โชคดีที่ก่อนโรงหนังจะงดฉาย เพื่อควบคุมการแพร่ของโรคระบาด ได้มีโอกาสไปดู ‘Present Still Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว 2’ (2020) อันเป็นภาคต่อของ ‘Present Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว’ (2017) รอวันหน้าฟ้าใหม่ไร้ไวรัสหนังอาจจะฉายในโรงอีกครั้ง ระหว่างนี้กักตัวเองนอนดูทีวีอยู่บ้านแทนก็ได้ และแล้ว ‘Dew – ดิว ไปด้วยกันนะ’ (2019) ก็เหมือนฟ้ามาโปรดในระหว่างที่ไม่รู้จะดูอะไรใน Netflix
(ต่อไปจะสปอยเด้อ…)
2 เรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกันบางประการ อีกเรื่องหนึ่งมี 2 ภาค อีกเรื่องหนึ่งมี 2 พาร์ท ในส่วนของภาคและพาร์ทแรกของหนังได้เล่าถึง โลกแห่งความเป็นจริง ที่เต็มไปด้วยความหวานอมขมกลืนในใจของตัวละครที่รักไม่สมหวัง ไม่ว่าด้วยด้วยค่านิยมสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ย้อนกลับไปสมัยดิวยังมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ.2539 ในยุคที่ใช้เพจเจอร์ ซาวด์อะเบ้าต์ ฟังเพลงวง Smile Buffalo หรือแม้แต่ในยุคหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมสังหารหมู่ประชาชนที่ราชประสงค์ พ.ศ.2553 ที่แม้ในโลกของเก้งที่ย่างสามขุม ก้าวข้ามโครงสร้างรักต่างเพศนิยมมาแล้วระดับหนึ่ง แต่ชายรักชายบางคนยัง internalize โลกทัศน์แบบเก่าอยู่ เช่น โอ๊ต ใน ‘Present Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว’ และการแต่งงานกับผู้หญิงใต้ขนบรักต่างเพศนิยมยังคงเป็น ‘ผู้ร้าย’ ของเรื่องอยู่
เช่นเดียวกับที่ชายรักเพศเดียวกันหรือ ‘พวกรักร่วมเพศ’ ในเรื่อง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ ถูกมองว่าเป็นภัยร้ายเรื่อยมาของโครงสร้างชายเป็นใหญ่และรักต่างเพศนิยมที่จะต้องปราบปรามโดยอำนาจทหาร รักษาโดยจิตแพทย์ ลงโทษโดยสถาบันครอบครัวด้วยความรุนแรง และระบบราชการที่แม่ของดิวสวมเครื่องแบบราชการเสมอ
เพราะในยุคทศวรรษ 2530’s เพศวิถีของชายรักเพศเดียวกัน
ไม่เพียงเป็นเรื่องผิดบาป ยังถือว่าเป็นเสมือนโรคระบาด
เป็นภัยความอยู่ดีกินดีและสุขภาพประชากรในประเทศ ที่สังคมต้องร่วมป้องกัน ระแวดระวัง สอดส่องควบคุมพฤติกรรม จนแพทย์ต้องออกเป็นคู่มือ เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์ โดยมีคำโปรยหน้าปกว่า “รอช้าอาจสายเกินแก้”
คู่มือนี้ ประเวศ วะสี ผู้ที่คนบางกลุ่มสถาปนาให้เป็น ‘ราษฎรอาวุโส’ เขียนคำนำให้ว่า เกย์ไม่เพียงเป็นปัญหาของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ยัง “…เป็นสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน ในครั้งโบราณ ปรากฏการณ์ของการเป็นเกย์อาจมีไม่มากและเกย์เป็นฝ่ายได้รับทุกข์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันมีการระบาดของการเป็นเกย์ เพราะมีจำนวนมากอย่างน่าตกใจ และเกย์เป็นชนวนของโรคเอดส์อันเป็นโรคร้ายแรงที่กำลังระบาดลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ แก่มนุษยชาติ อย่างร้ายแรง”[1]
ตัวละครจึงเต็มไปด้วยบาดแผลความบอบช้ำ
ขณะที่ในภาคที่ 2 กับพาร์ทที่ 2 ของหนังทั้ง 2 เรื่องเป็นแฟนตาซีที่โลกในจินตนการที่ถูกเนรมิตขึ้นมาเพื่อเยียวยาจิตใจให้กับบาดแผลหัวใจให้ตัวละครในเบื้องแรก
