เคยไหม ที่รู้สึกว่าอยากถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จะถามพ่อแม่ก็อาย จะถามเพื่อนก็เขิน จะถามหมอก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ไปถามชาวเน็ตก็มักจะได้คำตอบแปลกๆ ยิ่งเป็นผู้หญิง พื้นที่ที่จะกล้าออกมาพูดเรื่องนี้ก็น้อยลงไปอีก
The MATTER ชวนไปรู้จักกับเพจ ‘น้องสาว’ ที่อยากสร้างพื้นที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาพทางเพศ และกลายเป็นคอมมูนิตี้สำหรับการแลกเปลี่ยนปัญหาเรื่องเพศของผู้หญิง ซึ่งสร้างขึ้นจากความตั้งใจของ น้ำอ้อย—ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นแอดมินประจำเพจร่วมกับแอดมินอีกคนที่คอยรังสรรค์ภาพวาดน่ารักๆ ให้กับเนื้อหา
เพราะเธอมองว่า เรื่องเพศควรเป็นเรื่องที่คุยกันได้
ตอนนี้ทำอะไรอยู่ นอกจากเป็นแอดมินเพจ ‘น้องสาว’
ตอนนี้กำลังรอเริ่มทำงานที่โรงพยาบาลรามาฯ เพิ่งเรียนจบ ปกติหมอจะเรียนเฉพาะทางอีก 3 ปีใช่มั้ยคะ ซึ่งเพิ่งเรียนจบเมื่อตอนมิถุนายนที่ผ่านมา แล้วก็วางแผนว่าจะเป็นอาจารย์ต่อ แต่มันมีช่วง gap ที่เป็นช่วงรอสอบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเอาใบเฉพาะทางอีกใบ แล้วก็มีระยะเวลาที่ต้องรอนาน ก็เลยเป็นช่วงว่างมาทำเพจ
เราเรียนเฉพาะทาง ‘เวชศาสตร์ครอบครัว’ ไม่น่าจะรู้จักแน่เลย คือเป็นสาขาที่ค่อนข้างไม่บูมในเมืองไทย แต่ว่ามันเป็นสาขาที่ในต่างประเทศ ยุโรป อังกฤษ อะไรพวกนี้ หรือออสเตรเลีย เขาจะมีหมอประจำตัว สมมติมีคนมาถามเราว่า หมอประจำตัวเราคือใคร เราก็จะตอบได้ว่าคือหมอคนนี้ๆ เขาจะรู้ว่าเป็นใคร แต่ว่าบ้านเรามันไม่เหมือนกัน บ้านเราจะเป็นแบบ ถ้าเป็นอะไร ชิ้นส่วนไหน จะไปหาหมอเฉพาะทางชิ้นส่วนนั้น แต่ว่าระบบนี้เขาจะเรียกว่า primary care หรือระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิ เราก็จะมีหมอที่ดูแลประจำตัว รู้ว่าเราเป็นลูกคนเดียว ทำงานที่ไหน เพิ่งเรียนจบใหม่ อะไรแบบนี้ เขาจะรู้มุมมองอย่างนั้น แล้วพอเราเป็นอะไรขึ้นมา เขาก็จะรักษาให้ตรงกับชีวิตเราได้มากที่สุด
คือทุกวันนี้เมืองไทยชอบเดินทางตามสายอเมริกา ของอเมริกาจะแยกเฉพาะทางชิ้นส่วนต่างๆ
อย่างเช่น แขนหักก็ไปหาหมอกระดูกเฉพาะทางเรื่องแขน ปวดตาไปหาหมอตา อะไรงี้ แต่ถ้าเกิดว่าระบบที่มีหมอประจำตัว เวลาเราเป็นอะไร เราจะไปหาหมอคนนี้ก่อน ถ้าเขารักษาได้ก็รักษาเลย แต่ถ้ารักษาไม่ได้ อย่างเช่น ต้องผ่าตัด ใส่เฝือกอะไรอย่างนี้ เขาก็จะส่งต่อ มันเลยจะทำให้ระบบไม่ล้นโรงพยาบาล
ถ้าระบบดีๆ ก็คือจะทำให้มีหมอประจำตัวต่อคน ซึ่งตอนนี้เขาก็พยายามผลักดันกันอยู่ อย่างรัฐธรรมนูญนี้ก็บอกว่าให้มีหมอครอบครัวประจำตัวทุกคนภายในระยะเวลาอีกเท่าไหร่ปีๆ ก็เร่งผลิตกัน
เคยได้ยิน ‘คลินิกหมอครอบครัว’ มั้ย เขาพยายามผลักดันให้มีระบบนี้ขึ้นมา สาขานี้ก็เป็นสาขาขาดแคลนอันนึง อาจจะเข้าใจยากนิดนึง มีคนชอบถามว่าแล้วต่างจากหมอทั่วไปยังไง คือหมอทั่วไป ถ้ามาด้วยอาการปวดหัว ก็จะดูได้แค่อาการปวดหัว แต่หมอครอบครัวจะมีมุมมองที่มันลึกขึ้น ในแง่จิตใจ ในแง่ครอบครัว เช่น หมอทั่วไปอาจจะมองได้ในแง่ว่า เป็นปวดหัว tension headache ธรรมดา เอาพาราไป พักผ่อนเยอะๆ อย่าเครียดน้า แล้วก็กลับไป แต่หมอครอบครัวอาจจะมองว่า โอเค ก็ tension headache แหละ แต่ว่าตอนนี้ทำไมเป็น สาเหตุเพราะเพิ่งเรียนจบใหม่ เริ่มงานใหม่ หรือทำงานสื่อที่ต้องแข่งขันนู่นนี่นั่น เหมือนเข้าใจชีวิตมากขึ้น แล้วมันจะทำให้เข้าใจหลายๆ อย่าง เพราะบางทีมันแก้ไม่ถูกจุดไง เช่นปวดหัวแต่จริงๆ ทะเลาะกับแม่เรื่องมาทำฟรีแลนซ์อะไรแบบนี้
