปิน แล้วไม่สร้างการฉุกคิดดังกล่าว ไม่ทำให้สังคมได้เปิดมุมมองใหม่ อารยธรรของมนุษย์ก็หยุดนิ่ง เรามาเป็นมนุษย์ในปัจจุบันได้ เพราะเราวิวัฒน์ไปด้วยความคิดใหม่ๆ แล้วความคิดใหม่ๆ บางครั้งมันท้าทายระเบียบบรรทัดฐานเดิมๆ
ถ้าเราอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งอิสรภาพ ศิลปะจะเป็นยังไง
ผมยังคิดว่า ศิลปะก็ยังอยู่ในใจของศิลปินผู้ที่ยังรักอิสรภาพอยู่ แต่อาจจะไม่มีพื้นที่ที่เขาจะสำแดงออกในความคิดนั้นได้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แล้ว เราก็เห็นในยุคนาซี ที่ศิลปินจำนวนมากก็ต้องระหกระเหินออกจากบ้าน โดนตามล่า ต่างๆ นานา คนเหล่านั้นจิตใจที่ยิ่งใหญ่ มันก็จะถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์
แต่ต้องอย่าลืมว่า ปัจจุบัน โลกมันกว้างขึ้น คำว่าวงการศิลปะ ก็คือพื้นที่ของศิลปะก็กว้างขวางกว่าเดิม ไม่ใช่พื้นที่เฉพาะในประเทศไทย แต่มันจะมีไว้เป็นสารประโยชน์ต่อคนที่เคารพตัวเองเท่านั้น
กลับกัน ถ้าสมมติว่า เพดานในสังคมมันไม่เหลือแล้ว ศิลปะในมุมของอาจารย์จะเป็นอย่างไร
ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีรูปแบบศิลปะใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ผมก็คิดว่า มันจะทำให้โลกเราวิวัฒน์ไป แล้ววิธีการทางศิลปะก็จะถูกพัฒนาให้ล้ำหน้าไปอีก หมายถึงจะก้าวหน้า เราก็ไม่รู้ว่า ความเป็นไปได้ที่มากมาย อะไรจะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยมันมีความเป็นไปได้ที่มากมาย รออยู่ในอนาคต
ในฐานะที่เป็นอาจารย์คิดว่าจะสามารถดันเพดานของเสรีภาพในโลกศิลปะต่อไปได้อย่างไรบ้าง
ผมไม่มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้ผลักดันอะไร แต่ว่าผมก็มีความฝันในโลกที่ผมอยากจะเห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วผมก็คิดว่า ถ้ากระแสที่เกิดขึ้นนี้ ผู้คนมีความรู้สึกเดียวอยู่ในใจกับผมอยู่แล้ว มันไม่ใช่ว่าผมจะต้องมาผลักดันอะไร เพื่อที่จะทำให้คนมาได้เข้าใจอะไร ผมว่า คนจำนวนมากในสังคมไทย เข้าใจอะไรอยู่แล้ว แล้วผมคิดว่า การร่วมไม้ร่วมมือกัน ความกล้าหาญที่จะพูดสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในใจมันก็จะเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น
ความฝันที่อาจารย์พูดถึงคืออะไร
ก็คือโลกที่มนุษย์มีเสรีภาพ และอิสรภาพมากขึ้น โลกที่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการมันหมดสิ้นไปแล้ว
ง่ายๆ ก็คือ ความฝันของผม คือโลกที่เรามีประชาธิปไตยและผู้คนมีสำนักต่อเสรีภาพ