‘Present Still Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว 2’ ฉากส่วนใหญ่ของเรื่องไม่เพียงเป็น vacation สภาวะท่องเที่ยวเลียแผลใจ หลบหนีโลกแห่งความเป็นจริง หลบหนีความเศร้า แอบซ่อนภรรยาละทิ้งหน้าที่สามี เพื่อมาตระกองกอดชายชู้รัก ซ้ำทั้งเรื่องพยายามนำเสนอไดอะล็อกความคิดความอ่านของตัวละครให้เป็นมนุษย์ก้าวหน้ามาก มีทั้ง feminist, atheist, irreligionist, queer ก้าวไกลจนแทบเลยยุคพระศรีอาริย์ ราวกับว่าพวกเขาและเธอต่างหลุดออกมาจากโลกในอุดมคติของปัญญาชนหัวก้าวหน้า
ส่วนครึ่งหลังของเรื่อง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ แฟนตาซีของเรื่องก็ได้ทำให้หมู่บ้าน ‘ปางน้อย’ ที่เป็นฉากของเรื่องกลายเป็น ‘เมืองฅนรฦกชาติ’ เพื่อให้ตัวละครได้เติมเต็มสิ่งที่โหยหาขาดหาย กลับมาแก้ปมที่ค้างคาในใจ ชดเชยความรู้สึก ความทรงจำ เข้าควบคุมทุกอย่างในสิ่งที่เค้าไม่สามารถควบคุมจัดการอะไรได้เลยและเติมเต็มหัวใจที่ขาดหายไป มา 23 ปี จากผู้อยู่ใต้กฎกลายเป็นผู้คุมกฎเถลิงอำนาจเสียเอง
ในตอนจบทั้ง 2 เรื่องสนทนากับผู้ชมในเรื่อง same-sex marriage ทั้งคู่พระเอกกับพระเอกใน ‘Present Still Perfect – แค่นี้ก็ดีแล้ว 2’ ได้วิวาหะสมใจ happy ending อย่างที่ตัวละครได้สนทนากันตั้งแต่ยังเป็นชู้รัก ขณะที่เรื่อง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานด้วยการตั้งใจปลด Leg Wrap ของ Bungee jumping ที่เสมือนมงคลสวมหัวในงานสมรสและเป็นห่วงพันธนาการ แล้วดิ่งตัวเองตายตกไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้เกิดพร้อมกัน
ขณะที่หนังรักที่เล่าเรื่องชายรักชายมักให้รักต่างเพศเป็นศัตรูผู้ร้าย ทั้งๆ ที่ในมิติความสัมพันธ์จริงของชายรักชาย ความระยำตำบอนหรือศัตรูในชีวิตจริงน่าจะเป็นเพศสภาพเพศวิถีเดียวกับเราที่จ้องแย่งคนรักเราไป หรือคนรักเราที่คอยเอาเปรียบ ส่ำส่อนหลายใจ ไม่ซื่อสัตย์มากกว่าก็ตาม ความยากลำบากของมันจึงไม่ใชการฟันฝ่าอุปสรรคให้ได้ครองรัก หากแต่เป็นการครองรักอย่างไรให้อยู่รอด
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หนังที่บอกเล่าเรื่องความรักชายรักชายหลายเรื่องก็พยายามปลดแอกโครงสร้างรักต่างเพศนิยมนี้ด้วยการให้ตัวละครยืนอยู่กลางทางสามแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดกับความรู้สึกความต้องการเบื้องลึกของหัวใจ แล้วในที่สุดก็หาญกล้าละเมิดสถาบันครอบครัวแบบชายหญิง
อันที่จริงทุกคนล้วนถูกชายเป็นใหญ่รักต่างเพศนิยมกดขี่ ทั้งหญิงที่มารู้ภายหลังว่าสามีตนเองรักเพศเดียวกัน, ชายรักชายที่แต่งงานกับผู้หญิงเพราะคิดว่าจะ ‘หาย’ ได้, หรือชายรักชายที่ไม่สมหวังในรักเพราะคนที่รักต้องไปแต่งงาน ทุกคนต่างก็ตกเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งหมด
ไม่มีใครเป็นผู้ร้ายนอกจากสำนึกและการขัดเกลาทางสังคมต่างๆ
ที่บีบให้เชื่อว่าชายต้องคู่กับหญิงต่างหาก