อีกงานนึงที่ต่างจากหมอทั่วไปก็คือ การเยี่ยมบ้าน ส่วนใหญ่ภาพหมอจะอยู่ในโรงพยาบาลใช่ปะ แต่ว่าหมอครอบครัว จะมีงานที่ออกไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านด้วย เช่น คนไข้ติดเตียง หรือว่าคนไข้ที่มีปัญหาอะไรที่มาโรงบาลไม่ได้ อย่างเช่นมีคนมาหาด้วยเรื่องปวดหัวนี่แหละ ถามๆ ไปแล้วเขาเป็นผู้ดูแลของคุณแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ติดเตียงอยู่ที่บ้าน อันนี้ถึงแม้ว่าคนไข้ของเราจะเป็นลูกที่เป็นผู้ดูแล แต่คนที่ป่วยจริงๆ คือคุณแม่ที่บ้าน เราก็จะไปเยี่ยม ดูว่าคุณแม่ฟังก์ชั่นเป็นยังไง ทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ต้องดูแลยังไง ไปช่วยเขาดูที่บ้าน ไปแก้ตรงนั้น คนเป็นลูกจะได้เครียดน้อยลง ได้พักผ่อนเพิ่มขึ้น
เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว แล้วมาทำเพจเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศได้ยังไง
ก็มาจากการที่เราเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวนี่แหละ ตอนที่เราเรียน อย่างที่บอกว่าหมอเวชศาสตร์ครอบครัวก็เหมือนหมอทั่วไป คือก็ยุ่งไปทุกเรื่อง ทุกชิ้นส่วนของร่างกาย แล้วจะมีการเรียนอันนึง เป็นการอ่านหนังสือที่มันนอกเหนือจากตำราแพทย์ ก็เป็นตำราแพทย์แหละ แต่มันไม่ได้เรียนตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นเรื่องการดูแลครอบครัวในประเด็นต่างๆ เช่น การดูแลครอบครัวกลุ่มคนโสด กลุ่มหย่าร้าง กลุ่มเพศเดียวกัน
มีบทหนึ่งเป็นเรื่องการดูแลครอบครัวเกี่ยวกับเรื่อง sexual health หรือสุขภาพทางเพศ แล้วมันก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ทำให้เราได้รู้ว่า ที่เราเรียนมา 6 ปี ทำงานมา 2 ปี เราไม่เคยรู้เลยว่าจริงๆ สุขภาพทางเพศมันถูก neglect ได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควร คือเล่มนั้นก็จะบอกถึงอุปสรรคของหมอกับคนไข้ในการพูดคุยกันเรื่องเพศว่าทำไม อย่างหมอเขินอาย ไม่กล้าถาม ไม่รู้ว่าตัวเองมีความรู้ดีรึเปล่า หรือว่าด้วยวัยที่ต่างกัน ด้วยเพศที่ต่างกัน ไม่กล้าถาม หรือบางทีก็ลืมไปเลยว่ามันเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน
คนไข้มีปัญหาก็ไม่กล้าถามหมอ ก็แบบ หมอจะรู้มั้ย สมมติเป็นผู้หญิงอีก หมอจะว่าเราแรดรึเปล่า มาถามเรื่องเพศอะไรงี้ มันก็จะมี barrier อยู่ ซึ่งเราก็รู้ว่า เห้ย มันเป็น gap แล้วเท่าที่สังเกตตัวเองมา รู้สึกเป็นคนชอบ fill gap เห็นช่องว่างอันไหนที่เติมเต็มได้ แล้วเราพอที่จะทำได้ เราก็ชอบทำอะ ชอบเติมตรงส่วนที่ยังไม่มีใครทำ
ก็เลยทำให้ได้เริ่มเห็นว่า สุขภาพทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา
เลยนึกย้อนกลับไปว่า ตอนเรียนนักศึกษาแพทย์ ไม่มีใครมาสอนเราว่าจะดูแลเรื่องเพศยังไง จะสอนแค่เรื่องโรค เช่นว่า ผู้ชายไม่แข็งตัว ผู้หญิงเจ็บจิ๋ม ช่องคลอดแห้ง แล้วก็เล่นเป็นแบบมุกตลกอะ จำได้แค่แบบ เข้าไปแล้วก็เจออาจารย์ผู้ชายที่ดูทะลึ่งๆ หน่อย แล้วก็หัวเราะขำ เราก็ไม่กล้าถามอะไร ก็เขินๆ ไป ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดนะว่า เห้ย ทำไมอาจารย์ไม่สอนการเข้าหาคนไข้ การซักประวัติคนไข้ เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่ามันต้องทำ อาจจะเป็นว่าตอนนั้นก็ไม่รู้มั้งว่าปัญหาเรื่องเพศเป็นหน้าที่นึงของแพทย์
การเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว เขาจะให้แต่ละคนรับผิดชอบไปว่าไปอ่านบทไหน แล้วเราได้บทนี้ บังเอิญมาก แล้วพอเป็นคนอ่านเองมันก็อิน พออ่านแล้วไปพรีเซนต์หน้าห้อง ก็เลยเริ่มสนใจ แล้วก็ไปเรียนวิชาเลือกเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนปีสามเฉพาะทาง เขาจะมีให้เรียนวิชาเลือก เลือกอะไรก็ได้ แล้วเราก็รู้จากเพื่อนว่าที่เมืองไทยมี sexual health clinic ที่เดียวที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ก็คือที่ธรรมศาสตร์ ทำโดย อาจารย์อติวุทธ กมุทมาศ คืออาจารย์ท่านนี้เขาไปเรียน ป.โท แล้วก็ ป.เอก เป็นเกี่ยวกับเรื่อง human sexuality เป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่การแพทย์มาก จะเป็นเชิงสังคมศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็เลยจะไม่ได้เป็นแบบแพทย์เฉพาะทางต่อยอด แต่เป็นสายปริญญาโท ปริญญาเอกที่มีด็อกเตอร์นำหน้า
แต่ว่าอาจารย์ก็มาเปิด sexual health clinic ที่ธรรมศาสตร์ เขาเป็นหมอสูติฯ ก็เลยได้ไปเรียน พอได้ไปเรียนก็เปิดโลกจริงๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่พี่พยาบาลเขากำลังคุยกับคนไข้ ซักประวัติหรือให้คำแนะนำ เราไม่เคยรู้เรื่องเลย แล้วเราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจสำหรับเรา เราชอบตรงนี้
แล้วอีกอันนึงที่รู้สึกก็คือ อาจารย์เป็นผู้ชาย
แล้วก็มีผู้ช่วยอาจารย์ที่มาช่วยสอนเป็นหมอก็เป็นผู้ชาย
แล้วก็มีพี่พยาบาลผู้หญิง แต่ว่าหมอส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ก็เลยคิดๆ ดูว่า ถ้าเราเป็นผู้หญิง แล้วเราเจอหมอผู้ชาย คือถ้าผู้หญิงได้เจอหมอผู้หญิงมันน่าจะคลิกกว่ามั้ย เวลาได้คุยกันอะไรแบบนี้ ก็เริ่มรู้สึกว่า ผู้ชายเข้ามาที่คลินิกได้มากกว่า พูดง่ายๆ คือเห็นได้มากขึ้นว่าปัญหาสุขภาพทางเพศมันเป็น gap ใช่มั้ยอันแรก แล้วก็ยิ่งเห็นว่าสุขภาพทางเพศของผู้หญิงอะยิ่งโคตรจะเป็น gap ด้วยสังคมที่พูดว่าผู้หญิงห้ามพูดเรื่องเพศ กุลสตรีต้องรักนวลสงวนตัว มาพูดเรื่องเพศอะไรน่าเกลียด แรดเหรอ มันก็ยิ่งเป็นอะไรที่ถูกปิดไว้
แล้วก็ไปดูเพจอื่นๆ ด้วยว่าเขาทำอะไรกันบ้าง มีเพจของหมอยูโร หมอศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ เป็นหมอผู้ชายเขียน ออกเชิงทะลึ่งและติดตลก แต่ก็สนุกดี ก็ได้ความรู้ด้วย แต่ก็เป็นเชิงผู้ชายเล่า มีเพจวาดรูปที่ก็วาดอะไรเกี่ยวกับจู๋ๆ เยอะ แต่ให้คำแนะนำเรื่องซิฟิลิส หนองใน อะไรงี้ คือมันเป็นเชิงนั้น เราก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีเพจที่หมอผู้หญิงทำเนอะ คือก่อนเราทำเราก็ลองไปดูว่าใครทำอะไรบ้าง จะหา gap พอเสิร์ชส่วนใหญ่ก็จะเจอขายของค่อนข้างเยอะ ไม่ได้มีเพจไหนที่มาให้ความรู้แบบจริงๆ เราก็เลยคิดว่ามันเป็น gap อยู่ จริงๆ คิดจะทำมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่พอว่างก็เลย เออ ทำเลย!