ในโลกของหนังท่ามกลางความรักโรแมนติกของ LoveWins ภรรยาที่ตบแต่งเป็นคู่ชีวิตเพื่อนคู่คิดอยู่เคียงข้างผัวเกย์มาตลอดชีวิตแต่งงาน กลับตกเป็นเหยื่อที่ถูกมองข้าม เธอโดนนอกใจทรยศโกหก แต่หนังก็พยายามพาสเจอไรซ์ไม่ให้ความสัมพันธ์รักของ 2 พระเอกไร้มลทิน ด้วยการเล่าให้เธอเข้าอกเข้าใจสามีและยินยอมให้สามีเป็นอิสระจากสถาบันแต่งงานรักต่างเพศ ได้ทำตามเบื้องลึกและความปรารถนาอย่างง่ายดาย
ง่ายมาก ง่ายกว่าปลอกกล้วยเข้าปาก ง่ายกว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีพระอินทร์มาช่วยให้เรื่องร้ายผ่านพ้นไป จนราวกับตัวละครภรรยาหญิงของพระเอกไม่มีความรู้สึกนึกคิด แม้ทั้ง 2 เรื่อง ตัวละครภรรยาถูกสร้างให้เป็นหญิงหัวก้าวหน้า แข็งแกร่งทะมัดทะแมงกระฉับกระเฉง อยู่นอกกรอบ สนับสนุนสามีที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไร พวกเธอออกจากอำนาจและการควบคุมของสามีด้วยซ้ำ และพยายามเข้าอกเข้าใจความรู้สึกสามีโดยไม่มีทางเลือก เพราะสามีเลือกทางของเขาเรียบร้อยแล้ว
แต่พวกนางก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็นที่หนังไม่ให้ระยะทำใจกับพวกนางเลย
แม้ผู้กำกับจะไม่ใจร้ายถึงขั้นวาดภาพภรรยาให้เป็น ‘หญิงไม่ดี’ เป็นนางร้ายนางอิจฉาเหมือนตัวอิจฉาละครหลังข่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพระเอกที่จะหย่าหรือทอดทิ้งเมีย แต่ถ้าปล่อยให้มีฉากนางทุกข์ระทมตีอกชกหัว ฆ่าตัวตายหรือเสียสติ ก็ยิ่งทำให้ความรักของพระเอกทั้งคู่ดูเป็นบาปผิดศีลธรรมแทนที่จะเป็น LoveWins
ด้วยเหตุนี้ตัวละครภรรยาในหนังรักที่เล่าถึงเกย์จึงแบนตะแล๊ดแต๊ดแต๋ กลายเป็นตัวละครที่ไม่มีตัวตน ว่านอนสอนง่าย หน้าชื่นอกตรม เป็นของเหลวที่เทใส่ภาชนะอะไรก็ได้หมด จนต่อให้ไม่มีบทละครนี้ เรื่องราวก็ดำเนินต่อไปได้ แต่ก็ต้องให้มีสักหน่อยให้เป็นปมในใจของตัวละครชายรักชาย และเป็นสัญลักษณ์สถาบันครอบครัวแบบรักต่างเพศ
ขณะเดียวกันพระเอกที่เป็นเกย์รุก ไบ หรือตัวละครชายรักชายที่แมนกว่าในเรื่อง สามารถลอยเหนือน้ำเหนือฟ้า ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แม้ว่าเขาจะนอกใจ ทรยศ โกหก ทำร้ายจิตใจคนรัก ทิ้งลูกเต้าโยนให้แม่มันเลี้ยงในกรณีเรื่อง ‘Present Still Perfect’ หรือทิ้งครอบครัวที่ตนเองไปกู้หนี้ยืมกงสีแล้วให้เมียร่วมแบกภาระในกรณีเรื่อง ‘ดิว ไปด้วยกันนะ’ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรใดๆ ทำตามแต่ใจตนเองอย่างอิสระ โบยบินไปกับ ‘รักแท้’ แล้วทิ้งภาระหน้าที่กองไว้ให้ภรรยาที่แต่งงานด้วยตามขนบ เป็น ‘รักเทียม’ นั่งเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวพรางเช็ดน้ำตา
จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หนังรักชายรักชาย จึงมีกลิ่นไอของ misogyny หน่อยๆ ที่ผู้หญิง แม่บ้านหรือภรรยา พวกนางกลายเป็นเพียง ‘ชะนี’ ผิดที่ผิดเวลาขัดจังหวะในฐานะคนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด ความรู้สึกความเจ็บปวดของนางไม่ได้มีคุณค่าความหมายอันใด ไม่ว่าจะเป็นคนดีแค่ไหนก็เสมอตัว แต่ถ้าออกมากปกป้องตนเองก็กลายเป็นน่าลำไย
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
[1]ลลิตา ธีระสิริ. เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์. กรุงเทพ: รวมทรรศน์, 2530, น. 10-12.