ตั้งเป้าหมายของเพจนี้ไว้ยังไงบ้าง
ก็อยากให้สุขภาพทางเพศของผู้หญิงดีขึ้น อาจจะด้วยหลายๆ วิธี หนึ่ง ก็คือมาอ่านความรู้ในเพจที่เราเล่า แล้วรู้วิธีดูแลตัวเอง รู้สิทธิ์ตัวเองเพิ่มขึ้น สอง ก็คือเป็นเรื่องที่อยากให้ผู้หญิงมาคุยเรื่องเพศกันในสังคมมากขึ้น อาจจะเป็นวิธีใช้เพจเป็นเครื่องมือนึงในการที่จะเอาไปพูดคุยกัน เช่นว่า แชร์ออกไป มีคนกล้าที่จะกดแชร์ แล้วเพื่อนผู้หญิงมาเห็นก็อาจจะคิดว่า เห้ย มันคุยเรื่อง orgasm ว่ะ ก็อาจจะได้รู้มากขึ้นว่าเพื่อนเราคนนี้คุยเรื่องนี้ได้ อาจจะทำให้คุยกันมากขึ้น
หรือว่าจะเอาเนื้อหาในเพจไปพูดคุยกันก็ได้ ว่าแบบ แก.. ตรงนั้นฉันว่า อย่างนู้นอย่างนี้ คือเราอยากให้มันมีการสื่อสารกันระหว่างคนใกล้ชิดของผู้หญิงมากขึ้น รู้สึกว่าการที่ผู้หญิงไม่ได้พูดคุยเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มเพื่อน หรือครูที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยได้สอนใช่ปะ ว่าเราต้องดูแลตัวเองยังไง สอนแค่ว่าสอดใส่จู๋ ท้องนะ! อะไรอย่างนี้ คือตอนนั้นไม่รู้ว่ามันเป็นปัญหา พอเราสนใจแล้วเรามองกลับไป ก็รู้สึก เห้ย มันไม่เห็นได้อะไร ครอบครัวก็ไม่กล้าพูดอีก สังคมไทยไม่ได้สอนให้พูดคุยเรื่องนี้กับครอบครัว มาหาหมอก็ไม่ได้คุยกัน เหมือนที่บอกไปตอนต้นว่า ไม่กล้าถาม หมอที่ไม่รู้ก็มี คนไข้ก็กลัวว่า นี่ฉันจะดูแรดรึเปล่า ฉันจะดูไม่ดีมั้ย มันเป็นเรื่องที่จะถามหมอได้รึเปล่า พอไม่คุยตรงนี้ก็เลยทำให้หันไปถามคนแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ต อันไหนเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ก็ไม่รู้ สุ่มๆ เอา แล้วการที่เราค้นไปเจออันที่ไม่ถูกต้อง หรือบางทีก็โดนหลอกซื้อยาผลิตภัณฑ์ใดๆ มันก็ทำให้เกิดปัญหาได้
จริงๆ เป้าหมายหลักคือให้เพจเป็นเครื่องมือที่เราจะสามารถคุยเรื่องนี้กันได้มากขึ้น
ไม่ได้หวังว่าให้คนเข้ามาปรึกษาเรา ไม่ได้กดดันให้มาถามเราอย่างเดียว แต่ว่าเรื่องที่พูดในเพจก็คือเป็นการให้ความรู้ในสิ่งที่เรารู้สึกว่าคนมันยังไม่รู้อะ จริงๆ เรื่องหลักที่จะทำตอนแรก ก็คือเรื่องความสุขทางเพศของผู้หญิง เพราะเรื่องความปลอดภัย เรื่องยาคุมกำเนิด ใช้ถุงยาง มันมีคนพูดเยอะแล้ว เรื่องการดูแลตัวเอง พวกการทำความสะอาดยังไง อย่าสวนล้างช่องคลอด ตรวจภายใน ฉีดวัคซีน มีคนพูดอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนพูด ถ้ามีก็มีในเชิงที่แบบติดทะลึ่ง หรือว่าเป็นเว็บบอร์ดที่คุยกันมากกว่า ไม่ได้มีใครที่มาให้ความรู้เชิงวิชาการว่ามันเป็นยังไง แล้วก็ไม่ได้มีใครมาพูดถึงเรื่องสิทธิ์เท่าไหร่ว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงความสุขทางเพศได้ เราก็เลยอยากทำตรงนี้ เพราะเรามองว่ามันเป็น gap
แต่ว่าพอลงมือทำแล้ว ก็รู้ว่าเราเขียนแต่เรื่องนี้ไม่มีใครแชร์แน่ คือคนไม่กล้าแชร์ นึกออกปะ มันเป็นเรื่องที่แบบ อะไรอะ ไม่เอา ไม่กล้าแชร์ เราก็เลยต้องคิดเชิงการตลาด ต้องคิดเรื่องที่ผู้หญิงแชร์ง่ายขึ้น โพสต์แรกที่เริ่มฮอตมีเพจ thaiconsent แชร์ให้ อันนั้นคือเรื่องการตรวจภายใน ซึ่งผ่านการคิดมาว่าต้องดึงคนเข้ามาก่อนด้วยเรื่องที่เขากล้าแชร์ เรื่องที่เขาพอจะสนใจแล้วพอไปเสิร์ชมา พันทิปถามเยอะมาก เจ็บมั้ย เยื่อพรหมจรรย์จะขาดรึเปล่า อะไรพวกนี้ ก็เลยจับเรื่องนี้มาพูด แล้วเราก็ได้เรียนรู้ไปกับมันว่า ถึงแม้เรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง ความปลอดภัย จะมีคนเขียนอยู่แล้ว แต่มันยังไม่พอ
คือพอเขียนแล้วเพิ่งรู้ว่ามันยังดูใหม่สำหรับเขา มีคนไลก์เยอะ คนแชร์เยอะ คือสำหรับเรามองว่าเออ มันดูเก่าแล้วนะ จะมีคนชอบเหรอ อะไรแบบนี้ แต่ความรู้เพศศึกษามันไม่เคยเก่า มันพูดได้เรื่อยๆ เราก็เลยปรับว่าไม่ใช่เพื่อการตลาดอย่างเดียว เราต้องคิดพวกนี้ด้วย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เขาสนใจอยู่แล้ว แล้วก็จำเป็นต่อเขา
ก็เลยอยากทำเพจขึ้นมาเพื่อให้ผู้หญิงมีสุขภาพดีขึ้น ผ่านการที่เขาสามารถพูดคุยกับคนใกล้ตัวได้ ตอนนี้ที่อยากทำต่อคือกลุ่มน้องสาวเม้ามอย ก็คือเป็นกลุ่มในเฟซที่น่าจะมากระตุ้นได้ สมมติว่าถ้าเขายังไม่กล้าคุยกับคนใกล้ชิดเรื่องนี้ ก็ให้เขามีคนแปลกหน้าในอินเทอร์เนตที่กล้าคุยกัน แล้วอันไหนที่เราพอจะว่าง ช่วยดูได้อะไรแบบนี้ ก็คิดๆ อยู่ว่าเราอาจจะไม่สามารถควบคุมความถูกต้องของเนื้อหาได้ทั้งหมด แต่ว่าก็จะพอดูได้บ้าง หรือว่ามีคนที่มีประสบการณ์ มีความรู้มาช่วยๆ กันได้
ตั้งแต่เปิดเพจมา เคยเจอคำถามหลังไมค์อะไรบ้าง
จริงๆ ยังหลังไมค์มาไม่เยอะเท่าไหร่ แล้วก็เรื่องไม่ค่อยซ้ำกัน เช่น มีเรื่องการจัดการขน ต้องทำยังไงกับมัน เรื่องตกขาวบ่อยๆ ต้องทำยังไง มีอันนึง ดีใจมาก มีน้องมาถามเรื่องฝังยาคุมกำเนิด เขาลังเล ไม่กล้าไปฝังเพราะกลัวผลข้างเคียง กลัวสิวขึ้น กลัวอ้วนขึ้น เขามาถามเรา เราก็บอกว่า ไปฝังเลย ลุยเลยลูก อะไรอย่างนี้ ก็รู้สึกดีใจว่าแค่เราทำให้เด็กผู้หญิงคนนึงที่ไม่กล้าไปฝังยา แล้วมีความเสี่ยงที่จะท้อง แต่พอเขามาถามเรา คือเราก็ไม่แน่ใจว่าเขาไปฝังจริงมั้ย แต่แบบดีใจอะ ที่ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีประโยชน์
จริงๆ แล้วถ้าเราอยากปรึกษาเรื่องเพศ เราควรเข้าหาใครก่อน
ก็แล้วแต่บุคคลนะ เหมือนเรามีปัญหาอะไรไม่สบายใจ แต่ละปัญหา บางทีอาจจะอยากคุยกับเพื่อน บางคนอยากคุยกับพ่อแม่ บางคนอยากคุยกับอาจารย์ที่สนิทกัน บางคนอาจจะอยากคุยกับคนที่ไม่รู้จัก เช่น หมอ นักจิตวิทยา เพราะฉะนั้นเรื่องเพศ จริงๆ แล้วมันแล้วแต่ว่าคนนั้นๆ สบายใจที่จะคุยกับใคร ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงว่าควรไปหาคนไหน
แต่ถ้าพูดในทางการแพทย์ เขาจะมี sex therapist เหมือนเป็นนักบำบัดทางเพศ เคยดูซีรีส์ ‘Sex Education’ มั้ย แม่โอทิสอะ เป็น sex therapist ก็คือจะเป็นคนที่ไม่ใช่หมอ เป็นทำนองนักจิตวิทยาเชิงเพศที่จะมาบำบัด พวกไม่แข็ง ไม่เสร็จ ไม่เสียว อะไรพวกนี้ เขาจะเป็นคนดูแล ในเมืองไทยไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะ sex therapist ก็ยังไม่มี แต่ที่ อ.อติวุทธเขาทำอยู่ เขาก็พยายามจะสร้างเครือข่ายเพื่อให้ดูแลเรื่องเพศได้มากขึ้น จัดคอร์สอบรมสั้นๆ ให้หมอมีความรู้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็มีคอร์สสำหรับคนสายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอาจารย์เขาจะผลักดันให้เป็นแพทย์เฉพาะทางเลยรึเปล่า
แต่สำหรับเรา เราคิดว่าอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องเป็นแพทย์เฉพาะทาง แต่ว่าหมอทุกคนควรจะดูเรื่องเพศได้ อาจจะถนัดในทางที่ต่างๆ กัน หมอสูติฯ อาจจะถนัดเรื่องช่องคลอด เรื่องจิ๋ม หมอศัลยกรรมยูโรฯ ก็อาจจะถนัดเรื่องจู๋ เรื่องแข็งตัวไม่แข็งตัว หมอนักจิตฯ ก็อาจจะถนัดเรื่องเกี่ยวกับการบำบัด การพูดคุย การผ่อนคลายทางอารมณ์ ส่วนหมอเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นหมอที่เป็นจิปาถะ หมอครอบครัวจะมีทักษะในการดูแลเรื่องจิตใจด้วย แล้วก็ถนัดในเรื่องการดูแลความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว หรือชีวิตคู่ ซึ่งมันเป็นประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน
การคุยเรื่องเพศให้มากขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง
คือคิดภาพเหมือนการออกกำลังกาย ในช่วง 5-10 ปีนี้ ที่คนมาวิ่ง มาออกกำลังกาย กรุ๊ปเฟซเต็มไปหมด มีการแนะนำต้องจัดโปรแกรมแบบนี้ ต้องวิ่งแบบนี้ high intensity สลับกับอะไรแบบนั้นน่ะ คือมันมีความรู้ใหม่ๆ ออกมาที่ไม่ต้องรอครู หรือหมอ หรือบุคลากรทรงความรู้มาพูด แต่มันมาจากคนที่เขาทำจริง แล้วก็ได้ประสบการณ์ แล้วก็มาเล่า ซึ่งก็อาจจะมีทั้งถูกและผิดทฤษฎี แต่ว่าอย่างน้อยคนก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นและหลากหลาย แล้วคนก็มาพูดคุยเรื่องออกกำลังกายมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลพวกนี้ได้มากขึ้น
แต่ว่าเรื่องเพศมันไม่ใช่การออกกำลังกายเนอะ คือก็ไม่ได้ขนาดจะมาตั้งเฟซ กลุ่มชอบเพศสัมพันธ์แบบ oral อย่างเดียว อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เป็นขนาดนั้น แต่อย่างน้อยให้คนได้คุยกับคนใกล้ชิด ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยกันได้ กับแฟน กับคู่รัก อะไรก็แล้วแต่ บางทีเขายังไม่เคยคุยกับคู่เขาเลยว่าชอบเพศสัมพันธ์แบบไหน มีความสุขรึเปล่า
หรือกับผู้หญิงบางคน ก็มองว่าเพศสัมพันธ์มีไว้เพื่อเสิร์ฟความสุขของผู้ชาย ตัวเองไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขในเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เหมือนเขาเป็นวัตถุทางเพศอันนึงที่ทำๆ ไป พอเสร็จ ก็จบ เขาก็จบ ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรจะเป็นอะไรอย่างนั้น เขาควรจะรู้ว่าเขามีสิทธิ์ เขาควรจะมีความสุขได้ เขาควรจะคุยกับแฟนได้ แฟนก็ควรจะคุยกับเขา
แล้ววิชาสุขศึกษาในโรงเรียน มันตอบโจทย์หรือยัง
เมื่อวานเห็นคนแชร์ว่า โรงเรียนเอกชนเดี๋ยวนี้เขาสอนเรื่องเพศศึกษากันจริงจัง แล้วพอลูกเขากลับมาบ้าน เขาก็สามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้เป็นฉากๆ ซึ่งเขาเป็นครู แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดกับโรงเรียนรัฐบาล เพราะครูก็ยังไม่กล้าพูด เราเชื่อว่ามีครูหลายๆ คนที่เห็นปัญหานี้อยู่ แล้วพยายามออกมาพูดเรื่องนี้ ออกมาผลักดันการสอน ให้เด็กๆ วัยรุ่นเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้น เราไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้เป็นยังไง แต่เราว่ามันค่อยๆ เปลี่ยนแปลง
จะมีความเชื่อต่างๆ เช่น จูบกันทำให้ท้องได้มั้ย เข้าห้องน้ำต่อจากผู้ชายจะทำให้ท้องมั้ย วิ่งชนกับเพื่อนผู้ชายจะท้องมั้ย ว่ายน้ำสระเดียวกับผู้ชายจะท้องมั้ย ช่วยอธิบายให้หน่อย
เป็นความล้มเหลวของการศึกษาไทยเลยนะ คือเห็นเว็บบอร์ดเหมือนกันว่าตั้งคำถามแบบนี้เยอะ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าที่เขามาตั้งคำถามเพราะเขาสงสัยจริงๆ รึเปล่า หรือว่าถ้าเขาสงสัยจริงๆ มันสะท้อนเลยว่าการศึกษาไทยล้มเหลวมาก อาจจะไม่โทษการศึกษาอย่างเดียวแหละ อาจจะเกี่ยวกับการเลี้ยงดูของครอบครัวเหมือนกัน เรื่องพื้นฐานแค่นี้ ครอบครัวควรสอนเขา หรือพูดคุยเรื่องพวกนี้ได้ ก็ยืนยันอีกทีว่ามันไม่ท้องแน่นอน
แล้วในเว็บบอร์ด มันก็มีคนที่ตอบไม่จริงอะ บอกว่า ท้องครับ ต้องรีบกินยาคุมฉุกเฉินเลย คือเราก็ไม่รู้ไง ถ้าคนที่มาตั้ง เขาไม่รู้จริงๆ เขาเครียดตายเลยนะ เราก็เลยไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่ไปถามคนแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ตแบบนั้น ได้คำตอบถูกหรือผิดคือแล้วแต่ดวงจริงๆ จะโดนหลอกซื้อผลิตภัณฑ์อะไรรึเปล่าก็ไม่รู้
มีพวก myth อื่นๆ ที่เจอก็จะเกี่ยวกับเรื่องเยื่อพรหมจรรย์ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงกังวลกันเยอะ ตรวจภายในเยื่อพรหมจรรย์จะขาดมั้ย ถ้าไปตรวจภายในจะเสียความบริสุทธิ์ไปเลยรึเปล่า ดูเป็นกังวลกับเรื่องเยื่อมากเลย คิดว่าจะเขียนอยู่ เพราะว่าหลายครั้งที่เล่าเรื่องอื่นก็จะต้องโยงมาเรื่องนี้ แล้วก็ต้องมานั่งย้ำว่า เยื่อพรหมจรรย์มันสามารถยืดหดได้ อาจจะขาดไปตอนออกกำลังกายก็ได้ การมีเซ็กส์ครั้งแรกอาจจะไม่ขาดก็ได้ แล้วก็ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ขึ้นกับเยื่อพรหมจรรย์ มันแล้วแต่คนว่านิยามความบริสุทธิ์ยังไง บางคนบอกว่าแค่นิ้วจิ้มเข้าไปก็เสียความบริสุทธิ์แล้ว บางคนก็บอกต้องเป็นจู๋เท่านั้น
มีความคิดหนึ่งด้วยที่คนมักพูดว่า อารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ อธิบายคำพูดนี้ยังไงได้บ้าง
ก็มันผิดไง คือตามทฤษฎีที่เราก็อนุมานเอาต่อคือ ผู้หญิงมี spontaneous sexual desire น้อยกว่าผู้ชาย มันก็เลยอาจจะเข้าใจได้มากขึ้นว่าที่เราเคยเห็นว่าผู้ชายคิดเรื่องเซ็กส์ๆๆๆ แต่ผู้หญิงมีเรื่องการบ้านการเรือน เซ็กส์ ความรัก ลูก อื่นๆ วิทยาศาสตร์ก็สามารถบอกได้แหละว่าทำไมผู้ชายถึงมีความต้องการมากกว่า แต่ว่าความต้องการไม่ได้แปลว่าคุณจะไปทำอะไรกับใครก็ได้ไง มันต้องมีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช่ว่า ก็ฉันเป็นแบบนี้ ฉันทำได้ มันคือการไปล่วงละเมิดเขา มันไม่ใช่ข้ออ้าง
ส่วนคำว่า รักนวลสงวนตัว ก็ทำให้เรื่องเพศกับผู้หญิงเป็นเรื่องที่พูดยากด้วยมั้ย
ใช่ ด้วยคำพูดนี้ ผู้หญิงเลยไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะถ้าพูด ก็จะดูก๋ากั่น เจนโลก ดูแรดอะ นึกออกปะ มันก็จะโดนว่าซะมากกว่า ว่าทำไมมาพูดเรื่องนี้ มันไม่ใช่เรื่องเราควรพูด
แล้วเคยเจอใครมาบอกบ้างมั้ยว่าเป็นผู้หญิง ทำไมมาทำเพจอย่างนี้
ยังไม่มีนะ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เรากังวลว่าตอนแรกที่ทำเพจก็อยากจะเงียบๆ ไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร เพื่อนบางคนก็ยังไม่รู้ คิดว่าแค่ป้อนข้อมูลไปก็พอ ไม่ต้องแสดงตัวก็จะสบายใจกว่า แต่มองอีกมุม มันก็เป็น fact ที่ว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เรากำลังวิจารณ์ว่าไม่กล้าออกมาพูดคุย เพราะเราเองก็ยังอยากจะซ่อนตัวเลย
แต่ปรากฏว่าเพจโตเร็วเกิน คือเราคงเติมถูก gap มาก เลยทำให้สื่อมาสนใจ มีคนมาสัมภาษณ์ มีคนเชิญไปขึ้นเวที แล้วก็โชว์หน้าให้เขาเห็น แต่เรา เหมือนก็อายนะ ที่แบบโหย ดูเรียบร้อยขนาดนี้ ทำไมมาพูดเรื่องนี้ แต่ว่าก็มองว่าที่เราอายเพราะมันไม่ค่อยมีคนทำ มันไม่ค่อยมีผู้หญิงออกมาพูดเรื่องเพศ เรื่องความสุขทางเพศ เรื่อง orgasm และเพราะว่ามันไม่ค่อยมีคนทำนี่แหละ เราก็เลยอยากจะทำ เพราะว่าเราคิดว่ามันจะมีประโยชน์กับการให้ความรู้สุขภาพของผู้หญิง ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เราเชื่ออย่างนั้น เราก็เลยมาอยู่จุดนี้
ตอนสื่อแรกเข้ามาก็เออ เอาวะ ลองดู เชื่อว่าการไปออกสื่อจะทำให้เพจมันโตขึ้น และทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนหรือเพศอื่นๆ เข้าถึงเพจได้มากขึ้น แล้วสิ่งที่เราพยายามจะทำมันจะเป็นประโยชน์ต่อคนมากขึ้น ก็รวบรวมความกล้าเอา
สื่อมีส่วนไหมกับความเชื่อเรื่องเพศต่างๆ
ถ้าอย่างเรื่องเยื่อพรหมจรรย์ก็อาจจะเกี่ยวนะ บอกว่าหญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัว ก็จะมีพวกละครไทยที่ชอบพูดว่า อยู่ก่อนแต่งได้ยังไง เสียความบริสุทธิ์ แต่เราว่าสื่อมีผลกับมุมมองเรื่องเพศต่อผู้หญิงมากกว่า เหมือนสื่อทำหน้าที่ถ่ายทอด ซึ่งส่วนหนึ่งจะแสดงสังคมที่มีความชายเป็นใหญ่ แม้ว่าสื่อส่วนหนึ่งก็พยายามปรับตรงจุดนั้น แต่สื่อส่วนใหญ่ยังคงแสดงเรื่องนี้อยู่ ที่แบบว่าพระเอกรักนางเอก ก็เลยล่วงละเมิดทางเพศ ใช้กำลัง เธอจะฝืนฉันเหรอ อะไรทำนองนั้น บางทีก็เป็นฉากข่มขืน แล้วสุดท้ายเขาก็รักกัน พระเอกกลายเป็นฮีโร่ หรือว่าสื่อที่สร้างภาพผู้หญิงตบตีกันแย่งผู้ชายหล่อคนนึง คือแสดงภาพชายเป็นใหญ่ แต่เราคิดว่าก็มีสื่อส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ขับเคลื่อนสิ่งนี้ เช่น มันก็มีละครอย่างเรื่อง ‘The Single Mom คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’ เขาก็เอาผู้หญิงเป็นตัวแสดงหลักโดยที่ไม่ต้องมีพระเอกก็ได้ หรือซีรีส์แบบ ‘เลือดข้นคนจาง’ ก็เป็นประเด็นอื่นไปเลย
เราว่ามันคงค่อยๆ เปลี่ยนแหละ ส่วนพวกสื่อข่าวก็มีผลเหมือนกัน อย่างเรื่องนักการเมืองสมัยเปิดสภาใหม่ๆ สื่อแทบทุกสื่อก็ไปจับเรื่องผู้หญิงทะเลาะกัน เราเชื่อว่ายังมีผู้หญิงในสภาที่ทำงาน แต่สื่อเลือกจะนำเสนอสิ่งที่ขายได้ เพราะมันสนุก คนนั้นทะเลาะกับคนนี้ ด่าว่ากัน เหน็บแนมเรื่องเสื้อผ้า คือแทบไม่มีสื่อไหนไม่พูดถึงเรื่องนี้ คือเรามองว่าการนำเสนอเรื่องนี้มากๆ มันเหมือนการตอกย้ำว่าผู้หญิงก็ทำแต่เรื่องแบบนี้ มันทำให้ภาพนี้ชัดขึ้นว่าผู้หญิงก็ทะเลาะกันในสภา
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายๆ สื่อที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ คนรวยคนจน หรืออีกอันที่ดีคือซีรีส์ Sex Education ที่เราว่ามันสามารถนำให้เรามาพูดคุยเรื่องเพศกันได้มากขึ้น ดูละครด้วยกันที่บ้านก็สอนเลยว่าเป็นยังไง น่าจะมีคนไทยที่ทำบ้าง เพราะถึงมันจะเป็น Netflix ก็จริง แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึง Netflix ได้ ภาษาก็เป็นอุปสรรค ถ้ามีสื่อไทยที่มันแมสๆ ที่ฉายช่องดังๆ มันน่าจะทำให้คนคุยกันได้มากขึ้น น่าทำนะ
สุดท้ายแล้ว ตั้งใจจะทำเพจนี้ไปอีกนานแค่ไหน
ยังไม่เคยคิดว่าจะหยุด แต่แค่คิดว่าจะทำไหวมั้ยมากกว่า ก็สนุกกับมันอยู่ แต่ที่กังวลเพราะว่าถ้าเข้าไปเป็นอาจารย์ เราก็ต้องไปทุ่มเทให้กับตรงนั้น แล้วเราก็เพิ่งรู้ว่าการทำเพจมันต้องทุ่มเทมากกว่าที่คิด ตอนแรกแค่คิดว่าก็เขียนๆ ข้อมูลที่ตัวเองรู้ เล่าให้ฟัง แต่อาจจะด้วยความที่กังวลมั้ง เป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบหน่อยๆ เราก็เลยรีเสิร์ชเพิ่มว่าสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกอะ มันถูกจริงรึเปล่า หรือมันเป็นแค่ความเชื่อที่บอกต่อกันมา อย่างเรื่องการตอบสนองทางเพศที่เขียนไปสามตอน ตอนแรกเรารู้แค่ตอนที่หนึ่งอย่างเดียว ตั้งใจจะเขียนแค่นี้ แต่พอไปเสิร์ชแล้วมันดันมีตอนที่สอง ตอนที่สาม ที่เอามาเขียนได้อีก เป็นความรู้ใหม่ ก็เลยทำให้รู้ว่าต้องใช้เวลาเยอะกว่าจะเขียนออกมาได้ แต่ก็ทำให้เราสนุกเพิ่มขึ้นว่ามันมีความรู้ใหม่ๆ
เราไม่ได้มองตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่มองว่าเป็นผู้สนที่อยากจะเล่ามากกว่า ในเพจก็เลยจะใช้ ‘แอด’ จะไม่เรียกหมอ ไม่อยากให้ติดภาพหมอ หมอไม่ได้เป็นคนที่รู้ทุกอย่าง คุณรู้กว่าก็ได้นะ คือด้วยความที่คนจะมองว่าหมอต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องรู้ทุกอย่าง แล้ววันหนึ่งหมอผิดอะ หมอเละเลย นึกออกปะ เราก็เลยไม่อยากวางตัวเป็นแบบนั้น เพราะว่าคุณรู้อะไรมากกว่า คุณก็มาแชร์ได้ อยากให้มาแลกเปลี่ยนกัน อยากให้มาพูดคุยกัน
แล้วอีกเหตุผลของการใช้คำว่า ‘แอด’ เพราะเราไม่อยากตีกรอบของตัวว่าเป็นหมอ คือหมอหลายคนรวมถึงเราด้วย จะมีช่วงที่ติดกับคำว่าหมอ แบบ ฉันเก่ง ฉันรู้ การใช้คำนี้มากๆ มันก็ทำให้อีโก้เราโต เราก็เลยอยากเป็นแค่คนธรรมดาคนนึงที่ เป็นแอดมินเพจที่สนใจเรื่องนี้